บทความ :นโยบายประชานิยม และผลกระทบต่อตลาดหุ้นและตลาดดอกเบี้ย

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
jo7393
Verified User
โพสต์: 2486
ผู้ติดตาม: 0

บทความ :นโยบายประชานิยม และผลกระทบต่อตลาดหุ้นและตลาดดอกเบี้ย

โพสต์ที่ 1

โพสต์

อาสา อินทรวิชัย, 11 ก.ค. 54

การปรับตัวขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยถึง +48 จุด ในวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น คงสร้างความประหลาดใจให้แก่ทุกท่านไม่มากก็น้อย ต้องยอมรับว่าแม้สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นบ้านเราปรับตัวอยู่ใน “แดนลบ” เป็นแรมเดือนจะมาจากปัญหาหนี้ในยุโรป แต่สาเหตุสำคัญของการ rebound เมื่อวันจันทร์นั้นกลับมาจากปัจจัยในประเทศหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงนั่นเอง และไม่ว่าจะเป็นพรรคใดได้รับเสียงข้างมาก ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นครับ …..แต่การปรับขึ้นถึงเกือบ 50จุดนั้น ผมคิดว่ามาจาก “Populism” หรือ “นโยบายประชานิยม” ของพรรคเพื่อไทยที่มีผลทางจิตวิทยา (ในระยะสั้น) นั่นเอง

ไม่น่าแปลกใจเลยที่พรรคเพื่อไทยจะได้รับคะแนนโหวตจากประชากรนอกเขตกทม.อย่างท่วมท้นเพราะนโยบายประชานิยมที่มุ่งเน้นในการเพิ่มรายได้ขั้นต่ำและราคาผลิตผลการเกษตรนั้นตอบโจทย์ประชากรกลุ่ม “รากหญ้า” อย่างชัดเจน …..แต่ท่านทราบหรือไม่ครับว่า การตอบรับในตลาดดอกเบี้ยนั้นกลับมีทิศทางตรงข้ามกับในตลาดหุ้น กล่าวคืออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) โดยเฉพาะช่วงอายุยาวกว่า 5 ปี ได้ปรับขึ้นค่อนข้างรุนแรง 25-40bps ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.





นโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้ (แบบฉับพลันผ่านการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ) และการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ (รายได้เพิ่ม + ภาษีที่ลดลง = disposable หรือ discretionary income ที่เพิ่มขึ้น) ย่อมก่อให้เกิดความกังวลต่อเศรษฐกร เทรดเดอร์ และผู้จัดการกองทุนใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ การเร่งตัวของเงินเฟ้อ และการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้น ในรูปแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ค่าแรงขั้นต่ำมีความสัมพันธ์สูงมากต่อ (positive correlation) ต่ออัตราเงินเฟ้อในบ้านเรา (เนื่องจากมี velocity of money หลายเท่า) ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ผู้ประกอบการเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ margin ลดลง หากปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปรับเพิ่มราคาขายของสินค้าตนและอาจนำไปสู่ปัญหาที่เรียกว่า “Second-round effect” (ผลกระทบที่ตามมา) ได้

ยังจำกันได้หรือไม่ครับว่า 3 ปีที่แล้ว ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากราคา Commodities โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไปแตะ $142/barrel ในปี 2008 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของประเทศไทย ได้ปรับสูงขึ้นจากระดับ 1.1% ในเดือนสิงหาคม 2007 ไปเป็น 8.9% ในเดือนมิถุนายน 2008 ปัญหาเงินเฟ้อย่อมสร้างความกังวลให้แก่ธนาคารกลางอย่างแน่นอน อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่มีความสำคัญที่สุดค่าหนึ่งต่อการกำหนดนโยบายทางการเงินที่กระทำโดยธนาคารกลางของทุกๆ ประเทศ การที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในบ้าน เรียกว่า “First-round effect on inflation” คือเป็นการกระทบโดยตรงสู่ผู้บริโภค ส่วนสาเหตุที่ธนาคารกลางของทุกๆ ประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเพราะไม่ต้องการให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Second-round effect” และ “Price/Wage Spiral” ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาระยะยาวที่ยากต่อการแก้ไข ดังรายละเอียดต่อไปนี้

• Second-round effect คือ ผลจากการที่อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้า (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์น้ำมัน) สูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องขึ้นราคาสินค้า (Pass-through)

• Price/Wage Spiral คือผลจากการที่ราคาสินค้าได้ปรับขึ้นอย่างมากจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อราคาสินค้าทุกประเภท และหากผู้บริโภคมีการคาดการณ์ว่า การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าดังกล่าว มิได้เป็นภาวะชั่วคราว (Long-term inflation expectation) ผู้บริโภคกลุ่มนั้น ในฐานะลูกจ้างบริษัท จะเริ่มทำการต่อรองกับนายจ้าง เพื่อขอขึ้นเงินเดือน/ค่าจ้าง และที่สำคัญ อัตราค่าจ้างที่เรียกร้องนั้นเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ณ เวลานั้นๆ เพื่อให้ครอบคลุมถึงภาระภาษีที่เกิดขึ้นด้วย ……. ยังไม่จบครับ …….. เมื่อผู้ผลิตมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการเงินเดือน/ค่าจ้างที่สูงขึ้น ผู้ผลิตจึงต้องปรับราคาสินค้าขึ้นด้วย เพื่อให้สามารถดำรง Gross margin ได้ในระดับเดิม …… กล่าวคือ “เงินเดือนไล่ตามราคา (ที่สูงขึ้นจาก First-round effect)” และ “ราคาไล่ตามเงินเดือน (ที่เพิงได้รับการปรับให้สูงขึ้น)” ……. วนเป็น loop (Spiral) เช่นนี้ไปเรื่อยๆ



ปรากฏการณ์ทั้งสองนี้ ล้วนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่จะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาระยะยาวแล้ว ยังทำให้ธนาคารกลางไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ (Credibility) ในความพยายามแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อ หลายครั้งที่ประเด็นเงินเฟ้อเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวดังเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว (กรณี Supply shock จากราคาน้ำมันและ commodities) ครั้งนั้นดอกเบี้ยระยะยาว (10 ปี) ปรับขึ้นแรงตามเงินเฟ้อและปรับลดลงอย่างเร็วเมื่อเงินเฟ้อปรับตัวลง …..แต่สำหรับกรณีที่เงินเฟ้อเกิดจากนโยบายประชานิยมนั้น รัฐฯ จำต้องดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณมากขึ้นอีกถึง 2-3แสนล้านบาทใน 2-3ปีข้างหน้า (ในปีงบประมาณ 2555 ประมาณการการขาดดุลอยู่ที่ -350,000 ล้านบาท) นั้น ทำให้รัฐฯ ต้องออกพันธบัตรในจำนวนมาก และย่อมส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาว (ช่วงอายุ 5-15ปี) เป็นเวลานานอย่างแน่นอน หากอัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง หรืออยู่ในระดับที่สูงเป็นเวลานาน จะทำให้ความจูงใจในตลาดหุ้นต่ำลงอย่างแน่นอน เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปครับว่า นโยบายต่างๆจะออกมาในรูปใดและส่งผลต่อการขาดดุลของรัฐฯ (และปริมาณพันธบัตรที่ต้องระดมเพิ่ม) มากเพียงใด



คุณอาสา อินทรวิชัย ปัจจุบันเป็น Fixed income fund manager ที่ AYF หรือ บลจ.อยุธยา ก่อนที่จะมาร่วมงานกับ AYF คุณอาสาเคยทำงานกับธนาคาร Standard Chartered Bank (Thai) ในตำแหน่ง Global Investor Sales และเป็น Fixed income fund manager ที่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และที่ Citibank ในตำแหน่ง Relationship manager (Financial instituitons) คุณอาสา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรม เครื่องกล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และปริญญาโททาง Mechanical Engineering จาก University of Southern California และ MBA จาก University of California, Berkeley Read more from this author
http://fundmanagertalk.com/economic-tal ... sm-policy/
คุณไม่มีสิทธิ์ดูไฟล์ที่แนบมาในกระทู้
“ถ้าราคาหุ้นแยกออกไปจากเส้นกำไร  ไม่ช้าก็เร็วมันจะวิ่งกลับไปหาเส้นกำไรเสมอ”
เลือกบริษัทที่ดี ในราคาที่เหมาะสม  และถือมันตราบที่มันยังเป็นกิจการที่ดีอยู่

อย่าอายที่จะถาม ไม่มีใครรู้ลึกทุก บ. ถ้าไม่รู้แล้วไม่ถามก็จะยิ่งไม่ฉลาด
โพสต์โพสต์