ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงนโยบายการค้าของทรัมป์ว่ามีอยู่เพียง 3 ข้อคือ
1.ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐคือประเทศที่เอาเปรียบสหรัฐ
2.จะต้องเก็บภาษีศุลกากรกับประเทศดังกล่าวเพื่อตอบโต้และสหรัฐจะไม่เสียหาย เพราะประเทศคู้ค้าเป็นผู้จ่ายภาษีดังกล่าว
3.มาตรการดังกล่าวจะข่มขู่ให้ประเทศคู่ค้ายอมตามความต้องการของสหรัฐได้หรือบริษัทสหรัฐจะย้ายฐานการผลิตกลับมาที่สหรัฐตามเดิม
ในขณะที่ผมเขียนบทความนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสหรัฐกับจีนมีข้อตกลงอะไรบ้างในรายละเอียด แม้จะมีความเข้าใจร่วมกันว่าไม่ควรจะมีการเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นเพื่อตอบโต้ไป-มาเพิ่มไปจากเดิม ในขณะที่จีนเองก็ไม่ได้ยอมทำตามสหรัฐในสาระสำคัญอันใดที่จะทำให้สามารถปรับโครงสร้างการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนได้ การซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพิ่มขึ้นอีก 50,000 ล้านเหรียญในช่วง 2 ปีข้างหน้านั้นยังเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการที่สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนปีละกว่า 350,000 เหรียญ
แต่หากสหรัฐยุติการปรับขึ้นภาษีศุลกากรหรือในที่สุดต้องทำตามความต้องการของจีนในการปรับลดภาษีศุลกากรที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยจีนยังไม่ต้องตอบแทนสหรัฐในประเด็นใดที่จีนไม่สมัครใจอยู่เดิมแล้ว (เช่นการซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐ การเปิดให้ต่างชาติถือหุ้น 100% ในสถาบันเงินทุนและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการของจีนเอง) ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นว่านโยบายการค้า 3 ข้อของทรัมป์ดังที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
กล่าวคือท่าทีของทรัมป์คืออยากให้จีนซื้อสินค้าเกษตรและพลังงานจำนวนมากจากสหรัฐ (เพื่อใช้ในการหาเสียง) และต้องการให้ผู้นำจีนต้องบินมาลงนามในข้อตกลงขั้นที่ 1 (phase 1) ที่ประเทศสหรัฐด้วย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนั้นนอกจากจะให้จีนซื้อสินค้าสหรัฐจำนวนมากมายแล้ว ก็ยังจะต้องการให้จีนยอมรับที่จะเจรจาในประเด็นอื่นๆ (ที่จีนไม่เคยยอมเจรจาเช่นการยกเลิกนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมของรัฐบาลจีน) ในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้สหรัฐจะยอมถอนภาษีศุลกากรที่ทรัมป์ปรับเพิ่มในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ต่อเมื่อการเจรจาในเรื่องดังกล่าวประสบผลตามที่สหรัฐต้องการ ท่าทีของจีนนั้น ผมสรุปว่าต้องการให้เห็นเป็นประจักษ์ว่านโยบายของทรัมป์ไม่สามารถนำมาใช้กับจีนได้ กล่าวคือ
1.ผู้นำจีนจะไม่ยอมต้องบากหน้าไปหาทรัมป์ที่สหรัฐ (ทรัมป์อยากให้ลงนามข้อตกลงที่มลรัฐไอโอวา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญและเป็นฐานเสียงภาคการเกษตรของทรัมป์) แต่ต้องการให้ทั้งสองผู้นำไปพบกันในประเทศที่สาม
2.กระทรวงพาณิชย์จีนมีท่าทีชัดเจนว่าการจะบรรลุถึงข้อตกลงขั้นที่ 1 นั้น ทั้งสองฝ่ายจะต้องปรับลดภาษีศุลกากรอย่างน้อยบางส่วน (rollback) ที่ได้ปรับขึ้นในช่วงที่ทำสงครามการค้ากัน ทั้งนี้ผมขอนำเอาแถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐมาอ้างถึงเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับท่าทีของจีนคือ
“Both sides should simultaneously undo existing additional tariffs in the same proportion to reach phase one deal, and that is an important condition for signing a preliminary agreement”
หมายความว่าหากทรัมป์ยอมตามท่าทีดังกล่าวของจีน ก็จะต้องยอมลดภาษีลงโดยมิได้อะไรเพิ่มเติมจากจีน เพราะจีนก็จะเพียงซื้อสินค้าเกษตรและพลังงานที่จีนเคยซื้อและมีความต้องการใช้อยู่แล้ว
แปลว่าการลงนามในข้อตกลงขั้นที่ 1 นั้นสหรัฐจะต้อง “ถอย” การปรับขึ้นภาษีศุลกากร ซึ่งจีนก็จะยอม “ถอย” การปรับขึ้นภาษีศุลกากรของตนเช่นกัน สำหรับข้อตกลงขั้นที่ 1 นั้น รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐนาย Wilbur Ross กล่าวว่า
“any Phase 1 agreement would be general and cover trade in specific areas such as soybeans and liquefied natural gas.”
ท่าทีของจีนนั้น ผมเชื่อว่าเป็นผลมาจากการไตร่ตรองอย่างดีแล้วว่าจะต้องไม่ยอมให้นโยบายของทรัมป์ประสบผลสำเร็จ เพราะจะเป็นเพียงตัวอย่างให้กับนักการเมืองสหรัฐคนอื่นว่าจะสามารถข่มขู่จีนโดยใช้การปรับภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือ นอกจากนั้นก็คงจะไม่ยอมลงนามข้อตกลงการค้าดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาเพราะจะกลายเป็นเครื่องมือหาเสียงของทรัมป์ ซึ่งปัจจุบันประธานาธิบดีทรัมป์ประสบปัญหาที่รุมเร้าอย่างหนักหน่วง ซึ่งกำลังนำไปสู่กระบวนการกล่าวหาเพื่อการถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐภายในปลายปีนี้ กล่าวคือดูเสมือนว่าจีนจะยอมเจ็บตัวทางการค้าอย่างมากต่อไป เพราะหวังผลทางากรเมืองในระยะยาว
ดังนั้นหากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะประสบความสำเร็จในการสงบศึกสงครามการค้าดังที่ตลาดคาดคิด กล่าวคือประธานาธิบดีทรัมป์จะต้อง “ยอม” จีนและยอมรับว่านโยบายการค้าและกลยุทธ์ในการเจรจาการค้าของตนนั้นประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่าจีนจะเป็นฝ่าย “ถูก” ไปทั้งหมด เพราะหลายประเทศก็รู้สึกกังวลและไม่พอใจที่จีนทำการค้าแบบรวบทั้งตลาดไม่ให้คู่แข่งมีที่ยืน มีการบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการลอกเลียนสินค้าและการที่ภาครัฐเป็นแกนนำในการทุ่มเงินลงทุนในประเทศเล็กโดยหวังผลในการครอบงำประเทศดังกล่าว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและเทคโนโลยี แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐและยุโรปก็ยังต้อง “เจ็บตัว” อย่างมากหากทำอะไรที่จีนไม่พอใจ เช่นการที่พนักงานบางคนแสดงท่าทีสนับสนุนฝ่ายค้านในฮ่องกงหรือบางบริษัทมีข้อผิดพลาดไปกล่าวถึงไต้หวันหรือฮ่องกงว่าเป็นประเทศที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน เป็นต้น
จุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของนโยบายการค้าของทรัมป์ (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2