โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 24 กรกฎาคม 54
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ความแตกต่างในการลงทุนระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงนั้นมีการพูดถึงกันอยู่เรื่อย ๆ ในสังคมไทยเรานั้นดูเหมือนจะมีการยอมรับกันพอสมควรว่าผู้ชายนั้นเป็นนักลงทุนที่ดีกว่าโดยมีเหตุผลหลาย ๆ อย่าง เช่น ผู้ชายตัดสินใจได้ “เด็ดขาด” กว่า ไม่ “ลังเล” แบบผู้หญิง ผู้ชายกล้าได้กล้าเสียกว่า ผู้ชายมีความมั่นใจในตนเองสูงกว่า ผู้ชายฟังคนอื่นน้อยกว่า และผู้ชายเก่งกว่าในด้านของตัวเลขข้อมูลต่าง ๆ มากกว่า เหล่านี้ เป็นต้น ด้วยความคิดนี้ ประกอบกับการที่คนมองเห็นแต่ “เซียนหุ้น” ที่เป็นผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ “การลงทุนแบบผู้หญิง” นั้น เป็นวิธีการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการลงทุนที่พึงหลีกเลี่ยงถ้าไม่อยากขาดทุนหรือไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน แต่ทั้งหมดที่พูดถึงนี้เป็นความคิดของคนไทยที่โลกของการลงทุนยังถูกครอบงำโดยบุรุษเพศ
ในต่างประเทศมีการศึกษาเรื่องจิตวิทยาของผู้หญิงกับการลงทุนมากมายและพบว่าสิ่งที่คนไทยจำนวนมากอาจจะคิดนั้นไม่เป็นจริง การลงทุนแบบ “ผู้หญิง” นั้น เขาพบว่าเป็นวิธีการลงทุนที่เหนือกว่าการลงทุนแบบ “ผู้ชาย” และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ชาย “แพ้” นั้น มีสาเหตุสำคัญหลาย ๆ อย่าง เรื่องหนึ่งก็คือ ผู้ชายนั้นมีความมั่นใจในตนเองสูงเกินไปและสำคัญตนเองผิดว่าตนเองมีความเก่งเหนือกว่าคนอื่นโดยเฉลี่ย นี่ทำให้ผมนึกถึงการศึกษาที่ให้คนจัดเกรดตนเองว่าขับรถได้ดีแค่ไหน ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่มีความเห็นว่าตนเองขับรถได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งในทางทฤษฎีแล้วเป็นไปไม่ได้ เพราะความเป็นจริงก็คือ จะต้องมีคนครึ่งหนึ่งที่ขับรถดีกว่าค่าเฉลี่ย และอีกครึ่งหนึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เรามาลองดูกันว่าการศึกษาเรื่องการลงทุนระหว่าผู้หญิงกับผู้ชายเป็นอย่างไร
การศึกษาในตลาดสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้หญิงมีการซื้อขายหุ้นบ่อยน้อยกว่าผู้ชาย นั่นแปลว่าผู้หญิงถือหุ้นยาวกว่าผู้ชาย นี่คงเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่ผู้ชายมักจะทำเร็วและเด็ดขาดกว่า แต่การซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นบ่อยนั้น ทำให้เกิดค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายสูง นอกจากนั้นการ “ขาดทุน” จากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายก็มักจะ “กินกำไร” ที่ควรจะได้ไปไม่น้อย ยิ่งในตลาดอเมริกาที่ต้องเสียภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นด้วยก็ยิ่งทำให้ผลตอบแทนของผู้ชายลดลงเมื่อเทียบกับผู้หญิง
คุณสมบัติข้อต่อมาของผู้หญิงก็คือ ผู้หญิงมักกลัวความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย ดังนั้น คนที่ลงทุนแบบผู้หญิงก็มักจะต้องการ Margin of Safety หรือส่วนต่างเผื่อความปลอดภัยสูงกว่า นี่ก็เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่จะทำให้การลงทุนแบบผู้หญิงเหนือกว่าการลงทุนแบบที่ “กล้าได้กล้าเสีย” แบบผู้ชาย จริงอยู่ การลงทุนแบบที่กล้าเสี่ยงมาก ๆ เช่น การลงทุนในหุ้นที่ผันผวนมากหรือการใช้มาร์จินซื้อหุ้นเหล่านี้ อาจทำให้นักลงทุนแบบผู้ชาย “รวยไปเลย” แต่หลายคนที่ผิดพลาดก็ “จนไปเลย” มองในแง่ค่าเฉลี่ยระยะยาวแล้ว การลงทุนที่เน้นความปลอดภัยสูงน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
ผู้หญิงนั้นจะมองโลกในแง่ที่ดีน้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมองโลกในแง่ที่เป็นจริงมากกว่า ดังนั้น เวลาที่ตลาดสดใสมาก ผู้หญิงก็จะไม่ “ฝันเฟื่อง” มากเท่าผู้ชาย เช่นเดียวกัน เวลาที่ตลาดเลวร้าย ผู้หญิงก็มักจะไม่ “หดหู่” เท่าผู้ชาย มองในแง่นี้ ผู้หญิงก็จะไม่เป็น “เหยื่ออารมณ์” ของ “นายตลาด” เท่าผู้ชาย พูดง่าย ๆ ผู้หญิงจะไม่ซื้อขายตามภาวะตลาดมากเท่าผู้ชาย ซึ่งมักทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มน้อยกว่าผู้ชายที่จะซื้อตอนตลาดแพงและขายตอนตลาดถูก
ผู้หญิงมีความละเอียดลออมากกว่าผู้ชายในเรื่องของการศึกษาหาข้อมูลเพื่อการลงทุน การ “คิดแล้ว คิดอีก” “อ่านแล้ว อ่านอีก” จนมั่นใจว่าไม่พลาดแน่นั้น เป็นวิธีการลงทุนระยะยาวที่ดีกว่าการรีบตัดสินใจซื้อขายโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบ ดังนั้น นิสัยผู้หญิงแบบนี้จึงเป็นนิสัยการลงทุนที่น่าจะประสบความสำเร็จสูงกว่านิสัยแบบผู้ชายที่มักเอาเร็วเข้าว่า
ผู้ชายมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงกว่าผู้หญิง ผู้ชายมักเชื่อว่าตนเอง “รู้” หรือมีความรู้ในเรื่องต่าง ๆ มากว่าที่เป็นจริง ในขณะที่ผู้หญิงนั้น มักยอมรับว่าพวกเธอรู้เรื่องอะไรบ้าง และเรื่องอะไรที่ไม่รู้ มองในแง่นี้ ผู้ชายก็อาจจะมีแนวโน้มลงทุนในสิ่งที่ตนเองไม่รู้มากกว่าผู้หญิง การลงทุนในสิ่งที่ตนเองคิดว่ารู้ดีแต่จริง ๆ แล้วตนเองไม่รู้นั้น ย่อมมีอันตรายสูง ดังนั้น การลงทุนแบบผู้หญิงในแง่นี้ก็น่าจะมีความปลอดภัยสูงกว่า และนั่นย่อมหมายความว่าผลตอบแทนในระยะยาวน่าจะต้องดีกว่า
ผู้หญิงเรียนรู้จากความผิดพลาดมากกว่าผู้ชาย พูดง่าย ๆ ผู้หญิง “เจ็บแล้วจำ” มากกว่าผู้ชาย นี่ก็เป็นคุณสมบัติที่ดีในการลงทุน เพราะการลงทุนนั้น บ่อยครั้งมากที่เรามักจะทำผิด “ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า” อาจจะเนื่องจาก “ความโลภ” ที่อยากจะได้กำไรสูง ทำให้ลืมบทเรียนความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ก็คิดว่าครั้งนี้ “ไม่เหมือนเดิม”
สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ผู้หญิงนั้นมักจะเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อน หรืออยู่ใต้อิทธิพลของเพื่อน น้อยกว่าผู้ชาย พูดง่าย ๆ ผู้ชายนั้น เวลาตัดสินใจอะไร ถ้ามีเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานจับตาดูอยู่ เขาก็จะมี “แรงกดดัน” มากกว่าผู้หญิงที่จะต้องทำตามแนวทางของกลุ่ม ตัวอย่างเช่น ถ้าเขารู้ว่าผลตอบแทนการลงทุนของเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานกำลังโดดเด่นมากเนื่องจากพวกเขากำลังเล่นหรือลงทุนในหุ้นบางกลุ่มในภาวะตลาดที่กำลังร้อนแรง ก็ยากที่ผู้ชายจะอยู่ “นิ่งเฉย” ไม่ยอมเปลี่ยนแนวทางการลงทุนของตนเองและยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า มองในแง่นี้ การลงทุนแบบผู้หญิงก็น่าจะมีหลักการที่มั่นคงและเป็นสิ่งที่ตนเองมีความชำนาญมากกว่า นอกจากนั้น ผู้หญิงก็น่าจะมีการตัดสินใจที่อิสระมากกว่าผู้ชาย
ผลการลงทุนของผู้หญิงโดยทั่วไปในอเมริกานั้น เนื่องจากมีการซื้อขายหุ้นน้อยกว่า นั่นอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผลตอบแทนดีกว่าผู้ชาย แต่ในด้านของมืออาชีพที่บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ต้องอาศัยฝีมือและอารมณ์ขั้นสูงสุดนั้น ก็พบว่าผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์ที่เป็นผู้หญิงก็สามารถสร้างผลงานเฉลี่ยที่ดีกว่าผู้ชาย รวมถึงผลตอบแทนก็สม่ำเสมอกว่าผู้บริหารชาย ที่สำคัญ ในยามที่ตลาดเลวร้ายมากนั้น ผลตอบแทนของผู้บริหารหญิงจะเลวร้ายน้อยกว่าของผู้บริหารชายมาก
หลายคนยังอาจจะสงสัยว่าทำไมนักลงทุนเอกของโลกที่สร้างผลตอบแทนระยะยาวได้สูงมากอย่างวอเร็น บัฟเฟตต์ ปีเตอร์ ลินช์ และอีกหลาย ๆ คนจึงมีแต่ผู้ชาย แล้วจะบอกได้อย่างไรว่าการลงทุน “แบบผู้หญิง” นั้น มีประสิทธิภาพเหนือกว่า? ประเด็นนี้ คำตอบน่าจะมีได้สองทาง ทางแรกก็คือ การลงทุนแบบผู้ชายนั้น มีความผันผวนสูงมาก คนที่ทำได้ดีก็ดีมาก ๆ แต่คนที่ทำได้แย่ ผลงานก็ “ตกเหว” ไปเลย โดยค่าเฉลี่ยก็ต่ำกว่าการลงทุนของผู้หญิง คำอธิบายอีกทางหนึ่งก็คือ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือเซียนหุ้นที่ประสบความสำเร็จระดับโลกที่เป็นผู้ชายนั้น แท้ที่จริงแล้ว เขาใช้แนวทางการลงทุนแบบ “ผู้หญิง” ส่วนการที่ยังไม่มีผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็น “เซียนระดับโลก” นั้น อาจจะเป็นเรื่องของ “เวลา” ก็ได้ เหนือสิ่งอื่นใด ผู้หญิงเพิ่งจะก้าวเข้ามาในโลกของการลงทุนไม่นานนัก ในอนาคต เราอาจจะได้เห็นเซียนที่เป็นผู้หญิงก็ได้ นี่รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ผมคิดว่าในที่สุดก็จะต้องมี “เซียนหุ้นหญิง” เหมือนกัน