ข่าวดีแบบนี้ จะช่วย GFPT ผมบ้างมั้ยนี่

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
BPT
Verified User
โพสต์: 143
ผู้ติดตาม: 0

ข่าวดีแบบนี้ จะช่วย GFPT ผมบ้างมั้ยนี่

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สถานการณ์ไก่พลิกล็อกรับอานิสงส์สงคราม โรคหวัดมรณะระบาด ญี่ปุ่นลูกค้ารายใหญ่ ลดสั่งซื้อจากจีนแหล่งแพร่เชื้อโรค และลดซื้อจากบราซิลเหตุติดสงครามสินค้าใช้เวลาเดิน ทางนานกว่าภาวะปกติ หันสั่งซื้อ จากไทย ออร์เดอร์เพิ่มจนผลิตไม่ ทัน ดันราคาไก่ช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์พุ่งกระฉูด 10% ......
นางฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการบริษัท ฉวีวรรณฟาร์ม จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงสถานการณ์ไก่เนื้อว่า ปัญหาไก่เนื้อที่ตกต่ำทั่วประเทศตั้งแต่ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ เนื่องจากปริมาณไก่เนื้อทั้งในไทยและทั่วโลกอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลายประมาณ 15% กระทั่งผู้เลี้ยง ต้องมีมติร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการลดปริมาณลูกไก่ลง 15% หรือราว 3 ล้านตัวต่อสัปดาห์ จากที่มีการเลี้ยงอยู่ประมาณ 21 ล้านตัวต่อสัปดาห์ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีนางฉวีวรรณ กล่าวว่าขณะนี้ราคาไก่เนื้อได้พลิกผันปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดมาก โดยราคาลูกไก่เพิ่มขึ้นจากตัวละ 2 บาท เป็น 8 บาท และคาดว่าจะขึ้นไปถึงตัวละ 12 บาทไก่เป็นจากก.ก.ละ 19 บาท เป็น 28 บาท เนื้อน่องถอดกระดูกไปญี่ปุ่น(BL)จากตันละ 1,100-1,200 เหรียญสหรัฐ(46,200-50,400) เป็น 1,400-4,500 เหรียญสหรัฐ เนื้อหน้าอกไปสหภาพยุโรป(SBB)จากตันละ 1,900-2,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 2,200-2,300 เหรียญสหรัฐ มาตรการลดปริมาณลูกไก่เชื่อว่าส่งผลด้านจิตวิทยาที่ทำให้ราคาไก่เนื้อขยับสูงขึ้น แต่เชื่อว่าปัจจัยของสงครามระหว่างสหรัฐกับอิรักและโรคหวัดมรณะที่เกิดขึ้นในจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อของไทยขยับสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้สังเกตุจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำเข้าเนื้อไก่รายสำคัญของไทย ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้หันไปนำเข้าจากบราซิลและจีนเนื่องจากราคาถูกและคุณภาพไม่แตกต่างจากของไทยเท่าใดนัก แต่ปรากฎว่าหลังจากที่เกิดสงครามระหว่างสหรัฐกับอิรักญี่ปุ่นได้กลับมานำเข้าจากประเทศไทย เนื่องจากการนำเข้าจากบราซิลช่วงสงครามสินค้าจากบราซิลต้องใช้เวลาเดินทางนานประมาณ 2 เดือนครึ่งจึงจะถึงประเทศญี่ปุ่น จากภาวะปกติใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 เดือนขณะที่หากสั่งซื้อจากประเทศไทยสินค้าใช้เวลาเดินทางเพียง 7 วัน นอกจากนี้โรคหวัดมรณะที่ระบาดในประเทศจีน ทำให้การสั่งซื้อสินค้าจากจีนลดลงเพราะผู้บริโภคไม่มั่นใจในความปลอดภัย
นอกจากนี้ประเทศเนเธอร์แลนด์ประสบปัญหาโรคไข้หวัดนกระบาดในสัตว์ปีก ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องทำลายลูกไก่เป็นจำนวนถึง 4 ล้านตัว และหันนำเข้าไปจากต่างประเทศเข้าไปบริโภคแทนการเลี้ยงเอง ประกอบกับอียูได้ปรับภาษีนำเข้าเนื้อไก่จาก 15.4% เป็นเฉลี่ย 60-70% สำหรับผลิตภัณฑ์ไก่ทุกประเภทโดยมีผลเดือนกรกฏาคม นี้ทำให้ผู้นำเข้าเร่งสั่งซื้อเข้าไปสต๊อกก่อนจะเสียภาษีนำเข้าในอัตราสูง การสั่งซื้อเนื้อไก่จากประเทศไทยเวลานี้มีทั้งจากอียูจากญี่ปุ่น "ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำให้สถานการณ์ราคาไก่เนื้อพลิกผันเพราะไม่คิดว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเร็วเช่นนี้"นางฉวีวรรณ กล่าวและว่าเวลานี้ผู้ส่งออกไก่แต่ละรายต้องเร่งผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบและแทบจะผลิตไม่ทัน
ด้านนายไชยศักดิ์ บุญประสพธนโชติ อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ กล่าวทำนองเดียวกันว่า ราคาไก่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ปรับสูงขึ้นประมาณ 10%เช่นลูกไก่ปรับจากตัวละ 2 บาท เป็น 5 บาท และอยู่ที่ตัวละ 8 บาทในปัจจุบัน ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญๆ คือ1.ผลจากมาตรการลดปริมาณลูกไก่ 15% 2. ภาวะอากาศร้อนไก่เติบโตช้า น้ำหนักน้อย 3.ความต้องการจากต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นเพราะผู้นำเข้าจากอียูต้องเร่งนำเข้าไปก่อนอัตราภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้เดือนกรกฎาคม ศกนี้ และญี่ปุ่นหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้นจากเดิมที่นำเข้าทั้งจากไทย จีนและบราซิล เชื่อว่าหากโรคหวัดมรณะและสงครามยังยืดเยื้อ โอกาสการส่งออกไก่เนื้อของไทยจะมีมากขึ้น
ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ระบุว่าการส่งออกไก่สดและไก่แปรรูป 2 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) ปริมาณส่งออกรวม 78,657 ตัน แยกเป็นไก่สด 57,164 ตัน ไก่แปรรูป 21,493 ตัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาที่มีการส่งออก 76,419 ตัน แยกเป็นไก่สด 56,652 ตัน และไก่แปรรูป 19,767 ตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93 ตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ญี่ปุ่น นำเข้า 33,726 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาที่นำเข้า 46,499 ตัน ลดลง 27.47% ยุโรปนำเข้า เพิ่มขึ้น 42.34% ตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 9.84% แอฟริกาสองเดือนแรกปีนี้ยังไม่มีการส่งออก
นางฉวีวรรณ กล่าวว่าตัวเลขการส่งออกไก่ไปญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ ช่วง 2 เดือนแรก ลดลงมีการส่งออกไปเพียง 33,726 ตัน เทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีการส่งออก 46,499 ตัน หรือลดลงถึง 27.47% เพราะว่าราคาที่ญี่ปุ่นต้องการซื้อต่ำมากผู้ส่งออกขายไม่ได้หากขายต้องขาดทุน แต่ตั้งแต่เดือนมีนาคมต่อเนื่องเดือนเมษายนโดยเฉพาะหลังสงครามและมีโรคหวัดมรณะระบาด ลูกค้าจากญี่ปุ่นสั่งซื้อมาก จึงมั่นใจว่าการส่งออกไก่ไตรมาสที่สองจะดีขึ้น

--ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 10 เม.ย. 2546 - 12 เม.ย. 2546--
ล็อคหัวข้อ