โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 มิถุนายน 2548 22:06 น.
ผู้จัดการรายวัน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชี้เศรษฐกิจไทยยังไม่น่าวิตก พร้อมมองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3% ส่วนน้ำมันและการขาดดุลบัญชีเดือนสะพัดยังไม่น่าห่วง
ศาสตราจารย์ ดร.เอ็ดเวิร์ด ซี เพรสคอทท์ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้รับรางวัลโนเบล ประจำปี 2547 เปิดเผยว่า คาดว่าเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังของ 2548 จะขยายตัวในระดับ 3% โดยเป็นการขยายตัวที่มาจากการภาคการผลิต 2% และอีก 1% คือการขยายตัวด้านรายได้ประชากร ทั้งนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวต่อไปได้
ส่วนการที่ภาครัฐบาลของไทยได้ปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันนั้น รัฐบาลทำถูกแล้ว และนับว่าเป็นสิ่งที่ดีเนื่องจากจะทำให้กลไกตลาดดำเนินต่อไปได้ และเป็นการปล่อยให้กลไกของเศรษฐกิจโลกเป็นไปด้วยตัวเองซึ่งหากภาครัฐไม่ปล่อยลอยตัวก็อาจก่อให้เกิดภาวะวิกฤติทางด้านน้ำมันอย่างเช่นที่เคยเกิดกับสหรัฐฯในปี ค.ศ.1974 ได้ ทั้งนี้แม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นกังวลอะไร เพราะราคาน้ำมันจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดไปมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะประสบกับปัญหาราคาน้ำมันแพงขึ้นจนส่งผลให้เศรษฐกิจมีอัตราการเจริญเติบโตที่ชะลอลง แต่ปัญหาดังกล่าวได้เผชิญกันทั่วโลก จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะน้ำมันแม้ว่าจะแพงก็ต้องนำเข้าเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต
สำหรับกรณีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐในปัจจุบัน นั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นห่วงเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าสหรัฐจะประสบกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลบัญชีงบประมาณอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน แต่การพิจารณาเศรษฐกิจในระดับประเทศไม่ควรจะวัดที่ตัวเลขในระดับมหภาค แต่ให้ดูในเชิงเปรียบเทียบ เพราะประชากรในอเมริกามีรายได้สูง ดังนั้นการก่อหนี้ก็ย่อมสูง ซึ่งตัวเลขที่ติดลบเป็นเพียงบัญชีของรัฐบาลเท่านั้น
ไม่ห่วงเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเลย ถ้าดูในเชิงเปรียบเทียบจะเห็นว่าคนรวยก็มีหนี้สูงได้ หนี้ต่อรายได้ของอเมริกา ปี 1930 อยู่ที่ 28% ของจีดีพี ณ วันนี้ก็ยังอยู่ที่ระดับเท่าเดิม ซึ่งการติดลบนี้เป็นเชิงบัญชีของรัฐบาลศ.ดร.เอ็ดวาร์ด กล่าว
ทั้งนี้ หากรัฐบาลสหรัฐอยากมีนโยบายการคลังในเชิงบวกจะเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า เนื่องจากสหรัฐต้องลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ยิ่งลงทุนมายิ่งน่าห่วง ซึ่งเชื่อว่าประชาชนเท่านั้นที่น่าจะไปเกี่ยวข้องกับการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านั้น เพื่อความมีประสิทธิภาพ
สำหรับเนื้อหาที่จะบรรยายในหัวข้อ อุปสรรคความรวย นั้นเขาชี้ว่า การที่หลายฝ่ายเข้าใจว่าอุปสรรคของความรวยเกิดจากการออม แต่แท้จริงแล้วคืออุปสรรคที่มีต่อประสิทธิภาพในการผลิตมากกว่า เพราะถ้าประเทศไหนที่ต้องเผชิญปัญหาในการผลิตมาก ก็เท่ากับว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่ปัญหาความยากจน ซึ่งสินทรัพย์ทางด้านบุคคลหรืออื่นๆ เมื่อคำนวณอัตราเสี่ยงออกมาแล้วจะมีผลตอบแทนเท่าๆ กัน ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือการตั้งสถาบันขึ้นมาจัดการกับปัญหาที่ว่านี้ เพื่อให้อุปสรรคลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ด้านการทำงาน หรือกฎระเบียบที่มากเกินไป
นอกจากนี้ การที่ประเทศใดมีคู่ค้ามากก็จะเป็นการช่วยลดอุปสรรคด้านความรวยได้มาก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศในเซาต์อีสเอเชีย มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการเปิดค้าขายแบบเสรี ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจแถบลาตินอเมริกา กลับไม่เจริญเพราะไม่สามารถเปิดประเทศให้ค้าขายแบบเสรีได้ ส่วนประเทศจีนนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีเพราะหลังจากเปิดเสรีก็เจริญขึ้นมา ฉะนั้นการค้าขายอย่างเสรีแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน (Free Trade Club) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ