บัญชีมาร์จิ้นสะเทือนโลก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

บัญชีมาร์จิ้นสะเทือนโลก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาเกิดการบังคับขาย (forced sell)หุ้น ล็อตใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดผลขาดทุนมหาศาลของผู้ลงทุนใน อาร์คีโกส์ แคปิตอล อินเวสเมนท์ (Archegos Capital Investment) ที่บริหารโดย บิล หวง (Bill Hwang) ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี แล้ว ยังทำให้ราคาหุ้นของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อมาร์จิ้นให้กับกองทุน Archegos Capital ตกลงอย่างหนัก เพราะคาดการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสินเชื่อมาร์จิ้นเหล่านี้

บิล หวง ไม่ใช่คนหน้าใหม่ เขาเคยเป็นเซลส์ของบริษัทหลักทรัพย์ฮุนไดในช่วงต้น ทศวรรษ 1990 อยู่ในวงการซื้อขายหลักทรัพย์มา 30 ปี เคยบริหารกองทุนบริหารความเสี่ยง หรือ เฮดจ์ฟันด์ ชื่อ Tiger Asia Management มาก่อน และเคยมีเรื่องอื้อฉาว ถูกปรับจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ของสหรัฐอเมริกา ในปี 2012 กรณีใช้ข้อมูลภายในของบริษัทจีน ในการซื้อขายหุ้น โดยครั้งนั้นถูกปรับไปถึง 44 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,400 ล้านบาท)

เขาก่อตั้ง Archegos Capital Management ในปี 2013 Archegos เป็นภาษากรีก แปลว่า “ผู้นำ” หรือ “เจ้าชาย” เงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินของครอบครัวและสำนักงานลงทุนของผู้มีความมั่งคั่งสูง ที่เรียกว่า Family Office เนื่องจาก อาร์คีโกส์ แคปิตอลแมนเนจเมนท์ (ต่อไปจะขอเรียกว่า อาร์คีโกส์) เป็นการระดมเงินจากผู้ลงทุนรายใหญ่ เป็นลักษณะของ “เฮดจ์ฟันด์เงา” หรือ “Shadow Hedge Fund” ไม่ใช่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่เป็นทางการ จึงไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ กลต.สหรัฐ และไม่ต้องรายงานหรือเปิดเผยข้อมูลการลงทุนหรือการดำเนินการกับทางการ

อาร์คีโกส์ ใช้เครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า CFD (Contract for Difference) หรือ “สัญญาซื้อขายส่วนต่าง” ซึ่งเป็นอนุพันธ์ทางการเงินรูปแบบหนึ่งที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะชำระเพียงส่วนต่างของราคาเท่านั้น ไม่มีการส่งมอบหลักทรัพย์หรือตราสารกันจริงๆ และผู้ลงทุนยังสามารถใช้บัญชีมาร์จิ้น (Margin) ซื้อได้ จึงสามารถลงทุนได้มากกว่าเงินลงทุนที่มีอยู่ และชำระราคา (Settle) กันด้วยส่วนต่างของราคาเท่านั้น หากกำไรก็ได้กำไรสูง หากขาดทุนก็จะขาดทุนสูงด้วยค่ะ

ตามข่าว ทราบว่าอาร์คีโกส์ ทุ่มทุนไปกับ ViacomCBS และใช้มาร์จิ้นถึง 8 เท่าของเงินลงทุนที่มี ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นอินเตอร์เน็ตจีน หรือประมาณ 27,000 ล้านเหรียญ

ประเด็นคือ ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาหุ้นของจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกา ตกลงไปค่อนข้างมาก เนื่องจากทางสหรัฐ จะบังคับใช้กฎเกณฑ์และมาตรฐานบัญชีเดียวกับบริษัทในสหรัฐ ซึ่งอาจจะทำให้บริษัทจีนหลายบริษัทอาจต้องถูกถอนจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆของสหรัฐ โดยถึง ณ 26 มีนาคม 2564 หุ้นของจีนตกลงไปดังนี้

Tencent Music -36%, Vipshop -34%, Baidu -22%

เมื่อราคาหุ้นในพอร์ตที่ใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อมาร์จิ้นตกลงไปมาก ผู้ให้กู้ในสหรัฐคือ โกลด์แมนแซค (Goldman Sachs) และ มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) ก็บังคับขายหุ้น เพื่อลดการขาดทุน (Stop loss)ของผู้ให้กู้ในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม แต่เนื่องจากมูลค่าการขายมหาศาล คือ มากกว่า 20,000 ล้านเหรียญ จึงทำให้ราคาของหุ้นเหล่านั้นลดลงมาอย่างรวดเร็ว

ส่วนผู้ให้สินเชื่อมาร์จิ้นฝั่งเอเชีย คือ โนมูระ โฮลดิ้งส์ (Nomura Holdings) และ ยุโรป คือ เครดิตสวิส (Credit Suisse) และ ดอยช์แบงก์ (Deutshe Bank) บังคับขายไม่ทัน ราคาหุ้นของผู้ปล่อยกู้ให้กับ อาร์คีโกส์ จึงร่วงลงมาจากวันที่ 18 มีนาคม ถึงวันที่ 29 มีนาคม เมื่อตลาดประเมินผลขาดทุนจากการปล่อยสินเชื่อมาร์จิ้นครั้งนี้ดังนี้

โกลด์แมนแซค (Goldman Sachs) จากราคาหุ้นที่ 348 เหรียญ ลดลงมาเหลือ 325.73 เหรียญ หรือ -6.4%

มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) จากราคาหุ้นที่ 83.94 เหรียญ ลดลงมาเหลือ 77.88 เหรียญ หรือ -7.22%

เครดิตสวิส (Credit Suisse) จากราคาหุ้นที่ 12.46 สวิสฟรังก์ ลดลงมาเหลือ 10.42 สวิสฟรังก์ หรือ -16.44%

ดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) จากราคาหุ้นที่ 11.02 ยูโร ลดลงมาเหลือ 10.14 ยูโร หรือ -7.98% หลังจากออกข่าวว่าเสียหายไม่มากนัก

โนมูระ โฮลดิ้งส์ (Nomura Holdings) จากราคาหุ้นที่ 721 เยน ลดลงมาเหลือ 603 เยน หรือ -16.37% ในวันที่ 29 มีนาคม และ 583 เยน หรือ -19.14% ในวันที่ 1 เมษายน หลังจากประมาณว่าอาจจะขาดทุนจากกรณีนี้ถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดว่าผลลบจากเหตุการณ์นี้คงจะไม่ลามไปกว้าง แต่ดิฉันคิดว่าอาจจะมีผู้ลงทุนอื่นที่กระโจนเข้าไปลงทุนในหุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี ที่ปรับตัวขึ้นมากในปีที่แล้ว และบางคนอาจจะใช้สินเชื่อมาร์จิ้นด้วย ทั้งสถาบันการเงินในซีกโลกตะวันตกก็มีแรงกดดันที่จะปล่อยสินเชื่อ เพื่อนำรายได้มาชดเชยสินเชื่อธุรกิจที่หดหายไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด และตลาดทุนทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดสหรัฐยังมีความเสี่ยงจากนักลงทุนหน้าใหม่ไม่มีประสบการณ์ที่ลงทุนออนไลน์เพิ่มขึ้นมากในช่วงโควิดที่ตกงาน หรือต้องทำงานอยู่ที่บ้าน

จึงอยากให้ใช้กรณีนี้เป็นอุทาหรณ์ในการลงทุน และการทำธุรกิจว่า “อย่าโลภ” อย่ามองว่าเหตุการณ์ความบอบช้ำจากโควิดจะหายไปรวดเร็วเหมือนเช่นที่ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังมอง

การฟื้นตัวของตลาดในปีที่แล้วและปีนี้ เกิดจากสภาพคล่องที่รัฐบาลของทุกประเทศต่างอัดฉีดเข้าระบบ เพื่อช่วยเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดลงไปมากกว่านี้ เหมือนที่ดิฉันเขียนไว้ในบทความ “คราวนี้น้องๆ Great Depression” และเกิดจากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน ทำให้ผู้ลงทุนต้องทำใจกล้าเสี่ยงมากขึ้นเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ยังช่วยให้ไม่เกิดแรงกดดันในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วมากนัก แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา และจะเลิกราเมื่อความจริงเริ่มปรากฏมากขึ้นว่า ความบอบช้ำจะต้องใช้เวลาแก้ไขยาวนาน

ดังนั้น ต้องปรับสมดุลให้ดีค่ะ กล้าเกินไปก็เสี่ยง กลัวเกินไปก็เสียโอกาส การจัดพอร์ตการลงทุนจึงต้องจัดแบบผสมผสาน ให้เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนค่ะ
โพสต์โพสต์