หุ้นบุริมสิทธิ


โพสต์ โพสต์
i_join
Verified User
โพสต์: 4
ผู้ติดตาม: 0

หุ้นบุริมสิทธิ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

หุ้นบุริมสิทธิ เป็นตราสารที่ผู้ถือมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นสามัญตามสัดส่วนที่ถือครอง แต่จะไม่มีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือสิทธิในการรับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัท เมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงานผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลซึ่งถูกกำหนดไว้ในอัตราคงที่ และมักคิดเป็นร้อยละจากมูลค่าที่ตราไว้ หรืออาจระบุเป็นจำนวนเงินต่อหุ้น โดยผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะไดัรับเงินปันผลก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ ในกรณีที่เลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะมีสิทธิในสินทรัพย์ของกิจการหลังจากเจ้าหนี้ แต่ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
หุ้นบุริมสิทธินั้นมีหลายประเภท ตัวอย่างเช่น หุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสมและหุ้นบุริมสิทธิชนิดแปลงสภาพได้
หุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสม คือ หุ้นบุริมสิทธิที่ผู้ถือมีสิทธิได้รับเงินปันผลทุกปี ถึงแม้ว่าบริษัทจะไม่มีการประกาศจ่ายเงินปันผลก็ตาม หากปีใดที่บริษัทไม่ได้ประกาศจ่ายเงินปันผล ผู้ถือหุ้นชนิดนี้ก็มีสิทธิสะสมเงินปันผลที่ไม่ไปรับในปีที่มีการประกาศจ่ายได้
หุ้นบุริมสิทธิชนิดเเปลงสภาพได้ คือ หุ้นบุริมสิทธิที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการแปลงเป็นหุ้นสามัญ ตามอัตราส่วนและระยะเวลาที่กําหนด ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการแปลงหุ้นเมื่อบริษัทมีกําไรดีและจ่ายเงินปันผลสูง การแปลงหุ้นสามารถทําให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิม

ในทางบัญชี หุ้นบุริมสิทธิสามารถจัดประเภทเป็นหนี้สินหรือส่วนทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือข้อผูกพันตามสัญญาระหว่างผู้ออกหุ้นและผู้ถือหุ้น หุ้นบุริมสิทธิจะจัดเป็นหนี้สิน หากเข้าเงื่อนไขทุกข้อดังต่อไปนี้
- ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลในอัตราที่แน่นอน
- ผู้ถือหุ้นมีสิทธิที่จะ ไถ่ถอนคืนหุ้นได้ ณ วันที่กำหนด ด้วยจำนวนเงินที่แน่นอนหรือกำหนดได้
- ผู้ออกหุ้นมีสิทธิบังคับไถ่ถอนหุ้น ณ วันที่กำหนด ด้วยจำนวนเงินที่แน่นอนหรือกำหนดได้
อย่างไรก็ตาม หากหุ้นบุริมสิทธิไม่ระบุให้มีการบังคับไถ่ถอนหุ้นหรือระบุให้ผู้ถือมีสิทธิที่จะไถ่ถอนหุ้นคืน ตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่มีเงื่อนไขอื่น ที่ทำให้บริษัทยังคงมีภาระผูกพันตามสัญญาในการส่งมอบเงินสดหรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่นให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือจำเป็นต้องไถ่ถอนหุ้นคืน ในกรณีนี้หุ้นบุริมสิทธิดังกล่าวยังคงต้องจัดประเภทเป็นหนี้สิน
ในทางตรงกันข้าม หากหุ้นบุริมสิทธิไม่มีกำหนดไถ่ถอน และผู้ออกหุ้นไม่ได้มีข้อผูกมัดตามสัญญาที่จะต้องชำระเงินแก่ผู้ถือหุ้น หุ้นบุริมสิทธินี้จะจัดอยู่ ในประเภทเป็นส่วนทุนไม่ใช่หนี้สิน
หุ้นบุริมสิทธิที่ถือเป็นส่วนทุนจะแสดงในงบดุลภายใต้ทุนจดทะเบียนและหุ้นออกจำหน่ายแล้ว โดยระบุมูลค่าที่ตราไว้พร้อมส่วนเกินมูลค่าหุ้นเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ

ดอกผลของหุ้นบุริมสิทธิ ในทางบัญชี เงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิที่จัดประเภทเป็นส่วนทุน ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายในระหว่างงวด แต่ถือเป็นเงินปันผลที่ต้องนำไปหักโดยตรงจากกำไรสะสม ส่วนเงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิที่จัดประเภทเป็นหนี้สินนั้น ถือเป็นค่าใช้จ่าย และรับรู้เป็นดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุนระหว่างงวด
nearly
Verified User
โพสต์: 63
ผู้ติดตาม: 0

Re: หุ้นบุริมสิทธิ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ในปีที่ไม่มีการจ่ายปันผลเงินปันผลสำหรับหุ้นบุริมสิทธิที่ยังไม่ได้จ่ายจะลงบันทึกตรงส่วนไหนครับ แล้วจำเป็นหรือไม่ว่าในปีที่มีการจ่ายปันผลต้องจ่ายเงินปันผลสำหรับหุ้นบุริมสิทธิที่ยังค้างจ่ายอยู่ทั้งหมด
i_join
Verified User
โพสต์: 4
ผู้ติดตาม: 0

Re: หุ้นบุริมสิทธิ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

nearly เขียน:ในปีที่ไม่มีการจ่ายปันผลเงินปันผลสำหรับหุ้นบุริมสิทธิที่ยังไม่ได้จ่ายจะลงบันทึกตรงส่วนไหนครับ แล้วจำเป็นหรือไม่ว่าในปีที่มีการจ่ายปันผลต้องจ่ายเงินปันผลสำหรับหุ้นบุริมสิทธิที่ยังค้างจ่ายอยู่ทั้งหมด
ขอบคุณสำหรับคำถามนะคะ

−ในปีที่ไม่มีการจ่ายปันผลเงินปันผลสำหรับหุ้นบุริมสิทธิที่ยังไม่ได้จ่ายจะ ลงบันทึกตรงส่วนไหนครับ ?
สำหรับหุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสม ซึ่งผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์มีสิทธิสะสมเงินปันผลที่ไม่ได้รับในปีที่ไม่มีการประกาศจ่าย ไปรับในปีที่มีการประกาศจ่าย ดังนั้นปีที่ยังไม่ได้ประกาศจ่ายเงินปันผล บริษัทยังไม่ต้องลงบันทึกเงินปันผลค้างจ่าย เนื่องจากยังไม่ถือเป็นหนี้สินของบริษัท(จะถือเป็นหนี้สินเมื่อมีการประกาศจ่ายเงินปันผลฯ) แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเงินปันผลหุ้นบุริมสิทธิส่วนที่สะสมแต่ยังไม่ได้จ่าย (Dividends in Arrears) ไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเงินปันผลสะสมดังกล่าว เนื่องจากผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับการแบ่งปันกำไร (เงินปันผล) ก็ต่อเมื่อผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ได้รับเงินปันผลสะสมครบถ้วนแล้ว
ส่วนหุ้นบุริมสิทธิชนิดที่ไม่สะสม จะไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในปีที่ไม่มีการประกาศจ่ายเงินปันผลอยู่แล้ว ดังนั้นก็ไม่ต้องลงบันทึกเช่นเดียวกันค่ะ

−จำเป็นหรือไม่ว่าในปีที่มีการจ่ายปันผลต้องจ่ายเงินปันผลสำหรับหุ้นบุริมสิทธิที่ยังค้างจ่ายอยู่ทั้งหมด ?

ในการจ่ายเงินปันผล ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธินั้นจะมีสิทธิพิเศษเกี่ยวกับการรับเงินปันผล ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญอยู่แล้ว ถ้าเป็นหุ้นบุริมสิทธิประเภทสะสม บริษัทจะจ่ายเงินปันผลที่สะสมไว้ของปีที่ไม่มีการประกาศจ่ายเป็นอันดับแรก และถ้ามีเงินปันผลเหลือให้นำมาจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิสำหรับปีที่ประกาศจ่ายตามอัตราที่ระบุไว้ หลังจากนั้นหากมีกำไรสะสมคงเหลือเพียงพอจึงสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญได้
MaiFuen
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 384
ผู้ติดตาม: 0

Re: หุ้นบุริมสิทธิ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณคุณ i_join มากครับ
อธิบายได้ชัดเจนดีครับ

ขอถามเพิ่มอีกหน่อยนะครับ

สำหรับบริษัทที่มีทั้ง หุ้นสามัญ และ หุ้นบุริมสิทธิ
เวลาเราจะคำนวนหากำไรต่อหุ้น(eps)

เราต้องนำ จำนวนหุ้นสามัญ+จำนวนหุ้นบุริมสิทธิ แล้วนำไปหาร กำไรสุทธิ รึปล่าวครับ?

ขอบคุณมากครับ
nearly
Verified User
โพสต์: 63
ผู้ติดตาม: 0

Re: หุ้นบุริมสิทธิ

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ :D
MaiFuen
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 384
ผู้ติดตาม: 0

Re: หุ้นบุริมสิทธิ

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอถามอีกข้อนะครับ

"หากหุ้นบุริมสิทธิไม่มีกำหนดไถ่ถอน และผู้ออกหุ้นไม่ได้มีข้อผูกมัดตามสัญญาที่จะต้องชำระเงินแก่ผู้ถือหุ้น หุ้นบุริมสิทธินี้จะจัดอยู่ ในประเภทเป็นส่วนทุน"

คราวนี้ ถ้าในอนาคต บริษัทมีผลประกอบการณ์ที่ดี
และ อยากจะ ไถ่ถอนคืนหุ้นบุริมสิทธิ(ที่อยู่ในประเภทส่วนทุน)
บริษัทจะขอไถ่ถอนได้ไหมครับ ถ้าตอนออกหุ้นบุริมสิทธิ์นี้ ไม่ได้มีกำหนดว่าจะไถ่ถอนกันไว้เลย
แล้ว ปกติ เค้าจะกำหนดกันไว้ก่อนไหม
ว่าในอนาคตบริษัทถ้าบริษัทเริ่มฐานะดี
อาจจะไปขอไถ่ถอนกันได้ ?

ขอบคุณมากครับ
i_join
Verified User
โพสต์: 4
ผู้ติดตาม: 0

Re: หุ้นบุริมสิทธิ

โพสต์ที่ 7

โพสต์

MaiFuen เขียน: ขอถามเพิ่มอีกหน่อยนะครับ
สำหรับบริษัทที่มีทั้ง หุ้นสามัญ และ หุ้นบุริมสิทธิ
เวลาเราจะคำนวนหากำไรต่อหุ้น(eps)
เราต้องนำ จำนวนหุ้นสามัญ+จำนวนหุ้นบุริมสิทธิ แล้วนำไปหาร กำไรสุทธิ รึปล่าวครับ?
การคำนวณกำไรต่อหุ้นจะทำเฉพาะหุ้นสามัญเท่านั้นค่ะ จะไม่คำนวณกำไรต่อหุ้นบุริมสิทธิเพราะ หุ้นบุริมสิทธิได้กำหนดผลตอบแทนไนอัตราที่แน่นอนแล้ว
ในกรณีที่กิจการมีหุ้นบุริมสิทธิ์และหุ้นสามัญ การคำนวณกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน ต้องหักเงินปันผลตามสิทธิของหุ้นบุริมสิทธิ แล้วจึงนำมาเฉลี่ยให้หุ้นสามัญ
กำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน = (กำไรสุทธิหรือขาดทุนจากการดำเนินงาน - เงินปันผลหุ้นบุริมสิทธิ)/จำนวนหุ้นสามัญที่อยู่ในมือบุคคลภายนอกถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก
เงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิที่จะนำมาหักจากกำไรขาดทุนสุทธิ ได้แก่ เงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิชนิดไม่สะสมที่มีการประกาศจ่ายในงวดบัญชีนั้น และจำนวนเงินปันผลสำหรับงวดของหุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสมที่ระบุในสัญญา ไม่ว่าจะมีการประกาศจ่ายเงินปันผลในระหว่างงวดหรือไม่ แต่ไม่ต้องรวมเงินปันผลของงวดบัญชีก่อนๆที่นำมาจ่ายในงวดบัญชีปัจจุบันค่ะ
i_join
Verified User
โพสต์: 4
ผู้ติดตาม: 0

Re: หุ้นบุริมสิทธิ

โพสต์ที่ 8

โพสต์

MaiFuen เขียน:ขอถามอีกข้อนะครับ
คราวนี้ ถ้าในอนาคต บริษัทมีผลประกอบการณ์ที่ดี
และ อยากจะ ไถ่ถอนคืนหุ้นบุริมสิทธิ(ที่อยู่ในประเภทส่วนทุน)
บริษัทจะขอไถ่ถอนได้ไหมครับ ถ้าตอนออกหุ้นบุริมสิทธิ์นี้ ไม่ได้มีกำหนดว่าจะไถ่ถอนกันไว้เลย
แล้ว ปกติ เค้าจะกำหนดกันไว้ก่อนไหมว่าในอนาคตบริษัทถ้าบริษัทเริ่มฐานะดี อาจจะไปขอไถ่ถอนกันได้ ?
หุ้นบุริมสิทธินั้นสามารถซื้อคืนได้เช่นเดียวกับหุ้นสามัญ ทั้งนี้ต้องเป็นไปหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวงที่ออกโดยกระทรวงพาณิชย์ค่ะ
ซึ่งโดยปกติ บริษัทจะสามารถเรียกไถ่ถอนหุ้นบุริมสิทธิคืนจากผู้ถือหุ้นได้ หากสิทธิในการเรียกร้องไถ่ถอนได้ระบุไว้ชัดเจนบนใบหุ้นและในหนังสือบริคณห์สนธิ (หนังสือที่แสดงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัท) ซึ่งอาจจะกำหนดไว้ว่า บริษัทจะมีสิทธิขอไถ่ถอนคืนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดและเป็นจำนวนที่ได้ตกลงไว้แล้วตอนจดทะเบียนเมื่อออกหุ้น

หากไม่มีการระบุสิทธิไว้ การไถ่ถอนหุ้นบุริมสิทธินั้นไม่สามารถทำได้ค่ะ เพราะถือว่าเป็นการลดทุนดังนั้นการไถ่ถอนจะต้องทำผ่านกระบวนการทางกฎหมายเกี่ยวกับการลดทุนของบริษัทค่ะ
MaiFuen
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 384
ผู้ติดตาม: 0

Re: หุ้นบุริมสิทธิ

โพสต์ที่ 9

โพสต์

เข้าใจแล้วครับ

อธิบายได้ละเอียดดีครับ

ขอบคุณ คุณ i_join มากๆเลยครับ
:bow: :bow: :bow: :bow: :bow:
โพสต์โพสต์