โค้ด: เลือกทั้งหมด
ความเสี่ยงในตลาดหุ้นเวียดนาม
ถ้ามองในภาพรวม หนี้สาธรณะของภาครัฐเวียดนามพุ่งกระฉูดใน 3-5 ปีที่ผ่านมา (จาก 35% ขึ้นเกิน 50% ของ GDP) เพราะเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นทุกปี (เวียดนามมีข้าราชการประจำเกือบ 3 ล้านคนในขณะที่ประเทศไทยมีแค่ 1 ล้านคน) ซึ่งประเด็นนี้อาจจะมีผลต่อค่าเงินดองในอนาคตได้ แต่ถ้ามองมุมกลับกัน หนี้ที่รัดตัวทำให้รัฐบาลต้องเปิดให้ภาคเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งก็ทำให้บริษัทในตลาดหุ้นหลายบริษัท ได้โปรเจ็ค BOT เจ๋งๆผลตอบแทนดีๆไป (เช่น การเก็บค่าผ่านทางบนถนนและทางด่วนสายหลักๆ คล้ายๆกับที่ BEM ได้ในประเทศไทย)
ตัวผมเองลงทุนในเวียดนามมา 2 ปี ได้มีประสบการณ์แปลกๆเกี่ยวกับหุ้นที่มีปัญหาที่ไม่คาดคิดจนทำให้ขาดทุนเยอะๆในระยะเวลาไม่กี่อาทิตย์ (ลองเสิร์ชหาข่าวหุ้น JVC ดูได้ ผมซื้อครั้งแรกที่ราคาประมาณ 17,000 ดอง วันนี้เหลือแค่ 3,200 ดอง) ประเด็นเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ธรรมาภิบาล การเมือง ระเบียบและกฏเกณฑ์ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เป็นหนึ่งในหลายๆความเสี่ยงที่ทำให้หุ้นเวียดนามยังมีราคาถูกอยู่
นักลงทุนส่วนมากจะกังวลเรื่องเสถียรภาพของค่าเงินดอง แต่ถ้าดูข้อมูลย้อนหลัง ค่าเงินดองเทียบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพราะเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของเวียดนามดีขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ บัญชีเดินสะพัดก็มีทิศทางที่ดีขึ้น การเมืองมีความมั่นคง การเติบโตก็ยังแข็งแกร่ง ผมเองไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์และการคาดเดาทิศทางของค่าเงินคงเป็นเรื่องยาก แต่ผมเชื่อว่าความเสี่ยงใหญ่ๆที่มีต่อเสถียรภาพของค่าเงินดอง ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
อีกประเด็นที่นักลงทุนมักจะกลัวคือเรื่องการเข้าถึงข้อมูลของบริษัท พอเราไม่สามารถพูดคุยกับผู้บริหารหรือฟัง Opp Day ได้ นักลงทุนก็กลัวว่าจะไม่สามารถตัดสินใจลงทุนได้ถูกต้องเพราะไม่มีข้อมูลเชิงลึก แน่นอนว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมต้องเดินทางไปเวียดนามอย่างน้อยปีละ 15 – 20 วันเพื่อพบปะกับผู้บริหารบริษัท) แต่สำหรับบริษัทที่มีขนาดใหญ่และมีผู้ถือหุ้นเป็นกองทุนต่างชาติ อย่างหุ้น VNM, MWG, DHG จะมีธรรมาภิบาลและระบบจัดการภายในที่ดี ไม่แพ้บริษัทในประเทศไทยเลย มีงบภาษาอังกฤษ รายงานประจำปีก็มีการให้ข้อมูลอย่างละเอียด และในอนาคตแนวโน้มการเปิดเผยข้อมูลจะมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อผู้บริหารเห็นความสำคัญของการให้ข้อมูลนักลงทุนมากขึ้น
ประเด็นความเสี่ยงที่คนไม่ค่อยพูดถึงแต่มันมีความสำคัญมากคือ “ความไม่แน่นอน” ของนโยบายภาครัฐ บริษัทในตลาดหุ้นเวียดนามจำนวนมากเป็นรัฐวิสาหกิจ หุ้นพวกนี้ก็มักจะได้ผลตอบแทนที่ดีเกินจริง NPM% ระดับสูงกว่าบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันในต่างประเทศ ROE% ที่ดีเวอร์ในระดับ 30-50% แต่บริษัทเหล่านี้มักจะได้รับการปกป้องจากรัฐบาล หลายบริษัทเป็นผู้ “ผูกขาด” ในธุรกิจนั้นๆ แต่เนื่องจากประเทศเวียดนามมีแผนที่จะเปิดประเทศมากขึ้น รัฐบาลก็มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจแข่งขันกันมากขึ้น บริษัทที่เคยผูกขาดในอดีต รัฐบาลก็ออกใบอนุญาตใหม่ๆ ทำให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น (ลองดูหุ้นบริษัท NCT เป็นตัวอย่างได้ครับ เป็น Monopoly อยู่ดีๆ รัฐบาลก็ออก License ให้เปิดอีกบริษัทซะงั้น แถมบังคับให้แบ่งลูกค้าให้อีก กำไรไตรมาสล่าสุดหายไป 40% YoY ใครเจอแบบนี้ก็เซ็ง)
เพราะฉะนั้นการจะลงทุนในเวียดนามเราต้องมองให้ออกว่ามีความเสี่ยงเหล่านี้ แน่นอนว่าเราคงจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งหมดไม่ได้ แต่เราจำเป็นต้องบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดี พรุ่งนี้ผมจะมาแชร์ให้ฟังว่า “ทักษะ” และ “ความรู้” ที่ทุกคนต้องรู้ เพื่อที่จะลดความเสี่ยงตรงนี้คืออะไร ติดตามอ่านได้ใน “3 อย่างที่ต้องรู้ก่อนลงทุนเวียดนาม” ตอน 3 ครับ