โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 23 เมษายน 54
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
วอเร็น บัฟเฟตต์ ไม่เคยเขียนหนังสือการลงทุน แต่แนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนของเขานั้น ส่วนใหญ่น่าจะมาจาก รายงานประจำปีที่เสนอต่อผู้ถือหุ้นบริษัทเบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ ที่เขาเป็นประธานอยู่ และอีกจำนวนไม่น้อยมาจากการพูดหรือแสดงความคิดเห็นในที่ต่างๆ หลังจากนั้นก็มีคนหลายคนที่ศึกษาและรวบรวมความคิดของเขาออกมาเป็นหมวดหมู่เป็นระบบ และกลายเป็นหนังสือแนวทางหรือกลยุทธ์การลงทุน “แบบบัฟเฟตต์” ซึ่งแน่นอน มีหลายเวอร์ชั่น แล้วแต่ว่าใครจะมองอย่างไร อย่างไรก็ตาม ถ้าตัดเรื่องของการเขียนเป็นรูปเล่มที่ต้องมีการพรรณนาเรืองราวต่างๆ ที่ยืดยาวออกไป เราก็พอจะหาแนวคิดที่เป็น “แก่น” จริงๆ ของบัฟเฟตต์ได้จากคำกล่าวหรือข้อคิดสำคัญๆ ของบัฟเฟตต์ที่พูดไว้ในที่ต่างๆ ได้ และต่อไปนี้คือข้อคิดดีๆ ที่เป็น “สุดยอด” ของบัฟเฟตต์
คำกล่าวที่หนึ่ง ก็คือ “สำหรับเรื่องของการลงทุนแล้ว กฎข้อที่หนึ่งก็คือ อย่าขาดทุน และกฎข้อที่สองก็คือ ให้กลับไปดูกฎข้อที่หนึ่ง” นั่นก็คือ สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนก็คือ คุณต้องพยายามอย่าให้ขาดทุน บัฟเฟตต์นั้นไม่เคยพูดถึงว่าเวลาลงทุนเขาคาดว่าจะกำไรเท่าไร กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ ซื้อหุ้นแล้วมีโอกาสที่จะหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน พูดง่ายๆ เขาดูความเสี่ยงที่เป็น Down Side หรือขาลง มากกว่าโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงในด้านขาขึ้นหรือ Up Side เหตุผลสำคัญผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่การลงทุนของบัฟเฟตต์ที่เน้นการลงทุนถือหุ้นระยะยาวมาก ดังนั้น หุ้นจะขึ้นหรือเปล่าในเดือนหน้าหรือปีหน้าเขาไม่สนใจ เขาสนใจแต่ว่าในระยะยาวแล้ว หุ้นที่เขาซื้อจะไม่ลดลงอย่างถาวรเนื่องจากผลการดำเนินงานแย่ลง
คำกล่าวที่สอง “เป็นเรื่องที่ดีกว่าที่เราจะซื้อธุรกิจที่ดีสุดยอดในราคาปานกลาง แทนที่จะซื้อธุรกิจปานกลางในราคาที่ดีสุดยอด” ความหมายก็คือ บัฟเฟตต์นั้นไม่เน้นซื้อของถูกหรือซื้อได้ในราคาที่ “ดีสุดยอด” เขาคิดว่าธุรกิจที่ดีสุดยอดนั้น ในระยะยาวแล้วมูลค่าของกิจการก็จะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าเราสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม ไม่แพง ราคาหุ้นก็จะปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามผลประกอบการของมัน ยิ่งถือนานก็ยิ่งดี ตรงกันข้าม หุ้นของกิจการปานกลางนั้น ผลประกอบการก็มักจะไม่ดีขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้มูลค่าของกิจการไม่ใคร่เพิ่มขึ้น จริงอยู่ ในวันแรกเราอาจจะซื้อได้ในราคาที่ถูกมาก และก็มีโอกาสที่ราคาของมันจะปรับเพิ่มขึ้นไปเข้าหามูลค่าที่เหมาะสมหรือเข้าหา Intrinsic Value แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน นอกจากนั้น หลังจากที่มันปรับตัวขึ้นไปครั้งเดียวแล้ว ราคาของมันก็อาจจะนิ่งไม่ไปไหนอยู่นานเพราะกิจการไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้น ยิ่งถือนาน ผลตอบแทนก็จะลดลง ซึ่งนำไปสู่ คำกล่าวที่สาม
คำกล่าวที่สาม “เวลาเป็นเพื่อนของธุรกิจที่มหัศจรรย์ แต่เป็นศัตรูของธุรกิจพื้นๆ” นั่นก็คือ ถ้าเราถือหุ้นของ “ธุรกิจมหัศจรรย์” หรือธุรกิจที่ดีสุดยอด คุณจะอยากถือไว้นานที่สุด ให้เวลากับการลงทุน เพราะยิ่งเวลาผ่านไป กำไรของบริษัทก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่สูงต่อเนื่อง ตรงกันข้าม ธุรกิจพื้นๆ นั้น ในบางช่วงเช่นช่วงแรกๆ ราคาอาจจะปรับตัวขึ้นด้วยสาเหตุอะไรบางอย่างซึ่งอาจจะรวมถึงการที่มีคนเห็นว่ามันเป็นหุ้นที่ถูกและเข้ามาซื้อทำให้หุ้นปรับตัวขึ้น แต่เมื่อถือหุ้นนานขึ้นเรื่อยๆ แต่กำไรของบริษัทและราคาหุ้นกลับไม่ปรับตัวขึ้น ผลก็คือ เมื่อเวลาผ่านไป ผลตอบแทนต่อปีก็จะลดลงเรื่อยๆ ยิ่งถือนานก็ยิ่งแย่
คำกล่าวที่สี่ “แนวทางของเราก็คือ กำไรจากการไม่มีการเปลี่ยนแปลงแทนที่จะเปลี่ยนแปลง อย่างหมากฝรั่ง Wrigley มันเป็นเรื่องของการไม่เปลี่ยนแปลงที่ดึงดูดใจผม ผมไม่คิดว่ามันจะถูกเปลี่ยนโดยอินเตอร์เน็ต นั่นคือธุรกิจที่ผมชอบ” นั่นก็คือ บัฟเฟตต์ นั้น มองว่าธุรกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปง่ายด้วยปัจจัยอื่นโดยเฉพาะทางด้านของเท็คโนโลยี จะถือว่าเป็นธุรกิจที่สามารถคาดการณ์ผลประกอบการได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับเขาที่ต้องการลงทุนระยะยาวมากหรือตลอดไป ดังนั้น ถ้าอะไรที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ง่าย เขาก็มักจะหลีกเลี่ยงไม่ลงทุนแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงบางทีอาจจะทำให้บริษัทหนึ่งมีผลประกอบการที่ก้าวกระโดดและทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นได้มหาศาลอย่างหุ้นอินเตอร์เน็ตทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม กิจการที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายก็มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่บัฟเฟตต์จะรับได้
คำกล่าวที่ห้า “สิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับเราก็คือ บริษัทที่ยิ่งใหญ่ ประสบกับปัญหาชั่วคราว เราต้องการซื้อมันเมื่อมันอยู่บนโต๊ะผ่าตัด” นี่เป็น “โอกาสทอง” ที่บัฟเฟตต์แสวงหาตลอดมา จากอดีตจะเห็นว่าเขาเคยทำเงินมหาศาลอย่างรวดเร็วจากการซื้อหุ้นของกิจการที่ดีสุดยอดแต่ประสบปัญหาชั่วคราวที่สามารถแก้ไขได้ อาทิเช่นหุ้นของอเมริกันเอ็กซเพรส หุ้นโค๊ก และหุ้นอีกหลายตัวในช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพร์มในอเมริกา
คำกล่าวที่หก “นานมาแล้ว เซอร์ไอแซ็คนิวตันให้กฎ 3 ข้อของการเคลื่อนที่ของวัตถุซึ่งเป็นผลงานที่เป็นอัจฉริยะ แต่ความสามารถของนิวตันไม่คลุมไปถึงเรื่องการลงทุน เขาขาดทุนมากมายในวิกฤติการณ์ฟองสบู่เซ้าท์ซี เขากล่าวภายหลังว่า ‘ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวได้ แต่ผมไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของคน’ ถ้าเขาไม่ถูกทรมานจากการขาดทุนในครั้งนั้นมากเกินไป เขาคงได้ค้นพบกฎข้อที่สี่ของการเคลื่อนไหว นั่นคือ ‘สำหรับนักลงทุนโดยรวม ผลตอบแทนลดลงเมื่อมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น’ ” ความหมายของคำกล่าวนี้ก็คือ บัฟเฟตต์มองว่า ยิ่งเราซื้อขายหุ้นมากขึ้น เราก็จะต้องเสียต้นทุนค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับส่วนต่างราคาซื้อราคาขาย และอาจจะเกิดความผิดพลาดในด้านของจังหวะการซื้อขาย ทั้งหมดนั้นทำให้ยิ่งเทรดหุ้นมาก ผลตอบแทนก็ยิ่งลดลง
คำกล่าวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ บัฟเฟตต์บอกว่า “เหนือสิ่งอื่นใด คุณจะพบว่าใครว่ายน้ำล่อนจ้อนก็ต่อเมื่อกระแสน้ำลดลง” ความหมายก็คือ การที่จะดูว่าใครมีฝีมือในการลงทุนจริงๆ หรือหลักการลงทุนแบบไหนได้ผลในระยะยาวจริงๆ นั้น เราจะต้องดูตอนที่ตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำหรือซบเซาลงมากๆ เพราะนั่นคือเวลาที่จะพิสูจน์ว่ากลยุทธ์การลงทุนใช้ได้ผลจริง เพราะในยามที่ตลาดดีหรือช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นโดดเด่นเป็นกระทิงนั้น กลยุทธ์หลายๆ แบบอาจให้ผลดีหรือแม้แต่ดีกว่ากลยุทธ์ที่กูรูระดับโลกใช้กัน แต่ในยามที่ตลาดตกต่ำ กลยุทธ์นั้นอาจจะทำให้ขาดทุนมหาศาลและทำให้ผลตอบแทนโดยรวมระยะยาวกลับแย่ลงหรือไม่ดีอย่างที่คิด
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนของ “อัจฉริยะ” ของบัฟเฟตต์ ที่ได้ผ่านการทดสอบมาต่อเนื่องยาวนานคิดแล้วน่าจะถึงห้าสิบปีที่เขาลงทุนมา อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า “คนชอบอ้างอิงความคิดของเรา แต่น้อยคนที่จะปฏิบัติตามแนวทางการลงทุนที่เราทำ” และนี่ก็คงเป็นเรื่องธรรมชาติของคน หลักการลงทุนแบบบัฟเฟตต์นั้น มันฝืนความรู้สึกของคนที่มักจะชอบ “ทำอะไรบางอย่าง” การซื้อแล้วถือหุ้นไว้เฉยๆ แบบบัฟเฟตต์นั้น ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่าย