โค้ด: เลือกทั้งหมด
ปีนี้ผมได้เข้าร่วมการประชุมนักลงทุนพบกับบริษัทในภูมิภาคอาเซียนซึ่งจัดขึ้นโดยแบงก์ออฟอเมริกาที่ประเทศสิงคโปร์อีกครั้งหนึ่งซึ่งทางภัทรและแบงก์ออฟอเมริกาได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 12 แห่งมาร่วมงานดังกล่าวและพบปะกับนักลงทุนที่มาลงทะเบียนในงานนี้ทั้งสิ้น 427 คนจากหลายประเทศในภูมิภาค เช่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง จีนญี่ปุ่น มาเลเซียและสิงคโปร์ ทั้งนี้ มีบริษัทจากประเทศอาเซียนที่มาร่วมพบปะนักลงทุนรวมทั้งสิ้น 65 บริษัท
นอกจากนั้น เราก็ยังได้จัดให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มากล่าวสุนทรพจน์ในเรื่องที่นักลงทุนให้ความสนใจ เช่น ความคืบหน้าของการเจรจาหุ้นส่วนภูมิภาคแปซิฟิก (transpacific partnership หรือ TPP) ตลอดจนแนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่นและจีน เป็นต้น ในส่วนของประเทศไทยนั้นก็ได้รับเกียรติจาก ดร.วิรไท สันติประภพ และดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ มาวิเคราะห์การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการเมืองของไทย (ตามลำดับ) อีกด้วย
งานครั้งนี้มีความสำคัญในอีกมิติหนึ่งที่ผมอยากนำมาเล่าสู่กันฟังคือ การที่ประเทศเจ้าภาพคือสิงคโปร์นั้นจะมีอายุครบ 50 ปีในวันที่ 9 สิงหาคม 2015 ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศสิงคโปร์นั้นเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างที่หาตัวเปรียบได้ยาก ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นเกาะที่ได้ขยายพื้นที่โดยการถมทะเลจากประมาณ 581.5 ตารางกิโลเมตร ในตอนที่ก่อตั้งมาเป็น 718.3 ตารางกิโลเมตรในปัจจุบัน และมีแผนที่จะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 818 ตารางกิโลเมตร ภายในปี 2030 เพื่อรองรับประชาชนที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 5.5 ล้านคนในขณะนี้ ซึ่งที่จริงแล้วก็ยังเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรในกรุงเทพฯและปริมณฑล
แต่เรื่องที่น่าภูมิใจของสิงคโปร์คือความเจริญของเศรษฐกิจ ซึ่งผมเคยเดินทางไปครั้งแรกตอนที่ก่อตั้งประเทศขึ้นใหม่ในปี 1965 หลังจากสิงคโปร์ถูกรัฐสภามาเลเซียลงคะแนนเสียงขับไล่ออกจากการรวมประเทศในเดือนสิงหาคมปี 1965 โดยในช่วงก่อนหน้านั้นสิงคโปร์ขอเข้ารวมประเทศกับมาเลเซียในปี 1963 เพราะเชื่อว่าการที่เกาะเล็กๆ ที่เคยเป็นเพียงท่าเรือให้กับบริษัท East India Company ของอังกฤษคงจะไม่สามารถอยู่รอดเป็นประเทศอิสระได้เพราะมีประชากรไม่กี่ล้านคนที่ในตอนนั้นมีความแตกแยกและกำลังถูกคุกคามโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ และสิงคโปร์ก็ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดเลย (แตกต่างจากมาเลเซียและไทยที่มีข้าว น้ำ ยางพารา ดีบุก ไม้สัก ฯลฯ)
แต่มาถึงวันนี้สิงคโปร์ผลิตสินค้าและบริการมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์น้อยกว่าไทยไม่ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ แต่มีประชากรเพียง 1/12 ของไทย ทำให้สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวสูงถึง 55,180 ดอลลาร์ต่อปี มากกว่าคนไทยประมาณ 8 เท่า และมากกว่ารายได้ต่อหัวของคนอังกฤษ สหรัฐ แคนาดา ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ (สิงคโปร์ติดอันดับ 8-12 ของประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในโลก)
ในปีนี้ที่มีการเฉลิมฉลองอายุครบ 50 ปีของประเทศสิงคโปร์จึงมีการตั้งคำถามว่าอะไรทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จอย่างสูง ซึ่งคำตอบที่ผู้ว่าการธนาคารกลางของสิงคโปร์ (นาย Menon) กล่าวในงานพอสรุปได้ดังนี้
1. Open and Connected to the global economy สิงคโปร์นั้นรู้ตัวเองว่าพึ่งตัวเองไม่ได้เลยในเชิงของทรัพยากร จึงได้ดำเนินนโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด แต่การ “เปิดกว้าง” (open) นั้นยังไม่ “เข้มข้น” เพียงพอเพราะจะต้อง “เชื่องโยง” (connected) กับเศรษฐกิจโลกอย่างลึกซึ้งอีกด้วย โดยนาย Menon กล่าวว่าการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกนั้นอยู่ในดีเอ็นเอของประเทศสิงคโปร์ ในส่วนของนโยบายการเงินนั้นผมขอยกตัวอย่างว่าเขากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเป้าหมายหลักของนโยบาย แตกต่างจากหลายประเทศที่ธนาคารกลางกำหนดดอกเบี้ยและปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวตามกลไกตลาด แต่สิงคโปร์กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและปรับดอกเบี้ยให้เป็นไปตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดเอาไว้
2. ไม่ฝืนกลไกตลาด สิงคโปร์จะไม่ดำเนินนโยบายที่ฝืนกลไกตลาด เพราะต้องการให้ตลาด (ราคา) ส่งสัญญาณและจัดสรรทรัพยากร (เช่น รัฐบาลจะไม่นึกว่าจะสามารถกำหนดราคาข้าวให้สูงหรือราคาน้ำมันให้ต่ำตามอำเภอใจได้) และพึ่งพาการแข่งขันในตลาดเสรีให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวคือยึดมั่นหลักการความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) หมายความว่าประเทศจะต้องผลิตสินค้าที่ถนัดและนำเข้าสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก ทั้งนี้ รัฐบาลจะพยายามส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแข่งขันได้ (create comparative advantage) แต่จะไม่ปกป้องอุตสาหกรรมที่แข่งขันไม่ได้ (protectionism) ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์นั้นมีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่ก็ส่งเสริมให้มีการปรับโครงสร้างอย่างทันท่วงทีโดยเปลี่ยนจากการผลิต Hard Disk Drive มาสู่การผลิต semi-conductor และต่อมากำลังเข้าสู่ยุคของการทำ R&D และการให้บริการด้านข้อมูล (เช่น cloud computing) เป็นต้น ซึ่งในการปรับตัวดังกล่าวรัฐบาลจะตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนในด้านการอำนวยความสะดวกด้านนโยบาย ด้านภาษีและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างทันท่วงที
3. วินัยทางการเงินและการคลัง รัฐบาลรักษาวินัยทางการเงินเพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาและวินัยทางการคลังเพื่อมิให้ต้องเก็บภาษีมากและเบียดเบียนเอกชน
4. มองไปข้างหน้า/ความท้าทายของอนาคต สิงคโปร์ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ยอมรับว่าในอนาคตเศรษฐกิจอาจจะไม่สามารถขยายตัวได้สูงถึง 3% ต่อปีเช่นแต่ก่อน โดยในอดีตขยายตัว 2% จากการเพิ่มขึ้นของแรงงาน (ซึ่งส่วนสำคัญนำเข้าจากต่างประเทศ) และอีก 1% จากการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) แต่ในอนาคตนั้นจะต้องพึ่งพาผลิตภาพเป็นหลักในการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยจะต้องปรับโครงสร้างของประเทศไปสู่สังคมผู้สูงอายุและภาคบริการ (ไม่ใช่ภาคการผลิตเป็นหลัก) ดังนั้น จึงต้องมุ่งไปสู่ภาคเศรษฐกิจ เช่น การบริการสาธารณสุข การศึกษา การเงิน การค้า-ขายแบบ e-commerce และ logistics เป็นต้น
ผมได้เคยเล่าให้ฟังว่าสิงคโปร์นั้นมีความชัดเจนอย่างมากว่าจะพัฒนาประเทศไปในทิศทางใดหรือประเทศจะ “หากิน” อย่างไรบนโลกใบนี้ ซึ่งสรุปสั้นๆ ได้ว่าสิงคโปร์ต้องการเป็นกรุงลอนดอนของเอเชีย คือที่ซึ่งคนรวยต้องการมาท่องเที่ยวพักผ่อนทำงานและฝากเงิน จึงต้องทำให้ประเทศน่าอยู่ที่สุด แต่ก็มีสิ่งที่ท้าทายคือค่าครองชีพและราคาบ้านที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นมาก จนกระทั่งคนสิงคโปร์เริ่มแสดงความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ