จันทร์ เม.ย. 16, 2012 4:13 pm | 0 คอมเมนต์
duterian เขียน: ขอบคุณอาจารย์มากครับ ผมเข้าใจชัดเจนเลยครับว่าบริษัทเปลี่ยนทำไม
ผมสงสัยเกียวกับคำศัพท์ "หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี" ว่าคืออะไร เลยไปอ่าน "อ่านงบการเงินให้เป็น" ทำให้พอเข้าใจว่ามันคืออะไรในระดับหนึ่ง ทีนี้ผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ >> "ที่บริษัทเปลี่ยนวิธีบันทึกบัญชีสินทรัพย์ถาวร เพราะจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์" ตามที่สรุปความแตกต่างไว้ด้านล่างครับ
ใช้วิธีราคาทุน
สินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น >>ไม่มีการบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี >> บริษัทไม่ต้องจ่ายภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์
ใช้วิธีตีราคาใหม่
สินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น >> มีการบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี >> บริษัทต้องจ่ายภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์
ข้อสรุปของคุณว่า บริษัทเปลี่ยนนโนบายการบัญชีเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายภาษีนั้น ไม่ถูกต้องค่ะ
เพราะการนำเงินไปจ่ายภาษีนั้นต้องเป็นไปตามประมวลรัษฎากร ส่วนการบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทรับรู้กำไรจากการตีมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ แต่ยังไม่ได้นำกำไรนั้นไปจ่ายภาษี บริษัทจึงต้องบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้เพื่อแสดงให้เห็นว่า เมื่อไรที่บริษัทรับรู้กำไร บริษัทก็มีภาระด้านภาษีอยู่ (แทนที่กำไรทั้งหมดจะไหลไปรวมอยู่กับส่วนทุน)
ดังนั้น การบันทึกหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจึงเป็นเรื่องของการบันทึกบัญชีซึ่งมีผลกระทบกับงบการเงิน อาจารย์คิดว่า บริษัทอาจจะอยากหลีกเลี่ยงการบันทึกหนี้สิน บริษัทจึงเปลี่ยนนโยบายการบัญชี แต่ความจริงเป็นอย่างไร คุณอาจต้องลองทำการค้นคว้าดูว่า ถ้าบริษัทไม่เปลี่ยนนโยบายการบัญชีแล้ว debt/equity ratio จะเป็นอย่างไรเมื่อบริษัทต้องลดส่วนทุนลงเท่ากับอัตราภาษี x กำไรในการตีราคาสินทรัพย์ เพื่อนำไปเพิ่มให้กับหนี้สิน (เรื่องนี้ อาจารย์วิเชษฐ์ winnermax คิดว่าไม่น่าเป็นแรงจูงใจให้บริษัทเปลี่ยนนโยบายการบัญชี ซึ่งก็อาจเป็นจริงตามนั้น บริษัทอาจอยากเปลี่ยนนโยบายการบัญชีด้วยเหตุผลอื่น)
ข้อสรุปของคุณเกี่ยวกับวิธีราคาทุนเดิมนั้น ถูกต้อง (ยกเว้นเรื่องการจ่ายภาษี) สิ่งที่ต้องระวังคือ สำหรับวิธีราคาทุนเดิมนั้น บริษัทไม่สามารถรับรู้ capital gain ที่เกิดจากสินทรัพย์ที่ยังไม่ได้ขาย (เรียก กำไรที่ยังไม่เกิดขึ้น) เมื่อยังไม่รับรู้กำไร หนี้สินภาษีเงินได้ก็ยังไม่เกิด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า บริษัทจะไม่ต้องจ่ายภาษีเมื่อบริษัทขายสินทรัพย์ออกไป เพราะอย่างไรๆ เมื่อบริษัทขายสินทรัพย์ได้กำไร (กำไรที่เกิดจริง) บริษัทยังคงต้องจ่ายภาษีเท่าเดิมไม่ว่าบริษัทจะรับรู้หนี้สินในงบการเงินหรือไม่
สุดท้าย ข้อสรุปของคุณเกี่ยวกับราคาที่ตีใหม่นั้นถูกต้อง ยกเว้นเรื่องการจ่ายภาษี เพราะอย่างที่บอก ไม่ว่าบริษัทจะใช้วิธีบันทึกบัญชีอย่างไร (รับรู้กำไรพร้อมหนี้สินภาษีเงินได้ หรือไม่รับรู้กำไรทำให้ยังไม่ต้องรับรู้หนี้สินภาษี) บริษัทก็ยังคงต้องจ่ายภาษีเท่าเดิม (ตามประมวลรัษฎากร)
อย่าลืมอ่านกระทู้ "หลายบริษัทจะขาดทุน defer tax ใน q4" นะคะ