ภาษี (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

ภาษี (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงการเก็บภาษีว่าต้องมีเหตุผลและหลักการเพราะเป็นการยึดทรัพย์ประชาชนซึ่งในหลักการนั้นรัฐมีเหตุผลที่จะเก็บภาษีเพื่อผลิตสินค้าสาธารณะ ซึ่งเป็นสินค้าและบริการที่มีลักษณะพิเศษคือประชาชนจำนวนมากร่วมบริโภคได้โดยพร้อมๆ กันโดยมิได้ลดผลประโยชน์ของผู้บริโภคคนใดคนหนึ่ง (non-rivalry) และไม่สามารถแบ่งแยกการบริโภคดังกล่าวได้ (non-excludability) จึงอาศัยกลไกการตลาดผลิตไม่ได้ นอกจากนั้นก็ยังต้องพึ่งภาษีเพื่อให้รัฐบาลบริหารจัดการและระดมทรัพยากรเพื่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศอีกด้วย

ในครั้งนี้ผมจะเขียนถึงหลักการในการเก็บภาษีซึ่งในความเห็นของผมควรเป็นการเก็บภาษีเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (pro-growth) เป็นหลักเพราะประเทศไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยรายได้ต่อหัวของคนไทยยังไม่ถึง 190,000 บาทต่อปี และในระยะหลังนี้เศรษฐกิจของไทยก็ชะลอตัวลงอย่างมาก กล่าวคือเฉลี่ยเพียง 3.5% ต่อปีในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

บางคนอาจแย้งว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งผมยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองทรัพย์สินนั้นน่าจะมีอยู่มากจริง แต่ยังไม่เห็นการเก็บข้อมูลย้อนหลังเพื่อให้เห็นว่าแนวโน้มดีขึ้นหรือแย่ลง ส่วนข้อมูลด้านรายได้ (ตารางประกอบ) ก็สรุปไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา กล่าวคือไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่ากลุ่มคนจนสุด 20% ของประเทศจนมากขึ้นหรือกลุ่มคนรวยสุด 20% รวยมากขึ้นและไม่มีทิศทางขึ้นหรือลงของกลุ่มอื่นๆ เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงบอกไม่ได้ว่าปัญหาปัจจุบันรุนแรงกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนหรือไม่

แต่ผมเห็นว่าความจำเป็นที่จะเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยนั้นมีความชัดเจนมากกว่า เพราะดังที่เคยเขียนในครั้งก่อนๆ เศรษฐกิจไทยในระยะหลังขยายตัวเพียงครึ่งหนึ่งของเมื่อ 20 ปีก่อน

ผมมองว่าปัญหาในเชิงการเมืองปัจจุบันคือการลงความเห็นว่าการใช้จ่ายของภาครัฐมีปัญหาคือมีคอร์รัปชันมากและมีนโยบายประชานิยมมาก จึงทำให้สรุปว่าควรลดทอนการใช้จ่ายของรัฐในการใช้เป็นกลไกในการลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ซึ่งดูจะคล้ายคลึงกับแนวคิดของประธานาธิบดีโอบามาที่มักจะตำหนิคนรวยและอยากเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แต่ในกรณีของไทยนั้นนอกจากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นแล้วยังจะพยายามระมัดระวังในการใช้จ่ายของรัฐด้วยเพราะมีความต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งของภาครัฐ กล่าวคือทำให้ภาคการคลังแข็งแรงขึ้นนั่นเอง เห็นได้จากการอนุมัติงบประมาณปี 2015 ซึ่งตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 1.8% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับเป้าของงบประมาณปีปัจจุบันที่ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 2% ของจีดีพี แต่เนื่องจากรายได้ปีนี้พลาดเป้าไปเป็นแสนล้านบาท จึงอาจขาดดุลจริงมากถึง 3% ของจีดีพีก็ได้

ดังนั้น ในปีงบประมาณหน้า (ซึ่งจะเริ่ม 1 ต.ค.นี้) รายรับ (ภาษี) ที่รัฐบาลพึงจะเก็บได้ก็จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมากหากจะทำให้เป็นไปตามเป้าการขาดดุลงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ โดยอาจคำนวณคร่าวๆ ได้ว่าภาษีในปีหน้าที่จะต้องเก็บเพิ่มได้จริงเมื่อเทียบกับปีนี้คงจะประมาณ 10% ในขณะที่จีดีพีที่รวมเงินเฟ้อจะขยายตัวประมาณ 6.5-7.0% ทั้งนี้ แน่นอนว่ารัฐบาลคงจะเน้นการเก็บภาษีคนรวย เพราะดังที่กล่าวข้างต้น การเก็บภาษีกำลังจะเป็นกลไกหลักในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน แตกต่างจากที่ผ่านมาซึ่งมักจะเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวสูงเพื่อให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้นตามการโตของจีดีพี แล้วจึงนำเอารายได้ของรัฐบาลมาใช้จ่ายเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่านโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 3 ล้านล้านบาท การปฏิรูปพลังงานและโครงการอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะผมก็เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของโครงการและนโยบายดังกล่าวแต่ก็เห็นแนวโน้มในการปรับกลไกของนโยบายการคลังมาเน้นการเก็บภาษีคนรวยเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน

ตลอดจนความต้องการที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินของภาครัฐ ซึ่งในระยะสั้นแปลว่านโยบายการคลังอาจจะไม่ได้มีบทบาทมากในการกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างที่คิดกันในขณะนี้ แต่หากมองในด้านดีก็จะเห็นแนวโน้มว่าการส่งสัญญาณที่จะดำเนินนโยบายการคลังอย่างมีวินัยจะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวของไทยอยู่ที่ระดับต่ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับภาคเอกชนและภาครัฐในการออกพันธบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ธนาคารกลางสหรัฐกำลังจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและปิดฉากคิวอีซึ่งกำลังส่งผลให้ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องครับ
[/size]
คุณไม่มีสิทธิ์ดูไฟล์ที่แนบมาในกระทู้
Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: ภาษี (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ภาษี (1) / ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
Posted: Mon Oct 06, 2014

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงกลุ่มการเมือง Tea Party ที่มุ่งกดดันรัฐบาลสหรัฐให้ลดภาษีและลดรายจ่ายของรัฐบาลซึ่งกลุ่มมองว่าเป็นการต่อสู้เพื่ออิสรภาพทางเศรษฐกิจของประชาชน ทั้งนี้ชื่อ Tea Party นั้นหยิบยืมมาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สหรัฐที่มีความสำคัญยิ่งคือ Boston Tea Partyคือการบุกขึ้นไปบนเรือสินค้าของบริษัทอังกฤษเพื่อเทใบชาที่นำมาขายทิ้งลงทะเลที่ท่าเรือเมืองบอสตัน โดยเป็นการแสดงการขัดขืนรัฐสภาอังกฤษที่เก็บภาษีใบชาทั้งๆ ที่รัฐสภาอังกฤษนั้นไม่มีผู้แทนราษฎรที่มาจากอเมริกา (ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ) แต่อย่างใด กล่าวคือเป็นการยืนยันหลักการ notaxation without representation หรือจะเก็บภาษีจากประชาชนโดยประชาชนมิได้ให้ความเห็นไม่ได้และต่อมารัฐสภาอังกฤษตอบโต้ลงโทษเมืองบอสตัน ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของมลรัฐต่างๆ ในการประกาศอิสรภาพจากรัฐบาลอังกฤษในปี 1776 และมีการสู้รบกันจนในที่สุดรัฐบาลอังกฤษพ่ายแพ้และต้องยอมรับกำเนิดชาติใหม่คือประเทศอเมริกาในปี 1783

การเก็บภาษีนั้นเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวสูงเพราะเป็นการที่รัฐบาลยึดทรัพย์ประชาชน แม้พระราชาในอดีตยังระมัดระวังในการเพิ่มภาษีและการเพิ่มภาษีหรือเก็บภาษีอย่างเข้มงวดก็เป็นเหตุให้เกิดตำนานเช่นเรื่องโรบินฮูด ซึ่งถูกทำเป็นหนังฮอลลีวูดซ้ำกันหลายครั้งหลายคราแล้ว ดังนั้นบางครั้งพระราชาใช้การเรียกคืนเงินตรา (ที่ทำด้วยเหล็กมีค่าเช่นทองคำเป็นเงิน) แล้วออกเงินรูปแบบใหม่ทดแทนโดยอ้างว่าทำเพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์หรือการชนะสงคราม แต่เท็จจริงแล้วเป็นการนำเอาเหล็กที่มีค่าต่ำมาผสมเจือปนแล้วผลิตเหรียญออกมาใหม่ ทำให้รัฐบาลมีทองคำและเงินเหลือมาเป็นรายได้ของรัฐ กล่าวคือเป็นการพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นหรือแอบเก็บภาษีจากประชาชนนั่นเอง ซึ่งต่อมาเราจึงต้องมีธนาคารกลางที่เป็นอิสระจากภาครัฐเพื่อมิให้ประชาชนถูกแอบเก็บภาษีในทางอ้อมโดยการพิมพ์เงินออกมามากจนเกิดเงินเฟ้ออย่างเรื้อรัง (ทั้งนี้ต้องเข้าใจร่วมกันว่าเงินเฟ้อนั้นเป็นเสมือนกับการเก็บภาษีคนทุกคนที่ถือเงินสด เพราะหากเงินเฟ้อเท่ากับ 3% ต่อปีก็แปลว่าผู้ที่ถือเงินสดถูกเก็บภาษี 3% ต่อปี) กล่าวคือความเป็นอิสระของธนาคารกลางนั้นไม่ใช่อะไรที่มองว่าเป็นเรื่องของจริยธรรมหรือความ “ดี” ทางการเมือง แต่เป็นการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและป้องกันมิให้ประชาชนถูก “แอบ” เก็บภาษีนั่นเอง

ดังนั้น การเก็บภาษีหรือการยึดทรัพย์ประชาชนจึงต้องตั้งอยู่บนหลักการและเหตุผลที่ประชาชนยอมรับอย่างพร้อมหน้ากัน ทำให้ระบอบประชาธิปไตยนั้นเก็บภาษีจากประชาชนได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ดังที่เห็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าทุกประเทศเป็นประชาธิปไตยทั้งหมดและเก็บภาษีประชาชนในอัตราที่ค่อนข้างสูงมากและสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่หลายประเทศอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ

การเก็บภาษีจากประชาชนนั้นก็เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้มาใช้ในการบริหารประเทศโดย “บริการ” ที่รัฐบาลจัดหาให้ประชาชนนั้นเรียกว่า public goods หรือสินค้าสาธารณะ ทั้งนี้ตามหลักเศรษฐศาสตร์สินค้าสาธารณะมีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือการบริโภคของประชาชนคนหนึ่งจะไม่ทำให้ประชาชนคนอื่นๆ บริโภคได้น้อยลง (non-rivalry) และรัฐบาลไม่สามารถจำกัดการบริโภคที่เฉพาะเจาะจงให้ประชาชนคนใดคนหนึ่งได้ (non-excludability) ตัวอย่างเช่นการป้องกันประเทศมิให้ถูกประเทศอื่นๆ รุกรานเป็นบริการซึ่งเมื่อทำให้มีขึ้นแล้ว ประชาชนทุกคนในประเทศได้ประโยชน์อย่างถ้วนหน้าและรัฐบาลจะแบ่งแยกมิให้ประชาชนคนหนึ่งคนใดไม่ได้รับประโยชน์จากการป้องกันประเทศก็ไม่สามารถทำได้เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาว่าประชาชนจะไม่สมัครใจจ่ายเงินค่าบริการดังกล่าวอย่างพอเพียงเท่ากับประโยชน์ที่ตนได้รับเพราะรู้ว่าจะได้ประโยชน์ (ส่วนตน) สูงสุดหากบอกว่าเห็นประโยชน์น้อยจึงขอจ่ายเงินน้อย และรู้ว่าหากคนอื่นจ่ายมากเพื่อระบบปกป้องประเทศที่ดีเยี่ยม ตนเองก็จะได้ประโยชน์ไปด้วยโดยไม่ต้องจ่ายเงินมากนัก กล่าวคือมีความเสี่ยงว่าคนส่วนใหญ่จะสมัครใจจ่ายเงินน้อยเพราะหวังจะให้คนอื่นจ่ายมากหรือปัญหา free-riderนั่นเอง

ดังนั้น หลักการสำคัญของการเก็บภาษี (หรือความจำเป็นต้องยึดทรัพย์ประชาชน) ก็คือการที่รัฐต้องให้บริการสินค้าสาธารณะที่เพียงพอ ทั้งนี้คำว่าสินค้าสาธารณะนั้นอาจตีความหมายให้กว้างขวางได้ว่าการลดส่วนต่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นจะทำให้เกิดระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพมั่นคงและสังคมที่สมานฉันท์กลมเกลียวกันซึ่งมีลักษณะเป็น public goods แปลว่าประชาชนทุกคนในประเทศได้ประโยชน์จากการ “ผลิต” สินค้าดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีความชอบธรรมในการเก็บภาษีเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน นอกจากนั้นก็อาจมองได้ว่าความเท่าเทียมกันหรือความเสมอภาคนั้นคือความเป็นธรรมขั้นพื้นฐาน หมายความว่าความเสมอภาคนั้นไม่ต้องอธิบายว่าทำไมจึงคิดว่าถูกต้องและเป็นธรรม ตรงกันข้ามหากมีความไม่เท่าเทียมกันในสังคมกลับต้องพยายามอธิบายว่าทำไมความไม่เท่าเทียมกันจึงเป็นเรื่องที่สังคมควรยอมรับได้

ประเด็นสุดท้ายคือ การเก็บภาษีเพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ในการทำหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้แก่ ท่าเรือ สนามบิน หาแหล่งพลังงานสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ทำระบบชลประทานสร้างถนนและระบบรถไฟ ฯลฯ แต่ในส่วนนี้ก็เป็นที่เข้าใจร่วมกันว่าควรเก็บภาษีให้น้อยที่สุดเพื่อใช้ในการที่รัฐบาลจะนำไประดมทุนและทรัพยากรจากภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนลงแรงในการดำเนินการให้มากที่สุด

กล่าวโดยสรุปคือในหลักการนั้นประชาชนต้องยินยอมให้รัฐบาลเก็บภาษี (ยึดทรัพย์) อย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุดเพื่อผลิตสินค้าสาธารณะที่กลไกตลาดเสรีไม่สามารถผลิตได้เองอย่างครบถ้วนนอกจากนั้นรัฐบาลก็ยังมีบทบาทสำคัญในการระดมและจัดสรรทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศซึ่งต้องอาศัยภาษีเพื่อใช้ในการดำเนินการอีกด้วย สำหรับตอนต่อไปนั้นผมจะเขียนเรื่องการเก็บภาษีประเภทต่างๆ ครับ
Seattle
Verified User
โพสต์: 1119
ผู้ติดตาม: 0

Re: ภาษี (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ภาษี (3) / ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

Posted: Mon Oct 20, 2014

การเก็บภาษีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีความชัดเจนว่าการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นนั้นจะนำไปสู่ประโยชน์โดยรวมอย่างไรครั้งที่แล้วผมแสดงความเห็นว่าประเทศไทยกำลังมีแนวโน้มที่จะใช้การเก็บภาษีคนรวยเพื่อลดส่วนต่างระหว่างคนรวยกับคนจนและเพิ่มความมั่นคงทางการคลังของภาครัฐ ทั้งนี้ เพราะมีกระแสที่มองว่าการใช้จ่ายของภาครัฐนั้นมีปัญหาคอร์รัปชันและการใช้นโยบายประชานิยมอย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่จะอยากกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวสูง ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้ของภาครัฐดังกล่าวก็จะถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยากจน กล่าวคือนโยบายปัจจุบันดูเสมือนว่าจะพึ่งพาการเก็บภาษีเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำแตกต่างจากในอดีตจะเน้นการใช้งบประมาณของรัฐเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าว

หากคิดจะเก็บภาษีเพิ่มก็ควรพิจารณาอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับหลักการและเหตุผลของการเก็บภาษี ซึ่งในความเห็นของผมนั้นภาษีทุกชนิดมีผลในการบิดเบือนแรงจูงใจของผู้ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ดังนั้น หลักการสำคัญคือการเก็บภาษีที่บิดเบือน การตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจและการพาณิชย์ให้น้อยที่สุด ซึ่งอาจเริ่มต้นโดยการพิจารณาภาษีประเภทต่างๆ ว่าส่งผลกระทบในแง่ใดบ้างดังต่อไปนี้

1. ภาษีเงินได้ หากเก็บในอัตราสูงก็จะทำให้คนไม่อยากทำงานเพิ่มเพราะเก็บภาษีคนที่อยู่เฉยๆ (พักผ่อน) ไม่ได้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ตรงนี้พบว่าต้องเก็บภาษีเงินได้ที่อัตราค่อนข้างสูงมากจริงๆ จึงส่งผลกระทบ เช่น เก็บภาษีเกินกว่า 35% ก็จะทำให้เกิดความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญและเมื่อเก็บภาษีในอัตรา 50% ขึ้นไปก็เป็นแรงจูงใจให้เกิดการย้ายออกไปอยู่ประเทศอื่นที่ภาษีต่ำกว่า

2. ภาษีทรัพย์สิน ตรงนี้อาจมองว่าภาษีทรัพย์สินบางอย่าง เช่น ที่ดินน่าจะเก็บได้ง่าย (หลบภาษีได้ยาก) และสามารถลดส่วนต่างระหว่างคนรวยกับคนจนได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าจะส่งผลกระทบในการกดราคาสินทรัพย์ที่ถูกเก็บภาษีโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่ร่ำรวยสามารถไปซื้อทรัพย์สินประเภทเดียวกันในต่างประเทศได้

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นการเก็บภาษีการบริโภคเป็นหลัก ซึ่งมองได้ว่าเป็นภาษีที่ทำให้คนจนเสียเปรียบเพราะต้องจ่ายภาษีเท่ากับคนรวยในการบริโภคสินค้าอย่างเดียวกัน แต่มูลค่าภาษีดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของตน เช่น คนรายได้ต่ำกับคนรายได้สูงซื้อโทรทัศน์ราคา 10,000 บาท ก็ต้องจ่ายภาษีแวตเท่ากันคือ 700 บาท แต่ 700 บาทคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 5% สำหรับคนที่มีรายได้ 14,000 บาทต่อเดือน แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% สำหรับคนที่รายได้ 350,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น แต่ในกรณีของประเทศไทยนั้นก็ได้ยกเว้นการเก็บภาษีแวตสำหรับอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย ดังนั้น ผู้ที่มีรายได้น้อยหากซื้อสินค้าราคาถูกตามตลาดสด ซึ่งรวมถึงเสื้อผ้าและของใช้ประจำวันจากแหล่งจำหน่ายดังกล่าวก็สามารถเลี่ยงการจ่ายแวตได้

4. ภาษีสรรพาสามิต เป็นภาษีที่เก็บเพื่อต้องการลดการบริโภคที่สังคมมองว่าเป็นอบายมุขหรือสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น เหล้า บุหรี่หรือสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์หรืออาจเป็นวิธีหารายได้ที่จะต้องมารองรับผลกระทบในเชิงกว้างจากการบริโภคดังกล่าว เช่น รถยนต์ทำให้เกิดปัญหามลภาวะ การเกิดอุบัติเหตุทำให้เกิดความเสียหายและความจำเป็นที่ภาครัฐต้องสร้างถนนและบริการอื่นๆ ที่รองรับผลจากการบริโภคดังกล่าว (ซึ่งรวมถึงเหล้าและบุหรี่ด้วย) แต่ตรงนี้ก็ต้องระมัดระวังว่าหาตั้งอัตราภาษีสูงเกินไปก็จะเจอปัญหาการหลีกเลี่ยง หรือหลบภาษีที่รุนแรงยิ่งขึ้น

5. ภาษีมรดก หมายความถึงภาษีที่ผู้รับมรดกต้องจ่ายให้กับรัฐ (มิได้เก็บจากผู้ให้ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว) ซึ่งอาจมองได้ว่าลูกหลานที่ได้มรดกนั้นถือว่าได้มาโดยมิได้ต้องขวนขวายทำงานเหมือนเป็น “บุญหล่นทับ” จึงน่าจะต้องเสียภาษีให้รัฐเพื่อลดส่วนต่างระหว่างคนจนกับคนรวยและเพื่อให้เกิดการกระจายสินทรัพย์ออกไปแทนที่จะกระจุกตัวเป็นมูลค่าขนาดใหญ่ของครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลใดวงศ์ตระกูลหนึ่ง ทั้งนี้ภาษีมรดกจะมีประสิทธิผลสูงยิ่งในกรณีที่มรดกเป็นอสังหาริมทรัพย์เพราะหากลูกหลานไม่มีเงินจ่ายภาษีก็จะต้องรีบขายสินทรัพย์ดังกล่าวออกไปให้คนอื่นเพื่อมีเงินไปจ่ายภาษีจึงจะเป็นการกระจายทรัพย์สมบัติออกไปได้อย่างดี แต่ก็มีจุดอ่อนที่ผมจะขอกล่าวถึงในโอกาสหน้าอีกครั้ง

6. ภาษีศุลกากร เป็นภาษีที่ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยได้เปรียบ แต่ในยุคที่เศรษฐกิจโลกเปิดเสรีและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ภาษีดังกล่าวก็ถูกกดดันให้ต้องปรับลดลงและมีความสำคัญน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ผู้ผลิตที่แข่งขันไม่ได้ก็ยังมักจะมีข้ออ้างว่าควรปกป้อง “คนไทย” ต่อไป ทั้งนี้จะต้องเก็บภาษีในอัตราที่พอเหมาะพอควรเพราะหากเก็บมากไปก็จะทำให้เกิดกระบวนการเลี่ยงภาษีและให้ประโยชน์กับผู้ผลิตในประเทศในการผูกขาดตลาดมากเกินไป

โดยสรุปแล้วผมมีความเห็นว่า

1. การเก็บภาษีนั้นโดยรวมย่อมจะไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้นเพราะเป็นการนำทรัพยากรของเอกชนมาให้รัฐนำไปใช้จึงต้องขึ้นอยู่กับความจำเป็นและประสิทธิภาพของรัฐในการใช้ทรัพยากรดังกล่าวให้คุ้มค่าที่สุด ทั้งนี้ แม้ไทยจะเก็บภาษีเพียง 17-18% ของจีดีพีซึ่งเป็นสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มีความมั่งคั่งในระดับเดียวกันและคิดเป็นสัดส่วนเพียงครึ่งหนึ่งของการเก็บภาษีของประเทศที่ร่ำรวย แต่การเก็บภาษี (ไทยเฉพาะการเพิ่มภาษี) ย่อมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จึงต้องมีความชัดเจนว่าการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นนั้นจะนำไปสู่ประโยชน์โดยรวมอย่างไร เช่น อาจพูดได้ว่าการทำให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลแข็งแกร่งมั่นคงมากขึ้นนั้นจะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวลดลงซึ่งเป็นประโยชน์กับภาคเอกชนในการกู้เงินระยะยาวด้วย เป็นต้น

2. หากวัตถุประสงค์หลักของการเก็บภาษีคือการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน (เช่นภาษีที่ดินและภาษีมรดก) ก็ควรมีตัวเลขแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นได้ลดลงไปเพียงใด ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะโน้มน้าวให้มีแรงสนับสนุนการเก็บภาษีดังกล่าว นอกจากนั้นก็ควรต้องแสดงให้เห็นว่าภาษีดังกล่าวมีผลลบในเชิงของการบิดเบือนประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด เช่น หากเก็บภาษีรายได้ในอัตราที่สูงเกินไปก็อาจทำให้คนต้องการทำงานน้อยลงหรือเลี่ยงไปแลกเปลี่ยนบริการระหว่างกันเพื่อเลี่ยงการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหรือย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่ประเทศอื่น (หรือย้ายประเทศที่จ่ายเงินเดือน) เป็นต้น
โพสต์โพสต์