เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 31

โพสต์

ความสงบมีคุณมาก หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


ต้องทำความสงบเสียก่อนจึงค่อยเข้าใจดี เพราะ‌ธรรมะเป็นของสงบ ไม่มีการเอิกเกริกวุ่นวาย ความสงบเป็น‌ของเยือกเย็น จิตสงบแล้วจึงค่อยฟังเทศน์ได้ความเข้าใจ ‌หมายความว่าจิตสงบลงอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งทั้งปวงจะ‌วุ่นวายไปเท่าไร ก็วุ่นวายไปเถิด เราสงบ

เราต้องการฟังเทศน์ ท่านเทศน์ถึงเรื่อง ความสงบเมื่อเรา‌สงบแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงหมดจะปรากฏขึ้นในที่นั้นในความ‌สงบนี่แหละ ท่านสำเร็จมรรคนิพพาน ท่านก็อาศัยความสงบ ‌ได้ฌาน สมาธิ สมาบัติ ท่านก็อาลัยความสงบความสงบเป็น‌พื้นฐานของพุทธศาสนาถึงศาสนาอื่นๆ ก็ตาม ก็ต้องอาศัย‌ความสงบเสียก่อน จึงค่อยรู้เห็นสิ่งต่างๆ เขาฝึกหัดความสงบ‌นั่นเอง โยคี ฤๅษี ทำความสงบนั่งอยู่นานวันไม่รู้สึกตัวจน‌กระทั่งปลวกหุ้มหมดทั้งตัว ก็ไม่รู้สึก

นั่นจึงว่าความสงบมันเป็นของสำคัญ

เราฝึกหัดทำความสงบ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าหากทำความ‌สงบมากขึ้นเท่าใด ความสุขก็มากขึ้นเท่านั้น ยิ่งเป็นของแน่น‌แฟ้น ถูกหลักพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี พระพุทธเจ้าทรงสอน‌อย่างนี้ เราปฏิบัติฝึกหัดตามท่าน เพื่อให้เป็นอย่างท่าน เราก็‌ต้องมาฝึกหัด ความสงบ อันนี้

ความสงบมีอยู่ แต่เราไม่มีความสงบให้เกิดมีขึ้น เราอาศัย‌ความสงบนั่นแหละมันจึงค่อยอยู่ได้เดี๋ยวนี้ ก็เราทำความไม่‌สงบ ก็เรียกว่า จริตวิกล หรือเป็นบ้า ก็วุ่นวายไปด้วยประการ‌ต่างๆ ถ้าเราทำความสงบเรียกว่า เพิ่มกำลังขึ้น เรามีความสงบ‌เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และเราทำความสงบให้เพิ่มยิ่งขึ้น

ความสงบนี้ มีวิธีฝึกหัดอบรมต่างๆ หลายอย่างหลาย‌ประการ ที่จะให้เข้าถึงความสงบ เรียกว่ากัมมัฏฐาน 40มีอนุสสติ 10 กสิณ 10 อสุภะ 10 ฯ เป็นต้น เพื่อให้จิตแน่วแน่‌อยู่ในอารมณ์อันเดียวนั่นเอง เป็นการฝึกหัดอบรมใจ ให้เข้าถึง‌ความสงบ อุบายหลายอย่างที่ท่านแนะนำไว้ แท้ที่จริงเอาอัน‌เดียวก็ใช้ได้ ถ้าฝึกหัดถูกทาง เอาอันเดียวเท่านั้น ถึงความสงบ‌แล้ว ทิ้งอารมณ์ทั้งปวงหมด ที่ท่านสอนไว้หลายอย่างหลาย‌ประการ มันเป็นเพียงอุบาย นิสัยของคนชอบหลายอย่าง คน‌หนึ่งชอบอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งชอบอีกอย่างหนึ่ง หลายคนก็‌หลายอย่าง เอารวมกันเรียกกัมมัฏฐาน 40 อย่าง เมื่อเราชอบ‌อันใดแล้ว อันอื่นเราก็ทิ้งหมด เป็นอันว่ารวมได้

การรวมใจคือ หัดความสงบนั้น ไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ตรงใจ ‌สติ อันหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมใจ เป็นผู้คุมจิตจิตอันหนึ่งเป็นผู้‌คิดนึก

เอาสองอย่างนี้เสียก่อน

สติคือ ความระลึกได้อยู่ตลอดเวลาจิตคิดนึกส่งส่ายด้วย‌ประการต่างๆสตินั้นรู้เท่ารู้ตัวอยู่ตลอดเวลา

เมื่อสติ คุม จิตอยู่อย่างนี้ จิตมันก็ไม่มีอาการกิริยาเคลื่อน‌ไหวไปไหน อยู่นิ่ง เหมือนกับเขาฝึกหัดช้างที่อยู่ในป่า เมื่อได้มา‌แล้ว เขาก็ผูกมัดมันไว้กับต้นไม้ให้มันอดหญ้า อดน้ำ กินแต่พอ ‌ไม่ให้ตาย หัดอยู่เช่นนั้น 1 เดือน 2 เดือน จนช้างหมดพยศ‌ร้าย มันก็ค่อยฟังคำนายควาญ ที่เขาแนะนำตักเตือนด้วย‌ประการต่างๆ มันอดอาหารมันจึงค่อยยอมทำตาม

จิตของเรา ถ้าหากสติควบคุมอยู่ตลอดเวลา มันก็ค่อยอ่อน ‌ค่อยชาลง นานหนักเข้ามันก็อยู่คงที่ สติ ตรงนั้น กับ จิต ตรง‌นั้น มันควบคุมกันไว้ ทั้งสองอย่างนั้น เมื่อมันรวมเข้าเป็นอัน‌หนึ่งแล้ว มันจะกลายเข้ามาเป็นใจ

สติคุมจิตเมื่อคุมได้มันจะกลายมาเป็นใจ

คนที่ฝึกหัดอบรมจนเป็นสมาธิแล้ว จะรู้จักความข้อนี้ ถ้ายัง‌ไม่รู้จักก็ยกเอาไว้เสียก่อน ขอให้อบรม“สติ”คุม“จิต”นั้น‌อย่างเดียว คนที่หัด“สติ”คุม“จิต”เป็นแล้วนั้น เมื่อจิตอยู่ไม่‌มีการเที่ยว ไม่มีการไปที่ไหน (การไม่คิดนึกอะไร) มันจะรวมวูบ‌เข้าไป เมื่อรวมวูบเข้าไปแล้ว มันจะไปอยู่อันหนึ่งของมันต่าง‌หาก อันนั้นเรียกว่า มันรวมเข้าไปเป็นใจ

คนเรามีใจทุกคน แต่ไม่เข้าถึงใจได้สักที มาวูบหนึ่งก็ไปมา‌วูบหนึ่งก็ไป ไปตามจิต แล้วคราวนี้เข้าใจว่า จิตนั้นเป็นใจ เลย‌ไปตามแต่จิต ตามเท่าไรมันก็ไม่ทันก็สักที ตามจิตไม่ทันหรอก ‌อย่าไปตามมันเลย มันคิด มันนึก ส่งส่ายไปสารพัด นั่นเรียกว่า ‌จิต“ผู้อยู่”มันมีผู้หนึ่งต่างหาก ครั้นถ้าไม่มี“ผู้อยู่”ผู้หนึ่งแล้ว ‌ผู้คิด ผู้นึกก็ไม่มี

เหตุนั้นอย่าไปตามมัน ปักหลักลงตรงนี้แหละ มันจะไปไหน‌ก็ไปเถิด เราจะตั้งมั่นลงตรงนี้แหละ อยู่ที่ใจ ให้เห็นใจให้รู้ใจ รู้‌ใจอยู่ทุกเมื่อ รู้ใจอยู่ทุกขณะ ถึงว่า จิต อันนั้นมันคิดนึกปรุงแต่ง‌ประการต่างๆ ก็ตาม นั้นเป็นอาการของใจหมดถ้าไม่คิดไม่นึก‌แต่มีความรู้สึกตัวอยู่ ความคิดความนึกไม่มี อันผู้อยู่เฉยนั่น‌แหละคือ ใจ

ถ้าเราอยากจะรู้จักตัวใจ คืออะไรกัน มาสังเกตดู คำว่า“ใจ”นั้น คือว่ามันเป็นกลาง ถึงเรียกว่า ใจ ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว ‌ไม่คิดหยาบ ไม่คิดละเอียด ไม่ปรุงแต่งอะไรทั้งหมดเฉยอยู่สิ่งทั้ง‌หลายทั้งปวงหมด ถ้าเป็นกลาง เขาเรียกว่า ใจ อย่างคนเรา ‌ครั้นถามว่าใจอยู่ตรงไหน ก็ชี้มาท่ามกลางอก

ตรงนั้นแหละใจ

ใจ คือ ตัวกลาง

คราวนี้เราอยากจะรู้ใจ เห็นใจ ว่าคืออะไร?ก็ทดสอบด้วย‌ตัวเอง นั่งกำหนดภาวนาอยู่คนเดียว หรือกลั้นลมหายใจสักพัก‌หนึ่ง ลองกลั้นเวลานี้ก็ได้ กลั้นลมหายใจสักพักหนึ่งจะมีความ‌รู้สึกไหมขณะนั้น?บอกว่ารู้สึก แต่ไม่ได้คิดนึก ไม่ส่งไปมาหน้า‌หลัง อันความรู้สึกนิ่งอยู่นั้นแหละ คือ ใจ แต่เดี๋ยวนี้เรายังไม่‌ทันถึงอันนั้น จึงต้องภาวนา เดี๋ยวนี้เราเห็นแต่อาการของมัน คือ ‌เห็นแต่การคิด นึก ปรุง แต่ง ครั้นเราตั้งสติควบคุมตรงนั้น ให้‌มันอยู่นิ่งแน่แล้ว มันจะรวมเข้ามาเป็นใจ

รวมเข้ามาเป็นใจได้แล้ว มันได้ผลประโยชน์อะไรคราวนี้?

1.จะต้องหายกังวลเกี่ยวข้องกับภายนอกทุกสิ่งทุกประการ‌หมด ความทุกข์เดือดร้อนของคนทั้งหลายเกิดมีขึ้น เพราะ‌อารมณ์เกี่ยวข้องพัวพันต่างๆ จึงต้องหัดให้เข้าใจ วางเรื่องทั้ง‌หลาย ไม่เกี่ยวข้อง นั่นแหละ การไม่เกี่ยวข้อง ก็พ้นทุกข์เดือด‌ร้อนทั้งปวง

2.ได้รู้ได้เห็น“ภพของใจ”ความคิดความนึกส่งส่ายของคน ‌มันส่งไปไกล มันไปเสียจนไม่มีขอบเขต ไม่ทราบว่า ใจคืออะไร ‌มีแต่จิต เห็นจิตเป็นตัวของตน เลยลุ่มหลงมัวเมาเข้าใจเอาเป็นตัวของตน จึงต้องส่งไป เหตุนั้น เมื่อเวลารวมเข้าไปเป็นใจ ‌ของเหล่านั้น ก็หายไปหมด เมื่อหายจากกังวลเกี่ยวข้องแล้วจะ‌ได้มองเห็น“ภพของใจ”ที่เราเห็นตัวของเราอยู่นี่ มันเป็น“ภพของกาย”ที่คิดนึกส่งส่ายด้วยประการต่างๆ นั่นเป็นภพ‌ของจิต

บางคน“ภพของใจ”เมื่อทำความสงบลงไป จนเห็นตัวใจ‌นั้น สิ่งสารพัดทั้งปวงหมดหายไป ไม่ปรากฏในขณะนั้น มีแต่ ‌“ความรู้อันเดียว”แล้วก็ลองเทียบกันดูซิคราวนี้“ภพของจิต”ก็‌ภพของโลกอันนี้เอง กับ“ภพของใจ”แล้วจะมีความสุขกว่ากัน‌สักเท่าไร เอาแค่นั้นเสียก่อน ให้เห็นอันนั้นเสียก่อน

เมื่อเห็นอันนั้น ได้อันนั้นแล้ว ก็อบรมอันนั้นไว้ให้มากไม่‌หลงไปตามจิต สะสมไว้ให้ชำนิชำนาญ จนกระทั่งยืน เดิน นั่ง ‌นอน ก็มีความสงบเห็นใจอยู่ทุกขณะ จะเป็นกี่ปี กี่สิบปีก็ตาม‌อย่าไปอยากรู้ อย่าไปอยากเห็นอะไรต่างๆ ตามที่เขาเล่า เช่น ‌เห็นเทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม มันเลยไม่เข้าถึงใจการเข้า‌ถึงใจไม่การออก อย่างเคยอธิบายให้ฟังมาแล้ว มันนิ่งอยู่ผู้เดียว‌มีความรู้อยู่เฉพาะตัวของมันเอง

3.เมื่อหัดตรงนี้ให้ชำนิชำนาญแล้ว ต่อนั้นไป เมื่อประกอบ‌การงานธุรกิจทุกอย่างทุกประการ อย่างฆราวาสเรานี่แหละ ‌ทำงานทำการไปเถิด ทำได้ ไม่เป็นอุปสรรคขัดข้องแก่การงาน‌อันนั้นๆ และทำได้ดี เพราะว่าจิตมันมีขณะเร็วเมื่อจิตมันส่ง‌ออกไปประกอบการงานนั้นๆ แล้ว มันก็วกกลับคืนมา เมื่อหัด‌ชำนิชำนาญแล้วจิตมันเป็นอย่างนั้น การงานไม่เสีย การงานก็‌ได้ ความสงบสุขก็มีอยู่

เขากลัวจะเสียงาน เข้าใจกันเองว่า ทำสมาธิภาวนาแล้วจะ‌เบื่อหมด ละทิ้งหมด สิ่งของวัตถุทั้งปวง ครอบครัว บ้านเรือนจะ‌ทิ้งหมด โอ๊ย มันไม่ได้ทิ้งง่ายๆ หรอก ขอให้ทำให้มันเป็น ให้มัน‌รู้เสียก่อน มันติดมานานแสนนาน มันจะทิ้งไปได้ง่ายๆ เมื่อไร ติด‌มาไม่ทราบกี่ภพกี่ชาติแล้ว ชาตินี้ก็ติดสะสมมามากมาย ที่จะละ‌มันได้แสนยาก เหตุนั้น เมื่อเข้าถึงความสงบแล้ว มันยังมีอาการ‌พลัดไปยึดอยู่เสมอ แต่หากความสงบนั้นมันมีเพียงพอ มันจึงละถอนได้ แต่ละถอนแล้วมันก็วิ่งออกไปอีก ความชำนิชำนาญในความสงบมันมีกำลังแรงพอ มันจะต้องอยู่กับความสงบ

นี่วิธีหัดทำสมาธิภาวนา หัดให้รู้จักใจ ให้เห็นใจของตนที่มี‌อาการ คือคิดนึก แล้วให้สติควบคุมอยู่ตลอดเวลา มันจะอยู่หรือ‌ไม่ก็ให้เห็นมันอยู่ทุกเมื่อ สติตัวนั้นคุมอยู่ตลอดเวลาหากมันเข้า‌ถึงสมาธิแน่วแน่ คือ เอกัคตารมณ์ จิตรวมเข้าไปได้รวมเข้าไป‌เป็น ภวังค์ ได้ จึงจะเข้าถึง ใจ

เมื่อเข้าถึงใจแล้วก็เชื่อมั่นว่าเรามีพุทธศาสนาได้แล้วถ้ายัง‌เข้าไม่ถึงใจ ยังไม่เห็นใจ เห็นแต่จิต ยังไม่ทันถึงพุทธศาสนาก่อน ‌เพราะพุทธศาสนา สอนที่ใจ เกิดที่ใจ ไม่ได้เกิดจากอื่น

พุทธศาสนา เกิดจากพระหทัยของพระพุทธเจ้าที่สงบเยือก‌เย็นแล้ว จึงค่อยทรงสำเร็จสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจึงค่อยนำมา‌สอนพวกเรา พุทธศาสนาที่ทรงสอนทั้งหมด 45 ปี หลังจาก‌ตรัสรู้ รวมลงแล้ว สอนตรงนี้แห่งเดียว ไม่ได้ไปสอนที่อื่น เมื่อ‌เสด็จปรินิพพาน ก็ทรงสรุปรวมลงไป อย่าเอามาก อาศัยความ‌ไม่ประมาท เท่านั้นแหละ เป็นหลัก

ความไม่ประมาท ก็คือ มีสติทุกเมื่อที่ฝึกหัดอย่างนี้จึงได้‌ชื่อว่า เราปฏิบัติถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเพราะ‌ฉะนั้น ทุกๆ คนขอให้พากันอบรม ตั้งสติให้มั่นคง มีโอกาสพัก‌ร้อนชั่ว 7 วัน 15 วัน ตั้งใจทำเสียให้สุดกำลังความเพียรของ‌เรา มันจะได้แค่ไหนก็เอาเถิด ดีกว่าที่เราไม่ได้ทำความเพียร‌ภาวนา

ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่าบุรุษ (นักปฏิบัติทั้งชายและหญิง) คือ ‌ผู้กล้าหาญ จงเพียรพยายามกระทำไปการทำก็ให้ทำจริงๆ ‌จังๆ ไม่ให้ทำเล่นๆ หลอกๆ จะต้องเข้าถึงที่สุดของความ‌ปรารถนาของตน วันหนึ่งข้างหน้าจนได้ เอาละนั่งสมาธิ

(พระอาจารย์อบรมนำก่อน)

การภาวนา ถ้าตั้งใจเป็นกลางๆ แล้ว มันก็หมดเรื่อง ไม่ต้อง‌เกี่ยวข้องกับอะไรทั้งนั้น ความเป็นกลางนั้นลงปัจจุบันเลยไม่คิด‌เรื่องอดีต อนาคต เป็นการภาวนาในตัว คือ มันเห็นใจของเรา ‌ใจ แปลว่า กลาง ถ้าถึงกลางเมื่อไร นั่นแหละถึงตัวใจ ให้อยู่‌ตรงนั้นเสียก่อน อย่าไปคิดนึกถึงเรื่องอะไรทั้งหมด

ที่หัดอยู่ทุกวันนี้ ก็หัดให้เข้าถึงสมาธิตรงนั้นแหละ เมื่อเข้า‌ถึงตรงนั้นแล้ว มันจะอยู่ได้นานๆ ไม่เหมือนที่เรากลั้นลมหายใจ ‌คือ มันค่อยเย็นลงไป สงบลงไป เข้าถึงจุดนั้นแล้วละก็สบาย คน‌เราจะเอาสบายอะไรอีก นอกไปจากความสบายตรงนั้น ตรงสิ่ง‌ที่ไม่มีอะไรนั่นน่ะ มันสงบเย็นรู้ตัวอยู่ มันก็แสนสุขสบายล่ะซี ‌จะไปหาความสุขสบายที่ไหนอีก ไปคิดถึงบ้านถึงเรือนคิดถึงลูก‌ถึงหลาน คิดถึงการงาน อันนั้นเอาไว้ต่างหาก อย่าเพิ่งไปคิดถึง ‌เวลาทำสมาธิภาวนา ทำให้เข้าใจ“ใจ”ตรงนั้นเสียก่อน ทำ‌ความสงบสุขนั้นให้ได้เสียก่อนแล้วจึงค่อยออกไปคิด

เวลามันออกจากสมาธิแล้ว มันก็วิ่งว่อนไปอีก แต่ว่าคราวนี้มันมีสติอยู่ รู้อยู่ว่ามันไปหาอะไร มีประโยชน์อะไรมีความรู้ตัวอยู่ ตอนนั้นมันจะค่อยมีปัญหาขึ้น ดีกว่าแต่ก่อนแต่‌ก่อนนั้นมันวิ่งว่อนเสียจนหัวซุกหัวซุน ไม่รู้จักหัวนอนปลายตีน‌อะไร ว่าแต่ดีเรื่อยไป พอเราหัดเข้าถึงความสงบนั้นได้แล้วมัน‌ไม่มีอะไร มีเพียงความรู้สึกอยู่นั่น อยู่เช่นนั้นได้นานสักเท่าไรก็‌ตาม เวลามันถอนออกไปคราวนี้ มันจะรู้ตัวขึ้นเห็นความจริงละ‌ทีนี้ มันจะรู้ตัวว่า มันวิ่งว่อนหัวซุกหัวซุนมาแล้วทั้งกลางวันและ‌กลางคืน แม้แต่นอนหลับมันก็ผ่านไป แท้ที่จริงของอันนั้นไม่ใช่‌ของดี แต่มันใช้เราเฉยๆ ถ้าหากเราบังคับใจอยู่แล้ว มันไม่ไป‌หรอก

ให้หัดเข้าถึงตรงกลางนั้นเสียก่อน ให้นิ่งแน่วอยู่สงบเต็มที่ มัน‌จะอยู่ได้นานสักเท่าไร ก็อยู่ไปเถิด เราหาความสุขเมื่อได้ความสุข‌แล้วก็เอาละ พักอยู่แค่นั้นเสียก่อน เอ้า! นั่งภาวนาเลย
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 32

โพสต์

ธรรมะ-จิตใจ
เมตตา


เมตตา เอาอันเดียวเท่านั้นแหละ ไม่ต้องพูดมากหรอก เมตตา‌นั้นเป็นเครื่องค้ำจุนโลกนี้ให้ตั้งมั่นถาวรอยู่ไปได้

เพราะเมตตาตัวเดียว ‌ถ้าขาดเมตตาเสียแล้ว โลกก็ฉิบหายหมด ไม่ถึงพริบตาเดียวเลย แต่‌หากว่า คนเกิดมาในโลกนี้ลืมตัว เลยไม่ได้คิดถึงเมตตา อยู่มาทุกวัน‌เดี๋ยวนี้ก็เพราะเมตตานั่นแหละ แต่หากว่าคนเราทุกคนไม่คิดถึง โดย‌ส่วนมากคิดถึงน้อยที่สุด เพราะไม่มีหลัก คือ ความสงบไม่มี เมตตา‌เกิดจากความสงบ สงบลงเป็นหนึ่งเป็นกลาง จึงจะรู้จักเมตตา

คนเราอยู่ด้วยกันต้องมีเมตตา ต่างแต่ว่ามากน้อย ถ้าเมตตามาก ‌ก็ได้ความสุขมาก เมตตาน้อย ก็ได้ความสุขน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง‌ในครอบครัวหนึ่งๆ ถ้ามีเมตตาแก่กันและกันก็อยู่เป็นสุข ถ้าไม่มี‌เมตตาแล้วเดือดร้อนวุ่นวาย ลูกก็เหมือนกัน ภรรยาสามีก็เหมือนกัน ‌หากว่าไม่รู้จักผ่อนผันสั้นยาว มีแต่เอารัดเอาเปรียบ ก็จะเดือดร้อน‌วุ่นวายกันไปหมด

เมื่อต้องเกิดมาในโลก ก็ต้องมีเมตตาน่ะซี เราจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ‌ต้องมีญาติมีพี่มีน้องมีพวกเพื่อนหมู่ฝูงด้วยกัน ถ้าอยู่คนเดียวละก็ไม่มี‌เมตตาก็ได้ แต่ไปอยู่ในป่าโน่น ไปอยู่คนเดียวในป่าโน่น แต่อยู่ไม่ได้‌เหมือนกัน ต้องวิ่งเข้ามาหาหมู่

เมตตา หมายถึง ความเป็นมิตร คือ เมตตานั้นมันเกิดมาจากมิตร‌นั่นเอง คำว่า“เมตตา”ก็มาจากคำว่า“มิตต”นั่นแหละ เอาสระอิ ‌เป็นสระเอ ก็เป็นเมตตา มิตร คือ ตัวของเรา ตัวของเราเช่นไร คืน‌อื่นก็เป็นเช่นนั้น ปรารถนาความสุขให้แก่ตัวของเราเช่นไร ปรารถนา‌ถึงคนอื่นก็ปรารถนาเช่นนั้นเหมือนกัน เราอยู่เป็นหมู่ เป็นพรรค เป็น‌พวกด้วยกัน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ในส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ประโยชน์ใน‌ส่วนตัวในที่นี้ เช่น อามิส สิ่งของเครื่องใช้ทุกสิ่งทุกประการ เห็นแก่‌ส่วนตัว หรือเห็นแก่ได้ คือ อยากจะให้ได้ส่วนเดียวท่าเดียวคนอื่นนั้น‌ใครจะมี หรือไม่มีก็ตาม ใครจะมี หรือไม่มีก็ช่าง อันนี้เป็นเห็นส่วนตัว‌ในอามิส

เห็นส่วนตัวในความคิดเห็น การเอาแต่ใจของตน ไม่คิดถึงใจคนอื่น เวลาพูดจาก ทำกิริยาอาการทุกสิ่งทุกอย่าง หุนหันพลันแล่น‌เอาแต่ใจของตน ไม่คิดถึงคนอื่น ถ้ายอมคิดถึงคนอื่นบ้าง ก็จะผ่อน‌ความหุนหันพลันแล่นลงไปได้สักนิดหนึ่งคือ คิดว่าคนอื่นเขาจะได้รู้ได้เห็น หรือเขาได้ยินได้ฟังคำพูดของเราแล้ว มันจะเป็นอย่างไร?‌สมมติว่าเราเป็นคนอื่น ได้ยินเขาพูดอย่างเราพูดนี่แล้วเราลองฟัง ‌ลองดูมันจะเป็นอย่างไร?

นี่แหละ ความเดือดร้อนวุ่นวายของคนทั้งหลาย ที่อยู่รวมกันมันเดือดร้อนวุ่นวายด้วยคำพูด เกิดกิริยาอาการ และการกระทำที่ไม่มีเมตตา มันจึงค่อยเดือดร้อน ถ้าหากว่าเดือดร้อนอย่างนี้ทั่วไปหมด‌ทุกแห่งทุกหน ก็เรียกว่า ร้อนหมดทั้งโลก

ตั้งแต่กลุ่มน้อยๆ ไปหรือตั้งแต่ตัวของเราไป ตัวของเราคนเดียวนี่แหละ ทำอะไรก็ไม่ถูกอกถูกใจ พูดอะไรก็ไม่ถูกเรื่องถูกราว ตนเอง‌ก็โกรธตนเอง นี่ มันร้อนตั้งแต่ตรงนี้ไป คือ ไม่รู้จักตัวความโกรธไม่เห็นโทษของความโกรธ ทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะถูกใจหมดไม่ได้ เราทำก็ไม่ถูกใจคนอื่นทำก็ไม่ถูกใจ เมื่อทำอะไรก็ไม่ถูกใจอย่าง‌นั้น ต้องผ่อนผันให้กันและกันในฐานะที่เราเป็นคน

ถ้าหากว่าเรารู้จักตัวเอง รู้ว่าคนอื่นก็เหมือนกันกับตัวของเรา คือ ‌ไม่มีสติ ไม่รู้ตัว จึงได้ปล่อยอารมณ์ออกไปอย่างนั้น จึงได้เป็นอย่างนั้น ‌การที่ไม่มีสตินั้นแหละ ควบคุมจิตไม่อยู่ จึงพลุ่งออกมาอย่างนั้นเหตุนั้น จงอภัยซึ่งกันและกันผ่อนสั้นผ่อนยาว ผิดพลาดบ้างก็ตาม‌เรื่องตามราว ไม่ถึงกับฉิบหาย ไม่ถึงกับเดือดร้อนวุ่นวายทั่วไป

สมมติว่า พูดผิดสักนิดหนึ่ง ด้วยเหตุที่ไม่มีสติ เพราะคุมจิตไม่อยู่ ‌มันไม่ถึงกับฉิบหาย ไม่ถึงกับล่มจม ไม่ถึงกับตัวของเราเป็นอันตราย‌เจ็บป่วย คำพูดอันนั้น ไม่เสียดสี ไม่เสียดแทงถึงกับเป็นบาดแผลเหตุนั้น จึงว่า อดเอา อดยับยั้งไว้ ผู้พูด เมื่อพูดไปแล้ว มันยับยั้งไม่อยู่ ผู้ฟังก็อดยับยั้งไว้ มันก็ค่อยผ่อนผัน ค่อยเบาบางลงไป

ถ้าผู้พูดไม่ยับยั้ง ไม่มีสติ พูดออกไปกระทบคนอื่น ผู้อื่นเกิดโกรธ‌ขึ้น ถ้าโกรธทั้งสองฝ่ายละก็เป็นไฟเลย อาจจะมากจนลุกลามเผา‌ผลาญบ้านเมือง จากคนสองคนเท่านั้นแหละ ลุกลามและเผาผลาญ‌บ้านเมืองหมด ที่เกิดสงครามก็เพราะอย่างนั้น ไม่มีอะไรหรอก เพียง‌นิดหน่อยเท่านั้น คนสองคนเท่านั้นเกิดสงครามขึ้นได้ การที่จะเกิดหมู่‌พวก แตกแยกสามัคคีกันนี้ ก็เพราะคนสองคนเท่านั้นแหละ เป็นเหตุ‌ให้ลุกลามใหญ่โตมโหฬารไปเช่นนี้ เนื่องเพราะความไม่มีสติ ควบคุม‌จิตไม่อยู่ จึงว่า“อด”คำเดียวเท่านั้น

อย่างที่เล่าสืบกันมาปรัมปราว่า ลูกศิษย์อาจารย์ทิศาปาโมกข์คนหนึ่ง เรียนอยู่หลายปีดีดัก เมื่อจะลากลับคืนไปบ้าน อาจารย์‌บอกว่าให้“อด”“อด”คำเดียวเท่านั้นหมดเรื่องเรียนมาตั้งหลายปี ‌วิชชาความรู้ทั้งปวงหมด รวมอยู่กับคำ“อด”คำเดียว

เราเป็นคนปฏิบัติ เราเป็นคนฝึกหัดอบรม ศีล สมาธิ ปัญญา แล้ว‌ไม่มีสติ ไม่มีความอด ความทน การฝึกหัดปฏิบัติเลยไม่มีผล เสียเปล่า ‌ปฏิบัติฝึกหัดมาตั้งนมนานเลยไม่มีประโยชน์

ความเมตตาปรารถนาหวังดี ปรารถนาให้คนอื่นมีผลประโยชน์ ‌ต้องด้วยความเมตตา ต้องเผื่อแผ่คนอื่น เมื่อคนอื่นพูด หรือทำไม่มีสติ ‌ประมาทพลาดพลั้งลงไป ก็เมตตาสงสารเขา ด้วยความไม่รู้เท่าถึงการของเขา เราก็เลยเกิดเมตตาขึ้น ความเมตตาก็เลยเป็นเหตุให้เผื่อ‌แผ่แก่คนอื่น คนที่โกรธเราก็สามารถระงับได้ คนในหมู่พวกมากๆ ‌ด้วยกัน เห็นความเมตตาปรารถนาหวังดีต่อเขา ก็เลยมีความเอ็นดู ‌ความรัก ความสงสารกัน

คนขี้โกรธไม่มีใครรัก ทำอะไรก็โกรธ ทำอะไรก็เกลียด ทำอะไร‌วูบวาบวู่วาม ทำอะไรก็เอาแต่ใจตนเอง เขาเลยเบื่อ เขาไม่อยากคบค้าสมาคม ไม่มีมิตรไม่มีเพื่อน มันเป็นโทษอย่างนี้อันนี้เรื่อง โทษ‌ของความไม่มีเมตตา

คราวนี้พูดถึงเรื่อง เมตตา คุณของความมีเมตตา ความเมตตานั้น‌เป็นของเฉพาะส่วนตัว ต้องให้เห็นเฉพาะส่วนตัวเสียก่อน เห็นที่ใจ‌ของเรานี่แหละ รักษาความสงบ อบรมความสงบได้แล้ว มีสติยับยั้ง‌ไม่หุนหันพลันแล่น เราเห็นตัวของเราผิดพลาด เห็นตัวของเราเกิด‌ความประมาท คือ ไม่มีสติทำอะไรก็พลั้งๆ เผลอๆ หลงๆ ลืมๆ เรา‌อย่าไปสงบเอาภายนอก ให้เข้าถึงใจ ใจนั้นแหละหลงลืม ใจนั้นแหละ‌ไม่มีสติ ถ้าอยู่ที่ใจแล้วไม่หลงไม่ลืม ต้องมีสติเป็นแน่ เมื่อมีสติอยู่‌ควบคุมจิตอยู่ มันก็สงบ เมื่อความสงบมีแล้ว ย่อมมองเห็นโทษในสิ่งต่างๆ

ถ้าไม่มีความสงบ มีแต่วุ่นวาย ส่งสายเดือดร้อนไปทุกสิ่งทุก‌ประการ เห็นสิ่งใดได้ยินสิ่งใด เกิดความชอบใจไม่ชอบใจ มีความโกรธ‌ความเกลียด ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ส่งไปตามสิ่งเหล่านั้น มันไม่สงบ ‌มันก็เลยไม่เห็นตัวเอง ครั้นสงบแล้วนั้นจึงเห็นตัว ธรรมดาน้ำนิ่งเฉย ‌จึงค่อยปรากฏเงา จิตของเราก็เช่นนั้นเหมือนกัน จิตถ้าสงบลงแล้ว ‌เห็นตัวของเราเอง เราทำผิดทำถูกเห็นหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ยับยั้งตัว‌ของเราไว้ได้

ครั้นเราเห็นตัวของเราเช่นไร เราผิดเราถูกตรงไหนแล้วก็สามารถ‌ที่จะตักเตือนคนอื่นได้ มีเมตตาแก่คนอื่น สงสารแก่คนอื่น ที่เขาไม่เห็น มันก็ต้องเป็นอย่างที่เราไม่เห็นนี่แหละ เมื่อเราเห็นตัวของเรามันผิดพลาดไม่ดีตรงนั้นๆ เมื่อคนอื่นทำผิดแต่เราไม่โกรธ คนอื่นทำไม่ถูกไม่ต้อง แต่เราไม่โกรธสามารถที่จะตักเตือนคนอื่นได้ ถ้าหากมี‌โอกาส

การตักเตือนคนอื่นมันก็ต้องมีโอกาสเหมือนกัน เราหวังดี‌ปรารถนาดีตักเตือนคนอื่น โดยที่ไม่รู้จักกาลเทศะเขาสามารถโกรธเรา‌ได้ คำพูดนั้นเป็นของสำคัญ กาลเวลาเป็นของสำคัญที่สุด อย่างคำพูด‌ของเรา เอ็นดูปรารถนาหวังดีต่อคนอื่นก็จริง ในที่ประชุมชนหมู่มาก ‌หากว่าเราไปตักเตือนเขาเวลานั้น อาจจะเป็นที่ขายขี้หน้าของเขาก็ได้ ‌เขาอาจจะโกรธขึ้นมา อันนั้นเรียกว่า ไม่รู้จักกาลเทศะ

ถ้ารู้จักกาลเทศะ เราหวังดีปรารถนาดี ด้วยเคยเห็นผิดของตนตนทำผิดอย่างนั้น คนอื่นก็ต้องทำผิดอย่างเรา อยากให้คนอื่นได้รู้จัก‌ความผิดอันนั้น เมื่อมีโอกาสดี จิตใจก็สบาย พูดจาพาทีในสิ่งที่เป็น‌ประโยชน์ คือ สิ่งแวดล้อมกว้างขวาง ในขณะที่เรามีจิตเบิกบานจิต‌ผ่องใส เราจึงค่อยตักเตือนเลือกในเวลาที่คนเงียบสงัด ถึงหากว่าไม่‌เข้าในใจคำพูดของเรา เราก็ค่อยอธิบายให้ฟัง เขาก็สามารถที่จะรู้ได้ ‌แล้วจะเกิดความเคารพนับถือตัวของเราอีก มีหลายเรื่องหลายอย่าง‌คำพูดที่จะพูดให้คนรักคนชอบใจ ไม่ใช่ว่ามีอันใด พอคิดได้ก็พูดเลย‌อย่างนั้นใช้ไม่ได้

จึงว่า เมตตา มันเกิดจากตัวของเราเสียก่อน ที่ท่านว่าไว้ ความ‌โกรธให้อาศัยเมตตา ระงับโดยเมตตา โอย! มันระงับไม่ได้หรอก เวลา‌ที่มันโกรธแล้ว เมตตาไประงับอย่างไรได้ เมตตาไม่ทราบมันหายไป‌ไหนแล้ว มันจึงค่อยโกรธ ถ้าเมตตามีแล้วไม่โกรธหรอก ให้ระงับด้วย‌เมตตา คือ ให้ระงับตั้งแต่ยังไม่ทันโกรธ เวลาที่ยังไม่ทันโกรธ มันจึง‌ค่อยระงับได้ โกรธแล้วมันจะไประงับได้อย่างไร?

นี่แหละ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ทรงสอนกว้างอธิบายมาก‌มาย เมื่อท่านทรงสอนแล้ว เรามาลองทำดู มาทดสอบทดลองในใจ‌ของตนเอง ครั้นถ้าหากยังไม่ทันเป็นไปเพื่อความสงบ มันอาจจะมีอันใดอันหนึ่ง ซึ่งผิดแผกไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ในจิตใจ‌ของเรา บางคนฝึกหัดอบรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ไม่เข้าใจ‌ธรรมคำสอนของพระองค์แต่ฝึกหัดไปเอง เลยเกิดความรู้ความเข้าใจ‌ขึ้นมา ชัดเจนขึ้นมาในการฝึกหัดอบรมนั้น เป็นไปตามคำสอนของ‌พระพุทธเจ้า

เช่น อย่างเมตตา เราฝึกหัดอบรมเป็นไปแล้ว เมื่อเห็นตัวเราผิด ‌เห็นตัวเราไม่มีสติสตังจะคุ้มครองรักษาตัวเรา จึงพูดผิด ทำผิดด้วย‌อาการกิริยาต่างๆ ครั้นเมื่อมีสติแล้ว เห็นโทษว่า การทำอย่างนั้น‌เพราะไม่มีสติ จึงค่อยอดกลั้น ไม่สามารถที่จะทำความชั่วอันนั้นๆ ได้ ‌คือ ไม่ทำผิดลักษณะอาการนั้นๆ มีความเยือกเย็นภายในใจ มันถูก‌ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ถึงไม่ฟังเทศน์ก็ถูก

บางคนเอาธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ไว้แล้ว มาฝึกหัดอบรม ‌อบรมไม่ถูก มันก็ไม่เป็น ถ้าอบรมถูกแล้ว แม้ไม่ได้ฟังเทศน์ก็เป็น คือ ‌พระพุทธเจ้าทรงสอนของเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างนั้น จึงได้เทศน์‌อย่างนั้น ครั้นเราไปเรียนไปรู้มาแล้ว มันไม่เป็นจริงอย่างที่ท่านสอน ‌มันไม่ถูกของจริงเหมือนกัน

การเมตตา มันคุ้มครองตัวเราเสียก่อน รักษาตัวของเราเสียก่อน ‌แล้วจึงค่อยขยายไปหาหมู่พวก หาบ้านหาเมืองหาคนกว้างขวางไป‌หมดทั้งโลก เมตตา ตัวเดียวเท่านั้น คุ้มครองโลกได้หมด จะอยู่เย็น‌เป็นสุขก็เพราะให้อภัยซึ่งกันและกันไม่มากก็ต้องน้อย ถ้าไม่มีเมตตาก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ มนุษย์ก็เลยเป็นสัตว์นรกไปด้วย ร้อน เรียกว่านรก เป็นมนุษย์แต่ว่าเป็นสัตว์ไปในตัว ร้อนไปด้วยกันหมดทุกแห่งทุกหน

ถ้ามีเมตตาแล้ว เป็นมนุษย์หรอก แต่มันเป็นสวรรค์ในนั้น เรา‌เมตตาเอ็นดูสงเคราะห์สงหาซึ่งกันและกัน อยู่เย็นเป็นสุข ระลึกถึงกัน ‌ไปที่ไหนอยู่ใกล้อยู่ไกล ก็ระลึกถึงกันตลอดเวลา ความเยือกเย็นนั้นก็แผ่ซ่านไปหมดทั้งโลก อันนั้นแหละเป็นสวรรค์ อย่าไปหาที่อื่นเลย ‌มันอยู่ที่ใจของเรานี่ทั้งนั้น ที่ท่านว่า นรก สวรรค์ อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง‌ต่างหากที่ท่านพูดไว้มันอยู่โน้น ไกลๆ โน่น แต่นี่พูดถึงใจของเรา อยู่‌ที่ใจของเรานี่ต่างหาก ถ้าใจเป็นนรก มันก็เป็นนรกหมดโลก ถ้าใจเป็น‌สวรรค์ก็เป็นสวรรค์หมดทั้งโลก แต่ละคนๆ ให้เป็นนรก เป็นสวรรค์‌อยู่ในที่นี้ทั้งนั้น

ในสมัยเดี๋ยวนี้ คนไม่มีเมตตาปรานี เอ็นดู สงเคราะห์สงหาซึ่งกัน‌และกัน มีแต่ทิฏฐิมานะ เอารัดเอาปรียบ แข่งดีจองเวรซึ่งกันและกัน ‌มันใกล้ที่จะเป็นประลัยกัลป์ เป็นสัตถันตรกัปป์แล้ว

ถ้าหากว่าพวกเรากลัว ก็ทำตัวให้มันมีเมตตาเสีย ในกลุ่มเล็กๆ ‌น้อยๆ นี่ ก็ให้มีเมตตาซึ่งกันและกันเสีย ทางโลกเขาจะเป็นอย่างไรก็ตามเรื่องของเขา แต่กลุ่มน้อยๆ คือ ตัวของเรานี่แหละ ให้มีเมตตา‌ขึ้นในตัวของเราทุกๆ คน แล้วก็จะอยู่เย็นเป็นสุข เอาละ
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 33

โพสต์

ศีล ๒๒๗ มีความหมายคือ ศีลสำหรับพระภิกษุ ซึ่งพระภิกษุต้องถือศีล ๒๒๗ ข้อ โดยอยู่ในภิกขุปาฏิโมกข์

ศีล ๒๒๗ ข้อที่เป็นวินัยของสงฆ์ ทำผิดถือว่าเป็นอาบัติ สามารถแบ่งออกได้เป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นรุนแรงจนกระทั่งเบาที่สุดได้ดังนี้ ได้แก่

ปาราชิก มี ๔ ข้อ
สังฆาทิเสส มี ๑๓ ข้อ
อนิยต มี ๒ ข้อ (อาบัติที่ไม่แน่ว่าจะปรับข้อไหน)
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ข้อ (อาบัติที่ต้องสละสิ่งของว่าด้วยเรื่องจีวร ไหม บาตร อย่างละ ๑๐ข้อ)
ปาจิตตีย์ มี ๙๒ ข้อ (ว่าด้วยอาบัติที่ไม่ต้องสละสิ่งของ)
ปาฏิเทสนียะ มี ๔ ข้อ (ว่าด้วยอาบัติที่พึงแสดงคืน) เสขิยะ (ข้อที่ภิกษุพึงศึกษาเรื่องมารยาท) แบ่งเป็น สารูปมี ๒๖ ข้อ (ความเหมาะสมในการเป็นสมณะ)
โภชนปฏิสังยุตต์ มี ๓๐ ข้อ (ว่าด้วยการฉันอาหาร)
ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ มี ๑๖ ข้อ (ว่าด้วยการแสดงธรรม)
ปกิณสถะ มี ๓ ข้อ (เบ็ดเตล็ด)
อธิกรณสมถะ มี ๗ ข้อ (ธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์)
รวมทั้งหมดแล้ว ๒๒๗ ข้อ ผิดข้อใดข้อหนึ่งถือว่าต้องอาบัติ การแสดงอาบัติสามารถกล่าวกับพระภิฏษุรูปอื่นเพื่อเป็นการแสดงตนต่อความผิดได้ แต่ถ้าถึงขั้นปาราชิกก็ต้องสึกอย่างเดียว

ปาราชิก มี ๔ ข้อได้แก่
๑. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)
๒. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย)
๓. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน)หรือแสวงหาศาสตราอันจะนำไปสู่ความตายแก่ร่างกายมนุษย์
๔. กล่าวอวดอุตตริมนุสสธัมม์ อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง)

สังฆาทิเสส มี ๑๓ ข้อ ถือเป็นความผิดหากทำสิ่งใดต่อไปนี้
๑.ปล่อยน้ำอสุจิด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน
๒.เคล้าคลึง จับมือ จับช้องผม ลูบคลำ จับต้องอวัยวะอันใดก็ตามของสตรีเพศ
๓.พูดจาหยาบคาย เกาะแกะสตรีเพศ เกี้ยวพาราสี
๔.การกล่าวถึงคุณในการบำเรอตนด้วยกาม หรือถอยคำพาดพิงเมถุน
๕.ทำตัวเป็นสื่อรัก บอกความต้องการของอีกฝ่ายให้กับหญิงหรือชาย แม้สามีกับภรรยา หรือแม้แต่หญิงขายบริการ
๖.สร้างกุฏิด้วยการขอ
๗.สร้างวิหารใหญ่ โดยพระสงฆ์มิได้กำหนดที่ รุกรานคนอื่น
๘.แกล้งใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
๙.แกล้งสมมุติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
๑๐.ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน
๑๑.เป็นพวกของผู้ที่ทำสงฆ์ให้แตกกัน
๑๒.เป็นผู้ว่ายากสอนยาก และต้องโดนเตือนถึง 3 ครั้ง
๑๓. ทำตัวเป็นเหมือนคนรับใช้ ประจบคฤหัสถ์

อนิยตกัณฑ์ มี ๒ ข้อได้แก่
๑. การนั่งในที่ลับตา มีอาสนะกำบังอยู่กับสตรีเพศ และมีผู้มาเห็นเป็นผู้ที่เชื่อถือได้พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการอันใดอันหนึ่งกล่าวแก่ภิกษุนั้นได้แก่ ปาราชิกก็ดี สังฆาทิเสสก็ดี หรือปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุนั้นถือว่ามีความผิดตามที่อุบาสกผู้นั้นกล่าว
๒. ในสถานที่ที่ไม่เป็นที่ลับตาเสียทีเดียว แต่เป็นที่ที่จะพูดจาค่อนแคะสตรีเพศได้สองต่อสองกับภิกษุผู้เดียว และมีผู้มาเห็นเป็นผู้ที่เชื่อถือได้พูดขึ้นด้วยธรรม 2 ประการอันใดอันหนึ่งกล่าวแก่ภิกษุนั้นได้แก่ สังฆาทิเสสก็ดี หรือปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุนั้นถือว่ามีความผิดตามที่อุบาสกผู้นั้นกล่าว

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ มี ๓๐ ข้อ ถือเป็นความผิดได้แก่
๑.เก็บจีวรที่เกินความจำเป็นไว้เกิน ๑๐ วัน
๒.อยู่โดยปราศจากจีวรแม้แต่คืนเดียว
๓.เก็บผ้าที่จะทำจีวรไว้เกินกำหนด ๑ เดือน
๔.ใช้ให้ภิกษุณีซักผ้า
๕.รับจีวรจากมือของภิกษุณี
๖.ขอจีวรจากคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ เว้นแต่จีวรหายหรือถูกขโมย
๗.รับจีวรเกินกว่าที่ใช้นุ่ง เมื่อจีวรถูกชิงหรือหายไป
๘.พูดทำนองขอจีวรดีๆ กว่าที่เขากำหนดจะถวายไว้แต่เดิม
๙.พูดให้เขารวมกันซื้อจีวรดีๆ มาถวาย
๑๐.ทวงจีวรจากคนที่รับอาสาเพื่อซื้อจีวรถวายเกินกว่า ๓ ครั้ง
๑๑.หล่อเครื่องปูนั่งที่เจือด้วยไหม
๑๒.หล่อเครื่องปูนั่งด้วยขนเจียม (ขนแพะ แกะ) ดำล้วน
๑๓.ใช้ขนเจียมดำเกิน ๒ ส่วนใน ๔ ส่วน หล่อเครื่องปูนั่ง
๑๔.หล่อเครื่องปูนั่งใหม่ เมื่อของเดิมยังใช้ไม่ถึง ๖ ปี
๑๕.เมื่อหล่อเครื่องปูนั่งใหม่ ให้เอาของเก่าเจือปนลงไปด้วย
๑๖.นำขนเจียมไปด้วยตนเองเกิน ๓ โยชน์ เว้นแต่มีผู้นำไปให้
๑๗.ใช้ภิกษุณีที่ไม่ใช้ญาติทำความสะอาดขนเจียม
๑๘.รับเงินทอง
๑๙.ซื้อขายด้วยเงินทอง
๒๐.ซื้อขายโดยใช้ของแลก
๒๑.เก็บบาตรที่มีใช้เกินความจำเป็นไว้เกิน ๑๐ วัน
๒๒.ขอบาตร เมื่อบาตรเป็นแผลไม่เกิน ๕ แห่ง
๒๓.เก็บเภสัช ๕ (เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย)ไว้เกิน ๗ วัน
๒๔.แสวงและทำผ้าอาบน้ำฝนไว้เกินกำหนด ๑ เดือนก่อนหน้าฝน
๒๕.ให้จีวรภิกษุอื่นแล้วชิงคืนในภายหลัง
๒๖.ขอด้ายเอามาทอเป็นจีวร
๒๗.กำหนดให้ช่างทอทำให้ดีขึ้น
๒๘.เก็บผ้าจำนำพรรษา (ผ้าที่ถวายภิกษุเพื่ออยู่พรรษา) เกินกำหนด
๒๙.อยู่ป่าแล้วเก็บจีวรไว้ในบ้านเกิน ๖ คืน
๓๐.น้อมลาภสงฆ์มาเพื่อให้เขาถวายตน

ปาจิตตีย์ มี ๙๒ ข้อได้แก่
๑.ห้ามพูดปด
๒.ห้ามด่า
๓.ห้ามพูดส่อเสียด
๔.ห้ามกล่าวธรรมพร้อมกับผู้ไม่ได้บวชในขณะสอน
๕.ห้ามนอนร่วมกับอนุปสัมบัน(ผู้ไม่ใช้ภิกษุ)เกิน ๓ คืน
๖.ห้ามนอนร่วมกับผู้หญิง
๗.ห้ามแสดงธรรมสองต่อสองกับผู้หญิง
๘.ห้ามบอกคุณวิเศษที่มีจริงแก่ผู้มิได้บวช
๙.ห้ามบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่ผู้มิได้บวช
๑๐.ห้ามขุดดินหรือใช้ให้ขุด
๑๑.ห้ามทำลายต้นไม้
๑๒.ห้ามพูดเฉไฉเมื่อถูกสอบสวน
๑๓.ห้ามติเตียนภิกษุผู้ทำการสงฆ์โดยชอบ
๑๔.ห้ามทิ้งเตียงตั่งของสงฆ์ไว้กลางแจ้ง
๑๕.ห้ามปล่อยที่นอนไว้ ไม่เก็บงำ
๑๖.ห้ามนอนแทรกภิกษุผู้เข้าไปอยู่ก่อน
๑๗.ห้ามฉุดคร่าภิกษุออกจากวิหารของสงฆ์
๑๘.ห้ามนั่งนอนทับเตียงหรือตั่งที่อยู่ชั้นบน
๑๙.ห้ามพอกหลังคาวิหารเกิน ๓ ชั้น
๒๐.ห้ามเอาน้ำมีสัตว์รดหญ้าหรือดิน
๒๑.ห้ามสอนนางภิกษุณีเมื่อมิได้รับมอบหมาย
๒๒.ห้ามสอนนางภิกษุณีตั้งแต่อาทิตย์ตกแล้ว
๒๓.ห้ามไปสอนนางภิกษุณีถึงที่อยู่
๒๔.ห้ามติเตียนภิกษุอื่นว่าสอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่ลาภ ๒๕.ห้ามให้จีวรแก่นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
๒๖.ห้ามเย็บจีวรให้นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ
๒๗.ห้ามเดินทางไกลร่วมกับนางภิกษุณี
๒๘.ห้ามชวนนางภิกษุณีเดินทางเรือร่วมกัน
๒๙.ห้ามฉันอาหารที่นางภิกษุณีไปแนะให้เขาถวาย
๓๐.ห้ามนั่งในที่ลับสองต่อสองกับภิกษุณี
๓๑.ห้ามฉันอาหารในโรงพักเดินทางเกิน ๓ มื้อ
๓๒.ห้ามฉันอาหารรวมกลุ่ม
๓๓.ห้ามรับนิมนต์แล้วไปฉันอาหารที่อื่น
๓๔.ห้ามรับบิณฑบาตเกิน ๓ บาตร
๓๕.ห้ามฉันอีกเมื่อฉันในที่นิมนต์เสร็จแล้ว
๓๖.ห้ามพูดให้ภิกษุที่ฉันแล้วฉันอีกเพื่อจับผิด
๓๗.ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล
๓๘.ห้ามฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน
๓๙.ห้ามขออาหารประณีตมาเพื่อฉันเอง
๔๐.ห้ามฉันอาหารที่มิได้รับประเคน
๔๑.ห้ามยื่นอาหารด้วยมือให้ชีเปลือยและนักบวชอื่นๆ
๔๒.ห้ามชวนภิกษุไปบิณฑบาตด้วยแล้วไล่กลับ
๔๓.ห้ามเข้าไปแทรกแซงในสกุลที่มีคน ๒ คน
๔๔.ห้ามนั่งในที่ลับมีที่กำบังกับมาตุคาม (ผู้หญิง)
๔๕.ห้ามนั่งในที่ลับ (หู) สองต่อสองกับมาตุคาม
๔๖.ห้ามรับนิมนต์แล้วไปที่อื่นไม่บอกลา
๔๗.ห้ามขอของเกินกำหนดเวลาที่เขาอนุญาตไว้
๔๘.ห้ามไปดูกองทัพที่ยกไป
๔๙.ห้ามพักอยู่ในกองทัพเกิน ๓ คืน
๕๐.ห้ามดูเขารบกันเป็นต้น เมื่อไปในกองทัพ
๕๑.ห้ามดื่มสุราเมรัย
๕๒.ห้ามจี้ภิกษุ
๕๓.ห้ามว่ายน้ำเล่น
๕๕.ห้ามหลอกภิกษุให้กลัว
๕๔.ห้ามแสดงความไม่เอื้อเฟื้อในวินัย
๕๖.ห้ามติดไฟเพื่อผิง
๕๗.ห้ามอาบน้ำบ่อยๆเว้นแต่มีเหตุ
๕๘.ให้ทำเครื่องหมายเครื่องนุ่งห่ม
๕๙.วิกัปจีวรไว้แล้ว (ทำให้เป็นสองเจ้าของ-ให้ยืมใช้) จะใช้ต้องถอนก่อน
๖๐.ห้ามเล่นซ่อนบริขารของภิกษุอื่น
๖๑.ห้ามฆ่าสัตว์
๖๒.ห้ามใช้น้ำมีตัวสัตว์
๖๓.ห้ามรื้อฟื้นอธิกรณ์(คดีความ-ข้อโต้เถียง)ที่ชำระเป็นธรรมแล้ว
๖๔.ห้ามปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น
๖๕.ห้ามบวชบุคคลอายุไม่ถึง ๒๐ ปี
๖๖.ห้ามชวนพ่อค้าผู้หนีภาษีเดินทางร่วมกัน
๖๗.ห้ามชวนผู้หญิงเดินทางร่วมกัน
๖๘.ห้ามกล่าวตู่พระธรรมวินัย (ภิกษุอื่นห้ามและสวดประกาศเกิน ๓ ครั้ง)
๖๙.ห้ามคบภิกษุผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย
๗๐.ห้ามคบสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย
๗๑.ห้ามพูดไถลเมื่อทำผิดแล้ว
๗๒.ห้ามกล่าวติเตียนสิกขาบท
๗๓.ห้ามพูดแก้ตัวว่า เพิ่งรู้ว่ามีในปาฏิโมกข์
๗๔.ห้ามทำร้ายร่างกายภิกษุ
๗๕.ห้ามเงื้อมือจะทำร้ายภิกษุ
๗๖.ห้ามโจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสที่ไม่มีมูล
๗๗.ห้ามก่อความรำคาญแก่ภิกษุอื่น
๗๘.ห้ามแอบฟังความของภิกษุผู้ทะเลาะกัน
๗๙.ให้ฉันทะแล้วห้ามพูดติเตียน
๘๐.ขณะกำลังประชุมสงฆ์ ห้ามลุกไปโดยไม่ให้ฉันทะ
๘๑.ร่วมกับสงฆ์ให้จีวรแก่ภิกษุแล้ว ห้ามติเตียนภายหลัง
๘๒.ห้ามน้อมลาภสงฆ์มาเพื่อบุคคล
๘๓.ห้ามเข้าไปในตำหนักของพระราชา
๘๔.ห้ามเก็บของมีค่าที่ตกอยู่
๘๕.เมื่อจะเข้าบ้านในเวลาวิกาล ต้องบอกลาภิกษุก่อน
๘๖.ห้ามทำกล่องเข็มด้วยกระดูก งา หรือเขาสัตว์
๘๗.ห้ามทำเตียง ตั่งมีเท้าสูงกว่าประมาณ
๘๘.ห้ามทำเตียง ตั่งที่หุ้มด้วยนุ่น
๘๙.ห้ามทำผ้าปูนั่งมีขนาดเกินประมาณ
๙๐.ห้ามทำผ้าปิดฝีมีขนาดเกินประมาณ
๙๑.ห้ามทำผ้าอาบน้ำฝนมีขนาดเกินประมาณ
๙๒.ห้ามทำจีวรมีขนาดเกินประมาณ

ปาฏิเทสนียะ มี ๔ ข้อได้แก่
๑. ห้ามรับของคบเคี้ยว ของฉันจากมือภิกษุณีมาฉัน
๒. ให้ไล่นางภิกษุณีที่มายุ่งให้เขาถวายอาหาร
๓. ห้ามรับอาหารในสกุลที่สงฆ์สมมุติว่าเป็นเสขะ (อริยบุคคล แต่ยังไม่ได้บรรลุเป็นอรหันต์)
๔. ห้ามรับอาหารที่เขาไม่ได้จัดเตรียมไว้ก่อนมาฉันเมื่ออยู่ป่า

เสขิยะ สารูป มี ๒๖ ข้อได้แก่
๑.นุ่งให้เป็นปริมณฑล (ล่างปิดเข่า บนปิดสะดือไม่ห้อยหน้าห้อยหลัง)
๒.ห่มให้เป็นนปริมณฑล (ให้ชายผ้าเสมอกัน)
๓.ปกปิดกายด้วยดีไปในบ้าน
๔.ปกปิดกายด้วยดีนั่งในบ้าน
๕.สำรวมด้วยดีไปในบ้าน
๖.สำรวมด้วยดีนั่งในบ้าน
๗.มีสายตาทอดลงไปในบ้าน (ตาไม่มองโน่นมองนี่)
๘.มีสายตาทอดลงนั่งในบ้าน
๙.ไม่เวิกผ้าไปในบ้าน
๑๐.ไม่เวิกผ้านั่งในบ้าน
๑๑.ไม่หัวเราะดังไปในบ้าน
๑๒.ไม่หัวเราะดังนั่งในบ้าน
๑๓.ไม่พูดเสียงดังไปในบ้าน
๑๔.ไม่พูดเสียงดังนั่งในบ้าน
๑๕.ไม่โคลงกายไปในบ้าน
๑๖.ไม่โคลงกายนั่งในบ้าน
๑๗.ไม่ไกวแขนไปในบ้าน
๑๘.ไม่ไกวแขนนั่งในบ้าน
๑๙.ไม่สั่นศีรษะไปในบ้าน
๒๐.ไม่สั่นศีรษะนั่งในบ้าน
๒๑.ไม่เอามือค้ำกายไปในบ้าน
๒๒.ไม่เอามือค้ำกายนั่งในบ้าน
๒๓.ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะไปในบ้าน
๒๔.ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะนั่งในบ้าน
๒๕.ไม่เดินกระโหย่งเท้า ไปในบ้าน
๒๖.ไม่นั่งรัดเข่าในบ้าน

โภชนปฏิสังยุตต์ มี ๓๐ ข้อคือหลักในการฉันอาหารได้แก่
๑.รับบิณฑบาตด้วยความเคารพ
๒.ในขณะบิณฑบาต จะแลดูแต่ในบาตร
๓.รับบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง (ไม่รับแกงมากเกินไป)
๔.รับบิณฑบาตแค่พอเสมอขอบปากบาตร
๕.ฉันบิณฑบาตโดยความเคารพ
๖.ในขณะฉันบิณฑบาต และดูแต่ในบาตร
๗.ฉันบิณฑบาตไปตามลำดับ (ไม่ขุดให้แหว่ง)
๘.ฉันบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง ไม่ฉันแกงมากเกินไป
๙.ฉันบิณฑบาตไม่ขยุ้มแต่ยอดลงไป
๑๐.ไม่เอาข้าวสุกปิดแกงและกับด้วยหวังจะได้มาก
๑๑.ไม่ขอเอาแกงหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน หากไม่เจ็บไข้
๑๒.ไม่มองดูบาตรของผู้อื่นด้วยคิดจะยกโทษ
๑๓.ไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่เกินไป
๑๔.ทำคำข้าวให้กลมกล่อม
๑๕.ไม่อ้าปากเมื่อคำข้าวยังมาไม่ถึง
๑๖.ไม่เอามือทั้งมือใส่ปากในขณะฉัน
๑๗.ไม่พูดในขณะที่มีคำข้าวอยู่ในปาก
๑๘.ไม่ฉันโดยการโยนคำข้าวเข้าปาก
๑๙.ไม่ฉันกัดคำข้าว
๒๐.ไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย
๒๑.ไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง
๒๒.ไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าว
๒๓.ไม่ฉันแลบลิ้น
๒๔.ไม่ฉันดังจับๆ
๒๕.ไม่ฉันดังซูด ๆ
๒๖.ไม่ฉันเลียมือ
๒๗.ไม่ฉันเลียบาตร
๒๘.ไม่ฉันเลียริมฝีปาก
๒๙.ไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ
๓๐.ไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทลงในบ้าน

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ มี ๑๖ ข้อคือ
๑.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีร่มในมือ
๒.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีไม้พลองในมือ
๓.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีของมีคมในมือ
๔.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีอาวุธในมือ
๕.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมเขียงเท่า (รองเท้าไม้)
๖.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมรองเท้า
๗.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในยาน
๘.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนที่นอน
๙.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งรัดเข่า
๑๐.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ
๑๑.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่คลุมศีรษะ
๑๒.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนอาสนะ (หรือเครื่องปูนั่ง) โดยภิกษุอยู่บนแผ่นดิน
๑๓.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งบนอาสนะสูงกว่าภิกษุ
๑๔.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่ แต่ภิกษุยืน
๑๕.ภิกษุเดินไปข้างหลังไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่เดินไปข้างหน้า
๑๖.ภิกษุเดินไปนอกทางไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในทาง

ปกิณสถะ มี ๓ ข้อ
๑. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ยืนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
๒. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในของเขียว (พันธุ์ไม้ใบหญ้าต่างๆ)
๓. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ

อธิกรณสมถะ มี ๗ ข้อได้แก่
๑. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ในที่พร้อมหน้า (บุคคล วัตถุ ธรรม)
๒. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยการยกให้ว่าพระอรหันต์เป็นผู้มีสติ
๓. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยยกประโยชน์ให้ในขณะเป็นบ้า
๔. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยถือตามคำรับของจำเลย
๕. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ
๖. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยการลงโทษแก่ผู้ผิด
๗. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยให้ประนีประนอมหรือเลิกแล้วกันไป


:idea:
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 34

โพสต์

ศีลกถา ประโยชน์ของการรักษาศีล (1)




นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

สีเลนะ สุคะติ ยันติ สีเลนะโภคะสัมปะทา

สีเลนะ นิพพุติงยันติ อิมัสสะ ธัมมะปะริยา

ยัสสะ อัตโถ สาธายัสมันเตหิ สักกัจจัง ธัมโม โสตัพโพติ

ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้แสดงพระธรรมเทศนา พรรณนาธรรมะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อฉลองศรัทธาชี้สัมมาปฏิบัติแด่ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายที่มาประชุมกัน ณ ธรรมสภาศาลาที่นี้ โดยสมควรแก่เวลา เนื่องในวันนี้เป็นการทำบุญข้าวสาก อันเป็นวัฒนธรรมที่ดีของชาวพุทธอย่างหนึ่งที่กระทำกันทุกปี และวันข้าวประดับดินที่ผ่านมาแล้วก็ดี ทั้งสองวันนี้เป็นคัมภีร์ของพราหมณ์เขากล่าวไว้ บุญข้าวสาก บุญข้าวประดับดิน เป็นวันที่พระยายมบาลปล่อยสัตว์นรกให้กลับมาสู่มนุษย์ มาเพื่อเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องของตนที่อยู่ภายหลังยังไม่ตาย เพื่อรับบุญรับกุศล เขาจึงมีพิธีว่าปล่อยสัตว์นรกขึ้นมาสู่มนุษยโลก พวกญาติพี่น้องที่อยู่ภายหลังยังไม่ตายก็จัดแจงอาหารหวานคาว ผลไม้ เป็นสำรับๆ ไว้ต้อนรับเปรตชนที่มาจากนรก เมื่อทำเสร็จแล้วเอาไปวางไว้ป่าช้า วางไว้กำแพงวัด วางในบริเวณวัด ทุกคนมีพี่น้องที่ตายไป ผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงทำการเพื่อต้อนรับแขกผู้เป็นญาติเราที่มาจากนรก เพื่อจะได้กินอาหาร จึงจัดแจงภาชนะดังกล่าวนั้นมาวางไว้ เป็นการต้อนรับญาติพี่น้องที่เป็นสัตว์นรกนั่นเอง เสร็จจากนั้นแล้วก็พากันไปแม่น้ำคงคา เอาฝ่ามือทั้งสองกอบเอาน้ำให้สูงขึ้นเพียงตา แล้วก็หยาดน้ำลงมาทีละหยดๆ ลงในแม่น้ำคงคาอีก

การอุทิศส่งน้ำให้ญาติที่ตายไปแล้วนั้นคือพิธีของพราหมณ์ แต่ว่าพระพุทธศาสนาเกิดในภายหลัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เผยแผ่ศาสนาพุทธออกมาเพื่อบัญญัติเป็นข้อปฏิบัติว่าการทำเช่นนั้นครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นบิดามารดาครูบาอาจารย์ของพระกรรมฐาน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และครูบาอาจารย์อื่นอีก ได้แนะนำสั่งสอนวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับญาติพี่น้องก็ดี เกี่ยวกับประโยชน์ปัจจุบันก็ดี ว่าการทำเช่นนั้นเป็นการทำไม่ถูกต้อง

ธรรมดาว่าอาหารการกินที่เอาไปวางไว้ในลานวัด ในป่าช้า มันเป็นอาหารของสามัญชนมนุษย์ผู้มีชีวิตอยู่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องให้ถือว่าให้แก่ผู้ที่ลับโลกไปแล้วมารับเอา มันก็กินไม่ได้อยู่นั้นเอง เพราะเป็นอาหารของหยาบ มีแต่ดวงวิญญาณดวงจิตดวงใจขึ้นมาเยี่ยมมาเยือนเท่านั้น ก็คงไม่ได้รับ เพราะอยู่อีกภพหนึ่ง

การทำบุญอุทิศอย่างนั้นท่านว่าทำไม่ถูกทาง ท่านว่าไม่ได้รับมากินอย่างนั้นไม่สมควรกับบุคคล ผู้มีแต่วิญญาณ มีนามธรรมมารับ ควรจะทำบุญอย่างอื่น เป็นต้นว่าได้บุญแล้วส่งบุญไปให้ ท่านแนะนำอย่างนั้น เพราะว่าเปรตชนผู้เป็นเปรตเป็นสัตว์นรกอยู่ เป็นเพียงนามธรรมคือจิตใจเท่านั้น จะมากินอาหารที่หยาบๆ อย่างที่เรากินนี้ไม่ได้ อาหารเหล่านี้เป็นของมนุษย์ สัตว์ นก กา เป็นต้น ที่กินได้แต่เปรตรับไม่ได้เพราะว่าเป็นของหยาบ ต้องทำอาหารนั้นไปบริจาคทานแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล ได้บุญขึ้นมาจากการบริจาคทาน เกิดจากการรักษาศีล เกิดจากการเจริญภาวนา ได้บุญแก่ใจตนเองแล้วจึงแผ่อุทิศส่วนกุศลนั้นไปให้ภายหลัง ขอเดชะผลบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำแล้วนี้ จงไปถึงผู้นั้นๆ ที่เป็นเปรตชน เป็นบิดา มารดา และเป็นญาติของข้าพเจ้า ขอเชิญมาอนุโมทนาเถิด เปรตชนผู้เป็นแต่เพียงจิตวิญญาณนั้น เมื่อได้รับข่าวเช่นนั้นก็ดีใจ สาธุการ ประนมมือรับพร อย่างนั้นเขาจึงจะได้รับ

ที่เคยทำมานั้นครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนว่าผิดแบบ ท่านบอกให้เลิก เพราะฉะนั้นการที่เอาข้าวไปวางไว้ลานวัด วางไว้ตามป่าช้าก็ดี กำแพงวัดก็ดี จึงหยุดมาตั้งแต่บัดนั้น แต่ก็ยังมีบางบ้านที่ทำกันอยู่ ได้ทราบข่าวจากโยมว่าบ้านหนองแวงมากราบคารวะ บอกว่าการเอาอาหารไปวางไว้ในลานวัด ตามกำแพง หรือในป่าช้าก็ยังทำกันอยู่ แต่บ้านเรานั้นเลิกกันแล้ว

ตามคำสอนที่มีมาในศีลสารสูตรกล่าวถึงการเอาอาหารให้แก่ผู้ตายนั้นว่า ในครั้งพุทธกาล มีเศรษฐีผู้มีเงินมาก มีสมบัติพัสถานมาก ได้ลูกชายผู้หนึ่งเกิดมาเป็นแก้วตาดวงใจของบิดา รักอย่างสุดซึ้ง ต่อมาบุตรได้ตายลง ด้วยความวิปโยคโศกเศร้า จึงนำศพไปสู่ป่าช้าแล้วเผาศพ แล้วคิดว่าลูกชายที่ตายไปแล้วเขาคงจะหาอาหารการกินไม่มี จึงได้จัดแจงคนใช้ให้นำอาหารคาวหวาน ผลไม้ สำรับหนึ่งไปวางไว้ป่าช้าทุกวันตั้งแต่วันที่ตาย เพื่อหวังให้ลูกชายได้กิน ประมาณเดือนหนึ่งสองเดือนทำอยู่อย่างนั้น

ต่อมาวันหนึ่งเกิดฝนตก คนที่นำเอาอาหารไปให้ลูกชายเศรษฐีนั้นจึงไปหลบยังศาลาแห่งหนึ่ง เห็นภิกษุผู้ทรงศีลเดินมาจากป่ามาบิณฑบาต จึงสำคัญว่าท่านอยู่ป่าคงอยู่ใกล้กับที่เผาลูกเศรษฐี เราไปวันนี้ก็ติดฝนตก ไปไม่ได้ จึงขอฝากอาหารนี้ไปให้ลูกเศรษฐีบริโภคใช้กินตามความประสงค์ แต่ได้คิดว่าข้าพเจ้ามีความประสงค์นำอาหารนี้อุทิศแด่ลูกเศรษฐีผู้ตายแล้วในป่าช้า จึงวางอาหารทุกอย่างลงในบาตรของพระเถระ พระเถระก็กล่าวว่า “ยะถา วาริวหา ปูรา ปริ ปูเรนฺติ สาครํ” สิ่งที่ท่านปรารถนามานั้นจงสำเร็จเถิด

ต่อมาในกลางคืนวันนั้นเอง ลูกเศรษฐีมาปรากฏในฝันของบิดาของตนเอง ไปต่อว่าต่อขานกับบิดาว่า ท่านผู้เป็นบิดานี้ท่านไม่รักลูกเลย ผมตายมาแล้วตั้งสองเดือนไม่ได้กินอาหารเลย มาได้กินในเช้าวันนี้เอง นับแต่ตายมาได้สองเดือนแล้ว เศรษฐีจึงเอะใจว่าที่ใช้ให้คนเอาอาหารไปส่งในป่าช้านั้นเขาทำหรือเปล่า จึงให้อีกคนหนึ่งไปนับภาชนะดู เพราะภาชนะนั้นเมื่อใส่อาหารไปแล้วก็วางซ้อนกันอยู่วันละสำรับ คนไปนับสำรับก็พบว่าครบถ้วนบริบูรณ์ มิได้ขาด เหตุใดลูกจึงมาต่อว่าว่าไม่ได้รับ ได้กินอาหารเพียงเช้าวานนี้เอง จึงไปถามคนที่เอาภาชนะไปวางนั้น จึงเล่าตามเหตุการณ์ที่กล่าวมาแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงมีความสงสัยว่า เหตุใดอาหารการกินที่นำไปให้เปรตชนที่ป่าช้านั้นจึงไม่ได้รับ แต่เมื่อถวายพระแล้วจึงได้รับ ดังนี้แล้วจึงไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ความจริงเป็นเช่นนั้น เพราะว่าผู้ที่ตายไปแล้วไม่มีร่างกายเหมือนสัตว์หรือมนุษย์ซึ่งเป็นของหยาบ แต่ผู้ที่ตายไปแล้วเป็นเพียงวิญญาณ เป็นเพียงแต่จิตประคอง เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง ต้องทำการกุศลเป็นต้นว่าให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา เป็นนามธรรมคือบุญเกิดที่ใจของผู้กระทำเช่นนั้น เมื่อได้บุญแล้วจึงส่งบุญไปให้ ซึ่งเป็นของนามธรรมเช่นเดียวกัน เหมาะเจาะแก่กัน ผู้รับเป็นเพียงวิญญาณ ผู้ส่งไปก็เป็นบุญ เมื่อได้รับข่าวแล้วก็โมทนาสาธุการไปเกิดเป็นมนุษย์อีก หรือเป็นเทวดา นี้เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามทำนองของพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นการที่ทำดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้นจึงเป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนให้เลิกละพอสมควรแล้ว เราจึงถือปฏิบัติอย่างนี้ตลอดมา แม้แต่วันนี้คณะศรัทธาญาติโยมของวัดชัยมงคลที่มาทำบุญทุกบ้าน ทำบุญข้าวสาก ข้าวประดับดินที่ผ่านมาแล้ว จึงถือเป็นวันสำคัญที่ควรถือปฏิบัติสืบทอดเป็นของดี ทำดีไว้ให้ลูก ทำถูกไว้ให้หลาน ได้สืบทอดการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบต่อไป เพราะฉะนั้นวันเช่นนี้ได้เวียนมาถึงแล้ว ศรัทธาญาติโยมบ้านแพงมีกติกาสัญญากันว่าให้ฟังเทศน์แต่ละวัด รอบๆ กันไปถ้วนหน้า ครบรอบแล้วก็กลับมา ซึ่งในวันนี้เป็นวาระของวัดชัยมงคล วันนี้จึงเป็นการทำบุญทำกุศลที่สมควรจะทำให้เป็นประโยชน์คือ มีการฟังธรรมฟังเทศน์ เพื่อสนองศรัทธาประสาทะของญาติโยมทั้งหลายขอให้ตั้งใจฟังธรรมมะที่จะแสดงต่อไปนี้ด้วยความเคารพ ตั้งใจฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ดังพระบาลีว่า “สุสุสฺสํ ลภเตปัญฺญํ ผู้ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา”



การที่ผู้ฟังธรรมนั้นฟังอย่างไรเรียกว่า ฟังด้วยดี เพื่อให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม หรือกติกาที่กำหนดไว้ คนฟังธรรมมีอยู่ 4 ลักษณะ

1.อุปมาเหมือนกับหม้อที่ปิดฝาแล้วไปวางไว้กลางแจ้ง ฝนตกทั้งคืนไม่สามารถที่จะให้น้ำเต็มหม้อได้ เพราะหม้อมันถูกปิดอยู่นี่อย่างหนึ่ง

2.อุปมาเหมือนหม้อที่เปิดฝาไว้แล้ว แต่หม้อก้นรั่ว เปิดฝาให้เม็ดฝนลงไปในหม้อเหมือนกัน แต่ก้นหม้อมันรั่ว มันก็ซึมซาบไหลไปหมด

นี่เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง การทำให้ถูกต้องมีสองลักษณะเหมือนกันคือ

1.หม้อเปิดฝา และ

2.หม้อนั้นไม่รั่ว เปิดตั้งไว้ในที่แจ้งแล้ว เมื่อฝนตกลงมาในหม้อที่เปิดนั้น เป็นการรองรับน้ำฝน น้ำฝนก็เต็มหม้อ

ฉันใดก็ดี นี้เป็นอุบายเปรียบเทียบผู้ฟังธรรมทั้งหลายที่จะฟังด้วยดีนั้นคือ จะต้องเป็นลักษณะเปิดฝาหม้อออก หม้อก็ไม่ให้รั่ว เปิดฝานั้นหมายความว่า เปิดประตูใจรับฟังคำสั่งสอนของท่านผู้แสดงว่าธรรมมะ ที่ท่านแสดงนั้นหมายความลึกตื้นหนาบางอย่างไร มีความประสงค์อย่างไร มีอธิบายอย่างไร จดจำได้หมด ไม่เป็นเพียงแค่ว่านั่งในสมาคมของการฟังธรรมแล้วจิตใจไปห่วงหน้าห่วงหลัง ไปห่วงลูกห่วงหลานอยู่ในบ้านในเรือน คิดฟุ้งซ่านไปอย่างอื่น มีหูก็ไม่ได้รับฟังธรรมมะส่องเข้าไปในหูเลย เรียกว่าเหมือนกับหม้อที่ปิดฝา เป็นการฟังที่ไม่ตั้งใจฟัง แส่ใจไปทางอื่น ลักษณะที่สองแบบฟังแล้วตั้งใจฟัง แต่ว่าไม่ได้เก็บไว้ ลืมทั้งหมด เป็นคนหม้อก้นรั่ว รับเข้าไปแล้วแทนที่จะมีความคิดจดจำธรรมะคำสั่งสอนไปปฏิบัติ แต่ก็ลืมไปหมด พอออกจากวัดไป พ้นเขตวัดศีลก็คืนมาหมด ไปแต่ตัวเปล่า อย่างนี้เรียกว่าหม้อก้นรั่ว ไม่ได้ประโยชน์

ต้องเปิดฝาให้ดี ฝาที่เปิดออกนั้นเรียกว่าตั้งใจฟัง จดจำธรรมะคำสั่งสอนของท่านที่แสดงอย่างไร ในการฟังธรรมนั้นต้องจับให้มันได้ เปิดประตูใจของเรา เปิดหู เปิดใจ ขึ้นมารับฟังธรรมคำสั่งสอน แล้วก็จดจำไว้ให้มั่นคง ไม่ให้หลงลืมเสียหาย กลับไปบ้านไปเรือนแล้วให้ยังนึกถึงธรรมะที่ท่านแสดงอยู่ตลอดเวลา เข้าใจความหมายแล้วก็ปฏิบัติตาม นี้ชื่อว่าฟังธรรมที่ดี เป็นหม้อเปิดฝาแล้วก้นไม่รั่ว จิตจำ ฟังธรรมแล้วปฏิบัติตามนั้น ชื่อว่าการฟังธรรมที่ถูกต้อง ต้องได้ปัญญาเกิดขึ้น



เพราะฉะนั้นธรรมมะที่จะแสดงต่อไปนี้จะได้ชี้แจงสิกขาบทคือศีลของภิกษุ สามเณรพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ให้รักษาศีล ภิกษุสงฆ์‌
นั้นต่างหาก ส่วนทายก ทายิกานั้น ยังไม่บวชให้มีศีลสองประการ คือ ศีล 8 และศีล 5 ศีล 8 ‌นั้นเป็นศีลอุโบสถก็มี เป็นศีล 8 ธรรมดาก็มี

ทำไมจึงเรียกว่าศีลอุโบสถ ศีล 8 คำว่า อุโบสถ นั้นเป็นชื่ออย่างหนึ่งของการบำเพ็ญพรต‌ของศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์ถือว่า‌
เดือนหนึ่งมี 4 ครั้ง ขึ้น 8 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ แรม ‌8 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เป็นวันอุโบสถ เขาให้ชื่อว่า วันอุโบสถ พวกพราหมณ์เขาก็ทำกันอย่างนั้น ‌
เมื่อถึงวันอุโบสถมาถึงเวลาใดก็ตามแล้ว ก็ออก‌จากบ้านเรือนเข้าไปสู่ป่าหาที่สงัด บำเพ็ญพรต‌ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ เป็นต้นว่า ‌
อดอาหาร ไม่กลืนน้ำลาย ทรมานร่างกายต่างๆ ‌ตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์ เขาทำอย่างนี้‌เรียกว่า ทำอุโบสถ ไปอุโบสถ

เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาก็เอามาบัญญัติ‌เป็นการปฏิบัติว่าดี เดือนหนึ่งแบ่งเป็นสี่ครั้ง ทั้งสี่ครั้งนี้ก็คงพอดีกับการครองชีพของฆราวาส ‌
ที่ยังเป็นผู้วุ่นวายอยู่กับอาชีพการงาน เข้าวัดไม่ได้ตลอดทุกวัน เอาถือว่าเดือนหนึ่งเข้าวัดสี่วันก็แล้วกัน ก็เรียกว่า วันอุโบสถ

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า วัน‌อุโบสถได้มาถึงแล้ว ฝ่ายภิกษุให้ทำปาติโมกข์เพื่อ‌ทบทวนสิกขาบทของตน ฝ่ายฆราวาสคือญาติ‌
โยมก็รักษาศีล 8 ประการ เรียกว่า ศีลอุโบสถ

ศีลอุโบสถกับศีล 8 ต่างกันอย่างไร มีความ‌หมายต่างกัน ถ้าผู้ใดรักษาศีล 8 ในวันขึ้น 8 ค่ำ ‌ขึ้น 15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ แรม 15 ค่ำ เรียกว่า
ถือศีล 8 อุโบสถ คำอาราธนาก็ต่างจากที่ถือศีล ‌8 เฉยๆ เรียกว่า อัฏฐะ หรือศีล 8 ประการ ดัง‌ที่แม่ชีรักษาเป็นนิจกาลนี้เรียกว่ารักษาศีล 8 คำ‌
อาราธนาก็ต่างกัน ถ้าวันใดเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ ขึ้น ‌15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ แรม 15 ค่ำแล้ว มีคำอาราธนา‌ว่า “มยํ ภนฺเต ติสรเนน สห อฏฺฐํค สมณาคตํ ‌
อุโบสถํ ยาจามิ” นี่ชื่อว่ารักษาศีลอุโบสถ วัน 8 ‌ค่ำ วัน 15 ค่ำ ถ้ารักษาศีล 8 ธรรมดา คือวันที่‌ไม่ถูกกับวันอุโบสถ ก็อาราธนาว่า “มยํ ภนฺเต ‌ติสรเนน สห อฏฺฐ สีลานิยาจามิ” นี่คำอาราธนา‌
ก็ต่างกัน การปฏิบัติก็ต่างกัน

เพราะฉะนั้นเป็นการบัญญัติคำสอนลงในคติ‌ของพราหมณ์ที่ทำกัน ฝ่ายภิกษุสงฆ์ก็ให้สวดปาติโมกข์ ท่องสิกขาบทวินัยของตน ฝ่ายคฤหัสถ์‌
ก็ให้รักษาศีลอุโบสถหรือศีล 8 หรือรักษาศีล 5

จำเป็นอย่างไรจึงต้องรักษาศีล 5 อันว่าศีล 5 นั้น เรียกชื่ออย่างหนึ่งว่า นิจศีล แปลว่า ศีล‌ที่ควรรักษาเป็นนิจ บางคนก็ว่าจะรักษาศีล 5 ให้‌
เป็นนิจอย่างไร เพราะว่ายากยุ่งอยู่กับอาชีพการ‌งานธุระหน้าที่ที่ทำอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาว่าง ‌
ไม่มีโอกาสจะรักษาเป็นนิจ ไม่แก่ไม่เฒ่าแล้วยัง‌ไม่สมควรจะเข้ามารักษาศีลธรรม คนแก่คนเฒ่า ‌
คนไม่มีงานจึงสมควรไปฟังเทศน์ฟังธรรมจำศีล

นี่เป็นความเข้าใจผิด

เพราะว่าศีล 5 เป็นนิจศีลสำหรับฆราวาสผู้ปฏิบัติให้รักษาเป็นนิจ จึงเรียกว่า นิจศีล เราจะ‌เข้าใจอย่างอื่นไม่ได้ จะหลีกเลี่ยงว่าไม่รักษาไม่ได้

ทายก ทายิกา อุบาสก อุบาสิกา ผู้ชาย ผู้หญิงในโลกนี้ ผู้ใดปฏิญาณตนว่า พุทธัง สรณัง ‌คัจฉามิ ธรรมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง ‌
คัจฉามิ เป็นผู้ถือพระศาสนาแล้ว ถ้าเป็นผู้ชายเรียกว่า อุบาสก ถ้าเป็นผู้หญิงเรียกว่า ‌อุบาสิกา ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง อุบาสก ‌
อุบาสิกานี้ ต้องมีความพร้อมด้วยองค์สมบัติ‌ของอุบาสก อุบาสิกา จึงเรียกว่า อุบาสก อุบา ‌สิกา ผู้ปฏิญาณตนว่าถือ พระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งอื่นไม่มี พระพุทธเจ้า‌เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ที่พึ่งอื่นไม่มี พระธรรมเจ้า‌เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ที่พึ่งอื่นไม่มี พระสงฆ์เจ้า‌
เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า นี้เป็นการปฏิญาณตน

เช่นนี้แล้วก็จำเป็นต้องมีองค์สมบัติว่าอะไร‌
เป็นผู้มีนามว่า อุบาสก อุบาสิกา

ต้องพร้อมด้วยองค์สมบัติ 5 ประการ เป็น‌
หน้าที่ของผู้รักษาศีล 5 ประการนี้ คือ

1.มีศรัทธาบริบูรณ์

2.มีศีลบริสุทธิ์

3.ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล

4.ไม่แสวงหาบุญนอกเขตพระพุทธศาสนา

5.แสวงหาบุญแต่ในเขตพระพุทธศาสนา


:idea:
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 35

โพสต์

คิดแบบท่านพ่อลี


ท่านเป็นผู้มีบุญหนุนส่งให้มาเกิด ย่อมมีความคิดที่แตกต่างออกไปจากนิสัยของคนทั่วไป

ท่านทำอะไรมักจริงจังเด็ดขาดเพราะบุพเพชาติท่านเอาความดีเติมใส่ในจิตใจไว้มาก

ดังคำที่ว่า “สุขเป็นผลมาจากการทำความดี ผลแห่งการกระทำความดีย่อมสอดคล้องกับเหตุผล ทำให้เกิดปัญญา”

เมื่อสองขาท่านยืนหยัดมั่นคง จึงมองเห็นทางที่ยาวไกลได้ใกล้ตั้งแต่วัยเด็ก

ในวัยเด็กท่านมีนิสัยที่แปลกแตกต่างจากเด็กทั่วไป บางทีต้องถูกผู้ใหญ่ดุด่าว่ากล่าวอยู่บ่อย ๆ และคิดว่าท่านเป็นคนอวดดี แต่แท้จริงแล้วท่านมีดีที่จะอวดมากกว่า

ผู้เขียนจะนำมาเล่าให้อ่านสักเล็กน้อย (เรื่องชีวิตท่านพ่อลี ได้เรียบเรียงเป็นเพลงประกอบสารคดีในงานฉลองพระธุตังคเจดีย์)

เมื่ออายุ ๑๑ ปี ท่านมีความคิดแตกต่างจากคนทั่วไปว่า

“ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ท่านจะทำไม่ได้

ยกเว้น! เรื่องเดียวที่ท่านจนใจเป็นที่สุดนั้นคือเลือดในอกของแม่ที่ท่านดื่มเข้าไปเท่านั้น ที่หามาตอบแทนให้ไม่ได้”

พออายุ ๑๕ ปี ท่านมีคติธรรมฝังแน่นในตัวใจ ๓ อย่างคือ

๑. ในจำนวนคน ๘๐ หลังคาเรือน ในหมู่บ้านเดียวกันนี้ ท่านจะไม่ยอมให้ใครมาเหยียบหัวแม่ตีนเด็ดขาด

๒. ในบรรดาคนที่เกิดในปีเดียวกัน ท่านจะไม่ยอมแพ้ใครในเชิงหาเงิน

๓. ถ้าอายุไม่ถึง ๓๐ ปี จะไม่ยอมมีเมีย และจะต้องเป็นคนเลือกเอง

อายุ ๑๙ ปี ท่านมีความคิดที่แตกต่างจากหนุ่มทั่วไปว่า

“...คนที่เป็นบ่าวเขาก็เพราะตัวไม่มีอำนาจที่จะเป็นนายเขา

ส่วนคนที่เขามีอำนาจ เขาก็สามารถชี้นิ้วให้คนอื่นทำอะไรๆ ก็ได้

ถ้าเราไม่สร้างอำนาจให้มีในตัวแล้ว เราก็จะต้องเป็นบ่าวเขาตลอดไป (เป็นทาสกิเลสตัณหา) เราสะสมความดีในตัวเพื่อให้ได้ “ธาตุกายสิทธิ์” คือ “มโนมยิทธิ”

ถ้าเราเป็นนายมีอำนาจใช้เขาได้ เราก็จะได้นั่งนอนสบายปลอดภัย คุณความดีเกิดขึ้นได้ทางจิตใจ

ถ้าใจไม่ดี ความดีทางกายกับความดีทางวาจามันก็ไม่ดี

ความดีเห็นได้ง่ายที่สุด แต่มันเกิดได้ยากที่สุดเช่นกัน

พออายุ ๒๐ ปี ท่านคิดไปไกลทะลุโลกว่า

“ได้เวลาบวชแล้ว..การบวชเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และปลอดภัยที่สุด... ”

ท่านเทียบความรักของพ่อแม่กับความรักที่พระพุทธเจ้ามีให้เหล่าพระสาวกอย่างน่าสนใจว่า

“..พ่อแม่นั้นถึงแม้ว่าจะรักเราสักเพียงไร ก็ยังมีเวลาที่โกรธเกลียดลูกในบางขณะ

แต่พระพุทธเจ้านั้นนับแต่วันที่พระองค์ได้ตรัสรู้จนถึงวันเสด็จปรินิพพาน ท่านไม่เคยโกรธเกลียดลูกศิษย์คนหนึ่งคนใดเลย

เหตุนั้นพ่อแม่ของเราก็ไม่ดีเลิศเท่าพระพุทธเจ้าได้

พระองค์ได้มีพระหฤทัยเมตตาสงสารพวกเราจริง ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ถ้าหากเราตกนรกหมกไหม้แล้ว พระพุทธเจ้าก็มาโปรดได้ยากนัก

พ่อแม่ที่รักเรามากปานชีวิตก็ช่วยไม่ได้ !

คนที่จะช่วยได้ก็คือตัวของเราเอง !

อย่ากระนั้นเลย ! เราจงทำตัวของเราให้เป็นที่พึ่งแก่ตนดีที่สุด ที่พึ่งนั้นคืออะไร? คือการออกบวช เราออกบวชแสวงหาทางพ้นทุกข์ ตามอย่างพระพุทธเจ้าจะดีกว่า”

เมื่อบวชแล้วท่านคิดว่า เราเป็นพระกินข้าวชาวบ้านเขา

ข้าวจะเข้าปากก็ให้คิดยาว ๆ ให้คิดว่า

ข้าวนี้ชาวบ้านเขาได้มาด้วยวิธีใด ?

ก่อนสุกมีความเป็นมาอย่างไร ?

เซ่น ต้องหุง ต้องหา ต้องเก็บ ต้องเกี่ยว ต้องฝัด ต้องตำ ต้องปลูก ฯลฯ

...กว่าจะมาถึงบาตรเราต้องลำบากไม่ใช่น้อย ฯ


วัดหนองสองห้อง จังหวัดอุบลราชธานี วัดบ้านเกิดท่านพ่อลี ท่านพ่อลีเป็นผู้สร้าง


ถ้ำเมืองออน เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ท่านพ่อลีเดินธุดงค์ไปตามคำสั่งหลวงปู่มั่น

เมื่อคิดได้เช่นนี้ท่านจึงเตือนตนเองว่า

“เรากินข้าวเขา เราต้องทำตัวให้ดี”

..เมื่อท่านได้พบกับท่านพระอาจารย์มั่นประสบความสมหวังในชีวิตแล้ว ก็ย้อนกลับมาบ้านเกิด ได้พูดกับโยมพ่อว่า

“อาตมาได้พบกับท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว เป็นที่พอใจในชีวิต อาตมาจักไม่กลับมาตายบ้านนี้อีก

ทรัพย์สินเงินทองของโยม

ต่อแต่นี้ไปจะไม่มาเกี่ยวข้องตลอดชีวิต”

โยมป้าของท่านได้ฟังดังนั้นก็พูดตำหนิว่า “ท่านจะเกินไปละมัง”

ท่านตอบไปว่า “ถ้าฉันสึกมา ฉันมาขอข้าวป้ากิน ขอให้ป้าเรียกฉันว่าสุนัขก็แล้วกัน”

ท่านตัดสินใจว่า จะบวชตลอดชีวิต และจะไม่ยอมจนในเรื่องชีวิต

และมีคติธรรมที่ยิ่งใหญ่ไว้ในใจอยู่ว่า

“..เกิดมาเป็นคน ต้องพยายามไต่ขึ้นอยู่บนหัวใจคน

บวชเป็นพระต้องพยายามไต่ขึ้นไปอยู่บนหัวใจพระให้ได้”

และมีมโนปณิธานที่เด็ดขาดและมุ่งมั่นสูงสุดว่า

“...จะให้เลือดทุก ๆ หยดในร่างกาย

ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า

เป็นไปเพื่อกิจพระศาสนา ไม่ว่าจะเป็นบนฟ้า หรือใต้ดิน

ก็จะต้องขอสู้ถวายหัวจนสุดชีวิต”

ท่านพ่อลีท่านได้กล่าวตอกย้ำในเรื่องการบวชของท่านเพื่อเป็นทิฏฐานุคติแก่อนุชนรุ่นหลังเพิ่มอีกว่า...

“ที่ท่านบวชไม่สึกนั้นเพราะท่านกลัว กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ และกลัวความตาย

..บวชจนมันไม่รู้จักคำว่า แก่ เจ็บ ตาย ทำความพากเพียรภาวนาไปให้มันเห็นร่างกายนี้ไม่มีสาระสำคัญอะไรเลย

มันจะแก่ก็แก่ไป มันเจ็บก็เจ็บไป มันจะตายก็ให้ตายไป ไม่ต้องไปทุกข์ร้อนอาลัยอาวรณ์กับซากมนุษย์!

การที่เราทำสมาธิก็เหมือนการสะสมเมล็ดพันธุ์ผักไว้ เมื่อมันแก่จัดพอถูกน้ำเข้ามันก็จะแตกกิ่งก้านสาขาเป็นต้นเป็นดอกเป็นใบ

เรามีสมาธิเป็นพื้นฐานสั่งสมไว้ พิจารณาก็เกิดปัญญา รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งด้านโลกด้านธรรมได้ง่าย

สอนจิตฝึกใจให้รู้ว่า อะไรเป็นธาตุ ขันธ์ อายตนะ ฯลฯทุก ๆ ส่วนของร่างกาย จนเราไม่ต้องกลัวแก่กลัวเจ็บกลัวตายอีกต่อไป

ท่านพ่อลีตอนเดินธุดงค์
แม่ชีขันทอง สายเจริญ บริจาคเขียนภาพ 15,000 บาท

เหมือนเราโตขึ้น ความเป็นเด็กมันก็หายไปเอง

จะไปกังวลในเรื่องอดีตที่ผ่าน อนาคตที่ยังไม่ถึง ให้ใจเร่าร้อนทำไม.. เพราะอะไร

เมื่อเราสู้มาถึงขั้นนี้แล้ว เราจะไม่เห็นว่าร่างกายนี้เป็นของสำคัญมีสาระแก่นสารอะไรเลย

พระพุทธองค์ทรงมุ่งประสงค์ให้ปฏิบัติทางจิตใจเป็นข้อใหญ่ ใครไม่ปฏิบัติตาม เรียกว่าไม่รักไม่เคารพในพ่อของตนเลย

พระพุทธเจ้านั้นทรงมีพระคุณยิ่งใหญ่กว่าพ่อแม่เพียงใด

ถ้าเราไม่ทำตามคำสอนของพระองค์ก็เท่ากับเราหลอกท่าน

คนที่หลอกพ่อของตนจะเจริญงอกงามไพบูลย์ในทางธรรมได้อย่างไร”

..ท่านพ่อลีท่านกล่าวถึงความมุ่งมั่นของท่านเพิ่มอีกว่า

“คราวที่ธุดงค์อยู่ทางภาคเหนือ ติดตามหาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

..ท่านกินใบไม้บนยอดเขาต่างข้าว เพราะท่านตำหนิตัวของท่านเองว่า “ยังไม่ดีพอ”

เมื่อมันยังดีไม่พออย่างที่ใจหวัง ให้มันเป็นบุ้งเป็นหนอนไปเสียเถิด อย่าสมควรกินข้าวของชาวบ้านเขาเลย

ท่านสอนใจเตือนตัวเอง..พูดกับตัวเอง..ว่า

“มาบวชอยู่ป่าแล้วก็ยังคิดถึงคนนั้น

รักคนนี้ เกลียดคนโน้นอยู่

มึงมันเลวอย่างนี้ มึงอย่ากินข้าวของเขาหนา

ถ้ามึงไม่ดีเป็นผู้เป็นคนแล้ว ก็อย่ากลับไปให้เขาเห็น

หน้าอีก

..ทิ้งร่างกายตายมันอยู่ในป่านี่แหละ”

ท่านพ่อลีท่านชอบท่องเที่ยววิเวกไปตามป่าเขาเพียงรูปเดียวสละตายเพื่อการปฏิบัติธรรมหลายครั้ง ท่านให้คติเป็นข้อคิดในการเดินทางของท่านว่า..

“...ท่านไม่คิดว่าจะตั้งตัวเป็นคนบ้านนั้น เมืองนี้วัดนั้นวัดนี้

ดังนั้นจึงเที่ยวสัญจรไปทั่วทุกหนแห่ง เหมือนแมลงผึ้งบินโฉบไปดูดรสหวานจากเกสรดอกไม้แล้วก็บินลับจากไปโดยไม่อาลัย และไม่ทำให้ดอกไม้นั้นชอกช้ำ”

ท่านเล่าว่า “..ได้ตั้งใจจะศึกษาหาความรู้จากคนทั้งโง่และฉลาด จะสั่งสอนคนทุกจำพวก ตลอดจนคนมิจฉาทิฐิ เหมือนกับน้ำฝน ซึ่งตกลงมาให้เป็นประโยชน์ ตลอดทั้งคน สัตว์ ต้นไม้ ดิน หญ้า

คนใดที่เขาโง่กว่าเรา ๆ ก็เป็นครูเขา

ถ้าเขาฉลาดกว่าเรา ๆ ก็ยอมเป็นศิษย์เขา

เราไม่ควรคิดว่าเราจะโง่ไปทุก ๆ อย่าง และฉลาดไปทุก ๆ

อย่าง

สิ่งที่เราโง่ก็มี สิ่งที่เราฉลาดก็มี

ฝรั่งเขาศึกษาวิชาจากพืชจากสัตว์ เขาก็ยังสามารถนำความรู้มาใช้เป็นประโยชน์ได้เป็นอันมาก

พระพุทธเจ้าเอง บางอย่างพระองค์ก็ยังทรงศึกษาแม้จากสัตว์ซึ่งพูดไม่ได้

..ฉะนั้นจิตต้องเปลี่ยนที่ เหมือนกับเราเปลี่ยนอิริยาบถจึงจะอยู่ได้ อยู่ท่าเดียวที่เดียวก็มีแต่คนตายเท่านั้น คนเป็น ๆ ต้องย้ายไปโน่นบ้างนี่บ้าง เป็นธรรมดา

เหมือนกับเวลาเราอยู่ที่วัดเห็นแมว เราก็รู้สึกอย่างหนึ่ง...เฉย ๆ..ธรรมด๊า ธรรมดา

เวลาเราไปอยู่ป่าเห็นเสือ เราก็รู้สึกไปอีกอย่างหนึ่ง...กลัวตาย..ตัวสั่น..ความขี้ขลาดตาขาวปรากฏ...ต้องพึ่งสมาธิภาวนา..ไม่งั้นเป็นบ้าตาย..

ความรู้สึกทั้ง ๒ อย่างนี้แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน!

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

..แล้วท่านพ่อลีท่านก็เล่าต่อให้สานุศิษย์ฟังพร้อมเปรียบเทียบความคิดของท่านที่เกี่ยวกับการบวชและการออกธุดงค์ไปอยู่ป่าว่า

“...คนที่บวชแล้วไม่เคยออกป่าเลย ก็เหมือนกินข้าวสุกที่ไม่มีแกง คนที่บวชแล้วเดินธุดงค์แสวงหาที่วิเวก ย่อมได้ดื่มด่ำรสของพระสัทธรรม เปรียบเหมือนบุคคลที่กินข้าวสุกมีกับ (แกง) ด้วย ตัวอย่างง่าย ๆ ในหลักธรรมซาติ เช่น

“ไก่ป่า” มีลักษณะต่างกันกับ “ไก่บ้าน” คือ ตาไว หางกระดก ขันสั้น ปีกแข็ง ลักษณะการเหล่านี้เกิดขึ้นจากความระวัง

ส่วน “ไก่บ้าน” มีหางตก ตาตก ปีกอ่อน ขันยาว ลักษณะเหล่านี้ ย่อมเป็นเหยื่อของเสือดาว

...ถ้าอยากพิสูจน์ตัวเองลองไปอยู่ในป่าช้าผีดิบคนเดียว..จะได้เห็นตัวเอง.. ถ้าเราทำจริง อยู่ได้จริง ก็จะเกิดความวิเศษขึ้นมาจากการปฏิบัติ

จักได้เห็นอานิสงส์ของ ความดี นั้นว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้มีความสามารถขจัดทุกข์ได้จริง กำจัดภัยได้จริง และกำจัดโรคได้จริง เพียงใด

ความดีที่เราได้ทำด้วย กาย วาจา ใจ หมั่นพากเพียรพยายามประกอบให้มีขึ้น เจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้น แล้วก็มีความสุขกายสุขใจทุกขณะที่ ยืน เดิน นั่ง นอน”

นี่แหละท่านทั้งหลาย! ชีวิตชีวิตหนึ่งที่เป็นแบบอย่างได้อย่างเยี่ยมยอด ทำ ทำจริง รัก รักจริง สู้ สู้จริง เห็น เห็นจริง ไม่หลอกลวงตัวเองและบุคคลอื่น เป็นคนดีเองมาตั้งแต่ยังไม่เกิด

ชีวิต คติธรรม และปฏิปทาของท่านพ่อลี ซึ่งผู้เขียนนำมาเล่าเพียงน้อยนิด เป็นชีวิตที่ท้าทายจริง ๆ

บางทีเราอ่านแล้วฟังแล้วยังไม่อยากจะเชื่อว่า คน ๆ หนึ่งสามารถมีความคิดละเอียดอ่อนละมุนละไมและการกระทำได้ถึงเพียงนี้

....แต่สิ่งนี้ได้มีได้เป็นไปแล้ว

นึก ๆ แล้วอัดอั้นตันอยู่ในหัวอกทั้งอยากจะหัวเราะและร้องไห้ปะปนกันไป

การที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่อย่างพระพุทธเจ้า พระอรทันต์และอย่างท่านพ่อลีนี่

มันช่างยากเสียจริง ๆ !

เบื้องหลังของท่านกรำศึกยิ่งกว่าพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่

...เพราะพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ออกรบยังมีทหารเอกเคียงข้างห้อมล้อมเป็นหมื่นเป็นแสน

..แต่นี่ท่านออกรบเพียงผู้เดียว และรบกับกิเลสร้ายที่มองไม่เห็นตัวได้ง่าย ๆ และไม่ทราบว่ากองทัพของมันซุ่มซ่อนตัวอยู่ที่ใด...ในซอกหลืบใดในกายวาจาใจเรา

...แต่ท่านก็ยังอุตส่าห์กำชัยชนะมาได้

...ช่าง ! สุดยอดเสียจริง ๆ ฯ
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 36

โพสต์

พระศรีอาริยเมตไตร (พระอชิตเถระ)

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าเสด็จยับยั้งอาศัยใกล้กรุงสาวัตถีมหานคร วสนฺโต เมื่อสมเด็จพระชินวรผู้ทรงญาณสำราญพระอิริยาบถ เข้าพรรษาอยู่ในบุพพาราม อันพระวิสาขา สร้างถวายสิ้นทรัพย์ ๒๗ โกฏิฯ

ครั้งนั้น พระองค์ทรงปรารภซึ่งพระอชิตเถระ ผู้หน่อบรมพุทธางกูรอริยเมตไตรยเจ้าให้เป็นเหตุ พระโลกเชษฐ์จึงตรัสพระธรรมเทศนา สำแดงซึ่งพระโพธิสัตว์ทั้ง ๑๐ องค์ อันจะมาตรัสเป็น องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลฯ ครั้งนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถรเจ้า จึงกราบทูลอาราธนา พระองค์ก็นำมาซึ่งอดีตนิทาน แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ พระองค์ ที่จะลงมาตรัสในอนาคตกาลเบื้องหน้าต่อไป

ป็นใจความว่า เมื่อศาสนาพระตถาคตครบ ๕๐๐๐ ปีแล้ว ฝูงสัตว์ก็มีอายุถอยลง คงอยู่ ๑๐ ปีเป็นอายุขัย ครั้งนั้นแล จะบังเกิดมหาภัยเป็นอันมาก มีสัตถันตะระกัปป์ มนุษย์ทั้งหลายจะวุ่นวายเป็นโกลาหล เกิดรบพุ่งฆ่าฟันซึ่งกันและกัน จะจับไม้และใบหญ้าก็กลับกลายเป็นหอก ดาบ แหลน หลาว อาวุธน้อยใหญ่ ไล่ทิ่มแทงกัน ถึงซึ่งความฉิบหายเป็นอันมาก ฝูงมนุษย์ทั้งหลายที่มีปัญญา ก็หนีไปซุกซ่อนตัวอยู่ในซอกห้วย หุบเขา เมื่อพ้น ๗ วันล่วงไปแล้ว มนุษย์ทั้งหลายที่เร้นซ่อนอยู่นั้น เห็นสงบสงัดเสียงคนก็ออกมาจากที่ซ่อนเร้น ครั้นเห็นซึ่งกันและกัน ก็มีความสงสารรักใคร่เป็นอันมาก เข้าสวมสอดกอดรัดร้องไห้กันไปมา บังเกิดมีความเมตตากรุณากันมากขึ้นไป ครั้นตั้งอยู่ในเมตตาพรหมวิหาร แล้วก็อุตสาหะรักษาศีล ๕ จำเริญกรรมฐานภาวนาว่า อยํ อตฺตภาโว อันว่าร่างกายของอาตมานี้ อนิจฺจํ หาจริงมิได้ ทุกฺขํ เป็นกองแห่งทุกข์ฝ่ายเดียว อนตฺตา หาสัญญา สำคัญมั่นหมายมิได้ ด้วยกายอาตมาไม่มีแก่นสารฯ
…..เมื่อมนุษย์ทั้งหลาย ปลงสัญญาเห็นในกระแสพระกรรมฐานภาวนาดังนี้เนืองๆ อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็วัฒนาจำเริญขึ้นไป ที่มีอายุ ๑๐ ปีเป็นอายุขัยนั้น ค่อยทวีขึ้นไปถึง ๒๐ ปีเป็นอายุขัย ค่อยทวีขึ้นไปทุกชั้นทุกชั้น จนอายุได้ ร้อย พัน หมื่น แสน โกฏิ จนถึงอสงไขยหนึ่ง ครั้นนานไปเห็นว่าไม่รู้จักความตายแล้ว ก็มีความประมาท มิได้ปลงใจลงในกอง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา อายุก็ถอยน้อยลงมาทุกทีจนถึง ๘ หมื่นปี ฝนก็ตกเป็นฤดูคือ ๕ วันตก ๑๐ วันตก ในชมพูทวีปทั้งปวงมีพื้นแผ่นดินราบคาบสม่ำเสมอเป็นอันดีฯ


ครั้งนั้น กรุงพาราณสีเปลี่ยนนาม ชื่อว่า เกตุมมะดี โดยยาวได้ ๑๖ โยชน์ โดยกว้างได้ ๑ โยชน์ มีไม้กัลปพฤกษ์เกิดทั้ง ๔ ประตูเมือง มีแก้ว ๗ ประการ ประกอบเป็นกำแพงแก้ว ๗ ชั้นโดยรอบพระนคร ครั้งนั้น มหานฬกาลเทวบุตร ก็จุติลงมาเกิดเป็นสมเด็จบรมจักรพรรตราธิราช ทรงพระนามว่า พระยาสังขจักร เสวยศิริราชสมบัติในเกตุมมะดีมหานคร ในท่ามกลางเมืองนั้นมีปรางค์ปราสาททองอันแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ผุดขึ้นมาแต่มหาคงคา ลอยมายังนภาดลอากาศเวหา มาตั้งอยู่ในท่ามกลางพระนคร ปรางค์ปราสาทนี้ แต่กาลก่อนเป็นปรางค์ปราสาทแห่งสมเด็จพระเจ้ามหาปะนาท ครั้นสิ้นบุญพระเจ้ามหาปะนาทแล้ว ปรางค์ปราสาทนั้นก็จมลงไปในคงคา เมื่อสมเด็จบรมจักรจอมทวีปผู้ทรงพระนามว่า พระยาสังขจักร ได้เสวยราชสมบัติในเกตุมมะดีนั้น ปรางค์ปราสาทก็ผุดขึ้นมาแต่มหาคงคาด้วยอานุภาพแห่งบรมจักร ประดับไปด้วยหมู่พระสนมแสนสาวสุรางค์ทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่น ๔ พัน พระองค์มีพระราชโอรสประมาณพันพระองค์ พระราชโอรสผู้ใหญ่นั้น ทรงพระนามว่า อชิตราชกุมาร เจ้าอชิตราชกุมารนั้น เป็นปรินายกแก้ว แห่งสมเด็จพระราชบิดาผู้เป็นพระยาบรมสังขจักร อันบริบูรณ์ไปด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ
จักรแก้ว ๑
นางแก้ว ๑
แก้วมณีโชติ ๑
ช้างแก้ว ๑
ม้าแก้ว ๑
คฤหบดีแก้ว ๑
ปรินายกแก้ว ๑
อันว่าสมบัติบรมจักรนั้นย่อมมีทุกสิ่งทุกประการ เป็นที่เกษมสานต์ยิ่งนัก เหลือที่จะพรรณนาในกาลนั้นฯ

ฝ่ายว่า มหาปุโรหิตผู้ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าสังขจักรนั้น เป็นมหาพราหมณ์ประกอบไปด้วยอิสริยยศเป็นอันมาก หาผู้จะเปรียบเสมอมิได้ มีนามปรากฏว่า สุตพราหมณ์ นางพราหมณีผู้เป็นภรรยานั้นมีนามว่า นางพราหมณวดีฯ ในกาลนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า รับอาราธนานิมนต์แห่งฝูงเทพยดาทั้งหลาย ก็จุติลงมาจากสวรรค์เทวโลก ลงมาถือเอาปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางพราหมณวดี ภรรยาแห่งมหาปุโรหิตพราหมณ์ผู้ใหญ่ ในวันบัณณสี อุโบสถ เพ็ญเดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาปัจจุสสมัยใกล้รุ่ง พร้อมด้วยอัศจรรย์ทั้งหลาย ๑๒ ประการ เทพยดาพากันกระทำสักการบูชาดังห่าฝนตกลงในกลางอากาศ แล้วก็มีปรางค์ปราสาททั้ง ๓ ผุดขึ้นมา เพื่อจะให้เป็นที่สำราญ แห่งพระบรมโพธิสัตว์เจ้า
ปราสาท ๑ ชื่อว่า ศิริวัฒนะ
ปราสาท ๑ ชื่อว่า สิทธัตถะ
ปราสาท ๑ ชื่อว่า จันทกะ

ปรางค์ปราสาททั้ง ๓ นี้เป็นที่จำเริญพระศิริสวัสดิมงคล ควรจะให้สำเร็จประโยชน์ทุกประการ ปรากฏงามดังดวงพระจันทร์ แล้วหอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นอันหอมมิรู้ขาด เดียรดาษไปด้วยนางนาฏพระสนมประมาณ ๗ แสน ส่วนสมเด็จพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรย บรมโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงพระนามว่า พระจันทมุขี เป็นประธานแห่งนางบริวารทั้ง ๗ แสน มีพระราชโอรสองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พราหมณ์วัฒนกุมาร เมื่อพระมหาบุรุษผู้ประเสริฐ ทรงพระสำราญแรมอยู่ในปรางค์ปราสาททั้ง ๓ ควรแก่ฤดูโดยนิยมดังนี้ฯ จนพระองค์มีพระชนม์ได้ ๘ หมื่นปี แล้วจึงเสด็จขึ้นสู่รถแก้วอันเป็นทิพย์วิมานมีศิริหาเสมอมิได้ เสด็จไปประพาสอุทยานทอดพระเนตรเห็นจตุรนิมิตทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเทวทูตยังธรรมสังเวชให้เกิดขึ้น ก็มีพระทัยน้อมไปในบรรพชา พิจารณาเห็นเพศสมณะนั้นเป็นอารมณ์ ในขณะนั้นอันว่าปรางค์ปราสาทแก้วซึ่งทรงพระสำราญยับยั้งอยู่นั้น ก็ลอยไปในอากาศเวหา พร้อมทั้งพระราชโอรส และหมู่นิกรอนงค์นางกัลยาทั้งหลายก็ไปกับปรางค์ปราสาทนั้น

ครั้งนั้นเปรียบประดุจดังว่า พระยาสุวรรณราชหงส์ทองอันบินไปในอากาศเวหา ฝ่ายฝูงเทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล ก็ชวนกันถือเครื่องสักการบูชา เหาะตามกันมากระทำสักการบูชาในอากาศเวหา แน่นเนื่องกันมาเป็นอเนกอสงไขย ทั้งท้าวพระยามหากษัตริย์ทั้งหลาย ๘ หมื่น ๔ พัน พระนครก็ดี และชาวนิคมประจันตประเทศชนบททั้งหลายก็ดี ก็ชวนกันมากระทำสักการบูชาด้วยดอกไม้และของหอม มีประการต่างๆเต็มเดียรดาษกลาดเกลื่อนไปทั้งชมพูทวีป เหล่าพวกอสูรทั้งหลาย ก็เข้าแวดล้อมพิทักษ์รักษาปรางค์ปราสาทฯ ฝ่ายพระยานาคราชนั้น กระทำสักการบูชาด้วยแก้วมณี พระยาสุวรรณราชปักษีกระทำสักการบูชาด้วยแก้ว อันเป็นเครื่องประดับตน พระยาคนธรรพ์ทั้งหลายนั้น กระทำสักการบูชาด้วยเครื่องทิพย์ดุริยางค์ ฟ้อนรำ มีประการต่างๆฯ

ปางเมื่อองค์สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยเจ้าเสด็จออกบรรพชานั้น ฝูงเทพยดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ และ มนุษย์ นาค ครุฑ คนธรรพ์ทั้งหลาย กระทำสักการบูชา ทั้งพระยาบรมจักรพรรตราธิราชเจ้าผู้ประเสริฐ ก็พร้อมด้วยแสนสาวสนมในทั้งปวง และโยธาหาญ หมู่จตุรงค์องค์พยุหะเสนาอเนกนับมิได้ เสด็จไปที่ใกล้แห่งสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์

ครั้งนั้นมหาชนทั้งหลายทั้งปวง มีความปรารถนาจะทรงบรรพชาแล้วก็ลอยไปในอากาศ กับด้วยพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ด้วยเดชานุภาพแห่งบรมจักร และอานุภาพแห่งพระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์นั้น ครั้นเสด็จถึงควงไม้พระศรีรัตนมหาโพธิ์ คือไม้กากะทิงแล้ว ปรางค์ปราสาทแก้วก็เลื่อนลอยลงจากอากาศใกล้ในที่ปริมณฑลไม้มหาโพธินั้น ฝ่ายท้าวมหาพรหมก็เชิญซึ่งพานผ้ากาสาวพัสตร์ กับเครื่องบริขารทั้ง ๘ น้อมเข้าไปถวายสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ แล้วพระองค์จึงชักเอาพระแสงดาบแก้วตัดพระเกศเกล้าให้ขาด แล้วก็โยนขึ้นไปในอากาศเวหา ถือเครื่องบริขารทั้ง ๘ ประการ ทรงเพศบรรพชาเสร็จแล้ว ส่วนว่าบริวารทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็ชวนกันบรรพชา บวชตามสมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าเป็นอันมาก ฝ่ายพระมหาบุรุษราช องค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้านั้น กระทำความเพียรอยู่ที่ใกล้พระศรีมหาโพธิสิ้นประมาณ ๗ วัน ในเมื่อเวลาเย็นพระองค์ก็เสด็จเข้าไปสู่ควงไม้พระมหาโพธิ ขึ้นทรงนั่งเหนือรัตนอปราชิตบัลลังค์พระที่นั่งแก้ว แล้วทรงพระคำนึงระลึกถึงบุพพชาติของพระองค์ด้วย บุพเพนิวาสานุสติญาณ ทรงเห็นโดยลำดับกัน ประจักษ์แจ้งในปฐมยามฯ ครั้นล่วงเข้ามัชฌิมยามทรงเห็นซึ่ง จุติ-ปฏิสนธิ แห่งสัตว์ทั้งหลาย ด้วยทิพย์จักษุญาณฯ ครั้นล่วงไปในปัจฉิมยามที่สุดนั้น พระองค์พิจารณาซึ่งปัจจัยการ อันประกอบไปด้วยองค์ ๒ ประการ ตามกระแสพระปฏิจจสมุปบาทธรรม ด้วยสามารถอนุโลม ตรัสรู้ตลอดกัน ในลำดับนั้นก็ได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ทรงพระนามว่า อรหังสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอาทิ ปรากฏเป็นพระพุทธคุณทั่วโลกธาตุ แล้วพระองค์ก็ยังมนุษย์ทั้งหลายประมาณแสนโกฏิ ให้ดื่มกินซึ่งน้ำอมฤตรสคือพระสัทธรรม
เห็นพระนิพพานอันมิได้รู้แก่ รู้ตาย เป็นธรรมาภิสมัย ให้บังเกิดแก่ฝูงเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ตรัสรู้มรรคและผลหาประมาณมิได้ฯ - และองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้าผู้ทรงพระภาคมีประเภทเป็นอันงามนั้น
- พระองค์มีพระวรกายสูงได้ ๘๘ ศอก
- พระองค์ใหญ่กว้างได้ ๒๕ ศอก
- ตั้งแต่พระบาทถึงพระชานุมณฑลมีประมาณ ๒๒ ศอก
- ตั้งแต่พระชานุมณฑลขึ้นไปถึงพระนาภีประมาณ ๒๒ ศอก
- ตั้งแต่พระนาภีขึ้นไปถึงพระรากขวัญทั้ง ๒ ประมาณ ๒๒ ศอก
- ตั้งแต่พระรากขวัญขึ้นไปถึงพระเศียรเกล้า ที่สุดยอดพระอุณหิส เปลวพระพุทธรัศมีนั้น ประมาณ ๒๒ ศอก เสมอกันทั้ง ๔ส่วน
- พระรากขวัญทั้ง ๒ แต่ละอันนั้นยาวได้ ๕ ศอก
- อันว่าพระหัตถ์ทั้ง ๒ ซ้าย-ขวานั้น ยาวได้ ๔๐ ศอก ( เข้าใจว่าความยาวจากหัวไหล่ถึงปลายนิ้วมือแต่ละข้าง ยาวได้ ๔๐ ศอก…..พีรจักร )
- ในระหว่างภายในแห่งพระพาหาทั้ง ๒ ซ้าย-ขวา นั้นมีประมาณ ๒๕ ศอก
- พระอังคุลีแต่ละอันยาวได้ ๕ ศอก
- ฝ่าพระหัตถ์แต่ละข้างกว้างได้ ๕ ศอก
- พระศอโดยกลมรอบมีประมาณ ๕ ศอก โดยยาวก็ ๕ ศอก
- พระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องล่างกว้าง ๑๐ ศอกเสมอกัน เป็นอันดี
- พระชิวหาอยู่ภายในพระโอษฐ์ยาว ๑๐ ศอก
- พระนาสิกสูงยาวลงมาได้ ๗ ศอก
- ดวงพระเนตรทั้ง ๒ โดยกว้างได้ ๗ ศอก
- แววพระเนตรทั้ง ๒ ที่ดำ กลม เป็นปริมณฑลอยู่นั้น มีประมาณ ๕ ศอก
- พระขนงแต่ละข้าง ยาวได้ ๕ ศอก
- ในระหว่างพระขนงทั้ง ๒ กว้างได้ ๔ ศอก
- พระกรรณทั้ง ๒ แต่ละข้าง ยาวได้ ๗ ศอก
- ดวงพระพักตร์นั้นเป็นปริมณฑล กลมดังดวงพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญ มีประมาณกลมได้ ๒๕ ศอก
- พระอุณหิสที่เวียนเป็นทักขิณาวัฏรอบพระเศียร เป็นเปลวพระพุทธรัศมีขึ้นไปนั้น โดยกลมรอบได้ ๒๕ ศอกฯ
…..ลำดับนี้ จะพรรณนาไม้พระศรีรัตนมหาโพธิต่อไป อันว่า ต้นไม้กากะทิง ที่เป็นไม้ศรีมหาโพธินั้น
- มีปริมณฑลไปได้ ๑๒๐ ศอก
- มีกิ่งทั้ง ๕ โดยรอบครอบนั้นก็ได้ ๑๒๐ ศอก
- แต่ต้นขึ้นไปปลายสุดกิ่งนั้นได้ ๒๔๐ ศอก โดยสูง โดยสะกัดเป็นปริมณฑลเหมือนกัน
- มีใบสดเขียวอยู่เป็นนิจจกาล
- ทรงดอกและเกสรหอมฟุ้งขจรมิรู้ขาด เปรียบประดุจดอกปาริชาติ ในดาวดึงสาสวรรค์ก็เหมือนกันฯ

สมเด็จพระสัพพัญญูองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ทรงทวัตติงสามหาปุริสลักษณะประกอบไปด้วยพระฉัพพรรณรังสี พระพุทธรัศมี ๖ ประการ สว่างออกจากพระสรีรกายเป็นอันงาม ประดุจดังท่อธารสุวรรณ ธาราน้ำทองอันไหลหลั่งออกมา เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ไปด้วยสุขทุกเมื่อ มีสติระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอารมณ์เนืองๆ ด้วยเดชานุภาพพระพุทธคุณนั้น มนุษย์ทั้งหลายได้บริโภคซึ่งโภชนาหารแต่เนื้อแห่งข้าวสาลี อันบังเกิดมีมาเอง ได้ประดับประดาสรีรกายและผ้านุ่งผ้าห่ม เครื่องอาภรณ์ต่างๆ แต่ต้นไม้กัลปพฤกษ์ ประพฤติเลี้ยงชีวิตเป็นบรมสุขฯ ปางเมื่อพระองค์ผู้ทรงสวัสดิภาคเป็นอันงาม ทรงพระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ตรัสแสดงพระสัทธรรมเทศนา
พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น มนุษย์และเทพยดาทั้งหลายได้ซึ่งธรรมาภิสมัย มรรคและผลธรรมวิเศษ ประมาณ ๓ แสนโกฏิฯ

อันว่าองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ทรงสร้างพระบารมีมาสิ้นกาลช้านานถึง ๑๖ อสงไขยกำไรแสนมหากัปป์ มีศีลบารมี ทานบารมี เป็นต้น เต็มบริบูรณ์ กองพระบารมีทั้งหลายที่สำเร็จเป็นองค์พระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้า นั้นคือ พระบารมีจองพระองค์ครั้ง ๑ ปรากฏชัดเจนเป็นปรมัตถบารมี อันยิ่งยอดกว่าพระบารมีทั้งปวงฯ
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 37

โพสต์

เมื่อพระพุทธศาสนามีอายุครบ 5000 ปี มนุษย์จะมีอายุไขเหลือ 10 ปี หลังจากนั้นเพิ่มเป็น 20 ปี จนอายุได้ ร้อย พัน หมื่น แสน โกฏิ จนถึงอสงไขยหนึ่ง อายุก็ถอยน้อยลงมาทุกทีจนถึง ๘ หมื่นปี เมื่อนั้นสมเด็จพระศรีอริยเมตไตรก็จะลงมาโปรดเหล่าสรรพสัตว์ (หนึ่ง อสงไขยเท่ากับ 10 ยกกำลัง 140 ปี)...นั่นหมายความว่าโลกก็ยังอยู่ของเขา ไม่แตกสลายไปไหน มีภัยพิบัติบ้างเป็นเรื่องธรรมดา...ซึ่งจะทำให้เราเห็นว่า เวลานั้นยาวนานมาก กว่าจะถึงอีกยุคสมัยหนึ่ง

:idea:
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
KGYF
Verified User
โพสต์: 399
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 38

โพสต์

เล่มนี้ ใกล้ความจริงมากครับ

พุทธทำนาย

บางสิ่งเกิดขึ้นแล้ว


:D :D :D
คุณไม่มีสิทธิ์ดูไฟล์ที่แนบมาในกระทู้
" สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ = การให้ธรรมะเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง "

" ทุกข์มี เพราะยึด ทุกข์ยืด เพราะอยาก ทุกข์มาก เพราะพลอย ทุกข์น้อย เพราะหยุด ทุกข์หลุด เพราะปล่อย"
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 39

โพสต์

ผู้ฝึกปฏิบัติกรรมฐาน อสุภะกรรมฐาน
พระราชพรหมยาน ( หลวงพ่อฤาษีลิงดำ )




ท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีลสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปก็ได้โปรดตั้งใจสดับเรื่องอสุภกรรมฐาน
สำหรับอสุภกรรมฐานวันนี้เป็นวันจบ

เมื่อวันที่แล้วมาได้แนะนำท่านทั้งหลาย ให้พยายามใช้การพิจารณาอสุภกรรมฐานให้เป็นกสิณ ถ้าบังเอิญใครเขาจะมาพูดว่าอสุภกรรมฐานเป็นกสิณไม่ได้
ก็จงอย่าเถียงกับเขา ทั้งนี้ก็

แสดงว่าท่านผู้นั้นไม่เคยเจริญอสุภกรรมฐานเป็นฌานเลยเป็นเรื่องของเขา ทีนี้การเจริญอสุภกรรมฐานให้เป็นกสิณ คำว่าอสุภกรรมฐานนี้แปลว่าจิตตั้งอยู่ในอารมณ์ที่เห็นว่าทุกสิ่ง

ทุกอย่างไม่สวยไม่งาม แล้วก็จงจำภาพของคนตาย ภาพของสัตว์ตายที่มีสภาพเน่าเละให้ปรากฏ แต่ความจริงลักษณะของอสุภกรรมฐานนี้มี ๑๐ อย่าง จะมีอะไรบ้างนั้นของท่านทั้งหลายไปตรวจค้นเอาตามตำราเพราะว่าตำรามีครบแล้ว ชอบแบบไหน ทำแบบนั้น ทำจนกระทั้งให้จิตใจของเราเห็นสภาวะความจำของรูปอสุภคือคนตาย มีสภาพติดใจอยู่เป็นปกติ

แต่เพียงว่าติดใจเท่านี้ยังถือว่าใช้ไม่ได้ ถ้าจะใช้ได้จริงๆ จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าเห็นคนก็ดีเห็นสัตว์ก็ดีให้มีสภาพมีความรู้สึกว่าเหมือนสภาพกับศพที่เราเห็น แม้แต่มาพิจารณาตัวเราเองนึกถึงตัวเราเองก็เช่นเดียวกัน มีสภาพเหมือนกับศพที่เราเคยเห็นมา มันเป็นภาระที่น่าเกลียดที่สุด ไม่มีอะไรจะน่ารัก ความรู้สึกแบบนี้ให้เกิดขึ้นทุกขณะจิตที่เรานึกถึงรูป คือ

รูปคนหรือว่ารูปสัตว์ หรือว่าเห็นคนหรือว่าเห็นสัตว์ อย่างนี้ชื่อว่ามีอสุภกรรมฐานเป็นฌานทรงตัว และคำว่าทรงตัวนี้ให้มีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ว่าคนก็ดีสัตว์ก็ดีไม่มีสภาพจะน่ารักในขันธ์ห้าแต่ประการใด แต่ว่าเราจะรักเขาได้เพราะอาศัยที่มีจิตเมตตาปรานีมีความสงเคราะห์ ปรารถนาสงเคราะห์จะให้เขาเป็นสุขนี่มันด้านหนึ่งคือเป็นธรรมะ ตัวนี้เรารักได้ แต่ว่าเราไม่รักขันธ์ห้าของเขา คิดแต่เพียงว่าในเมื่อเขามีขันธ์ห้าเรามีขันธ์ห้า คำว่าขันธ์ห้าก็คือร่างกาย ในเมื่อสภาวะของร่างกายมีสภาวะเป็นซากศพ แต่ทว่าชีวิตินทรีย์ของเขายังมีอยู่ ความสุขความทุกข์มันยังมีแก่ขันธ์ห้าฉันใด ความปรารถนารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด เรามีความรักความเมตตาสงสารเขาได้ แต่ว่าเราไม่ติดใจในรูปขันธ์ห้าของเขา เห็นขันธ์ห้าของเขาขันธ์ห้า
ของเรามันเน่าเละไปหมด เมื่อมีอารมณ์จิตเป็นฌานอย่างนี้ การเจริญอสุภกรรมฐาน ถ้าท่านผู้ใดเจริญอสุภกรรมฐานจนมีอารมณ์จิตเป็นฌานอย่างนี้ แล้วก็

อารมณ์จิตของท่านตั้งอยู่ในพระโสดาฯ หรือพระสกิทาฯ ถ้าไปเจริญด้านวิปัสสนาญาณ อย่างนี้ขอพูดตรงๆว่าคนนั้นห่วยเต็มที นี่ภาษาศัพท์พระกรรมฐานเขาไม่พูดกันนะแต่อัตมาพูด ว่าเลวเต็มที ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะอสุภกรรมฐานนี่ถ้าทำจิตเป็นฌาน จนกระทั่ง
สภาพอารมณ์เป็นอย่างนั้น ถ้าเราน้อมจิตเข้าไปในด้านของวิปัสสนาญาณ อารมณ์แรกที่มันจะเข้าถึง

ก็คือพระอนาคามี นี่เป็นอารมณ์แรกเบื้องต้นนะ โดยมากเขาไม่อยู่กันหรอก ส่วนใหญ่แล้วไม่มีใครตั้งอยู่ในพระอนาคามี ที่มันจะพึงได้จริงๆก็คืออรหัตผล นี่ถือว่าเป็นอารมณ์เล็กจริงๆ แต่ถึงแม้ว่าจะจิตตั้งอยู่ในอารมณ์เล็กคืออนาคามีก็ยังน่าสรรเสริญ ขอได้โปรดจำไว้ว่าถ้าบุคคลใดเจริญอสุภกรรมฐานเป็นฌานแล้ว จนกระทั่งจิตใจมองเห็นคน มองเห็นหรือว่านึกถึง ยิ่งแต่งตัวสวยเท่าไร เก๋เท่าไรก็นึกสงสารมากเท่านั้น รู้สึกว่าเขาเอาอาภรณ์มาพอกสิ่งที่มันเน่าเฟะ
อยู่ตลอดเวลา เห็นคน เห็นหน้า เห็นผิว ไม่มีความรู้สึกในความยินดีว่ามันสวยงาม เพราะมีสภาพเป็นซากศพ อารมณ์อย่างนี้มันเป็นตัวตัดกามฉันทะเสียแล้ว ความรู้สึกพอใจในเพศไม่มี แต่ว่าจงระวัง ถ้าเอาจิตเป็นฌานโลกีย์ประเดี๋ยวเถอะมันก็โผล่ เผลอไม่ได้ เผลอกิเลสคือกามฉันทะมันโผล่ ฉะนั้นเมื่อท่าน
ทรงจิตเป็นฌาน ฌานนี้ถ้ามันทรงขึ้นมาแล้วปัญญามันดี เอาปัญญาไปใช้อะไรล่ะ ตอนนี้ก็ต้องใช้แบบพระพุทธเจ้า

อย่าถือว่าสูงเกินไปนะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนใครว่าสูงว่าต่ำ แบบของท่านเป็นแบบสากล จะใช้ได้กับคนทุกคน ท่านไม่ได้ทำมาโดยเฉพาะของท่าน หากว่าท่านทำมาเพื่อของท่านแล้วละก็ ท่านไม่สอนชาวบ้านหรอก คือแบบของพระพุทธเจ้าคืออย่างไรก็คือ 1 ว่าพิจารณาว่าร่างกายของคนนี้มันสกปรก
มันมีสภาพเป็นซากศพ เมื่อยังไม่สิ้นลมปราณมันก็สกปรก อย่างนี้เป็นกายคตานุสติกรรมฐาน ร่างกายของคนทุกคนสกปรกทั้งภายในและภายนอก
อุจจาระที่อยู่ภายในก็สกปรก ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองทุกอย่างมันสกปรก

แต่ถ้าสิ้นลมปราณแล้วสภาพมันก็เน่าอืดน้ำเหลืองไหลแบบนี้สิ่งที่หลั่งไหลออกมานี้มันมีสภาพสกปรก นี่ว่ากันเรื่องสกปรก ในเมื่อมันสกปรกอย่างนี้การทรงตัวของขันธ์ห้าที่มีอยู่มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถามตัวเองดูซิ จะได้รู้ใจตัวเองว่าใจโง่หรือว่าใจฉลาด การปวดอุจจาระเป็น
สุขหรือเป็นทุกข์ ความหิว ความกระหาย หนาวเกินไป ร้อนเกินไป ต้องเหน็ดเหนื่อยในการงานเพื่อหวังจะเลี้ยงชีพเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การมีสามีภรรยา มีเพื่อความโง่หรือมีเพื่อความฉลาด การมีสามีภรรยาเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขหรือความทุกข์ ถามใจมันเอง ความเจ็บปวดที่เกิดมาในระหว่างร่างกายเกิดขึ้น มีร่างกายประกอบไปด้วยโรค โรคภัยไข้เจ็บ ความแก่เข้ามาถึงตัว ดูความทรุดโทรมของร่างกาย การเคลื่อนไหว การกระทบกับอารมณ์ที่ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้างมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถามใจมันดู จะได้รู้ว่าโง่หรือฉลาด ถ้าชาวบ้านที่เขามีความฉลาดและคนที่มี
อารมณ์จิตเป็นฌาน ไม่ต้องมานั่งพิจารณาไล่เบี้ยอย่างนี้หรอก อาการทุกอย่างที่มีการเคลื่อนไหวเมื่อทรงกายอยู่มันเต็มไปด้วยความทุกข์ทุกอย่าง
อยู่คนเดียวก็ทุกข์ อยู่สองคนก็ทุกข์ อยู่มากคนก็ทุกข์ มากเท่าไรทุกข์เท่านั้น

เพราะว่านิพัทธทุกข์ ความหิวความกระหายมันเป็นทุกข์ ถ้าอยากได้ผัวอยากได้เมียนี่เขาเรียกว่าอยากได้ทุกข์ ทุกข์ที่มันไม่มีที่สิ้นสุด มันจะก้าวขึ้นไปสู่
ทุกข์ที่สูงขึ้นตามลำดับ เพราะอะไร ได้ผัวมาคนนึง ได้เมียมาคนนึง ก็ได้คนมาอีกฝูงหนึ่ง การต้องเอาอกเอาใจกับคนอีกฝูงหนึ่งคนก็เพิ่มความทุกข์ขึ้นเป็นฝูงๆ และมีลูกมีหลานมีเหลนออกมามันก็เพิ่มความทุกข์ ไอ้ตัวแก่ามันก็ทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายมันก็ทุกข์ ความตายที่จะเข้ามาถึงมันก็ทุกข์ เฮ้อ! เลิกกัน ถ้าทุกข์เสียแล้วก็ต้องลาโรง

ในเมื่อสิ่งใดก็ตามถ้ามันหาทุกข์มาให้เรา เราจะปรารถนามันเพื่ออะไร ที่มันมีทุกข์อยู่เพราะอะไร มีทุกข์เพราะร่างกายคือขันธห้า ถ้าเราไม่เกิดมาเป็นคนเสียอย่างเดียวสภาพอย่างนี้มันจะมีกับเราได้ไหม นี่ก็มาลองพิจารณาว่าทำไมมันจึงทุกข์
ทุกข์เพราะตัณหา พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น ไอ้ตัณหานี่แปลว่าอยาก อยากอะไร อยากมีทุกข์ อยากมีทุกข์มันมาจากไหน ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์
เราอยากเกิด ชราปิทุกขา ความแก่เป็นทุกข์เพราะเราอยากแก่ มรณัมปิทุกขัง ความตายเป็นทุกข์เพราะเราอยากตาย ทำไมจึงอยากเกิด อยากแก่ อยากเจ็บ
อยากตาย ก็เพราะว่าเรา
อยากหาอารมณ์ที่เป็นอกุศล เป็นบ่อเกิดของความเกิดคือ หนึ่งโลภะความโลภ เราอยากโลภ ตะเกียกตะกายหาที่สิ้นสุดมิได้ ไม่ได้มองดูสภาพของตนว่าไอ้ความโลภที่เราหามาได้ มันจะรวยแสนรวยขนาดไหน มันได้มาจากความทุกข์ แล้วคนที่ตายใครเขาแบกทรัพย์สินไปได้บ้าง แต่ในเมื่อขันธ์ห้าคือร่างกายมันยังทรงอยู่ก็มีความจำเป็น มีความจำเป็นจริงๆที่มันจะต้องหา เมื่อหามาแล้วก็ต้องมีความรู้สึกว่าหาเพื่อประทังชีวิต เป็นการ
บรรเทาทุกขเวทนา ไม่ใช่ว่ามีเงินตั้งหมื่นล้านแสนล้านแล้วยังไม่รู้จักพอ นั่นแหละตัวบรมโง่ที่สุด เราหามาแล้วทำงานตามหน้าที่ มีสามี มีภรรยา มีบุตร มีธิดา
มีหลานมีเหลนมีลูก มันมีขึ้นมาแล้วก็แล้วกันไป เพราะว่ามันมีขึ้นมาได้เพราะอาศัยความโง่ของเราเป็นปัจจัย ถ้าเราไม่โง่เสียอย่างเดียว ไอ้ตัวระยำอย่าง
นี้มันก็ไม่มี นั่นมีเพราะความอยากคือตัณหาคิดว่าการครองคู่เป็นของดี คิดว่าการมีลูกดี คิดว่าการมีหลานดี ไอ้อารมณ์อย่างนี้มันเป็นอารมณ์จอมโง่
มันโง่แล้วก็แล้วกันไป เราก็เริ่มฉลาดเสียใหม่ คิดว่าการมีร่างกายอย่างนี้อาศัยความโลภเป็นปัจจัย เราจะเลิกกันเสียทีไอ้การมีร่างกายแบบนี้ นี่จะเลิกแบบ
ไหนก็เลิกโลภ ทำมาหากินเป็นปกติ ค้าขายเป็นปกติ รับราชการ เป็นลูกจ้าง ทำไร่ไถนาเป็นปกติ ตามหน้าที่ในฐานะที่มีขันธ์ห้า แต่อารมณ์ของเราจะไม่
คดไม่โกงใคร ไม่ตะเกียกตะกายเกินไปให้มันเป็นความทุกข์ มีความรู้สึกอยู่ว่า เมื่อมีขันธ์ห้าแล้วต้องหากินตามหน้าที่ แต่ว่าขันธ์ห้าคือร่างกายของเรานี้
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันแก่ลงไปทุกวัน ไม่ช้ามันก็จะพัง

นี่ตัดเหตุของความเกิดเสียหนึ่งตัว พูดให้พังย่อๆแบบนี้นะ คิดให้มันยาว คิดให้มันเห็น คิดให้มันซึ้ง ไอ้ตัวโลภนี่หละเป็นตัวเหตุให้เกิดมามีความทุกข์
ตัวที่สองก็คือความโกรธ ไอ้ตัวโกรธนี่เพราะว่าโง่มันจึงโกรธ ฉลาดจะโกรธทำไม ก็คนในโลกที่เกิดมานี้มันไม่มีอิสรภาพ มันเป็นทาสของกิเลส ตัณหา
อุปาทานและอกุศลกรรม กิเลสคือความชั่วของจิต ตัณหามีความทะยานอยากได้มาด้วยความโง่ อุปทานยึดถือความชั่วและความโง่เป็นสรณะ อกุศลกรรมเพราะอาศัยมีความชั่วและความโง่เป็นสรณะ มีอุปทานเป็นจุดจับเขาจึงทำกรรม ทำหรือพูดในเหตุของความชั่ว เป็นตัวชั่วจริงๆ ทีนี้ในเมื่ออารมณ์เขามันชั่วอย่างนี้แล้ว ทั้งชั่วทั้งโง่ การกระทำทุกอย่างย่อมไม่เป็นที่ถูกใจของคนดี คือ
ไม่ทำเหตุของความดี ชอบสร้างเหตุของความชั่ว ในเมื่อเราไปกระทบกระทั่งกับคนอารมณ์เลวมีชั่วเป็นสรณะ เราก็ยิ้มๆ

นึกในใจว่าโอ้หนอ เขาทั้งหลายเหล่านี้เป็นคนที่น่าสงสาร เพราะว่าชาตินี้เขาเกิดมาแล้วเขาก็มีทุกข์ เขายังแสวงหาอารมณ์แห่งการเกิดต่อไป ทั้งการ
ทำอะไรที่เป็นที่ขัดใจคน คดโกงเขาก็ดี ประทุษร้ายเขาก็ดี อาการที่ทำอย่างนี้เป็นลักษณะอาการที่สร้างทุกข์ให้เกิดแก่ตัว เพราะว่าไปประกาศตนเป็น
ศัตรูกับชาวบ้านเขาหมด น่าสลดใจที่เขาไม่แสวงหาความสุข นี่เราคิดว่าในเมื่อเขาเป็นทาสนี่ เขาไม่ได้เป็นไทย เราจะไปโกรธอะไรกับทาส เพราะ
เจ้านายของเขาบังคับ เจ้านายก็คือกิเลสอารมณ์ของความชั่ว ตัณหาอารมณ์ของความชั่วอยากไม่มีที่สิ้นสุด อุปาทานยึดความชั่วว่าเป็นของดีนี่มันโง่บัดซบ

และอกุศลกรรมการทำไม่ดีอย่างนี้เพราะเจ้านายคือกิเลสบังคับ เรารู้ว่าเขาเป็นคนโง่อย่างนี้ มีเจ้านายคือความชั่วบังคับ เราก็มีอารมณ์ให้อภัย คิดว่าเชิญเถิด อยากจะเลวก็เชิญเลวไปตามอัทธยาศรัย เราจะไม่ยอมเลวด้วย ไม่ช่วยกระพือความเลวของเราให้มันสูงขึ้น เขาจะด่าก็เชิญด่า เขาจะนินทาก็เชิญนินทา
ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าการด่าการนินทาของเขา

มันไม่ศักดิ์สิทธิ คนที่ด่าคน คนที่นินทาคนเป็นคนเลว ในเมื่อเขาอยากเลวก็เชิญเลวไปคนเดียว ดูตัวอย่างองค์สมเด็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงโต้
ตอบกับพราหม พราหมสามสี่คนเรียงลำดับกันมาด่าพระพุทธเจ้าต่อหน้าธารกำนัล คือต่อหน้าพระอริยะสาวกนับแสน เมื่อพระพุทธเจ้าถูกด่า ชี้หน้าด่า
พระองค์ก็ทรงนิ่ง มีอารมณ์ปกติ ไม่ใช่อดกลั้นใจ ใจเป็นปกติ

เมื่อเขาด่าเสร็จเหนื่อยเต็มแล้ว จึงกล่าวกับองค์สมเด็จพระชินศรีว่าพระสมณโคดม แกแพ้ฉันแล้ว พระพุทธเจ้าถามว่าแพ้ตรงไหน ก็บอกว่าแพ้ที่ฉันด่าแก
แกไม่เถียงฉันนะซิ แกไม่ด่าตอบ พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า พราหมนะ ดูก่อนพราหม เราคิดว่าใครด่าเรา แล้วถ้าเราด่าคนนั้นตอบ เราคิดว่าเราเลวกว่า
คนที่เขาด่าเราแล้ว นี่ถ้อยคำขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วพูดออกไปด้วยอารมณ์ปกติ ไม่มีความโกรธ ในที่สุดพราหมคนนั้นก็คิดได้ว่าเราเลวไปเสียแล้ว จึงได้ขอขมาโทษแด่องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ขอเป็นพระสาวก พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ละความโกรธเพียงชั่วขณะเดียวท่านก็เป็นอรหัตผล
นี่เห็นไหม นินทาปะสังสา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัส ว่าการจะดีจะชั่วไม่ได้อยู่ที่ปากชาวบ้าน เราจะดีหรือว่าเราจะเลวมันอยู่ที่การกระทำ
ของเราเป็นสำคัญ องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ให้อภัยทานได้ฉันใด จิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงถือเอาตามแบบพระพุทธเจ้า เห็นว่าถ้า
เขาด่าเขานินทาเรา เราก็คิดว่าซากศพมันด่ามันนินทาเรา

หากว่าทำอะไรไม่ชอบใจ เราก็คิดว่าศพที่เน่า มันเป็นเรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา เราก็ปล่อยใจ มีอารมณ์สบาย ไม่ยึดถืออารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น
เป็นสรณะ จิตใจก็เป็นสุข

แค่นี้ เราก็เป็นพระอนาคามี เป็นของไม่ยาก และหลังจากนั้นไปเราก็มานั่งพิจารณาว่า ทุกข์นี้เพราะอาศัยความเกาะเป็นเหตุ เกาะปัจจัยของความ
ทุกข์เราก็ไม่เกาะมันอีก ส่วนที่เราจะพึงได้ต่อไปก็คืออรหัตผล มาน้อมจิตถึงองค์สมเด็จพระทศพลว่าการเป็นอรหันต์มีอะไรบ้างเป็นเหตุ ก็ดูใจความที่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ทรงตรัสกับพราหม พราหมถามเรียงชื่อของกิเลสหลายสิบอย่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่ากิเลสทั้งหมดที่เธอถามมาทั้งหมดนี้จะตัดได้เพราะ หนึ่ง การเห็นว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
ไม่มีเราในร่างกาย ไม่มีร่างกายมในเรา เพราะว่าร่างกายนี้มันเป็นธาตุสี่ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มาประชุมกัน แบ่งอาการออกเป็นสามสิบสองอย่างที่เรียกว่าอาการสามสิบสอง

ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสกปรก ร่างกายเป็นโรคนิทธัง มันเป็นรังของโรค มีร่างกายก็ต้องมีโรค มันจะต้องเปื่อยเน่าเป็นธรรมดา เราถ้ายังมีร่าง
กายอยู่ ยังยึดถือร่างกายอยู่ คนประเภทนี้หาความสุขมิได้ ถ้าเราวางภาระร่างกายเสียแล้วเมื่อไหร่เมื่อนั่นแหละ เราเป็นสุข ตามที่พระท่านบังสุกุล
ว่าอนิจจัง วต สังขารา ซึ่งแปลเป็นใจความว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มันไม่เที่ยงตรงไหน ที่มันเคลื่อนไปหาความทุกข์ทุกวัน มันแก่ลงไปทุกวัน
มันทรุดโทรมทุกวัน มันมีอารมณ์ภายนอกมากระทบกระทั่งให้ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้างทุกวัน

ในที่สุดมันก็ตาย อุปปาทะวะยะธรรมมิโน เมื่อมีความเกิดขึ้นแล้วมันก็เสื่อมไป อุปัชชิตะวานิรุชชันติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปคือมีความตาย ก็หมาย
ความว่ามันไม่เที่ยง ก้าวไปหาความแก่ มันเสื่อมลงไปทุกวันๆ ทั้งในที่สุดมันก็ดับไป ข้อสุดท้ายองค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า เตสังวู ปะสะโมสุขโข ขึ้นชื่อว่าเข้าไปสงบกายนั่นชื่อว่าเป็นสุข มันเป็นสุขตอนไหน เป็นสุขตอนที่เราสงบกาย คือใจเราไม่ติดใจขันธ์ห้า ใจของเราไม่ติดในกาย ไม่พอใจคือไม่รักในร่างกายยึดถือมันเป็นสรณะต่อไป มีความรู้สึกว่าร่างกายของเรานี่มันทรุดโทรมไปตามลำดับ ในทื่สุดมันก็พัง เมื่อมันพังแล้ว จิตใจถ้ายังเลวอยู่ก็ถือภพถือชาติต่อไป เราไม่ต้องการ ขึ้นชื่อว่าร่างกายเลวๆอย่างนี้ เป็นร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุธาตุใดๆก็ดี อันเป็นสมบัติของโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ เราไม่ต้องการมันอีก เราต้องการความสุขคืออารมณ์ปกติ อารมณ์ปกติเป็นอย่างไร อารมณ์ที่ยอมรับนับถือ
กฏของธรรมดา

แล้วก็ไม่ยอมรับนับถือกฏของธรรมดาที่มันจะเป็นเรา เป็นของเราต่อไป กฏธรรมดามีอะไร สมบัติของโลกมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วธรรมดาของ
มันก็มีการเสื่อม คนหรือว่าสัตว์แก่ลงไปทุกวัน วัตถุธาตุต่างๆ ต้นไม่บ้านเรือนโรงแก่ไปทุกวันเสื่อมไปทุกวัน ค่อยๆทำลายตัวของมันไปเองทุกวัน ทุกขัง ถ้าเราเอาจิตเข้าไปจับว่ามันจะต้องทรงตัวมันก็เป็นทุกข์ หลบทุกข์มันเสีย ธรรมดาของเธอเป็นอย่างนี้ อยากจะเป็นก็เชิญเป็นไปเถิด เธออยากจะแก่ก็เชิญแก่ เธออยากจะป่วยก็เชิญป่วย เธออยากจะตายก็เชิญตาย

เธอกับฉันนี้ขอหย่าขาดจากกันมีชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ขึ้นชื่อว่าร่างกายคือขันธ์ห้าอย่างนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก เราไม่มีความปรารถนา เราก็ตัดอารมณ์
ความรักในระหว่างเพศ ไปรักหอกอะไรอีก เห็นเป็น
ซากศพแล้วยังจะรักซากศพมันก็ซวย เราก็ตัดอารมณ์ของความโลภ เมื่อรู้ว่าคนทุกคนมีสภาพเป็นซากศพจะต้องตายในวันหน้า แล้วทำไมจึงจะทะเยอ
ทะยานอยากจะรวย คำว่ารวยในที่นี้หมายความว่าโลภ โลภทะเยอทะยานคดโกงเขา ถ้าหากินในสัมมาอาชีวะไม่ชื่อว่าโลภ แล้วเราก็ไม่ต้องการความโกรธ
จะโกรธอะไร คนทุกคนเกิดมาเป็นทาส ถ้าโกรธก็ต้องโกรธเจ้านายที่บังคับบัญชาคือ กิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม เราไม่ยอมคบกับกิเลศคือ
อารมณ์ของความชั่ว ตัณหาคือความทะยานอยากเกินไป อุปาทาน อารมณ์ที่ยึดถือว่า
ความชั่วเป็นของดี อกุศลกรรมการกระทำความชั่วทุกอย่างเราไม่ทำ นี่เรียกว่าเราไม่คบ

อารมณ์จิตของท่านมีเท่านี้ก็ขึ้นชื่อว่าจบกิจพระพุทธศาสนา มีอารมณ์เบามีใจสบายไม่ผูกรัดกับสิ่งใดๆ มีอารมณ์ใจเป็นสุข มีความรู้สึกอยู่อย่างเดียวว่า ทุกอย่างที่เราประสบมันเป็นของธรรมดา จิตใจโปร่งมีความสบาย ตอนนี้เรียกว่า อัพยากฤต คืออารมณ์ของพระนิพพาน

คือใจเป็นสุข เห็นอะไรเกิดมันก็ไม่ทุกข์ สบายใจสดชื่นหรรษา ไม่เกาะหน้าไม่เกาะหลัง คือจิตไม่ติดอยู่ในอารมณ์ของความรักไม่ติดอยู่ในอารมณ์ของ
ความโลภ ความโกรธ และความหลง มีใจโปร่ง มีความสุขที่สุด ในสบายไม่มีอะไรเข้ามาข้องใจแม้แต่นิดเดียว อย่างนี้เป็นอารมณ์ของพระอรหัตผล

เอาละบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้ศึกษา เวลานี้การแนะนำกันก็หมดเวลา แล้วก็แนะนำเข้าถึงอรหันต์พอดีก็จบแต่เพียงเท่านี้ สำหรับต่อแต่นี้ไปขอบรรดาพุทธบริษัททั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น อยู่ในอิริยาบถที่ท่านปรารถนาจนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านเห็นว่าสมควร


:idea:
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 40

โพสต์

ใกล้ตายจึงนึกถึงพระ (หลวงปู่แหวน สุจิณโณ)



มีทุกข์มาถึงจึงนึกถึงพระศาสนา

บรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้น เมื่อไม่มีทุกข์มาถึงตัว มักไม่เห็นคุณพระศาสนา
มัวเมาประมาท ปล่อยกายปล่อยใจให้ประพฤติทุจริตผิดศีลธรรมอยู่เป็นประจำ
นิสัยเห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
ต่อเมื่อได้รับทุกข์เข้า ที่พึ่งอื่นไม่มีนั่นแหละ
จึงได้คิดถึงพระ คิดถึงศาสนา แต่ก็เป็นเวลาที่สายไปแล้ว

ทำความดีให้เป็นที่อยู่ของจิต

ความดีนั้นเราต้องทำอยู่เสมอให้เป็นที่อยู่ของจิต
เป็นอารมณ์ของจิต ให้เป็นมรรค คือ
ทางดำเนินไปของจิต มันจึงจะเห็นผลของความดีไม่ใช่เวลาใกล้จะตาย
จึงนิมนต์พระไปให้ศีล ให้ไปบอกพุทโธ
หรือตายไปแล้วให้ไปรับศีล เช่นนี้เป็นการกระทำที่ผิดทั้งหมด

เหตุว่าคนเจ็บ จิตมัวติดอยู่กับเวทนา
ไฉนจะมาสนใจไยดีกับศีลได้
เว้นไว้แต่ผู้ที่รักษาศีลมาเป็นปกติเท่านั้น
จึงจะระลึกได้เพราะตนเองเคยทำมาจนเป็นอารมณ์ของจิต
แล้วแต่ส่วนมากใกล้ตายแล้วจึงเตือนให้รักษาศีล

ส่วนคนตายแล้วไม่ต้องพูดถึง
เพราะคนตายนั้นร่างกายจิตใจจะไม่รับรู้ใดๆ แล้ว
แต่ก็ดีไปอย่างเหมือนพระเทวทัต
ทำกรรมจนถูกแผ่นดินสูบ เมื่อลงไปถึงคางจึงระลึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า
ขอถวายคางเป็นพุทธบูชา พระเทวทัตยังมีสติระลึกถึงได้จึงมีผลดีในภายภาคหน้า

ความดีเราทำเองดีกว่า

แม้เปรตตนนั้นก็เหมือนกัน ตายไปแล้วจึงมาขอส่วนบุญ
เมื่อยังมีชีวิตอยู่ทำอันตรายแม้พระพุทธรูป
แผ่เมตตาให้ไปได้รับหรือไม่ก็ไม่รู้ สู้เราทำเองไม่ได้
เราทำของเรา ได้มากน้อยเท่าไรก็มีความปิติ อิ่มเอิบใจเท่านั้น
ธรรมทั้งหลายไหลมาจากเหตุ
กายก็เป็นเหตุอันหนึ่ง วาจาก็เป็นเหตุอันหนึ่ง ใจก็เป็นเหตุอันหนึ่ง
ทางของบุญหรือบาปเหล่านี้มีอยู่ในตัวของเราเอง
ไม่ได้อยู่ที่ไหน เราทำเอง สร้างเอง
อย่ามัวมั่วอดีต เป็นอนาคตมีแต่ปัจจุบันเท่านั้นที่เป็น "ธรรมดา"

ความดีต้องทำในปัจจุบัน

สิ่งใดที่มันล่วงมาแล้ว เลยมาแล้ว
เราไม่สามารถไปตัด ไปปลงมันได้อีกแล้ว

สิ่งที่เราทำไปนั้น ถ้ามันดีมัน ก็ดีไปแล้ว ผ่านไปแล้ว พ้นไปแล้ว
ถ้ามันชั่วมันก็ชั่วไปแล้ว ผ่านไปแล้ว เช่นกัน
อนาคตยังมาไม่ถึง สิ่งที่ยังไม่มาถึงเราก็ยังไม่รู้เห็นว่ามันจะเป็นอย่างไร
อย่างมากก็เป็นแต่เพียงการคาดคะเนเอาเองว่าควรเป็นยังงั้น เป็นยังงี้
ซึ่งมันอาจจะเป็น ไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดคะเนก็ได้

ปัจจุบัน คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง เราได้เห็นจริง ได้สัมผัสจริง
เพราะฉะนั้นความดีต้องทำในปัจจุบัน
ทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ต้องทำเสียในปัจจุบันที่เรายังมีชีวิตอยู่
เราต้องการความดี ก็ต้องทำให้เป็นความดีในปัจจุบันนี้
ต้องการความสุข ต้องการความเจริญ ก็ต้องทำให้เป็นไปในปัจจุบันนี้.....


(หลวงปู่แหวน สุจิณโณ)


:idea:
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
doikham
Verified User
โพสต์: 91
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 41

โพสต์

คัดบางส่วนมาจาก ธรรมบรรยายโดยพระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ (ศิษย์หลวงพ่อชา สุภัทโท) เรื่อง "จิตสุข ในความทุกข์"

ทุกวันนี้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กดดันมาก ทำให้เราเครียด ทำให้เราวุ่นวาย ทำให้เรานั้น....
เหมือนกับดูถูกตัวเอง ดูถูกตัวเองว่าเราเป็นเหยื่อ อะไรเป็นยังไงเราก็เป็นอย่างนั้น มันเป็นการไม่ให้เกียรติกับตัวเอง แล้วมันเป็นการมองข้ามความจริงว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้ทำให้เราเครียด ไม่ได้ทำให้เรากังวล ไม่ได้ทำให้เราหวาดระแวง ไม่ได้ทำให้เราซึมเศร้า อย่างมากสิ่งเหล่านั้นก็แค่ชวนให้เครียด ชวนให้กังวล ชวนนั่นชวนนี่ แต่เรามีศักยภาพ มีสติที่จะไม่รับการชวนเชิญนั้นได้ สิ่งนั้นก็เป็นแค่ห่วงที่แขวนไว้ต่อหน้าเรา แต่เราไม่ต้องไปชักไว้ไม่ไปเกี่ยวไว้ก็ได้ มันอยู่ที่เรา ทีนี้เราจะเห็นว่า ความเป็นอิสระของเราเป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย เป็นสิ่งที่เป็นได้ เราจะมีความรู้สึก ท้าทายคำพูดและการกระทำของคนอื่น สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ท้าทายให้เราเป็นทุกข์ ทำอย่างไรเราจะไม่เป็นทุกข์กับมัน

แต่พอเรามาดูจิตใจอย่างละเอียดหน่อย เราจะปรับความคิดปรับความเห็นหลายประการ
ภาษาธรรมะว่า ทำทิฐิให้ตรง ทำทิฐิให้ตรงไม่ใช่บังคับให้เชื่อ แต่มันเป็นการปรับความคิดปรับความเข้าใจ ปรับค่านิยม ปรับความเข้าใจในสิ่งที่ควร ไม่ควร ตามข้อมูลที่เรารับรู้อยู่ในเวลานั้น

อาตมาจึงชอบบอกว่าปัจจุบันขณะเป็นห้องเรียน การอยู่กับปัจจุบันไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นเงื่อนไข เป็นเหตุให้เราเรียนรู้เรื่องทุกข์ เรื่องสุขอย่างเป็นประสบการณ์ตรง ในเมื่อเราสามารถอยู่ในปัจจุบัน อยู่ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เราก็เรียนรู้ นี่ทุกข์นะ นี่สุข ถ้าทำอย่างนี้ พูดอย่างนี้ คิดอย่างนี้ ความสุขก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ถ้าคิดอย่างนี้ตั้งอย่างนี้ ความทุกข์ก็เกิด ขึ้น หรือความทุกข์ดับไป เกิดความสุข ฯลฯ เราจะฉลาด ฉลาดในวิถีจิต ฉลาดในการรู้จักว่าสิ่งไหนควรจะอดทน สิ่งไหนควรจะปล่อยวาง มันไม่มีสูตรตายตัวที่เราจะท่องได้ แต่จิตใจที่สามารถอยู่ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จะมีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะทำ จะพูด จะคิดในสิ่งที่เหมาะสม สิ่งที่สมควร

จิตใจเรามันมีอำนาจมาก เพราะสิ่งหนึ่งที่จิตใจทำ เพื่อเป็นการสร้างกรอบของข้อมูลที่เรารับมาจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ต่างๆ เราสร้างกรอบไว้อยู่ตลอดเวลา ถ้าเรารู้เท่าทันกรอบของตนแล้ว เปลี่ยนกรอบเสียใหม่ ก็สามารถพลิกความรู้สึกได้ ถ้าเราพลิกไม่ได้ ก็จะเป็นเหยื่อของสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ระวัง กิเลสมะรุมมะตุ้มเข้ามาครอบงำจิตใจ ไม่มีทางออกแล้วก็รู้สึกเหมือนกับสิ้นหวัง สิ้นหวังก็ขาดสตินั่นเอง กรอบคืออะไร เป็นอย่างไร

หลวงพ่อชาท่านเคย เปรียบเทียบอุปมาอย่างนี้ สมมุติว่าเราเดินตามถนน สวนทางกับคนๆ หนึ่ง เขาเห็นหน้าแล้วก็ด่า ใช้ภาษาหยาบคายเหลือเกิน ด่าๆ เราก็รู้สึกทุกข์ใจ สะเทือนใจ แล้วมีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า อย่าไปถือสาเลย คนนั้นเป็นโรคจิต พอเรารู้ว่าคนนั้นเป็นโรคจิตแล้วความรู้สึกหายไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เกือบจะไม่มีเหลือ ทั้งๆ ที่เขากำลังด่าอยู่ กำลังแสดงอาการเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ความหมายที่เราให้กับสิ่งนั้น กรอบความหมายที่เราสร้างไว้ เข้าใจสิ่งนั้นเปลี่ยนไป สิ่งนั้นก็เลยหมดฤทธิ์ ทำให้จิตใจของเราปกติได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างง่ายๆชัดๆในชีวิตประจำวัน

ศิลปะอย่างหนึ่งต้องการจะรู้เท่าทันว่า เรากำลังสร้าง กำลังมองเรื่องผ่านกรอบอะไรบ้าง
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ทุกข์เพราะปรารถนาใช่ไหม ฉะนั้นเราจำคำนี้ไว้ ทุกครั้งที่จิตใจเราเริ่มเป็นทุกข์ ให้รู้ว่าถ้าไม่มีตัณหาเป็นตะขออยู่ในใจ ความทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้ หลังจากนั้นนำไปสู่การดู การสืบสาวหาตัวตัณหาในขณะนั้น ซึ่งเป็นตัววาดกรอบให้เรามีความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ต้องมีข้อใดข้อหนึ่งอยู่ในขณะนั้น จึงเป็นทุกข์ได้

เรามักจะเป็นทุกข์กับใครมากที่สุด ทุกข์กับคนรอบข้าง เพราะว่าอะไร เพราะการกระทำของเขามีความหมาย แล้วเรามีความคาดหวัง กรอบที่เรามอง ภายในใจที่เราปราถนาจากคนรอบข้าง เราควรจะ เขาน่าจะ สามีของเราน่าจะ เมียของเราก็น่าจะ ลูกของเราก็ควรจะ ลูกของเราก็ไม่ควรจะ นี่คือกรอบ ที่เราจะแปลความหมายของสิ่งที่เขาทำ ของสิ่งที่เขาพูด นี้คือตัวตัณหา คือไม่ใช่ว่าทุกข์เพราะเขาพูดอย่างนั้น ทุกข์เพราะไม่อยากให้เขาพูดอย่างนั้น ทุกข์เพราะอยากให้เขาทำอย่างอื่น ไม่อยากให้เขาทำอย่างนี้ นี้คือตะขอ นี้คือเหตุให้เกิดทุกข์
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 42

โพสต์

พระราชปรารภ
(พระราชพรหมยาน)

คำพยากรณ์ของพระอรหันต์สมัยกรุงศรี อยุธยา พยากรณ์ไว้ว่า รัชกาลที่ 7 นั่งทนทุกข์

เราก็รู้กันอยู่แล้วว่ารัชกาลที่ 7 ทุกข์แค่ไหน ทุกข์จนกระทั่งสละราชสมบัติเพราะใจไม่สบาย ไม่ใช่ว่าพระองค์อยากจะดึงเอาพระราชอำนาจกลับมาตามเดิม ไม่ใช่ยังงั้น เพราะว่าสมัยนั้นคณะราษฎร์กับพระองค์มีความเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมุดปกเหลืองหรือสมุดปกขาวก็ไม่ทราบ อาตมาอ่านแล้วสมุดเล่มนั้น ปรากฏว่าเป็นระบบคอมมูนทั้งหมด เพราะอะไร เพราะเขามีความคิดว่านาทั้งหมดเป็นของรัฐ ประชาชนทั้งหมดเป็นลูกจ้างของรัฐ รัฐจะมีรายได้มาก เพียงไม่กี่ปีรัฐก็จะมีถนนหนทางเต็มที่ อย่างนี้ดีไหมบรรดาท่านพุทธบริษัท ประชาชนทั้งหมดเป็นลูกจ้างของรัฐ ก็ดูตัวอย่าง เขมรกับลาว ประชาชนทั้งหมดเป็นลูกจ้างของรัฐ รัฐให้กินข้าวสารวันละ 1 กระป๋องนมต่อ 1 ครอบครัว แล้วก็ทำงานอย่างชนิดว่าต้องบังคับเวลากัน ไม่ใช่เหนื่อยแล้วก็นอน แล้วมันกินอิ่มไหมเล่า บรรดาท่านพุทธบริษัท

ประเทศไทยเรามีความจำเป็นอย่างนั้นหรือ ข้าวเราเหลือเฟือ ไม่จำเป็นที่จะต้องแบ่งกันกิน แล้วการแจกจ่ายของให้แก่บรรดาประชากร ดูสมัยนี้ก็แล้วกัน จะแจกของอะไรกันทีมันก็ไม่ถึงบรรดาประชาชน อาตมาเคยฟังวิทยุปีหนึ่งในเขตชัยนาทเขตหนึ่ง ปรากฏว่าน้ำท่วมมาก ข้าวปลาเสียหมด ทางวิทยุเขาบอกว่าทางราชการจ่ายข้าวเปลือกมาให้แก่ประชากรกี่สิบกี่ร้อยเกวียนก็ไม่ทราบ ถามประชากรเข้าจริงๆ ไม่มีใครได้เลย ไม่รู้มันไปทางไหนหมด นานแล้วนะ เรื่องมันนานเนกาเลมาแล้ว คนนั้นเขาก็ออกไปแล้ว

นี่แหละ บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าเรื่องนี้มันตกเข้ามาในสภาพของประเทศไทย ความเป็นไทยมันก็สลายตัว เหลือแต่ความเป็นทาส นี่พูดอย่างนี้ไม่ช้าก็ติดตะราง ใครจะเอาเข้าตะรางก็เอา ตามสบาย แก่แล้ว เข้าไปอยู่ในนั้นบ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ กินเป็นเวลาไม่ช้าก็ตาย สบาย เวลานี้ความจริงเล่นการเมืองนี่ อาตมาก็เคยสัมผัสมามาก

สมัยเมื่ออยู่วัดประยุรวงศาวาส มีขุนนางเก่าๆ มีท่านเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา พระยาศราภัยพิพัฒ พระยาเทพผลู ใครต่อใครอีกเยอะ ท่านชอบมาคุยกันที่กุฏิท่านเจ้าคุณราช ชื่อมหาทอง รับฟังจากท่าน ท่านแสดงความเห็นกันคนละมากๆ อาตมาก็จำมา ความเห็นของแต่ละท่านที่ผ่านมาก็รู้สึกว่าดี แต่ทว่าเจ้าคุณพหลบอกว่าไอ้คำสั่งที่ออกไปนี่มันไม่ค่อยเป็นไปตามคำสั่ง นี่เป็นอันว่ารัฐบาลดี แต่ว่าคนที่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลไม่ค่อยจะเอาไหน ที่ดีก็มีมาก ที่ชั่วก็ถมไป



หากว่าเราบังเอิญเป็นประธิปตาย หมายความว่าสมบัติทั้งหมดเป็นของรัฐ รัฐมีเจตนาดีต่อประชากรในประเทศ และราษฎรทั้งหมด แต่ปรากฏว่าคนที่รับบัญชาจากรัฐไม่ปฏิบัติตามนั้น เราไม่อดข้าวตายรึ? นี่เราจะเป็นกันทำไมแบบนั้น เป็นกันแบบนี้ไม่ดีรึ พระเจ้าแผ่นดินท่านแจกดะ สมบัติของเราท่านก็ไม่กวน ท่านหามาให้ ใครเขาสละสตางค์ไปท่านก็แจก เวลานี้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีเท่าไร เอาออมาแจ นี่ถ้ามีอีกก็แจกอีก นี่คงไม่มีแล้ว ท่านทำแบบนี้อาตมาเคยถวายพระพรกับพระองค์แล้วเมื่อคราวเสด็จฯ มาวัดท่าซุง แต่เอาไว้คุยกันตอนหลังตอนนั้นว่ากันให้หมดให้ก่อน

ตอนนี้มารัชกาลที่ 8 ยุคทมิฬ เห็นไหมบรรดาท่านพุทธบริษัทที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า อานันทะ ดูก่อนอานนท์ ก่อนกึ่งพุทธกาล 15 ปี (คือ พ.ศ. 2485) จะมีภัยพิบัติเกิดขึ้นแก่โลก ฝนเหล็กจะตกจากอากาศ ไฟจะลุกจากอากาศ คนจะมีแต่ความลำบาก สมณะชีพราหมณ์จะล้มตาย สงครามโลกเกิดขึ้นคราวนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย

อาตมาก็อยู่ในสงครามเหมือนกัน แต่ไม่ได้ไปรบกับเขาหรอก มัววิ่งหนีลูกระเบิดอยู่ที่วัดประยุรวงศาวาส หลบลูกปืนกลอยู่ที่นั่น เวลานั้นเราต้องมีข้าวจัดสรรปันส่วนกัน ของทุกอย่างต้องปันส่วนกันกิน มันก็มีความลำบากอยู่ไม่น้อย แต่ในกรุงเทพฯ ก็รู้สึกว่ามีความสบายอยู่เพราะอยู่ใกล้ตารัฐบาล แต่ปรากฏว่าประชากรรอบนอกนั้นมีความลำบากเป็นกรณีพิเศษ มีคนเป็นจำนวนมากนุ่งผ้าขาด บางทีเพื่อนเข้ามาหามาเรียก ไอ้เพื่อนเราเวลาเรียกเพื่อนในบ้านก็หันหลังเรียก เจ้าเพื่อนที่ออกไปหาเพื่อนนอกบ้านก็หันหลังคุยกัน เพราะอะไร เพราะหันหน้ามาคุยกันไม่ได้ซีบรรดาท่านพุทธบริษัท ผ้ามันขาดอยู่ ไอ้หน้าล่วงมันจะโผล่อายหน้าล่างกัน

นี่มีหลายคนบอกให้อาตมาทราบ พระเจ้าก็มีความลำบาก ผ้าผ่อนท่อนสไบไม่ค่อยจะมีนุ่งกัน ดีไม่ดีประชาชนทั้งหลายซื้อผ้าใหม่จากร้านเจ๊กถวายพระเป็นผ้าสบง ผ้านุ่งผ้าใหม่เขาก็เห็นว่าใหม่ พระที่รับก็เห็นว่าใหม่ แต่ว่านั่งลงไปแรงหน่อยเดียวผ้าขาดแควกนี่ เสียท่าพ่อค้าซี แกเอาผ้าเก่าไปย้อมไปซักเสียดีแล้วลงแป้งรีดเสียแข็งตัวเข้าใจว่าเป็นผ้าใหม่

เวลานั้นลำบากกันไปหมด ทั้งพระ ทั้งบรรดาประชาชนทั้งหลาย ข้าวปลาอาหารก็ไม่ค่อยจะมีกิน เราเป็นประเทศที่มีข้าว ผ้าผ่อนท่อนสไบหายากลำบากอย่างยิ่ง ข้าวของทุกอย่างก็ลำบาก น้ำมัน เรือยนต์เราก็ต้องใช้ถ่านกัน รถยนต์ก็ต้องใช้ถ่าน ที่เป็นเครื่องเผาหัวใช้น้ำมันก็ใช้น้ำมันปลาบ้าง น้ำมันยางบ้าง กลิ่นเหม็นคลุ้ง นี่การแบ่งสันปันส่วน การจัดสรรกันมันเป็นอย่างนี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท

ประเทศไทยเรายังไม่มีความจำเป็นจะต้องแบ่งกันกิน สู้มาประสานสามัคคี สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันดีกว่า หาทางให้ทุกคนเข้ากันได้ คนมีกับคนจนให้เข้ากันได้ เท่านี้เหลือแหล่งพอกินใช้ แล้วก็ประเทศไทยยังไม่ถึงกับยากจนในตอนไหนหรอก บรรดาท่านพุทธบริษัท อาตมาขอเอาชีวิตเป็นประกัน ว่าทรัพยากรในประเทศไทยยังมีเหลือล้น

สิ่งสำคัญที่ท่านยังไม่เคยคิด นั่นก็คือ แร่สำคัญจุดหนึ่งที่มีกำลังคล้ายแร่ยูเรเนียม แต่ทว่าจะมีกำลังสูงกว่า ใช้ในด้านสันติ จะมีความเย็น ไม่ใช่ความร้อน จะใช้เผาโรคด้วยอำนาจของความเย็น ถ้าใช้ในด้านกำลังงานก็จะมีกำลังงานมาก ถ้าจะให้ประหัตประหารก็มีกำลังยิ่งกว่าแร่ที่เขาใช้ปัจจุบัน มีอยู่ในประเทศไทย มีอยู่ตรงไหนไม่บอก ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถาม บอก แต่จะถวายพระพรว่ายังไม่ถึงเวลาขุด เพราะเวลานี้ขุดมาก็เหนื่อยเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์ ถึงเวลามันปรากฏเอง แร่ประเภทนี้ ก่อนหน้าที่จะรู้มานี้ท่านก็พยากรณ์ไว้ บอกว่า ถ้าพบทีแรกมันจะเป็นเศษแร่ แต่ว่าบรรดาสตรีทั้งหลายจะนำไปใช้เป็นเครื่องประดับ หลังจากทราบมาแล้วประมาณ 1 เดือน หนังสือพิมพ์ก็ลงว่าคนเอาไปใช้เป็นเครื่องประดับ เขาถือว่าเป็นเพชร แต่ว่าสิ่งที่กระจายออกมานี้ไม่มีกำลัง กำลังจะมีได้เฉพาะจุดใหญ่ คือต้นตอของมัน เวลานี้เรายังขุดกันไม่ถึง น่ากลัวจะเป็นใกล้รัชกาลที่ 10 หรือสมัยรัชกาลที่ 10 นั่นแหละจะปรากฏ หรืออาจจะเป็นรัชกาลที่ 9 นี่ก็ได้ ไม่ได้เคยถามใคร ใครเขาไม่บอกมันก็ไม่รู้เหมือนกัน

แล้วก็อีกส่วนหนึ่งนั่นก็คือน้ำมัน คือน้ำมันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้านำมาใช้ได้เวลานี้เราก็มั่งคั่งสมบูรณ์พอ แล้วน้ำมันธรรมชาติของเราก็มีมาก ทรัพยากรส่วนอื่นที่เป็นแร่ที่ควรจะขายแก่ต่างชาติได้ยังมีเยอะ โอ๊ ยังมีเยอะแยะบรรดาท่านพุทธบริษัทอย่าเพิ่งคุยไปเลย เดี๋ยวชาวบ้านเขาจะรู้เอา อ้าว! ก็นี่พูดไปแล้วนี่พ่อคุณ เป็นตัวหนังสือนี่ นี่ไม่ได้คุยนะ พูดให้ฟังเท่านั้น ว่ามันจะมีขึ้นมาในวันหน้า

นี่พูดถึงรัชกาลที่ 8 ว่ายุคทมิฬรบกันแหลกลาญ

พอหลังจากกึ่งพุทธกาลแล้วล่อกันอีก เวลานี้รบกันหนัก ยักษ์หินที่ถูกสาปจะลุกขึ้นอาละวาด เอาแล้วซีพ่อเทวดาที่หมดวาสนาบารมี ไม่ค่อยจะศักดิ์ศรีอะไร เวลานี้ลุกขึ้นมาถือความเป็นใหญ่ในโลก ก่อกวนด้วยประการทั้งปวง ก่อกวนกันเข้าไป หลับตานึกเอาก็แล้วกัน มันจะไปหมดสิ้นได้ในเมื่อเขาตายกันไปฝ่ายละครึ่ง แต่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จะถูกภัยพิบัตินี้เหมือนกัน แต่ว่ามีภัยแต่ว่าภัยไม่ร้ายแรงนัก ไม่ถึงกับสลายตัว

อันนี้ถ้าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายจะถามว่า ก็ประเทศญวน ประเทศเขมร ประเทศลาว เขาก็นับถือพระพุทธศาสนา ทำไมพังแหลกลาญ อันนี้ก็ต้องขอตอบสักนิดหนึ่งว่า พระพุทธศาสนามีอยู่ในประเทศ แต่คนในประเทศนับถือพุทธศาสนาหรือเปล่า นี่ต้องมองกันตอนนี้ ถ้านับถือพระพุทธจริงๆ แล้วต้องประกาศตัวเป็นพุทธสาวก เรากล่าวกันว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แล้วพระก็บอกว่า ปาณาติปาตาเวรมณี สิกขาปทัง สมาธิยามิ เป็นต้น เราปฏิบัติกันได้หรือเปล่า

ถ้าเราไม่ปฏิบัติกัน เราจะมาคุยว่าเราเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนานี่ มันจะใช้ได้หรือ เป็นอันว่าประเทศของเรามีพระพุทธศาสนา แต่ว่าเราไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาต่างหาก

ที่พระพุทธเจ้าตรัส ตรัสว่าประเทศที่มีความเคารพในพระพุทธศาสนา คนไทยเรามีพระพุทธศาสนาประจำชาติ แต่ทว่าคนที่นับถือพระพุทธศาสนามีกี่คน ประเทศเขมร ประเทศพม่า ประเทศญวน ประเทศลาว มีกี่คน ไปไล่เบี้ย ไปจับตัวคนที่นับถือพระพุทธศาสนามาให้ดู

แต่ว่าบ้านเราก็มีขวัญดีอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ นับตั้งแต่สมัยพระพุทธกาลมาจนกระทั่งสมัยปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่เคยขาดพระอริยเจ้า

ตอนนี้มีหนังสือเขาด่ามานา ว่ารู้ได้ยังไงว่าเป็นพระสุปฏิปันโน คือพระอริยเจ้า เอางี้ก็แล้วกัน ตราบเท่าที่คุณยังเสพกามอยู่ตราบใด คุณยังรู้เรื่องของพระอริยเจ้าไม่ได้ ถ้าคุณเว้นจากการเสพกามเมื่อใด ทำใจให้ชนะนิวรณ์ มีจิตเป็นฌานแล้ว ทำใจของเราให้ชนะกิเลสคือตัดสังโยชน์ให้ได้ คุณทำได้อย่างนี้เมื่อไหร่ คุณพบพระอริยเจ้าเมื่อนั้น

แล้วจะมาถามว่าคนพูดทำได้แล้วหรือยัง?

ไม่รู้เหมือนกัน ไม่รู้ พูดกะด๋งกะเด๋งแบบนี้มัน‌จะไปรู้ได้ยังไงว่าทำได้หรือไม่ได้ ได้หรือไม่ได้ก็มี‌แบบฉบับสำหรับดู ครูบาอาจารย์มี พระพุทธเจ้าก็‌มีบอกไว้ ครูบาอาจารย์ก็บอกไว้ ก็รู้แล้วนี่ คนพูด‌เป็นใคร หรือจำไม่ได้?จำไม่ได้ก็จะบอกให้ว่าคนพูดเป็นลิง แล้วก็ลิงปากหมา ซนด้วย เห่าด้วยอ้าว! หนังสือนี่ว่าจะเขียนดีๆ แต่ชาวบ้านเขา‌บอกว่าไม่สนุกนี่ พูดไปทีแล้วเขาบอกไม่เอา เอา ‌จะเอาสนุกๆ นี่ ก็เอาสนุกๆ ก็ดี เด็กๆ จะได้อ่าน ‌เป็นไปตามเจตนาเดิม หนังสือของพระน่ะ อยาก‌จะให้สนุกๆ เด็กอ่านค่อยๆ ซึมไปทีละน้อยๆ

ทีนี้ เมื่อยุคทมิฬผ่านไปแล้ว เราก็เห็นว่าสมัย‌รัชกาลที่ 8 เกิดยุคทมิฬ ไม่ทมิฬเปล่าน่ะซี ท่าน‌พุทธบริษัท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสิ้น‌พระชนม์ เพราะอะไรกันหนอ?เพราะว่าถูกกระสุนปืน แต่มาจากไหนล่ะ บรรดาท่านพุทธ‌บริษัท ก็รู้กันอยู่แล้วใช่ไหม?รู้กันแล้ว ก็รู้กันอยู่‌แล้วนี่ ไม่ต้องบอก เขาก็ประกาศกันอยู่แล้วว่ามาจากไหน จริงเท็จประการใดอาตมาไม่ยืนยัน ‌ประเดี๋ยวเข้าตะราง ไม่เอา

ทีนี้มารัชกาลที่ 9 ท่านบอกว่าถิ่นกาขาว

เราก็ดูซี ฝรั่งเต็มบ้านเต็มเมือง อะไรๆ ก็เป็น‌เรื่องของฝรั่งไปหมด แถมคนไทยก็กลายเป็นฝรั่งขี้นกไปด้วย ความจริงเรื่องของฝรั่งนี่ ถ้าเราจะ‌ลอกแบบเขาก็เอามาทั้งดีทั้งชั่ว ที่ดีก็มีอยู่อย่าง‌หนึ่งก็คือ ถึงเวลาวันอาทิตย์ที่เขาตีระฆังฝรั่งต้อง‌ไปโบสถ์ แต่ว่าเราไม่เอาซี วันพระของเราตีระฆัง ‌ระฆังแตกไปหลายแสนลูกแล้ว ไม่มีใครไปวัดกัน ‌ไม่อยากไป แต่ไอ้ของเลวๆ จากฝรั่งอยากเอามา‌ใช้กัน ถ้าจะเอาก็เอามาให้หมด ทั้งดี ทั้งเลว หรือ‌ว่าเราจะเลือกเอาแต่ดีมาใช้ก็ได้ แต่ดูความ‌เหมาะสมของประเทศชาติว่ามันควรหรือไม่ควร‌เพียงใด เรื่องอะไรของฝรั่งที่มันเหมาะกับคนไทย‌เอามา ที่มันไม่เหมาะอย่าเอามา อย่างนี้ดีไหม ‌อะไรๆ ก็ฝรั่งจ๋าไปหมด บ้านเรามีข้าวกินแยะ ไม่‌ต้องไปกินขนมปัง แต่อยากจะกินก็ไม่ได้ว่าอะไรมีสตางค์ซื้อกินก็กินเข้าไป ประชาธิปไตยนี่ ถ้าหาก‌ว่าบรรดาพวกนั้นเขามาครองเรา เราจะกินขนม‌ปังที่ไหน ข้าวเขาให้กินครอบครัวละ 1 กระป๋อง‌นม ข้าวสาร บางทีข้าวสารไม่มีก็ให้ข้าวเปลือก ‌พวกเขมรเล่าให้ฟังว่า ข้าวเปลือกนี่ โอ้โฮไม่มีครก‌จะตำ เอาใส่ครกน้ำพริก เอาด้ามขวานตำให้เป็น‌ข้าวสาร นี่มารัชกาลที่ 9 ถิ่นกาขาว ตรงแล้วหรือ‌ยัง?ตรงแล้วนะ

แล้วมารัชกาลที่ 10 ชาววิไล

ตอนนี้เปรื่องปราชญ์มาก เพราะว่ารัชกาลที่ 9 ‌วางพื้นฐานไว้ให้ ทุกอย่างวางพื้นฐานไว้หมด แต่‌ความจริงการเป็นพระมหากษัตริย์ อาตมาสงสาร‌รัชกาลที่ 9 มาก เพราะพระองค์ไม่มีแบบปฏิบัติ ‌กษัตริย์ทุกๆ พระองค์ที่ผ่านมาเว้นไว้แต่รัชกาลที่ ‌8 ทรงเห็นความเป็นกษัตริย์จากพระราชบิดาบ้าง ‌จากพระเจ้าพี่บ้าง แต่ทว่ารัชกาลที่ 9 กับรัชกาล‌ที่ 8 นี่ลำบากมาก เพราะมองไม่เห็นระบบของ‌กษัตริย์มาก่อนเลย ไม่รู้จะเอาแบบฉบับมาจาก‌ไหน ต้องทรงสร้างพระองค์เองทั้งนั้น พระองค์‌ต้องทรงสร้างแบบฉบับขึ้นมาเอง แต่ทว่ารัชกาลที่ ‌9 ทรงสร้างแบบฉบับได้ดีมาก เป็นที่น่าสรรเสริญ ‌นี่ไม่ใช่ว่าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาทรงสนทนา‌ปราศรัยด้วยเลยยกยอพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใช่อย่างงั้น นี่เราพูดกันตามความเป็นจริง ก็ดูตัว‌อย่างก็แล้วกันนี่ พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย ทรง‌เสียสละทุกอย่าง เห็นชอบไหมถ้าพระองค์ให้แล้วคนที่เขามาโฆษณาปาวๆ ให้เราเป็นทาสเป็น‌ขี้ข้าเขา ให้กินข้าววันละ 1 กระป๋องนมต่อ 1 ‌ครอบครัวน่ะ เราชอบใจไหมล่ะ ถ้าชอบใจแบบนั้น‌ก็จงอย่าชอบใจพระเจ้าแผ่นดิน จะได้กินข้าว‌น้อยๆ เชปมันจะได้ดีๆ แต่ว่าการงานมันหนักนี่ถึงรัชกาลที่ 10 ชาววิไล

ทีนี้ ถึงประการสุดท้ายก็บอกไว้แล้วนี่ ที่‌พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์นี่ ที่อาตมาถวาย‌พระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าประเทศ‌ไทยไม่มีอันตรายถึงกับวินาศไปก็อาศัยหลักใหญ่‌จากหนังสือฉบับนี้

ถ้าหากว่าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทจะถาม‌ว่า ถ้าหากหนังสือพยากรณ์ผิด แล้วความผิดไม่ถึงอาตมารึ?

อาตมาก็บอกแล้วนี่ ว่ายอมถวายหัวว่าถ้าหาก‌ประเทศไทยต้องตกไปเป็นทาสเขาละ อาตมาเอา‌ชีวิตเป็นประกัน ยอมตาย โธ่เอ๊ย ไอ้เรื่องตายมัน‌เรื่องเล็กนี่ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องกินเป็นเรื่อง‌ใหญ่ เรื่องตายเป็นเรื่องเล็กฆ่าก็ตายไม่ฆ่าก็ตายไอ้คนมันจะตายอยู่แล้วนี่ เอ้าลองลงทุนบอกเอ้า ‌ถ้าหากไม่เป็นไปแบบนั้นอาตมาขอถวายชีวิต เอา‌ชีวิตเป็นประกัน มันจะไปยากอะไร ไม่ช้าก็ม่องตี่

ถ้าเราจะมาพิจารณากันดูอีกทีว่า คำพยากรณ์‌ของพระอรหันต์สมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีนามว่า ‌พระพุทธโฆษาจารย์ หลวงพ่อใย บอกชื่อไว้ด้วย‌นะ นักประวัติศาสตร์ค้นกันให้ดี ว่ามีหลวงพ่อใย‌ในสมัยอยุธยาที่เป็นพระราชาคณะมีนามว่า‌พระพุทธโฆษาจารย์มีไหม

โอ๋ พระพุทธโฆษาจารย์นี่มีความสำคัญจริงๆ นะ สมเด็จพระพุฒาจารย์โตก็เป็นพระพุทธ‌โฆษาจารย์เหมือนกัน โอ๊ะ ตำแหน่งนี้ตำแหน่ง‌สำคัญมาก เป็นตำแหน่งที่ควรจะคิด แล้วการจะแต่งตั้งใครเป็นตำแหน่งพระพุทธโฆษาจารย์ ‌น่ากลัวจะต้องคิดเสียแล้วว่าต้องเป็นพระที่มีญาณ‌เป็นพิเศษ มีสติปัญญา ความสามารถ เฉลียว‌ฉลาดเป็นพิเศษ ควรจะตั้งเป็นตำแหน่งพระพุทธ‌โฆษาจารย์ นี่นึกเอาเองนา เวลาเขาตั้งกันเขาไม่ได้เลือกตามนี้หรอก จะไปโทษพระเจ้าแผ่นดิน‌ท่านไม่ได้ เขาเขียนเข้าไปให้พระองค์เซ็น ‌พระองค์ก็จำจะต้องเซ็นมันเป็นยังงั้น...

เป็นอันว่า นี่แหละท่านพุทธบริษัททุกท่านถ้าพูดกันไปแล้ว อาตมาใช้คำว่า พยากรณ์นี้เป็น‌หลักในการถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้า‌ท่านสงสัยว่าจะผิดหรือถูกทุกอย่างก็ลองพิจารณา‌ดูตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 เป็นอันว่าคำพยากรณ์ของท่านถูกทุกอย่าง จะเกิดมาผิดตอนรัชกาลที่ 10 อาตมาก็ซวยหนักแล้ว ก็ช่างปะไร ไอ้คนซวยแบบนี้มันตายเสียได้ก็ดี อาตมาก็ถือว่า คำพยากรณ์นี้มีความสำคัญ จึงรับกับ‌พระเจ้าอยู่หัวในวันนั้นว่า ถ้าประเทศไทยต้องเป็น‌ทาสเขา อาตมาขอเอาชีวิตเป็นประกัน
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 43

โพสต์

พระพุทธเจ้า
การส่งจิตออกไปภายนอก เพ่งโทษผู้อื่นนั้นคือเหตุ และมีทุกข์เป็นผล …
การพิจารณาตนเอง คือ จิตดูจิตของตน เป็นมรรค มีนิโรธ คือการดับทุกข์เป็นผล



เมตตาระงับความโกรธ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)



วิธีที่จะแก้ไขจิตใจให้มีความโกรธน้อยให้มีความโกรธยากจนถึงไม่ให้มีความโกรธเลย จำเป็นต้องสร้าง ความเมตตา ให้เกิดขึ้นในจิตใจให้มากพอจะยอมเข้าใจในเหตุผลของบุคคลอื่นที่ทำผิดพลาด หรือ บกพร่อง

ขณะเดียวกันจำเป็นต้องฝึกใจให้มีเหตุผล ให้เห็นเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญเป็นสิ่งควรเคารพ เมื่อเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญในจิตใจของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจักเป็นผู้ไม่ใช้อารมณ์ ถึงแม้จะโกรธแล้ว แต่เมื่อเหตุผลเกิดขึ้น ก็จะสามารถทำให้ความโกรธดับลงได้จะไม่แสดงอารมณ์โกรธอย่างผู้ไม่มีเหตุผล

และถ้าหมั่นอบรมเหตุผลหรือปัญญาประกอบด้วยเมตตาให้เกิดขึ้นเสมอในจิตใจ แม้มีเรื่องที่ผิดหูผิดตาผิดใจเกิดขึ้น เหตุผลอันประกอบด้วยเมตตาก็จะเกิดขึ้นก่อนอารมณ์จะเกิดไม่ทัน หรือเกิดทันบ้างตามวิสัยของผู้เป็นปุถุชนไม่สิ้นกิเลส ก็จะเบามากและน้อยครั้งมาก

ทั้งผู้โกรธยาก โกรธน้อย และผู้โกรธง่าย โกรธมากควรอย่างยิ่งที่จะได้สนใจสังเกต ให้รู้ว่าจิตใจของตนมีความสุขทุกข์เย็นร้อนอย่างไร ทั้งในเวลาที่โกรธและในเวลาที่ไม่โกรธปกตินั้น เมื่อโกรธก็มักจะเพ่งโทษไปที่ผู้อื่นว่าเป็นเหตุให้ความโกรธเกิดขึ้น คือมักจะไปคิดว่าผู้อื่นนั้นพูดเช่นนั้น ทำเช่นนั้นที่กระทบกระเทือนถึงผู้โกรธ

การเพ่งโทษผู้อื่นเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการทำให้จิตใจตนเองสบาย ตรงกันข้าม กลับเป็นการเพิ่มความไม่สบายให้ยิ่งขึ้นเพียงนั้น แต่ถ้าหยุดเพ่งโทษผู้อื่นเสีย เขาจะพูดจะทำอะไรก็ตาม อย่าไปเพ่งดู ให้ย้อนเข้ามาเพ่งดูใจตนเอง ว่ากำลังมีความสุขทุกข์อย่างไร มีอารมณ์อย่างไร ใจจะสบายขึ้นได้ด้วยการเพ่งนั้น

กล่าวสั้นๆ คือ การเพ่งดูผู้อื่นทำให้ตนเองไม่เป็นสุข แต่การเพ่งดูใจตนเองทำให้เป็นสุขได้ แม้กำลังโกรธมาก หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นว่ากำลังโกรธมาก ความโกรธก็จะลดลง เมื่อความโกรธน้อย

หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นว่ากำลังโกรธน้อยความโกรธก็จะหมดไป จึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะกำลังมีอารมณ์ใดก็ตาม โลภหรือโกรธ หรือหลงก็ตาม หากเพ่งดูใจตนเองให้เห็นอารมณ์นั้นแล้ว อารมณ์นั้นจะหมดไป ได้ความสุขมาแทนที่ทำให้มีใจสบาย ทุกคนอยากสบาย แต่ไม่ทำเหตุที่จะให้เกิดเป็นความสบาย

ดังนั้น จึงยังหาผู้สบายได้น้อยเต็มที ยิ่งกว่านั้น ทั้งๆ ที่ทุกคนอยากสบาย แต่กลับไปทำเหตุที่จะให้ผลเป็นความไม่สบายกันเป็นส่วนมาก ดังนั้น จึงได้รับผลเป็นความไม่สบายตามเหตุที่ทำ เพราะดังได้กล่าวแล้ว ทำเหตุใดต้องได้รับผลของเหตุนั้นเสมอไป
เหตุดีให้ผลดี เหตุชั่วให้ผลชั่ว เหตุแห่งความสุขให้ผลเป็นความสุข เหตุแห่งความทุกข์ให้ผลเป็นความทุกข์ ต้องทำเหตุให้ตรงกับผล จึงจะได้ผลที่ปรารถนาต้องการ ควรมีสติระลึกถึงความจริงนี้ไว้ให้สม่ำเสมอ

ใจที่ไม่มีค่าคือ ใจที่ร้อนรนกระวนกระวาย

ใจที่มีค่าคือใจที่สงบเยือกเย็น นำความจริงนี้เข้าจับ ทุกคนจะรู้ว่าใจของตนเป็นใจที่มีค่าหรือไม่มีค่า ความโกรธทำให้ร้อน ทุกคนทราบดี จึงน่าจะทราบต่อไปด้วยว่า ความโกรธเป็นสิ่งที่ทำให้ใจไม่มีค่าหรือทำให้ค่าของใจลดน้อยลง

ของมีค่ากับของที่ไม่มีค่าอย่างไหนเป็นของดี อย่างไหนเป็นของไม่ดี อย่างไหนควรปรารถนา อย่างไหนไม่ควรปรารถนา ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่อย่างชัดแจ้งแต่เพราะขาดสติเท่านั้น จึงทำให้ไม่ค่อยได้รู้ตัว ไม่สงวนรักษาใจของตนให้เป็นสิ่งมีค่าพอสมควร ต้องพยายามทำสติให้มีอยู่เสมอจึงจะรู้ตัว สามารถสงวนรักษาใจให้เป็นสิ่งที่มีค่าได้ คือสามารถยับยั้งความโลภ ความโกรธ ความหลง มิให้เกิดขึ้นจนเกินไปได้

สามัญชนยังต้องมีความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่สามัญชนที่มีสติ มีปัญญา มีเหตุผล ย่อมจะไม่ให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีอำนาจชั่วร้ายเหนือจิตใจ ย่อมจะใช้สติ ใช้ปัญญา ใช้เหตุผล ทำใจให้เป็นใจที่มีค่า
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 44

โพสต์

วิชาสาม
(พระราชพรหมยาน)

ท่านสาธุชนทั้งหลาย อาตมาได้มีโอกาสมาพบกับบรรดาท่านพุทธบริษัทตามปกติ เมื่อวันพุธที่แล้ว ได้พูดเรื่องอานาปานสติกรรมฐานในมหาสติปัฏฐานสูตรจบลง ก็ถือว่าจบนะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท กายานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอยู่ด้วยกันหลายบรรพคำว่าบรรพหมายถึงตอน มีอยู่ด้วยกันหลายตอน แต่ว่าตอนที่ 1 จบไป ในการที่มาบอกให้ทราบนี่ บอกจบ แต่ว่าการปฏิบัติของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทจะจบด้วยไม่ได้ก็แล้วกัน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าอานาปานสติกรรมฐานเป็นพื้นฐานสำคัญในการเจริญมหาสติปัฏฐานสูตร บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ถ้าหากว่าทำมาถึงตอนนั้น เรียกว่าถึงฌาน 4 นา อันนี้ขอย้ำว่า อย่าลืมนะว่ามหาสติปัฏฐานสูตรมีอานาปานสติเป็นพื้นฐานแล้วก็การดำเนินอานาปานสติกรรมฐานนั้นต้องทำให้ได้ฌาน 4 นี่เราปฏิบัติกันจริงๆ นะ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ไม่ใช่ทำกันเพียงสักแต่ว่าทำ เราทำเอาดีกัน เราทำเอาพระนิพพานกัน เราทำเอาเมืองแก้ว ถ้าหากว่าเรายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด เราก็แสวงหาความสุขให้ใกล้พระนิพพาน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่ามหาสติปัฏฐานทั้ง 4 นี้ ใครทำคล่องดีแล้ว องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้สัญญาไว้ว่าามีบารมีแก่กล้า หมายถึงกำลังใจสูง มีการระมัดระวังการปฏิบัติเป็นปกติไม่ขาดวรรคไม่ขาดตอน เรียกว่าวันทั้งวัน มีอารมณ์ครุ่นคิดอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งสี่นี้ ท่านกล่าวว่าท่านผู้นั้นบำเพ็ญบารมีเพียงแค่ไม่เกิน 7 วัน จะเข้าถึงอรหัตตผล ถึงพระนิพพาน ถ้าหากว่ามีอารมณ์ย่อหย่อนไปนิดหนึ่งก็ไม่เกิน 7 เดือน ถ้าขี้เกียจมากกว่าชาวบ้านหน่อยหนึ่งก็เรียกว่าไม่เกิน 7 ปี นี่หมายถึงว่าคนเอาดีกัน เราทำเอาดีกันนะ ฉะนั้น บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ถ้าทำแล้วอย่างทิ้งเสีย คุมฌานสี่ตลอดชีวิต นี้เราพูดเอาดีกันนะ จะมาหาว่าตาเถรนี่แหม! อึกอักอะไรก็ฌาน 4 เสียเรื่อย แต่ความจริงฌานโลกีย์นะมันของไม่ยากนะ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท เป็นของง่ายๆ ท่านไปลงเบ็ด ไปหาปลา ท่านไปปล้นไปสะดมภ์ ไปลักไปขโมยเขาทำยากกว่า อาการของฌาน 4 นี่เกิดได้ภายในที่นอนของท่านเอง ท่านจะนั่งก็ได้ ท่านจะนอนก็ได้ ท่านไม่ต้องลงทุนลงแรง เพียงแต่คุมสติสัมปชัญญะของท่านให้ดีเท่านั้น ท่านก็ได้ฌาน 4 วิธีคุมแบบไหน ก็แบบที่บอกมาแล้วนั่นแหละ

เอาละ ได้พูดไว้แต่วันพุธก่อน ว่าวันนี้จะพูดเรื่องวิชชาสาม การดัดแปลงอารมณ์ของมหาสติปัฏฐานสูตร ความจริงมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในขั้นสุขวิปัสสโก ถ้าหากว่าทำตามพื้นฐานนี้ ตามที่พระองค์ทรงตรัส ตรัสไว้ในขั้นสุขวิปัสสโกแล้วการบรรลุก็มี 4 สายด้วยกัน คือ สุขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต

สุขวิปัสสโก นี่บรรลุแล้วไม่เห็นผีเห็นสาง ไม่เห็นสวรรค์ ไม่เห็นนรก มีแต่จิตสบาย กิเลสแห้งเหือดไป

ทีนี้สำหรับเตวิชโชก็มี การมีทิพย์จักขุญาณ สามารถรู้สัตว์และคนที่ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหน คนและสัตว์ที่มาเกิดนี้มาจากไหน แล้วมีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถระลึกชาติของตนเองได้ นี่เป็นเครื่องประกอบอันที่สาม ก็เป็นอาสวักขยญาณ คือ เป็นคุณธรรมของพระอรหันต์ อันนี้จะไม่พูด

สำหรับฉฬภิญโญก็ทรงอภิญญา หมายความว่ามีฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ไม่จำกัด

ปฏิสัมภิทัปปัตโต มีความรู้พิเศษ ทรงพระไตรปิฎก รู้ภาษสัตว์ต่างๆ ภาษาคนภาษาสัตว์นี่ไม่ต้องเรียน รู้ แล้วก็รู้อธิบายขยายความ อธิบายเนื้อความขยายให้กว้างก็ได้ หรือเนื้อความที่เขาอธิบายมาแล้วกว้างๆ ก็ย่อลงให้สั้นให้เข้าใจได้ดีก็ได้ นี่เป็นเรื่องของปฏิสัมภิทัปปัตโต

ทีนี้ตามธรรมดาคนที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมมีอัธยาศัย 4 อย่างด้วยกันคือ แต่ละคนก็แต่ละอย่าง สำหรับที่มีจิตสงบเงียบ ไม่อยากยุ่งจุ๋งจิ๋งอะไรเป็นคนชอบสงัด อันนี้ก็ศึกษาด้านสุขวิปัสสโกเป็นของดี ตรงกับอัธยาศัย

แต่คนอยากรู้นั่นอยากรู้นี่ ให้ยึดแบบสุขวิปัสสโกก็ไปไม่ไหว เพราะไม่ตรงกับอัธยาศัยมานั่งเงียบๆ ไม่ชอบ ฉันอยากเห็นผีเห็นสาง เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นพรหม ใครพูดว่าอะไรดีที่ไหนอยากจะเห็นอยากจะรู้ อันนี้เป็นอัธยาศัยของท่านเตวิชโช ทีนี้จะต้องเรียนด้วยวิชชาสาม จึงจะตรงกับอัธยาศัย

สำหรับอีกฝ่ายหนึ่งก็ฝ่ายฉฬภิญโญ อันนี้อยากแสดงฤทธิ์ ชอบฤทธิ์ชอบเดช คนที่มีอัธยาศัยแบบนี้มีมาก ตัวอย่างเช่นท่านพลอากาศตรี หม่อมราชวงศ์เสริม สุขสวัสดิ์เจ้ากรมสื่อสารทหารอากาศ หรือว่าพันตรีศรีพันธ์ วิชชพันธ์ ทั้งสองท่านนี่น่ะ ความจริงท่านเป็นนายทหารผู้ใหญ่ บรรดาชาวบ้านชาวเมืองจะคิดว่านายทหารผู้ใหญ่นี้ไม่สนใจในธรรมะธัมโม นี่คาดผิดถนัด วัดท่าซุงที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ก็อาศัยท่านเป็นกำลังใหญ่ ชักจูงบรรดาญาติบ้าง พวกพี่น้องเอาเงินมาทุ่มเทวัดนี้ประมาณ 2 ล้านบาทแล้ว นี่งานก่อสร้างจริงๆ ประมาณ 2 ปี คือปี พ.ศ. 2513 กับปี 2515 สองปีเท่านั้นนะวัดต่างๆ ที่สร้างตาม 10 ปีก็เกือบจะไม่ทัน นี่ทุ่มเทเข้าไปเกือบ 2 ล้านบาทแล้ว นี่เห็นไหมว่านายทหารผู้ใหญ่มีกำลังใจ มีศรัทธาน่ะมีมาก แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านทั้งสองนี้ก็พอใจในสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ตามปกติท่านจะชอบพวกฤทธิ์ๆ เดชๆ เวลานี้ท่านแสดงฤทธิ์เองไม่ได้ ท่านก็ดูคนอื่นเขาแสดงไปก่อน เช่นอ่านเรื่องหนังสือจีนเป็นต้น อ่านพงศาวดารจีน อันนี้ตรงกับอัธยาศัย ถ้าตามที่ว่านี้ ก็ตรงกับอัธยาศัยของอาตมาเหมือนกัน เมื่อตอนก่อนๆ ก็ชอบอ่านเรื่องรามเกียรติ์บ้าง พงศาวดารจีนบ้าง มันโลดโผนดี ทีนี้เวลามาปฏิบัติพระกรรมฐานเข้าเล่นแบบสุขวิปัสสโกกับเขาก็ไม่รอดก็จะเล่นฉฬภิญโญ อาจารย์ก็ห้าม เลยต้องหันมาเล่นเตวิชโช อาจารย์ท่านไม่ว่า ถึงยังงั้นก็ตามว่างๆ ก็ย่องๆ ๆ แอบไปเล่นฉฬภิญโญเข้าถึงกับจมน้ำจมท่าไปคราวหนึ่งก็มีอันนี้จะไม่เล่าให้ฟัง เป็นเรื่องฝ่าฝืนคำสั่งสอนครูบาอาจารย์ เป็นความเลว นี่ว่างๆ ก็ย่องเอาความเลวมาอวดกันเสียบ้าง ชาวบ้านเขาจะได้รู้ว่าหลวงตานี่ไม่ได้หัวล้านอย่างเดียว แถมฝ่าฝืนคำสั่งของครูบาอาจารย์ด้วย เคยทำมาแล้ว แต่ตอนนี้ไม่เอาละ เข็ด เกิดฝืนแล้วท่านก็สอนให้ทำได้ แต่ว่าสั่งห้ามว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจงอย่าทำ เพราะว่าพระพุทธเจ้าห้าม การทำแบบนั้นทำอะไรไม่ต้องพูดกัน อย่าลืมที่ว่าหลวงพ่อปานเป็นอาจารย์เอาอะไรกับท่านก็ได้ทุกอย่าง แต่สิ่งที่ต้องการท่านให้ได้แล้ว ก็ท่านห้ามแล้วก็ต้องยับยั้งไม่งั้นก็จะกลายเป็นคนอกตัญญูไม่รู้คุณครูบาอาจารย์ไป อ้าวนี่เลอะไปเสียแล้วละมังนี่ยกตัวอย่างนะว่า ท่านที่ชอบฤทธิ์ชอบเดช ชอบรู้จุกรู้จิกน่ะมีอยู่มาก ฉะนั้น จะมานั่งตะบันสอนกันแค่สุขวิปัสสโกอย่างเดียว มันจะใช้ได้ยังไง แบบแผนของพระพุทธเจ้ามีอยู่ตั้งหลายแบบสอนกันให้หมด เรียนกันให้หมด แล้วใครชอบอย่างไหนเอาไปใช้อย่างนั้น เหมือนกับอาหาร บางคนชอบเปรี้ยว บางคนชอบเค็ม บางคนชอบขม บางคนชอบหวาน ตัวเราเอาอาหารอย่างเดียว รสใดรสหนึ่ง ไปเลี้ยงคนหลายๆ คนที่ชอบต่างรสกันพวกนั้นก็กินได้เหมือนกัน แต่ว่ากินอิ่มแบบชนิดเรียกว่าแบบจระเข้ ไม่มีรส ไม่มีชาติ ไม่เต็มใจในการกิน ผลของอาหารที่เข้าไปบำรุงร่างกายก็ไม่สมบูรณ์ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด แม้การเจริญพระกรรมฐานในพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านเป็นสัพพัญญูวิสัย ท่านสอนไว้ยังไง เราก็อย่าอวดมาเป็นพระพุทธเจ้าแข่งกับท่าน นี่ใครเขาอวดหรือไม่อวดอาตมาไม่รู้นะ อาตมาไม่กล้าอวด ไม่กล้าวัดรอยเท้าพระพุทธเจ้า

เอ้า เรื่องนี้เป็นอารัมภบทเลอะเทอะมา 10 นาทีแล้วนี่ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทที่จะพูดให้บรรดาโยมพุทธบริษัทฟังอย่างพอใช้ได้ สำหรับฉฬภิญโญ คือ อภิญญา 6 กับปฏิสัมภิทัปปัตโต ไม่พูดให้ฟัง แต่จะเพียงแนะหัวข้อว่า ควรทำยังไงเท่านั้นทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าทั้งสองอย่างนั้นไม่ใช่วิสัยที่จะพึงสอน แล้วก็ไม่ใช่วิสัยที่อาตมาจะพึงแนะนำให้ละเอียดได้ เพราะว่าอะไร เพราะว่าถ้าขืนถามมาจริงๆ เดี๋ยวจนแต้มขายขี้หน้าญาติโยมเปล่าๆ เฉพาะวิชชาสามนี่รับรอง รับรองไม่จนแต้มแน่ เพระสนใจมาก ตั้งแต่บวชเข้ามาเป็นพรรษาแรกก็สนใจเป็นพิเศษ ความจริงสนใจอภิญญา แต่หลวงพ่อปานห้ามว่า ในฐานะที่เป็นขี้ข้าชาวบ้านอยู่นี่จะทรงอภิญญาไม่ได้ แต่แค่วิชชาสามจะให้เรียน เอาในฐานะที่เป็นข้าทาสของชาวบ้านนี่ก็ต้องทนเอา เวลานี้ก็ทนใช้หนี้ชาวบ้านไปตั้งเยอะแล้ว เจ้าหนี้ชักจะหมดๆ ไป เจ้าหนี้ใหม่ที่เข้ามาทวงก็จะไม่ค่อยเอาแล้ว เจ้าหนี้กระจุ๋มกระจิ๋มนี่ใช้ไม่ค่อยทำแล้ว เวลานี้ชักดื้อแพ่งแล้ว เมื่อก่อนนี้จะเหนื่อยจะยากยังไงก็ทำ อ้าวเดี๋ยวเลอะเทอะไปอีกแล้ว

มาว่ากันถึงวิชาสาม ก่อนจะเรียนวิชชาสาม ก่อนจะเรียนวิชชาสาม จะฝึกน่ะ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทอย่าลืมภาคพื้น ไม่ว่าอะไรทั้งหมดมันต้องปรับพื้นกันก่อน ถ้าไม่มีพื้นแล้วเราจะไปนั่งได้ยังไง บ้านเรือนก็เหมือนกัน จะปลูกขึ้นมาก็ต้องมีพื้นดิน ทีนี้ กรรมฐานก็เหมือนกัน ในมหาสติปัฏฐานสูตรทั้ง 4 พระพุทธเจ้าทรงให้ใช้อานาปานสติกรรมฐานเป็นภาคพื้น นี่ฟังไว้แล้วก็ดูลีลาของท่านบรรดาญาติโยม พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนสั่วๆ ไม่ได้สอนส่งเดชนะ ฟังไว้ให้ดี แล้วก็จำไว้ให้ดี แล้วก็คิดไว้ด้วย ทีนี้พื้นนี่จะพูดย่อๆ นะตามเวลา วันพุธหน้าละมัง จึงจะจบวิชชาสาม วันนี้เอาแค่พื้นก่อน มันจะจบหรือไม่จบก็ไม่ทราบ เวลาเหลืออีก 10 นาทีกว่าๆ เอากันแค่ภาคพื้น คนจะเจริญวิชชาสามหรืออภิญญา 6 หรือปฏิสัมภิทาญาณ ถ้าจะกล่าวกันไปก็ควรจะว่า ทุกอย่างในด้านกรรมฐานแม้แต่สุขวิปัสสโก แต่ว่าด้านสุขวิปัสสโกในเฉพาะมหาสติปัฏฐาน ซึ่งยังไม่ถึง ยังไม่ถึงนะ พื้นนี่สำคัญมาก ในธรรมานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ท่านวางพื้นในด้านอารมณ์ และวางพื้นในด้านบรรลุอริยมรรคอริยผล วันนี้มาฟังกันถึงพื้นฐานของวิชชาสามเสียก่อน หรือว่าในด้านสมถะทั่วไป

พื้นฐานของอวิชชาสาม อันดับแรกนะ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ท่านบอกว่าให้กำจัดอุปกิเลสทิ้งเสีย คือว่าอุปกิเลสนี่ การเข้าถึงความเศร้าหมองของจิต แปลตามตัวนะแปลว่าการเข้าถึงความเศร้าหมอง เศร้าหมองของจิต พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเรียบเรียงไว้หลายสิบข้อด้วยกันไม่เอามาพูดละ เอามาพูดสั้นๆ ว่าอุปกิเลสที่เข้าถึงจิตไว้ คือยุ่งกับเรื่องของชาวบ้าน เรื่องของชาวบ้านนี่ชอบยุ่ง ชอบอวดด้วย แล้วก็ชอบถือดีถือเด่นทำตัวเป็นคนดีคนเด่นกว่าเขา อารมณ์อย่างนี้พระพุทธเจ้าให้ทิ้งเสียให้หมด อย่าไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้าน เรื่องของชาวบ้านนี่ชอบยุ่ง ชอบอวดด้วย แล้วก็ถือดีถือเด่นทำตัวเป็นคนดีคนเด่นกว่าเขา อารมณ์อย่างนี้พระพุทธเจ้าให้ทิ้งเสียให้หมด อย่าไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้านเขา เอาเรื่องของเราคนเดียว เวลานี้เรากำลังจะเจริญมหาสติปัฏฐานสูตรชาวบ้านชาวเมืองเขาจะดีจะชั่วยังไง มันเป็นเรื่องของเขา เขาดีก็ดีของเขาเอง เราไม่ได้พลอยดีกับเขาด้วย เขาชั่วเขาก็ชั่วของเขาเอง เราไม่ได้พลอยชั่วกับเขาด้วย แล้วเราจะไปยุ่งกับเขาทำไม ไอ้ตัวเราเองก็เหมือนกัน อย่าไปอวดดีอวดเด่นกับชาวบ้านเขา อย่าไปข่มขู่เขาว่าเขาเลวกว่าเรา เขาเสมอเรา เขาดีกว่าเรา อย่า ทีนี้การปฏิบัติกรรมฐานก็เหมือนกัน อย่าให้ชาวบ้านเขาเห็น อย่าเดินให้เขาเห็น อย่าอวดในการปฏิบัติ เอาเท่านี้นะย่อๆ แค่นี้แหละ

พระพุทธเจ้าตรัสกับนิโครธปริพพาชก ว่านิโครธปริพพาชก อันนี้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ หรือยังเป็นเป็นสาระเป็นแก่นสารไหม การไม่ไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้านนี่ อะไรก็ช่างเขา อะไรๆ ก็ช่างมัน ใครจะด่าจะว่านินทายังไงก็ช่างเขา มันเป็นเรื่องของเขา เราไม่ได้เหนื่อยกับเขาด้วย เราไม่อวดดีอวดเด่นกับเขา ไม่เห็นว่าเขาเลวกว่า เขาเสมอเราหรือเขาดีกว่าเรา เราไม่โอ้อวดในข้อวัตรปฏิบัติที่ตนทำแล้ว ไม่ใช่เอาข้อวัตรปฏิบัติที่ตนทำอยู่ไปข่มขู่ชาวบ้าน พระพุทธเจ้าทรงถามนิโครธปริพพาชกว่า "ข้อนี้บริสุทธิ์เป็นสาระเป็นแก่นสารหรือยัง"

"นิโครธปริพพาชกตอบว่า "ข้อนี้เป็นสาระเป็นแก่นสารบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงแล้วพระเจ้าข้า"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า นิโครธดูก่อนนิโครธ "แค่นี้ยังไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ แค่นี้เป็นสะเก็ดของพระพุทธศาสนาเท่านั้น" นี่จำให้ดีนะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท แค่วางอารมณ์ไว้เฉยๆ ไม่เอาใจไปยุ่งกับความดีความชั่วของชาวบ้านเขา ไม่ข่มขู่ ไม่โอ้อวดเขาไม่ตีเสมอเขา อย่างนี้เป็นต้น ยังดีไม่พอนะ แค่เข้าถึงสะเก็ดของความดีในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

นิโครธปริพพาชกจึงถามต่อไปว่า "ยังไงจึงจะบริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นสาระแก่นสารล่ะพระเจ้าค่ะ"

พระพุทธเจ้าก็ตรัสต่อไปว่า "นิโครธะ คนที่จะบริสุทธิ์บริบูรณ์ก็ต้องปฏิบัติในยามสี่ ได้แก่ไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลฆ่าสัตว์ และไม่ยินดีเมื่อเขาฆ่าสัตว์แล้ว ไม่ลักทรัพย์ด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นลัก และไม่ยินดีเมื่อเขาลักมาแล้ว ไม่ประพฤติผิดในกามด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นประพฤติผิดในกาม และไม่ยินดีเมื่อเขาประพฤติผิดในกามแล้ว ไม่กล่าววาจามุสาวาทด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นกล่าววาจารมุสาวาท แล้วก็ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นกล่าวมุสาวาทแล้วเพียงเท่านี้ ต่อไปก็พยายามระงับนิวรณ์ 5 ประการจากจิตเสีย คือ 1. ไม่ยินดีในรูปเสียงกลิ่นรส และสัมผัส 2. ไม่พยาบาท 3. ไม่ง่วงเหงาหาวนอนในเวลาที่ปฏิบัติความดี 4. ไม่ทำจิตฟุ้งซ่านยึดถืออารมณ์ภายนอก นอกจากนิวรณ์ที่ได้ตั้งใจปฏิบัติจะเพ่ง 5. ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า เท่านี้ยังไม่พอ ต่อไปก็ให้แผ่เมตตาไปในทิศทั้ง 4 คือ ทรงพรหมวิหาร 4 คิดว่าบุคคลและสัตว์ทั้งหมดเป็นมิตรกับเรา เราไม่เป็นศัตรูกับใครแล้วก็ทำใจให้สบาย"

องค์สมเด็จพระจอมไตรได้ทรงถามนิโครธปริพพาชกว่า "นิโครธะ นี่บริสุทธิ์บริบูรณ์หรือยัง เขาตอบว่าบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว พระเจ้าข้า"

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า "นิโครธะ นี้ยังไม่บริสุทธิ์ไม่บริบูรณ์ นี่แค่เปลือกของความดีในพระศาสนาเท่านั้น"

เขาถามว่ายังไงจะเข้าถึงแก่นล่ะ พระเจ้าข้า

ท่านก็ทรงตอบว่า "เมื่อทำอย่างนี้แล้ว จงทำปุพเพนิวาสานุสติญาณให้ปรากฏ คือระลึกชาติหนหลังได้"

ท่านถามว่าแค่นี้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้วหรือยัง "ท่านบอกยัง แค่นี้เพียงกระพี้ของความดีเท่านั้น"

ต่อไปองค์สมเด็จพระทรงธรรมก็กล่าวว่า "ถ้าจะให้เข้าถึงจุดของความดีความเด่นจริงๆ เป็นสาระเป็นแก่นสาร ก็ต้องทำทิพยจักขุญาณ คือสามารถรู้ว่าสัตว์ที่เกิดแล้วที่เกิดมานี่ตายแล้วไปไหน เป็นอะไร และสัตว์และคนที่เกิดมาในโลกนี้มาจากไหน ชาติก่อนเขาเป็นอะไรมา อย่างนี้แหละที่เรียกว่าถึงสาระถึงแก่นสาร"

แต่ตอนนี้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท พระพุทธเจ้ายังกล่าวต่อไปว่า "นิโครธะ ถ้าเธอปฏิบัติได้แค่นี้ นี่เราสอนสาวกของเราตามแบบนี้นะ ถ้าทำได้เพียงแค่นี้แล้วยังไม่ดีเลิศ ถือว่ามีศรัทธามั่นคงเท่านั้น ถ้าจะให้ดีเลิศต้องปฏิบัติในวิปัสสนาญาณ คือในอริยสัจทั้ง 4 ถ้าทำได้แค่นี้แล้วปฏิบัติในอริยสัจทั้ง 4 ถ้ามีวาสนาบารมีแก่กล้าก็จะถึงพระนิพพานภายใน 7 วัน มีวาสนาบารมีอย่างกลางก็จะถึงพระนิพพานภายใน 7 เดือน ถ้ามีวาสนาบารมีอย่างเลวที่สุด ก็จะถึงพระนิพพานภายใน 7 ปี"

เห็นไหมล่ะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ตามที่กล่าวมานี้ ภาคพื้นนี้ พระพุทธเจ้าทรงโต้ตอบกับปริพพาชก นำเรื่องย่อๆ มาเล่าให้ฟัง ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายจะได้ทราบ ว่าการเจริญพระกรรมฐานเอาดี จะเป็นด้านสุขวิปัสสโกก็ดี เตวิชโชก็ดี ฉฬภิญโญก็ดี ปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ดี ต้องวางภาคพื้นไว้ก่อนสำหรับภาคพื้นในด้านวิชชาสามนะ พื้นของวิชชาสามนี้ใช้ได้ทั้งอภิญญา 6 และบัญชีภิทาญาณ ใช้ได้ทั้งหมดเป็น 3 พื้นด้วยกัน พื้นสากล หรือแม้ว่าคนที่เจริญสุขวิปัสสโกก็ใช้ได้ แต่ต้องตัดปุพเพนิวาสานุสติญาณออกเสีย แล้วก็ตัดทิพยจักขุญาณออกเสียเท่านี้ก็เป็นสุขวิปัสสโก สำหรับท่านที่จะเจริญวิชชาสามก็ต้องเจริญปุพเพนิวาสนุสติญาณและทิพยจักขุญาณด้วย แต่หากท่านทั้งหลายจะเจริญในด้านอภิญญา 6 ก็ต้องเจริญกสิณทั้ง 10 ประการ และหัดเข้าฌานตามลำดับฌานลำดับกสิณ สลับฌานสลับกสิณให้คล่องหากว่าท่านจะเข้าถึงปฏิสัมภิทาญาณ ก็เอากสิณเป็นภาคพื้น แล้วก็เจริญอรูปฌานให้ได้อรูปฌาน 4 ทรงอยู่ในฌาน 4 เหมือนกันเท่านี้ ต่อไปก็เป็นปฏิสัมภิทาญาณ

เอาละบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท วันนี้มาว่ากันถึงภาคพื้นก็หมดเวลาพอดี วันพุธหน้าค่อยฟังเรื่องวิชชาสามกันใหม่ สำหรับวันนี้ ก็ต้องขอลาญาติโยมพุทธบริษัทไป ก่อนขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ผู้รับฟังทุกท่าน สวัสดี


:D
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 45

โพสต์

วิชาสาม(2)
(พระราชพรหมยาน)

ท่านสาธุชนทั้งหลาย สำหรับวันพุธนี้ก็มาพบกับท่านตามเคย ความจริงก็อยากจะมาทุกวันพุธ แต่บางวันก็มีอุปสรรคเสียก็มี แต่ปีนี้จะขาดหรือไม่ขาดก็ไม่ทราบเป็นอันว่ายังงี้ก็แล้วกัน เรื่องอารัมภบทงดไว้ แหม เมื่อวันพุธก่อนว่าจะอนุโมทนาอะไรสักนิดหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่จะเล่าให้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทฟัง ก็เลยลืมอนุโมทนาไปวันนี้ขอโมทนาเสียตั้งแต่ต้นมือเลยนะ คือว่าพระอาจารย์สุรินทร์ วัดสุขุมาราม ตำบลวังตะกู อำเภอบางมูลนาค จังหวัดพิจิตร ได้ส่งพระเครื่อง คือเป็นพระสมเด็จที่อาตมาไปทำพุทธาภิเษกถวายมาแล้ว 3000 องค์ แล้วก็เมื่อเร็วๆ นี้ก็ส่งเพิ่มเติมมาให้อีก 2000 องค์ เพื่อจะได้ไว้แจกจ่ายแก่บรรดาพุทธบริษัทที่ร่วมบำเพ็ญกุศล หรือว่าปรารถนาจะได้ไว้บูชา ขอพระอาจารย์สุรินทร์โปรดรับทราบ สิ่งที่ท่านฝากช่างประเสริฐมานั้นกระผมได้รับแล้ว แล้วก็ขออนุโมทนาในความดีของท่าน ขอท่านจงบรรลุมรรคผลในกิจของพระพุทธศาสนาตามที่ท่านตั้งใจไว้เถิด

แล้วนอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องจะเล่าให้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทฟังอีกนิดหนึ่ง ว่าปีนี้อาตมาทำงานที่วัดนี้หมดด้วยกัน 8 รายการด้วยกัน คือ 1. สร้างกุฏิตึก 2 ชั้น ชั้นละ 3 ห้อง 1 หลัง แล้วก็สร้างอาคารรับรองยาว 10 วา เศษๆ 1 หลัง เป็นตึกเหมือนกัน 2 ชั้น นี่เป็นปี 2 นะ 3. สร้างรั้วกำแพงหน้าวัด 4. สร้างหอพระ 9 หอ 5. สร้างประปาทันสมัย 6. สร้างพระพุทธรูปปางห้ามญาติ 7. สร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรแล้วก็ 8. สร้างพระพุทธรูปแบบพระพุทธชินราชขนาดใหญ่ 6 ศอกอีก 1 องค์ รวม 8 รายการด้วยกัน เงินในการก่อสร้างปีนี้หลายแสนบาท แต่ว่ายังเป็นหนี้เขาประมาณ 2 แสนบาท แล้วก็จะทอดกฐินวันแรม 7 ค่ำ เดือน 11 หากว่าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทมีความสนใจใคร่จะสงเคราะห์พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาชำระหนี้ ก็กรุณาติดต่อกับวิทยุ 04 หรือติดต่อกับอาตมาเองก็ได้ ถ้าหากว่าส่งตรงมาแล้วอาตมาก็จะได้โมทนา แต่ว่าส่งทาง 04 ก็เหมือนกันนะจะโมทนาให้ สำหรับท่านที่ให้ทุนในการสร้างพระพุทธชินราชนะ พระพุทธชินราชนี้กะแล้วหลายหมื่นบาท เกือบตกแสนบาท มีท่านที่ให้ทุนมาท่านหนึ่ง คือ คุณนนทา อนันตวงศ์ จังหวัดอุทัยธานี ให้เงินมาแล้ว 1 หมื่นบาท แล้วก็คุณประเสริฐ คุณละเอียด ชังชั่ว จังหวัดชัยนาท รับช่วย 1 พันบาท คุณสำเนียง จูชวน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ รับช่วยปูน 100 ลูก ประมาณ 2,200 บาท คุณทองชุบ คุณฉอ้อน ทองวิเศษ บ้านท่าซุง รับช่วยเหล็ก 1 หาบ ประมาณ 400 บาท เงินจำนวนนี้ยังไม่พอ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ขาดอีกหลายหมื่นบาท ถ้าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทมีความประสงค์จะร่วมบำเพ็ญกุศลด้วย ก็ขอได้โปรดส่งตรงมายังอาตมา หรือจะส่งผ่าน 04 ก็ได้ เรื่องนี้รบกวนบรรดาพุทธบริษัทพอสมควร หมดเข้าไป 5 นาที

วันนี้มาว่ากันถึงมหาสติปัฏฐานสูตร แล้วก็แปลงเป็นวิชชาสาม ด้านสุขวิปัสสโกน่ะ วิชชาของสุขวิปัสสโกมาแปลงเป็นวิชชาสามก็แปลงได้ไม่ยาก เป็นของไม่ยาก ของทำง่ายๆ ทำใจวางภาคพื้นเสียก่อน

เออ เดี๋ยวก่อนบรรดาญาติโยมทั้งหลายที่กำลังฟังอาตมาอยู่นี่ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วยหรือเปล่า ไม่ต้องเอามากก็ได้ เอาแค่รู้ลมเข้ากับลมออกก็ได้ แค่นี้นะแค่นี้จิตจะได้ตั้งอยู่แค่อุปจารสมาธิแล้วก็ฟังไปด้วย มันเป็นบุญกุศลทั้งสองอย่าง เป็นบุญเป็นกุศลทั้งขณะที่จิตตั้งอยู่ในอุปจารสมาธิด้วย แล้วก็ฟังธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ได้ผล 2 อย่าง

ต่อไปขั้นแรก เราต้องวางภาคพื้นเสียก่อนนะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท พื้นใหญ่ คือ อานาปานสติกรรมฐาน อย่าทิ้ง ประการที่สอง จิตจงอย่าเข้าไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้านประการที่สาม รักษาศีล 3 ชั้น ยามสี่ตามที่ว่ามา ใช้ศีล 5 ก็ได้แทน คือ 1. ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่กล่าววาจามุสาวาท ไม่ดื่มสุราเมรัยด้วยตนเอง และก็ไม่ยุให้ชาวบ้านเขาทำ ไม่ยินดีเมื่อชาวบ้านเขาทำ ไม่ยินดีเมื่อชาวบ้านเอขาทำแล้ว 2. ระงับนิวรณ์ 5 ประการเสีย กำลังที่เรากระทำความดีเวลานี้แหละ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทกำลังฟังธรรมอยู่นี่ก็ดี หรือว่ากำลังภาวนาอยู่ก็ตาม กำลังกำหนดลมหายใจเข้าออกอยู่ก็ตาม อย่าเอาจิตเข้าไปยุ่งกับกามคุณ 5 อย่าเอาจิตเข้าไปยุ่งกับความโกรธความพยายาม อย่าสนใจกับกับความง่วง อย่าเอาอารมณ์อื่นนอกจากการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกมาใช้ อย่าให้มันเข้ามายุ่งกับจิต อย่าสนใจในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เท่านี้พอนะ วางอารมณ์เท่านี้แล้วก็แผ่นเมตตาไปในทิศทั้ง 4 ว่า เราจะมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แก่คนและสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดเท่ากับตัวของเรา วางไว้เท่านี้นะ ประเดี๋ยวเดียวก็ได้ฌาน ถ้าทำได้ยังงี้แผล็บเดียวโยมได้ฌาน เคี้ยวหมากไม่ทันแหลก เป็นฌาน แล้วก็ฌานของท่านสามารถจะทรงอยู่ได้ตลอดกาล หากว่าท่านทรงภาคพื้นนี้ได้ตลอดกาลเพียงใด ฌานของท่านก็จะทรงตัวอยู่เพียงนั้น ไม่เห็นมันยาก ไม่มีอะไรยากเลย

ทีนี้ มาว่ากันถึงวิธีแปลง นี่วางภาคพื้นได้แล้วนา ถ้าภาคพื้นใครวางไม่ได้แล้วอย่าโทษหลวงตาพูดไม่จริงไม่ได้นะ ไม่ได้หรอก วันนี้อาตมาประกาศตัวเป็นสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อพ่อพูดมายังไง ลูกก็พูดอย่างงั้น อย่างงี้มันสบายใจดี ไม่เห็นจะแปลกอะไร แล้วก็ไม่ยากด้วย ไม่ต้องไปนั่งคิดนั่งแปลง ไม่ต้องไปคิดสร้างมันขึ้น สบาย พระพุทธเจ้าท่านสร้างของท่านแล้วนี้ หลวงพ่อปานท่านจำจากครูบาอาจารย์มาได้ จากพระอรหันต์ทั้งหลายมาได้ แล้วท่านก็มาสอนให้ สอนให้จำเอาไว้แล้วก็เอามาพูดให้บรรดาญาติโยมฟังนี้ต่อๆ กันไปไม่เห็นจะลำบาก เหมือนกับคนที่รับมรดกจากพ่อแม่ พ่อแม่กว่าจะได้ไร่นาสาโท ได้บ้าน ได้เงินได้ทองมาแสนยาก มาถึงลูกเพียงแค่เซ็นรับมรดกเท่านั้นแล้วก็ใช้ตามพ่อสั่ง มันก็หมดเรื่อง ไอ้มรดกอย่างนั้นกว่าพ่อท่านจะหามาได้ กว่าจะหาวิธีเก็บรักษาได้มันลำบาก เราเป็นลูก แต่รับสั่งปฏิบัติตามคำสั่ง ง่ายนิดเดียว ไม่เห็นยาก เรื่องเอามหาสติปัฏฐานทั้ง 4 มาดัดแปลงเป็นวิชชาสามอภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณ มันก็เรื่องไม่ยาก เรื่องกล้วยๆ กล้วยสุกนะ

เอาละ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ลองฟัง ลองทำ อย่าฟังเฉยๆ อย่าคิดเฉยๆ อย่าเอาไปพูดกันเฉยๆ คนประเภทนี้เป็นอาภัพพบุคคล หาความเจริญไม่ได้ เป็นโมฆบุรุษ โมฆสตรี หาความดีอะไรไม่ได้ ได้แต่ฟังเฉยๆ พูดกันเฉยๆ เอาไปคิดเฉยๆ แล้วมันไม่ทำ ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ใช่สาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นพวกเดียรถีย์แล้ว เดียรถีย์ผมยาวก็มี เดียรถีย์โกนหัวก็มี เยอะแยะ ไม่เอาถ่าน ดีแต่เทศน์เอาเงินชาวบ้านเขามาเก็บ วัดวาอารามพังกันเป็นแถว ๆ ไม่มีใครทำกัน อ้าวนี่ไปว่าเขาทำไม เล่าให้โยมฟัง พูดให้ฟัง ไม่ได้ด่าใครหรอก ประเดี๋ยวโยมจะไปทำบุญกับเดียรถีย์เข้าจะได้บุญน้อยน่ะซิ ใครเขาเป็นเดียรถีย์บ้างช่างเขาเถอะ แต่ว่าเวลาเราจะให้ต้องดูนา ผู้ให้ต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ วัตถุทานที่จะให้ก็ต้องเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ ผู้รับก็ต้องเป็นพระจริงๆ ถ้าไปให้กับเดียรถีย์เข้าจะมาโทษพระพุทธเจ้านา ว่าทำบุญในพุทธศาสนาไม่เห็นมีผล อ้ายนี้เปื่อยไปเสียแล้วซี

ทีนี้ วิธีดัดแปลงสุขวิปัสสโกมาเป็นเตวิชโช อันนี้ไม่ยาก ญาติโยมทั้งหลายได้ฌาน 4 แล้วใช่ไหมล่ะ จำได้หรือเปล่าว่าอานาปานสติกรรมฐานในมหาสติปัฏฐานสูตรน่ะโยมได้ฌาน 4 แล้วนี่น่ะ นี่พูดกันมาหลายวรรค หลายพุธแล้วนี่ แต่ฌาน 4 มันควรจะผ่านไปแล้ว ความจริงฌาน 4 น่ะ อานาปานสติกรรมฐานทำไม่ยากเลย ถ้าทำจริงๆ ทำไม่ยาก สนใจจริงๆ เป็นเรื่องไม่ยาก อานาปานสติกรรมฐานที่ให้ฌาน 4 ได้รวดเร็วที่สุด แล้วก็เป็นกรรมฐานภาคพื้นใหญ่ แม้เป็นกรรมฐาน 40 กองก็เหมือนกัน ใครจะทำกองไหนก็ตาม จะทิ้งอานาปานสติกรรมฐานเสียไม่ได้ ถึงแม้ว่าองค์สมเด็จจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็ทรงยอมรับ ทรงตรัสกับพระสารีบุตรว่า สารีปุตตะ ดูก่อนสารีบุตร เราเองก็เป็นผู้มากไปด้วยอานาปานสติ หมายความว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าแล้วนะ พระองค์ก็ทรงใช้อานาปานสติกรรมฐานอยู่เสมอ เห็นไหมอย่าทิ้งนา อย่าทิ้งกัน นี่เตือนกันนา ประเดี๋ยวหาว่าเล่าเรื่องอะไรส่งเดช ไม่เตือนกัน

ที่นี้ เมื่อญาติโยมได้ฌาน 4 แล้วมันจะไปยากอะไร เราจะเรียนวิชชาสามใช่ไหมแป๊บเดียวได้ นี่เวลาเหลืออีก 10 นาทีจบ วันนี้จบวิชชาสาม แต่ยังไม่จบละเอียดหรอก รายการละเอียดเอาไว้พุธหน้า วันนี้ทำให้จบกันก่อน ขั้นแรกที่สุดเข้าฌาน 4 ในอานาปานสติกรรมฐาน จับตั้งแต่เล็ก กำหนดลมหายใจแค่จมูกมาก่อนจนจิตสบาย เลื่อนเข้าไปรู้ลมเข้าออกยาวหรือสั้น พอจิตสบาย กำหนดกองลมว่านี่เราจะหายใจเข้า นี่เราจะหายใจออก มันหายใจเข้าสั้นยาวน่ะรู้อยู่แล้ว มันหยาบหรือละเอียดไม่รู้ พอจิตสบายตอนนั้น ไม่สนใจกับกองลม วางอารมณ์เป็นเฉยเสีย จับอารมณ์เป็นดิ่ง มันจะหายใจหรือไม่หายใจก็ตามใจ พออารมณ์สบายแล้วลืมตาดูนิมิตกสิณ กสิณ 3 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งจัดไว้ คือ 1. สีขาว เรียกว่าโอทาตกสิณ 2. แสงสว่างเรียกว่าอาโลกสิณ 3. แสงไฟ เรียกว่าเตโชกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่งจัดตั้งนิมิตเข้าไว้ ถ้าไม่เข้าใจเปิดหนังสือคู่มือพระกรรมฐานที่แจกให้ไปอ่านดู หรือว่าจะดูวิสุทธิมรรคก็ได้ ดูในธรรมปริจเฉท 2 ของหลักสูตรนักธรรมชั้นโทก็ได้ มีแบบเยอะไป มีแบบเยอะ ลืมตาดูภาพกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง พอจำได้แล้วหลับตา ถ้าหากว่าดูไฟ ภาวนาว่า เตโชกสิณัง ถ้าหากว่าดูสีขาวภาวนาว่า โอทาตกสิณัง ถ้าดูแสงสว่างภาวนาว่า อาโลกกสิณัง แล้วหลับตานึกถึงภาพนั้นจิตเป็นฌานอยู่แล้วน่ะ นิมิตจับดิ่งเลย ไม่ยากหรอก ได้เดี๋ยวนั้น แต่หากว่านิมิตยังเป็นภาพเดิมอยู่ ยังถือว่าใช้ไม่ได้ รักษานิมิตนั้นแหละให้เคลื่อนเข้าไปๆ ถ้าจิตถึงฌาน 4 เอายังงี้ก็แล้วกัน ถ้าจิตเข้าถึงฌานนิมิต จะเปลี่ยนสีเดิมไป เป็นสีประกายพรึกเหมือนกันหมด ไม่ยาก วันเดียวได้ เดี๋ยวเดียวแหละ ไม่ถึงวัน ไม่เห็นมันยากอะไรนี่ ของกล้วยๆ เอามานั่งพูดกันให้ลำบาก ฟังคนพูดแล้ว รู้สึกว่าฟังลำบากมาก เขาพูดกันให้ลำบากมากแต่ความจริงมันไม่ลำบากลำบนอะไรสักนิดหนึ่ง ไม่มีอะไรลำบากเลย ประเดี๋ยวเดียวจิตเข้าถึงฌาน 4 แล้วถอยออกมาปั๊บ ลืมตาดูนิมิตกสิณนะ กสิณตามที่บอกไว้แล้วนั่นแหละ ดูปั๊บจำได้ จิตเป็นสมาธิแล้วมันจำได้ไม่ยากหรอก พิโธ่เอ๊ย เหมือนกับคนที่กินข้าวทุกวันๆ พอเขาบอกว่ากินข้าวเปิบแบบนี้นะ เท่านั้นแหละ ก็กินได้เลย หรืออีกอย่างหนึ่งเราเคยกินด้วยมือ ไปถึงบ้านหนึ่งเขาบอกว่านี่ๆ ๆ ที่บ้านนี้เขาไม่กินข้าวด้วยมือเปล่ากันเขากินด้วยช้อนจับช้อนแบบนี้ ตักแบบนี้ มันก็ทำได้เลย แต่ก็จะเกะกะไปนิดหนึ่ง ใช้เวลาเกะกะฝึกกันแค่วัน สองวัน สามวันเท่านั้นมันก็คล่อง ใช้ช้อนคล่อง ข้อนี้มีอุปมาฉันใดการจับภาพกสิณก็เหมือนกัน คนที่เขาคล่องจริงๆ แล้วเขาจับปั๊บเดียวได้เลย แต่คนที่คล่องน้อยไปหน่อยก็ไม่เกิน 3 วัน ถ้าหากว่าใครทำเกิน 3 วันละก็ เอาหัวไปจุ่มขี้หมาเสียก็แล้วกัน อย่าเอาหัวเป็นคนเลย เลิก ใช้อะไรไม่ได้หรอก นั่นมันเลอะเทอะแล้ว คนได้ฌานจะทำกสิณ 3 วันไม่สำเร็จกองละก็อย่าทำต่อไปเลย อีกหลายโกฏิชาติไม่ได้ดีหรอก จะได้ดียังไง ก็ไอ้ฌานที่ได้มันไม่ได้จริงๆ นี่ มันโกหกเขาน่ะ ถ้าทำได้จริงๆ ประเดี๋ยวเดียวแป๊บปั๊บ มันก็แบบหัดกินข้าวด้วยช้อนน่ะแหละ มันไม่ยากอะไร ทำจริงๆ มันไม่ยาก

ทีนี้ พอภาพกสิณปรากฏเป็นประกายพรึก สีขาววิจิตรตระการตาแพรวพราวเราบังคับใหญ่ก็ได้ ก็จะใหญ่ขึ้น นึกให้ภาพเล็กลงก็จะเล็ก ให้สูงก็ได้ต่ำก็ได้ ไปอยู่ข้างหน้าก็ได้ไปอยู่ข้างหลังก็ได้ ตามความพอใจ หัดยังงี้เสียให้คล่องสัก 2-3 วัน เอาให้คล่องเพื่อยังความคงที่เข้าไว้

ทีนี้ ต่อไป 2-3 วันจิตนึกปั๊บจับได้ นึกปั๊บจับภาพกสิณได้ ที่นี้ก็กล้วยแล้ว ใช้งานได้แล้วซิ ตอนนี้อยากจะคิดอยากจะเห็นอะไรล่ะ อยากจะดูสวรรค์หรืออยากจะดูนรก อยากจะดูคนตายแล้วไปไหน คนที่มาเกิดนี้มาจากไหน โอ๊ มันเรื่องเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมโหฬารอะไร ไม่ใช่ของลำบาก แต่ข้อสำคัญที่สุดขอย้ำว่า อย่าทิ้งลมหายใจเข้ารออกนะ ยามปกติรักษาลมหายใจเข้าออกไว้ ถ้าจะนั่งที่ไหน เดินที่ไหน นอนที่ไหนก็ตามรักษานิมิตกสิณไว้ นิมิตกสิณที่เพ่งเห็นแล้วนั่นแหละ ไปนั่งอยู่ก็ได้ เดินไปก็ได้ ไปธุระไหนไปนาไปไร่ก็ตาม ไปธุระไปหาเพื่อนบ้านก็ตาม รักษาภาพกสิณเข้าไว้ ให้ภาพกสิณมันปรากฏแก่ใจเป็นปกติ เพียงเท่านี้ นึกถึงภาพกสิณเมื่อไรให้เห็นเมื่อนั้น แค่นี้ละ 3 วัน ก็ได้ไม่ยาก ระยะ 3 วันนี่ให้ระยะช้าไปน่ะนะ พูดกันจริงๆ แล้วพวกที่ได้ฌาน 4 จากอานาปานสติแล้ว วันเดียวเขาเอาไปกินกันเลย เขาฝึกกสิณวันเดียวเฉพาะอาโลกกสิณ โอทาตกสิณ หรือเตโชกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาเอาไปกินกันเลย ฝึกวันเดียว ฝึกเช้าเย็นใช้งานได้ จะไปยากอะไร คนทำได้แล้ว คนทำได้แล้วไม่ยาก ก็คนทุกคนทำได้ ไม่ใช่ว่าเลือกคนทำ

ทีนี้ เราจะดูภาพนรกสวรรค์กันอย่าลืม 1. ยามปกติอย่าทิ้งอานาปานสติกรรมฐาน 2. อย่าทิ้งภาพกสิณ นิมิตกสิณนี่ต้องชำระให้ใสจริงๆ เพราะเป็นเครื่องวัด การจะเห็นนรกเห็นสวรรค์ จะเห็นพรหมโลกก็ตาม ถ้าหากว่าเราเห็นภาพกสิณเท่าไร เราก็จะเห็นภาพนรกสวรรค์ได้เท่านั้น

ทีนี้ สมมติเราอยากจะเห็นนรกเราก็เพ่งภาพกสิณปั๊บ เห็นภาพกสิณแจ่มใส สบายใจดีแล้ว เราก็อธิษฐานจิตว่า ขอภาพกสิณจงหายไป ภาพนรกจะปรากฏ แค่นี้ภาพกสิณก็จะหายไป ภาพนรกจะปรากฏ แล้วภาพสวรรค์ภาพพรหมโลก ภาพอะไรก็เหมือนกันจะมีสภาพเป็นอย่างนี้ นี่แหละบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท วิธีฝึกวิชชาสามนะ เป็นของไม่ยาก ทำได้ตามนี้ คัดออกมาจากแบบของมหาสติปัฏฐานสูตร คือไม่ใช่ดัดแปลง มหาสติปัฏฐานสูตรท่านสอนในขั้นสุขวิปัสสโก ทีนี้ถ้าหากว่าเราอยากจะเป็นเตวิชโชขึ้นมาทำตามนี้ ถ้าจะเป็นฉฬภิญโญก็ไม่ยาก เมื่อได้กสิณกองใดกองหนึ่งแล้ว อีก 9 กองก็กล้วยเหมือนกัน เป็นแต่เพียงว่าเปลี่ยนท่าเปลี่ยนทางเปลี่ยนภาพนิดหน่อยเท่านั้น แล้วภายใน 3. เดือนท่านก็จะสำเร็จอภิญญา หากมีความปรารถนาด้วยปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ยกภาพกสิณขึ้นเป็นนิมิต แล้วก็เพิกกสิณทิ้งเสีย ยกอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะมาแทน แทนแต่ละอย่างให้ถึงฌาน 4 เท่านี้ก็ชื่อว่าได้สมาบัติ 8 แล้วต่อไปก็จะได้ปฏิสัมภิทาญาณ

เอาละ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททุกท่าน พูดมาวันนี้ก็หมดเวลาพอดี ต้องขออำลาบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทไปก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลจงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้รับฟังทุกท่าน สวัสดี


:idea:
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 46

โพสต์

วิชาสาม(3)
(พระราชพรหมยาน)


ท่านสาธุชนที่รัก และพระคุณเจ้าที่เคารพทั้งหลาย วันนี้กระผมได้มีโอกาสมาพบกับบรรดาพระคุณเจ้าที่รัก และบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายตามปกติ

เมื่อวันพุธก่อนนี้ ได้พูดเรื่องทิพยจักขุญาณค้างอยู่ แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนต้น ที่บอกว่า นักเจริญมหาสติปัฏฐานสูตรได้ถึงฌาน 4 แล้ว เจริญทิพยจักขุญาณได้ไม่ยากนัก นั่งพูดแต่เฉพาะนักเจริญมหาสติปัฏฐานสูตรเท่านั้นนะ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย และพระคุณเจ้าที่เคารพ

อ้าวมาพูดกันเรื่องมหาสติปัฏฐานสูตร บรรดาพระคุณเจ้าที่นั่งรับฟังอยู่ และญาติโยมที่รักที่กำลังนั่งฟังอยู่ ลืมลมหายใจเข้าออกแล้วหรือยัง ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนะ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท รู้ไว้เอาแค่จมูกก็แล้วกัน หายใจเข้าจงรู้ไว้ หายใจออกจงรู้ไว้ นึกว่านี่เราหายใจเข้า นี่เราหายใจออก ถ้ามันทำเป็นปกติแล้ว มันก็เป็นอัตโนมัติของมันเองโดยไม่ต้องระวัง แค่รู้เข้ารู้ออก ทำสติสัมปชัญญะของเราให้สมบูรณ์ นักเจริญมหาสติปัฏฐานน่ะถ้าจะได้ดี ก็ต้องเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ก่อน แล้วก็มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ด้วย ถ้านักเจริญสมณธรรมข้อใดข้อหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ตามในพระศาสนา ถ้าขาดสติสัมปชัญญะเสียแล้ว ตรงนี้เตือนกันไว้นะ เพราะว่าบรรดาพระคุณเจ้าที่เคารพ และบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทที่รักกำลังเจริญมหาสติปัฏฐานสูตรทั้ง 4 อยู่ สำหรับคนอื่นไม่เกี่ยวประเดี๋ยวท่านจะหาว่าจุกจิกกับท่าน ท่านจะฟังเรื่อง

ต่อนี้ไป เอาอย่างนี้ดีไหม มาพูดถึงเรื่องทิพยจักขุญาณกันเลยทีเดียว เมื่อวันก่อนนี้พูดกันเรื่องทิพยจักขุญาณ ว่าไปเริ่มจับกันตอนที่ได้จตุตถฌาน คือฌาน 4 นี่ว่ากันถึงนักเจริญมหาสติปัฏฐานสูตร เจริญอานาปานสติกรรมฐาน มาถึงฌานที่ 4 แล้วก็ทรงฌานที่ 4 แล้ว ทีนี้หากว่าพูดกันตามหลักวิชชาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ถ้าจะไม่พูดตอนนี้นะ บรรดาท่านผู้รู้ทั้งหลายจะหาว่าอาตมาพูดเลยเถิดไป เพราะความจริงการเจริญทิพยจักขุญาณ ถ้าเราทำกรรมฐาน 40 อีตอนนี้เขาเริ่มฝึกทิพยจักขุญาณกันตั้งแต่อุปจารสมาธิ คือยังไม่เข้าปฐมฌาน พอถึงอุปจารสมาธิแล้วจับภาพกสิณขึ้นแล้วเพิกภาพกสิณ อธิษฐานให้ภาพกสิณหายไปขอภาพสวรรค์และนรกจงปรากฏ อย่างนี้ก็จะเห็นได้เงาๆ เห็นได้ดำๆ ต่อมาเมื่อฝึกฝนจิตเข้าถึงฌานก็เห็นใสขึ้น พอถึงฌาน 4 ภาพก็นิ่งนาน เราดูภาพได้นาน เราสนทนาปราศรัยกันได้นาน นี่ว่ากันถึงหลักวิชชาที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าสอนไว้นะ แต่ที่มาพูดกันตอนนี้ก็เพราะว่าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็ดี พระคุณเจ้าที่เคารพที่กำลังรับฟังอยู่ก็ดี เป็นนักเจริญมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว ก็เข้าถึงฌาน 4 แล้วทุกท่านก็ไม่จำเป็นต้องไปตั้งต้นกันแค่อุปจารสมาธิ เราก็เข้ากันถึงจตุตถฌานเลย เพราะเป็นภาพนิ่งดีมาก แล้วก็สดใสดีมาก เมื่อถอยหลังจิตมาถึงอุปจารสมาธิอธิษฐานภาพกสิณให้หายไป แล้วอธิษฐานภาพสวรรค์ นรก พรหมโลก หรือบุคคลที่ตายไปแล้วจงปรากฏ ท่านทั้งหลายเล่านั้นก็จะปรากฏเฉพาะหน้า นี่อาศัยกำลังจตุตถฌาน เป็นฌานที่ทรงสมาธิได้นาน แล้วก็มีความแจ่มใส ก็สามารถจะพูดจาปราศรัยกันได้นานจนกระทั่งจบเรื่อง นี่มันดีอย่างงี้นะ แต่ทว่าพระคุณเจ้าที่เคารพขอรับโปรดทราบถ้าหากว่าท่านได้ฌาน 4 แล้ว แล้วก็ได้ทิพยจักขุญาณแล้ว สามารถจะเห็นสวรรค์ก็ได้ เห็นนรกก็ได้ เห็นพรหมโลกก็ได้ หรือว่าถ้าสมีวิปัสสนาญาณพอสมควร จะรู้ภาวะของพระนิพพานตามความเป็นจริง ไม่ใช่รู้ตรมตำราที่เขาพูดกันเขาว่ากันนะ รู้ด้วยอำนาจของฌาน ไม่เหมือนกับความรู้ที่บรรดาท่านพุทธบริษัทคุยกัน ไม่เหมือนกันนะ ถ้าพระคุณเจ้าที่เคารพและบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทที่รักอยากจะรู้จริง เห็นจริง ก็พยายามทำให้ปรากฏ ถ้าได้ทิพยจักขุญาณแล้ว ก็เจริญวิปัสสนาญาณพอสมควร พอจิตเข้าสู่โครตภูญาณอันนี้แหละจะเป็นพระนิพพานได้ชัดเจนแจ่มใส อาศัยที่ท่านได้ทิพยจักขุญาณมาแล้ว เป็นของไม่ยาก ตอนนี้พูดกันพอเข้าใจ เข้าใจหรือไม่เข้าใจ นี่อาตมาไม่ทราบเหมือนกัน เอ คนที่เจริญพระกรรมฐานนี่ พระพุทธเจ้าเรียกว่าพระนา เริ่มต้นฝึกสมาธิแม้แต่เล็กน้อยท่านเรียกว่าพระ คือ เป็นคนเข้าถึงความดี พระแปลว่าประเสริฐ ท่านเรียกว่าพระโยคาวจร เอายังงี้ก็แล้วกันนะ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทที่รักและพระคุณเจ้าที่เคารพที่กำลังทำความดี อย่างนี้เรียกว่าเป็นปูชนียบุคคลได้แล้ว ตั้งตัวให้ดีนะขอรับ อย่าให้ความดีเสื่อมไป

ทีนี้มาว่ากันถึงว่าทิพยจักขุญาณที่ได้ แล้วมีฌานติดตามอะไรบ้าง ผลที่พลอยได้จากทิพยจักขุญาณนะ บรรดาญาติโยมที่รักและบรรดาพระคุณเจ้าที่เคารพโปรดรับฟังจดไว้ได้ก็ดี ถ้าไม่มีตำรา ถ้ามีหนังสือคู่มือพระกรรมฐานที่แจกไป มีอยู่ไม่ต้องจด เพราะมีอยู่ในนั้นแล้ว คือ 1. ทิพยจักขุญาณ ถ้าได้แล้วเป็นบาท คือสิ่งที่จะพึงได้ต่อมาคือญาณต่างๆ ก็จุตูปปาตญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ อดีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุปันนังสญาณ และยถากัมมุตาญาณ นี่รวมความว่า ถ้าได้ทิพยจักขุญาณอย่างเดียว เราจะได้ญาณอีก 7 อย่างโดยไม่ต้องหาใหม่ คือเป็นผลของทิพยจักขุญาณนั่นเอง แล้วก็บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทที่กำลังนั่งฟัง ลืมบทบัญญัติของพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง เวลานี้กำลังนึกถึงลมหายใจเข้า นึกถึงลมหายใจออก แล้วก็กำลังฟังอาตมาพูดอยู่ตอนนี้นึกหรือเปล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงวางกฎไว้ว่า คนที่เข้าถึงความดีได้ต้อง 1. ไม่เอาจิตไปกังวลกับเรื่องของชาวบ้านชาวเมืองคนอื่น คนอื่นเขาจะยังไงก็ช่าง เราควบคุมของเราเท่านั้นเป็นพอ อย่างนี้ชื่อว่าเข้าถึงสะเก็ดความดีของพระพุทธศาสนา 2. ทรงศีลห้าเอาศีลห้าก็แล้วกัน สามสี่ไม่ต้องพูดกัน สามสี่ก็คือศีลห้า เราจะไม่ละเมิดศีลห้าด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นละเมิดศีลห้า และไม่ยินดีเมื่อเขาละเมิดแล้ว ทำใจได้หรือยัง แล้วก็จะระงับนิวรณ์ห้าประการ จะทรงพรหมวิหารสี่ จะมีจิตเยือกเย็น อารมณ์จิตของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพจะทรงฌานอยู่เสมอ อันนี้จำได้หรือยังขอรับ แล้วก็ทำด้วยนะขอรับ พระคุณเจ้าที่เคารพ ผมน่ะเคารพพระไม่มากนะขอรับ พระที่บวชมาใครจะมียศถาบรรดาศักดิ์ขนาดไหนก็ตาม มีฐานะอันดับไหนก็ตาม ผมไม่ถือเป็นสำคัญ ผมถือมีความสำคัญอย่างเดียว คือผู้ทรงธรรม ทรงอยู่ในความดี ถ้าทรงอยู่ในประการทั้งสี่ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ผมเคารพทุกองค์ แม้แต่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็เหมือนกัน อาตมาก็รับฟังคำพูด แต่คนที่ไม่ทรงอยู่ในคุณธรรมเช่นนี้แล้ว จะเป็นอะไรก็ตาม ไม่ยอมรับนับถือ จะไปแบกยศถาบรรดาศักดิ์มาขู่ข่มกันน่ะ ไม่ยอมรับนับถือแน่ เพราะพบมามากแล้ว คนมียศมากแต่ขาดคุณธรรมจะมีความหมายอะไรสำหรับพระพุทธศาสนา และก็ไม่มีความหมายอะไร สำหรับเหล่าเราบรรดาพุทธบริษัททุกคนพวกเราต้องการคุณธรรม เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เอาเท่านี้พอนะ

ต่อไป ถ้าเราได้ทิพยจักขุญาณแล้ว ไม่ต้องย้อนหลังกันนะ แล้วจุตูปปาตญาณจะมายังไง ความจริงมันของอย่างเดียวกัน บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพ แหม กำลังนั่งฟังกันหูผึ่งหรือ ดีมากขอรับสนใจในธรรม พอจิตถึงจตุตถฌาน ฌานที่ 4 เมื่อเราได้ทิพยจักขุญาณแล้ว คำว่าทิพยจักขุญาณหมายความว่ามีความรู้คล้ายตาทิพย์ พระคุณเจ้าอย่าเอาตาไปมองเห็น เขาเห็นกันด้วยใจ แล้วก็ถึงญาณ 4 นี้ ย่อมมีกำลังเห็นชัดเจนแจ่มใสดีมาก แต่ว่าไม่ดีมากนักนะขอรับ คล้ายๆ กับเดือนขึ้น แต่ว่าไม่เต็มฟ้านัก พอเห็น พอรู้ พอคุยกันได้ตลอดเวลาตลอดเรื่อง จบเรื่อง เมื่อได้ฌาน 4 แล้วทิพยจักขุญาณเห็นสวรรค์ก็ได้ เห็นนรกก็ได้ เห็นพรหมโลกก็ได้ เห็นใครตายไปแล้วก็ได้ เอาคำว่าเห็นนี่เรียกว่าทิพยจักขุญาณ มันเป็นของอย่างเดียวกัน แต่เปลี่ยนชื่อกันเท่านั้น

ทีนี้ มาจุตูปปาตญาณ ก็ใช้ทิพยจักขุญาณนั่นเองไม่ใช่อะไร ใช้ทิพยจักขุญาณนั่นดูคนที่ตายไปแล้วหรือสัตว์ที่ตายไปแล้ว่าไปเกิดที่ไหน หรือว่าดูคนที่มาเกิดนี้ สัตว์ที่มาเกิดนี้มาจากไหน อันนี้ดีไหมขอรับพระคุณเจ้า อย่างนี้ถ้าทำได้เป็นนักเทศน์สบายนะขอรับ ไม่ต้องเกิดตำรา เวลาจะเทศน์น่ะไม่ต้องเปิดตำรา เวลาจะเทศน์น่ะไม่ต้องเปิดตำรานะขอรับว่าตำราอันนั้นว่าอย่างนั้น ตำราอันนี้ว่าอย่างนี้ ไม่ต้องเปิดหรอกขอรับ เมื่อเทศน์ไปแล้วไม่ได้เปิดตำรา เทศน์เสร็จแล้วสงสัยว่าผิดหรือถูก มาเปิดพระไตรปิฎกดู ไม่ผิดเลยขอรับ ยังงี้สบาย ไม่ต้องไปอ่านพระไตรปิฎกให้เมื่อยคอ อย่างกระผมนี่ อ่านพระไตรปิฎกมาสามจบ ใช้เวลาอ่านพระไตรปิฎกจริงๆ ทั้งบันทึกด้วยอะไรด้วยหกปี ก็ยังเอาดีไม่ได้นะขอรับ เอารู้จริงรู้ดีไม่ได้เกาะตำรา ต่อมาเมื่อพบครูบาอาจารย์ท่านแนะนำลองใช้ตามท่าน มีผลมากขอรับ มีผลเยอะ แล้วเบาใจ เอาละเป็นว่าถ้าเราต้องการจะรู้ว่าคนตายหรือสัตว์ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหน แล้วสัตว์และคนที่เกิดมานี้มาจากไหน เป็นอะไรมาก่อน เราสามารถจะรู้ได้ด้วยญาณนี้ โดยวิธีใช้ดูภาพกสิณ เห็นภาพกสิณชัด แล้วอธิษฐานให้ภาพกสิณนั้นหายไปขอภาพอดีตของคนและสัตว์จงปรากฏ หรือขอภาพในปัจจุบันของคนและสัตว์จงปรากฏอย่างนี้ เขาก็เรียกกันว่าจุตูปปาตญาณก็เป็นของไม่ยากนะขอรับ

ทีนี้ มาญาณที่สาม เจโตปริยัติญาณ ญาณนะขอรับ ไม่ใช่ฌาน ญาณที่สามเจโตปริยัติญาณ ญาณอันนี้ รู้วาระน้ำจิตของคน หมายความว่ารู้ใจคนก็แล้วกันขอรับเรื่องรู้ใจคนนี่ก็ไม่ยาก เพราะไอ้คนรู้คน คนรู้สัตว์นี่มันเรื่องเล็กๆ อารมณ์มันเหมือนกัน การรู้อารมณ์ธรรมดาๆ ก็ไม่ใช่เรื่องของญาณ เรื่องของญาณนี่ต้องรู้กิเลสนะขอรับ รู้ว่าคนนี้เขารักใคร เขาทะเลาะกับใคร เขาจะไปกู้เงินใคร ใครเขาจะไปทวงหนี้ใคร อะไรนี่ อันนี้ไม่มีประโยชน์ขอรับ พวกที่ได้ญาณชั้นสูงแล้วเขาไม่ใช้ มันเป็นของเด็กเล่น ดีไม่ดีก็มาอวดดีกัน อีตรงนี้มีทรัพย์ ต้นไม้ต้นนี้มีเทวดา ตรงนี้มีผีดิบอยู่ เรื่องนี้มันเรื่องเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องเด็กอมมือ คนที่ได้ญาณชั้นสูงแล้วเขาไม่ใช้กัน เจโตปริยัติญาณ พระพุทธเจ้าสอนไว้ คือ 1. ในขั้นมีไว้ให้เปลื้องความสงสัยว่ากิเลสมีจริงไหม 2. รู้จิตของตนเองว่า เวลานี้ กิเลสอะไรมันเข้าสิงอยู่ อะไรเข้ามาทับอยู่ แล้วเราจะแก้อารมณ์ของกิเลสนั้นด้วยประการใด นี่ท่านมีไว้ให้ดูใจตนเองนะ ใจของชาวบ้านชาวเมืองจะเป็นยังไงก็ช่างเขา อย่าไปยุ่ง ยกเว้นบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่เราจะต้องสงเคราะห์จึงค่อยรู้เขา แต่เวลาอยากจะรู้ของเขาก็รู้เถอะ รึนิ่งๆ ไว้ อย่าทำปากบอนไป ถ้าเขายังไม่ปรารถนาจะรับฟังก็อย่าพูด เขาไม่เลื่อมใสไม่ศรัทธาจงอย่าพูด อย่าเป็นขี้ข้าของชาวบ้านอย่าเอาความรู้ของตนที่มีอยู่ไปเป็นเครื่องมือเป็นลูกจ้างชาวบ้าน ใช้ชาวบ้านชมว่าดี คำชมของชาวบ้านไม่มีความหมาย ถ้าเราเลวเสียอย่างเดียว เขาจะชมอย่างไรเราก็ดีไม่ได้ ถ้าเราดีเสียอย่างเดียว เขาจะนินทาว่าร้ายอย่างไร เราก็เลวไม่ได้เหมือนกันไม่มีความสำคัญท่านที่จะชมเราควรจะดีใจ นั่นก็คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าพระอริยสาวกทั้งหลาย ถ้าหากว่าท่านพวกนี้ชมแล้วก็ควรดีใจ

ทีนี้ มาว่ากันถึงเจโตปริยญาณ เจโตปริยญาณนี้ เราจะได้มาจากไหน ก็มีทิพยจักขุญาณนั่นเอง บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท และพระคุณเจ้าที่รัก มาจากทิพยจักขุญาณนั่นแหละ เอาทิพยจักขุญาณนั่นเองดูจิตของตน ดูใจนะ สีของใจนั้นความจริงท่านแบ่งออกเป็น 6 สีด้วยกัน แต่ผมจะไม่นำมาพูด พูดแล้วมันก็ไร้ประโยชน์ เอากันแค่สามสี คือ 1. ถ้าจิตมีความเดือดร้อน อารมณ์ของจิตจะดำ ดูใจเรานะ 2. ถ้าจิตมีความรื่นเริง มีความยินดี อารมณ์ของจิตจะแดง สีของอารมณ์น่ะจะแดง ไม่ใช่มีใครเขาเอาสีไปป้ายไว้นา 3. ถ้าจิตมีความสุขมีความว่างเป็นอุเบกขา จิตจะมีสีใสเป็นแก้วใส จิตที่มีสีใสเป็นแก้วใสนี่ก็เป็นจิตของญาณ 4 เข้าใจไหม นี่ไม่ยาก ดูจิตของเรานะ พยายามหัดดูจิตของเรา จิตของชาวบ้านเป็นยังไงก็ช่าง ทีนี้อันดับแรกขั้นต้นๆ ขั้นประถม จะรู้สึกของจิตพยายามฝึกดูสีของจิต ว่าตอนเช้าวันนี้จิตของเราดำหรือแดง หรือว่าในตอนกลางวัน ถ้านึกขึ้นมาได้ก็ดูเสียตลอดวัน เรามีจังหวะนิดหนึ่ง มันเสียเวลาไม่มากนี่ ใช้เวลาเพียงครึ่งวินาทีเราก็สามารถรู้จิตของเราได้ว่าจิตของเราสีแดงหรือสีดำหรือสีใส ถ้าเราเห็นว่ามันมีสีอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก็ถือว่า นี่เลวแล้ว นี่เราเป็นคนเลวแล้วนะ ถ้าจิตมีสีจะเป็นสีแดง เพราะความยินดีด้วยอามิส หรืออารมณ์ใดๆ ก็ตาม ใช้ไม่ได้ จะเป็นสีดำหรือสีมัวๆ ก็ตามใช้ไม่ได้ เลวนะ จึงให้ดีนะพระคุณเจ้าที่รัก แหมผมน่ะเคารพพระคุณเจ้าเหลือเกินนะขอรับ ที่สนใจในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดว่าเป็นสาวกแล้วครับอย่างนี้น่าเลื่อมใส น่าไหว้น่าบูชา ไอ้ชนิดที่บวชเข้ามาแล้วเทศน์สวดมนต์จนรวยหลอกลวงชาวบ้านหากินอย่างนี้ผมไม่เคารพนะขอรับ ใครจะมียศถาบรรดาศักดิ์เท่าไรก็ตาม ไม่มีความสำคัญสำหรับผม ผมเป็นคนเน่าแล้ว ถือป่าเป็นวัด ชอบใจป่า ป่ามีความสงัด นี่เข้ามาอยู่บ้านเมืองได้นิดหน่อย จิตใจมันก็อยากจะเข้าป่าตามเดิม ถ้าบ้านเมืองมันเดือดร้อนเมื่อไร พระรุกรานกันมากเมื่อไรผมก็เข้าป่าเมื่อนั้น ไม่อยากอยู่ขอรับใกล้คนรำคาญ แต่เวลานี้มีคนดีมากก็จะอยู่ต่อไปก่อน ถ้าคนดีน้อยลงไป มีคนเคารพเลื่อมใสในพระศาสนาน้อยก็เลิกกัน

เอ้า ทีนี้มาว่ากันถึงจิต เรารู้แล้วว่าจิตของเราเป็นยังไงนะ สีอะไรก็ตาม มันเกิดขึ้นเราก็แก้ไข ทีนี้ต่อมาเมื่อเราเห็นจิตของเราชัดแล้ว นี่ว่ากันถึงเจโตปริยัติญาณนะเราก็มารู้อารมณ์ของจิตเสียอีก อาการของจิต เนื้อแท้ของจิตว่าจิตนี่มันเป็นดวงๆ อย่างชนิดที่พวกอภิธรรมเขาเรียนกันหรือเปล่า ที่พูดนี่ไม่ใช่ไปนินทาว่าร้ายชาวอภิธรรมนะ พวกอภิธรรมที่เขาสอนเป็นดวงๆ น่ะเขาสอนอาการของจิต ทำภาพให้ปรากฏเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจง่าย อย่าไปนินทาว่าร้ายกัน เขาทำถูกแล้ว ทีนี้พวกเรานักปฏิบัติได้เจโตปริยัติญาณแล้ว คือได้ทิพยจักขุญาณแล้วก็มาได้เจโตปริยัติญาณ ทีนี้เมื่อได้แล้วเราก็มาดูจิตจริงๆ ซิ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า คนเราถ้าจะไปเกิดที่ไหน ไอ้จิตตัวนี้แหละย่อมไปถือปฏิสนธิ ย่อมไปเกิดที่นั่นก็ไปสิงอยู่ในกาย ถ้ามาเกิดในมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานก็เข้ากายเนื้อ จิตเข้าไปสิงอยู่ แล้วจิตตัวนี้มีสภาพเป็นดวงหรือเป็นอะไร เอามาฟังกันดูพิจารณาดูนะขอรับ ท่านได้ญาณแล้วนี่ นี่ผมพูดนี่ผมเข้าใจว่าพระคุณเจ้าได้แล้วนะขอรับบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทที่สนใจจริงๆ ก็ได้แล้ว ผมถือว่าพระคุณเจ้าเป็นคนดี ญาติโยมพุทธบริษัทเป็นคนจริงก็ต้องทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หลายพุธแล้วนี่ขอรับมันทำได้แล้วนี่ สำหรับคนดีคนจริงทำได้แล้ว ที่คนกำลังจะดีกำลังจะจริงก็ทำเกือบได้แล้ว ผมก็นับถือเหมือนกันขอรับ

ที่นี้มาว่ากันถึงสภาวะของจิตจริงๆ ว่ามันเป็นดวงหรือเปล่า มองกันดูให้ดีมันไม่ใช่ดวงนะขอรับ มันเป็นกายซ้อนกาย ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่าเห็นกายในกาย เห็นกายในกายนั้น ในสภาพของสุขวิปัสสโกเห็นชิ้นเนื้อ เห็นอาการของกายแต่ว่าในสภาพของนักวิชชาสามแล้ว เห็นกายทิพย์ที่ซ้อนกายอยู่ที่เข้ามาสิงในกาย แล้วไอ้กายภายในนี่มันจะบอกชัดว่า เวลาเราตายในระหว่างนี้จะเป็นเทวดาหรือเป็นพรหมหรือเป็นสัตว์นรกเป็นเปรตอสุรกายเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเป็นมนุษย์ เพราะว่าสภาพจิตที่มีอยู่ในนั้นมันเป็นภาพอย่างนั้นตรงๆ นะขอรับ ถ้าเป็นภาพเทวดาหรือพรหมมันก็จะทรงเป็นกายทิพย์แพรวพราวมีเครื่องประดับเต็มที่ เพราะว่าคนเราจะไปเป็นเทวดา เป็นพรหมนั้น ก่อนตายมันต้องเป็นไปก่อน ถ้าจะเป็นสัตว์นรกเป็นเปรตอสุรกายเป็นมนุษย์ก็เหมือนกัน มันจะบอกชัด นี่เราจะรู้เลยทีเดียวว่าจิตที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวถึงนี่ไม่ใช่ดวงไม่มีสภาพลอยขึ้น มันมีสภาพบุคคลคือเป็นตัวเป็นตนโดยเฉพาะ

เอาละ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท เหลือเวลาอีก 2 นาที ก็หมดเวลาเสียแล้วนี่ สำหรับวันนี้ก็ต้องลาบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ก่อนจะลาก็ขออนุโมทนาเสียนิดหนึ่ง คือว่าจ่ายนายสิบตำรวจโท พัว แม่เยื้อน ชระเอม เมื่อวันเข้าพรรษาได้นำจตุปัจจัยมาถวาย 300 บาท แม่ม่วย สีหะวารี ตลาดสิงห์บุรี นำมาถวาย 50 บาท แม่กิมกี่ วงศ์กระจ่าง ตลาดสิงห์บุรีนำมาถวาย 50 เพื่อเป็นค่าใช้สอยสำหรับใช้สอยส่วนตัว ในขณะนี้อาตมากำลังสร้างพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ห้ามสมุทร พร้อมด้วยวิหาร อาตมาขอโอนเงินจำนวนนี้เข้าสร้างพระพุทธรูปหมด ขอโยมทั้งสี่จงโมทนา

นี่ก็หมดเวลาแล้วนี่นะ ก็ขอลาบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ก่อนจะจากกันก็ขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆะรัตนะ ทั้งสามประการจงดลบันดาลให้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพทุกท่านที่กำลังรับฟังจงประสบแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล หากประสงค์สิ่งใดก็ขอให้ได้สิ่งนั้นทุกประการเถิด


:idea:
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 47

โพสต์

วิชาสาม(4)
(พระราชพรหมยาน)


สวัสดีครับ พระคุณเจ้าที่เคารพและบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทที่รัก เมื่อวันพุธก่อนได้พูดเรื่องพิพยจักขุญาณมาถึงเจโตปริยัติญาณยังไม่ทันจบ เวลาก็หมดลงเสียก่อน ดูเหมือนว่าจะเลยเวลาของสถานีไปเล็กน้อยด้วยซ้ำ เพราะว่าพูดเต็มเวลา สถานีต้องเปิดเพลงหน้าเพลงหลังก็เลยน่ากลัวไม่มีโอกาสจะเปิด เพราะที่พูดก็ไม่ได้มาพูดเอง บันทึกเสียงส่งมาอันนี้ไม่ปิดไม่บังใคร บางท่านจะคิดว่า เอ ก็ไม่ได้มาพูดเองนี่ทำไมจะต้องมาบอกชาวบ้านชาวเมืองเขาด้วย ก็เพราะว่าเขาจะได้รู้ เพราะอะไร เพราะว่าบางทีใครเขาทำบุญสุนทร์ทานมาโมทนาไม่เข้าขั้น ไม่เป็นไปตามลำดับ เพราะเทปที่บันทึกไว้ถือว่าบันทึกตุนเข้าไว้ จนกว่าจะหาจังหวะว่างได้ก็เลยไปนาน อย่างเรื่องของโยมพัวนี่ก็เหมือนกัน ตั้งแต่วันเข้าพรรษา นี่ก็เกือบออกพรรษาแล้ว พึ่งจะมาโมทนากัน

เมื่อวันพุธที่แล้วพูดถึงเจโตปริยัติญาณ เห็นอัตภาพร่างกายของตัว ที่นี้ในสภาพการเห็นนะขอรับ พระคุณเจ้าที่เคารพ การเห็นนี่ไม่สมอกันนะขอรับ พวกที่ใช้ฌานโลกีย์นี่ ถ้าจะเห็นอย่างดีเท่าไรก็ตาม ก็เป็นสภาพมัวๆ สลัวๆ เท่านั้น เอาเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนแจ่มใสไม่ได้ แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราใช้อารมณ์แค่ฌาน 4 ฌาน4 นี่ก็ฌานหนักนะขอรับ เป็นฌานมาตรฐาน พระพุทธเจ้าทุกพระองค์หรือพระอรหันต์ทุกองค์ที่จะนิพพาน ถ้าหากท่านได้ฌานตั้งแต่วิชชาสามขึ้นไป ท่านใช้ฌาน 4 เป็นบรรทัดฐานในการเข้านิพพาน เว้นไว้แต่สุขวิปัสสโกอย่างเดียวนะขอรับไม่ทราบว่าท่านใช้อะไร แต่สำหรับสุขปัสสโกที่ได้ถึงฌาน 4 ท่านก็ใช้ฌาน 4 เหมือนกัน แล้วก็เข้านิพพาน นี่เป็นฌานหลัก แต่ฌานที่เราได้กันนี่เป็นฌานโลกีย์ ฌานโลกีย์นี้มีสภาพเสื่อม และมีอุปาทานเข้ากันมาก ทีนี้เวลาจะดูอะไรจะรู้อะไรจริงๆ ต้องเข้าฌานให้จิตใจแจ่มใสจริงๆ ดูสภาพจิตของเราให้เป็นแก้วจริงๆ ให้เป็นแก้วใสมันมัวนิดหนึ่งนะ ถ้ามันมัวไปนิดหนึ่ง หรือสภาพมันดำมันแดงไปนิดหนึ่งจงอย่าใช้ อารมณ์จิตนั้นพยากรณ์ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรืออยากรู้ส่วนใดส่วนหนึ่ง ถ้าไปรู้เข้าไปพยากรณ์เข้ามันจะผิดจากความเป็นจริง เพราะนั่นกิเลสเข้ามาบังจิตเสียแล้ว ที่เรียกกันว่านิวรณ์ 5 ประการ ในเมื่ออารมณ์ของจิตเป็นอย่างนั้นแล้วก็หันไปดูนิวรณ์ 5 ประการ ว่าอะไรหนอที่เข้ามาสิงใจเราอยู่ใน 5 ข้อ นั่นแหละขอรับ นี่แหละได้ทิพยจักขุญาณเป็นดีอย่างนี้นะ มันดีอย่างนี้ละขอรับรู้จิตของตัวบรรลุมรรคผลได้ง่าย การฝึกวิชชาสามนี่บรรลุมรรคผลได้ง่ายนะขอรับ ไม่ยาก พระพุทธเจ้าจึงทรงยืนยันว่าถ้ามีบารมีแก่กล้าละก็จะได้มรรคผล กล่าวคือถึงพระนิพพานเป็นอรหันต์ได้ภายใน 7 วัน ถ้ามีบารมีอย่างกลาง หมายถึงว่าขี้เกียจนิดหน่อย ขี้เกียจไม่มากก็จะได้สำเร็จอรหันต์ภายใน 7 เดือน ถ้าขี้เกียจมากไปนิด หมายความว่าถ้ามีบารมีอย่างต่ำไอ้คำว่าบารมีนี่นะตัวขยันตัวขี้เกียจนั่นเอง ก็มีกำลังใจเต็มหรือไม่เต็ม มีกำลังใจเข้มแข็งหรือไม่ ที่มีกำลังใจเข้มแข็งก็คือคนขยัน คนที่มีกำลังใจอ่อนไปหน่อยก็คือคนขี้เกียจ ว่าภาษาไทยกันมันฟังชัด ม่ายงั้นแปลคำว่าบารมีๆ นี่นึกว่าหาได้ยาก ไม่ใช่ มันเป็นความขยันขี้เกียจตัดสินใจตรงหรือไม่ตรง ทำถูกหรือไม่ถูก แล้วทำเฉพาะความดีหรือเปล่า ทำพอเหมาะพอดีหรือไม่ ถ้าทำเกินพอดีก็โง่ ถ้าหากว่าทำไม่ถึงดีก็โง่ ต้องเอากันแค่พอดี ได้ตัวโง่ก็คือตัวอวิชชา คำว่าอวิชชานี้ไม่ใช่แปลว่าไม่รู้ รู้เหมือนกันแต่รู้ไม่ค่อยจะตรงรู้ไม่ค่อยหมด รู้ไม่ครบไม่ถ้วน

เอาละ ว่ากันต่อไปถึงทิพยจักขุญาณ นี่ถ้าหากว่าจะดูกันให้แจ่มใสจริงๆ รู้กันให้แจ่มใสจริงๆ ก็ต้องทำจิตของเราเข้าสู่อารมณ์วิปัสสนาญาณ แล้วอารมณ์วิปัสสนาญาณนี้ ต้องว่ากันให้ตรงๆ จริงนะ อย่าปัสฯ ส่งเดช ถ้าปัสฯ ส่งเดชไม่มีผล ถ้าเราได้ทิพยจักขุญาณเสียแล้ว การปัสฯ ส่งเดชย่อมไม่มีผล นี่สำหรับคนดีนะ แต่คนที่เหลิงแล้วก็ใช้อะไรไม่ได้เหมือนกัน บางทีพอได้ทิพยจักขุญาณแล้วก็เหลิง นึกว่าตัวเป็นผู้วิเศษ ความจริงยังไม่พ้นนรก ถ้าเหลิงเสียหน่อยเดียวฌานโลกีย์มันก็จะเสื่อม ทิพยจักขุญาณมันก็จะสูญทีนี้ก็เหลือแต่อุปาทาน พวกเหลือแต่อุปาทานหรือได้ทิพยจักขุญาณใหม่ๆ จะมีอุปาทานกันมาก จะพูดยกตัวอย่างให้ฟัง เช่นไปเห็นรูปพระนเรศ หรือพระพิฆเณศวร์สมัยพวกพราหมณ์เขาสมมติขึ้นเป็นเทวดาหัวช้าง ประวัติเป็นมายังไงจะไม่นำมาเล่าให้ฟัง เพราะเปลืองเวลาก็เลยนั่งไปแล้วนั่งหลับตาใช้ทิพยจักขุญาณเป็นบาท เห็นเทวดาองค์นี้หัวเป็นช้าง นี่ยังงี้ก็มี เห็นเทวดาไม่ใส่เสื้อเสียบ้างก็มี อะไรอย่างนี้เป็นต้น เห็นพระจุฬามุนีเป็นอิฐเป็นปูนหรือเป็นทองคำ อย่างนี้ยังใช้ไม่ได้นะ เขาไม่ใช้กันเลย เป็นอารมณ์จิตที่เลวมากเรียกว่าเลวจนใช้ไม่ได้ ถ้าจะเป็นการตรวจคะแนนในสนามหลวง จะให้สักกี่ร้อยศูนย์ก็ยังไม่พอกับความเลว ทีนี้ความจริงมันก็ดีบ้างแล้วเหมือนกัน แต่ดีไม่ถึงดี ถ้าไปเทียบกับระบบของความดีเข้าก็เลวมาก เพราะฟันเฝือเห็นไม่ตรงกับความเป็นจริง ถ้าหากว่าเห็นได้ขนาดนี้ละก็จงอย่าคิดว่ามันดี แต่การเห็นขนาดนี้ก็รู้ของผิวๆ ได้เหมือนกัน คือรู้ว่าที่นี้มีผีไหม ที่นี่มีเทวดาไหม ทีนี่มีอะไรสำคัญไหม ของต่ำๆ อย่างนี้รู้ได้ แต่บางครั้งก็รู้เฝือเหมือนกัน รู้ผิดเพราะอุปาทานเห็น อุปาทานนี้ก็ได้แก่ความยึดมั่น แปลง่ายๆ ว่าความชั่วของจิตนั่นเองไม่ต้องแปลตามตัวตีความหมายตามภาษาไทย เรียกว่าความชั่วของจิต ยึดถืออารมณ์หมายความว่ายึดถือสัญญาเดิมความจำไว้มากเกินไปไม่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา อย่างนี้ยังชั่วมาก จิต สำหรับนักปฏิบัติ พระคุณเจ้าที่เคารพอย่าทำตามนั้นนะขอรับ แม้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะอะไร นักเจริญพระกรรมฐานจะเป็นมหาสติปัฏฐานสูตรหรืออะไรก็ตาม พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าพระคือพระโยคาวจร ชาวบ้านเขาก็เพ่งไปในแง่ของความดี เพราะถือว่าเป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ แต่ถ้าจิตของเราบริสุทธิ์ไม่ดีพอแล้ว เอาของเลอะเทอะไปมอบหมายให้แก่ชาวบ้าน เราพูดอะไรกับเขาเขายอมรับฟังเขายอมเชื่อ ถ้ามันไม่ตรงกับความเป็นจริงแล้ว เราก็เป็นบาป ปาโป แปลว่าความชั่วจิตเราชั่วแล้วเราก็มอบเมรุประเคนขาด คือยกเอาชั่วให้เป็นสมบัติของคนอื่นอีก อันนี้ไม่ดีนะขอรับ พระคุณเจ้าและบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทจงระมัดระวังให้มากอย่าให้เป็นอย่างงั้น ถ้าจิตมันเป็นอย่างนี้ อยู่ พยายามเข้าฌาน 4 ให้มาก ทรงฌาน 4 ให้มาก เมื่อถอยหลังออกมาจากฌาน 4 แล้ว ก็เข้าเจริญวิปัสสนาญาณ ชำระจิตให้ผ่องใส เมื่อจิตมันจะเฝือไปก็เขาฌาน 4 ใหม่สลับกันไปสลับกันอย่างนี้นะขอรับ จนกว่าสภาพจิตจะแจ่มใสเมื่อจิตแจ่มใสดีแล้วก็คุมสภาวะไว้ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ อย่ายุ่งกับเรื่องของชาวบ้าน ระงับนิวรณ์ 5 ประการอย่าให้กวนใจ จิตทรงพรหมวิหาร 4 เข้าไว้ อย่างนี้ไม่ช้านานเท่าไรก็จะถึงความดี

ทีนี้ว่ากันต่อไป คราวที่แล้วว่ากันถึงจิตของตัว สภาพของตัว พระคุณเจ้าคงยังจำได้นะขอรับ แหมผมเห็นหน้าพระคุณเจ้าที่กำลังรับฟังรู้สึกจิตใจมันชุ่มชื่นเหลือเกินบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็เหมือนกัน บางคนก็นั่งบางคนก็นอนฟัง แม้บางคนก็ยังถือเครื่องมือทำงาน ลืมวาง กำลังอยู่อย่างงี้ผมชื่นใจมาก ไม่ใช่ชื่นใจเพราะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทหรือพระคุณเจ้าที่เคารพพอใจในเสียงของผม ผมชื่นใจเพราะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและบรรดาพระคุณเจ้าที่เคารพพอใจในธรรมของพระพุทธเจ้านะขอรับ เวลานี้เรานำธรรมของพระพุทธเจ้ามาแจกกัน มาบอกกันสำหรับระหว่างพี่กับน้อง เราเป็นพี่น้องกันมา มีพระพุทธเจ้าเป็นพ่อเหมือนกัน พ่อคนเดียวกัน พวกเราเป็นศากยบุตร พุทธชิโนรส ปรากฏว่าเป็นลูกของพระพุทธเจ้า แหมผมรักเหลือเกิน พี่น้องของผมน่ารักมาก

ว่ากันต่อไป เมื่อวันพุธก่อนพูดว่า ถ้าจิตของเราต้องดูให้แจ่มใส นี่มาสภาพของเรา นี่เจโตปริยญาณนะขอรับ ดูสภาพของจิตมันเป็นยังไง สภาวะจริงๆ มันเป็นคนเป็นคนอีกคนหนึ่ง เรียกว่าคนทิพย์เป็นกายซ้อนกาย กายภายในเห็นกายในกายของพวกทิพยจักขุ ญาณวิชชาสามนะขอรับ ทีนี้เราอยากจะรู้เรื่องราวของคนอื่นบ้าง อยากจะรู้พอเห็นหน้าคนปั๊บ พอได้ยินชื่อปั๊บ คนนั้นคนนี้เขาดีหรือเขาไม่ดีตามเสียงที่ชาวบ้านว่า เราก็จงปลดอารมณ์นั้นเสีย กำหนดเห็นจิตของเขา รู้จิตของเขาเสียก่อนนะขอรับ ไอ้จิตของเรารู้ยาก ถ้ามันรู้จิตของเราเสียจนคล่องแล้วจิตของชาวบ้านก็รู้ไม่ยาก ง่ายกว่าจิตของเรา จิตของคนอื่นนะรู้ง่ายกว่านะขอรับ ดูจิตของเราปั๊บของเราผ่องใส ดูจิตของเขาปั๊บ นึกน้อมอารมณ์ให้เห็นจิตของเขา ถ้าเห็นจิตของเราได้ก็เห็นจิตของเขาได้ เอาจิตของเราเป็นกสิณไปเลย ตอนนี้ไม่ต้องใช้กสิณกันแล้ว ทุกวันใช้จิตเป็นกสิณ ยังงี้ดีครับ ดีมากครับ ถ้าทำแบบนี้ก็เป็นวิญญาณัญจายตนะฌานด้วนนะครับ เป็นอรูปฌานไปในตัวเสร็จ นี้ถ้ารู้จักใช้ในมหาสติปัฏฐานสูตรละกำไรเยอะนะขอรับพระคุณเจ้าที่เคารพ อย่ามัวไปติดตำราอยู่ ตำราควรถือเป็นบรรทัดฐานเฉพาะตำราที่ใช้ได้ แล้วก็เอาตำรานั้นมาฝึก อย่าเกาะตำรามากเกินไปแล้วเราจะพบของจริง ถ้าพระทั้งหมดหรือส่วนใหญ่สนใจในวิชชาสามนะขอรับ อภิญญา ๖ ผมจะไม่พูดเพราะว่า พระพุทธเจ้าทรงห้าม พระพุทธเจ้าทรงห้ามสาวกแสดงปาฎิหาริย์ ใครจะไปเหาะเหินเดินอากาศอวดชาวบ้านเขาเพื่ออะไร ดีไม่ดีก็จะกลายเป็นขี้ข้าชาวบ้าน รับจ้างเหาะ รับจ้างดำน้ำ ดำดิน เดินน้ำ หายตัว เลยไม่ต้องสร้างความดี ดีไม่ดีก็ลงนรกไป ศาสนาขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะเสื่อม ทีนี้มาว่ากันถึงจิตของคนอื่น เห็นจิตของเราแล้วก็เห็นจิตของเขา เห็นจิตของเขาปั๊บ เราก็อยากจะรู้ว่า คนนี้มีกิเลสอะไรเป็นความสำคัญ ราคะหรือว่าโทสะ หรือว่าโมหะ นี่มันก็เป็นของไม่ยาก แล้วก็ไม่ต้องอะไรหรอก ดูสีก็แล้วกัน ดูปั๊บ คนนี้จิตมีสีอะไร สีดำหรือรู้เลยว่าเขามีความทุกข์ สีแดงหรือ รู้เลยว่าเขากำลังมีความผ่องใสดีใจเพราะได้อามิส ถ้าสีไสรึ อ้อจิตนี้เขากำลังมีความสุข ตานี้ก็ล้วงลงไปอีกทีหนึ่งนี่เขามีความทุกข์เพราะอะไร ขอภาพนั้นจงปรากฏ นี่เอาเข้ายังงั้น หันเข้าไปเล่นทิพยจักขุญาณว่าคนนี้มีความทุกข์อะไร ขอภาพนั้นจงปรากฏ ถ้าผัวทะเลาะกับเมียเมียทะเลาะกับผัว ลูกหนี้เป็นทุกข์เพราะเจ้าหนี้มาทวงหนี้ หรือว่าเจ้าหนี้เป็นทุกข์เพราะกลัวลูกหนี้ไม่จ่าย ภาพนั้นก็จะปรากฏแก่จิต คนนั้นหน้าตาเป็นยังไง จะเห็นชัดเหมือนดูภาพยนตร์ ทีนี่ความดีก็เหมือนกัน หรือว่าความผ่องใสของจิตก็เหมือนกัน เพราะมีสภาพอย่างเดียวกัน เวลามันน้อยนะขอรับ อย่าให้พูดมากเลย

ในเมื่อเรารู้จิตเขาอย่างนั้นแล้ว ทีนี้เราอยากรู้ตัวของจิต ดวงจิตเราเห็นแล้ว ทีนี้สภาพของจิต คือกายที่ซ้อนกายของเขาว่า คนนี้หากว่าเขาตายเวลานี้เขาจะไปไหน อันนี้เราก็ดูสภาพของเขาคือกาย ในกายที่มันซ่อนกายอยู่ ถ้าเขาจะไปเกิดเป็นพรหม ภาพพรหมมันก็ปรากฏชัด ถ้าไปเกิดเป็นเทวดา ภาพเทวดามันก็ปรากฏชัด ถ้าจะไปเกิดเป็นมนุษย์ ภาพมนุษย์มันก็ปรากฏชัด ถ้าจะไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ภาพเหล่านั้นมันก็ปรากฏชัด เราก็รู้ได้ทันทีว่าคนนี้ที่เขาชมกันว่าดีน่ะ ดีไม่จริง ไม่มีอะไรดีจริงหรอก ดีแต่ข้างนอก บางทีเสียงดีแต่ใจชั่ว กิริยาท่าทางดีแต่ใจชั่ว ทีนี้บางคนที่เขาตำหนิกันว่าชั่วอย่างพระบางองค์ นักปฏิบัติตนไม่เอาไหน คือไม่ยอมรับแขก ไม่ยอมเอาใจใคร รวมความว่าไม่อยากเป็นขี้ข้าชาวบ้าน ท่านก็วางเฉยไม่ยุ่งกับใครเสีย ชาวบ้านชอบนินทา ไปขอหวยก็ไม่ให้ ไปขอให้ทำน้ำมนต์ก็ไม่ทำ ไปขอเลขขอยันต์อะไรก็ไม่ทำให้สักที อย่างนี้ชาวบ้านไม่ชอบ ชาวบ้านที่มีกิเลสมากไม่ชอบ เมื่อเขามาติฉินนินทาเราก็ดูท่าน ดูท่านว่าท่านเลวตามนนั้นหรือเปล่า บางทีเราจะไปพบพระอรหันต์เข้านะ ดวงจิตของพระอรหันต์เป็นเพชรทั้งดวง เป็นแก้วแล้วก็แพรวพราวเหมือนกับแก้วแกน ไม่มีสี ไม่มีอะไรทั้งหมด แต่ว่าข้างนอกใช้อะไรไม่ได้เลย นี่พระอรหันต์น่ะ ท่านไม่ได้ง้อชาวบ้านนะ ไม่ได้ก้มหัวให้แก่คนชั่ว ไม่ยอมลุอำนาจของจิต ไม่ยอมรับนับถือความชั่วไม่ว่าของใครทั้งหมด อย่าลืมนะว่าพระอรหันต์ไม่ได้ง้อชาวบ้าน ไม่ได้ง้อพระเลวๆ นักบวชเลวๆ นี่ท่านไม่ง้อหรอก เพราะว่าอะไร เพราะว่าท่านสบายของท่านแล้ว ท่านตายเมื่อไรท่านก็มีความสุข นี่เห็นไหม ทีนี้ถ้าคนได้ฌานเราจะรู้ได้ยังไงเราก็เอากำลังฌานของเราเป็นเครื่องวัด ว่าฌานของเราสูงกว่าหรือเสมอเขา เราก็สามารถจะรู้ได้ ถ้าฌานของเราไม่แค่เขาเราก็รู้ของเรา เลยไปนั้นเรารู้ไม่ได้ ทีนี้ ความเป็นพระอริยเจ้าก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เป็นพระอริยเจ้า เราจะรู้เรื่องราวของพระอริยเจ้าไม่ได้เลย จะเอาจิตของเราไปวัดจิตของพระพุทธเจ้า จะดูจิตของพระอริยเจ้าไม่เห็น ไม่เห็นเลย กลายเป็นคนตาบอดไป ข้อนี้บรรดาญาติดยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพควรระมัดระวัง ต้องระมัดระวังให้มากนะขอรับ อย่างพยายามวัดส่งเดชเข้าไป ดีไม่ดีเราจะไหลลงนรกไป อย่าไปวัดรอยเท้ากับพระอริยเจ้า หรือว่าอย่าวัดรอยเท้ากับท่านที่มีคุณธรรมสูงกว่า อย่านะขอรับ อย่าทำอย่านั้น มันเป็นกรรมหนัก จะกลายเป็นสาวกของพระเทวทัตไป ไม่ใช่สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มาว่ากันถึงเจโตปริยญาณแล้วนา

แล้วต่อไปก็ปุพเพนิวาสนุสติญาณ การระลึกชาติได้ อันนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรหรอก ตามตำราท่านมีวิธีทำไว้ แต่ว่ามีวิธีปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งให้เข้าฌาน 4 แล้วก็ถอยหลังมาถึงอุปจารสมาธิ เพ่งภาพกสิณแล้วก็เข้าฌาน 4 ใหม่ แล้วถอยหลังออกมาแล้วก็ให้นึกถึงวันเวลาที่ผ่านมาเมื่อวานนี้ เมื่อวานซืนนี้ เมื่อวันก่อน เมื่อปีก่อนนี้ เมื่อชาติก่อน เป็นอันดับไป แล้วก็จะรู้เองระลึกชาติหนหลังได้ แต่ว่าในแง่ของนักปฏิบัติคือผลที่ปฏิบัติได้กันมาทั่วๆ ไป เมื่อได้ทิพยจักขุญาณแจ่มใส ทรงถึงฌาน 4 แล้ว ไม่ต้องฝึก ปุพเพนิวาสนุสติญาณ การระลึกชาติได้มันปรากฏเอง ก็เป็นตัวทิพยจักขุญาณนั่นเอง นี่ไม่เห็นจะมีอะไร เมื่อเราอยากจะรู้ว่าชาติไหนเราเป็นอะไร มีพ่อชื่ออะไร มีแม่ชื่ออะไร มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และมีฐานะความเป็นอยู่มีความรู้เป็นยังไง เราก็รู้ของเราได้ อันนี้ไม่ยาก รวมความว่าอันนี้ไม่ยากนะขอรับ

เวลานี้ เหลือเวลาอีก 5 นาที ว่าอยากจะพูดให้หมด จะไม่อธิบายมาก อาอตีตังสญาณ เรื่องราวในอดีต เรื่องราวในอดีตนี้หมายความถึงคนอื่นและสถานที่ ว่าความเป็นมาเขายังไง ในชาตินี้และชาติก่อน เรารู้ได้เหมือนกันนะขอรับ ใช้ทิพยจักขุญาณ

แล้วอนาคตัง ความเป็นไปในอนาคต ทั้งส่วนตัวของเรา บุคคลอื่น สัตว์อื่นและสถานที่ เราก็รู้ได้

ปัจจุบันนังสญาณ เวลานี้ใครอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ อยู่ใกล้อยู่ไกล อยู่คนมากหรือคนน้อย มีความสุขหรือค วามทุกข์ เราก็รู้ได้

ยถากัมมุตาญาณ รู้กฎของกรรม ว่าคนเราที่มีความสุขหรือความทุกข์ หรือสัตว์ก็ตาม ในชาติปัจจุบัน มีวาสนาาบารมีมาก วาสนาบารมีน้อย เพราะอาศัยกรรมที่เป็นกุศล หรืออกุศลอะไรในชาติก่อนชาตินี้ให้ผล และคนที่ตายไปแล้วมีความสุขหรือความทุกข์เป็นประการใด เพราะอาศัยกฎของกรรมอะไรให้ผล

นี่เแหละ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทแลพระคุณเจ้าที่เคารพ ญาณต่างๆ ที่เป็นเครื่องของพยจักขุญาณ ได้ทิพยจักขุญาณ ได้ทิพยจักขุญาณอย่างเดียวนะขอรับ โดยพระคุณเจ้าเจริญมาหาสติปัฏฐานสูตรในกายุปัสสนามหาสติปัฏฐานข้อต้น เรียกว่า อานาปานบรรพ แล้วก็สามารถจะมาดัดแปลงให้เป็นวิชชาสามได้ แล้วก็วิชชาสามนี้ ถ้าหากว่าได้แล้วนะครับพระคุณเจ้า มีคุณภาพมากเหลือเกินสามารถทำลายกิเลสได้ดี อีตอนที่เราเจริญวิปัสสนาญาณนี่มีผลมาก คือมีผลเกินคาดเพราะอะไร เพราะถ้าเราสงสัย สมมติว่าเรานั่งเจริญวิปัสสนาญาณไป พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นอนัตตา เอากันอนัตตาเลยนะขอรับ มันไม่มีอาการทรงสภาพ เราก็นึกถึงบ้านเรือน ภูเขาเรือนโรงต่างๆ ว่าจริงไหม เป็นอนัตตา มันมีการสลายตัวไปในที่สุดจริงไหม ที่นี้นึกถึงใครก็ไม่นึกละ นึกถึงเราเอง ว่าเราเองนี้เคยเกิดมาแล้วก็ชาติ ถอยหลังเข้าไป แล้วเมื่อถอยหลังเข้าไปแล้วก็ดูซิว่าแต่ละชาติที่มีพ่อมีแม่ มีลูก มีเมีย มีผัว มีทรัพย์สินเงินทอง มีวาสนาบารมี แล้วสิ่งเหล่านั้นเวลานี้มันมีอยู่กับเราหรือเปล่า มีไหม? ไม่มี เรามาเองตัวก็ไม่มี ตัวเรามาหาเอาชาตินี้ ไอ้ที่มามันเอาอะไรมา เอาตัวจิตมา จิตที่เป็นนามธรรมคือ กายที่เป็นนามธรรมมันมาเข้าสิ่งอยู่ในร่างกายในชาตินี้ แล้วทรัพย์สินทั้งหลายที่เรามีอยู่ในชาติ เราต้องหาใหม่ทั้งหมด สมัยชาติก่อนๆ เราอาจจะเคยเป็นกษัตริย์ เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีก็ได้ หรือบางคนที่ยากจนเข็ญใจเกิดมาเป็นมหาเศรษฐีก็ได้ พวกนี้เขามายังไง ถอยหลังเข้าไปแล้วนี้เราสภาพเดิมทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่พระพุทธเจ้าตรัส ว่ากันเป็นอนัตตาน่ะ เป็นอนัตตาจริงหรือไม่จริงเพียงใด นี่ พิจารณาไปแล้วก็จะแลเห็นความจริง จริงไหมนี่ เราทิ้งร่างกายของเรามานับไม่ถ้วน นี่ พิจารณาไปแล้วก็จะแลเห็นความจริง จริงไหมนี่ เราทิ้งร่างกายของเรามานับไม่ถ้วน เป็นคนเท่าไร สัตว์เท่าไร มีความสุขมีความทุกข์เท่าไร เราเกิดแต่ละชาติเราก็ไม่คิดว่าเราจะตาย เราไม่ได้ทำเพื่อตาย ส่วนใหญ่เราทำเพื่ออยู่ แต่เราเองก็ไม่สามารถจะอยู่ได้ นี่แหละบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท เมื่อเห็นจริงอย่างนี้แล้ว จิตใจก็เลื่อมใสในคำสอน ปฏิบัติเรื่อยไป ในไม่ช้าสังโยชน์ ๓ สังโยชน์ ๕ สังโยชน์ ๑๐ ซึ่งเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้าก็สามารถกำจัดเสียได้

นี่ ถ้าทำได้อย่างนี้นะ วิชชาสามมีคุณสมบัติดีอย่างนี้ ถ้าพระคุณเจ้าและบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทที่รัก ประสงค์จะฝึกก็ฝึกตามนี้เถิด หรือว่าไม่แน่ใจ ฟังแล้วจำไม่ได้ก็มาขอหนังสือคู่มือพระกรรมฐานที่อาตมามีไว้แจก แต่มีไม่มากนัก เหลืออีก 2-3 ร้อยเล่มก็จะหมด ถ้าหมดแล้วจะมีทุนพิมพ์หรือไม่มี ก็ไม่แน่ เวลาที่ยังมีอยู่ก็มารับไป แล้วไปฝึกเอง ถ้าสงสัยอะไรก็ถามกัน ใครเขาอยู่ใกล้ๆ ท่านอาจารย์องค์ใด ท่านอยู่ใกล้ๆ ถ้าหากว่าท่านทำได้แล้วก็ไปหารือกับท่านได้ ความรู้อย่างนี้ไม่ได้มีเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เวลานี้หรือเมื่อก่อนนี้ ในอดีตก็ดี ในปัจจุบันก็ดี ในอนาคตก็ดี มีอยู่เยอะแยะที่ท่านได้กัน

เอาละบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททุกท่านและพระคุณเจ้าที่เคารพ มองดูเวลามันก็หมดไป 25 นาทีแล้ว เจ้าหน้าที่จะได้ใช้เวลาเป็นประโยชน์อีกสักนิดหนึ่ง สำหรับวันนี้อาตมาก็ขออำลาญาติโยมพุทธบริษัท และบรรดาพระคุณเจ้าที่เคารพกลับก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านศาสนิกชนและพระคุณเจ้าที่รับฟังทุกท่าน สวัสดี


:idea:
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 48

โพสต์

พระธรรมเทศนา..สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี

ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากการยึดมั่น
ยึดเขา ยึดเรา ยึดคณะ ยึดพวก
เมื่อใดเกิดความยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้ แม้เพียงสิ่งเดียว
เมื่อนั้นย่อมเกิดความทุกข์

อุเบกขา
ถ้าเราเข้าถึงธรรมะข้ออุเบกขาอย่างถ่องแท้ได้แล้ว. . . . .เราก็มีความสุข
มีความสุขโดยไม่ต้องมีความเสียดาย ไม่มีความเสียใจ ไม่มีความพอใจ ไม่มีความไม่พอใจ
ไม่มีความชอบ ไม่มีความเกลียดชัง ไม่มีความว่าจะต้องทำ และไม่มีความว่าไม่ต้องทำ
นั่นคืออารมณ์แห่งความอุเบกขาที่แท้จริง

มรรคแปด
มรรคในหลักแห่งพระพุทธศาสนาก็คือ มรรคมีองค์แปด องค์แปดนี้สำหรับสามัญปุถุชนก็คือให้อยู่ในสัมมาอาชีวะชอบ คิดชอบ เลี้ยงตนชอบ ปฏิบัติชอบ นี่คือเข้าหลักแห่งมรรค เมื่อปฏิบัติตนชอบย่อมถึงผล ผลอันนี้หมายถึงผลแห่งการมีความสุข เพราะว่าเราปฏิบัติตนดี เรามีสัจจะ เรามีความจริงในการบำเพ็ญตนเพื่อสัมมาอาชีวะชอบ เราไม่มีทุจริตต่อใคร กระแสจิตของเราย่อมไม่มีทุกข์ เพราะว่าเราเป็นมิตรกับทุกคน ย่อมมีมรรคแห่งตน มรรคอันนี้ก็หมายความว่า สัมมาอาชีวะชอบในหลักของการเป็นคนธรรมดา เมื่อมรรคดี...ผลก็ดี มรรคเลว...ผลก็เลวมรรคแปลว่า สิ่งปฏิบัติของมนุษย์เพื่อให้หลุดพ้นจากความชั่วให้ถึงความดี
อยู่ในสัมมาอาชีวะชอบ ในการงานชอบ ในการปฏิบัติวิปัสสนาชอบ ในการอยู่ในศีลในธรรมชอบ
อันนี้ทางหลักของศาสนาเขาก็ถือว่า นี่แหละคือมรรคแห่งการปฏิบัติของคน

มนุษย์
ธรรมชาติสร้างพืชพันธ์ให้พอกินสำหรับมนุษย์ที่เกิดมา มนุษย์จะไม่อดอยาก ถ้ามนุษย์บางเหล่าไม่เก็บ ไม่สะสม ไม่ยึดเกินควร คือถ้ามนุษย์ทุกคนเข้าซึ้งถึงสัจจะแห่งความจริงว่า " เกิดมาไม่มีอะไร ตายไปเอาอะไรไปไม่ได้ และตายไปแล้วไม่สูญ " อาตมาคิดว่า ถ้าเราใช้ธรรมของธรรมะ หรือหลักความจริงนี้ตีแผ่เข้าไปในหมู่ชนชั้นที่มีตัวโลภะครอบงำมากได้แล้วไซร้ โลกมนุษย์นี้ก็คงจะน่าอยู่กว่าปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้โลกมนุษย์ยุ่งเหยิง ศีลธรรมประจำใจมนุษย์เสื่อม เพราะว่ามนุษย์พยายามจับความผิดคนอื่น เพราะว่ามนุษย์ไม่พิจารณาตัวเอง ไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง มนุษย์ทุกวันนี้ถูกวัตถุครอบงำ มนุษย์ทุกวันนี้ไม่สนใจกับ ตน จึงทำให้โลกทุกวันนี้ปั่นป่วน ความสงบในโลกมนุษย์ไม่มี ความร้อนยิ่งทวีคูณขึ้น เพราะฉะนั้นอาตมาจึงฝากเอาไว้ว่า จะทำอย่างไรจึงจะช่วยเหล่ามนุษย์ทั้งหลายให้เดินถูกทางเล่า อันนี้ฝากให้เหล่ามนุษย์ทั้งหลายไปพิจารณากัน

ไม่มีอะไร
มาไม่มีอะไร ไปไม่มีอะไร มีอยู่ก็แต่จิตใจและวิญญาณ ท่านทำดีก็เสวยกรรมดี ทำไม่ดีก็ตกนรกไป ท่านอย่านึกว่าท่านตายแล้วสูญเปล่า ท่านทั้งหลายจะพบกันในโลกวิญญาณอีก หนี้สินที่ท่านสร้างขึ้นในโลกมนุษย์ก็จะชดใช้กันในโลกวิญญาณ ใช้ไม่หมดก็ต้องไปเกิด ไม่อย่างนั้นจะไม่เรียกว่า เวียนว่ายตายเกิด โลกนี้กลมไม่สิ้นภพ สิ้นชาติ โปรดพิจารณาตัวท่านเมื่อไม่มีสิ่งใดปกปิดเถิด

การเกิดเป็นมนุษย์
การเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ ส่วนมากที่มาจากสัตว์เดรัจฉานแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ ด้วยการบำเพ็ญกุศล อารมณ์ของจิต ระหว่างภพชาติที่เป็นสัตว์นั้นๆ เมื่อได้มาเกิดเป็นมนุษย์ในชาติแรกที่เริ่มเป็นมนุษย์นั้น มนุษย์เหล่านี้เป็นมนุษย์ที่ล้วนแต่ติดอยู่ในกามฉันทะ
การเกิดเป็นมนุษย์นั้นเพราะอนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ เมื่อมาเกิดในโลกมนุษย์ก็แบ่งออกเป็น 3 จำพวก คือ
มนุษย์ประเภทที่หนึ่ง เกิดมาแล้วเอาแต่เสพกามและข้องอยู่ในกาม มนุษย์ประเภทนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงของกุศลและของจิตจากพวกสัตว์เดรัจฉานที่พ้นขั้น มาสู่การเป็นมนุษย์
มนุษย์ประเภทที่สอง เกิดมาจากมนุษย์ที่บำเพ็ญ ทำบุญสุนทาน ทำสมาธิ และมาจากเทพพรหมที่หมดอายุขัยแห่งการเสวยทิพยอำนาจ มนุษย์ประเภทนี้ชอบเสพกามแล้วก็สร้างเกียรติเพื่อประดับบารมี
มนุษย์ประเภทที่สาม คือมนุษย์ประเภทเหนือกามเหนือเกียรติ มาจากการเป็นเทพ การเป็นพรหม การเป็นมนุษย์ที่เคยครองอยู่ในเพศนักพรตมาบ้าง บำเพ็ญมาเป็นชาติๆ บ้าง มนุษย์ประเภทนี้มาจากพวกที่เปลี่ยนแปลงจากมนุษย์ทั่วไปสองประเภทแรก มาสู่การเหนือเกียรติ เหนือกาม ก็คือมนุษย์ประเภทนักพรต
เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า อนุสัยเปลี่ยนแปลงตามกฎอนิจจัง พระพุทธเจ้าท่านสอนให้รู้ซึ้งตามทันธรรมะแห่งธรรมชาติของอนัตตา เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า อนุสัยนั้นรับกันเป็นชาติๆ แล้วเปลี่ยนแปลงยกฐานะของอนุสัยขึ้นเป็นลำดับๆ นั้นแล

การทำใจให้สงบ
เมื่อท่านหาเวลาว่างได้ จงพยายามทำจิตให้สงบ เมื่อจิตสงบดีแล้วจะเกิดอำนาจทิพย์ช่วยให้ท่านเป็นผู้มีสมองปลอดโปร่ง มีปัญญาในการดำรงไว้ซึ่งสัมมาอาชีวะ ความสุขจะเกิดแก่ท่าน ทุกสิ่งในโลกนี้ถ้าเราไปยึดก็เกิดทุกข์ ถ้าไม่ยึดคือวางจิตให้นิ่งๆ ตามภาวะกรรมตามแบบที่เรียกว่า วันนี้ตื่นเช้าขึ้นมา ข้าฯยังไม่ตาย ข้าฯจะต้องทำอะไรเพื่อเลี้ยงชีพให้ขันธ์ข้าฯ อยู่ นี่คือสิ่งที่สมองคิด. . . คิดแค่นี้พอ เมื่อถึงเวลาทำงานก็ทำงานไปให้ดีที่สุด กลับจากทำงานมีเวลาว่างก็ควรพักผ่อนสมองด้วยการทำจิตให้สงบนี่คือการบำรุง
ในการทำจิตให้สงบ อำนาจสมาธิช่วยขจัดโรคภัยในตัวได้โดยเฉพาะโรคภัยที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติแห่งฤดูกาล ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง ทำให้เลือดลมในตัวท่านดีช่วยให้ท่านแก่ช้า คือแม้อายุจะมากตามวันเวลา แต่สังขารโดยเฉพาะใบหน้าของท่านจะดูอ่อนกว่าวัย

กฎแห่งกรรม
กฎแห่งกรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ก็เปรียบเสมือนหนึ่งธรรมชาติของการเติบโตของผลไม้ตามฤดูกาล กรรมที่ท่านสร้างมาในอดีตภพ ย่อมนำท่านมาสู่ปัจจุบันภพฉันใดก็ฉันนั้น ทีนี้กรรมเหล่านั้นที่ท่านได้ทำไว้แต่ท่านได้ลืมเสีย เมื่อท่านได้รับผลใดๆ ที่เกิดจากกรรมที่ทำได้ทำไว้ท่านจึงได้สงสัย มนุษย์ที่ยึดว่าทำไมทำดีจึงไม่ได้ดี เป็นเพราะไม่โปร่งในขั้นสมุฏฐานของเหตุและปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่านหว่านพืชชนิดใดลง พืชชนิดนั้นจะขึ้นตามเหล่ากอพืชพันธ์นั้น กรรมใดที่ท่านสร้างมาในภพที่ท่านลืมไปแล้ว แต่กรรมนั้นก็ยังตามเสวยตามภพชนิดต่างๆ อยู่ ซึ่งเปรียบง่ายๆ สมมุติว่า
เมื่อสองปีก่อน (นี่คือวิธีการเกิด-ดับที่ให้ดูง่ายๆ) ท่านได้ฆ่าคนตายในที่แห่งหนึ่งในเมืองบางกอกแล้วท่านหนีจากบางกอกไปอยู่แก่งคอย เรียกว่าท่านไปเกิดภพโน้นทั้งๆ ที่ตัวของท่านคือคนเดิม แต่ไปอยู่ในภพนั้นเมืองนั้น . . . . . .
ในขณะที่ท่านเกิดสำนึกผิดขึ้นมา ท่านอยู่ในเมืองนั้นท่านจะเป็นคนที่ถือศีล ทำบุญ ให้ทาน เป็นมิตรกับชาวบ้านที่อยู่ด้วยกัน ชาวบ้านในภพนั้นก็ยกย่องสรรเสริญท่านว่าเป็นคนดี - มีศีลธรรม น่าเคารพนับถือ แต่กรรมที่ท่านสร้างในบางกอกคือฆ่าคนในระหว่างปีโน้น. . . กรรมอันนั้นย่อมตามมาหาท่านอยู่ ก็คือกฎของบ้านเมือง ตำรวจจะคอยติดตามท่านเปรียบเสมือนหนึ่งการตามของภพของกรรมไปถึงที่นั่น แม้ว่าท่านกำลังถืออุโบสถอยู่ในวัด ถ้าตำรวจหลวงไปพบเข้าก็จะต้องจับท่านทันที คนในละแวกนั้นจะเกิดความไม่พอใจ หรือจะด่าทอตำรวจที่มาจับคนดีที่ถืออุโบสถอยู่ แต่กรรมที่ท่านสร้างที่บางกอกนั้น ชาวบ้านในหมู่ในภพนั้นไม่มีใครรู้ นี่ก็เปรียบเสมือนหนึ่งกรรม
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ให้พิสูจน์ง่ายๆ ของคำว่า กรรม ก็คือกรรมใดที่ท่านสร้างมา ท่านจะต้องเสวยกรรมนั้นในภพใดภพหนึ่ง แต่ทีนี้ท่านเสวยกรรมนั้นในภพนั้นวันนั้น คนในหมู่นั้นในปัจจุบันชาตินั้น หรือตัวท่านเองไม่เข้าใจ จึงทำให้คิดว่า ทำแต่ความดี ทำไมจึงไม่ได้ดี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งละเอียด กฎแห่งกรรมคือกฎแห่งธรรมชาติ ย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ท่านสร้างกรรมดีในปัจจุบันนี้ กรรมอันนั้นอาจจะให้ท่านเสวยในอีกภพหนึ่งก็ได้ เพราะว่ามันเป็นกงล้อแห่งกงเกวียนกำเกวียนที่จะแยกแยะออกมาชาติไหน ชาติอะไร ชาติโน้นชาตินี้เป็นสิ่งยาก เพราะว่ามนุษย์เราแต่ละคนที่เกิดมาในปัจจุบันนี้...ชาตินี้ เป็นภพเป็นชาติที่นับได้เป็นร้อยๆ พันๆ ชาติ เป็นกงเกวียนกำเกวียนที่ทับถมทั้งดีทั้งชั่ว โดยเจ้าตัวเองก็แยกแยะไม่ออก ยกตัวอย่างง่ายๆ เสมือนหนึ่งตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นจิตของท่านมีความคิด ความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา พอตกเย็นท่านมานั่งทบทวน ท่านก็ยังแยกแยะทบทวนไม่ค่อยออกว่า เวลาไหนท่านมีอกุศลอารมณ์ใด เวลาไหนท่านมีโทสจริต เวลาไหนท่านมีโมหะจริต เวลาไหนท่านมีเมตตาจิต เพราะว่าการเคลื่อนไหวของธรรมชาติแห่งจิตวิญญาณนี้เร็วยิ่งกว่าอณูปรมาณูทั้งหลาย เร็วยิ่งกว่าปรอท เพราะฉะนั้นจึงแยกได้เพียงว่าท่านสร้างกรรมใดไว้ ท่านย่อมจะต้องเสวยกรรมนั้นในภพหนึ่ง - ชาติหนึ่งแน่นอน
เพราะฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายที่ประกาศตนเข้ามาเป็นพุทธสาวกเป็นพุทธมามะกะเป็นผู้ที่อยู่ในศาสนา จงเชื่อในเหตุผล อย่าเชื่อในสิ่งงมงาย จงสร้างความดี แล้วท่านจะได้เสวยความดีนั้นไม่ภพใดก็ภพหนึ่ง

ความทุกข์
ทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเพราะมนุษย์นั้นไม่รู้จักการครองตนให้อยู่ในสัมมาอาชีวะ มนุษย์นั้นไม่รู้จักวางตนในการเป็นคน ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ท่านทำตนให้พ้นทุกข์ทางใจ ดับทางจิตนี้ก็เนื่องจากว่า ทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นได้เพราะอุปาทานของจิต จิตท่านยึดสมมุติบัญญัติมาก ท่านก็เป็นทุกข์มาก สิ่งเหล่านี้เกิดจากอุปาทานของจิต เพราะอะไรเล่า ...เพราะว่าชีวิตของคนเรานี้ ถ้าท่านอยู่อย่างไม่กลัวสังคมหนึ่ง. . .อยู่อย่างรักธรรมชาติหนึ่ง อยู่อย่างสันโดษหนึ่ง วันหนึ่งๆ ท่านมีปัจจัยในการเลี้ยงชีพเท่าไร ท่านกินข้าวเพียงกี่มื้อ ถ้าท่านกินด้วยไม่มีอุปาทาน ถือว่าขันธ์นี้เกิดขึ้นได้ และดำรงอยู่เพราะปฏิกูลบำรุง ปฏิกูลให้ขันธ์นี้อยู่เพื่อใช้กรรม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ท่านนุ่งห่มอย่างพอปกปิดกายเพื่อไม่ให้เป็นที่อุจาดตา ไม่จำเป็นที่จะต้องไปตัดเสื้อผ้าราคาแพงๆ ถ้าท่านตัดคน ไม่กลัวสังคม แล้วท่านจะยิ้มรับชะตากรรมของท่านด้วยความภูมิใจว่า ข้าฯ นี้ไม่ต้องติดหนี้ใคร ข้าฯ นี้ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับใคร ข้าฯ นี้อยู่ไปวันหนึ่งๆ เพื่อใช้กรรมของกระแสแห่งการพัวพันมาในอดีตภพที่ส่งข้าฯ ให้มาเกิดเป็นคน
ถ้าท่านดำรงอยู่ในสิ่งเหล่านี้ การเป็นปุถุชนก็ย่อมจะมีทุกข์น้อย ทั้งนี้และทั้งนั้นพระพุทธองค์รู้วาระกระแสจิต คือรู้ว่าทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะความยึดของอุปาทานของจิต ถ้าตัดสมุฏฐานคืออุปาทานนี้เสียได้ ท่านก็ย่อมจะไม่มีทุกข์

แก่นพุทธศาสนา
พุทธะหมายถึงผู้รู้ พุทธศาสนาหมายถึงศาสนาของผู้รู้ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเข้าซึ้งถึงแก่นของพระพุทธศาสนา ก็หมายความว่าต้องรู้ในด้านปฏิบัติ เพราะว่าศาสนาพุทธมีจุดสำคัญก็คือให้ทุกคนเข้าซึ้งถึงแก่นของธรรมชาติ ให้ทุกคนรู้หลักแห่งความจริง รู้กฎของอนัตตา นี่คือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา
ที่นี้ท่านเพียงแต่รู้กฎของศาสนา แต่ไม่ถึงธรรมของศาสนา ก็เปรียบเสมือนหนึ่งท่านเป็นนักศึกษาที่อ่านตำราเป็นร้อย ๆ เล่ม แต่ไม่ได้เอามาทดลองปฏิบัติ หรือนำสิ่งที่ศึกษามาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ การที่ท่านจะเข้าซึ้งถึงศาสนาพุทธอย่างแท้จริง ท่านจะต้องวางตนให้ปฏิบัติตนอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาคือทางสายกลาง ท่านก็จะต้องใช้ตัวเองเข้าไปปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ให้รู้ถึงเหตุและผลนั้นๆ เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ไม่ให้คนเชื่องมงาย แต่ให้เชื่อในสิ่งที่เห็นที่ปฏิบัติได้ ทุกวันนี้มีแต่คนพูดถึงเรื่องศาสนา แต่ไม่มีการเข้าไปทำให้ถึงแก่น

:idea:
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
peerawit
Verified User
โพสต์: 172
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 49

โพสต์

การทำทาน ที่จัดว่าเป็นมหาทานชั้นเลิศ


สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถ
บิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี
ในตระกูลของท่าน ยังให้ทานอยู่บ้างหรือหนอ ฯ
ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในตระกูล
ของข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่ แต่ทานนั้นเป็นของเศร้าหมอง เป็นปลายข้าว มีน้ำ
ผักดองเป็นที่สอง ฯ
พ. ดูกรคฤหบดี คนให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม
แต่ให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ
ไม่ทำความนอบน้อมให้
ไม่ให้ด้วยมือตนเอง
ให้ของที่เหลือ
ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน
ทานนั้นๆ ย่อมบังเกิดผลในตระกูลใดๆ
ในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อม
ไม่น้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมไม่
น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร
ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ส่งจิตไปที่อื่นเสีย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เป็นเพราะผลแห่งกรรมที่ตนกระทำโดยไม่เคารพ ฯ

ดูกรคฤหบดี
บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม
แต่ให้ทานนั้นโดยเคารพ
ทำความนอบน้อมให้
ให้ด้วยมือตนเอง
ให้ของที่ไม่เหลือ
เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน
ทานนั้นๆ บังเกิดผลในตระกูลใดๆ ในตระกูล
นั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อ
บริโภคผ้าอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภค
กามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส
คนใช้ คนทำงาน ก็เชื่อฟังดี เงี่ยหูฟัง ไม่ส่งจิตไปที่อื่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ทั้งนี้เป็นเพราะผลของกรรมที่ตนกระทำโดยเคารพ ฯ
ดูกรคฤหบดี เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ พราหมณ์ผู้นั้น
ได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด
ถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้
ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง
ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพล
เหลือง มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้แม่โคนม
๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐
คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้า
โกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาด
อย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง ให้ผ้า
๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียด จะป่วยกล่าว
ไปไยถึงข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค เครื่องลูบไล้ ที่นอน ไหลไปเหมือน
แม่น้ำ ดูกรคฤหบดี ก็ท่านพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น ผู้อื่นไม่ใช่เวลาม
พราหมณ์ผู้ที่ให้ทานเป็นมหาทานนั้น ดูกรคฤหบดี แต่ท่านไม่ควรเห็นอย่างนี้
สมัยนั้น เราเป็นเวลามพราหมณ์ เราได้ให้ทานนั้นเป็นมหาทาน ก็ในทานนั้น
ไม่มีใครเป็นพระทักขิเณยยบุคคล ใครๆ ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด


ดูกรคฤหบดี
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียว
บริโภค
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีผู้เดียว
บริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจก-*พุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า
รูปเดียวบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค

การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
บริโภค

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ การที่
บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่ม
น้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคล
มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ การที่บุคคลเจริญ
เมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิต
เลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ

ดูกรคฤหบดี
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่ามหาทาน
ที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ... การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูด
ดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้น
จากปาณาติบาต ... และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มี
ผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม ฯ

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v ... 336&Z=8416
ไม่ประมาท
peerawit
Verified User
โพสต์: 172
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 50

โพสต์

โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก
ภิกษุ ท. ! ถ้าสมมติว่า มหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้
มีน้ำท่วมถึงเป็นอันเดียวกันทั้งหมด; บุรุษคนหนึ่ง ทิ้งแอก
(ไม้ไผ่ ?) ซึ่งมีรูเจาะได้เพียงรูเดียว ลงไปในน้ำนั้น; ลม
ตะวันออกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก, ลมตะวันตก
พัดให้ลอยไปทางทิศตะวันออก, ลมทิศเหนือพัดให้ลอยไป
ทางทิศใต้, ลมทิศใต้พัดให้ลอยไปทางทิศเหนือ, อยู่ดังนี้
ในน้ำนั้น มีเต่าตัวหนึ่ง ตาบอด ล่วงไปร้อย ๆ ปี มันจะผุด
ขึ้นมาครั้งหนึ่ง ๆ

รูปภาพ
ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนี้
ว่าอย่างไร : จะเป็นไปได้ไหม ที่เต่าตาบอด ร้อยปีจึงจะผุดขึ้น
สักครั้งหนึ่ง จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียว
ในแอกนั้น ?
“ข้อนี้ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้า ! ที่เต่าตาบอดนั้น ร้อยปี
ผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น”
ภิกษุ ท. ! ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกัน
ที่ใคร ๆ จะพึงได้ความเป็นมนุษย์; ยากที่จะเป็นไปได้
ฉันเดียวกัน ที่ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ จะเกิดขึ้น
ในโลก; ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกัน ที่ธรรมวินัย
อันตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองไปทั่วโลก

ภิกษุ ท. ! แต่ว่า บัดนี้ ความเป็นมนุษย์ ก็ได้แล้ว;
ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะก็บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว;
และธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองไปทั่วโลกแล้ว
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้
พวกเธอพึงกระทำโยคกรรม เพื่อให้รู้ว่า
“นี้ ทุกข์;
นี้ เหตุให้เกิดทุกข์;
นี้ ความดับแห่งทุกข์;
นี้ หนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์” ดังนี้ เถิด.
มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๘/๑๗๔๔.
ไม่ประมาท
peerawit
Verified User
โพสต์: 172
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 51

โพสต์

เหตุที่ต้องมีพระพุทธองค์และธรรมวินัยอยู่ในโลก

ภิกษุ ท.!ถ้าธรรมชาติ ๓ อย่างเหล่านี้ ไม่พึงมีอยู่ในโลกแล้วไซร้; ตถาคตก็ไม่ต้องเกิดขึ้นในโลก เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ, และธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็ไม่ต้องรุ่งเรืองไปในโลก. ธรรมชาติ ๓ อย่างนั้น คืออะไรเล่า ? คือ ชาติ ชรา และ มรณะ (ทุกขอริยสัจ).ภิกษุ ท.!ธรรมชาติ ๓อย่างเหล่านี้แล ถ้าไม่มีอยู่ในโลกแล้วไซร้, ตถาคตก็ไม่ต้องเกิดขึ้นในโลกเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ และธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วก็ไม่ต้องรุ่งเรืองไปในโลก. ภิกษุ ท.! เพราะเหตุใดแล ที่ ธรรมชาติ ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ในโลก, เพราะเหตุนั้น ตถาคตจึงต้องเกิดขึ้นในโลก เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะและ ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วจึงต้องรุ่งเรืองไปในโลก.
ไม่ประมาท
peerawit
Verified User
โพสต์: 172
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 52

โพสต์

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น
ท่านพุทธทาสภิกขุ


ตรัสรู้แล้ว ทรงรำถึงถึงหมู่สัตว์

ทรงตริตรึกเพื่อตรัสรู้


สัตว์โลกนี้ เกิดความเดือดร้อนแล้ว มีผัสสะบังหน้า๑ ย่อมกล่าวซึ่ง
โรค (ความเสียดแทง) นั้นโดยความเป็นตัวเป็นตน

เขาสำคัญสิ่งใด โดยความเป็นประการใด แต่สิ่งนั้นย่อมเป็น (ตามที่เป็นจริง)
โดยประการอื่นจากที่เขาสำคัญนั้น

สัตว์โลกติดข้องอยู่ในภพ ถูกภพบังหน้าแล้ว มีภพโดยความเป็นอย่างอื่น
(จากที่มันเป็นอยู่จริง) จึงได้เพลิดเพลินยิ่งนักในภพนั้น.
เขาเพลิดเพลินยิ่งนักในสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นภัย (ที่เขาไม่รู้จัก) :
เขากลัวต่อสิ่งใดสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์.
พรหมจรรย์นี้ อันบุคคลย่อมประพฤติ ก็เพื่อการละขาดซึ่งภพ.

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด กล่าวความหลุดพ้นจากภพว่ามีได้เพราะภพ
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น มิใช่ผู้หลุดพ้นจากภพ.
ถึงแม้สมณะหรือพรามหณ์เหล่าใด กล่าวความออกไปได้จากภพ ว่ามีได้เพราะ
วิภพ๑ : เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น ก็ยังสลัดภพออกไปไม่ได้.
ก็ทุกข์นี้มีขึ้น เพราะอาศัยซึ่งอุปธิทั้งปวง.
เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทานทั้งปวง ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์จึงไม่มี.
ท่านจงดูโลกนี้เถิด (จะเห็นว่า) สัตว์ทั้งหลายอันอวิชชาหนาแน่นบังหนาแล้ว;
และว่า สัตว์ผู้ยินดีในภพอันเป็นแล้วนั้น ย่อมไม่เป็นผู้หลุดพ้นไปจากภพได้.
ก็ภพทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใด อันเป็นไปในที่หรือในเวลาทั้งปวง๒ เพื่อความมี
แห่งประโยชน์โดยประการทั้งปวง; ภพทั้งหลายทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็น
ทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา.
เมื่อบุคคลเห็นอยู่ซึ่งข้อนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริงอย่างนี้อยู่;
เขาย่อมละภวตัณหาได้ และไม่เพลิดเพลินวิภวตัณหาด้วย.

ความดับเพราะความสำรอกไม่เหลือ (แห่งภพทั้งหลาย) เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา
โดยประการทั้งปวง นั้นคือนิพพาน.
ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับเย็นสนิทแล้ว เพราะไม่มีความยึดมั่น
ภิกษุนั้น เป็นผู้ครอบงำมารได้แล้ว ชนะสงครามแล้ว ก้าวล่วงภพทั้งหลาย
ทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้คงที่ (คือไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป). ดังนี้แล
ไม่ประมาท
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 53

โพสต์

peerawit เขียน:โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก

ภิกษุ ท. ! แต่ว่า บัดนี้ ความเป็นมนุษย์ ก็ได้แล้ว;
ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะก็บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว;
และธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองไปทั่วโลกแล้ว
ได้อ่านพระสูตรนี้แล้ว รู้สึกขนลุกเลยครับ
และรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเกิดมาเจอพระพุทธศาสนา

หากเราน้อมนำเอาหลักธรรมที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามาปฏิบัติ ย่อมทำให้กายและจิตบริสุทธิ์
ความสุขกายสุขใจ ย่อมบังเกิดผลในชาตินี้ดังพุทธะดำรัสนั้นแล

:pray:
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
pak
Verified User
โพสต์: 5659
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 54

โพสต์

"แม้การลงทุนจะมีความเสี่ยง แต่มันก็มีความฝันปะปนด้วยอยู่เสมอ..."
peerawit
Verified User
โพสต์: 172
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 55

โพสต์

การพ้นทุกข์โดยไม่รู้อริยสัจนั้น เป็นไปไม่ได้


ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวว่า "ฉันไม่ต้องทำพื้นฐาน
รากในเบื้องล่างของเรือนดอก แต่ฉันจักทำตัวเรือนข้างบนได้" ดังนี้ :
นี่ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้ฉันใด; ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้ ฉันนั้น
คือข้อที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวว่า.
"ฉันไม่ต้องรู้จักความจริงอันเประเสริฐ คือ ความจริงเรื่องทุกข์,
เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์; เรื่องความดับไม่เหลือของทุกข์,
และเรื่องทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์
นั้นดอก แต่ฉันจักทำความสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ โดยถูกต้อง;" ดังนี้

ภิกษุ ท! และเปรียบเหมือนผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวว่า "ฉันต้องทำฐาน-
รากของเรือนตอนล่างเสียก่อน จึงจักทำตัวเรือนข้างบนได้" ดังนี้ :
นี่เป็นฐานะที่จักมีได้ ฉันใด ; ข้อนี้ก็เป็นฐานะที่จักมีได้ ฉันนั้น
คือข้อที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวว่า
"ฉันครั้นรู้ความจริงอันประเสริฐคือความจริงเรื่องทุกข์, เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์,
เรื่องความดับไม่เหลือของทุกข์,
และเรื่องทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์นั้นแล้ว จึงจักทำ
ความสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ โดยถูกต้อง;" ดังนี้.

ภิกษุ ท.! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียร
เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า "นี้เป็นทุกข์. นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับ
ไม่เหลือของทุกข์, และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์;"
ดังนี้เถิด.


http://truthoflife.fix.gs/index.php?topic=6234.0
ไม่ประมาท
peerawit
Verified User
โพสต์: 172
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 56

โพสต์

สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ


ภิกษุ ท.! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ฝุ่นนิดหนึ่ง
ที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้ กับมหาปฐพีนั้น ข้างไหนจะมากกว่ากัน ?

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดินที่มากกว่า.
ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย.
ฝุ่นนั้น เมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้
เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งกะละภาค
(ส่วนเลี้ยว)".

ภิกษุ ท.! อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น : สัตว์ที่เกิดกลับมาสู่
หมู่มนุษย์ มีน้อย; สัตว์ที่เกิดกลับเป็นอย่างอื่นจากหมู่มนุษย์ มีมากกว่า
โดยแท้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า?
ภิกษุ ท.! ข้อนั้น เพราะความที่สัตว์เหล่านั้น
ไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่. อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า?
สี่อย่าง คือ อริยสัจคือทุกข์
อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุ ท.! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรม๑
อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า " ทุกข์ เป็นอย่างนี้,
เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้",. ดังนี้.

http://truthoflife.fix.gs/index.php?topic=6236.0
ไม่ประมาท
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 57

โพสต์

ธรรมะ หลวงปู่ขาว อนาลโย

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราถือศีลก่อน ศีลทำให้กาย วาจาสงบ แล้วจึงทำสมถภาวนาให้จิตใจสงบ ครั้นภาวนาจนจิตสงบสงัดดีแล้ว ก็ใช้ปัญญาคิดค้นคว้าสกนธ์กายนี้ เรียกว่าทำกัมมัฏฐาน พระพุทธเจ้าว่า ธรรมะไม่อยู่ที่อื่น อยู่ที่สกนธ์กายของทุกคน คนหมดทุกคนก็แม่นธรรมหมดทั้งก้อน แม่นก้อนธรรมหมดทุกคน พระพุทธเจ้าว่าธรรมไม่อยู่ที่อื่น ไม่ต้องไปหาที่อื่น มันอยู่ในสกนธ์กายของตนนี้ ดูจิตใจของตนนี้ให้มันเห็นความจริงของมัน

พระพุทธเจ้าว่า ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา สกนธ์กายของเรานี้มันเป็นทุกข์ ปัญจุปาทานักขันธา อนิจจา สกนธ์กายอันนี้ไม่เที่ยง ปัญจุปาทานักขันธา อนัตตา ก้อนอันนี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ จึงว่าธรรมทั้งหลายก็แม่นก้อนธรรมนี้ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ มันอยากจะเป็นไปอย่างใด ก็เป็นไปตามธรรมชาติของมัน กิริยาของมัน มันไม่ฟังคำเรา ไม่ฟังพวกเรา ยากแก่มันก็แก่ไป อยากเจ็บมันก็เจ็บไป อยากตายมันก็ตายไป สพเพธัมมา อนัตตา ธรรมเหล่านี้ไม่ใช่ของใคร ให้พิจารณาดูให้เห็นเป็นก้อนธรรม มันไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใครทั้งนั้น มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนิจจัง มันเป็นอนัตตา ตกอยู่ในไตรลักษณ์ คนเราได้ก้อนธรรมอันนี้แหละ ได้เป็นรูปเป็นกาย เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย ก็สมมุติทั้งนั้น สมมุติว่าผู้หญิง ว่าผู้ชาย ว่าเด็ก ว่าเฒ่า มันสมมุติซื่อ ๆ ดอก ที่จริงมันแม่นก้อนธรรมทั้งหมด

เราเกิดมาได้อัตตภาพอันดี สมบูรณ์บริบูรณ์ พวกเราได้สมบัติมาดีแล้ว ควรใช้มันเสีย ใช้ไปในทางดี ทางดีคือการทำบุญให้ทาน รักษาศีลภาวนา ใช้มันเสียเมื่อมันยังสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่ อย่าไปนอนใจเมื่อวันคืนล่วงไป ๆ พระพุทธเจ้าว่า วันคืนล่วงไป ๆ มิใช่จะล่วงไปแต่วันคืนเดือนปี ชีวิตความเป็นอยู่ของเราก็ล่วงไป ๆ ทุกขณะลมหายใจเข้าออก ไม่ควรนอนใจ ได้มาดีแล้ว อัตตภาพอันนี้ ไม่เป็นผู้หนวกบอดใบ้บ้าเสียจริต สมบัติอันนี้คือมนุษย์สมบัติ มนุษย์ เราเป็นมนุษย์หรือเป็นอะไร คนเรอะ พระพุทธเจ้าว่า สิ่งอันประเสริฐก็ได้แก่คน บาปและบุญก็เรียก เราต้องเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ หิริ ความอายต่อความชั่ว โอตัปปะ ความสะดุ้งต่อผลของมัน ความชั่วมันจะให้ผลเราในคราวหลัง เมื่อเราเป็นมนุษย์ เราไม่ควรนอนใจ อย่าให้กาลกินเรา ให้เรากินกาล ให้เร่งทำคุณงามความดี

เวลาล่วงไป ชีวิตของเราก็ล่วงไป ล่วงไปหาความตาย มนุษย์เป็นสัตว์อันสูงสุด อันนี้เป็นเพราะเราได้สมบัติปันดีมา ปุพเพจะกตะปุญญตา บุญกุศลคุณงามความดีเราได้สร้างมาหลายภพหลายชาติแล้ว เราอย่าไปเข้าใจว่า เราเกิดมาชาติเดียวนี้ ตั้งแต่เราเทียวตายเทียวเกิดมานี่ นับกัปป์นับกัลป์อนันตชาติไม่ได้ แล้วจะว่าเหมือนกันได้อย่างไรล่ะ เมื่อเรามาเกิดก็มีแต่วิญญาณเท่านั้น พอมาปฏิสนธิ ก็เอาเลือดเอาเนื้อพ่อแม่มาแบ่งให้ ได้อัตตภาพออกมา แม้กระนั้นก็ไม่มีสัตว์มาเกิด ต้องอาศัยจุติวิญญาณ เราต้องสร้างเอาคุณงามความดี

พวกฆราวาสก็คือตั้งใจรับศีลห้า ศีลแปดในวันเจ็ดค่ำ แปดค่ำ สิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ เดือนหนึ่งมีสี่ครั้ง อย่าให้ขาด ทำสมาธิภาวนา ให้มีสติ ระวังกายของตนให้เป็นสุจริต วาจาเป็นสุจริต ใจเป็นสุจริต เท่านี้แหละ เอาย่อ ๆ มีสติอันเดียว ละบาปทั้งหลาย ความชั่วทั้งหลาย ละด้วยกาย วาจา ด้วยใจ ทำบุญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท กระทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มีสติรักษากาย วาจา ใจ ศีลห้าถ้าใครละเมิดก็เป็นบาป ครั้นละเว้นโทษห้าอย่างนี้ นั่นแหละเป็นศีล ศีลคือใจ บาปก็คือใจ ศีลอยู่ในใจ บาปก็อยู่ที่ใจเหมือนกันนั่นแหละ เรื่องทำบุญทำกุศล ให้ทาน รักษาศีล ภาวนาอยู่แต่ใจทั้งนั้น อะไรโม๊ดอยู่กับใจ สงสัยก็พิจารณาดวงใจ ทำบาปห้าอย่างนี้แล้ว ศีลไม่มี เป็นคนไม่มีศีล คนมันขอบทำแต่บาป ศีลไม่ชอบทำ อยากทำแต่บาป ท่านเปรียบไว้ว่า คนไปสวรรค์เท่ากับเขาวัว คนไปนรกเท่าขนวัว วัวมีสองเขา แต่ขนมันนับไม่ถ้วน


:D
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 58

โพสต์

อุบายปราบความง่วง

หลวงปู่ขาว อนาลโย

วัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี




"วิธีการที่จะอดนอนผ่อนอาหารนั้นทำอย่างไร?"

หลวงปู่ก็บอกว่า

"ต้องตั้งสัตย์ไว้ ตั้งสัจจะ ความจริงใจมั่นลงไปเสมอ ไม่หวั่นไหวในชีวิตสังขาร จะเป็นจะตายก็ไม่ว่า ตั้งสัตย์ไว้ไตรมาส ๓ เดือนนี้จะไม่นอน เอา ๓ อิริยาบถ คือ เดิน ยืน นั่ง เท่านั้น"

ทีนี้ก็ถามหลวงปู่ต่อไปอีกว่า

"การเดิน ยืน นั่ง อดนอน ผ่อนอาหาร ทำอย่างไร อะไรจะเป็นเครื่องแก้ เครื่องปราบเจ้าถีนมิทธะ จึงจะไม่เผาให้เร่าร้อน สัปหงกเกิดขึ้น"

หลวงปู่ก็ว่า

"อดข้าว ๒-๓ วันฉันครั้งหนึ่ง ฉันก็ปั้นไว้เป็นคำ ๆ ๑, ๒, ๓ หยุด ถ้ามันเพลียมาก ก็ให้ถึง ๕ คำ ก็หยุด ถ้าอดนอน ต้องผ่อนอาหารจึงจะเป็นเครื่องปราบถีนมิทธะ

ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน มัวมือง่วงซึม เปรียบเหมือนน้ำอยู่ใต้จอกและแหน ถ้าเราไปกวาดจอกและแหนออก จึงรู้ว่าน้ำใสหรือขุ่น อันนี้ฉันใด ถีนมิทธะ จะเอาตั้งแต่คุณงามความดีมาปราบก็ไม่ไหว จะนึกถึงคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็ไม่ไหว เพราะการนอนเป็นอาหารของธาตุขันธ์

จะออกไปที่แจ้ง ๆ ลืมตาดูโลกฟ้าอากาศสว่างไสว ก็ไม่ไหว

จะเอาผ้าชุบน้ำมาปกศีรษะ ลูบทาทั่วกาย ก็ไม่ไหว เพราะเหตุใด?

เพราะอาหารของกายนี้ ที่สำคัญก็คือ นอน ที่ ๒ ก็คือ กิน นั่นแหละ สิ่งที่จะปราบได้มีแต่อดนอน ถ้าอดนอนก็ต้องผ่อนอาหาร"
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 59

โพสต์

มรโณบาย



สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นผู้ทรงมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เชี่ยวชาญในการธุดงค์เป็นอย่างยิ่ง ว่ากันว่าท่านเป็นพระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งที่บรรลุธรรม

เทศนาฉบับนี้เป็นหนังสือหายาก เพื่อสืบทอดอายุหนังสือ คาบใบลานผ่านลานพระจึงขอนำมาเสนอโดยละเอียดดังนี้

สาธุชนทั้งปวง แต่บรรดาที่นับถือพระพุทธศาสนาพึงทราบทั่วกันว่า อาการตายของมหาชนทั้งสิ้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ ตายปราศจากองค์ 4 เรียกว่า ตายอนาถาหาที่พึ่งมิได้อย่างหนึ่ง ตายพร้อมด้วยองค์ 4 เรียกว่า ตายไม่อนาถาประกอบด้วยที่พึ่งอย่างหนึ่ง

รวมกันเป็น 2 อย่างด้วยกัน

องค์ 4 นั้นคือ ละห่วงใยภายนอก คือ วิญญาณกับทรัพย์ อวิญญาณกับทรัพย์เสียได้อย่างหนึ่ง ละห่วงใยภายในคือ เห็นจริงว่านามรูปเกิดขึ้นแล้วนามดับรูปแตกไป เพิกเฉยเสียได้อย่างหนึ่ง ปรารภถึงทางศีลภาวนาของตนแล้ว เกิดความปีติอิ่มใจ ชื่อว่าละนิวรณ์ได้อย่างหนึ่ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นที่พึ่งของตน ก็เห็นว่าเป็นที่พึ่งได้จริงๆ ไม่มีความสงสัยอย่างหนึ่ง

รวมเป็นองค์ 4 ด้วยกันดังนี้

เมื่อจะตายให้นึกว่า กายมันจะแตก วิญญาณนี้มันจะดับ เป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ไม่มีใครตาย นามดับรูปแตกต่างหาก

เมื่อจะตายนึกให้เห็นจนใจเป็นกลาง ไม่ยินดีต่อความเป็น ไม่กลัวต่อความตาย เมื่อทำใจได้ดังนี้ เป็นเอกทีเดียว

ปัญจขันธ์ แปลว่า ขันธ์ 5 คือ รูปขันธ์ 1 เวทนาขันธ์ 1 สัญญาขันธ์ 1 สังขารขันธ์ 1 วิญญาณขันธ์ 1 รวมเป็นขันธ์ 5 ด้วยกัน

นี่แหละจัดเป็นตัวทุกข์ ขันธ์ทั้ง 5 นี้เป็นปริญญาตัพพธรรม คือ เป็นธรรมควรที่สัตว์จะต้องกำหนดรู้เสียให้จงได้ ทุกข์อริยสัจ จบ

อวิชชา ความที่ไม่รู้ว่าเบญจขันธ์เป็นทุกข์ ตัณหาจึงได้หลงรักหลงใคร่ หลงอยากได้ซึ่งภวะ คือ ความอยากมีอยากเป็นในภพ อันจะบังเกิดต่อๆ ไป ท่านเรียกว่า อุปัตติภพ คือ เบญจขันธ์นั้นเอง นี่แลจัดเป็นตัวสมุทัย คือ เป็นเหตุที่จะก่อทุกข์ให้เกิดขึ้น

อวิชชาภวตัณหา ทั้งสามนี้เป็นปหาตัพพธรรม คือ เป็นธรรมควรที่สัตว์จะต้องสละละวางเสียให้จงได้ฯ

ทุกข์สมุทัยอริยสัจ จบ

วิชชา ความรู้ที่ว่าขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์และรู้ว่า อวิชชาภวตัณหา เป็นสมุทัย รู้แจ้งชัดดังนี้แล้วก็วิมุตติ สละละเสีย ปล่อยเสีย วางเสีย ไม่ยินดี รักใคร่ ไม่ดิ้นรนอยากได้ ด้วยตัณหาไม่ถือว่าตัวตน ด้วยทิฏฐิว่า นั่นตัวเรา นี่แลจัดเป็นนิโรธความดับทุกข์ วิชชากับวิมุตตินี้เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม ว่าเป็นธรรมควรที่สัตว์จะต้องให้เกิดมีขึ้นให้จงได้

ทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ จบ

สมเด็จพระวันรัต วัดโสมนัส ท่านสั่งสอนว่า ถ้าไข้หนักพักใหญ่มีความเวทนากล้านัก ให้เอาเวทนาเป็นอารมณ์ให้ทำในใจว่า เวทนาอาศัยสัมผัสเกิดขึ้นมันจะดับ เวทนาต่างหาก ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา แล้วพูดยกย่องสรรเสริญว่า ในศาสนาก็เป็นยอดอยู่เท่านี้เป็นของสำคัญนัก ใครอุตส่าห์ศึกษาในวิชานี้เป็นวิชชาประเสริฐ

สมาธิ มี 2

อุปจารสมาธิ 1 อัปปนาสมาธิ 1 เป็น 2 ดังนี้

อธิบายว่า สาธุชนเมื่อจะเจริญกัมมัฏฐานอันใดมีอารมณ์หยาบ กัมมัฏฐานนั้นท่านจัดว่าเป็นอัปปนาสมาธิ

กัมมัฏฐานใดมีอารมณ์ละเอียด กัมมัฏฐานนั้นท่านจัดว่าเป็นอุปจารสมาธิ ท่านจึงจัดเอากสิญ 10 อสุภะ 10 อนุสติ เอาแต่ 2 คือ กายคตาสติ อานาปานสติ อัปปมัญญา 4 รวมเป็น 26 ดังนี้ ท่านจัดเป็นฝ่ายข้างอัปปนาสมาธิ ยังอนุสติอีก 8 กับจตุธาตุววัตถาน 1 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 อรูป 4 รวมเป็น 14 ก็กัมมัฏฐาน 14 นี้ท่านจัดเป็นฝ่ายข้างอุปจารสมาธิ

จะว่าด้วยอุปจารสมาธิก่อน

อุปจารสมาธินั้น ตั้งอยู่ไม่นาน มีอาการเหมือนทารกท่าสอนยืน ยืนไม่สู้มั่น ยืนอยู่ได้ไม่นาน อีกอย่างหนึ่งอุปจารสมาธินี้ ท่านเปรียบเหมือนบุคคลที่เลี้ยงไม้ ไม่ตั้งอยู่ได้นานๆ ก็ฝ่ายข้างอัปปนาสมาธินั้น แนบเนื่องอยู่กับอารมณ์ปรากฏตั้งอยู่นานๆ มีอาการเหมือนทารกที่ยืนมั่นๆ นั้น ย่อมอยู่ได้นานๆ ตามประสงค์

สมาธิ 2 ประการนี้ เรียกว่า จิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ของจิต เป็นบาทของวิปัสสนา

วันหนึ่ง ท่านว่า ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังมีความอัศจรรย์อยู่ แต่ไม่มีผู้ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถึง ถ้าปฏิบัติจริงๆ ก็ยังปรากฏเป็นตทังคปหานได้ คือ ละกิเลสได้ครู่หนึ่งพักหนึ่งขณะหนึ่ง ต่อได้ฌานจึงจะเป็นวิขัมภนปหาน คือ ละกิเลสได้นานๆ

ต่ออริยมรรคบังเกิดจึงจะเป็นสมุจเฉทปหาน

วันหนึ่ง ปรารภถึงความตายว่า ความตายนี้ไม่รู้ตัวด้วยกันหมดไม่ว่าใคร เร่งเตรียมตัวตายเถิด แล้วท่านว่าอย่างไร จึงจะเรียกว่าเตรียมตัวตาย จะทำอย่างไร ทำให้เห็นว่าตัวตนไม่มี นั่นแหละเรียกว่าเตรียมตัวตายล่ะ เรียกว่า อนัตตา

แล้วท่านถามต่อไปว่า รู้อวิชชาแล้วหรือ พระเรียนว่า ทราบแล้ว ท่านว่าถ้าไม่รู้จักอวิชชาแล้วหรือ พระเรียนว่า ทราบแล้ว ท่านว่าถ้าไม่รู้จักอวิชชาเต็มที่แล้ว อวิชชานี้ครอบหมดทั้งสามภพ

อวิชชานี้ละเอียดกว่าโมหะ โมหะนั้นหยาบ เพราะโมหะนั้นทำแต่บาป ห้ามบุญ วิชชานั้นทำแต่บุญห้ามบาป อวิชชานั้นโง่ไม่รู้วิเศษก็เมื่อว่า ทำบุญแล้วมันก็ให้ก่อเกิดเพราะว่าอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ครั้นเกิดขึ้นแล้วก็เป็นทุกข์ ต่อไม่เกิดจึงจะเป็นสุข หมดบุญหมดบาปจึงจะเป็นสุข

ทำอย่างไรจึงจะหมด บุญ บาป

ก็อย่าให้มันมีตัวซี ก็ใครเล่ามันจะเสวย บุญ บาป สมด้วยเทศนาว่า สิ่งใดเป็นไปด้วยความก่อเกิดแล้ว ไม่เป็นธรรมเป็นวินัยเป็นศาสนาของพระตถาคต

วันหนึ่ง ท่านแสดงว่า จะรู้จักของ 8 สิ่งคือ พระพุทธ ธรรม สงฆ์ นี้ รู้จักยากนัก รู้แต่ชื่อ จำได้แต่ชื่อ เปรียบเหมือนคนตามืด ธรรมดาคนตามืดนั้น เมื่อมีผู้จับมือไปลูบเข้าที่ตัวช้างม้าก็จำไว้ได้ ครั้นตนไปพบปะถูกต้องลูบคลำ เข้าทีหลังก็จำได้ว่านี่ ช้าง ม้า รู้แต่เท่านั้น ที่จะรู้ว่า ช้าง ม้า นั้น รูปพรรณสัณฐานอวัยวะน้อยใหญ่อย่างนั้นๆ ไม่รู้ เหมือนกันคนที่ไม่มีปัญญาๆ นั้นเขาเรียกว่า อันธะ แปลว่า คนมืด ถ้ามีปัญญาเขาเรียกว่า จักขุมา แปลว่า มีตา คือ ปัญญา

แล้วท่านว่าบุญอยู่ที่ไหน พระเรียนว่า อยู่ที่ใจ

ท่านว่า ไม่ถูก ไปหาใหม่ เรียกว่าหาไม่ได้ ท่านว่าบุญก็ที่สติ ถ้าระลึกตรึกอยู่ในอารมณ์ที่ควรระลึก ที่ควรตรึกแล้วก็เป็นบุญอยู่เสมอ ถ้าปล่อยสติเสียวางสติเสีย บาปก็เข้าได้ ก็การที่ระลึกตรึกนั้น จำเพาะให้ระลึกให้ตรึกอยู่ 4 อย่าง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

เมื่อระลึกถึงกายก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อระลึกถึงเวทนาจิตธรรม ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ว่าด้วยธรรมในที่นี้ ธรรมข้างดีประสงค์เอาโพชฌงค์ ธรรมข้างชั่วประสงค์เอานิวรณ์ นี่แหละจะระลึกจะตรึก ก็ระลึกก็ตรึกใน 4 อย่างดังว่ามานี้ จึงเป็นสติปัฏฐาน 4

เมื่อระลึกอยู่ใน 4 อย่างนี้แล้ว บาปจะมีมาแต่ไหน

คราวหนึ่งท่านปรารภว่า ถ้าเห็นจริงเสียแล้วก็จะดีๆ นี่มีอาการเหมือนวานรอุ้มผลมะพร้าว พวกเราทั้งหมดสวดไปร้องไป ไม่เห็นจริงๆ เพราะอะไรไม่เห็นจริง เพราะโง่ ถ้าเห็นจริงเสียว่าไม่ใช่ใครแล้ว ก็หายโง่ เรียกว่าวิชชา ตามแต่จะเห็นเถิดเห็นเป็นขันธ์ก็ตาม ธาตุก็ตาม อายตนะก็ตาม นามรูปก็ตาม อาการ 32 ก็ตาม เหมือนกันหมดทั้ง 3 ภพ ไม่มีอะไร

เมื่อเห็นแล้วก็มีความเย็นเป็นสุขกันเท่านั้น สามัญญสัตว์ทั้งสิ้น เห็นว่าอบายเป็นทุกข์ มนุษย์ ฉกามาวจร รูป อรูป เป็นสุข แต่พระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น และเห็นว่าเป็นทุกข์ สัตว์ทั้งสิ้นไม่เห็นเลยว่าเป็นทุกข์ พระองค์ตรัสว่า ชาติปิ ทุกฺขา เกิดเป็นทุกข์ เกิดไหนๆ เป็นทุกข์หมด เห็นแล้วหรือพระองค์ตรัสเป็นอัศจรรย์นัก เช่นนี้นี่ไม่มีใครพูด

นั่นแหละเป็นของสำคัญนัก เป็นหลักใหญ่ เป็นกระทู้ใหญ่ ตรึกตรองให้เห็นให้ได้เป็นศาสนา คำสอนของพระแท้ๆ อันจะเห็นว่าชาติเป็นทุกข์นั้น ต่อเห็นว่า ไฟ 11 กอง มันไหม้มันเผาอยู่เป็นนิตย์ อาทิตตปริยายสูตร ไฟ 11 กอง 1.ไฟราคะ 2.ไฟโทสะ 3.ไฟโมหะ 4.ไฟชาติ 5.ไฟชรา 6.ไฟมรณะ 7.ไฟโสกะ 8.ไฟปริเทวะ 9.ไฟทุกข์ 10.ไฟโทมนัส 11.ไฟอุปายาส จึงจะเห็นว่าชาติเป็นทุกข์ ถ้าไม่อย่างนั้น ก็ไม่เห็น นั่งอยู่ด้วยกันทั้งหมด ไฟมันไหม้มันเผาอยู่ก็ไม่รู้ตัว ไฟอะไร ไฟโง่นั่นซิ เรียกว่า โมหัคคิ จะดับได้ด้วยปัญญา เรียกว่าปัญญาอัคคิ พระสอนไว้ในวินัยว่าไฟป่าไหม้มาให้จุดไฟบ้านรับ ไฟป่าไหม้มาถึงเชื้อไม่มีแล้วไฟป่าก็ดับ ไฟกิเลสไหม้มาให้จุดไฟปัญญารับ ไฟกิเลสก็ดับ

พระพุทธเจ้าท่านเป็นสีตภูโตแล้ว ท่านเป็นผู้เย็นแล้ว ไฟ 11 กองท่านดับได้แล้ว ท่านว่าเห็นแล้ว หรือนิพพาน พระกราบเรียนว่าเห็นแล้ว ท่านว่าเออดีล่ะ คราวหนึ่งท่านแสดงว่า ธัมโม สันทิฏฐิโก พระธรรมนี้ใครปฏิบัติแล้ว คนนั้นเห็นด้วยตนเองเห็นจริงๆ ทีเดียวอย่าสงสัยเลย แต่ผู้ปฏิบัติใคร่จริง อยากจะรู้อยากจะเห็นธรรมของพระ ปรารถนาธรรมของพระด้วยกันทั้งนั้น สิ่งนั้นก็เอา สิ่งนี้ก็เอา แต่ไม่ได้จริงสักสิ่ง

ถ้าอย่างนั้นแล้วเป็นที่พึ่งไม่ได้

เพราะว่าถึงที่จะต้องการสิ ไม่รู้ว่าจะหยิบจะฉวยเอาสิ่งไหน ถึงน้อยถึงสิ่งเดียวก็เอาเถิด แต่ต้องให้ได้จริงๆ

ถ้าว่าได้จริงแล้วก็เป็นที่พึ่งได้

ถ้าปรารถนาข้างมากแล้วก็ต้องให้ได้จริงทุกสิ่งๆ ไป สิ่งนั้นได้จริงแล้ว ทำสิ่งโน้นให้ได้จริงอีก ไม่ว่าสิ่งไหนได้จริงทุกสิ่ง ถ้าเช่นนั้นใช้ได้ จะหยิบเอาสิ่งไหนก็ได้ ทันใจ เอาเป็นที่พึ่งได้

ถ้าเป็นแต่มากเปล่าๆ เช่นนั้นจะทำอย่างไร เมื่อจะตายจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง จะเอาอะไรเป็นที่ตั้งแห่งจิตที่เร่าร้อนยิ่ง

เหมือนอย่างหลวงรัตน์เขาว่า เขาใช้อานาปา ปลัดรอด สามเสน เขาว่าเขาใช้อานาปา แต่หาเป็นอานาปาไม่ กลายเป็นมรณสติไป เอาเถอะถึงอย่างนั้นก็ใช้ได้ เป็นอนัตตาอยู่ล่ะ

แล้วจึงถามว่า ถ้าเราเล่าจะเอาอะไร พระกราบเรียนว่า เกล้าผมใช้อยู่ทุกวันนี้ ตามที่ฝ่าเท้าสอน

ถามว่าอย่างไรเล่า กราบเรียนได้กระทำในใจดังนี้ว่า นามรูปอาศัยแก่กัน ชีวิตเลี้ยงนามรูปไว้ ชีวิตขาด นามดับ รูปแตก ได้ทำตามคำสอนของฝ่าเท้าดังนี้

ท่านว่าแน่หรือ กราบเรียนว่าแน่ ท่านว่า เออ ดีล่ะ แต่ให้จริงๆ นี่แหละ

ถามว่าอย่างไรเล่า กราบเรียนได้กระทำใน‌ใจดังนี้ว่า นามรูปอาศัยแก่กัน ชีวิตเลี้ยงนามรูป‌ไว้ ชีวิตขาด นามดับ รูปแตก ได้ทำตามคำสอน‌ของฝ่าเท้าดังนี้

ท่านว่าแน่หรือ กราบเรียนว่าแน่ ท่านว่า ‌เออ ดีล่ะ แต่ให้จริงๆ นี่แหละศาสนาคำสอน‌ของพระล่ะ แล้วถามที่ตั้งแห่งจิตนั้นอะไร พระ‌กราบเรียนว่ายังไม่ทราบ

ท่านจึงบอกว่าปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ ‌นี่แหละที่ตั้งแห่งจิต

พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสวรรคตไปบังเกิดในกำเนิดงูเหลือม เพราะโทสะพยาบาทนิวรณ์

ภิกษุที่ตายไปเป็นเอรกปัตตนาคราช เพราะ‌โทสะ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์

อุบาสกเจริญกายคตาสติ ไม่ได้ธรรมวิเศษ‌เกิดสงสัยตายไปเป็นจระเข้ เพราะโทสะ วิจิ‌กิจฉานิวรณ์ ภิกขุห่วงในจีวรตายไปเกิดเป็นเล็น ‌โตเทยยพราหมณ์ห่วงในของที่ฝังไว้ตายไปเกิด‌เป็นสุนัข ชนทั้ง 2 นี้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน ‌เพราะโทสะ กามฉันทนิวรณ์ ท่านทั้งหลายถึง‌มีความสังเวชเถิด แต่ภิกษุมีศีลบริสุทธิ์แล้ว ยัง‌หาได้ไปสวรรค์ไม่ กามฉันทนิวรณ์กั้นกางไว้ ‌ฝ่ายโตเทยยพราหมณ์เล่า กามฉันทนิวรณ์ก็‌หน่วงไว้ ให้เป็นเดรัจฉานก่อนตายไปจากเดรัจ‌ฉานไปอบาย

คราวหนึ่ง สมเด็จท่านไปสอนพระยาตาก ‌เมื่อป่วยหนักใกล้จะตายสอนว่า เมื่อเวทนา‌ครอบงำกล้านัก ให้ภาวนาว่า ไม่มีใครเจ็บ นาม‌ต่างหาก รูปต่างหาก ไม่ใช่ของเราช่างมัน เมื่อ‌ใกล้จะตายให้ภาวนาว่า ไม่มีใครตาย นามดับรูป‌แตกต่างหาก ไม่ใช่ของเรา ช่างมัน ถ้าภาวนา‌แต่ปาก ใจไม่เพิกเฉยได้ ไม่เห็นจริงดังว่า ก็ยัง‌เป็นอัญญานุเบกขาอยู่ ต่อเพิกเฉยได้จริง เห็น‌จริงเหมือนดังว่า จึงจะเรียกว่า อุเบกขาได้ ‌เรียกว่า สังขารุเบกขาญานเป็นตัววิปัสสนา

พราหมณ์ผู้หนึ่งนามไม่ปรากฏ เข้าไปสู่ที่‌เฝ้าพระผู้ทรงพระภาค กราบทูลถามว่าจะถวาย‌บูชาพระธรรมจะทำอย่างไร ถวายแก่ใคร จึงจะ‌ได้ชื่อว่าถวายแก่พระธรรม บูชาแก่พระธรรม ‌พระธรรมไม่มีรูปไม่มีร่างไม่มีตัว ขอพระผู้ทรง‌พระภาคโปรดแสดงให้ฉันทราบเทอญ ทรงตรัส‌ว่า ดูกร พราหมณ์ท่านจะบูชาพระธรรมไซร้ ถ้า‌ผู้ใดทรงธรรม ท่านจงบูชาผู้นั้นเถิด ท่านจงให้‌แก่ผู้นั้นเถิด บูชาของท่านก็ได้ชื่อว่าบูชาพระ‌ธรรม ทานของท่านก็ได้ชื่อว่าให้แก่พระธรรม

คฤหบดีผู้หนึ่งไม่ปรากฏโดยนาม ถ้า‌
จะถวายเทยยธรรมเป็นทานครั้งใด ย่อม‌เลือกย่อมคัดจัดสรรเอาแต่ภิกษุที่ถือธุดง‌ควัตร วันหนึ่งจึงไปสู่ที่เฝ้ากราบทูล‌อัชฌาศัยของตนให้พระผู้ทรงพระภาค‌ทรงทราบเหตุทุกประการ พระองค์จึง‌ตรัสว่า ดูกร คฤหบดีจงถวายแก่พระสงฆ์‌เถิด อันจำเพาะต่อสงฆ์นี้ จิตใจบริสุทธิ์‌ปราศจากความรังเกียจไม่สอดแคล้วกิน‌แหนง พ้นจากอคติทั้ง 4 เอาจิตที่ตรงต่อ‌พระสงฆ์เป็นประมาณนั้นและประเสริฐ

พระมหาปชาบดี พระแม่น้า จะถวาย‌ผ้าแก่พระผู้ทรงพระภาค พระองค์เจ้าไม่‌ทรงรับ ทรงพระกรุณาจะให้พระเจ้าแม่‌น้ามีผลานิสงส์มาก โปรดให้ถวายแก่สงฆ์ ‌ทรงตรัสว่า ถวายสงฆ์ก็ได้ชื่อว่าถวายตถา‌คต ตถาคตก็นับในสงฆ์อันถวายเป็นสงฆ์‌ได้ชื่อว่าถวายพร้อมทั้ง 3 รัตนะ

คราวหนึ่ง ท่านว่าเราทุกวันนี้นับถือ‌พระพุทธ ธรรม สงฆ์ เราปรารถนาจะ‌บริจาค จะถวายแก่พระพุทธ ธรรม สงฆ์ ‌เราก็บริจาคถวายแก่ผู้ที่นับถือพระพุทธ ธรรม ‌สงฆ์ พึงรู้เถิดว่า พระนามพระพุทธเจ้านั้น ก็‌เพราะพระองค์รู้ธรรม จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ‌ศีลเป็นคู่ปรับกับราคะ สมาธิเป็นคู่ปรับกับโทสะ ‌ปัญญาเป็นคู่ปรับกับโมหะ ปฐวีธาตุเป็นมรรค‌วิถีของทุกขสัจ อาโปธาตุเป็นมรรควิถีของ‌สมุทัย เตโชธาตุเป็นมรรควิถีของนิโรธ เป็นกิจ‌ของกิเลสนิพพาน วาโยธาตุเป็นเหตุของความ‌จะดำเนินไปยังขันธนิพพาน อากาสวิญญานดู‌เหมือนมีแต่โลกอุดร

คราวหนึ่งสมเด็จพระวันรัต พระอุปัชฌาย์‌สอนพระครูธัมมคุต เมื่อไข้หนักดังนี้ ให้นึกถึงตัว‌ให้เห็นว่าไม่มีใคร เกิดแก่เจ็บตาย เป็นแต่รูปนาม ‌ชีวิตเลี้ยงไว้เป็นอยู่ไม่ใช่ของเราช่างมัน อย่าเอา‌จิตอาดูรไปที่ทุกขเวทนา นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา จงทำไว้ในใจอย่างนั้นร่ำไปเถิด อย่า‌ประมาทเลย ชีวิตเป็นอนิจจัง เพราะอาพาธป่วย‌ไข้มากอยู่แล้ว แต่คนดีๆ ไม่เจ็บไข้ยังตายง่ายๆ ‌อย่าไว้ใจของตนเลย ครั้งที่ 1 ที่ 2 เดี๋ยวนี้ร่างกาย‌ก็เต็มที ประกอบไปด้วยความทุกขเวทนามากนัก ‌ดับเสียหมดเป็นสุขจริง นึกเอาพระนิพพานเป็น‌อารมณ์ว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ นี่ละเอียดนัก ‌นี่ประณีตนัก อะไรคือร่างกาย จิตในนามรูปนี้มัน‌ดับเสียสิ้น เป็นธรรมอันประณีตละเอียดนักดังนี้ ‌นี่เป็นโอวาทของพระอุปัชฌาย์สอนพระครูธัมม‌คุต อุตส่าห์มีสตินึกไว้ให้ดีเถิด เป็นปัจฉิมที่สุดอยู่‌แล้ว เกิดกับตายเป็นของคู่กัน เกิดแล้วก็ต้องตาย‌เป็นธรรมดา

โลกวิทู เป็นเหตุ สุคโต เป็นผล

สุคโต เป็นเหตุ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผล

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นเหตุ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผล

สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นเหตุ อรหํ เป็นผล

ตณฺหานิโรโธ นิพฺพานํ ดับตัณหาหมด ‌เรียกว่า กิเลสนิพพาน

รู้จักตัณหาแล้วก็รู้จักนิพพาน ทุกฺขนิโรโธนิพฺพานํ ดับทุกข์หมดเรียกว่า ขันธนิพพาน

รู้จักทุกข์แล้วก็รู้จักนิพพาน

คราวหนึ่งเจ้าคุณถามว่า ชาติ รู้จักง่ายหรือ‌ยาก ฉันเรียนว่ารู้จักยาก ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า ‌ท่านถามพระองค์เจ้า พระองค์เจ้าก็ว่าเตร็ดเตร่‌ไปไม่ตรง แล้วท่านว่า ของๆ ท่าน ท่านแก้ไข‌ไว้ตรงๆ ว่า ขนฺธานํ ปาตุภโว ปรากฏขึ้นแห่ง‌ขันธ์ทั้งหลาย เรียกว่า ชาติ ก็ใครเกิดเล่า ขันธ์‌เกิดต่างหาก ขนฺธานํ เภโท ความแตกแห่งขันธ์‌ทั้งหลายเรียกว่า มรณํ

ก็ใครตายเล่า ขันธ์ตายต่างหาก

ท่านว่าถ้าใครรู้ชาติ แล้วไม่กลัวเกิดตาย ‌ถอนสักกายทิฏฐิได้เป็นองค์โสดาบัน ได้พบพระ‌ล่ะ เห็นตามกระแสพระล่ะ ออกตัวได้ล่ะ เกิด‌แก่เจ็บตายจะทำไม ใครเล่าออกตัวได้ทุกแห่ง ‌ออกขันธ์ก็ได้ ออกอายตนธาตุ ออกรูปนาม ออก ‌ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็ได้ ออกได้ทุกแห่ง ใคร‌เกิดก็ไม่มี ใครตายก็ไม่มี

วันพฤหัสบดี เดือนเก้าขึ้นเก้าค่ำ สมเด็จ‌พระวันรัตได้สั่งไว้ว่า จำไว้ให้ได้ เอาไว้ใช้เมื่อจะ‌ตาย แล้วให้บอกกล่าวกันทั่วๆ ไป ให้ภาวนาว่า ‌ร่างกายจิตใจนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว‌ของเรา ท่านสั่งกำชับนัก พึงรู้ทั่วๆ กันเถิด เป็น‌ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหนทาง‌พระนิพพาน แล้วพูดยกย่องสรรเสริญว่า ใน‌ศาสนาก็เป็นยอดอยู่เท่านี้ เป็นเอกอยู่เท่านี้ เป็น‌ของสำคัญนัก ใคร่อุตส่าห์ศึกษาในวิชชานี้ เป็น‌วิชชาประเสริฐ ท่านทั้งหลายได้ทราบแล้ว

พึงสำเหนียกโดยเคารพเถิด

อนึ่ง คำว่าให้ภาวนาว่า ร่างกายไม่ใช่ของ‌เรา เป็นต้นนั้น ให้พึงจำทรงไว้ให้แม่นยชำนาญด้วยดี เพราะเป็นมรรคาปรมัตถ์‌ประโยชน์อย่างยิ่ง แลเป็นพาหุลเทศนา ‌พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเรื่องนี้มากกว่าอย่าง‌อื่นๆ ขอพึงให้อุตส่าห์มนสิการไว้ทุกวันๆ เถิด ‌อย่าให้ขาดได้ จะได้เป็นความชอบความดีอย่าง‌ยิ่งของเรา และเป็นอันไม่เสียที่เกิดเป็นมนุษย์ ‌พบพระพุทธศาสนานี้ จบแต่เท่านี้
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

Re: เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรมะ

โพสต์ที่ 60

โพสต์

สติปัฏฐาน

โดย

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์

(ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)



อธิบายสติปัฏฐาน อันเป็นเครื่องบรรเทากิเลสของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ดังนี้

สติปัฏฐาน ๔

๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงกายนี้หนึ่ง

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงเวทนานี้หนึ่ง

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงจิตนี้หนึ่ง

๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงธรรมนี้หนึ่ง

ผู้ เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ให้เกิดเป็นสมาธินั้น ต้องรู้จักคุณธรรม ๓ อย่างนี้เสียก่อน มิฉะนั้นไม่เรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในสติปัฏฐานเลย เพราะว่าความเข้าใจนั้นแคบไป แต่แท้ที่จริงนั้น มีแต่สติเท่านั้นไม่พอในการทำสติปัฏฐานเลย เมื่อไม่พอเช่นนี้ ขืนระลึกถึงรูปกายอยู่แล้ว ก็จะเกิดแต่ความยินดียินร้าย เพราะหน้าที่ของสตินั้นได้แค่ระลึกถึงเท่านั้น ฉะนั้น ในการเจริญสติปัฏฐานนั้น จำต้องให้รู้เครื่องประกอบของผู้ระลึกดังนี้ คือ

๑. สติ ๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ไว้ประจำใจก่อน ใช้สติแล่นติดต่อกับอารมณ์ มีรูปกายเป็นต้น แล้วให้แล่นเข้ามาสู่ภายใน คือ ใจของตน ๓. อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาขยายอาการของกายออกเป็นส่วน

อุปมา อีกว่า กายเราเปรียบเหมือนโรงเลื่อยจักร จิตเปรียบเหมือนเหล็กเพลา สัมปชัญญะเปรียบเหมือนมู่เล่ที่หมุนรอบตัวเพลาอยู่ในสถานที่แห่งเดียว สติเหมือนสายพานคอยผูกอารมณ์กับจิตไว้ไม่ให้เคลื่อนคลาดไปสู่อารมณ์อื่น อาตาปีความเพียรเพ่งพิจารณา เหมือนตัวเลื่อยจักร คอยตัดหั่นท่อนซุงนั้นให้กระจายออกเป็นชิ้นๆ จึงจะสำเร็จประโยชน์ คุณธรรม ๓ อย่างนี้ จำต้องมีประจำตัวอยู่เสมอในการทำสมาธิ จึงจะสำเร็จได้

ต่อ ไปนี้จะแสดงถึงงานที่จะต้องทำ อันเป็นหน้าที่ของอาตาปี ที่เรียกว่าความเพียรเพ่ง และสัมปชัญญะความรู้ดี สติความระลึกได้ จะต้องให้ถูกต้องตามหน้าที่ของตนๆ หน้าที่ของตนที่จะต้องทำนั้นมีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. กาย อันเป็นที่ประชุมของธาตุทั้ง ๔

๒. เวทนา ความเสวยอารมณ์ มีสุข ทุกข์ อุเบกขา เป็นต้น

๓. จิต ผู้สะสมไว้ซึ่งความดีและความชั่วทั้งหลาย

๔. ธรรม สภาพที่ทรงไว้ในตน เป็นต้นว่า กุศลธรรม และอกุศลธรรม อันระคนปนกันอยู่

๔ อย่างนี้ เป็นหน้าที่ของผู้จะทำต่อไป

ข้อ ๑ อธิบายในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

อธิบายคำที่ว่า กาย นี้ได้แก่ธาตุทั้ง ๔ ประชุมกันเข้า มีจิตวิญญาณครอบครองอยู่ก็ดี ที่ปราศจากจิตวิญญาณครอบครองแล้วก็ดี แต่ปรากฏแก่ตาได้อยู่ เรียกว่า รูปกาย รูปกายนี้แยกออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. กายใน ได้แก่ กายของตนเอง

๒. กายนอก ได้แก่ กายคนอื่น

๓. กายในกาย ได้แก่ ชิ้นใดชิ้นหนึ่งของอวัยวะเป็นต้นว่า ลมหายใจ อันเป็นส่วนหนึ่งของธาตุทั้ง ๔ นี้เรียกว่า กายในกาย

เรื่อง ของกายจะเป็น ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี ก็มีอยู่ว่า ธาตุทั้ง ๔ เท่านั้น เมื่อรู้จักหน้าที่ของตนแล้ว จำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง เป็นต้นว่า

๑. สัมปชัญญะ ความรู้ตัวอยู่กับที่ คือทำความรู้สึกอยู่กับ จิต อันเป็นส่วนภายใน ไม่ต้องไปใช้ที่อื่น

๒. สติ ความระลึก จะต้องใช้ทั่วไป เป็นต้นว่า ใช้แล่นเข้าสู่จิตอันเป็นส่วนภายใน แล้วใช้แล่นเข้าไประลึกถึงอารมณ์ มีรูปกายเป็นต้น แล้วคอยประคองอารมณ์กับจิตไว้ไม่ให้เคลื่อนคลาดจากกัน

๓. อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณารูปกาย ขยายออกเป็นส่วนๆ ดังนี้

หน้าที่ของความเพียรเพ่งพิจารณานั้นมีอยู่ ๕ อย่าง คือ

ให้ตรวจตราพิจารณาเพ่งดูอาการ ๓๒ มี

เกสา ผม

โลมา ขน

นขา เล็บ

ทันตา ฟัน

ตโจ หนัง เป็นอาทิ

ให้ตรวจตราพิจารณาดูจนถี่ถ้วน เมื่อไม่เกิดความสงบในวิธีนี้ ให้เจริญต่อไปในวาระที่ ๒ คือ

ให้ เพียรเพ่งพิจารณาอสุภกรรมฐาน โดยประการต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้นว่า ร่างกายก้อนนี้เป็นที่ประชุมซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลาย คือ หน้าที่บรรจุไว้แห่งซากศพ เป็นสุสานประเทศ เช่น ซากโค ซากกระบือ ซากหมู เป็ด ไก่ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อันเข้าไปผสมบ่มไว้ในกระเพาะ แล้วกรองกลั่นเป็นน้ำเลือด น้ำหนอง เปื่อยเน่า พุพอง ซาบซ่านออกมาตามทวารต่างๆ อันมนุษย์ทั้งหลายพากันเยียวยามิได้หยุด เป็นต้นว่า การอาบน้ำขัดสี ซักฟอก กลบกลิ่นมิให้ปรากฏแต่ถึงกระนั้น อ้ายความโสโครกของร่างกายก็ยังแสดงตัวออกอยู่เสมอ เป็นต้นว่า ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ย่อมไหลซาบซ่านอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่โสโครกโสมมด้วยประการต่างๆ เป็นต้นว่า ที่เกิดก็เกิดที่โสโครก ที่อยู่ก็อยู่ที่โสโครก คืออยู่ในป่าช้าผีดิบ หรือยิ่งกว่าป่าช้า ซากผีที่ฝังไว้ในตนแล้ว ดูเป็นร้อยๆ อย่างเสียอีก ตัวคนเราถ้าจะดูตามลักษณะ ก็มีอาการต่างๆ ไม่สม่ำเสมอกัน มีกลิ่นก็เหม็น เป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังหนักหนา

เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ถ้าไม่เกิดความสลดสังเวช ก็ให้พิจารณาในวาระที่ ๓ คือ

ให้เพ่งพิจารณาลมหายใจเข้าออก ลมเข้ายาวก็ให้รู้ตัว ลมออกยาวก็ให้รู้ตัว ทีแรกการทำลมให้ปล่อยใจออกมาตามลมก่อน แล้วให้หายใจเข้าเอาใจเข้ามาตามลมอีก ทำอยู่อย่างนี้สักสองสามครั้ง แล้วจึงตั้งใจไว้เป็นกลาง อย่าออกตามลม อย่าเข้าตามลม จนจิตนิ่งอยู่ รับรู้แต่ลมเข้าลมออกเท่านั้น ทำใจว่างๆ สบายๆ ไว้เฉยๆ จะวางใจไว้ที่จมูกก็ได้ เพดานก็ได้ ถ้าวางไว้ในหทัยวัตถุได้ยิ่งดี แล้วทำจิตให้นิ่งจะเป็นที่สบาย เกิดปัญญาแสงสว่างดับความคิดต่างๆ ให้น้อยลง แล้วเพ่งพิจารณาสังเกตกำหนดอาการของลม ที่มีอาการพองตัวเข้าออกอยู่นั้น เป็นต้นว่า เข้ายาวออกยาว เข้าสั้นออกสั้น เข้ายาวออกสั้น เข้าหยาบออกละเอียด เข้าละเอียดออกหยาบ เข้าละเอียดออกละเอียด ให้เพ่งพิจารณาอาการของลมทั้งหลายเหล่านี้ให้ถี่ถ้วน และอย่าให้จิตเคลื่อนไหลไปตามลม ทำอย่างนี้จนกว่าจะเกิดสงบ

ถ้าไม่สงบด้วยวิธีนี้ให้เปลี่ยนไปในวาระที่ ๔ คือ

ให้ เพ่งพิจารณาดูธาตุทั้ง ๔ มีธาตุดิน-น้ำ-ลม-ไฟ เป็นต้น ส่วนใดที่แข็งเรียกว่าธาตุดิน ส่วนใดที่เหลวเรียกว่าธาตุน้ำ ส่วนใดที่พัดไปพัดมาเรียกว่าธาตุลม ส่วนใดที่อบอุ่นเรียกว่าธาตุไฟ แยกธาตุดินออกเป็นกองหนึ่งตั้งไว้ข้างหน้า แยกธาตุน้ำเป็นกองหนึ่งไว้ข้างหลัง แยกธาตุลมเป็นกองหนึ่งวางไว้ข้างซ้าย แยกธาตุไฟกองหนึ่งวางไว้ข้างขวา ตัวเราตั้งตนไว้ตรงกลางแล้วเพ่งพิจารณาดูว่า ร่างกายนี้ เมื่อแยกออกเป็นส่วนๆ ดังนี้แล้ว ก็เห็นความแตกดับทำลายหายสูญไปเป็นเถ้าที่เรียกว่าตาย โดยอาการเช่นนี้แล้วเกิดความสลดสังเวช

เมื่อไม่เห็นผลปรากฏขึ้นแล้ว ให้เพ่งพิจารณาในวาระที่ ๕ คือ

ให้ พิจารณาดูว่า ร่างกายนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จะต้องมีความแก่รุกรานเข้ามาหาตนทุกวิถีทาง ความเจ็บก็จะมีมา ความตายก็จะมีมา ความพลัดพรากจากสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ก็จะมีมาถึงตนจนได้ ร่างกายก้อนนี้ย่อมมีลักษณะปรากฏอยู่เสมอ เป็นต้นว่า อนิจจัง เป็นของไม่เที่ยงมั่นคงถาวร คอยโยกคลอนอยู่เสมอ ทุกขัง เป็นของที่ทนอยู่ได้ลำบาก อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เอามาไม่ได้ เอาไปไม่รอด ตายแล้วย่อมทอดทิ้งเหมือนท่อนไม้และท่อนฟืน หาเป็นสาระแก่นสารมิได้ เมื่อเพ่งพิจารณาด้วยอาการเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความสลดสังเวชเป็นเหตุจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

อาการทั้งหลาย ๕ อย่างที่กล่าวมานี้เป็นหน้าที่ของอาตาปี คือได้แก่ความเพียรเพ่งพิจารณา ต่อสู้ดูสภาพความจริงของรูปกายนี้

ส่วน ตัวสติ ต้องให้ทำงานตามหน้าที่ของตน คือ ให้ระลึกถึงอารมณ์ของกรรมฐาน และระลึกถึงจิตใจของตนอันเป็นส่วนภายใน อย่าได้ส่งไปในสถานที่อื่นนอกจากนี้ ว่าเวลานี้เรามีความรู้สึกตัวอยู่หรือไม่

ที่เรียกว่าสัมปชัญญะ ความรู้ดี ให้ตั้งคอยกำหนดสังเกตความรู้สึกตัวว่า เวลานี้จิตใจของเรามีความเคลื่อนไหวพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปโดยอาการอย่างไร บ้าง ก็ให้ทำความรู้ตัวอยู่กับที่ประจำใจ

อาการทั้งหลายที่กล่าวมานี้เป็นการกระทำในส่วนกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กาย นี้จะเป็นกายภายนอกก็ตามภายในก็ตาม จำเป็นต้องใช้คุณธรรมทั้ง ๓ อย่างดังว่ามาแล้ว เมื่อทำได้โดยสมบูรณ์นี้แล้ว จึงเรียกว่า เจริญมหาสติปัฏฐาน

ธรรมดาคนเราสติย่อมมีกันทั่วไป แต่ไม่มีสัมปชัญญะความรู้ตัว สตินั้นจึงตกไปในทางที่ผิด ที่เรียกว่ามิจฉาสติ เมื่อใครทำได้โดยอาการดังกล่าวมานี้ จะต้องเกิดความตั้งมั่นแห่งจิตอย่างไม่ได้อะไรเสียเลย ต้องได้รับความสลดสังเวชอันเป็นเหตุแห่งความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็นบันไดแห่งวิปัสสนาญาณอันเป็นหนทางพระนิพพาน ที่นักปราชญ์และบัณฑิตทรงภาษิตรับรองว่า นิพพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง อธิบายมาในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ด้วยประการดังนี้


ข้อ ๒ อธิบายในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

คำที่ว่าเวทนานั้น ได้แก่ ความเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากอาการกระทำของตัวที่เรียกว่ากรรม ถ้าจะกล่าวโดยประเภทนั้นมี ๓ อย่างคือ

๑. เวทนาภายใน

๒. เวทนาภายนอก

๓. เวทนาในเวทนา

เวทนาภายในนั้น ถ้าจำแนกตามความรู้สึกที่เป็นอยู่มี ๓ อย่างคือ

๑. สุขเวทนา ความสบายปลอดโปร่ง ในจิตใจของตน

๒. ทุกข์เวทนา ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความหงุดหงิด ดวงจิตเหี่ยวแห้งไม่เบิกบาน

๓. อุเปกขาเวทนา ใจเป็นกลางวางเฉยอยู่ในระหว่างสุข ในระหว่างทุกข์ ที่ยังไม่เกิดขึ้น

เวทนาทั้ง ๓ อย่างนี้เรียก เวทนาภายใน

ส่วนเวทนาภายนอกนั้นก็มี ๓ อย่างเหมือนกันคือ

๑. โสมนัสสเวทนา ความยินดีปรีดา ร่าเริงอยู่ในอารมณ์ภายนอก เป็นต้นว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ที่เกิดจากอายตนะทั้ง ๖ เป็นต้น เมื่อใจได้ถูกต้องดูดดื่มยินดีอยู่ในอารมณ์อันนั้นเรียกว่า โสมนัสสาเวทนา

๒. โทมนัสสเวทนา ความคับแค้นน้อยใจ ได้เกิดขึ้นจากอาการที่ได้ประจวบกับอารมณ์ภายนอก เป็นต้นว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอาทิ เมื่อปรากฏแก่ตา หู จมูก ลิ้น เป็นต้นแล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าเป็นที่ไม่พอใจของตน เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา จึงได้เกิดโทมนัสสเวทนาประการหนึ่ง

๓. อุเปกขาเวทนา คือ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นอาทิทั้งหลายเหล่านั้น ได้ผ่านมากระทบถูกต้องอายตนะภายใน ก็มิได้ยินดียินร้าย ใจเป็นกลางวางเฉยอยู่ เรียกว่า อุเปกขาเวทนา

ที่เรียกว่า เวทนาภายนอก เพราะเหตุว่า เนื่องด้วยการเกิดจากอายตนะภายนอก

ส่วน ข้อ ๓ เวทนาในเวทนานั้น คือหมายเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของเวทนาทั้งหลายที่กล่าวมานั้น คือ ไม่ต้องเลือก เป็นต้นว่า มีสุขปรากฏแก่ตนเมื่อไร ให้จิตพิจารณาอยู่ในเวทนาอันนั้น เช่นว่า มีสุข ก็ให้ตั้งสติกำหนดระลึกอยู่ในที่นั้น ประคองสุขอันนั้นให้อยู่ในตน ประคองตนให้อยู่ในสุข อย่าให้คลาดเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น และอย่าให้ความปรารถนาใดๆ เกิดขึ้นในขณะจิตอันนั้น แล้วค่อยใช้อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาดูความจริงของเขา สัมปชัญญะความรู้ดีให้คอยสังเกตจิตใจให้รู้ตัวอยู่กับที่ อย่าให้กระแสของสมุทัยเกิดขึ้น สมุทัยที่จะเกิดขึ้นในครั้งแรกนั้น เกิดจากความไม่รู้สึกตัวดีแล้วก็มีจิตหวั่นไหว ลักษณะที่ไหวตัวนั่นแหละเรียกว่าตัววิภวตัณหา เมื่อไหวแรงขึ้นมีกระแสจิตเกิดขึ้นแล่นส่ายออกไป กระแสที่ส่ายอยู่นั้นเป็นตัวภวตัณหา เมื่อเจอะสิ่งใดอันเป็นส่วนอายตนะภายนอกแล้วเข้ายึดเอา นั่นเรียกว่าตัวกามตัณหา ฉะนั้นจึงให้ประคองจิตของตนอยู่ในอารมณ์หนึ่ง เรียกว่า สุขเวทนา อย่าเอาอารมณ์อื่นเข้าปะปน ให้ตั้งสติสัมปชัญญะไว้ประจำตน แล้วให้เพียรเพ่งพิจารณา ให้ดูจนรู้ความจริงของเวทนานั้นๆ ที่เรียกว่าอาตาปี เมื่อทำได้เช่นนี้จึงจะเรียกว่า เป็นผู้เจริญในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ข้อ นี้โดยมากคนเราเมื่อมีเวทนาอันใดเกิดขึ้นแล้ว มักทำความปรารถนาต่างๆ ให้เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น สุขเวทนาได้เกิดขึ้นแก่ตนแล้ว ก็อยากให้สุขนั้นเป็นอยู่คงที่ หรืออยากให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เลยกลายเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น ที่เรียกว่าสมุทัย เลยได้รับผลตรงข้ามกับความต้องการของตน บางทีก็มีทุกข์เวทนาเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องการ ดิ้นรนหาความสุขต่อไปเลยกลายเป็นเพิ่มทุกข์ บางขณะใจก็เฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ยินดียินร้าย เป็นกลางวางเฉยอยู่เช่นนั้น แล้วก็อยากให้เป็นอยู่เช่นนั้นเป็นนิจ บางทีก็เห็นว่าตนไม่ฉลาด เป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาขึ้นอีกได้ แล้วก็ดิ้นรนขวนขวายอยากให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าตนที่เป็นอยู่นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จะเรียกว่าผู้ตั้งอยู่ในสติปัฏฐานไม่ได้ ถึงแม้มีสติระลึกได้อยู่ว่าสุขหรือทุกข์ หรืออุเปกขาก็ตาม แต่ก็ไม่พ้นไปจากความเป็นเช่นนั้น นี่ก็ส่อให้เห็นว่าขาดคุณธรรม ๓ อย่าง ทะนุบำรุงช่วยสนับสนุนสติอันนั้นให้เป็นองค์มรรคขึ้น คือให้มีสัมปชัญญะความรู้ดี ประจำใจไว้เป็นเบื้องต้นนี้หนึ่ง แล้วใช้สติแล่นติดต่ออารมณ์กับจิต อย่าให้จิตเคลื่อนคลาดจากอารมณ์ทั้งนั้น อย่าให้อารมณ์นั้นคลาดเคลื่อนจากจิต ตั้งสติกับอารมณ์นั้น ประคองจิตไว้ในอารมณ์เดียวให้แน่วแน่อยู่ ส่วนอารมณ์นี้เป็นหน้าที่ของอาตาปี คือความเพียงเพ่งพิจารณาตามอาการของเวทนาทั้งหลายที่เป็นภายในและภายนอก สุข ทุกข์ อุเปกขา อาการใดอาการหนึ่ง เช่น ทุกข์เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร เป็นหน้าที่ของความเพียรเพ่งพิจารณา ดูจนกว่าจะรู้จริงนี้หนึ่ง จะเป็นเวทนานอกก็ตาม ในก็ตาม เป็นหน้าที่ของอาตาปี เวทนาทั้งหลายเหล่านั้นปรากฏอยู่ในที่แห่งใด จำจะต้องใช้ความเพียรเพ่งพิจารณาแผดเผาเร่าร้อนอยู่ในที่นั้น นี่เป็นวาระที่ ๑ ของความเพียรเพ่งพิจารณา

๒. ให้ดูความเกิดขึ้นแห่งเวทนาอันมีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องสาวไปในที่อื่น ทำความเห็นว่า จะเกิดมาจากเหตุอะไรก็ตาม ให้กำหนดจดจ้องดูอยู่แต่ปัจจุบัน

๓. ให้พิจารณาความเสื่อมไปของเวทนานั้น

๔. ให้เพ่งดูความดับของเวทนานั้น

๕. ทำความรู้ไว้ว่า เวทนานี้มีแต่ความเกิดและความดับ ความทำลายถ่ายเทกันไปด้วยประการต่างๆ หาเป็นแก่นสารไม่

เมื่อ ใครทำได้ด้วยอาการเช่นนี้ จึงเรียกว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ย่อมเป็นองค์มรรคสมังคีอยู่ในที่นั้น ถ้าจะย่นให้เป็นองค์มรรค ต้องย่นอย่างนี้ คือ

สัมปชัญญะความรู้ดีคอยประคองจิตอยู่ ทำความรู้ตัวอยู่ ไม่ปล่อยจิตของตนให้แล่นไปสู่อกุศล ทำจิตของตนให้เป็นปรกติอยู่ นี้เรียกว่าศีล

สติคอยประสานจิตกับอารมณ์ไม่ให้คลาดเคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่น นี้เรียกว่าสมาธิ

อาตาปีความเพียรเพ่งพิจารณาในอารมณ์นั้นๆ ให้รู้แจ้ง เห็นจริง รู้ได้ทั้งความเกิดความดับ นี้เรียกว่าปัญญา

คุณธรรม ๓ ประการนี้ต้องให้มีให้เกิดขึ้นพร้อมเพรียงกันในขณะจิตอันใดอันหนึ่ง จึงเรียกว่า มรรคสมังคี แล้วมรรคเหล่านั้นทำงานตามหน้าที่แห่งตน ก็จะรู้แจ้งเห็นจริง โดยไม่ต้องละโน่นทำนี่ ละนี่ทำโน่น ละนอกทำใน ละในทำนอก

เมื่ออาศัยคุณธรรม ๓ ประการนี้พร้อมแล้ว จะไปทำในอารมณ์ใดก็ตาม อดีต อนาคต ปัจจุบัน สุข ทุกข์ อุเบกขา อาการใดก็แล้วแต่ เมื่อสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมแล้ว ย่อมแล่นเข้าไปถึงกันหมด จึงได้เปรียบไว้ในเบื้องต้นว่า จิตเปรียบเหมือนเหล็กเพลาจักร สัมปชัญญะเปรียบเหมือนมู่เล่หมุนตัวอยู่ประจำที่ของตน สติเหมือนสายพานคอยประสานอารมณ์กับจิตมิให้คลาดเคลื่อนเปลี่ยนแปลง อาตาปีเหมือนเลื่อยจักรชักไปคอยมาตัดรอนอารมณ์นั้นๆ ให้กระจายออกเป็นส่วนๆ นี้เรียกว่า ภควา ผู้มีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงเช่นนั้น จึงเรียกได้ว่าเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยการทำสติปัฏฐานในข้อนี้


ข้อ ๓ อธิบายในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

คำที่ว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น จำแนกออกโดยอาการ ๓ อย่างดังนี้

๑. จิตภายใน

๒. จิตภายนอก

๓. จิตในจิต

จิตภายใน นั้น ได้แก่ ลักษณะที่มีความเป็นอยู่เฉพาะมโนทวาร ไม่ประสานติดต่อกับอารมณ์ภายนอก

จิตภายนอก นั้น ได้แก่ ความเกี่ยวข้องสัมปยุตกันด้วยอารมณ์ภายนอก มีรูปเป็นต้น

จิตในจิต นั้น ได้แก่ การหยิบยกเอาส่วนใดส่วนหนึ่งตามอาการของจิตที่เป็นอยู่ ทั้งภายในและภายนอกก็ได้

ส่วนลักษณะของ จิตที่เป็นอยู่ภายใน นั้นมี ๓ อย่างคือ

๑. ราคะจิต จิตประกอบด้วยราคะความกำหนัดยินดี

๒. โทสะจิต ได้แก่ ความหงุดหงิดเกิดขึ้น อันเป็นส่วนภายใน

๓. โมหะจิต จิตที่มืดมนกลุ้มอกกลุ้มใจอยู่ จะพิจารณาเอาเรื่องอะไรก็ไม่ได้ โดยย่อก็คือได้แก่ความหลงนั่นเอง

ทั้ง ๓ อย่างนี้เรียกว่าจิตภายใน

จิตภายนอก นั้นท่านก็แยกออกเป็น ๓ อย่างเหมือนกันคือ

๑. ราคะจิต

๒. โทสะจิต

๓. โมหะจิต

แต่ ที่เรียกว่าภายนอกนั้น เพราะสิ่งทั้งสามเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมแล่นออกไปสู่อารมณ์ทั้งหลายภายนอก อันเป็นบ่อเกิดแห่งความกำเริบของจิตทั้งหลายเหล่านั้น มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น มิได้รู้แจ้งเห็นจริงในอายตนะทั้งหลายเหล่านั้น รู้ไปต่างๆ อันผิดจากความเป็นจริง เป็นต้นว่า ไม่งามเห็นว่างาม ไม่เที่ยงเห็นว่าเที่ยง เป็นทุกข์เห็นว่าสุข ไม่ใช่ของของตนเห็นว่าเป็นของตน เหล่านี้เรียกว่าจิตภายนอก

จิตในจิต คือได้แก่ การหยิบยกเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของจิตทั้งหลายที่กล่าวมานั้น ตัวอย่างเช่น บางครั้งก็มีราคะ บางครั้งก็มีโทสะ บางครั้งก็มีโมหะ

ใน คราวใดสมัยใด จิตทั้งหลายเหล่านั้นได้เกิดขึ้นแก่ตนแล้ว ก็ตั้งใจหยิบยกเอาจิตดวงนั้นๆ เข้าไว้ แล้วให้ตั้งสัมปชัญญะความรู้สึกตัวประจำใจไว้ ตั้งสติแล่นติดต่อในอารมณ์นั้นๆ ให้มั่นคง อย่าส่งไปในอารมณ์อื่น และอย่าให้ความปรารถนาใดๆ เกิดขึ้นในขณะจิตอันนั้น แล้วใช้อาตาปี คือความเพียรเพ่งพิจารณาอยู่ในอารมณ์นั้น อย่าหวั่นไหวจนกว่าจะรู้ความเป็นจริงของเขา

ความจริงของนั้นเมื่อ เกิดขึ้นแล้วยิ่งกำเริบก็มี เสื่อมน้อยถอยไปก็มี เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งแล้วก็เสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา หาเป็นแก่นสารมิได้ ตั้งใจเพ่งพิจารณากันอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงแม้ว่ากิเลสเหล่านั้นจะมีปรากฏอยู่ ถ้าหากว่าเราเป็นผู้มีสัมปชัญญะความรู้ตัว สติความระลึกได้ อาตาปีความเพียรเพ่งพิจารณา เมื่อคุณธรรม ๓ ประการนี้มีประจำอยู่ในตนเอง อกุศลจิตทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่มีโอกาสที่จะเจริญงอกงามขึ้นได้ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีอยู่ในพื้นแผ่นดินที่ถูกครอบเสียด้วยภาชนะ เป็นต้นว่าหม้อหรือกะลาที่เขาครอบไว้ซึ่งพันธุ์ผักกาดที่กำลังงอกขึ้นใหม่ ถ้ามนุษย์ไม่หยิบยกกะลานั้นออกแล้ว พืชพันธุ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่มีทางเจริญเติบโตขึ้นได้ มีแต่ที่จะเหี่ยวแห้งตายไปถ่ายเดียวเท่านั้น ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติก็ควรที่จำต้องใช้สัมปชัญญะความรู้ตัวประจำจิตนั้นๆ ไว้ สติค่อยแล่นระลึกอยู่ในอารมณ์นั้น อาตาปีเพียรเพ่งแผดเผา กิเลสเหล่านั้นก็จะเบาบางห่างไกลไปจากใจของตนทุกเมื่อ

จิตทั้งหลาย ที่กล่าวมา เปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดและถั่วเขียว สติเปรียบเหมือนกะลา สัมปชัญญะเปรียบเหมือนบุคคลผู้หว่านเมล็ดพันธุ์ อาตาปีความเพียรเพ่งพิจารณา อุปมาเหมือนแดดอันเป็นเครื่องเผาผลาญให้พืชพันธุ์ย่อยยับดับสูญ

ที่กล่าวมานี้พูดถึงจิตฝ่ายชั่ว

ส่วนจิตฝ่ายดีนั้นก็มีตรงกันข้าม เช่น

วิราคจิต จิตที่คลี่คลายออกมาจากความกำหนัดยินดี

อโทสะ คือจิตปราศจากความหงุดหงิดงุ่นง่าน อันเป็นบ่อเกิดแห่งความเสียหาย

อโมหจิต จิตที่ปราศจากความลุ่มหลงมัวเมา เข้าใจผิดไปต่างๆ

นี้ เป็นส่วนกุศลจิตอันเป็นรากเหง้าแห่งความดีทั้งหลาย เมื่อเกิดมีแก่ตนแล้วก็ให้รักษาไว้แล้ว คอยกำหนดไว้จะตรวจดูภูมิภาคของตน จะได้รู้ว่าจิตใจของตนนั้นอยู่ในภูมิอันใด ถ้าจะกล่าวตามภูมิของจิตแล้วก็มีอยู่ ๔ อย่าง อันเป็นภูมิภาคแห่งความดีคือ

๑. กามาวจรภูมิ

๒. รูปาวจรภูมิ

๓. อรูปาวจรภูมิ

๔. โลกุตตรภูมิ

๑. กามาวจรภูมิ นั้น มีจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น แล้วแล่นเข้าไปติดต่ออารมณ์ทั้งหลายอันเป็นกุศล เป็นต้นว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งกุศล เมื่อตนได้ประสบอารมณ์นั้นๆ แล้วก็เกิดโสมนัสยินดีปรีดาร่าเริงอยู่ด้วยอารมณ์เหล่านั้น มีรูปเป็นต้น แต่รูปในที่นี้ หมายเอารูปอันเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมอย่างเดียว จึงเรียกว่า กามาวจรกุศล ถ้าย่นย่อภูมิชั้นแห่งกามาวจรสวรรค์มาไว้ในตนแล้ว ดังนี้ คือ รูปอันเป็นที่ตั้งแห่งกุศลนั้น เป็นสวรรค์ชั้นหนึ่ง เสียงที่เป็นกุศลชั้นหนึ่ง กลิ่นที่เป็นกุศลชั้นหนึ่ง รสที่เป็นกุศลชั้นหนึ่ง สัมผัสที่เป็นกุศลชั้นหนึ่ง ธรรมารมณ์ภายในที่เกิดกับใจชั้นหนึ่ง รวมลงเป็นสวรรค์ ๖ ชั้น นี้เรียกว่า กามาวจรภูมิ

๒. รูปาวจรภูมิ คือ จิตนั้นเกิดจากความวิตก เกิดขึ้นในรูปอันเป็นอารมณ์แห่งกรรมฐานอันใดอันหนึ่ง แล้วขยายอาการของรูปอันนั้นออกไปเป็นส่วนๆ ที่เรียกว่าวิจาร และคอยระวังจิตของตน อย่าให้เคลื่อนคลาดจากอารมณ์อันนั้น จึงเรียกว่า เอกคตารมณ์ เมื่ออารมณ์และจิตเป็นหนึ่งเช่นนี้แล้ว อารมณ์นั้นก็กลายเป็นของเบาใจ มีภาระน้อย ปล่อยความกังวลเสียได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ปีติความอิ่มใจ ความสุขสบายใจอันเป็นผลย่อมเกิดขึ้น เมื่อจิตประกอบด้วยองค์เช่นนี้เรียกว่า ปฐมฌาน รูปาวจรจิตในเบื้องต้น

๓. อรูปาวจรภูมิ คือ จิตปล่อยจากรูปอันเป็นส่วนรูปารมณ์นั้นแล้ว แต่ยึดถือในส่วนอารมณ์ที่ละเอียด อันเป็นประเภทแห่งนามธรรม เป็นต้นว่า อากาสานัญจายตนฌาน คือความเพ่งในที่ว่างๆ โล่งๆ รู้ๆ อยู่ว่าไม่มีรูปใดรูปหนึ่งผ่านเข้ามาปรากฏ ฉะนั้นจึงไม่สามารถรู้ได้ทั่วถึง เป็นแต่เข้าไปรู้หลบตัวอยู่ภายใน ไม่ใช่เข้าไปรู้อยู่ด้วยทำงานสำเร็จ เข้าไปรู้อยู่ด้วยอาการหลบหลีก คือ เห็นแก่โทษที่เกิดขึ้นแต่ส่วนภายนอก ไม่เห็นว่าโทษนั้นฝังอยู่ภายใน จึงเข้าไปหลบอยู่ทำความรู้ แต่ส่วนตัวก็สำคัญว่าตนหมดกิเลสไปบ้าง เพราะสำคัญที่ว่างนั้นเป็นพระนิพพาน นี้เรียกว่า อรูปาวจร ภูมิในเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งโลกีย์

ถ้าใคร ต้องการที่จะรู้ดีรู้ชอบแล้ว จิตดวงนี้เป็นโลกีย์หรือโลกุตตระนั้นอย่างนี้ คือ ให้สังเกตเมื่อทำความรู้เข้าไปสงบอยู่แล้วก็มีความสุขสบายคล้ายกับว่าไม่มี กิเลสเจือปน ถ้าปล่อยจิตดวงนั้นให้เป็นอยู่ตามธรรมดาแล้วก็เกิดกิเลสกำเริบขึ้นได้อยู่ ตามธรรมดา เหตุนั้นจึงเรียกว่าเป็นแต่โลกีย์ บางทีก็ทรงตัวอยู่ได้ไม่เสื่อม ด้วยอำนาจแห่งความเพียร บางทีก็เกิดความสงสัยลังเลขึ้นในความรู้ของตนนั้นอีก เป็นต้นว่า ลูบคลำคร่ำครวญอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อย่าพึงเข้าใจว่าเป็นความรู้อันแท้จริง

ถ้าจะพูดถึงความรู้อันมี มากอย่างเช่น มโนใจก็รู้ จิตก็รู้ วิญญาณก็รู้ ปัญญาก็รู้ สัมปชัญญะก็รู้ วิชชาก็รู้ อวิชชาก็รู้ รวมลงที่ว่ามานี้ ล้วนแต่หมายเอาความรู้เป็นฐานด้วยกันทั้งสิ้น ต่างกันแต่ลักษณะที่รู้ เมื่อไม่รู้จักแยกอาการของรู้แล้ว รู้นั้นก็สับกันได้ บางทีก็อาจจะเอาความรู้ผิดมาเป็นความรู้ถูก บางทีก็อาจจะเอาความรู้ที่เป็นอวิชชามาเป็นวิชชา บางทีก็เอาความรู้ที่ติดสมมติมาเป็นวิมุตติ ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติควรไตร่ตรองพลิกแพลงให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง ว่าความรู้อันใดเป็นความรู้อันแท้จริง ความรู้อันใดเป็นความรู้ที่ไม่จริง ความรู้ที่ไม่จริงนั้นสักแต่ว่ารู้ แต่ละไม่ได้ ความรู้ที่จริงนั้น เมื่อเข้าไปรู้ในสิ่งใดย่อมละได้

นี้พูดมาในส่วนภูมิภาคแห่งจิตทั้งหลาย ทั้ง ๓ อย่างนี้เรียกว่า โลกียภูมิ

๔. โลกุตตรภูมิ นั้นนับแต่ขั้นแรก คือ ได้แก่

โสดาปตฺติผล โสดาปตฺติผลในเบื้องต้นท่านก็ดำเนินมาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นส่วนโลกีย์ อันเป็นภาคพื้นเหมือนกัน แต่ท่านเป็นผู้ได้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ ในครั้งแรก จึงจะได้ละสังโยชน์ ๓ ประการออกจากตนเสีย ดวงใจของท่านนั้นจึงได้หลุดเข้าไปในกระแสของนิพพาน

ที่เรียกว่าสังโยชน์ทั้ง ๓ นั้นคือ

๑. สกฺกายทิฏฺฐิ ความเห็นเป็นเหตุให้ถือว่าก้อนกายนี้เป็นของตน

๒. วิจิกิจฉา ความลังเลเป็นเหตุให้ไม่แน่ใจในความดีที่เราเชื่อถือกันคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความจริงหรือไม่

๓. สีลพฺพตปรามาส ความลูบคลำอยู่ในสิ่งที่ตนประพฤติปฏิบัติอยู่นั้น

ถ้า จะกล่าวให้สั้นก็ได้แก่ การที่ยึดถือความดีทั้งหลายอันเป็นส่วนของกิริยาภายนอก เป็นต้นว่า รักษาศีล หรือทำข้อวัตรปฏิบัติ ก็ยึดถือเอาแต่อาการของกายของวาจาเท่านั้น เป็นต้นว่า ศีลก็รักษากันแต่สิกขาบท สมาธิก็ได้แต่กิริยานั่งโด่อยู่เท่านั้น ไม่สามารถที่จะปลดเปลื้องกิริยาทั้งหลายเหล่านั้นออกจากตนได้ ยังคอยยึดเอาความดีอันเกิดจากกิริยานั้นอยู่ ถ้าได้ทำกิริยาเช่นนั้นแล้วก็ดีใจ ถ้าพลาดพลั้งไม่ได้ทำตามกิริยานั้นแล้วใจก็เสีย เป็นต้นว่า ศีลก็จะเอาจากพระ ศีลแปดหรืออุโบสถก็ยึดถือกันอยู่แต่วัน คืน ปี เดือน ยึดเอาความได้ความเสียอยู่แค่กิริยาภายนอกอันเป็นลัทธิเคยชิน หาเข้าถึงศีลธรรมไม่ อย่างปฏิบัติได้ก็แค่สีลพฺพตุปาทาน ถือกันแต่ลัทธิ ถือประเพณี ถือสมมติว่าดี เหล่านั้น ยึดมั่นมิได้ปล่อยวางลูบคลำอยู่เสมอ จึงเรียกว่า สีลพฺพตปรามาส เป็นเครื่องกั้นแห่งความดี เป็นต้นว่า ทาน ศีล ภาวนา ที่เคยถือกันมาว่า วัน ๘ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำ นั้นแหละเป็นบุญ

ส่วน โสดาที่ท่านได้ละขาดแล้วหาถือเช่นนั้นไม่ คือใจท่านไม่ข้องอยู่ในลัทธิประเพณี คือศีลของท่านไม่มีสิกขาบทเสียแล้ว คือเข้าถึงตัวจริงของศีลเสียแล้ว ศีลก็ปราศจากกาลเวลา ไม่เหมือนปุถุชน ปุถุชนนั้น จะต้องมอบหมายความดีให้กิริยาภายนอกอยู่ เป็นต้นว่าศีลอยู่กับวัน ๘ ค่ำ อยู่กับวัน ๑๕ ค่ำ อยู่ในพรรษา อยู่ในเดือนปีเช่นนี้แล้วก็ยึดถือกันอย่างมั่นคง ถ้าใครทำไม่ถูกตามประเพณีลัทธินั้นๆ แล้วก็หาว่าไม่เป็นศีลเป็นธรรม ในที่สุดก็เลยหาโอกาสทำความดีได้ยาก นี่แหละจึงเรียกว่า ไม่รู้จักหลักเกณฑ์แห่งความดีทั้งหลาย

ส่วนโสดานั้นศีลธรรมได้แล่น เข้าไปบรรจุอยู่ในกายใจทั้งหมด ปลดเปลื้องออกเสียได้ซึ่งลัทธิที่โลกเขานิยมว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ดีจริงนั้นท่านได้เห็นปรากฏอยู่ในใจของท่านเอง ดีก็อยู่ที่ตรงนี้ ชั่วก็อยู่ที่ตรงนี้ หามีอยู่ตามกิริยาภายนอกไม่ สมได้กับพุทธภาษิตว่า “มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจทั้งสิ้น”

นี้ แลชื่อว่าโสดา อุปมาเปรียบเหมือนบุคคลที่แจวเรือถูกร่องลงแหล่งแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีแต่ที่จะลอยไปสู่ปากน้ำสมุทรสาคร กล่าวคือ อมตนฤพานนั้นถ่ายเดียว กิริยาที่จะต้องไหลไปสู่มหาสมุทรนั้นมีอยู่ ๓ ประการคือ

๑. โสดาชั้นต่ำ เปรียบเหมือนคนที่นอนถ่ายเกกจับตะกูดเรือไว้เฉยๆ เรือนั้นก็แล่นไปถึงช้า นี้จำพวกหนึ่ง

๒. มือจับแจว ขาเกาะตะกูดแล้วก็แจวไป นี้พวกหนึ่ง

๓. เรือนั้นใส่เครื่องยนต์ มีคนถือพวงมาลัยแล่นไปถึงจุดหมายอย่างเร็วนี้ อุปมาฉันใด พระอริยโสดาเหมือนบุคคลที่แจวเรืออยู่ ๓ จำพวกนั้นนี้แหละ เรียกว่าบุคคลที่เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพานที่เรียกว่าโลกุตตรภูมิในเบื้อง ต้น

ถ้าจะย่นย่อหัวข้อแห่งสังโยชน์ทั้ง ๓ ก็ดังนี้ ยึดถือก้อนกายเป็นของของตนเรียกว่า สกฺกายทิฏฐิ คือ กิริยาของกายนี้หนึ่ง

เรียกว่า สีลพฺพตปรามาส ไม่รู้จักแยกกายออกจากจิต ไม่รู้จักแยกจิตออกจากกิริยานี้หนึ่ง

จึงเป็นเหตุไม่รู้แจ้งเห็นจริง จึงเกิดความลังเลใจไม่แน่นอน เรียกว่า วิจิกิจฺฉา

ที่แสดงออกมานี้เป็นส่วนความเห็น ฉะนั้นผู้ฟังทั้งหลายให้ไตร่ตรองดูอีก

นี้ แสดงมาในส่วนโลกุตตรภูมิของจิตทั้งหลายที่เป็นฝ่ายอกุศลจิต เมื่อรู้จักจิตทั้งหลายที่เป็นไปด้วยอาการเช่นนี้แล้ว การใช้คุณธรรม ๓ อย่างมาเป็นเครื่องมือ คือ ทำสติและสัมปชัญญะ อาตาปีความเพียรเพ่งพิจารณาทั้ง ๓ ประการนี้เข้าประจำจิตนั้นไว้ ที่จะรู้ได้ต้องใช้อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาอันเป็นส่วนปัญญา คือ ให้รู้จักความเกิดขึ้นดับไป ถอนออกและตั้งอยู่และสงบเข้าไป ต้องใช้การกำหนดพิจารณาอยู่เป็นนิจจึงจะรู้ได้ในความเกิดและความดับของจิต และธรรมชาติของจิตที่ไม่เกิดไม่ดับก็จะรู้ได้

รู้ความเกิดและความดับของจิตอันเป็นส่วนอดีตนี้ก็เรียกเป็นวิชาชั้นหนึ่ง น่าจะเรียกได้ว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติญาณ

รู้จักความเคลื่อนเลื่อนไปแห่งภูมิจิตอันเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ น่าจะเรียกได้ว่า จุตูปปาตญาณ

รู้จัก แยกจิตออกจากอารมณ์ แยกอารมณ์ไว้ส่วนหนึ่ง แยกกระแสจิตที่แล่นไปไว้ส่วนหนึ่ง แยกสภาพของจิตไว้ส่วนหนึ่ง ที่รู้ได้เช่นนี้น่าจะเรียกได้ว่า อาสวกฺขยญาณ

อารมณ์เป็นกามาสวะ กระแสจิตที่แล่นไปเรียกว่าภวาสวะ ที่ไม่รู้จักสภาพของจิตเรียกว่าอวิชชาสวะ

ถ้าจะพูดในส่วนอริยสัจจ์ ๔ แล้วต้องพูดได้ดังนี้คือ

อารมณ์เป็นส่วน ทุกข์สัจจ์

จิตที่แล่นเข้าไปหลงอารมณ์เป็น สมุทัยสัจจ์

จิตที่เข้าไปรู้แจ้งเห็นจริงในอารมณ์ทั้งหลาย และกระแสจิตที่แล่นอยู่และสภาพจริงของจิตเดิมรู้ได้เช่นนี้เรียกว่า มรรคจิต

ปล่อยวางสภาพของอารมณ์และกระแสจิต และสภาพจิตอันนี้ ปล่อยได้ไม่ยึดถือนี่แหละเรียกว่า นิโรธสัจจ์

จิตประกอบด้วยคุณธรรม ๓ อย่างมี

สัมปชัญญะ ความรู้ตัวดี

อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณา

สติ ความระลึกได้

เมื่อ คุณธรรมเหล่านี้แก่กล้ามีกำลังมากขึ้นแล้ว สัมปชัญญะกล้าเป็นตัว วิชชาวิมุตติ สติกล้าเรียก ญาณ อาตาปีกล้าเรียกว่า วิปัสสนาญาณ ตัวปัญญากำหนดรู้ทุกข์สัจจ์ คอยห้ามความยินดียินร้ายในอารมณ์ญาณหยั่งรู้สมุทัย วิชาความรู้แจ้งแทงตลอดแห่งจิตเมื่อรู้ได้โดยอาการเช่นนี้เรียกว่า รู้ถูก

ต่อไปนี้จะย้อนกล่าวในเรื่องจิตอีกสักหน่อย คำที่ว่าจิตๆ นั้นแยกออกโดยอาการ ๓ อย่างคือ

๑. สภาพจิตเดิม

๒. จิต

๓. จิตประสมด้วยอารมณ์

อาการ ทั้งหลายเหล่านี้รวมเรียกว่าจิต ถ้าใครไม่รู้เช่นนี้ไม่เรียกว่าเป็นผู้รู้จิตได้ มีแต่จะพูดกันว่าจิตเกิดจิตดับ จิตไม่เกิดไม่ดับ จิตดี จิตชั่ว จิตสูญ จิตไม่สูญ จิตเป็นธรรม จิตไม่ใช่ธรรม จิตพ้น จิตไม่พ้น จิตเป็นนิพพาน จิตไม่ใช่นิพพาน จิตเป็นวิญญาณ จิตไม่ใช่วิญญาณ จิตเป็นใจ ใจไม่ใช่จิต

ตาม พุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ แนวทางปฏิบัติมีอยู่สองทางเท่านั้น คือ กายวาจาใจนี้หนึ่ง กายวาจาจิตนี้หนึ่ง สองจุดนี้ในที่สุดก็ไปรวมจุดเดียวกัน จุดที่ประสงค์แท้จริงนั้นก็คือความหลุดพ้น

ฉะนั้น เมื่อท่านทั้งหลายต้องการทราบความจริงนั้นๆ จำเป็นอยู่ที่จะต้องปฏิบัติให้เข้าถึงด้วยตนเอง มิฉะนั้น ก็จะต้องทุ่มเถียงกันอยู่ไม่เว้นวาย ปัญหาอันนี้ถ้าผู้ใดปฏิบัติไม่รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว นักปราชญ์ท่านกล่าวว่า “เสทโมจนคาถา” แปลว่าคำพูดที่เหงื่อไหลขี้ไคลแตก ฉะนั้น จึงมีความประสงค์จะอธิบายสักหน่อยว่า

สภาพจิตนั้นเป็นสภาพที่รู้อยู่อย่างเดียวนี้หนึ่ง

กระแสที่คิดแล่นออกมาจากรู้ไปสู่อารมณ์ต่างๆ นั้นเรียกว่า จิตนี้หนึ่ง

เมื่อเข้าไปสัมปยุตกับอารมณ์แล้วหลงอารมณ์นั้นๆ กลายตัวเป็นกิเลส เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมองเรียกว่าจิตผสมนี้หนึ่ง

๑. จิต ๒. จิตผสม จิตสองดวงนี้ จะดีก็ตามจะชั่วก็ตาม ต้องเกิด ต้องดับ ต้องทำลายอยู่เป็นธรรมดา ต้นของจิตทั้งสองนี้เป็นสภาพจิตเดิม ย่อมไม่เกิดไม่ดับ เป็นฐิติธรรมประจำอยู่ด้วยอาการเช่นนั้น สภาพจิตเดิมนั้นที่เรียกว่าปภัสสร ผู้แต่งหมายเอาสภาพจิตอันเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ที่เป็นอยู่ตามธรรมดานี้เอง แต่ไม่มีใครสามารถเข้าไปล่วงรู้ เมื่อไม่รู้ย่อมไม่ให้ผลดี ตัวอย่างเช่น พูดกันว่าลิงได้แก้ว ฉะนั้นจึงสมควรแท้ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าอวิชชา แปลว่า ความรู้มืด ความรู้ไม่จริง สมกับว่า “ปพฺพนฺเต อญาณํ” แปลว่า ไม่รู้เบื้องต้น ได้แก่ ไม่รู้ในสภาพจิตเดิม “ปรนฺเต อญาณํ” แปลว่าไม่รู้เบื้องปลาย คือ ไม่รู้จิตที่ผสมกับอารมณ์แล้ว “มชฺฌนฺติก อญาณํ” แปลว่าไม่รู้ในท่ามกลาง คือ ไม่รู้จักกระแสจิตที่แล่นออกจากสภาพที่รู้เดิม เมื่อเป็นเช่นนี้จิตก็กลายเป็นสังขาร ย่อมปรุงแต่งเสกสรรค์ฟั่นเฟือนไปด้วยประการต่างๆ ดังมีอธิบายในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วยประการฉะนี้


ข้อ ๔ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นแยกออกเป็น ๓ ประเภทคือ

๑. ธรรมภายใน

๒. ธรรมภายนอก

๓. ธรรมในธรรม

๑. ธรรมภายใน อธิบายธรรมภายใน ในที่นี้หมายเอาฝ่ายชั่วก็มี ฝ่ายดีก็มี แต่ในที่นี้หมายเอานิวรณธรรมอันเป็นฝ่ายชั่วมี ๕ อย่างคือ

๑. กามฉนฺท ความพอใจรักใคร่

๒. พยาบาท ความพยาบาท

๓. ถีนมิทฺธ ความหงุดหงิดโงกง่วง

๔. อุทฺธจฺจ กุกฺกุจฺจ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

๕. วิจิกิจฉา ความลังเลใจ

นิวรณธรรม ๕ ประการนี้ เป็นได้ทั้งส่วนภายในและภายนอก ตัวอย่างเช่น

๑. จิตประกอบด้วยกามฉันทะแล้ว คือ เกิดความรักใคร่ ยินดีอยู่แต่ในจิตใจ ยังไม่ได้แล่นเข้าไปกำหนดหมายสัมปยุต (ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง)

๒. จิตประกอบไปด้วยความหงุดหงิดไม่ชอบแล้ว แต่มิได้เข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

๓. จิตหดหู่หงุดหงิดโงกง่วง เมื่อเกิดขึ้นในทางจิตใจ ยังมิได้แล่นเข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

๔. จิตฟุ้งซ่านรำคาญคิดกลุ้มโดยลำพัง ยังมิได้ไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

๕. จิตสงสัยลังเลไม่แน่ใจ คิดอะไรไม่ตลอดเรื่อง แต่ยังไม่ได้เข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เป็นอยู่โดยลำพังตนเองเท่านั้น

ถ้า นิวรณธรรมทั้งหลาย ๕ ประการนี้ มีกำลังยังอ่อนอยู่ ยังไม่ได้แล่นไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอกแล้ว ฉะนั้นจึงเรียกว่า ธรรมภายในนี้หนึ่ง

๒. ธรรมภายนอก ธรรมภายนอกก็แล่นออกมาจากภายในนั้นเองคือ

๑. จิตคิดชอบใจรักใคร่ได้เกิดขึ้นแล้ว แล่นเข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้นนี้หนึ่ง

๒. จิตหงุดหงิดไม่ชอบเกิดขึ้น แล้วแล่นไปกำหนดจดจำไว้ในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นอาทิ แล้วเกิดความไม่ปรารถนาในสิ่งเหล่านั้น อยากให้สิ่งเหล่านั้นวิบัติไป

๓. จิตหดหู่โงกง่วงได้เกิดขึ้นแล้ว ก็แล่นไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก เมื่อกำหนดจดจำได้แล้วก็ยิ่งให้เป็นเหตุเกิดความง่วงหนักขึ้น

๔. จิตหงุดหงิดฟุ้งซ่านได้เกิดขึ้นแล้ว ก็แล่นเข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เหมือนกัน

๕. จิตลังเลไม่ตกลงสงสัยอยู่ได้เกิดขึ้นในใจแล้วปล่อยให้แล่นไปกำหนดหมายเอาใน อารมณ์ภายนอก มีรูปารมณ์ เป็นต้น ฉะนั้น จึงเรียกว่า ธรรมภายนอก

ธรรม เหล่าใดเมื่อเกิดขึ้นในมโนทวารในครั้งแรกเรียกว่าธรรมภายใน เมื่อกำเริบแรงกล้าขึ้นแล้วก็แล่นไปสู่อายตนะภายนอก เรียกว่า ธรรมภายนอก

๓. ธรรมในธรรม คำที่ว่าธรรมในธรรมนั้นหมายเอา ส่วนใดส่วนหนึ่งของนิวรณธรรมทั้งหลาย ๕ ประการนั้น เพราะนิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการนั้นมิได้เกิดขึ้นในขณะจิตอันเดียวกัน ฉะนั้นให้หยิบยกเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของนิวรณ์มากำหนดพิจารณาก็ได้ เป็นต้นว่า กามฉันทะได้เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งสัมปชัญญะประจำจิตใจ ตั้งสติประคองจิตกับธรรมนั้นๆ อย่าหวั่นไหว อย่าให้ความปรารถนาใดๆ เกิดขึ้น ทำจิตของตนให้เข้มแข็งอยู่ในสถานที่แห่งเดียว อย่าไปเหนี่ยวอารมณ์อื่นมาแทรกแซง อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณา ก็ให้ใช้เพ่งลงไปเฉพาะอารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นแล้วอย่าละเลิกซึ่งความเพียรของตน เมื่อทำได้เช่นนี้เรียกว่าเป็นผู้เจริญธรรมในธรรม

ธรรมทั้งหลายที่ กล่าวมานี้เป็นฝักใฝ่อกุศลธรรม เป็นเครื่องกีดกั้นเสียซึ่งคุณธรรมอย่างอื่น เป็นต้นว่า ญาณ หรือวิปัสสนาญาณและโลกุตตระเป็นเบื้องหน้า ฉะนั้น ผู้ต้องการความหลุดพ้นไปจากธรรมทั้งหลายนั้นแล้ว จำเป็นจะต้องทำจิตของตนให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิก่อน ที่จะทำจิตให้ตั้งมั่นได้นั้นจะต้องสร้างคุณธรรม ๓ อย่างให้เกิดขึ้นในตน คือ

๑. สัมปชัญญะ ความรู้ดี ให้มีไว้ประจำใจของตน

๒. สติ ความระลึกได้ ให้ประคองไว้ซึ่งจิตของตนกับอารมณ์นั้นๆ ที่เกิดกับตนอย่างใดอย่างหนึ่ง ประคองอารมณ์นั้นให้อยู่กับจิต ประคองจิตไว้อย่าให้เคลื่อนคลาดไปสู่อารมณ์อื่น

เมื่อเห็นว่าจิตกับ อารมณ์เหล่านั้นเชื่องช้า แล้วก็ให้ใช้อาตาปี อันเป็นข้อที่ ๓ ต่อไป คือ ความเพียรเพ่งพิจารณาความเท็จจริงของธรรมทั้งหลายเหล่านั้น

ถ้ายัง ไม่รู้แจ้งเห็นจริง อย่าพึ่งละทิ้งซึ่งความเพียรของตน เพ่งพิจารณาจนกำลังปัญญานั้นแก่กล้าก็จะได้รู้ว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้น จะเป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม ธรรมในธรรมก็ตาม ก็จะมีแต่ความเกิดขึ้นและเสื่อมไป ความดับไป หาเป็นสาระแก่นสารมิได้ เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสังขตธรรมทั้งสิ้น

ขึ้นชื่อว่า สังขตธรรมแล้ว ก็ตกอยู่ในสภาพแห่งความจริง คือ อนิจฺจตา เป็นของไม่เที่ยง ทุกฺขตา เป็นทุกข์ ทนอยู่ได้ยาก อนตฺตา ไม่ใช่ตัวตนเราเขา ย่อมเปลี่ยนแปลงแปรผันไปตามธรรมดาธรรมชาติ นักปราชญ์ที่มีปัญญาหายึดเป็นแก่นสารตัวตนไม่ ท่านแลเห็นได้ราวกะว่ากงจักรหรือล้อรถ คนใดเข้าไปเกาะอยู่กงจักรนั้น กงจักรนั้นก็เหยียบบี้บีฑา เพราะฉะนั้นกัลยาณชนผู้หวังความสุขในพระพุทธศาสนาอันแท้จริง ควรเอาคุณธรรมทั้ง ๓ ประการดังกล่าวแล้วนั้น มาไว้ประจำใจของตน ก็จะรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ปราศจากสังขารที่เรียกว่า อสังขตธรรม คือเป็นธรรมที่แท้ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอยู่โดยธรรมชาติ ไม่มีอาการหมุนเวียนเกิดดับ ธรรมอันเป็นอสังขตะนี้ย่อมมีอยู่ตามธรรมดาธรรมชาติ แต่ไม่มีนักปราชญ์ใดในโลกที่จะรู้ได้ นอกจากผู้ที่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา

ฉะนั้น ผู้ประสงค์พ้นทุกข์อันแท้จริงควรที่จะปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงเกิดขึ้น ด้วยความเพียรของตนเอง เมื่อผู้ปฏิบัติได้ใช้สัมปชัญญะประจำใจแล้วก็จะรู้ได้ถึงสภาพแห่งจิต สติ มีประจำตนอยู่ อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาให้มีประจำไว้ในตน จึงจะเป็นผู้ไม่ลุ่มหลงอารมณ์

ธรรมดาคนเราไม่ค่อยจะรู้สึกสภาพแห่งตน จึงไม่รู้ได้ในธรรมารมณ์อันเป็นส่วนที่เกิดกับตน แล้วก็แล่นเข้าไปยึดอารมณ์ทั้งหลาย จึงกลายเป็นวัฏฏสงสาร เวียนวนอยู่อันไม่มีที่สิ้นสุด จุดหมายวัฏสงสารในที่นี้ จะย่นย่อได้มาไว้เฉพาะตัวตน เป็นต้นว่า ความไม่รู้สภาพแห่งจิตเดิมนั้นเป็นกิเลสวัฏฏ จัดเป็นอวิชชาข้อแรก จึงเป็นเหตุให้เกิดกรรมวัฏฏ ได้แก่ สังขาร วิปากวัฏฏเข้าไปเสวยอารมณ์ทั้งหลายกลายเป็นวัฏฏะ ๓ ดังนี้

จะอุปมา วัฏฏะ ๓ ดังนี้ คืออวิชชาเป็นดุมเกวียน สังขารเป็นกำเกวียน อารมณ์เป็นกงเกวียน อายตนะภายนอกเปรียบเหมือนวัด อายตนะภายในเป็นเครื่องสัมภาระ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เปรียบเหมือนคนขับ ต่อจากนั้นก็ขนของขึ้นใส่ กล่าวคือ กิเลสทั้งหลาย แล้วก็จะตีกันไปปฏักจี้เข้าไป วัวก็จะวิ่งแล่นลากกันไป ขึ้นเขาไปด้วย ลงห้วยไปตาม ในที่สุดก็จะกระจายไปคนละแห่ง ที่เรียกว่าตาย เหตุนั้นจำเป็นต้องให้รู้เข้าถึงสภาพแห่งจิตอันเป็นเพลาที่ไม่หมุนไปตาม เครื่องสัมภาระทั้งหลายนั้นเรียกว่า วิวัฏฏะ เมื่อใครทำได้เช่นนี้ เป็นหนทางกระชั้นกะทัดรัดไม่เนิ่นช้า

ตัวอย่างในสมัยโบราณพระภิกษุ และอุบาสิกาทั้งหลาย บางทีนั่งเทศน์อยู่ บางทีเที่ยวบิณฑบาตอยู่ บางองค์ก็ดูซากศพอยู่ แต่ทำไมท่านจึงสำเร็จได้ เหตุนี้ก็สันนิษฐานได้ว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้ประกอบขึ้นแล้วด้วยคุณธรรมทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว นั้น ได้เพียรเพ่งพิจารณาจนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นในที่นั้น โดยไม่ต้องถอยไปถอยมา ถอยออกถอยเข้า วางไว้โดยธรรมดาธรรมชาติ บางเหล่าก็เข้าใจกันเสียว่า ต้องให้ละอารมณ์ทั้งหมดจึงจะทำจิตได้ แต่แท้ที่จริง จิตก็หลงอารมณ์นั้นแหละส่วนมาก เมื่อหลงที่ตรงไหน ให้พิจารณาที่ตรงนั้น ถ้าไม่แก้ตรงหลงนั้นจะให้ละโดยหลบหนีนั้นเป็นไปไม่ได้ ถึงเป็นไปก็จะกลับมาหลงอารมณ์เก่านั้นอีก

เหตุนั้นผู้มีปัญญาจะทำ ภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม ย่อมทำให้ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติได้ทุกสถาน ไม่มีอาการว่านอกผิดในถูก นอกถูกในผิด ในละเอียดนอกหยาบ ความเห็นเหล่านี้ย่อมไม่มีแก่ท่านที่มีปัญญา ปัญญาแปลว่าความรอบรู้หรือความรู้รอบ จึงเรียกว่า ปัญญาสมบูรณ์ รู้รอบนั้น รู้ในก่อนแล้วไปรู้นอก รอบรู้นั้นรู้นอกก่อนแล้วแล่นเข้าถึงใน จึงเรียกว่าผู้มีปัญญา ข้างนอกทำให้เข้าถึงในได้ หยาบทำให้ละเอียดได้ อดีตอนาคตทำให้เข้าถึงปัจจุบันได้ เพราะท่านเป็นผู้ประสมส่วนของมรรคให้เสมอกัน คือ สติ สัมปชัญญะ อาตาปี ทำหน้าที่แห่งตนอันเป็นหนทางพ้นซึ่งทุกข์ทั้งปวง เมื่อใครปฏิบัติได้โดยอาการเช่นนี้ ก็สามารถบรรลุคุณธรรมได้ทุกอิริยาบถ จะมีปรากฏได้แต่สภาวทุกข์ สภาวธรรม เห็นได้เช่นนี้เรียกว่า ยถาภูตญาณ เห็นจริงตามสภาพแห่งความจริงดังนี้

สรุปใจความย่อหัวข้อแห่งสติ ปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ รูปหนึ่ง นามหนึ่ง อีกสำนวนหนึ่งเรียกว่า กาย ใจ ถึงจะแยกเป็น ๔ ประเภทก็ตาม สักแต่ว่ากระแสจิตที่แบ่งไปเท่านั้น ถ้าจะกล่าวถึงความประสงค์ในการประพฤติปฏิบัติแล้วก็มีอยู่เท่ากับกายหนึ่ง ใจหนึ่ง

เมื่อต้องการปฏิบัติให้รวบรัดจริงๆ แล้ว ให้กำหนดกาย พิจารณากายนี้หนึ่ง กำหนดใจ พิจารณาใจนี้หนึ่ง

กำหนด กายพิจารณากาย ดังนี้คือให้ทำความรู้สึกไว้ ในกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เป็นต้นว่า ลมหายใจ เมื่อกำหนดไว้แม่นยำเช่นนี้แล้ว จึงให้ขยายไปดูในส่วนอื่น ได้แก่ การพิจารณาส่วนของร่างกายโดยอาการต่างๆ เวลาพิจารณา จนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในส่วนของร่างกาย จนจิตนั้นนิ่งสงบนิ่งละเอียดเข้าไปยิ่งกว่าเก่า จะมีอะไรเกิดขึ้นในขณะจิตพิจารณาอยู่นั้น อย่ายึดถือเอาเป็นอันขาด

ประการ ที่ ๒ กำหนดใจพิจารณาใจ นั้นคือทำความรู้สึกไว้ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ทำความรู้นั้นให้นิ่งอยู่ เมื่อใจนิ่งพอสมควรแล้ว ให้พิจารณาความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของเขาจนรู้ขึ้นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงของเขาจะดีก็ตาม ชั่วก็ตามเป็นสักว่าประเภทสังขาร จะมีความรู้ ความคิด ความเห็นอันใดเกิดขึ้นอย่ายึดถือเป็นอารมณ์ ทำความรู้สึกอยู่ในปัจจุบัน เมื่อทำด้วยอาการเช่นนี้ จิตใจของตนก็จะเป็นไปเพื่อความสงบและความรู้แจ้งเห็นจริงได้ในการปฏิบัติ นี้เรียกว่า ดำเนินตามแนวทางสติปัฏฐานทั้ง ๔

เมื่อทำได้เช่นนี้ก็ เป็นหนทางให้เกิดมรรคจิต ถ้ากำลังองค์มรรคสมบูรณ์เกิดขึ้นในขณะใดแล้ว ก็จะปล่อยกันได้ในขณะนั้น การปล่อยนั้นมีอยู่ ๒ สถานคือ

๑. ปล่อยอารมณ์ได้ แต่ปล่อยจิตใจของตนไม่ได้

๒. ปล่อยอารมณ์ได้ ปล่อยตนได้

การ ปล่อยตนได้กับปล่อยอารมณ์ได้ นี้เป็นความรู้จริง ปล่อยอารมณ์ได้ แต่ปล่อยตนเองไม่ได้ นี้เรียกว่าไม่รู้จริง ความรู้ที่แท้จริงนั้นย่อมปล่อยได้ทั้ง ๒ เงื่อน คือวางจิตใจตามสภาพของจิต วางอารมณ์ตามสภาพของอารมณ์ คือธรรมชาติรักษาธรรมชาติ อารมณ์ในที่นี้หมายเอากาย ตนหมายเอาใจ ต้องปล่อยวางไว้ทั้ง ๒ ประการนี้

เมื่อ รู้เข้าถึงโดยอาการเช่นนี้แล้วก็ไม่ใคร่จะวิตกถึงศีล สมาธิ ปัญญาเท่าไรนัก ศีล สมาธิ ปัญญานั้นไม่ใช่สภาพของจิต สภาพจิตไม่ใช่ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นสภาพสังขารธรรมเท่านั้น เป็นเครื่องปราบกิเลสให้ดับเมื่อใด ศีล สมาธิ ปัญญาก็ดับลงไปเมื่อนั้น ศีล สมาธิ ปัญญาเปรียบด้วยน้ำ กิเลสเปรียบเหมือนด้วยไฟ จิตใจเปรียบด้วยคนผู้เอาน้ำไปดับไฟ เมื่อน้ำดับไฟมอดไปแล้ว น้ำก็หายไปในที่นั้นเอง แต่ผู้เอาน้ำไปดับไฟนั้นไม่สูญ ไฟไม่ใช่น้ำ น้ำไม่ใช่ไฟ คนไม่ใช่น้ำ น้ำไม่ใช่คน คนไม่ใช่ไฟ ไฟไม่ใช่คน สภาพจิตที่แท้จริงนั้นไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอยู่ตามสภาพแห่งตน คนที่ไม่รู้สภาพแห่งความจริงก็เห็นว่าตายสูญ หรือนิพพานสูญไปต่างๆ เป็นความเข้าใจผิดของบุคคลผู้นั้น ถึงแม้จิตยังไม่ถึงธรรมชั้นสูงเสมอโสดาบันเท่านั้น ท่านก็ย่อมรู้สภาพจิตได้ว่าไม่สูญ เหตุนั้นจึงเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าเชื่อมรรค เชื่อผล แต่ยังไม่พ้นไปจากกิเลสเครื่องเจือปน ถึงจะเจือปนได้ ก็ไม่สามารถที่จะลบล้างสภาพจิตใจของท่านได้ เปรียบเหมือนทองคำตกหล่นอยู่ในธุลีมีเขม่ามลทินเข้าเกาะอยู่ แต่เขม่ามลทินนั้นก็ไม่สามารถกระทำให้ทองคำนั้นกลายเป็นอื่นได้ ผิดจากปุถุชนธรรมดา

ส่วนปุถุชนธรรมดานั้นจะมีจิตใจผ่องใสอยู่บ้าง บางขณะก็ไม่ค่อยจะตายตัว ไม่พ้นไปจากความเศร้าหมองอีก เปรียบเหมือนมีดที่ลับคมแล้วจะทรงตัวอยู่ได้ ก็อาศัยอาบน้ำมันไว้ ถ้าเอาน้ำมันใช้ในกิจการ หรือทิ้งไว้ มีดนั้นอาจกลายเป็นอื่นไปได้

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติควรกระตือรือร้นขวนขวายช่วยตนให้เข้าถึงกระแสธรรมชั้นต่ำจนได้ เพราะว่าคุณธรรมทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นส่วนสังขตธรรมก็ตาม อสังขตธรรมก็ตาม ย่อมมีปนกันอยู่ทุกรูปทุกนาม แต่ไม่ประเสริฐเหมือนวิราคธรรม วิราคธรรมนั้นได้แก่กิริยาที่แยกสังขตะและอสังขตะออกจากกัน เหมือนแยกแร่ทองคำออกจากก้อนหิน

ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นของลึกซึ้งละเอียดสุขุม ถ้าใครไม่ตั้งใจปฏิบัติจริงแล้ว ย่อมไม่รู้รสเสียเลย จะเปรียบได้เหมือนนายโคบาลที่รับจ้างเลี้ยงโคไม่ได้ดื่มรสแห่งนมโค ฉะนั้น พระพุทธศาสนาท่านก็ชี้ไว้ว่า ปริยัติเรียนรู้คัมภีร์ ปฏิบัติดีรู้ทันกิเลส ปฏิเวธรู้แล้วละวาง ดังนี้
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก