จันทร์ ส.ค. 29, 2005 9:16 pm | 0 คอมเมนต์
ศึกชิงน้ำภาคตะวันออกระเบิด!
เชื้อปะทุน้ำขอดอ่างหนองปลาไหล-ดอกกราย ระเบิดสงครามแย่งน้ำในภาคตะวันออกขึ้นแล้ว! ยักษ์ปิโตรเคมี "วีนิไทย,ไบเออร์,และปตท." อาศัยทุนหนากว่าลุยทำสัญญาซื้อน้ำผูกมัดข้ามปี กับเจ้าของบ่อน้ำหลายจุดทั่วระยอง ดักหน้ารายอื่น เจ้าของบ่อดินหน้าบาน ถูกหวย 2 เด้ง 3เด้ง ราคาที่ดินราคาขายน้ำพุ่งเกือบเท่าตัว
จากที่ทีมข่าว"ฐานเศรษฐกิจ"เกาะติดสถานการณ์วิกฤตน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี2548 จนกระทั่งล่าสุดนำเสนอข่าว "10วันน้ำหมดอีสเทิร์น ไบเออร์บินด่วนเช็กอ่าง"ลงในฉบับที่ 2,038 ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม หลังจากที่ภาคเอกชนจากโรงงานอุตสาหกรรมส่งสัญญาณว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญอย่างอ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเริ่มนับถอยหลังแล้ว! เมื่อระดับน้ำจากอ่างเก็บน้ำขอดอ่าง หากไม่มีฝนตก และระบบการผันน้ำจากแหล่งอื่นเข้ามายังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่
-ทุนรายใหญ่เชื้อปะทุสงครามชิงน้ำ
ล่าสุด"ฐานเศรษฐกิจ"ลงสำรวจพื้นที่อีกครั้ง พบว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดยังคง วิ่งหาน้ำมาป้อนในโรงงานอุตสาหกรรมกันอย่างไม่ลดละในช่วง1เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถฝากความหวังกับสัญญาลมๆแล้งๆจากภาครัฐได้ ดังนั้นในแต่ละรายจึงต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้มีน้ำมาป้อนในกระบวนการผลิตที่ต้องเดินเครื่องอยู่ตลอด24 ชั่วโมง
เมื่อต่างคนต่างต้องการ แต่ปริมาณน้ำมีอยู่อย่างจำกัด สงครามแย่งน้ำในภาคตะวันออกจึงระเบิดขึ้น
แหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้มีบริษัทใหญ่ๆ เช่น ธุรกิจปิโตรเคมีกลุ่มปตท. ,บริษัท ไบเออร์ไทย , และบริษัท วีนิไทย และบริษัทอื่นๆอีกจำนวนมาก ที่ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้วิ่งทำสัญญาเช่าซื้อน้ำในบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในระดับที่สูบขึ้นมาใช้ในการผลิตได้ โดยวิ่งซื้อน้ำจากชาวบ้าน เกษตรกร หรือเจ้าของที่ดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ผ่านร่องรอยการตักหน้าดินไปขายก่อนหน้านี้ จนทำให้บ่อดินมีความลึกมากและมีปริมาณน้ำขังอยู่เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ฝ่ายผู้ขายน้ำและผู้ซื้อน้ำได้ทำสัญญา พร้อมกำหนดเงื่อนไขต่อกันไว้ บางรายซื้อน้ำจนถึงสิ้นปีนี้ บางรายก็ทำสัญญาผูกขาดการใช้น้ำในบ่อน้ำยาวถึงสิ้นเดือนธันวาคม2549 โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าผู้ขายน้ำและผู้ขนส่งน้ำ ส่งน้ำเข้าโรงงานไม่ทัน จะถูกโรงงานปรับเท่ากับราคาน้ำที่ขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม และกรณีถ้าโรงงานไม่ซื้อน้ำจากผู้ขายน้ำตามราคาน้ำและปริมาณน้ำที่ทำสัญญากันไว้ล่วงหน้าก็จะถูกปรับตามราคาน้ำเช่นกัน
" โดยโรงงานอุตสาหกรรมบางรายได้ทำสัญญาผูกขาดใช้น้ำแบบเหมาบ่อรายเดียว ทำให้บริษัทอื่นไม่สามารถใช้น้ำในร่วมในบ่อเดียวกันได้ "
-วีนิไทย -ไบเออร์ฮุบบ่อน้ำข้ามปี
จากกรณีดังกล่าวทีมข่าว"ฐานเศรษฐกิจ"ได้สังเกตการณ์พบว่า ตลอดทั้งวันจะมีรถขนส่งน้ำวิ่งเข้า-ออกอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดวันละหลายรอบ มีตั้งแต่รถส่งน้ำของหจก.ทอง ทรานสปอร์ต, บ.บูรพา ทรานสปอร์ต. บ.ทรัพย์ยืนยงขนส่งและ หจก.เดชไพศาล เป็นต้น
ทั้งนี้รถขนส่งน้ำจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะรถขนน้ำจากหจก.ทอง ทรานสปอร์ต จะวิ่งไปยังบ่อน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ต.ทับมา จ.ระยอง รอบๆบ่อน้ำล้อมไปต้นยางพารา โดยรถขนส่งน้ำดังกล่าวจะจอดรอคิวสูบน้ำใส่ถังขนาดความจุ 30 คิว เพื่อมุ่งกลับไปสู่โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซีของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)หมุนเวียนกันวันละหลายเที่ยว
ซึ่งได้รับการเปิดเผยจากหนึ่งในผู้ร่วมทำธุรกิจค้าน้ำดิบ จากบ่อเก็บน้ำดังกล่าวในต.ทับมา กล่าวว่า ธุรกิจขายน้ำนี้ เกิดขึ้นจากการร่วมทุนกันระหว่างหจก.ทอง ทรานสปอร์ตในฐานะผู้ขนส่งน้ำกับเจ้าของโรงงานน้ำปลารายหนึ่งในจังหวัดระยอง และรองนายกเทศมนตรีท่านหนึ่งในมาบตาพุด ซึ่งบ่อเก็บน้ำที่เห็นหลายจุดนั้นส่วนหนึ่งเป็นโรงงานน้ำปลาจะเก็บไว้ใช้สำหรับผลิตน้ำปลา ส่วนบ่อน้ำที่เหลือบริษัท วีนิไทยได้ทำสัญญาใช้น้ำแบบเหมาอ่างไว้แล้ว โดยสัญญาแรกมีระยะเวลา 3 เดือนนับจากเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม2548 ซื้อน้ำจำนวน 300,000คิว และล่าสุดเพิ่งมีการต่อสัญญาอีก 1 ล้านคิว จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม2549 จากสัญญาดังกล่าวทำให้บริษัทไม่สามารถขายน้ำให้กับบริษัทอื่นได้อีก ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีบริษัททุนเท็กซฯเข้ามาติดต่อขอใช้น้ำ แต่ก็ต้องปฏิเสธไป เพราะกังวลว่าปริมาณน้ำจะไม่พอส่งให้กับบริษัท วีนิไทยที่จะต้องส่งน้ำให้ตั้งแต่ 3,200 คิวไปถึง 4,000-5,000 คิว/วัน
"เวลานี้มีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาติดต่อขอซื้อน้ำจำนวนมาก แต่ก็ต้องดูสัญญาและเงื่อนไข ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทใหญ่ๆ ที่ใช้น้ำมาก จะให้ข้อเสนอที่ดี เช่นราคาดี ที่ขณะนี้ราคาขายน้ำมีตั้งแต่ 120-150 บาท/คิวขึ้นไป
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เวลานี้นอกจากที่บ่อเก็บน้ำในต.ทับมาแล้ว ยังมีบ่อเก็บน้ำส่วนบุคคลที่อยู่ในต.มาบข่าอีก โดยขายน้ำให้กับบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกอีกรายที่ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งบริษัทดังกล่าวทำสัญญาแรกซื้อน้ำจำนวน 300,000คิว มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนถึงวันที่ 31 ธันวาคม2548 และอยู่ระหว่างเจรจาต่อสัญญาซื้อน้ำอีก 1 ล้านคิวจนถึงปลายปี2549
-ปลุกที่ดินบ้านค่ายขยับขึ้นเท่าตัว
อย่างไรก็ตามเวลานี้สถานการณ์ภัยแล้งยังน่าเป็นห่วงอยู่ และมั่นใจว่าจะเจอวิกฤตภัยแล้งยาวไปถึงปีหน้า ทำให้ต้องประกันความเสี่ยงไว้ก่อน กรณีไม่มีน้ำส่งมอบได้ตามสัญญาที่มีต่อลูกค้า ต้องการ ล่าสุดจึงตัดสินใจซื้อที่ดินที่มีบ่อน้ำไว้เพิ่มอีกจำนวน 21 ไร่ที่ต.บ้านค่าย มีปริมาณน้ำมากถึง 400,000 คิว โดยราคาที่ดินดังกล่าวขณะนี้พุ่งสูงขึ้นจาก 150,000บาท/ไร่ เพิ่มเป็น 300,000 บาท/ไร่
"เวลานี้ยอมรับว่าได้รับโชค 2ชั้น เพราะก่อนหน้านั้นตัดหน้าดินไปขาย แต่ละปีก็มีฝนตกชุกมีน้ำไหลลงบ่อดินจำนวนมากจนกลายเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ก็ไม่ได้มีการขายน้ำเกิดขึ้น เพราะน้ำมีพอเพียง แต่ปีนี้เป็นหน้าแล้งมาก ขนาดปริมาณน้ำมีไม่มากก็ยังเป็นที่จับจองจากโรงงานอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำมาก ขณะที่โรงงานขนาดเล็ก หรือบางบริษัทที่ใช้น้ำไม่มากต้องเสียโอกาสไปเพราะแหล่งน้ำถูกจับจองไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว"
ด้านนายจักรรินทร์ แสงหิรัญรัตนา ผู้ประกอบการรถขนส่งที่ร่วมขนส่งน้ำกับ หจก.ทอง ทรานสปอร์ต เปิดเผยว่า ตนมีรถขนส่งน้ำขนาด 15 ลูกบากศก์เมตรจำนวน 5 คัน ได้เข้ามาร่วมขนส่งน้ำกับทาง หจก.ทรานสปอร์ต ที่มีรถบรรทุกน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งทางบริษัท วีนิไทย ได้เซ็นสัญญาแรกซื้อจากบ่อน้ำที่มีการตักหน้าดินไปขายบริเวณหมู่บ้าน หนองผักหนาม ตำบลทับมา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ในปริมาณ 3 แสนลูกบาศก์เมตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยมีการขนน้ำเข้าโรงงานวินิไทยที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในปริมาณวันละ 3,200 ลูกบาศก์เมตร เป็นอย่างต่ำตั้งแต่เวลา 8.00 21.00 น. ซึ่งได้ดำเนินการมากว่า 1 เดือนแล้ว
ส่วนการที่บริษัท วีนิไทย ต้องซื้อน้ำจากบ่อแห่งนี้ เนื่องจากน้ำจากบ่อนี้มีคุณภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับน้ำที่บริษัท อีสต์วอเตอร์ ส่งให้กับโรงงาน ที่ต้องการน้ำคุณภาพสูง ประกอบกับน้ำในอ่างหนองปลาไหลและดอกกรายกำลังแห้งลงทุกที่ ทำให้ทางวีนิไทย ต้องเร่งหาน้ำป้อนกำลังการผลิตของตนเอง และผูกขาดซื้อน้ำจากบ่อน้ำแห่งนี้ไปไม่มีกำหนดจนกว่าน้ำจะหมดจากบ่อ
-ผู้ค้าน้ำเปิดศึกเก็งราคาน้ำดิบ
นายจักรรินทร์ กล่าวอีกว่า จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้มีการติดต่อขอซื้อน้ำเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนทำให้เวลานี้บ่อน้ำที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับกับความต้องการของโรงงานได้เพียงพอ เพราะแต่ละโรงงานใช้น้ำในปริมาณมากทั้งนั้น ทำให้เวลานี้มีผู้ประกอบการขนน้ำรายใหม่ที่มีรถกว่า 40-50 เข้ามาทำธุรกิจนี้มากขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 ราย โดยยังไม่รวมรายเล็กๆ ที่ขนน้ำทั่วไป ส่งผลให้เกิดการตั้งราคาน้ำแข่งกันขาย จนบางรายที่ได้ลงทุนต่อถังบรรทุกน้ำไปก่อนหน้านี้ต้องเลิกกิจการไปก็มี ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่เข้าไปเสนอขายน้ำให้กับโรงงานเอง แต่ในส่วนของ หจก.ทองทรานสปอร์ตนั้น ทางโรงงานจะเข้ามาติดต่อเอง เนื่องจากเป็นผู้ประกอกการรายใหญ่ มีรถในสังกัดเป็นจำนวนมากทำให้โรงงานมีความมั่นใจที่จะส่งน้ำป้อนได้ไม่ขาดระยะ จึงทำให้รายได้ที่ได้กลับมาเป็นที่น่าพอใจ
ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท ทุนเท็กซ์ ปิโตรเคมิคอลล์(ประเทศไทย)กล่าวยอมรับว่า ก่อนหน้านี้มีการวิ่งซื้อน้ำจากบ่อน้ำส่วนบุคคลในจังหวัดระยอง หลายแห่งก็ตั้งราคาขายน้ำสูงเกิน 110 บาท/คิว ซึ่งบริษัทมองว่ามันคือต้นทุนที่สูงก็ต้องวิ่งหาซื้อบ่อน้ำในที่ใหม่ ซึ่งล่าสุดเจรจาได้แล้ว 2 แห่งที่ต.มาบข่ากับที่บ้านค่าย ทำสัญญาระยะ 3 6 เดือน รับน้ำจำนวน 3,000 คิว/วัน โดยได้ราคา 100-110 บาท/คิว ซึ่งถูกกว่าจากที่วิ่งเจรจาก่อนหน้านั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการรับมือน้ำขาดในช่วงระยะสั้นไปถึงต้นปีหน้านี้ โดยทุนเท็กซ์ฯจะต้องใช้น้ำต่อวันประมาณ 10,000 คิว ซึ่งมาจากระบบจ่ายน้ำปกติที่มาจากอ่างเก็บน้ำดอกกรายและหนองปลาไหลและจากที่ซื้อน้ำจากบ่อน้ำส่วนบุคคล
อนึ่งปริมาณน้ำที่วัดจากอ่างเก็บน้ำดอกกรายเมื่อวานนี้( 26 ส.ค.48)อยู่ที่ 6.520 ล้านลบ.ม. เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วที่มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 52.1ล้านลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำดอกกรายปริมาณน้ำอยู่ที่ 10.135 ล้านลบ.ม. ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 88.557 ล้านลบ.ม.
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2039 28 ส.ค. - 31 ส.ค. 2548
Price is what you pay. Value is what you get...