กระแส “ออเจ้า”/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

กระแส “ออเจ้า”/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    นาทีนี้คำว่า  “ออเจ้า” ที่เป็นคำโบราณสมัยอยุธยาที่ใช้เรียกแทนชื่อเวลาพูดกับคนอื่นที่อายุน้อยกว่า  อาวุโสน้อยกว่า  หรือเพื่อนกันนั้น  กลายเป็น “กระแส”  หรือ “แฟชั่น” ที่คนกล่าวถึงในแทบทุกวงการอานิสงค์จากความนิยมของละครทีวีเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ทางช่อง 3 ที่  “ลบสถิติ” เรทติ้งของรายการทีวีหลังจากประเทศไทยเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิตอล   และแน่นอนว่าผมในฐานะนักดูละครทีวีก็ไม่พลาดที่จะติดตามชมละครเรื่องนี้หลังจากที่เริ่มห่างจากการดูละครหลังข่าวไปบ้างในระยะหลัง ๆ

    ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องของบุพเพสันนิวาส  ผมอยากที่จะพูดถึงการดูละครของผมก่อนเพราะผมรู้สึกว่าพฤติกรรมการดูทีวีของผม  หรือว่าที่จริงคือการดูละคร “ที่บ้าน” ซึ่งรวมถึงภรรยาผมนั้นเปลี่ยนแปลงไป  ย้อนหลังไปไกลตั้งแต่สมัยที่สื่อสังคมแบบไลน์ยังไม่มีนั้น  ทีวีดูเหมือนว่าจะครองเวลาหรือสายตาของคนทั้งประเทศในช่วงหัวค่ำหลังเลิกงานและละครก็คือสิ่งที่คนจำนวนมากติดตามชมโดยเฉพาะละครจากช่อง 7 และช่อง 3  และนั่นทำให้เรทติ้งของสองช่องนี้สูงลิ่ว  แต่หลังจากที่มีทีวีดิจิตอลเพิ่มขึ้นหลายสิบช่อง  เรทติ้งของทีวีช่องเดิมก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง  พอไลน์และเฟสบุคเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง  เรทติ้งของช่องทีวีก็ยิ่งตกต่ำลง  ละครซึ่งที่บ้านผมต้องเปิดดูทุกวันในช่วงหัวค่ำเวลานี้ก็อาจจะยังเปิดอยู่บ้างแต่บ่อยครั้งก็แทบจะไม่ได้ดู  เราเริ่มรู้สึกว่ามัน “ซ้ำซาก”  ไม่สนุก  เหตุผลคงเป็นเพราะว่าเรา “มีทางเลือก”  อื่นที่น่าสนใจกว่า  เหนือสิ่งอื่นใด  เรามีสื่อสังคมที่พร้อมให้ความเพลิดเพลินหรือมีความน่าสนใจในระดับหนึ่งเสมอเพราะมันเป็นเรื่องของการ “ติดต่อสื่อสาร” ที่ทุกคนต่างก็ชอบทำ  เพราะมันอยู่ในยีนของมนุษย์

    ว่าที่จริงในตอนหรือสองตอนแรกผมเองไม่ได้ดูละครเรื่องบุพเพสันนิวาสด้วยซ้ำเพราะผมคิดว่ามันก็เป็น “ละครน้ำเน่า”  Remake หรือทำซ้ำอีกครั้งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำและคนจำนวนไม่น้อยรวมถึงที่บ้านผม  “เบื่อแล้ว”  แต่หลังจากนั้นผมก็เริ่มรับรู้และหันมาติดตามชมเนื่องจากละครเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องที่เป็นแนวใหม่ที่ละครไทยไม่เคยทำมาก่อน   มันเป็นเรื่อง “อิงประวัติศาสตร์” ของไทยสมัยพระนารายณ์มหาราชของอยุธยาซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ไทยช่วงที่น่าสนใจที่สุดช่วงหนึ่ง  แต่ก็แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องที่อิงประวัติศาสตร์ที่ทำให้ละครโดดเด่นมาก  เพราะละครที่อิงประวัติศาสตร์ก็เคยมีไม่น้อย  แต่ละครเหล่านั้นมักเป็นประวัติศาสตร์  “จากตำราเรียน” ที่มักจะถูกเขียนหรืออาจจะ  “แต่ง” ขึ้นในภายหลังโดยนักประวัติศาสตร์ “ของรัฐ”  ซึ่งประชาชนหรือคนทั่วไปอาจจะ “จับต้องไม่ได้”  เพราะมันมักจะไม่ได้เขียนหรือกล่าวถึง “คนธรรมดา”  หรือภาพของสังคมในยุคนั้นจริง ๆ

    ประวัติศาสตร์ช่วงยุคพระนารายณ์นั้น  ดูเหมือนว่าจะโดดเด่นส่วนหนึ่งเพราะมันถูกเขียนโดยคนต่างชาติที่ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรจากการที่จะบิดเบือนสิ่งที่เขาเห็นมากนักโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสังคมและชีวิตของคนไทยในยุคนั้น  คนเขียนนิยายและคนเขียนบทละครเรื่องนี้เองก็ดูเหมือนว่าจะพยายามสะท้อนภาพของคนในสมัยนั้นอย่างเท่าเทียมตั้งแต่คนระดับสูงสุดจนถึงไพร่และใกล้เคียงกับความเป็นจริงเท่าที่จะทำได้โดยอาศัยเอกสารอ้างอิงจากบันทึกของชาวต่างชาติที่จารึกไว้ในยุคนั้น  แน่นอน  รายละเอียดเช่นสถานที่เสื้อผ้าหน้าผมก็คงต้องดูดีกว่าความเป็นจริงตามปกติของการสร้างหนังที่ไม่ใช่สารคดี  แต่การเดินเรื่องและบทพูดต่าง ๆ  นั้นผมคิดว่าทำได้กระชับมีเหตุผลและมีความบันเทิงจนแม้แต่คนที่ไม่เคยดูละครไทยก็ดูได้อย่างไม่น่าเบื่อแม้บางคนจะบอกว่า  “ต้องดู”  เพราะจะตามคนอื่นไม่ทันคุยกันไม่รู้เรื่องในช่วงที่วงสนทนาในช่วงนี้ต่างก็กล่าวขวัญถึง

    ความนิยมของละครบุพเพสันนิวาสก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ  ตามมามากมาย  การท่องเที่ยวสถานที่ในอยุธยาและลพบุรีพุ่งขึ้นหลายเท่าเช่นเดียวกับชุดไทยที่มีคนซื้อและเช่าสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  ดาราที่แสดงต่างก็มีงานโชว์ตัวเต็มอัตรา  รายได้จากการโฆษณาที่เกี่ยวข้องโตขึ้นหลายเท่า  อาหารที่คนไทยไม่เคยรู้จักเช่น “หมูสร่ง” ก็ถูกนำออกมาแสดงการทำและขายในงานออกร้าน  คนหันมาสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น  แม้แต่คณะโบราณคดีในมหาวิทยาลัยก็ยังมีคนสนใจสอบเข้าไปเรียนสูงขึ้นหลายเท่าตัว   ทุกคนตั้งแต่ชาวบ้านที่เอาลูกเล็กแต่งตัวถ่ายรูปขึ้น IG ไปถึงนักการเมืองต่างให้สัมภาษณ์หรือสร้างอิเว้นท์เพื่อให้ตนเองอยู่ในกระแส  นี่คืออาการของ FOMO หรือ “Fear of missing out” อย่างสมบูรณ์แบบ

    หุ้นของช่อง 3 หรือ BEC ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นหลังจากที่ตกลงมายาวนานต่อเนื่องเพราะเรทติ้งต่ำลงต่อเนื่องยาวนานส่งผลต่อกำไรของบริษัทที่ลดลงตามกัน  ตรงกันข้าม  หุ้น WORK ที่ก่อนหน้านี้ที่มีรายการหน้ากากนักร้องหรือ “Mask Singer” ทำเรทติ้งสูงกว่าละครจากช่องเจ้าตลาดดั้งเดิมและทำให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดนั้น  ช่วงนี้ก็ปรับตัวลดลงอย่างแรง  เหตุผลส่วนหนึ่งนั้นน่าจะมาจากละครเรื่องบุพเพสันนิวาสที่มีบางคนคำนวณว่าอาจจะสร้างรายได้ให้กับคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ BEC เป็น “พันล้านบาท”

    ทั้งหมดที่กล่าวถึงนั้นผมคิดว่ามันเป็นกระแสหรือแฟชั่น  “ชั่วคราว”  ที่ “มาเร็วไปเร็ว”  แต่ผลกระทบของมันต่อความคิดหรือแนวทางการทำละครและการศึกษาเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะต่อ “คนรุ่นใหม่” เปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย  ว่าถึงเรื่องของการทำละครนั้น  ผมคิดว่าหลังจากเรื่องนี้น่าจะมีคนที่กล้าสร้างสรรค์เรื่องราวใหม่ ๆ  มากขึ้น  หมดยุคที่จะนำนิยายเก่า ๆ  มาทำซ้ำโดยเปลี่ยนผู้แสดงและบทพูดเล็ก ๆ  น้อย  เพราะคิดว่ายังไงคอละครก็จะดูเรื่องที่เคยพิสูจน์ว่าประสบความสำเร็จมาทุกครั้งที่นำมาสร้างใหม่  พูดถึงเรื่องนี้ผมเองคิดถึง NETFLIX ที่สร้างละครที่น่าดูมากมายขายสมาชิกบอกรับทั่วโลกและทำให้ราคาหุ้นขึ้นเป็นจรวดต่อเนื่องมานาน  บางทีทีวีบ้านเราอาจจะถึงเวลาที่จะต้อง  “คิดใหม่” เพื่อที่จะรักษาสถานะของสื่อที่เคยรุ่งเรืองเป็นซุปเปอร์สต็อกให้ยังมีที่ยืนในยุคดิจิตอลนี้

    ในด้านของสังคม  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนโดยเฉพาะในด้านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเรียนรู้   เรื่องนี้จะทำให้คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ Conservative หรือมีความคิดอนุรักษ์นิยมมากขึ้นหรือไม่เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเก่า ๆ  และมีเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างต่างชาติกับไทยที่อาจจะก่อให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมมากขึ้น   หรือตรงกันข้าม  มันทำให้เราเป็น Liberal หรือมีความคิดเสรีนิยมมากขึ้นหรือไม่เนื่องจากตัวนางเอกเองนั้นมีความคิดแบบคนยุคใหม่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับกับค่านิยมของไทยยุคโบราณในบางเรื่องและนี่ก็อาจจะเป็นคนที่มีแนวคิดแบบ “เสรีนิยม” โดยแท้   บทละครเองก็แสดงให้เห็นว่า   ที่จริงคนสมัยกว่าสามร้อยปีที่อยุธยาเองนั้นไม่ได้มีความคิดอนุรักษ์และ  “กดขี่” อย่างที่คนบางคนในปัจจุบันคิด  บทบาทของ  “อีปลิก” ไพร่ที่โดดเด่นมากในเรื่องที่กล้าโต้เถียงกับนายนั้น  ผมคิดว่ามันฉีกแนวจากละครย้อนยุคเรื่องอื่น ๆ ที่อาจจะมีผลสะเทือนต่อความคิดของคนในสังคมไทยบางส่วนที่คาดหวังว่าคนที่ต่ำกว่านั้นไม่ควรมีสิทธิที่จะโต้เถียง  ทั้งหลายทั้งปวงนั้นผมไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าละครเรื่องนี้จะส่งผลมากน้อยแค่ไหนหรือไม่ส่งผลเลย  แต่จากการศึกษาประวัติศาสตร์เช่นของอเมริกานั้นผมพบว่า  เหตุการณ์ทางสังคมหรือเรื่องราวผ่านภาพยนตร์ดังนั้น  บ่อยครั้ง  ส่งสัญญาณที่ไม่ลำเอียงว่า  สังคมกำลังเปลี่ยนไป

    ผมเองชอบศึกษาประวัติศาสตร์  แต่ที่ผ่านมามักจะเป็นประวัติศาสตร์โลกเช่นเรื่องของการสงครามและเศรษฐกิจ  บางทีถ้ามีเวลาผมอาจจะหันมาศึกษาประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะในช่วงพระนารายณ์  หนังสือเล่มที่ผมดูอยู่ก็คือจดหมายเหตุลาลูแบร์ที่เล่าเรื่องของคนไทยและสภาวะแวดล้อมของราชอาณาจักรสยามในยุคนั้น
[/size]
kondee
Verified User
โพสต์: 306
ผู้ติดตาม: 0

Re: กระแส “ออเจ้า”/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

จริงครับ ละครบางเรื่องส่งผลต่อสังคมจริงๆ ที่นึกได้เร็วๆ คือ หนังเรื่อง รัก 7 ปี ดี7หน ของ GTH ที่ทำให้ เกิดกระแสการวิ่งมาราธอน เมื่อก่อนงาน มาราธอนเงียบเหงาแค่คนกลุ่มเล็กๆ เดี๋ยวนี้แค่สมัครยังต้องลุ้นว่าจะได้หรือไม่ได้
การจะได้สิ่งใดมานั้น...จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งที่มีค่าเท่าเทียมกัน
โพสต์โพสต์