วิธีโต/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

วิธีโต/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

โลกในมุมมองของ Value Investor       1 พฤษภาคม 2557
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
วิธีโต

	การลงทุนในหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมแบบหนึ่งก็คือ  การลงทุนในหุ้นที่  “โตเร็ว”  ในราคาที่ไม่แพงหรือราคาถูก  เรื่องของราคานั้น  หุ้นบางตัวก็ดูไม่ยากว่าแพงหรือไม่แพง   แต่หุ้นบางตัวก็ดูยาก  ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและผลประกอบการของบริษัท  ถ้าเราพบหุ้นที่โตเร็วในราคาหุ้นที่ดูไม่ยากว่าราคาไม่แพง  เราก็ควรจะซื้อและถือไว้นาน ๆ   แล้วผลตอบแทนที่ดีก็จะตามมา   ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดในวันนี้ก็คือ  หุ้นที่โตเร็วหรือหุ้นที่โตนั้น  บางทีก็มีความซับซ้อนที่ทำให้เราวิเคราะห์ผิดได้  ถ้าจะให้ดี  เราควรจะต้องรู้ว่าหุ้นตัวนั้นมี “วิธีโต”  อย่างไร  ซึ่งจะทำให้เรามีความมั่นใจว่า  การเติบโตนั้นจะไม่มีอุปสรรคและจะไม่ถดถอยกลับหรือหดตัวลงในภายหลัง
	วิธีโตแบบแรกที่ง่ายและแน่นอนกว่าวิธีอื่น ๆ  อีกหลายวิธีก็คือ  การขยายร้านสาขาของบริษัทไปยังทำเลอื่นที่มีลักษณะของผู้บริโภคและฐานะทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับฐานของลูกค้าเดิมของกิจการ   ตัวอย่างเช่น  กิจการค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งหลายที่ขายสินค้าในประเทศไทยและอาจจะมีร้านค้าครอบคลุมประมาณ 30% ของหัวเมืองในประเทศอยู่แล้ว   การเติบโตต่อไปก็คือ  การขยายสาขาไปยังหัวเมืองที่เหลืออยู่   โอกาสที่บริษัทจะประสบความสำเร็จก็น่าจะสูง  เหตุผลก็คือ  คนไทยนั้นมีพฤติกรรมคล้าย ๆ  กันในการบริโภคสินค้า  ถ้าหัวเมืองหลัก ๆ  ชอบ  คนเมืองอื่นก็น่าจะชอบ  อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  รายได้ของคนในเมืองที่บริษัทจะขยายสาขาไปก็น่าจะใกล้เคียงกับเมืองเดิมหรือมีศักยภาพที่จะเป็นลูกค้าของร้านได้       ดังนั้น  การเติบโตโดยวิธีเปิดสาขาเพิ่มในประเทศจึงเป็นวิธีโตที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำ  อย่างไรก็ตาม  การเปิดสาขา  “ข้ามประเทศ”  หรือในประเทศอื่นนั้น  บริษัทอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากความแตกต่างของผู้บริโภคและความเข้มแข็งของบริษัทยังไม่มีในตลาดนั้น
	วิธีโตแบบที่สองก็คือ  การเพิ่มปริมาณการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคมากขึ้น  นี่คือสินค้าที่ขายให้คนจำนวนมากซึ่งโดยปกติก็จะต้องมีการโฆษณาหรือมีการตลาดที่จะเข้าถึงผู้คนผ่านสื่อสารมวลชนต่าง ๆ   รวมถึงการที่ผลิตภัณฑ์จะต้องโดนใจลูกค้าเป้าหมาย  เช่นเดียวกัน  ช่องทางจัดจำหน่ายก็จะต้องทั่วถึงและจะต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ  อีกมาก   การเพิ่มปริมาณการขายนั้น  ยังขึ้นอยู่กับภาวะอุตสาหกรรมด้วยว่าสินค้านั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในช่วงของการเติบโต  อิ่มตัว  หรือถดถอย  ถ้าอุตสาหกรรมกำลังเติบโต  โอกาสที่บริษัทจะโตเร็วก็จะมากขึ้น  ถ้าอุตสาหกรรมอิ่มตัวหรือกำลังถดถอย  ก็เป็นเรื่องยากที่กิจการจะโตไปได้อย่างราบรื่น   ดังนั้น  การเติบโตโดยวิธีนี้  จึงเป็นการเติบโตที่ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารของบริษัทและภาวะของอุตสาหกรรมซึ่งทำให้เป็นเรื่องยาก   อย่างไรก็ตาม  ถ้าบริษัทไหนสามารถทำได้ดี  นี่ก็จะเป็นการเติบโตที่มีคุณภาพ  เพราะเมื่อโตแล้วบริษัทก็มักจะสามารถรักษาการเติบโตต่อไปได้ไม่เปลี่ยนไปง่าย ๆ  
	การเติบโตแบบที่สามก็คือ   โตเพราะราคาสินค้าปรับตัวขึ้น  นี่มักจะเกิดกับธุรกิจที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาปรับตัวขึ้นลงตามภาวะอุปสงค์-อุปทานของประเทศไทยหรือของโลก  การเติบโตแบบนี้  ซึ่งบางช่วงนั้นกินเวลาหลายปีอาจทำให้เราเข้าใจว่าบริษัทนั้นเติบโต  แต่จริง ๆ  แล้ว  การเติบโตนั้นอาจจะสะดุดหรือแม้แต่ถดถอยลงก็เป็นได้เนื่องจากราคาสินค้าอาจจะปรับตัวลดลงในอนาคต  ดังนั้น  การเติบโตแบบนี้จึงเป็นการโตที่ไม่ใคร่มีคุณภาพ  ในหลาย ๆ  บริษัทที่มีการใช้กำลังการผลิตเต็มที่แล้วและอยู่ในอุตสาหกรรมที่สินค้ามีราคาผันผวนมาก  เราอาจจะต้องบอกเลยว่ามันเป็นบริษัทที่  “ไม่โต”  แม้ในช่วงสั้น ๆ  ยอดขายจะเพิ่มขึ้นมาก
	การเติบโตแบบที่สี่ก็คือ  โตเพราะได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น  นี่คือการเติบโตของธุรกิจที่มีลูกค้าน้อยรายและซื้อครั้งละมาก ๆ  เพื่อที่จะนำไปใช้งานหรือไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อที่จะไปขายต่อ   ตัวอย่างเช่น  โรงงานผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ   บริษัทรับเหมาก่อสร้าง  เป็นต้น  การเติบโตแบบนี้มีข้อเสียที่สำคัญก็คือ  มาร์จินหรือผลกำไรต่อยอดขายมักจะไม่ใคร่สูงและบ่อยครั้งไม่คงที่ขึ้นอยู่กับสภาวะการแข่งขันในแต่ละช่วง  เช่นเดียวกัน  การเติบโตบางครั้งก็ไม่ยั่งยืนเนื่องจากผู้ซื้อมักเป็นรายใหญ่ที่มีอำนาจในการต่อรองสูงและสามารถเปลี่ยนผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการซึ่งทำให้ยอดขายของบริษัทหดหายไปได้มาก  ดังนั้น  การโตของบริษัทแบบนี้ก็อาจจะมีคุณค่าไม่มากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบริษัทต้องลงทุนสูงและผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 12%-13% ต่อปี
	วิธีการเติบโตแบบที่ห้าก็คือ  การโตโดยการซื้อหรือควบรวมกิจการ  วิธีนี้อาจจะทำให้ยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดดและไม่ลดลงในอนาคต  อย่างไรก็ตาม  การโตโดยวิธีนี้มักจะไม่มีประโยชน์ถ้า   หนึ่ง  มันเป็นการซื้อกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการเดิมของบริษัท  และสอง มันอยู่ในกิจการเดิมหรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมแต่มันไม่ได้สร้าง Synergy หรือสร้างประโยชน์จากการรวมกิจการเข้าด้วยกันมากพอ  การโตแบบนี้เราไม่ควรที่จะไปเพิ่มค่าให้กับหุ้นเลยยกเว้นแต่ว่าราคาซื้อกิจการจะต่ำมาก   อย่างไรก็ตาม  การโตโดยการ Take Over ธุรกิจเดียวกันที่สามารถช่วยลดต้นทุนหรือเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้มากโดยที่ราคาซื้อไม่สูงเกินไปนั้น  ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นการเติบโตที่ดีได้
	การโตเรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  การโตในธุรกิจการเงิน  วิธีโตในธุรกิจการเงินนั้น  หลายเรื่องเป็นเรื่องง่ายแต่มีความเสี่ยงสูงและอาจจะไม่มีประโยชน์   การโตที่มีประโยชน์  เช่น  การโตของฐานเงินฝากที่เป็นประชาชนทั่วไปนั้นเป็นเรื่องยากพอสมควรและต้องใช้เวลา  แต่เมื่อโตแล้วก็ทำให้บริษัทมีต้นทุนเงินทุนที่ต่ำต่อเนื่องยาวนานและปริมาณค่อนข้างแน่นอน    การโตที่ดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์มากโดยเฉพาะในระยะสั้น  แต่ในระยะยาวเช่น  2-3 ปีขึ้นไปก็อาจจะล้มเหลวก็คือ  การเติบโตของสินเชื่อหรือลูกหนี้   เพราะการโตของสินเชื่อนั้น  ในช่วงแรกก็มักจะก่อให้เกิดรายได้สูงกว่ารายจ่ายที่เป็นต้นทุนของดอกเบี้ย  แต่เมื่อเวลาผ่านไปลูกหนี้อาจจะผิดนัดชำระหนี้กลายเป็นหนี้เสียซึ่งจะทำให้บริษัทขาดทุน  ประเด็นก็คือ  เราไม่รู้ว่าลูกหนี้ที่ปล่อยไปจะกลายเป็นหนี้เสียมากน้อยแค่ไหน  เราเพียงแต่รู้ว่า  การปล่อยเงินกู้นั้นสามารถทำได้ง่ายและเราสามารถโตได้ง่ายถ้าเรายอมปล่อยให้ลูกหนี้ที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี  ดังนั้น  การโตของสถาบันการเงินหรือบริษัทที่ปล่อยเงินกู้เราจึงไม่ควรให้คุณค่ามากนักถ้าเราไม่มั่นใจว่าคุณภาพของลูกค้าเป็นอย่างไร
	การเติบโตของกิจการนั้น   ยังมีประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้การเติบโตนั้นดีหรือมีคุณค่าไม่เท่ากันนั่นก็คือ  มันเป็นการโตที่ต้องลงทุนมากน้อยแค่ไหน?    ถ้าการโตต้องใช้เงินลงทุนสูง  การโตก็มีประโยชน์น้อยลงเทียบกับการโตที่ไม่ต้องลงทุนมาก  เหตุผลสำคัญก็คือ  ถ้าต้องใช้เงินลงทุนมากผลตอบแทนการลงทุนก็น้อยลง  และถ้าน้อยลงจนถึงจุดหนึ่ง  เช่น  ทำให้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 10%  ต่อปี  ก็ไม่มีประโยชน์ที่บริษัทจะทำ  ในกรณีแบบนี้  บริษัทควรจะจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นจะดีกว่า  เพราะผู้ถือหุ้นสามารถที่จะนำเงินนั้นไปลงทุนในกิจการอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า  ในอีกด้านหนึ่ง  การโตที่ต้องใช้ทุนมากนั้น  เราก็ต้องดูด้วยว่าทุนนั้นใช้ทำอะไร?  ถ้าเป็นอุปกรณ์แบบ  “ไฮเท็ค”  หรือเป็นโรงงานที่มีเครื่องจักรพิเศษที่มีความเฉพาะตัว  เราก็ต้องระวังว่ามันอาจจะล้าสมัยได้ง่ายและทำให้เราต้องลงทุนเพิ่มเติมในภายหลังซึ่งทำให้กระแสเงินสดลดน้อยลง
	สุดท้ายที่ผมยังไม่ได้พูดถึงแต่อยากเตือนก็คือ  “ราคาของการเติบโต”  เพราะบ่อยครั้ง  บริษัท“ซื้อการเติบโต”  ด้วยราคาที่แพงมาก  และนั่นอาจจะไม่คุ้มค่าโดยเฉพาะถ้าผลประโยชนที่จะได้นั้นไม่ชัดเจน
[/size]
theenuch
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1735
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิธีโต/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบพระคุณมากค่ะ
cruyff
Verified User
โพสต์: 15
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิธีโต/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ดร.นิเวศน์ อธิบายได้ชัดเจน และเห็นภาพมากๆ ครับ ขอบคุณครับ
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิธีโต/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณมากๆนะครับ
jupiterwin
Verified User
โพสต์: 154
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิธีโต/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบพระคุณมากครับ
RnD-VI
Verified User
โพสต์: 2187
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิธีโต/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบพระคุณครับอาจารย์
รพินทร์ ไพรวัลย์
Verified User
โพสต์: 2
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิธีโต/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ขอบคุนครับ
PLUSLOVE
Verified User
โพสต์: 1474
ผู้ติดตาม: 0

Re: วิธีโต/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 8

โพสต์

ขอบคุณครับ
โพสต์โพสต์