ดร. โสภณ พรโชคชัย<1> ([email protected])
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินไทย<2>
ท่านเชื่อหรือไม่ว่าบริเวณที่ตั้งปัจจุบันของกระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดีและสถาบันมะเร็งแห่งชาตินั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นสลัมหรือชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง! คือมีประชากรอยู่กันถึง 1,570 ครัวเรือนในปี 2500 (สมัยนั้นสลัมคลองเตยอันโด่งดังยังมีขนาดเล็กอยู่เลย) <3>
คำถามวันนี้ก็คือ เราควรรักษาสลัมแห่งนี้ไว้ถึงวันนี้หรือไม่
การโยกย้ายสลัมหน้ากรมทางหลวง
ถ้าวันนี้สลัมดังกล่าวยังอยู่ ก็คงเป็นแหล่งงาน แหล่งพักพิงและแหล่งโอกาสของผู้คนอีกนับหมื่นคน ตอนนี้สลัมแห่งนี้คงเติบโตเป็นอย่างน้อยประมาณ 3,000 ครัวเรือน ๆ หนึ่งประมาณ 4 คน คงแทบไม่กล้าคิดจะรื้อย้ายเสียแล้ว เพราะไม่รู้จะเอาผู้คนจำนวนมากมายนี้ไปไว้ที่ไหน
แต่ตอนนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยและเทศบาลนครกรุงเทพ (กรุงเทพมหานครในขณะนั้น) เอาจริง ได้วางแผนจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับชาวบ้านแล้วโยกย้ายชุมชนออกไป ใช้เวลาประมาณ 3 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ และสุดท้ายได้พิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่งดังที่ได้อ้างอิงไว้ท้ายบทความนี้
ในหนังสือดังกล่าวได้ ทางราชการได้สรุปนโยบาย แผน แนวทางและวิธีการในการโยกย้ายชุมชนออกไป ตลอดจนรายละเอียดการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ใหม่ การจ่ายค่าทดแทนการโยกย้าย ภาพถ่ายและแผนที่ต่าง ๆ ไว้อย่างละเอียดมาก อันแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริง การมีแผนการที่แน่ชัด และแสดงนัยถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน
บทเรียนจากการโยกย้าย
อย่างไรก็ตามข้อผิดพลาดสำคัญประการหนึ่งของโครงการนี้ก็คือ การโยกย้ายชาวบ้านออกไปไกลถึงปากเกร็ด ซึ่งท้ายสุดชาวบ้านเกือบทั้งหมดก็ไม่ได้ไปอยู่ที่นั่น ส่วนหนึ่งไปอยู่แล้วแต่กลับมาเพราะทนความทุรกันดารไม่ได้ (ปทุมธานีในขณะนั้น ไกลปืนเที่ยงเหลือเกิน) และอีกส่วนหนึ่งก็ไปหาที่อยู่ที่อื่นแทนซึ่งก็คือภายในเขตกรุงเทพมหานครนี้เอง
ข้อผิดพลาดเช่นนี้ ถ้าวิเคราะห์เพียงผิวเผิน ก็อาจบอกได้ว่า การโยกย้ายชุมชนนี้สร้างความเดือดร้อน (อย่างแสนสาหัส (ใส่ไข่)) ให้กับประชาชน ดังนั้นทางที่ดีควรจะให้สลัมทั้งหลายคงอยู่ที่เดิมดีกว่า ซึ่งความจริงทางออกเช่นนี้นับเป็น ความมักง่ายทางวิชาการ เป็นอย่างยิ่งด้วยไม่ได้ศึกษาให้รอบด้าน
ความจริงก็คือ การที่ชาวบ้านทั้งหมดกลับมาอยู่ในกรุงเทพมหานครแสดงว่า พวกเขาก็มีลู่ทางการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับตนเอง ยังมีที่ทางให้เช่าปลูกบ้าน หรือเช่าบ้านที่อื่น ตราบเท่าที่พวกเขาได้รับค่าทดแทนและมีฐานะเพียงพอที่จะจัดหาที่อยู่อาศัยของตนเอง ไม่ใช่ว่าถ้ารัฐบาลไม่ได้จัดหาที่อยู่อาศัยให้ ชาวบ้านจะ สิ้นไร้ไม้ตอก เสียเมื่อไหร่
การอ้างว่าการโยกย้ายทำให้กระทบภาวะเศรษฐกิจของชาวบ้านนั้น คงต้องตรวจสอบให้ชัดเจน เพราะส่วนหนึ่งอาจเป็นกลุ่มที่จะย่ำแย่เองอยู่แล้ว หรือกำลังซวดเซเต็มที พอถูกโยกย้ายก็เลยได้ แพะรับบาป มาอ้าง
มีใครกล้าคิดสงวนสลัมนี้ไว้ไหม
มาถึงวันนี้ถ้าให้เลือกระหว่างข้อหนึ่ง การคงสลัมหน้ากรมทางหลวงไว้ กับข้อสอง การรื้อไปสร้างเป็นสถานที่ราชการ มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลนั้น มีใครกล้าเลือกข้อแรกหรือไม่ อาจมีเพราะโลกนี้ย่อมมี คนขวางโลก อยู่บ้าง แต่ถ้าว่ากันอย่างเป็นธรรมแล้ว การคงสลัมไว้ใจกลางเมืองนั้นเป็นการความสูญเสียโอกาสในการสร้างความเจริญให้กับสังคมโดยรวม
อย่าว่าแต่สลัมแห่งนี้เลย สลัมใด ๆ ก็ไม่ควรให้คงอยู่ เพราะถือเป็นที่อยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย เราควรให้ลูกหลานไทยเรามีโอกาสเติบใหญ่ในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่านี้ (โปรดอย่าอ้างนะว่าในสลัมมีสังคมความรัก ความเอื้ออาทรกันหอมหวาน เพราะเป็นเรื่องปั้นแต่ง ความจริงก็คือ ถ้าชุมชนสลัมมีภูมิต้านทานที่ดีจริง ยาบ้าคงไม่ระบาดหนักข้อขึ้นเช่นทุกวันนี้)
ความเป็นไปได้ทางการเงิน
พูดถึงเรื่องเงิน บางคนอาจมองเป็นเรื่อง อาบัติ บัดสีบัดเถลิง แต่มันเป็นความจริง (ที่เป็นธรรม) ของชีวิต ตัวอย่างสลัมหน้ากรมทางหลวงนี้ ตั้งอยู่บนที่ดินถึง 129.26 ไร่ แสดงว่าในจำนวน 1,570 ครอบครัว ๆ หนึ่งครอบครองที่ดินไว้ 32.9 ตรว.) ถ้าที่ดินแถวนั้นสามารถขายได้ ก็จะเป็นเงินตกตารางวาละ 100,000 บาทในปัจจุบัน บ้านหลังหนึ่ง (แม้นับเฉพาะที่ดิน) ก็จะเป็นเงินอย่างน้อย 3.29 ล้านบาทเข้าไปแล้ว
ถ้าเราบอกว่า เราจะยกที่ดินตรงนั้นให้ชาวสลัมอยู่ฟรี ก็เท่ากับพวกเขากลายเป็นคนจนประเภทอภิสิทธิ์ชน เพราะคนจนอื่น ๆ ขาดโอกาสนี้ ส่วนคนชั้นกลางต้องอดออมทั้งชีวิตเพื่อให้สามารถซื้อบ้านไกลถึงชานเมือง ต้องทนออกจากบ้านตีสี่ตีห้าเพื่อเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง
ในทางตรงกันข้าม ถ้าให้พวกเขาเช่าบ้านในบริเวณใกล้เคียง ครอบครัวหนึ่งอาจต้องเสียค่าเช่าประมาณ 2,000 บาท (ไม่รวมน้ำ-ไฟ ซึ่งอยู่ที่ไหนก็ต้องเสียอยู่แล้ว) หรือปีละ 24,000 บาท หากประมาณการเป็นมูลค่าตามสูตรทางการเงิน (มูลค่า = ค่าเช่า หารด้วยอัตราผลตอบแทน ซึ่งสมมติเป็น 10%) ก็จะเป็นเงินครอบครัวละ 240,000 บาท ดังนั้นมูลค่าของที่อยู่อาศัยที่ชาวสลัมอยู่กัน 1,570 ครอบครัว จึงรวมกันเป็นเงิน 376.8 ล้านบาท
ในขณะที่ที่ดินทั้งแปลงตกเป็นเงินประมาณ 5,170.4 ล้านบาท (129.26 ไร่ ในขณะที่ 1 ไร่ = 400 ตรว. และ 1 ตรว. = 100,000 บาท) ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า ในการชดเชยแก่ผู้อยู่อาศัย ด้วยเงิน 376.8 ล้านบาทนั้น เป็นสัดส่วนเพียง 7.3% ของมูลค่าที่ดินเท่านั้น เราจึงควรจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้อยู่อาศัยอย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว การปล่อยเนิ่นนานออกไปจะเป็นการสูญเสียโอกาสการพัฒนาที่ดิน
ย้ายสลัมใจกลางเมืองเพื่อพัฒนาเมือง
ในการพัฒนาเมืองนั้น บางครั้งเราก็มีแนวคิดที่จะทำให้เมืองไม่หนาแน่นเกินไป พยายามกระจายความเจริญออกสู่ภายนอก แต่ก็กลับกลายเป็นการทำให้เมืองขยายตัวอย่างไร้ระบบ ทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพในการให้บริการสาธาณูปโภคต่าง ๆ ดังนั้นในอีกแง่หนึ่งเราควรทำให้เมืองมีความหนาแน่นโดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง
ในใจกลางกรุงเทพมหานครมีสลัมอยู่มากมาย นั่งทับที่ดินราคาแพงไว้ ถ้าเราสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ชาวสลัมอย่างเป็นธรรมต่อพวกเขาและสังคม แล้วนำที่ดินราคาแพงเหล่านี้มาใส่สาธารูปโภคให้ดีและจัดสรรเพื่อพัฒนาในเชิงพาณิชย์ (เช่น อาคารสำนักงาน) ก็จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความเป็นระบบ
ธรรมชาติของสำนักงานใจกลางเมืองนั้นจำเป็นต้องอยู่รวมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มาติดต่อ ส่งผลให้มูลค่าของสำนักงานมีสูงขึ้นกว่าการที่ต่างคนต่างอยู่ ที่สิงคโปร์ เขาก็ทำอย่างนี้ ทำให้การพัฒนาเมืองมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ <4>
แนวคิดนี้จะทำได้หรือ
ทำได้หรือไม่ได้ในทางอสังหาริมทรัพย์นั้น พื้นฐานขึ้นอยู่กับกายภาพ การตลาด การเงิน และข้อกฎหมาย ซึ่งข้อเสนอข้างต้น มีความเป็นได้ครบถ้วนอยู่แล้ว แต่การที่จะทำจริงนั้น คงไม่ได้อยู่ที่การ เถรตรง อ้างแต่ข้อกฎหมาย ความเป็นไปได้ยังต้องอาศัยการให้การศึกษาแก่ผู้เกี่ยวข้องอีกด้วย เพื่อให้ทุกฝ่ายโดยส่วนใหญ่เกิดความร่วมมือ ยิ่งกว่านั้นความน่าเชื่อถือของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งรัฐบาลก็เป็นประเด็นสำคัญเช่นกัน เพราะบางครั้งประชาชนเกิดไม่เชื่อถือรัฐบาลชึ้นมา หรือมีข้อแคลงใจว่ารัฐบาลจะคอรัปชั่น ก็คงลำบาก ซึ่งข้อนี้อาจโทษประชาชนไม่ได้เต็มปากนักว่าขัดขวางความเจริญของชาติ ด้วยที่ผ่านมาเมืองไทยยังไม่เคยมีนักการเมืองไทยคนไหน ยอมตายเพื่อชาติและประชาชนให้เห็นเลยสักคน (หรือมี ผมก็จำไม่ได้)
<1> เป็นนักวิจัย-ประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศไทย ขณะนี้ยังเป็นประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ AREA.co.th กรรมการสมาคมการวางแผนและเคหะแห่งอาเซียน ผู้แทนสมาคมอสังหาริมทรัพย์โลก (FIABCI) ประจำ ESCAP และผู้แทนของสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน IAAO ประจำประเทศไทย
<2> ทะเบียนมูลนิธิเลขที่ กท.1075 เป็นองค์กรที่มุ่งให้ความรู้ด้านการประเมินค่าทรัพย์สินและการพัฒนาเมืองแก่ประชาชนทั่วไป ถือเป็นองค์กรวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจการคึกคักต่อเนื่องที่สุดแห่งหนึ่งในปัจจุบัน
<3> กระทรวงมหาดไทย. การปรับปรุงแหล่งชุมชนบริเวณหน้ากรมทางหลวงแผ่นดิน. พระนคร. 2505
<4> โปรดอ่านเพิ่มเติมใน สัจธรรมเกิด-ดับในวงการอสังหาริมทรัพย์ ในหนังสือ ส่องอสังหาฯ ต่างแดน โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย. กันยายน 2548
รื้อมหิดล รพ.รามาฯ และกระทรวงต่างประเทศไปสร้างสลัมดีไหม?
-
- Verified User
- โพสต์: 12
- ผู้ติดตาม: 0
รื้อมหิดล รพ.รามาฯ และกระทรวงต่างประเทศไปสร้างสลัมดีไหม?
โพสต์ที่ 1
- harry
- Verified User
- โพสต์: 4200
- ผู้ติดตาม: 0
รื้อมหิดล รพ.รามาฯ และกระทรวงต่างประเทศไปสร้างสลัมดีไหม?
โพสต์ที่ 2
มันเหมือนกับเวนคืนที่สร้างถนนมั้ยครับ
ผมมองว่า ถึงทุกวันนี้บ้านที่อยู่เป็นเช่าอยู่ ถ้ามีอันต้องย้ายเพราะรัฐเวนคืน ผมในฐานะผู้เช่า ไม่ใช่เจ้าของ จะได้เงินบ้างป่าวอ่ะ
แล้วผมจะไปอยู่ไหน จริงๆอยู่ตรงไหนก็ได้ ที่ไม่ทำให้ลำบาก แต่คนที่ยากจนกว่า แย่กว่า ลำบากกว่า มันก็อาจทำให้เค้าบ้านแตกกันได้นะครับ ถ้าผมมีฐานะร่ำรวยก็เฉยๆ ขอให้ได้เงินคุ้มค่ากับที่ต้องเสียบ้านไป ก็ไปอยู่บ้านอื่นที่ซื้อไว้ได้ ไม่เดือดร้อน
มันมองภาพรวมยากนะ คงต้องว่าเป็นรายครอบครัวน่ะ
ผมมองว่า ถึงทุกวันนี้บ้านที่อยู่เป็นเช่าอยู่ ถ้ามีอันต้องย้ายเพราะรัฐเวนคืน ผมในฐานะผู้เช่า ไม่ใช่เจ้าของ จะได้เงินบ้างป่าวอ่ะ
แล้วผมจะไปอยู่ไหน จริงๆอยู่ตรงไหนก็ได้ ที่ไม่ทำให้ลำบาก แต่คนที่ยากจนกว่า แย่กว่า ลำบากกว่า มันก็อาจทำให้เค้าบ้านแตกกันได้นะครับ ถ้าผมมีฐานะร่ำรวยก็เฉยๆ ขอให้ได้เงินคุ้มค่ากับที่ต้องเสียบ้านไป ก็ไปอยู่บ้านอื่นที่ซื้อไว้ได้ ไม่เดือดร้อน
มันมองภาพรวมยากนะ คงต้องว่าเป็นรายครอบครัวน่ะ
Expecto Patronum!!!!!!