กลยุทธ์จัดพอร์ต ให้สู้ได้ทุกวิกฤติ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
tum_H
Verified User
โพสต์: 1857
ผู้ติดตาม: 0

กลยุทธ์จัดพอร์ต ให้สู้ได้ทุกวิกฤติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

กลยุทธ์จัดพอร์ต ให้สู้ได้ทุกวิกฤติ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


บล.ภัทร ได้ทำการศึกษาวิจัยถึงวิกฤติการเงินโลกในครั้งที่ผ่านมาในหัวข้อเรื่อง The Myth of Asset Allocation)-ไขความลับเรื่องการจัดสรรการลงทุน  โดยใช้ข้อมูลในการศึกษาตั้งแต่ปี 1999-2009 ซึ่งรวมข้อมูลในช่วงวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ของโลกเอาไว้ด้วย พบว่า การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมากสุด 30% ภายในเดือนต.ค. 2551 เพียงเดือนเดียวนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากประมาณ 1 ครั้ง ในรอบ 755 ปี

เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก เช่น โอกาสที่ตลาดหุ้นโลกจะปรับตัวลง 19.8% ในเดือนต.ค.2551 เพียงเดือนเดียว มีโอกาสเกิดขึ้น 1 ครั้ง ในรอบ 4,112 ปี โอกาสที่ตลาดหุ้นยุโรปจะลดลง 21.2% ในเดือนต.ค.2551 เพียงเดือนเดียวมีเพียง 1 ครั้งในรอบ 1,893 ปี โอกาสที่ตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิกจะลดลง 24.5% ในเดือนต.ค.2551 เพียงเดือนเดียวมีเพียง 1 ครั้ง ในรอบ 1,274 ปี โอกาสที่หุ้นตลาดเกิดใหม่จะปรับตัวลดลง 27.4% ในเดือนต.ค.2551 เพียงเดือนเดียวมีเพียง 1 ครั้ง ในรอบ 1,958 ปี

ส่วนตราสารหนี้ไทยลดลง 5.2% ในเดือนต.ค.2551 เพียงเดือนเดียว มีโอกาสเกิดขึ้น 1 ครั้ง ในรอบ 90 ปี เช่นเดียวกับตราสารหนี้โลกปรับตัวลดลง 4.5% ในเดือนเม.ย.2551 เพียงเดือนเดียว มีโอกาสเกิดขึ้น 1 ครั้ง ในรอบ 9 ปี

ใครที่มีการกระจายการลงทุนไปในอสังหาริมทรัพย์ในเดือนต.ค.2551 ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลงในเดือนเดียว 31.5% มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก 1 ครั้ง ในรอบ 49,877 ปี ราคาทองคำปรับตัวลง 16.8% ในเดือนต.ค.2551 เพียงเดือนเดียว โอกาสเกิดขึ้น 1 ครั้ง ในรอบ 709 ปี และสินค้าโภคภัณฑ์ราคาลดลง 24% ในเดือนต.ค.2551 เพียงเดือนเดียว มีโอกาสเกิดขึ้น 1 ครั้ง ในรอบ 14,079 ปี ซึ่งแม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากแต่ก็เกิดขึ้นแล้วพร้อมกันในเดือนต.ค.2551 ที่ผ่านมา

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้  เป็นปรากฏการณ์ที่นอกเหนือการคาดการณ์ของแบบจำลองทางการเงิน  ที่จะคาดการณ์ได้ และในความเป็นจริงโอกาสเกิดขึ้นที่ดูไม่มากเหล่านี้ เกิดขึ้นได้บ่อยมากกว่าในความเป็นจริง  และอาจไม่กินระยะเวลายาวนานเหมือนที่คิดกัน  เพราะหากย้อนกลับไปดูข้อมูลของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา เพียงระยะเวลาประมาณ 34 ปี ไม่ต้องถึงรอบ 755 ปี ตลาดหุ้นไทยมีเดือนที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมากกว่า 25% ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมากแต่เกิดขึ้นมาแล้วถึง 4 ครั้ง คือ ในเดือนต.ค.2530 ช่วง Black Monday เดือนก.ย.2533 ช่วงสงครามอ่าว เดือนส.ค.2540 ช่วงวิกฤติเอเชีย และเดือนต.ค.2551 ที่เพิ่งผ่านมา และทุกครั้งที่เกิดขึ้นมักจะสร้างความเสียหายให้กับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนค่อนข้างมาก

@ จัดพอร์ตด้วยการควบคุมความเสี่ยง

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บมจ.หลักทรัพย์ภัทร อธิบายเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาพฤติกรรมของนักลงทุนพบว่า ใน ช่วงตลาดกระทิง (Bull Market) นักลงทุนประมาณ 60% จะลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน นักลงทุนประมาณ 30% จะกระจายความเสี่ยง และนักลงทุนประมาณ 10% จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ในขณะที่ ช่วงตลาดหมี (Bear Market) มีนักลงทุนที่ลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนเพียง 15% อีกประมาณ 15% กระจายความเสี่ยง และประมาณ 70% หลีกเลี่ยงความเสี่ยง

จากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะออกจากตลาดไปในช่วงตลาดตกต่ำซึ่งอาจจะส่งผลต่อความมั่งคั่งของพอร์ตการลงทุนของตัวนักลงทุนค่อนข้างมากและในขณะเดียวกันก็ทำให้เสียโอกาสในการลงทุน เมื่อตลาดหุ้นกลับทิศทางเป็นขาขึ้นอีกครั้งเช่นเดียวกัน

ปกติแนวคิดในการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) ในระยะยาวมุ่งหวังที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนและลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนในระยะยาว หรือถึงแม้จะไม่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนแต่ก็จะช่วยให้ผลตอบแทนต่อหนึ่งหน่วยความเสี่ยงปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนยังช่วยให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนผิดจังหวะเช่นการเข้าไปลงทุนในช่วงตลาดสูงสุด (Peak) หรือออกจากตลาดในช่วงตลาดตกต่ำ (Tough) ด้วยการผสมผสานการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท เช่นหุ้นเพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ตราสารหนี้ที่ให้ความมั่นคง กองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ดี เพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอในระยะยาวนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม จากวิกฤติการเงินในปี 2008 ที่ผ่านมา พบว่ากลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนไม่สามารถป้องกันความเสียหายของนักลงทุนได้อย่างเพียงพอ การลงทุนในอนาคตจึงต้องให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องของ การจำกัดความเสี่ยง เป็นเป้าหมายในการจัดสรรเงินลงทุนแทน

@ การจัดสรรเงินลงทุนยังจำเป็น

ดร.ศุภวุฒิ ยักตัวอย่าง พอร์ตกลยุทธ์ของบริษัทที่แนะนำให้ลูกค้าปัจจุบัน (Strategic Portfolio) ซึ่งมีการลงทุนในหุ้นไทย 40% หุ้นต่างประเทศ 10% ตราสารหนี้ไทย 30% ตราสารหนี้โลก 5% การลงทุนทางเลือก 10% และเงินสด 5% ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1999-2009 ถ้าถือครอง 1 ปี จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7.1% มีความผันผวน 12.8% ผลตอบแทนสูงสุด 39% ผลตอบแทนต่ำสุด -31.9% และมี โอกาสขาดทุน 19.3% ซึ่งดีกว่าพอร์ตการลงทุนที่ถือหุ้นและเงินสดอย่างละ 50% เท่ากัน ซึ่งหากถือครอง 1 ปี จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.0% ความผันผวน 12.8% ผลตอบแทนสูงสุด 40% ผลตอบแทนต่ำสุด -27.7% และมี โอกาสขาดทุน 21.9%

จะเห็นว่าจากการศึกษาที่ครอบคลุมช่วงวิกฤติแล้ว พบว่าพอร์ตการลงทุนที่มีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทยังดีกว่าการถือครองเพียงแค่หุ้นและเงินสด  และพบว่าสินทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญยังเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญในการจัดสรรเงินลงทุน โดยเฉพาะหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ที่แม้ประสิทธิภาพในการกระจายความเสี่ยงจะลดลงไปก็ตาม เพราะการจัดสรรเงินลงทุนจะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีเมื่อสินทรัพย์แต่ละประเภทมีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) กันต่ำ และเพอร์ฟอร์มกันคนละเวลา ซึ่งจะทำให้การจัดสรรเงินลงทุนมีประสิทธิภาพแต่ในช่วงหลังสินทรัพย์แต่ละประเภทมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น

ดังนั้น ในแง่ของการกระจายความเสี่ยงอาจจะไม่เด่นนัก แต่จะมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุนได้เพียงแต่นักลงทุนต้องทำการบ้านมากขึ้น จากการศึกษาพบว่าสินทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ดังนั้น การจัดสรรเงินลงทุนจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการระบุสินทรัพย์ที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระยะสั้น

@ เพิ่มพันธบัตรรัฐบาลเลี่ยงเสียหายรุนแรง

ดร.ศุภวุฒิ ยังบอกอีกว่า พอร์ตกลยุทธ์ที่บริษัทแนะนำให้กับลูกค้านั้น หากลงทุนในช่วงก่อนวิกฤติ (ม.ค.1999-ธ.ค.2007) หากนักลงทุนถือครองในช่วง 3 ปี จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11.6% ต่อปี มีค่าความผันผวน 4.8% ผลตอบแทนสูงสุด 20% ผลตอบแทนต่ำสุด 3.2% และมี โอกาสขาดทุน 0.0% แต่หากนับรวมช่วงวิกฤติการเงินเอาไว้ด้วย (ม.ค.1999-มิ.ย.2009) ในกรณีที่ลงทุน 3 ปี จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.9% ความผันผวน 6.0% ผลตอบแทนสูงสุด 20% ผลตอบแทนต่ำสุด -4.0% และ โอกาสขาดทุน 7.8% ซึ่งจะเห็นว่าเมื่อรวมวิกฤติเข้าไปแล้วผลตอบแทนต่ำสุดจะติดลบและมีโอกาสขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 7.8% จากเดิมไม่มี

การลดความเสี่ยงทำได้หลายวิธีการ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลงและเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในเงินสดขึ้นจากระดับ 5% เป็น 10-15% อย่างไรก็ตาม การถือครองเงินสดมากเกินไปอาจจะกลายเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่มากขึ้น การเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แม้ว่าในระยะ 10 ปีข้างหน้า พันธบัตรอาจจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีเท่ากับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ตาม

โดยบริษัทได้ทำการทดลองเพิ่มสัดส่วนของเงินสดและพันธบัตรในพอร์ตกลยุทธ์ เพื่อลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงความเสียหายรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ใน กรณีที่เพิ่มสัดส่วนของเงินสด ขึ้นเป็น 52% จากเดิม 5% ลดหุ้นไทยเหลือ 20% จากเดิม 40% ลดหุ้นต่างประเทศเหลือ 5% จากเดิม 10% ลดตราสารหนี้ไทยเหลือ 15% จากเดิม 30% ลดตราสารหนี้โลกเหลือ 3% จากเดิม 5% และลดการลงทุนทางเลือกเหลือ 5% จากเดิม 10%

จะทำให้ผลตอบแทนในเดือนต.ค.2551 ติดลบเหลือ -7.6% จากเดิม -15.3% ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีลดลงเหลือ 6.1% จากเดิม 8.1% ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) ลดลงเหลือ 6.6% จากเดิม 13.1% และ Sharpe Ratio ดีขึ้นเป็น 0.37 จากเดิม 0.34

แต่ใน กรณีที่เพิ่มสัดส่วนของพันธบัตร ขึ้นเป็น 58% จากเดิม 30% ลดหุ้นไทยเหลือ 24% จากเดิม 40% ลดหุ้นโลกเหลือ 6% จากเดิม 10% ลดตราสารหนี้โลกเหลือ 3% จากเดิม 5% ลดการลงทุนทางเลือกเหลือ 6% จากเดิม 10% และลดเงินสดเหลือ 3% จากเดิม 5%

จะทำให้ผลตอบแทนในเดือนต.ค.2551 ติดลบลดลงเหลือ -7.6% จากเดิม -15.3% ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีลดลงเหลือ 7.6% จากเดิม 8.1% ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) ลดลงเหลือ 8.4% จากเดิม 13.1% และ Sharpe Ratio ดีขึ้นเป็น 0.47 จากเดิม 0.34 ซึ่งจะเห็นว่าการลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนด้วยพันธบัตรจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการเพิ่มเงินสด  ในขณะที่สามารถลดความเสียหายจากการขาดทุนได้ใกล้เคียงกัน

@ ต้นแบบพอร์ตการลงทุนรับวิกฤติ

จากแนวคิดในการจัดพอร์ตการลงทุนแนวใหม่ที่จะเปลี่ยนมาใช้การเน้นให้มีการลดหรือควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ตัวเองรับได้เป็นเป้าหมายหลักในการจัดพอร์ต เผื่อในอนาคตมีเหตุการณ์วิกฤติที่ไม่คาดฝันในลักษณะนี้ขึ้นอีก นักลงทุนจะได้ไม่เจ็บตัว จึงเป็นที่มาของการจัดสรรเงินลงทุนรูปแบบใหม่ที่จะนำมาเสนอกัน

ดร.ศุภวุฒิ บอกว่า การจัดสรรเงินลงทุนยังคงมีความจำเป็น สำหรับหุ้นไทยกับการลงทุนทางเลือก เช่น สินค้าโภคภัณฑ์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นทำให้ประโยชน์ในแง่ของการกระจายความเสี่ยงลดลงไป แต่การลงทุนทางเลือกยังมีบทบาทที่สำคัญในพอร์ตการลงทุนอยู่ เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นสินทรัพย์ที่ให้รายได้ในอัตราที่สูง ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและเป็นทางเลือกแทนการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดยังช่วยปกป้องความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อและมีแนวโน้มราคาขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่

บริษัทจึงแนะนำให้นักลงทุนจัดสรรเงินลงทุน โดยใช้กลยุทธ์ในการทำให้พอร์ตการลงทุนเกิดโอกาสที่จะขาดทุนน้อยที่สุด 0-5% มาเสนอ นั่นหมายความว่ามีโอกาสขาดทุน 0-5 ครั้งในการลงทุน 100 ครั้ง อีก 95-100 ครั้งไม่ขาดทุน หากในอนาคตเจอวิกฤติในลักษณะนี้อีก ซึ่งถือเป็นรูปแบบการจัดพอร์ตการลงทุน 2 แบบที่มีความน่าสนใจมาก ซึ่งจะช่วยป้องกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันนักลงทุนให้หลีกเลี่ยงความเสียหายมหาศาลหากต้องเผชิญกับวิกฤติในอนาคตอีกครั้ง

ตัวอย่างพอร์ตกลยุทธ์แบบที่ 1 มีการลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเหลือ 40% จากเดิม 50% แบ่งเป็นหุ้นไทย 35% หุ้นโลก 2% และหุ้นตลาดเกิดใหม่อีก 3% เพิ่มสัดส่วนส่วนตราสารหนี้ขึ้นเป็น 40% จากเดิม 35% แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลไทย 35% และตราสารหนี้โลก 5% คงสัดส่วนการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไว้ 5% เท่าเดิม คงสัดส่วนการลงทุนในทองคำ 2% เท่าเดิม คงสัดส่วนการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์โลก 3% เท่าเดิม โดยเพิ่มน้ำหนักการถือเงินสดขึ้นเป็น 10% จากเดิม 5%

พอร์ตกลยุทธ์แบบที่ 1 ถ้าลงทุนในช่วง 3 ปี จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.2% ความผันผวน 4.9% ผลตอบแทนสูงสุด 19.0% ผลตอบแทนต่ำสุด -2.2% และ โอกาสขาดทุน 4.4% ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 4.4 ครั้ง ใน 100 ครั้ง ถือว่าน้อยมาก

ตัวอย่างพอร์ตกลยุทธ์แบบที่ 2 มีการลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นเหลือ 35% จากเดิม 50% แบ่งเป็นหุ้นไทย 30% หุ้นโลก 2% และหุ้นตลาดเกิดใหม่อีก 3% เพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้ขึ้นเป็น 45% จากเดิม 35% แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลไทย 40% และตราสารหนี้โลก 5% คงสัดส่วนการลงทุนในทองคำ 2% เท่าเดิม คงสัดส่วนการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์โลก 3% เท่าเดิม โดยเพิ่มน้ำหนักการถือเงินสดขึ้นเป็น 15% จากเดิม 5%

พอร์ตกลยุทธ์แบบที่ 2 นี้ ถ้าลงทุนในช่วง 3 ปี จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8.6% ความผันผวน 3.9% ผลตอบแทนสูงสุด 17.0% ผลตอบแทนต่ำสุด 0.5% ได้ผลตอบแทนเป็นบวกทุกปี และ โอกาสขาดทุน 0.0% หรือไม่มีโอกาสที่จะขาดทุนเลย แม้ต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ที่คาดไม่ถึงอีกครั้งก็ตาม

ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) แนวใหม่ที่ทาง บมจ.หลักทรัพย์ภัทร ใช้การจำกัดโอกาสในการขาดทุนเป็นเป้าหมายในการจัดพอร์ตเพื่อรับมือวิกฤติในอนาคต ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีมาอีกครั้งเมื่อไร เชื่อว่าพอร์ตการลงทุนต้นแบบนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับคุณบ้างไม่มากก็น้อยในการรับมือวิกฤติในครั้งถัดไป
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก
ภาพประจำตัวสมาชิก
bankniti
Verified User
โพสต์: 627
ผู้ติดตาม: 0

กลยุทธ์จัดพอร์ต ให้สู้ได้ทุกวิกฤติ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

เป็นบทความที่ดีมากครับ ขอบคุณ คุณ tum_H :D
โพสต์โพสต์