โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 14 มกราคม 55
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อผมอุทิศตนเป็น Value Investor เต็มตัว สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดก็คือเรื่องของความคิด เฉพาะที่สำคัญที่สุดก็คือ การมองในภาพที่ใหญ่ขึ้นและใหญ่ที่สุดในทุกๆ เรื่อง ผมคิดว่าถ้าภาพใหญ่ถูกต้อง การวิเคราะห์หลังจากนั้นก็ถูกต้องแม้ว่าภาพในรายละเอียดอาจจะมีการผิดพลาดไปบ้าง ถัดจากเรื่องของความคิดแล้ว ในเรื่องของการกระทำก็เป็นเรื่องที่ตามมา นั่นก็คือ การเป็น VI สอนให้ผมรู้จักเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องแทนที่จะทุ่มเททำสิ่งที่ผิดหรือไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร ด้วยวิธีนี้เราจะประสบความสำเร็จได้มากกว่าโดยไม่ต้องเหนื่อยมาก และนี่ก็นำมาสู่ประเด็นของการทำงานหรืออาชีพของคนเราที่ผมสังเกตเห็นว่า คนบางคนนั้นฉลาดหลักแหลมและทำงานหนักมากแต่เขาก็ไม่รวยซักที แต่บางคนไม่ได้มีไอคิวโดดเด่นอะไร ทำงานสบายๆ แต่กลับร่ำรวยกว่ามาก อะไรทำให้มันเป็นอย่างนั้น? คำตอบของผมก็คือ เพราะคนแรก ทำงานที่ “ไม่ทำเงิน” ส่วนคนที่สองนั้น ทำงานที่ “ทำเงิน”
งานที่ “ไม่ทำเงิน” งานแรกที่ผมจะพูดถึงก็คือ งานการเป็นเอเจนซี่โฆษณาซึ่งต้องติดต่อลูกค้าเสนอแนวความคิดและผลิตหนังโฆษณาให้ลูกค้า งานต่างๆ เหล่านี้เป็นงานที่หนักและใช้สมองอีกทั้งมีความกดดันสูงมาก คนที่ทำงานนี้มักจะต้องทำงานจนดึกดื่นและเครียดสุดๆ แต่เงินเดือนและรายได้กลับไม่สูงเลย เหตุผลก็เพราะรายรับที่ได้จากลูกค้าอาจจะอยู่ในระดับเพียง 10 ล้านบาทแต่ต้องใช้พนักงานและทรัพยากรจำนวนมากซึ่งทำให้บริษัทไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างแต่ละคนมากได้ ในทางตรงกันข้าม คนที่ทำงานเกี่ยวกับการบริหารมีเดียหรือสื่อโฆษณาให้กับลูกค้าซึ่งก็เรียกว่าอยู่ในธุรกิจเดียวกันหรือบริษัทเดียวกันนั้น มักทำงานที่สบายกว่ามาก หน้าที่ของเขาก็คือการซื้อเวลาโฆษณาทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่ออื่นๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งเขามักจะมีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้วในคอมพิวเตอร์ และสิ่งที่เขาทำก็อาจจะซ้ำๆ กับงานที่ทำให้กับบริษัทอื่นๆ ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อะไรมากนักไม่ต้องพูดถึงจำนวนคนที่จะต้องใช้ในการทำงาน แต่งานมีเดียนั้นกลับมีเม็ดเงินที่สูงมาก การทำแคมเปญแต่ละครั้งอาจจะต้องใช้เงินเป็น 100 หรือ 200 ล้านบาท เนื่องจากแค่ค่าโฆษณาทางทีวีก็คิดนาทีละห้าหกแสนบาทเข้าไปแล้ว และนี่ก็ทำให้งานมีเดียนั้นเป็นงานที่ทำเงินให้กับบริษัทและส่งผลต่อมาถึงคนทำด้วย
งานทางด้านการผลิต เช่น การเป็นวิศวกรในโรงงานนั้น แม้ว่าจะเป็นงานที่หาง่ายและได้เงินค่อนข้างดีในช่วงแรกๆ แต่ในระยะยาวแล้วคนที่ทำงานในด้านการเงินน่าจะทำเงินมากกว่า ทั้งๆที่การเป็นวิศวกรนั้นมักจะต้องใช้ความรู้และความสามารถในการคิดคำนวณสูงกว่ารวมถึงต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่แย่กว่า งานก็มักจะหนักกว่า เหตุผลก็คือ งานด้านการเงินนั้นใช้คนที่น้อยกว่าแต่ความสำคัญในแง่ของบริษัทมักจะสูงกว่างานวิศวกรรม ดังนั้น บริษัทสามารถจะจ่ายเงินให้แก่ผู้บริหารทางฝ่ายการเงินสูงกว่าทางด้านวิศวกรรมได้
ถ้าพูดถึงงานในระดับล่างลงมาเช่น คนงานที่เป็นกรรมกรก่อสร้างหรือคนงานในโรงงานนั้นจะพบว่าพวกเขามีรายได้ที่น้อยกว่าคนที่ค้าขายหาบเร่หรือแผงลอยมากทั้งๆที่ทำงานหนักกว่ามาก อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อร่างกายสูงกว่าหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่กว่า เหตุผลคงเป็นเรื่องของ “จิตใจ” หรืออารมณ์ความรู้สึกบางอย่างเช่น การรู้สึก “ตากหน้า” ถ้าต้องไปยืนขายของ รวมถึงการเป็นคนที่ไม่ “กล้าเสี่ยง” หรือ “ไม่มีทุน” หรือ ไม่มีความสามารถในการ “จัดการ” ที่จะต้องวิ่งไปหาซื้อสินค้ามาผลิตและ/หรือขายต่างๆเหล่านี้ ทำให้คนไม่ทำงานค้าขายทั้งที่รายได้ดีและสบายกว่ามาก ในทำนองเดียวกัน อาชีพในด้านของการบริการ โดยเฉพาะที่มีประเด็นของการที่ต้อง “ตากหน้า” ก็ให้ผลตอบแทนหรือรายได้สูงกว่างานกรรมกรหรืองานการผลิต ตัวอย่างเช่น การเป็นแม่บ้านหรือการเป็นพนักงานเสิร์พอาหารหรือคนดูแลรับรถในสถานบริการหรูที่ได้รับเงินทิปจากลูกค้าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเงินเดือนที่ได้รับ
งานที่มั่นคงมาก มีเวลาการทำงานที่แน่นอน ไม่ต้องตากหน้าหรือเผชิญกับแรงกดดันจากหัวหน้างาน และงานที่ได้ผลตอบแทนที่แน่นอนไม่ใคร่ขึ้นอยู่กับผลงาน ตัวอย่างเช่นงานราชการทั่วๆไป และงานการเป็นอาจารย์ในสถานศึกษา มักจะไม่ใช่งานทำเงิน ตรงกันข้าม งานที่มีความไม่แน่นอนของรายได้สูงและอาจจะต้อง “ตากหน้า” เนื่องจากต้องไปเกี่ยวข้องกับคนอื่นในลักษณะที่ตนเองดูด้อยกว่า และงานที่ไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอน ตัวอย่างเช่น งานการเป็นเซลแมน งานการเป็นนายหน้าค้าที่ดิน ตัวแทนขายประกัน คนขายสินค้าแบบขายตรงหรือแบบ “ลูกโซ่” งานเหล่านี้มักเป็นงานที่ทำเงิน คนที่ทำได้ดีอาจจะรวยได้ ในขณะที่คนกลุ่มแรกนั้น โอกาสที่จะรวยมีน้อยมาก
พูดถึงดาราหนัง นักร้องและคนที่แสดงเพื่อการบันเทิง งานเหล่านี้เป็นงานที่หนัก มีรายได้ไม่แน่นอน ทำงานไม่เป็นเวลา แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ใช่งานที่ทำเงินจริงๆ โดยเฉพาะสำหรับตัวประกอบ แม้แต่ดาราที่ “มีระดับ” การแสดงก็ไม่ได้ทำเงินได้มากมายอย่างที่คิด สิ่งที่ทำเงินจริงๆ ในวงการนี้น่าจะอยู่ที่การได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ในการโฆษณาสินค้าหรือการโชว์ตัวตามอีเว้นท์ต่างๆ ซึ่งเป็นงานที่เบาและใช้เวลาทำน้อยแต่ได้เงินมากกว่าการแสดงมาก อย่างไรก็ตาม นี่ก็อาจจะคล้ายๆ กับกรณีของเอเจนซี่กับการบริหารมีเดีย นั่นคือ คุณไม่สามารถจะได้งานพรีเซ็นเตอร์ถ้าคุณไม่ได้แสดงหนังที่ทำให้คนรู้จักและชื่นชอบ
การ “ทำเอง” กับการ “ซื้อ” นี่ก็มีประเด็นของเรื่องงานทำเงินกับงานไม่ทำเงิน มีเรื่องพูดกันในหมู่นักบริหารที่ต้องการลดต้นทุนซึ่งก็คือเรื่องเดียวกับการ “ทำเงิน” ว่า ในการลดต้นทุนการผลิตนั้น ทางหนึ่งก็คือ ให้วิศวกรพยายามหาทางลดต้นทุนโดยการพยายามตัดค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างๆ ซึ่งมีหนทางมากมายตั้งแต่การศึกษากระบวนการผลิตอย่างลึกซึ้ง ว่าในแต่ละกระบวนการเราจะสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรที่จะช่วยลดต้นทุนได้ แต่ในที่สุดแล้ว ผลก็มักจะออกมาว่าเราสามารถลดได้เพียง 3-4% เป็นอย่างมาก แต่อีกหนทางหนึ่งก็คือ เราอาจจะหาทางใหม่ เช่น แทนที่จะผลิตเอง เราสามารถไปซื้อจากคนอื่น หรือไป “ต่อรอง” กับคนที่ขายของหรือรับทำงานให้เราให้ลดราคาลงมา งานนี้เราใช้คนทำเพียงคนสองคนก็ได้แล้ว และสิ่งที่เรา “ประหยัด” ได้นั้น อาจจะเป็น 10-15% ทีเดียว ดังนั้น จะไปทำงานหลังขดหลังแข็งไปทำไม?
การลงทุนเป็นความ “สุดยอดของงานทำเงิน” เพราะมันใช้พลังงานน้อยมาก ว่าที่จริงคุณแทบไม่ต้องแม้แต่จะจับปากกา สิ่งที่คุณทำนั้นทุกอย่างอาจจะอยู่แต่ในสมอง คนอาจจะไม่รู้ว่าคุณกำลังทำงานอยู่เลย แต่ถ้าคุณทำงานนี้ได้ดีมาก ผลตอบแทนจะมหาศาล แต่แน่นอน การลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนได้คุณจะต้องมีเงินลงทุน ดังนั้น รายได้นั้นขึ้นอยู่กับเงินต้นด้วย ถ้าเงินต้นยังน้อย การลงทุนเพียงอย่างเดียวโดยไม่ทำงานอื่นด้วยก็ยากที่จะทำเงิน อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเป็นคนมีเงินอยู่แล้ว หรือเป็นคนที่จะมีเงินจากทางอื่นเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ คุณก็ไม่มีเหตุผลที่จะหลีกเลี่ยงจากการลงทุนซึ่งเป็นกิจกรรมหรืองานที่ “ทำเงิน” มากๆ นั่นก็คือ ทำงานน้อยแต่เวลาได้เงิน ได้มากกว่างานอื่นๆ .. มาก