ก่อนอื่นผมต้องขอแจ้งท่านผู้อ่านว่าผมได้ขอเปลี่ยนชื่อคอลัมน์นี้จาก “เศรษฐศาสตร์จานร้อน” มาเป็น “เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ” เพราะผมจะขอเขียนเรื่องสุขภาพประมาณ 20-30% ของบทความทั้งหมด ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ 1.ผมเห็นว่าปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากครอบคลุมสาระสำคัญอย่างทั่วถึงดีกว่าแต่ก่อนเมื่อผมเริ่มเขียนคอลัมน์ให้กับกรุงเทพธุรกิจ 2.ผมสังเกตว่าคนจะสนใจเรื่องสุขภาพซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว และปัจจุบันวิวัฒนาการด้านสุขภาพก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งผมจะขออาสานำสาระสำคัญมาสรุปให้รับรู้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น 3.เรื่องสุขภาพนั้นจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในประเทศไทยที่ประชากรแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว สถิติการเสียชีวิตที่อเมริกา (ปี 2015) พบว่าคนอายุ 15-34 ปีนั้น เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบตัน เบาหวานและมะเร็งรวมกันเพียง 11.05% แต่ในช่วงอายุ 35-54 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 39.35% และในช่วงอายุ 55 ปีหรือมากกว่า จะเพิ่มเป็น 59.9% ปัจจุบันคนไทยอายุเฉลี่ย (median age) น่าจะใกล้ 40 ปีแล้วจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
แต่มาครั้งนี้ต้องขอเขียนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเสียก่อน เพราะปัจจุบันทุกคนเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง แต่หากเชื่อรัฐบาลและเสียงส่วนใหญ่ก็จะยังมองว่าเป็นการชะลอตัวลงชั่วคราวและเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกในต้นปีหรือกลางปีหน้า ทั้งนี้แบงค์ออฟอเมริกาพันธมิตรของภัทรฯ ก็มองว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวที่ระดับต่ำสุดในไตรมาส 4 ของปีนี้ที่ประมาณ 0.7% และเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาขยายตัวที่ประมาณ 1.5% ในไตรมาส 3 ของปี 2020 ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐพอดี เพราะประเมินว่ารัฐบาลสหรัฐจะยุติการทำสงครามทางการค้ากับจีนเป็นการชั่วคราวในปี 2020 และหันมากระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษหากไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก ก็จะเป็นการแยกตัวที่มีความราบรื่นในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นอีซีบีก็คงจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นและรัฐบาลเยอรมันอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง ทั้งนี้มีการฝากความหวังเอาไว้อย่างมากกับผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปคนใหม่คือนาง Christian La Garde ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยกอบกู้เศรษฐกิจยุโรปเมื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ
ในด้านของเอเชียนั้นก็เชื่อว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเพิ่มมาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถรับมือกับการปรับขึ้นภาษีการค้าจาก 8% เป็น 10% เริ่มต้นจากวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนั้นญี่ปุ่นก็สามารถเจรจาทำความตกลงการค้าเสรีกับรัฐบาลสหรัฐได้สำเร็จ ทำให้ญี่ปุ่นไม่ต้องเสี่ยงจากการถูกประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีศุลกากรเช่นที่ยุโรปและจีนกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ในทำนองเดียวกันนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อรัฐบาลจีนจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 6% ต่อปี (หรือใกล้เคียง) และจีนกับสหรัฐก็น่าจะสามารถหาลู่ทางในการทำข้อตกลงระยะสั้นและยุติสงครามทางการค้าไปก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปี 2020
โดยสรุปแล้วปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลกคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐบวกเศรษฐกิจจีนรวมกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ นั้น ผูกพันกับเศรษฐกิจทั้ง2 อย่างมากเมื่อประเมินทั้งในทางตรงและทางอ้อม เช่น เศรษฐกิจยุโรปโดยเฉพาะเศรษฐกิจเยอรมันนั้นพึ่งพากำลังซื้อของจีนอย่างมากและหากมองในมิตินี้ก็จะเห็นว่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ ญี่ปุ่น จีนและยุโรปนั้น ก็รวมกันประมาณ 40% ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนั้นการท่องเที่ยวของจีนก็คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ¼ ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของไทย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ 20% ของจีดีพี เป็นต้น
คำถามที่ตามมาคือหากมีการ “สงบศึก” เป็นการชั่วคราว (ประมาณ 1-2 ปี) แล้วจะทำให้เศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวได้จริงหรือ? ผมคิดว่าการสงบศึกแบบพร้อมจะรบกันอีกนั้น จะปิดกั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเกินกว่าที่ประเมินกันอยู่ในขณะนี้ เพราะการทำสงครามครั้งนี้ดูจะมีความต้องการที่แน่วแน่จากสหรัฐว่าจีนจะต้องถูกกีดกันออกจากห่วงโซ่อุปทานของโลก (global supply chain) จึงได้มีข่าวออกมาว่าสหรัฐกำลังทบทวนนโยบายดูว่าสมควรจะควบคุมการลงทุนของบริษัทและกองทุนของสหรัฐในประเทศจีนหรือไม่และอาจรวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการให้บริษัทของจีนเข้ามาขายหุ้นและระดมทุนในตลาดหุ้นของสหรัฐอีกด้วย
ในบรรยากาศเช่นนี้การลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศหลัก ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นและจีนเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะชะงักงันและจะต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการปรับโครงสร้างและกระบวนการผลิต ตลอดจนการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ กล่าวคือโลกอาจต้องมีห่วงโซ่อุปทานแยกเป็น 2 ส่วนก็ได้ ส่วนหนึ่งของจีน+เอเชียและอีกส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกา ซึ่งระหว่างการปรับตัวไปสู่โครงสร้างใหม่ที่ว่านี้ โลกเสี่ยงที่จะเข้าสู่สถานะถดถอยในปี 2020 ครับ
เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวปีหน้า? (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2