นักวิจัยอเมริกัน คิดค้นแผงโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่ ซึ่งทำจากเศษไม้ แทนการใช้กระจก หรือพลาสติก หวังพัฒนาระบบผลิตกระแสไฟฟ้าพลังแสงงานอาทิตย์ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต
แม้การใช้แผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป ถือเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อนได้เป็นอย่างดี แต่แผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ในปัจจุบัน ยังคงทำมาจากวัสดุสังเคราะห์อย่างกระจก พลาสติก และซิลิคอน ซึ่งย่อยสลายได้ยากตามธรรมชาติ
ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามหาวิธีพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่ ที่เป็น"ออร์แกนิค" เพื่อทำให้อุปกรณ์ชนิดนี้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
นายเบอร์นาร์ด คิพเพเลน หัวหน้าคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย เทค ประเทศสหรัฐอเมริกา บอกว่า ล่าสุด พวกเขาค้นพบส่วนประกอบทางเคมีของไม้ ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนวัสดุสังเคราะห์ในแผงโซลาร์เซลล์ โดยวัสดุชนิดนี้ สามารถนำมาทำเป็นแผ่นฟิล์มโปร่งแสงบางๆ ของผลึกนาโนเซลลูโลส และนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ของแผงโซลาร์เซล์ได้ ทำให้โซลาร์เซลล์ยุคใหม่ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยอมรับว่า การค้นพบครั้งนี้ยังคงมีทั้งข้อดี และข้อเสีย เนื่องจากแผ่นฟิล์มโปร่งแสงที่ผลิตจากไม้ สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เพียงแค่นำไปจุ่มน้ำ ทำให้เวลานำไปใช้งานจริง แผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตจากวัสดุออร์แกนิคดังกล่าวในปัจจุบัน อาจใช้การได้ไม่ดีเท่าที่ควรในช่วงที่มีฝนตก
ดังนั้น นักวิจัยจึงกำลังเร่งพัฒนาสารเคลือบจากธรรมชาติขึ้นมา เพื่อนำไปใช้ปกป้องโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่จากอันตรายของสายฝน ท่ามกลางความหวังว่า สิ่งประดิษฐ์นี้ของพวกเขา นอกจากจะช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนต่ออุตสาหกรรมป่าไม้แล้ว ยังอาจเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติที่หาง่ายอย่างเศษไม้ ให้กลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญใหม่ในอนาคต
http://news.voicetv.co.th/technology/68928.html