โค้ด: เลือกทั้งหมด
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา World Economic Forum (WEF)ได้เผยแพร่บทวิจัยเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันในด้านการเดินทางและท่องเที่ยวของประเทศต่างๆในโลก 140 ประเทศ โดยจัดทำเป็นดัชนีและมีการจัดอันดับ ซึ่งในปี 2013 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 ตกลงมาจากอันดับที่ 41 ที่ได้รับการจัดในครั้งก่อนเมื่อปี 2011 และอันดับที่ 39 เมื่อปี 2009
การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและท่องเที่ยวที่ WEF จัดทำขึ้นทุกสองปีนี้ ประกอบด้วยดัชนีย่อย 14 ดัชนี คือ กฎเกณฑ์ นโยบาย และกฎหมาย ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงปลอดภัย สุขภาพและสุขอนามัยที่ดี การให้ความสำคัญต่อการเดินทางและท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคมทางอากาศ โครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคมทางบก โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานทางด้านสารสนเทศและการสื่อสาร ราคาค่าบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่แข่งขันได้ ทรัพยากรบุคคล ปัจจัยเกื้อหนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
สำหรับประเทศไทยนั้น สถาบันบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีดีอาร์ไอ เป็นผู้ให้ความร่วมมือในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลค่ะ
เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้เห็นบทวิจัยนี้ ในตอนที่เห็นชื่อบทวิจัยก็คิดขึ้นมาว่า ประเทศไทยของเราคงจะได้ลำดับที่ดีพอสมควรเพราะเราถือเป็นประเทศที่มีคนอยากมาเที่ยวกันมาก แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมีหลากหลาย แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมก็มีมาก แถมไม่พอ อาหารการกินก็สุดยอด ทั้งอร่อยหลากหลายและไม่แพง
แต่พอเห็นลำดับที่ 43 ก็อึ้งไปนานพอสมควร เอาละ ไปดูลำดับในเอเชียหน่อย คิดว่าอย่างน้อยก็น่าจะอยู่ในห้าอันดับแรกของเอเชียแปซิฟิก แต่กลับกลายเป็นว่า เราได้ที่ 9 แพ้สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย แต่อยู่เหนือจีนนิดหน่อย
เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดพบว่าประมาณการว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในปี 2012 มีมูลค่า 25,295 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7%ของ GDP ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.95 ล้านคน แต่หากรวมภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องแล้วจะมีมูลค่าถึง 58,171 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท คิดเป็น 16% ของ GDP และก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 4.66 ล้านคน
แน่นอนว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ และพยายามส่งเสริม โดยเรื่องปัจจัยเกื้อหนุนอุตสาหกรรมซึ่งรวมถึง การเปิดรับอุตสาหกรรม ทัศนคติของประชาชนต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ การมีจิตใจรับลูกค้า และการอยู่ท่องเที่ยวต่อหลังการทำธุรกิจ ของเราได้อันดับค่อนข้างดี คือได้อันดับที่ 18
โครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมทางอากาศของเราถือว่าดีใช้ได้ คือได้อันดับที่ 21 มีสายการบินมาลงที่ท่าอากาศยานของเราเฉลี่ยถึง 93.5 สายการบิน แต่ที่ไม่ดีคือยังมีจำนวนสนามบินไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร
อีกปัจจัยหนึ่งที่เรามีลำดับที่ดีพอใช้คือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ได้อันดับที่ 23 โดยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือคุณภาพของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ของเราเริ่มเสื่อมถอย โดยได้อันดับที่ 82 ถือเป็นตัวฉุดอย่างแรงเลยทีเดียว
ด้านที่เราได้อันดับดีอีกด้านหนึ่งที่ดิฉันเคยเขียนถึงว่าต้องนำมาเป็นแบรนด์ของประเทศคือ ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา หรือพูดง่ายๆคือ “ความคุ้มค่า” เราได้อันดับที่ 25 ค่ะ ราคาโรงแรมก็ไม่แพง ภาษีตั๋วเครื่องบินและค่าบริการสนามบินถือว่าไม่สูง และค่าครองชีพอยู่ในระดับปานกลาง (อันดับที่ 48)
นอกจากนั้นสิ่งที่เราทำได้ดีมีอีกสองอย่างคือ มีโครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยวที่ดี ได้อันดับที่ 31 และมีปัจจัยด้านแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ได้อันดับที่ 36
มาดูในเรื่องที่ต้องปรับปรุงกันดีกว่าค่ะ ที่ได้อันดับต่ำที่สุดและเป็นตัวฉุดอันดับรวมคือ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเราได้อันดับที่ 99 และจุดนี้เป็นจุดที่จะทำให้เราสะดุดขาตัวเอง เพราะต้องอย่าลืมว่า จุดที่เรามีความสามารถในการแข่งขันสูงคือการมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ดี ถ้าเราไม่สามารถรักษาให้ดีได้ อีก 5 ปี 10 ปี เราคงไม่สามารถขายอะไรได้อีก
ปัจจัยฉุดอันดับที่ 2 คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเราได้อันดับที่ 90 ก็หวังว่า เมื่อโครงการ 3G ที่ยืดเยื้อกันมายาวนาน ทำได้เต็มรูปแบบแล้ว ส่วนนี้จะช่วยเอื้อให้เรามีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นนะคะ
ปัจจัยฉุดอันดับที่ 3 คือ ความมั่นคงปลอดภัย ได้อันดับที่ 87 เผอิญเรามีความไม่สงบทางการเมืองที่กระทบธุรกิจเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในช่วงที่ผ่านมา คะแนนจึงตกต่ำ (เราได้อันดับ 111 จาก 140 ประเทศ) และเขาสะท้อนว่าบริการของตำรวจยังไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ (ได้อันดับที่ 98) แถมยังมีอุบัติเหตุบนท้องถนนในอัตราสูง (อันดับที่ 83) และยังมีอาชญากรรมและความรุนแรงสูง (อันดับที่ 75)
ปัจจัยฉุดอันดับที่ 4 คือ สุขภาพและสุขอนามัย (อันดับที่ 84) เรายังมีจำนวนแพทย์น้อย จำนวนเตียงคนไข้น้อย และการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดยังไม่ดีพอ ข้อนี้ดิฉันคิดว่าการประปาภูมิภาคต้องให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยงมากขึ้นค่ะ
ปัจจัยฉุดอันดับที่ 5 คือ ทรัพยากรมนุษย์ ยังมีการแพร่เชื้อของ HIVในอัตราที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ประชากรเข้าเรียนในระดับประถมและมัธยมต่ำกว่าประเทศอื่น และการจ้างงานชาวต่างชาติทำได้ยาก
ปัจจัยฉุดอันดับที่ 6 คือ โครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคมทางบก ประเทศไทยเราได้อันดับที่ 62 เรามีจำนวนถนนน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร แม้ว่าคุณภาพของถนนจะดีพอใช้ได้ก็ตาม และมีโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟที่ยังด้อยอยู่ (อันดับที่ 64) รวมถึงท่าเรือ (อันดับที่ 56)
ฝากไว้ให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลปรับปรุง ก่อนที่อุตสาหกรรมหลักของเราจะเหี่ยวเฉาไปก่อนเวลาอันควรค่ะ ผู้สนใจอ่านบทวิจัยฉบับเต็ม สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.weforum.org/reports/travel-tourism-competitiveness-report-2013 ค่ะ