โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 8 กุมภาพันธ์ 2557
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก มีบทกลอนที่ทำนายถึงอนาคตของประเทศไทยบทหนึ่ง ซึ่งลงท้ายด้วยคำว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจมลง” ความหมายกว้าง ๆ ก็คือ คนที่ “ต่ำต้อยไร้ค่า” ในคำนิยามสมัยนั้น จะมีอำนาจวาสนาขึ้น ในขณะที่คนที่ “สูงศักดิ์” กว่า จะถดถอยตกต่ำลง คำทำนายนี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันที่เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ โดยเฉพาะในทางการเมือง ก็มักจะมีคนยกขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ในการชักนำความคิดคนอ่านหรือคนฟังให้เป็นคุณกับฝ่ายตน อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ ผมจะใช้ในความหมายที่เป็นกลาง นั่นก็คือ สิ่งที่ด้อยกว่าจะเติบโตโดดเด่นขึ้น ในขณะที่สิ่งที่ดีเด่นกว่าจะถดถอยลง-ในทางเศรษฐกิจและหุ้น
เริ่มต้นที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ ย้อนหลังไปไกลอาจจะซัก 40 ปีขึ้นไป โลกของเราในขณะนั้นดูเหมือนว่าจะถูก “ครอบงำ” โดยประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งก็คือ ประเทศซีกโลกด้านตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ต่อมา เยอรมันและญี่ปุ่นก็ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย สัดส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกนั้นดูเหมือนว่าจะตกอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่ประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนานั้นน่าจะโตช้าหรือบางประเทศถึงกับถดถอยลง พูดง่าย ๆ ประเทศที่จนอยู่แล้ว ยิ่งจนลง ปัญหาใหญ่ก็คือ ประเทศเหล่านั้นมีเด็กเกิดใหม่มาก พูดกันในสมัยนั้นก็คือ “ลูกมากยากจน” ประเด็นสำคัญก็คือ ประเทศขาดคนที่มีความรู้ เทคโนโลยีในการผลิต ทุน และผู้ประกอบการที่จะสร้างผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ดังนั้น คนที่มีอยู่มากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ไม่มีประโยชน์ ตรงกันข้าม กลับเป็น “ภาระ” ที่ทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น
ต่อมาเมื่อโลก “เปิดกว้าง” ขึ้น ผลจากความสงบ ปราศจากสงคราม ทั้งสงครามเย็นและสงครามร้อนของประเทศมหาอำนาจ ประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชนมากขึ้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาก็เริ่มต้นขึ้นอย่างคึกคักโดยเฉพาะประเทศในเอเซียซึ่งนำโดยประเทศ “เสือแห่งเอเซีย” ที่มีประชากรน้อยและอยู่ในกลุ่มโลกเสรีในช่วงสงครามเย็นที่โลกยังไม่เปิดกว้างทั้งหมด ต่อมาก็คือประเทศในเอเชียที่มีประชากรมากอย่างจีน และอินเดีย ที่ได้เปิดประเทศเต็มที่หลังจากสงครามเย็นสงบลง การเปิดประเทศนั้นทำให้ปัจจัยการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายเข้ามาทำการผลิตได้โดยสะดวก ปัญหาเรื่องความรู้ เทคโนโลยี ทุน และแรงงานหมดไป ดังนั้น การผลิตและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ผลก็คือ เศรษฐกิจของประเทศยากจนที่ “เปิดประเทศ” จึงเติบโตเร็วอย่างก้าวกระโดดและกลายเป็น Emerging Economy ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นทุกทีในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วโตช้าลงไปมากเนื่องจากระดับการพัฒนาที่สูงอยู่แล้วกอร์ปกับการที่ประชากรไม่ใคร่เพิ่มขึ้นและแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว
“กระเบื้อง” ชิ้นใหญ่มโหฬารอย่างจีนได้เฟื่องฟูขึ้นมาแล้วและน่าจะยังขึ้นต่อไป กระเบื้องชิ้นเล็ก ๆ อีกหลายชิ้นข้างบ้านเราเช่น เวียตนาม พม่า กัมพูชา ลาว กำลัง “เปิดประเทศ” ซึ่งจะนำมาซึ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วน่าจะเป็นกระเบื้องที่จะเฟื่องฟูลอยต่อไป และนี่ก็คือจุดที่ประเทศไทยควรจะต้องเข้าไป “เกาะ” หรือเข้าไปมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่จะส่งเสริมให้เรามีความก้าวหน้าหรือมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเมื่อคำนึงถึงว่าประชากรของเราไม่ใคร่เพิ่มขึ้นและกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ประเด็นปัญหาของเราที่อาจจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถที่จะเข้าไปมีบทบาทที่คึกคักในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ก็คือ “ปัญหาทางการเมือง” และการบริหารประเทศที่ทำให้รัฐไม่สามารถกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินการที่เหมาะสม ตัวอย่างที่เห็นชัดในช่วงนี้ก็คือ ระบบการขนส่งและ Logistic ที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องใช้เวลาอีก 20 ปีเพื่อเชื่อมต่อรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้าน เราจะเหลืออะไรเมื่อ “กระเบื้อง” ทั้งหลายได้เฟื่องฟูไปหมดแล้ว?
ผมพูดแต่เรื่องนอกบ้านซึ่งยังห่างไกลจากประเด็นของการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่บ้าง แต่ “กระเบื้อง” ไม่ได้มีเฉพาะในต่างประเทศ “กระเบื้อง” ที่อยู่ในบ้าน หรือคนไทยที่ด้อยกว่าทางด้านเศรษฐกิจในประเทศไทยเองก็มีมากมาย ว่าที่จริง ในอดีตย้อนหลังไป 40-50 ปี นั้น ต่างจังหวัดทั้งหมดของประเทศไทยมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจน้อยมากเมื่อเทียบกับกรุงเทพ จนคนแทบจะพูดกันว่า “กรุงเทพก็คือประเทศไทย” ต่อมา อาจจะราว ๆ 20-30 ปีที่ผ่านมาเมื่อผมเริ่มทำงานที่เกี่ยวกับข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจ ตัวเลขที่ผมรู้สึกว่าเป็น “Magic Number” หรือตัวเลข “อัศจรรย์” ก็คือ กรุงเทพและปริมณฑลมักจะมียอดรวมของยอดขายของสิ่งต่าง ๆ ประมาณ 50% ส่วนต่างจังหวัดที่มีมากถึง 50-60 จังหวัดมีสัดส่วนรวมกันเท่ากับ 50% เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ยอดขายรถยนต์ ยอดขายเทปเพลง และอื่น ๆ อีกมาก
ประมาณซัก 10-20 ปีที่ผ่านมา อาการกระเบื้องจะเฟื่องฟูลอยของจังหวัดหัวเมืองของไทยก็เริ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชาชนในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมทั้งหลายโดยเฉพาะที่เป็นขนาดใหญ่เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ต่อมาก็เป็นธุรกิจรถยนต์ นี่ยังไม่นับอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมส่งออกทั้งหลายที่ถูกย้ายมาจากต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น นั่นส่งผลให้จังหวัดชายทะเลที่เป็นท่าเรือน้ำลึก เช่น ชลบุรีและระยองเติบโตขึ้นมหาศาล รายได้ต่อหัวสูงขึ้นเท่าเทียมหรือสูงกว่ากรุงเทพ ต่อมาการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วก็ส่งผลให้จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เติบโตขึ้นมากจากธุรกิจที่ให้บริการนักท่องเที่ยว คนในจังหวัดเหล่านี้มีรายได้และพฤติกรรมการใช้จ่ายไม่ต่างจากกรุงเทพเท่าใดนัก เวลาต่อมาเมื่อแรงงานเป็นที่ต้องการมากขึ้น จังหวัดที่มีคนมากและระยะทางไม่ห่างจากกรุงเทพหรือท่าเรืออย่างเช่นโคราชก็เริ่มมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากขึ้น และสุดท้ายที่ดูเหมือนว่าจะเป็น “คลื่นลูกล่าสุด” ก็คือจังหวัดที่เป็นชายแดนทางผ่านติดต่อกับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กำลังเปิดประเทศ เช่น อุดรธานี แม่สอด อรัญประเทศ เชียงราย ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอานิสงค์จากการค้าขายกับประเทศเหล่านั้นที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด การค้าขายผ่านชายแดนรวมกันน่าจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่าการค้าขายกับประเทศใหญ่ ๆ ของโลกแล้ว
ตัวเลขกรุงเทพ 50% และต่างจังหวัด 50% นั้น ขณะนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ต่างจังหวัดของไทยโตเร็วขึ้นขณะที่กรุงเทพโตช้าลง ธุรกิจหลาย ๆ อย่างเริ่มจะอิ่มตัว ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 เคยมีจำนวนร้าน 50% ในกรุงเทพขณะนี้กลายเป็น 45% และที่เปิดใหม่ก็เปิดในต่างจังหวัดมากกว่า เช่นเดียวกัน ชอปปิงมอลอย่างห้างของเครือเซ็นทรัลในระยะหลัง ๆ ต่างก็เปิดในต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพ สิ่งที่ตามก็คือร้านค้าทั้งหลายที่ขายสินค้าระดับสูงรวมไปถึงภัตตาคารที่ขายอาหารราคาสูงก็ขยายไปในต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพ ว่าที่จริงบริษัทที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคที่ยังเติบโตได้ในเวลานี้ ส่วนใหญ่ก็มักจะต้องเน้นไปที่ต่างจังหวัดแทบทุกบริษัท ครั้งหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมมีเวลาว่างหลังจากการบรรยายและได้ไปเดินเล่นในห้างเซ็นทรัลที่เชียงใหม่ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็คือ มันแทบจะไม่ต่างจากชอปปิ้งมอลที่กรุงเทพเลย และทั้งหมดนั้นก็ทำให้ผมสรุปว่า “กระเบื้อง” ในประเทศไทยนั้นกำลังเฟื่องฟูลอย กรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทยอีกต่อไป
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ข้อสรุปรวบยอดของผมก็คือ “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจมลง” นั้น กำลังเป็น “เมกาเทรนด์” ในหลาย ๆ สิ่งของโลกและของประเทศไทย การวิเคราะห์หุ้นของเราจะต้องตระหนักในเรื่องนี้