|0 คอมเมนต์
วิกฤติหนี้ยุโรปลามธนาคารสหรัฐ ลือหึ่งมอร์แกนฯ เสี่ยงปล่อยกู้ธ.ฝรั่งเศส
วันอังคารที่ 04 ตุลาคม 2554 เวลา 12:37:48 น.
ผู้เข้าชม : 59 คน
รอยเตอร์รายงานว่าวิกฤติหนี้ยุโรปได้ลุกลามมาถึงธนาคารสหรัฐแล้ว โดยส่งผลให้ต้นทุนในการชำระหนี้ของธนาคารสหรัฐพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติปี 2008 และทำให้นักลงทุนกังวลกับขนาดความเสี่ยงที่ธนาคารสหรัฐอาจได้รับจากวิกฤติหนี้ยุโรป ขณะที่ไม่มีแนวโน้มว่าวิกฤติดังกล่าวจะได้รับการคลี่คลายในระยะอันใกล้นี้
ธนาคารสหรัฐซึ่งรวมถึงมอร์แกน สแตนเลย์และแบงก์ ออฟ อเมริกาพบว่าต้นทุนของตราสาร CDS (credit default swap) ของธนาคารสหรัฐพุ่งขึ้นในขณะที่ธนาคารแห่งอื่นๆ ทำประกันความเสี่ยงจากคู่สัญญา และนักเก็งกำไรลงทุนตามการคาดการณ์ที่ว่าสถานการณ์จะย่ำแย่ลงไปอีกในอนาคต
ทั้งนี้ นักลงทุนได้หันไปใช้ตราสาร CDS เพื่อรองรับความเสี่ยงในกรณีที่มูลค่าตราสารหนี้ของตนร่วงลงในอนาคต ในขณะที่สภาพคล่องในตลาดหุ้นกู้เอกชนหดหายไป
มอร์แกน สแตนเลย์เป็นธนาคารที่เผชิญกับความผันผวนมากที่สุดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยบริษัทมาร์กิตระบุว่า ต้นทุน CDS ของมอร์แกน สแตนเลย์พุ่งขึ้นกว่า 2% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทะยานขึ้นสู่ 5.18 % เมื่อวานนี้ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2008 ที่ตัวเลขนี้ขึ้นมาอยู่เหนือ 5.00 %
มอร์แกน สแตนเลย์ได้รับแรงกดดันนับตั้งแต่ Zero Hedge ซึ่งเป็น blog ทางการเงินระบุเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนว่า มอร์แกน สแตนเลย์เผชิญความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวกล่าวว่ามอร์แกน สแตนเลย์ไม่ได้มีสถานะปล่อยกู้สุทธิแก่ฝรั่งเศส
การพุ่งขึ้นของต้นทุน CDS ของมอร์แกน สแตนเลย์สร้างความกังวลต่อนักลงทุนในตลาดหุ้นและส่งผลให้ราคาหุ้นมอร์แกน สแตนเลย์ดิ่งลง และการดิ่งลงของราคาหุ้นก็เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อ CDS ของมอร์แกน สแตนเลย์มากยิ่งขึ้น และส่งผลให้ต้นทุนCDS พุ่งขึ้นไปอีก และปัจจัยดังกล่าวก็ส่งผลให้นักลงทุนต้องการซื้อสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ความกังวลเรื่องความเสี่ยงของธนาคารสหรัฐพุ่งสูงขึ้น ตลาดก็อาจจะเผชิญกับภาวะวงจรสะท้อนกลับในเชิงลบ ซึ่งอาจส่งผลให้มูลค่าตราสารหนี้และหุ้นดิ่งลงต่อไป และทำให้สภาพคล่องในตลาดสินเชื่อหดหายไป ขณะที่ทำให้นักลงทุนรีบถือครองเงินสดและพันธบัตรรัฐบาลที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
การอ่อนค่าลงของยูโร/ดอลลาร์อาจจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อธนาคารยุโรปมากยิ่งขึ้นด้วย ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปเผชิญปัญหาอยู่แล้วในช่วงนี้จากการที่ธนาคารสหรัฐไม่เต็มใจจะปล่อยกู้แก่ธนาคารยุโรป
นายจอห์น กวาร์เนรา นักยุทธศาสตร์การลงทุนของธนาคารโซซิเอเตเจเนอราล กล่าวว่า "ความกังวลเรื่องหนี้รัฐบาลยูโรโซนเริ่มส่งผลกระทบต่อสหรัฐในขณะที่ตลาดกังวลว่าธนาคารสหรัฐบางแห่งมีสถานะการลงทุนอย่างไรในตลาดยุโรป"
"กระแสความกังวลคือปัจจัยที่กระตุ้นความเคลื่อนไหวในตลาดขณะนี้ โดยเป็นความกังวลเกี่ยวกับเรื่องที่เราไม่รู้ และด้วยเหตุนี้นักลงทุนจึงใช้ความระมัดระวังในการลงทุนเป็นอย่างมาก"
หนึ่งในปัจจัยหลักที่สร้างความกังวลในภาคธนาคารสหรัฐคือการขาดแคลนข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการลงทุนของธนาคาร โดยเฉพาะเมื่อธนาคารลงทุนในตราสารอนุพันธ์และเมื่อธนาคารเปิดเผยเพียงแค่ข้อมูลขั้นต้นเกี่ยวกับสถานะการลงทุนของตน
นายกวาร์เนรากล่าวว่า "มีความสับสนในเรื่องสถานะการลงทุนในตราสารอนุพันธ์" และกล่าวเสริมว่า "ตัวเลขที่ทุกคนนำมาใช้พิจารณาเป็นตัวเลขที่ย้อนหลังไปนานมาก โดยเป็นตัวเลขตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.ของปีที่แล้ว"
ธนาคารอาจจะมีโอกาสชี้แจงสถานะการลงทุนของตนผ่านทางงบกำไรขาดทุนรายไตรมาสที่จะเปิดเผยออกมาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แต่ก่อนที่จะถึงเวลานั้นตลาดก็อาจจะตกอยู่ภายใต้กระแสความกังวลและความไม่แน่นอน ในขณะที่สถานการณ์ในยุโรปเลวร้ายลงในแต่ละวัน
สื่อมวลชนรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์คอาจจะขอให้ธนาคารยุโรปเปิดเผยข้อมูลด้านสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น ในขณะที่สหรัฐจับตาดูความเสี่ยงจากวิกฤติยูโรโซน
นายเยนส์ นอร์ดวิก หัวหน้าฝ่ายวิจัยตราสารหนี้ของบริษัทโนมูระกล่าวว่า"ประเด็นหลักที่เรากังวลก็คือว่า เรายังคงเผชิญกับภาวะสูญญากาศทางนโยบาย"และตั้งข้อสังเกตว่าผู้กำหนดนโยบายของประเทศสมาชิกยูโรโซน 17 ประเทศจำเป็นต้องให้สัตยาบันต่อมาตรการแก้ปัญหาในเรื่องนี้
นายนอร์ดวิกระบุว่า ในขณะที่ยูโรโซนยังไม่มีแนวโน้มแก้วิกฤติได้ในเร็วๆ นี้การอ่อนค่าของยูโรก็อาจส่งผลลบต่อการลงทุนของต่างชาติในยูโรโซน
ธนาคารพาณิชย์ของยุโรปได้รับความเสียหายในระยะนี้ เนื่องจากเจ้าหนี้ในตลาดเงินสหรัฐไม่ยอมปล่อยกู้ผ่านทางตราสารพาณิชย์ระยะสั้นแก่ยุโรป
นายนอร์ดวิกกล่าวเสริมว่า "ถ้าหากเกิดวงจรสะท้อนกลับทางความเชื่อมั่นเมื่อนักลงทุนต่างชาติมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆในเรื่องการถือครองสินทรัพย์ยุโรปโดยเป็นผลจากการที่ราคาสินทรัพย์ร่วงลงและจากการที่ยูโรอ่อนค่าลง ภาวะดังกล่าวก็อาจสร้างความลำบากมากยิ่งขึ้นในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ตลาดพันธบัตร"
ต้นทุนของธนาคารยุโรปในการกู้เงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดสัญญาสว็อปสกุลเงินยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อวานนี้ โดยอยู่ในระดับใกล้จุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2008 ทำให้ธนาคารยุโรปจำเป็นต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในการกู้ยืมเงินระยะสั้นระหว่างธนาคาร โดยอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ณ ตลาดลอนดอน (LIBOR) สำหรับการกู้เงินดอลลาร์ระยะ 3 เดือนได้ถูกกำหนดไว้ที่จุดสูงสุดรอบ 13 เดือน ที่ 0.37761 %
ธนาคารเครดิต อะกริโคลของฝรั่งเศส, โซซิเอเต เจเนอราลของฝรั่งเศส,RBS ของอังกฤษ และเครดิต สวิส ต่างก็รายงานว่าทางธนาคารจำเป็นต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า LIBOR เล็กน้อย
ที่มา..
http://www.kaohoon.com/online/21443/วิก ... ่งเศส-.htm