(แนะนำหนังสือ) BIG SWITCH

ขุมทรัพย์ทางปัญญา แนะนำหนังสือน่าอ่านสำหรับนักลงทุน ทั้งเรื่องหุ้น การลงทุน และอื่นๆ (ท่านที่ยังโพสต์แนะนำไม่ได้ ให้โพสต์แนะนำใน ห้องนั่งเล่น (Miscellaneous เดิม) หรือ ห้อง Value Investing ผู้ดูแลจะย้ายกระทู้และมอบสิทธิ์ให้ท่านครับ)

โพสต์ โพสต์
miracle
Verified User
โพสต์: 18134
ผู้ติดตาม: 0

(แนะนำหนังสือ) BIG SWITCH

โพสต์ที่ 1

โพสต์

The Big Switch / โลกใหม่ (1)
คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย พ.ญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร [email protected]  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4018 (3218)

เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้วที่คอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในธุรกิจ ในช่วงแรกมีเพียงบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่สามารถมีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้เพราะคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบพกพายังคงมีราคาแพง จึงทำให้บริษัทที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ในการบริหา รและจัดการธุรกิจในระดับกิจวัตรประจำวัน มีความได้เปรียบในการแข่งขันจากความสามารถของคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ แต่ในปัจจุบันราคาคอมพิวเตอร์แ ละซอฟต์แวร์ถูกลงมากเสียจนกระทั่งแทบไม่มีบริษัทไหนเลยที่ไม่มีอุปกรณ์นี้ไว้ใช้ มันจึงกลายเป็นเพียงแค่อุปกรณ์สำนักงานทั่วไป เฉกเช่นเดียวกับเครื่องปรับอากาศ เครื่องถ่ายเอกสาร โทรศัพท์ ฯลฯ อย่างไรก็ดี Nicholas Carr อดีตบรรณาธิการอาวุโส Harvard Business Review และนักเขียนของ The New York Times และ The Financial Times ยังคงเห็นว่าคอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดให้กับโลก เขาจึงจับประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจากคอมพิวเตอร์มาเขียนไว้ในหนังสือขนาด 278 หน้า ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2551 ชื่อ The Big Switch : Rewiring the World, From Edison to Google

หลังจากที่บทความ IT Doesn"t Matter ของผู้เขียนได้ตีพิมพ์ใน The Harvard Business Review ในปี 2546 ซึ่งสรุปว่าธุรกิจทุกประเภทในปัจจุบันไม่สามารถดำเนินงานโดยปราศจากคอมพิวเตอร์ได้ แต่เมื่อคอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่ทุกบริษัทต้องมีมัน จึงมิได้เป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน กลับเป็นเพียงแค่ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น ผู้เขียนได้รับการขนานนามว่าศัตรูหมายเลขหนึ่งของโลกเทคโนโลยี แต่การได้รับเชิญจาก ผู้บริหารบริษัท VeriCenter ให้ไปเยี่ยมชมสำนักงานของบริษัท ทำให้เขาเกิดความคิดว่า ในปัจจุบันไม่เพียงคอมพิวเตอร์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน มันยังจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คน เหมือนอย่างที่กระแสไฟฟ้าได้เปลี่ยนแปลงจังหวะชีวิต ของผู้คนและให้คำจำกัดความใหม่กับอุตสาหกรรมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งกลายเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้

กระแสไฟฟ้าและเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มีความเหมือนกันมาก นักเศรษฐศาสตร์เรียกมันทั้งสองว่า เทคโนโลยีสารพัดประโยชน์ หรือ General purpose technology (GPT) ทั้งนี้เพราะทั้งกระแสไฟฟ้า และเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครือข่ายที่อยู่ห่างไกล ในช่วงต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มันยังมีมาตรฐานต่ำและยังไม่สามารถให้บริการผ่านเครือข่ายได้ การให้บริการผ่านศูนย์กลางจึงเป็นเรื่องที่เป็นไป ไม่ได้ หากบริษัทต้องการใช้บริการ พวกเขาต้องซื้ออุปกรณ์ และซอฟต์แวร์สำหรับกิจกรรมนั้นๆ เอง รวมทั้งยังต้องจ้างเจ้าหน้าที่พิเศษเพื่อดูแลโปรแกรมและอุปกรณ์เหล่านี้ เหมือนอย่างกับสถานการณ์ ก่อนการเกิดกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางที่โรงงานต้องสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขึ้นใช้เอง

ประวัติศาสตร์ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเริ่มต้นขึ้นในปี 2424 โดย โธมัส เอดิสัน ในฤดูร้อนปีนั้น เขาเดินทางไปทางทิศตะวันตกของอเมริกา และเกิดความสงสัยว่า เหตุใดกระแสไฟฟ้าที่ถือกำเนิดขึ้นจากแม่น้ำยอนเดอร์ ถึงไม่สามารถแจกจ่ายไปให้กับ ผู้อยู่อาศัยในบริเวณริมแม่น้ำแพลตต์ได้ เขาจึงตั้งบริษัท Edison Electric Light ขึ้นเพื่อกู้เงินมาทำโครงการบริการกระแสไฟฟ้าให้กับเมืองนิวยอร์ก เอดิสันทราบดีว่าหากเขาต้องการให้โครงการของเขา ประสบความสำเร็จ เขาจำเป็นจะต้อง 1) ผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นจำนวนมาก 2) หาหนทางจ่ายและวัดกระแสไฟฟ้าที่ไหลไปสู่บ้านเรือน 3) หาหนทางเปลี่ยนหลอดไฟที่ใช้กันอยู่ ให้เป็นหลอดไฟที่สามารถควบคุมได้ และเหมาะแก่การใช้ในบ้านเรือน ในที่สุดเขาก็สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดนี้ได้ จนทำให้เกิดการจ่ายกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางขึ้นครั้งแรกในวันที่ 4 กันยายน 2425 ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของระบบสาธารณูปโภคทางด้านไฟฟ้า รูปแบบทางธุรกิจที่เอดิสันให้ความสนใจ คือการให้สัมปทานระบบแก่ผู้อื่น โดยบริษัทของเขาจะขายอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการสร้างและบริหารจัดการโรงไฟฟ้า ทั้งนี้เพราะเขาเชื่อว่าโรงงานใหญ่ๆ จะยังคงสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าของตนเอง เขามิได้มีวิสัยทัศน์ถึงขนาดที่จะควบรวมธุรกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียว

แซมมวล อินซัลล์ ซึ่งเป็นผู้บริหารด้านการเงินของเอดิสันได้เป็นผู้ขยายอาณาจักรของเอดิสัน ให้ใหญ่ขึ้นด้วยการควบรวมโรงงานผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ จนกลายเป็น The Edison General Electric Company อินซัลล์พยายามชักจูงให้เอดิสันเชื่อว่าการบริการสาธารณูปโภค มีความสำคัญมากกว่าการผลิตชิ้นส่วน แต่เอดิสันไม่เห็นด้วย อินซัลล์จึงย้ายไปทำงานกับบริษัท Chicago Edison ความท้าทายสำหรับอินซัลล์ก็คือการทำให้บริษัทใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมหยุดสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าของตัวเองแล้วหันมาซื้อบริการแทน ทั้งนี้เพราะสถานีกลางส่วนใหญ่ ยังคงขาดความสามารถในการให้บริการโรงงานขนาดใหญ่ และโรงงานขนาดใหญ่ก็ยังไม่ไว้ใจที่จะให้หน้าที่สำคัญนี้ ตกอยู่ในมือคนนอก อย่างไรก็ดีหลังจากที่อินซัลล์ย้ายบริษัทได้เพียง 1 ปี เขาก็สามารถควบรวมบริษัทผลิตกระแส ไฟฟ้าเล็กๆ เข้ามาในบริษัทของเขาจนทำให้บริษัทของเขา สามารถผูกขาดการจ่ายกระแสไฟฟ้า ได้ส่งผลให้บริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก และได้ประโยชน์จากการประหยัดจากการมีขนาดใหญ่ นอกจากนี้การค้นพบเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้วัดการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ทำให้บริษัทสามารถที่จะบริหารจัดการระบบได้จากส่วนกลาง และสามารถคิดค่าใช้ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม

บริษัทขนส่งเป็นบริษัทแรกที่อินซัลล์ชักชวนให้มาใช้บริการโรงจ่ายกระแสไฟฟ้าส่วนกลาง ทั้งนี้เพราะบริษัทนี้จะใช้กระแสไฟฟ้ามากที่สุด ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ในขณะที่บ้านอยู่อาศัยจะใช้กระแสไฟฟ้ามากในตอนเช้าตรู่ และตอนเย็น ส่วนสำนักงานจะใช้กระแสไฟฟ้ามากในตอนกลางวัน ลูกค้าทั้งสามกลุ่มจะเติมเต็มเวลา ในการใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งกันและกันได้อย่างสมบูรณ์ เขาจึงเสนอราคากระแสไฟฟ้าเพียง 1 สตางค์ต่อกิโลวัตต์ให้กับบริษัทขนส่ง ซึ่งราคานี้ถูกกว่าราคาที่บริษัทขนส่งผลิตเองมาก ดังนั้นในปี 2445 The Lake Street Elevated Railway จึงได้เซ็นสัญญาซื้อกระแสไฟฟ้ากับบริษัท Chicago Edison ในที่สุดอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ก็ตระหนักถึงข้อดีของการใช้กระแสไฟฟ้าจากส่วนกลาง นั่นคือ ไม่เพียงพวกเขาจะจ่ายในราคาที่ถูกลงแล้ว พวกเขายังสามารถลดต้นทุนคงที่ซึ่งต้องใช้ในการสร้างโรงจ่ายกระแสไฟฟ้าของตนเอง อีกทั้งยังสามารถลดจำนวนพนักงานของบริษัทลง ได้อีกด้วย ดังนั้น ในปี 2450 สัดส่วนของผู้ใช้กระแสไฟฟ้าจากส่วนกลาง จึงเพิ่มขึ้นเป็น 40% และเพิ่มขึ้นเป็น 70% ในปี 2463 การให้บริการระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้าจึงเป็นผลมาจาก ความพยายามของอินซัลล์นั่นเอง

เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไม่เพียงบริษัทต่างๆ จะหันมาใช้กระแสไฟฟ้าจากบริการสาธารณูปโภคเท่านั้น พวกเขายังเริ่มติดตั้งเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการจัดการข้อมูลอีกด้วย เครื่องนับบัตรเจาะรูเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก ที่ถูกผลิตขึ้นราวปี 2423 เพื่อให้การทำสำมะโนประชากรเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เครื่องมือนี้ทำให้การทำสำมะโนประชากร มีต้นทุนลดลงถึง 5 ล้านดอลลาร์ ต่อมาในปี 2454 บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือนี้ได้ควบรวมกิจการกับ The Computer-Tabulating-Recording Company และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น International Business Machines Corporation (IBM) ซึ่งเท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ในช่วงแรกที่คอมพิวเตอร์ถูกผลิตขึ้น คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ จะมีอนาคตในธุรกิจ ทั้งนี้เพราะเครื่อง บัตรเจาะรูที่นิยมใช้กันอยู่ในสมัยนั้น ก็มีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว พวกเขาจึงไม่คิดว่าคอมพิวเตอร์จะสามารถช่วยอะไรได้ แต่เครื่องมือชนิดนี้ กลับสามารถทำได้สารพัดประโยชน์ ทั้งนี้เพราะมันสามารถคาดการณ์ยอดขาย บริหารสินค้าคงคลัง กำหนดตารางการผลิตให้กับโรงงาน เมื่อบริษัทใดบริษัทหนึ่งนำมันมาใช้ บริษัทคู่แข่งก็จำเป็นต้องนำมันมาใช้ ด้วยเช่นกัน

หน้า 42


--------------------------------------------------------------------------------

The Big Switch/โลกใหม่ (2)

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย พ.ญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร [email protected]  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4019 (3219)

ในช่วงแรกคอมพิวเตอร์ของบริษัทต่างๆ ล้วนมีขนาดใหญ่ พนักงานไม่มีโอกาสเข้าถึงหรือใช้มันมากนัก จึงไม่สามารถนำมาใช้ในกิจวัตรประจำวันหรือแก้ไขปัญหาที่มีความเร่งด่วนได้ ความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดครั้งแรกของคอมพิวเตอร์เป็นผลงานของบริษัท Intel ที่สามารถออกแบบวงจรที่มีขนาดเล็กลงจนเป็นที่มาของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งเท่ากับเป็นการเข้าสู่ศักราชของธุรกิจคอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง ในช่วงเวลานั้นบริษัทที่ทำธุรกิจคอมพิวเตอร์มองไม่เห็นศักยภาพของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากนัก จนกระทั่งบิล เกตส์ และพอล อัลเลน ได้ร่วมกันเปิดบริษัท Micro-soft ขึ้นเพื่อเขียนระบบปฏิบัติการสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เกตส์เชื่อว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะมาแทนที่คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่อย่างแน่นอน หากบริษัทใดสามารถที่จะควบคุมตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้ บริษัทนั้นย่อมจะมีอิทธิพลสูงสุดในธุรกิจคอมพิวเตอร์ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล เกตส์จึงกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในโลกคอมพิวเตอร์ และมั่งคั่งที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ความสำเร็จของเกตส์ยังผลให้ขนาดและราคาของคอมพิวเตอร์ลดลงมากหลังปี 2503 เป็นต้นมา พนักงานทั่วไปสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้มากขึ้นและทำให้มันถูกนำมาใช้ในงานกิจวัตรประจำวันเพิ่มขึ้น เช่น ใช้ในการเขียนรายงานและจดหมาย และใช้ในการวิเคราะห์การลงทุน

การที่คอมพิวเตอร์สำหรับบริการลูกค้ามีความซับซ้อน เพราะคอมพิวเตอร์ขาดมาตรฐานของทั้งอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องซื้อเครื่องและซอฟต์แวร์จำนวนมาก ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จน หลุยซ์ แอนเดร บาร์โรโซ วิศวกรคอมพิวเตอร์ ของบริษัทกูเกิลคาดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าค่าพลังงานที่บริษัทต้องจ่ายอาจสูงกว่าค่าอุปกรณ์ก็เป็นได้ การที่บริษัทต่างๆ ต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกันนับหมื่นๆ เครื่องอาจเป็นเพราะคอมพิวเตอร์ดำเนินไปตามกฎ 2 ข้อ คือ กฎของกอร์ดอน มัวร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Intel ที่กล่าวว่า ศักยภาพของตัวประมวลผล (microprocessor) จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 2 ปี และกฎของแอนดรู สตีเฟน โกรฟ อดีตผู้บริหารบริษัท Intel ที่กล่าวว่า การติดต่อสื่อสารผ่านสาย (telecommunication bandwidth) จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 10 ปี นั่นหมายความว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาคอมพิวเตอร์พัฒนาศักยภาพได้รวดเร็วกว่าศักยภาพของเครือข่ายการสื่อสาร ปรากฏการณ์นี้จึงเสมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของการจ่ายกระแสไฟฟ้า นั่นคือ โลกปราศจากความสามารถในการที่จะเคลื่อนย้ายประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ไปยังพื้นที่ห่างไกล ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

อุปสรรคทางด้านเครือข่ายเพิ่งถูกทำลายลงเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง อันเป็นผลมาจากสายใยแก้ว (fiber optic) ซึ่งได้รายล้อมโลกกว่า 11,000 เท่า ส่งผลให้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีจำนวนมากและราคาถูก จึงทำให้ศักยภาพของคอมพิวเตอร์ขึ้นถึงจุดสูงสุดได้ในที่สุด สิ่งที่สายใยแก้ว ทำกับระบบคอมพิวเตอร์ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นกับโครงข่ายของกระแสไฟฟ้า นั่นคือ มันทำให้สถานที่ตั้งของเครื่องไม่มีความสำคัญสำหรับผู้ใช้อีกต่อไป และทำให้ธุรกิจที่เคยขาดกำลังซื้อ สามารถที่จะซื้อบริการได้ในราคาที่ถูกลงเหมือนอย่างกับที่ในอดีตบริษัทต่างๆ สามารถเป็นอิสระจากการที่ต้องสร้างแหล่งกำเนิดไฟฟ้าของตนเอง อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังคงเห็นว่าโลกคงต้องอาศัยเวลาอีกหลายปีกว่าคอมพิวเตอร์จะสามารถกลายเป็นบริการสาธารณูปโภค ทั้งนี้เพราะบริษัทผู้ให้บริการคงต้องหาหนทางในการ 1)วัดและกำหนดราคาสำหรับการบริการที่แตกต่างกัน 2)คำนวณธรรมชาติของการใช้และความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม 3)ทำงานร่วมกับรัฐในการสร้างกฎกติกาต่างๆ ในการให้บริการ 4)สร้างระบบความปลอดภัยที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพ และ 5)ทำให้บริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลายยกเลิกการสร้างระบบของตนเอง

ในปัจจุบันเริ่มมีบริษัทต่างๆ ให้บริการระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ผ่านสายส่งแล้ว ผู้เขียนยกบริษัทอะเมซอน (Amazon) มาเป็นตัวอย่างของการให้บริการรับฝากข้อมูลและให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านอินเทอร์เน็ต อะเมซอนเริ่มให้บริการนี้กับคู่ค้าของบริษัทก่อนโดยบริษัทคู่ค้าสามารถที่จะเข้าไปใช้ข้อมูลพื้นฐานของอะเมซอนได้ และยังสามารถเข้าไปเก็บข้อมูลของตนไว้ในเครื่องของอะเมซอนได้ด้วยค่าใช้จ่ายเพียงไม่กี่เซนต์ต่อจิกะไบต์ต่อเดือนเท่านั้น นอกจากนี้บริษัทอะเมซอนยังขายบริการให้กับลูกค้า เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้ามาใช้โปรแกรมของอะเมซอนด้วย เสมือนหนึ่งเป็นเครื่องของลูกค้าเอง โดยคิดค่าบริการ 10 เซนต์ต่อเครื่องต่อชั่วโมง ลูกค้าจะได้ประโยชน์มากตรงที่พวกเขาจะจ่ายเงินตามเวลาและศักยภาพที่พวกเขาใช้จริงเท่านั้น บริการเช่นนี้ทำให้บริษัทเล็กๆ ที่ไม่สามารถซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสูง สามารถมีศักยภาพเพิ่มขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด ทัดเทียมกับบริษัทใหญ่ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว นั่นหมายความว่า ระบบเสมือนจริงได้ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่สามารถทำงานที่แตกต่างกันหลายชนิดได้ในเวลาเดียวกัน บริษัทจึงสามารถใช้ศักยภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ได้อย่างเต็มที่จึงทำให้ต้นทุนลดลง

กูเกิล บริษัทที่ให้บริการการค้นหาข้อมูล (search engine) ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีสถานที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่มาก ขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 2 ตึก ที่นิคมอุตสาหกรรมรัฐออริกอน ซึ่งถูกขนานนามว่าโรงนิวเคลียร์ของยุคแห่งสารสนเทศ (Information age nuclear plant) บริษัทมีระบบคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ของตัวเองที่มีเสถียรภาพสูง จึงสามารถขยายบริการคอมพิวเตอร์สาธารณะได้ ในปัจจุบันกูเกิลได้เริ่มให้บริการชุด Google Apps ซึ่งแข่งขันโดยตรงกับสินค้าของไมโครซอฟท์ โดยผู้ใช้เสียค่าใช้จ่ายเพียงคนละ 50 ดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น และให้บริการฟรีสำหรับสินค้ามาตรฐานทั่วไป สิ่งที่ลูกค้าต้องมีในการขอใช้บริการก็เพียงแค่เครื่องคอมพิวเตอร์ราคาถูก และโปรแกรมสืบค้น (browser) เท่านั้น หากบริษัทใหญ่ๆ ไว้วางใจระบบเช่นของกูเกิล พวกเขาก็จะยกเลิกการใช้คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ของตัวเองแล้วหันมาซื้อบริการแทนเหมือนอย่างลูกค้ารายย่อย

AppLogic เป็นซอฟต์แวร์อีกชนิดหนึ่งที่ถูกออกแบบมาให้ลูกค้าสามารถสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองได้ ด้วยการทำเพียงแค่เปิดไปที่หน้าของบริษัทแล้วนำอุปกรณ์ต่างๆ ที่ตนเองต้องการมาประกอบเป็นคอมพิวเตอร์ของตนเองได้ หลังจากที่กดปุ่ม AppLogic จะสร้างระบบเสมือนจริงด้วยการให้บริการอุปกรณ์ที่ลูกค้าเลือกใช้ โดยที่ลูกค้าจะจ่ายค่าบริการเฉพาะอุปกรณ์ที่พวกเขาใช้ในเวลาที่พวกเขาใช้เท่านั้น

แม้ว่าบริษัทและผู้ใช้รายย่อยส่วนใหญ่จะยังคงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ขององค์กรอยู่ แต่บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ก็เริ่มเห็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่อสถานะของบริษัทของเขาแล้ว ในเดือนตุลาคมปี 2548 เขาจึงได้ส่งจดหมายถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัท มีใจความว่า การที่คอมพิวเตอร์สามารถให้บริการแบบสาธารณูปโภค เป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อการทำธุรกิจของบริษัท ทั้งนี้เพราะความสำเร็จของบริษัทเป็นผลมาจาก การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การให้บริการประเภทนี้ทำให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไม่มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งซอฟต์แวร์อีกต่อไป เพราะลูกค้าสามารถหันไปใช้ซอฟต์แวร์ที่ให้บริการผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งเท่ากับว่ายุคของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกำลังจะถูกแทนที่โดยบริการแบบระบบสาธารณูปโภค นี่อาจเป็นเหตุผลที่เกตส์ประกาศว่าเขาจะสละเก้าอี้ประธานบริหารบริษัทในไม่ช้านี้ หรือเท่ากับเป็นการสิ้นสุดยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั่นเอง

หน้า 38


--------------------------------------------------------------------------------

The Big Switch โลกใหม่ (3)

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย พ.ญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร [email protected]  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4020 (3220)

กระแสไฟฟ้าตามสายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจมากมาย ทั้งนี้เพราะโรงงานต่างๆ สามารถสร้างเครื่องจักรที่มีความเฉพาะเจาะจงได้มากขึ้นทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่คนงานในโรงงานกลับรู้สึกว่างานน่าเบื่อ บริษัทฟอร์ดซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์รายใหญ่ในสมัยนั้น จึงแก้ปัญหาด้วยการคงค่าจ้างพนักงานให้อยู่ในระดับสูง เพื่อดึงดูดให้พนักงานยอมทำงานที่น่าเบื่อต่อไปส่งผลให้บริษัทอื่นๆ ต้องเพิ่มค่าแรงให้กับคนงานด้วยจึงเท่ากับเป็นการสร้างชนชั้นกลางขึ้นในสังคม นอกจากนี้การที่บริษัทเติบโตขึ้นย่อมต้องการผู้จัดการระดับกลางและพนักงาน ที่ทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้นส่งผลให้เกิด พนักงานที่มีความรู้จำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปสังคมและระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

กลุ่มคนเดียวกันนี้ก็เป็นผู้ขยายการใช้กระแสไฟฟ้า ทั้งแรงงานที่มีการศึกษาและที่มีทักษะต่ำต่างใช้ค่าแรงของพวกเขา ไปกับการซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดใหม่ๆ ทำให้โรงงานสามารถผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นจนได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด ส่งผลให้ราคาสินค้าลดลงและบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น วงจรเศรษฐกิจนี้จึงทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น นั่นหมายความว่า เครือข่ายของสายไฟฟ้าได้สร้างอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงผ่านทางความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจ และพฤติกรรมระหว่างกันของมนุษย์

แม้ว่ากระแสไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าได้เปลี่ยนวิถีชีวิตและสังคมของมนุษย์ไปมากมาย แต่มันยังมีข้อจำกัด เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เป็นกายภาพ มันไม่สามารถทำงานผ่านเครือข่ายในระยะไกลได้ คอมพิวเตอร์ทำงานต่างจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเพราะมันทำงานผ่านซอฟต์แวร์ ความจำกัดในการใช้ประโยชน์ของมัน จึงแตกต่างจากอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป เมื่อความสำเร็จของงานจากคอมพิวเตอร์ สามารถส่งผ่านเครือข่ายได้ ความสำเร็จในการเชื่อมโยงเครือข่าย จึงเท่ากับเป็นการขจัดข้อจำกัดในการใช้คอมพิวเตอร์ไปจนหมดสิ้น

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการเชื่อมต่อกันของคอมพิวเตอร์ทั่วโลกจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งนี้เพราะ ผู้บริโภคไม่จำเป็นที่จะต้องเสียเงินซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่อีกต่อไป พวกเขาสามารถที่จะขอใช้กำลังเครื่อง และพื้นที่เก็บข้อมูลส่วนเกินจากสถาบันการศึกษาหรือองค์กรเอกชนได้ เครื่องคอมพิวเตอร์หลายพันเครื่อง สามารถผูกรวมกันเข้าทางอินเทอร์เน็ต CERN เป็นบริษัทแห่งหนึ่งที่ได้สร้างระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ขึ้นด้วยการรวบรวมคอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาลไว้ในสถานที่แห่งเดียวกัน ซอฟต์แวร์ของบริษัททำให้เครื่องคอมพิวเตอร์นับพัน ทำงานเสมือนหนึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว หากบริษัทต่างๆ หันมาใช้บริการเครื่อง และระบบคอมพิวเตอร์ภายนอกบริษัทมากขึ้น แผนกสารสนเทศของบริษัทก็ยากที่จะดำรงอยู่ต่อไป

การที่โลกคอมพิวเตอร์มีตัวประมวลผลศักยภาพสูงที่ราคาถูก มีพื้นที่ในการเก็บข้อมูลมหาศาล และมีเครือข่ายความเร็วสูงทำให้บริษัทออนไลน์ใหม่ๆ สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกำลังแรงงานเพียงเล็กน้อย เช่น บริษัท Youtube ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการแบ่งปันวีดีทัศน์ สามารถขายบริษัทที่มีพนักงานเพียง 60 คนให้กับบริษัทกูเกิลได้ในราคาถึง 1.65 พันล้านดอลลาร์หลังการก่อตั้งบริษัทเพียง 10 เดือนเท่านั้น กิจการเหล่านี้อาศัยซอฟต์แวร์เป็นตัวปฏิบัติการและสินค้าก็เป็นแค่ของเสมือน บริษัทจึงสามารถขยายกิจการได้โดยไม่ต้องอาศัยพนักงานเพิ่ม และสามารถหลีกเลี่ยงข้อจำกัดที่เคยเกิดขึ้นกับธุรกิจยุคเก่า ส่งผลให้ธุรกิจประเภทนี้ได้รับผลตอบแทนแบบเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นั่นหมายความว่า ยิ่งบริษัทขายสินค้าได้มากเท่าใด พวกเขายิ่งได้รับผลตอบแทนเพิ่มยิ่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการฉีกตำราทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไปโดยปริยาย อันเป็นผลจากการที่อินเทอร์เน็ตปราศจากลักษณะทางกายภาพหรือกลายเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ดังนั้นมันจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นไปตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในเรื่องการลดลงของผลได้ (diminishing returns) การขยายตัวของสินค้าดิจิทัลไม่มีต้นทุน ยิ่งมันถูกใช้มากเท่าใดมันยิ่งมีค่ามากยิ่งขึ้นเท่านั้น ผลตอบแทนจึงสามารถเพิ่มขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด มันสามารถที่จะให้แม้แต่ผลิตภัณฑ์หลัก (core product) กับผู้อื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องคิดค่าตอบแทน

การทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตให้ประโยชน์มหาศาลกับผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะสิ่งที่ผู้บริโภคเคยต้องซื้อจากระบบเศรษฐกิจยุคเก่า สามารถได้รับบริการฟรีจากอินเทอร์เน็ต เช่น ภาพยนตร์ซึ่งผู้บริโภคเคยต้องเสียค่าบริการเข้าชม ปัจจุบันพวกเขาสามารถดูได้ฟรีทางอินเทอร์เน็ต ดังนั้นบริษัทที่ยังคงทำธุรกิจแบบเก่าจึงจำเป็นต้องออกแบบธุรกิจใหม่ และอาจจำเป็นต้องไล่พนักงานออกหลายล้านคนทั่วโลก ในปัจจุบันวิชาชีพบางอย่างเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว เช่น นักหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้เพราะหนังสือพิมพ์เริ่มได้รับเงินจากการโฆษณาลดลง บริษัทจึงจำเป็นต้องไล่นักข่าวออก การศึกษาพบว่าจำนวนพนักงานหนังสือพิมพ์ของสหรัฐลดลงถึง 4% ภายในเวลาเพียงสี่ปีนับจากปี 2544 ซ้ำร้ายการจ้างงานของบริษัทออนไลน์ก็มิได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใดซ้ำยังลดลงถึง 29% ด้วย มาร์กัส ฟรินด์ คาดว่าธุรกิจรุ่นเก่าจะไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจออนไลน์อีกต่อไป เพราะงานหลายอย่างจะถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิชาชีพที่สามารถทำงานได้ในรูปแบบดิจิทัล ความก้าวหน้าทางด้านคอมพิวเตอร์จึงแตกต่างจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เคยมีมาในอดีต จริงอยู่คอมพิวเตอร์อาจสร้างงานใหม่ได้บ้าง แต่งานใหม่เหล่านี้กลับไม่ต้องใช้แรงงานคนเลย มันจึงไม่เพิ่มการจ้างงาน

งานทางสังคมบางอย่างที่จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และยืดหยุ่นกระทำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มันมิได้เกิดขึ้นจากคอมพิวเตอร์โดยตรงแต่เป็นผลจากคนที่เข้าไปใช้เครือข่าย เช่น ผลผลิตใน Youtube เป็นผลงานของผู้ใช้บริการล้วนๆ พวกเขาเสียสละเวลาและแรงกายทำวีดีทัศน์ขึ้นมาเองและแจกฟรีให้กับคนอื่น การที่ผู้คนยินดีให้ความช่วยเหลือทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่คิดเงินเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ เห็นการให้เช่นนี้เป็นงานอดิเรกและพวกเขามีความสุขจากการได้ทำ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะทำสิ่งสร้างสรรค์ ได้พูดถึงตัวเองและครอบครัวรวมทั้งเข้าร่วมกับโครงการสาธารณะจึงทำให้บริษัทออนไลน์ต่างๆ สามารถที่จะใช้แรงงานฟรีเหล่านี้แล้วเปลี่ยนมันให้กลายเป็นรายได้ของบริษัท อย่างไรก็ดีของฟรีที่ผู้ใช้บริการทางอินเทอร์เน็ตให้ไว้ในสังคมที่เป็นผลจากการติดต่อกันทางอินเทอร์เน็ตนี้มิได้เป็นภัยคุกคามกับบริษัท แต่กลับเป็นภัยคุกคามกับวิชาชีพบางสาขา เช่น สื่อมวลชน ช่างภาพ นักวิจัย นักวิเคราะห์ บรรณารักษ์ ฯลฯ เพราะบริการฟรีเหล่านี้ทำให้บริษัทไม่ต้องการ จ่ายเงินให้กับวิชาชีพเหล่านี้อีกต่อไป

การเกิดของเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่สร้างความมั่งคั่งให้กับบริษัทใหญ่ๆ จำนวนมาก แต่การเกิดของโครงข่ายคอมพิวเตอร์กลับทำให้ความมั่งคั่งไปตกอยู่กับบริษัทเพียงไม่กี่แห่งและคนเพียงไม่กี่คน อีกทั้งยังทำลายคนชั้นกลางรวมทั้งลดการกระจายรายได้ด้วย นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าสาเหตุของความไม่เท่าเทียมกัน ทางด้านรายได้ของชาวอเมริกันในทศวรรษหลังๆ นี้เป็นผลมาจาก 1) ความแข็งแกร่งของค่าเงิน 2) กำไรที่เพิ่มขึ้นของบริษัทต่างๆ 3) การเปลี่ยนอัตราภาษี 4) การลดอำนาจลงขององค์กรการค้า และ 5) การเปลี่ยนไปของค่านิยม แต่ผู้เขียนแย้งว่าคอมพิวเตอร์ต่างหากที่มีบทบาทสำคัญเหมือนอย่างที่ เบน เบอร์นันเก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ให้ความเห็นไว้ว่า ยิ่งคอมพิวเตอร์ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นเท่าใด จำนวนคนที่เสี่ยงต่อการตกงานยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซ้ำร้ายการที่บริษัทสามารถหันไปใช้บริการพนักงานที่มีความรู้ ณ ที่ใดในโลก ก็ได้ยิ่งทำให้พนักงานประเภทน ี้ในประเทศที่มีค่าแรงสูงเสี่ยงที่จะตกงานมากยิ่งขึ้นไปอีก ในปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่งในโลกตะวันตก ก็ให้รังสีแพทย์ชาวอินเดียอ่านฟิล์มเอกซเรย์ให้แล้ว การที่แรงงานในประเทศโลกตะวันตก ต้องแข่งขันกับแรงงานต่างชาติเช่นนี้ส่งผลให้ค่าแรงของพวกเขาไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ ซ้ำยังต้องลดลงด้วย นั่นหมายความว่า คอมพิวเตอร์ส่งผลร้าย ต่อค่าแรงของชาวอเมริกันทั้งสองด้านคือ ทั้งลดอุปสงค์และเพิ่มอุปทานที่มีค่าแรงต่ำ

หน้า 42


--------------------------------------------------------------------------------

The Big Switch/โลกใหม่ (4)

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย พ.ญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร [email protected]  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4021 (3221)

การมีกระแสไฟฟ้าใช้ได้ขยายวัฒนธรรมของอเมริกันออกไปทำให้ผู้คนสามารถแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน แต่อินเทอร์เน็ตจะปฏิรูปวัฒนธรรมอเมริกันแบบก้าวกระโดดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะสินค้า ทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น คำพูด ภาพ และเสียงสามารถเก็บในรูปดิจิทัลส่งผลให้มันสามารถแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิมมาก คนในยุคปัจจุบันจึงมีทางเลือกมากกว่าคนรุ่นเก่ามาก รวมทั้ง สามารถที่จะเลือกและออกแบบวัฒนธรรมของตนเองได้ด้วย

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ อย่างรุนแรง คือ หนังสือพิมพ์ ข้อมูลบ่งว่าจำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ได้ลดลงมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว จากจำนวนหนังสือพิมพ์ ที่เคยพิมพ์ถึง 63 ล้านฉบับในปี 2527 เหลือเพียง 55 ล้านฉบับในปี 2547 หรือ ลดลงปีละ 1% ในปี 2548-49 ยังลดลงถึง 2% และ 3% ตามลำดับ นอกจากนี้ชาวอเมริกันยังอ่านหนังสือพิมพ์รายวันลดลงจาก 81% ในปี 2507 เหลือเพียง 50% ในปี 2549 คนอายุระหว่าง 18-24 ปีอ่านหนังสือพิมพ์รายวันเพียงแค่ 36% เท่านั้น ลดลงจาก 73% ในปี 2513 ทั้งนี้เพราะ พวกเขาสามารถอ่านข่าวตามอินเทอร์เน็ตได้ ส่งผลให้จำนวนคนอ่านข่าวออนไลน์ เพิ่มขึ้นจาก 19 ล้านคนในปี 2543 เป็น 44 ล้านคนในปี 2548 ประชากรที่อายุ ต่ำกว่า 36 ปีอ่านข่าวออนไลน์ถึง 46% โดยมีเพียง 28% เท่านั้นที่อ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เมื่อผู้อ่านมีจำนวนลดลง รายได้จากโฆษณาจึงลดลงด้วย และยิ่งคน ส่วนใหญ่อ่านข่าวออนไลน์มากยิ่งขึ้นเท่าใด บริษัทต่างๆ ก็หันไปโฆษณาตามหน้า อินเทอร์เน็ตเพิ่มยิ่งขึ้นเท่านั้น ข้อมูลบ่งว่าระหว่างปี 2547-50 หนังสือพิมพ์สูญเสียรายได้โฆษณาไปให้กับอินเทอร์เน็ตสูงถึง 890 ล้านดอลลาร์ และในปี 2549 โฆษณาในเว็บไซต์ก็มากกว่าโฆษณาในหน้า หนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรก

ธรรมชาติของหนังสือพิมพ์ย่อมต้องเปลี่ยนไปเมื่อปรากฏบนอินเทอร์เน็ต ผู้อ่านจะเข้าไปอ่านเรื่องราวในอินเทอร์เน็ต ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ดังนั้นการทำรายได้จึงต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันด้วย ในหนังสือพิมพ์ทั่วไปข้อมูลต่างๆ จะถูกรวมกันเข้าเป็นสินค้าเพียงชิ้นเดียว สิ่งที่ผู้ผลิตต้องทำคือการทำให้สินค้าทั้งชิ้นดูน่าสนใจ ดังนั้นเนื้อหาทั้งฉบับจึงมีความสำคัญ แต่เมื่อหนังสือพิมพ์ไปปรากฏในเว็บไซต์เนื้อหาต่างๆ จะถูกแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเปิดดูทีละหน้า พวกเขาสามารถตรงไปยังเรื่องราวที่ตนเองสนใจ ได้ทันที ซ้ำร้ายพวกเขายังละสิ่งที่พวกเขา ไม่สนใจไปเลยด้วย เนื้อหาทั้งฉบับจึงมิได้มีความสำคัญอีกต่อไป ส่วนที่สำคัญจะกลายเป็นเนื้อหาแต่ละเรื่องซึ่งกลายเป็นสินค้า ทีละชิ้นไป ผลงานแต่ละชิ้นจะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวของมันเอง

เมื่อหนังสือพิมพ์ไม่สามารถที่จะเก็บเงินผู้อ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ ความสำเร็จของเรื่องราวหรือข่าวแต่ละชิ้นจึงขึ้นอยู่กับ ความสามารถในการทำรายได้ให้กับบริษัท ผู้โฆษณาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปรากฏในทุกๆ เนื้อหาของข่าวหรือบทความ พวกเขาสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายได้และยังสามารถที่จะจ่ายเงินให้กับสำนักพิมพ์เฉพาะเมื่อมีผู้อ่านเปิดเข้าไปดูโฆษณาได้ด้วย โฆษณาแต่ละชนิดก็มีราคาไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับผลสำเร็จจากการเปิดดูของผู้อ่าน เช่น บทความเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า อาจสามารถสร้างรายได้ให้กับหนังสือพิมพ์อย่างงดงาม เพราะมันสามารถดึงดูดโฆษณาจากบริษัทยา และผู้อ่านที่สนใจในเรื่องเกี่ยวกับการรักษาโรคได้เป็นจำนวนมาก ส่วนข่าว เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ของเจ้าหน้าที่รัฐ อาจไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทเลย เพราะไม่มีบริษัทใดสนใจจะโฆษณาในบทความหรือข่าวประเภทนี้ แม้ว่ามันจะเป็นหัวข้อข่าวที่ได้รับความสนใจสูงก็ตาม ซ้ำร้ายข่าวประเภทนี้ยังมีต้นทุนสูง เพราะต้องใช้นักข่าวที่มีความสามารถสูงในการติดตามหาข่าวและเขียนข่าวให้ดูน่าสนใจ ในกรณีที่หนังสือพิมพ์ปรากฏในรูปเล่ม ข่าวเหล่านี้เป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้อ่านซื้อหนังสือพิมพ์อ่าน และดึงดูดให้บริษัทลงโฆษณา มันจึงเป็นข่าวที่สร้างคุณค่าให้กับหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อหนังสือพิมพ์ปรากฏบนอินเทอร์เน็ต ข่าวเหล่านี้กลับยากที่จะสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับบริษัท นักข่าวประเภทนี้จึงยากที่จะดำรงอยู่ ส่งผลให้ พนักงานหนังสือพิมพ์ของสหรัฐลดลงถึง 4% ภายในเวลาเพียงแค่ 4 ปีนับจากปี 2544 เพราะหนังสือพิมพ์หันไปใช้บริการผู้ทำงานอิสระ (freelance) หรือผู้อ่านที่ชอบสร้างสรรค์บทความหรือหาข่าวให้กับสำนักพิมพ์

เนื้อหาของแต่ละข่าวและบทความใน อินเทอร์เน็ต จะแข่งขันกันใช้ต้นทุนและสร้างรายได้ด้วยตัวของมันเอง นั่นหมายความว่า บรรณาธิการที่กำลังสูญเสียผู้อ่านและรายได้รวมทั้งกำลังได้รับความ ขึ้งโกรธจากผู้ถือหุ้น ต้องหันมาคิดว่า ควรจะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบนหน้าหนังสือพิมพ์ออนไลน์อย่างไร เมื่อผู้อ่านและโฆษณาถูกแยกออกเป็นชิ้นๆ การลงทุนจำนวนมากเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความสร้างสรรค์หนึ่งชิ้น จึงเป็นเรื่องยากในทางธุรกิจ

การที่ผู้คนส่วนใหญ่หันมาใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้พวกเขาทึกทักเอาว่า อินเทอร์เน็ตจะทำให้เกิด 1) ความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น 2) ความเข้าใจกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ 3) ความสมานฉันท์ และ 4) การลดความ ขัดแย้งทางด้านการเมือง ทั้งนี้เพราะการติดต่อกันทางอินเทอร์เน็ตทำให้เขตแดนของรัฐสิ้นสุดลง และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างเสรี แต่แท้ที่จริงแล้ว อินเทอร์เน็ตกลับยิ่งทำให้การแบ่งขั้วเป็น ไปอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะการเคลื่อนย้ายที่เคยทำได้ยากเย็นกลับทำได้อย่างง่ายดายเพียงแค่กดปุ่มเปลี่ยน นั่นหมายความว่า สังคมบนโลกอินเทอร์เน็ต ที่แต่ละคนสร้างขึ้นยิ่งมีความหลากหลาย ลดลงไปอีก และยิ่งสร้างสังคมที่มีความเป็นขั้วมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงกับการศึกษาของแมทธิว ฮินด์แมน นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา ที่พบว่ามีจำนวนเว็บไซต์น้อยมากที่มีการแบ่งปันเส้นทางระหว่างกลุ่มคนที่อยู่คนละขั้วการเมือง ผลการศึกษานี้ยืนยันผลการศึกษาของ นักจิตวิทยาที่ว่ายิ่งมนุษย์แลกเปลี่ยน ความเห็นกับผู้ที่มีความเห็นแบบเดียวกัน ความเห็นนั้นๆ ของพวกเขาจะยิ่งรุนแรงหรือสุดโต่งมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

แคสซ์ ซัสไตน์ ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Infotopia ว่า เมื่อคนที่มีความเห็นคล้ายกันมาอยู่รวมกัน อคติและความหลงผิดของพวกเขาจะยิ่งถูกทำให้ เข้มข้นขึ้น ส่งผลให้คนเหล่านี้เดินไปสู่จุดที่สุดโต่งมากยิ่งไปกว่าก่อนที่พวกเขาจะมารวมตัวกันเสียอีก นั่นหมายความว่า เมื่อผู้คนเข้าไปพบข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อของพวกเขาในอินเทอร์เน็ตย่อมแสดงว่าความเห็นของพวกเขาถูกต้อง แต่ละวัน ผู้คนเข้าไปใช้อินเทอร์เน็ตหลายต่อหลายครั้ง แต่ละคนจึงกำหนดและสร้างชุมชนของตนเอง สร้างความเป็นตัวของตัวเอง ทุกๆ ครั้งที่กดปุ่มจึงเท่ากับพวกเขาได้กำหนดระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคมของตนขึ้นมา นั่นหมายความว่า แทนที่อินเทอร์เน็ตจะสร้างความกลมเกลียวและความเข้าอกเข้าใจกันอย่างที่ผู้คน เข้าใจกัน วัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นบน อินเทอร์เน็ตกลับสร้างสังคมที่แตกแยก มากยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น จนมันกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน และการทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตจึงตกเป็น เป้าหมาย ที่สำคัญของสงครามระหว่างวัฒนธรรมและกลุ่มก่อการร้าย ทั้งนี้ เพราะมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่ง ของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ และบริษัทข้ามชาติ ในปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าของประเทศต่างๆ กระจายอยู่ทั่วโลกทำให้เกิดปัญหาในการรักษาความปลอดภัยและอธิปไตย ในเดือนมิถุนายนปี 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศส จึงประกาศ ห้ามพนักงานระดับสูงของประเทศใช้ BlackBerry ทั้งนี้เพราะข้อมูลที่ส่งระหว่างกันผ่านทางเส้นทางนี้จะต้องผ่านศูนย์คอมพิวเตอร์ในสหรัฐและสหราชอาณาจักร รัฐบาลฝรั่งเศสจึงเกรงว่าความลับทางราชการและข้อมูลทางการค้าจะถูกควบคุมโดยองค์การสืบราชการลับของสหรัฐ ซึ่งเท่ากับเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ของประเทศ

หน้า 42


--------------------------------------------------------------------------------

The Big Switch / โลกใหม่(จบ)

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์  โดย พ.ญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร [email protected]  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4022 (3222)

ระบบอินเทอร์เน็ตเองกำลังเป็นสนามรบโดยมี Bonet (Robot Network) เป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพที่สุด Botnet หรือกลุ่มของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ถูกควบคุมจากศูนย์กลาง ผ่านกลุ่มอาชญากรเป็นปีศาจร้าย ที่คุกคามเครื่องคอมพิวเตอร์ มันถูกสร้างผ่านการกระจายตัวของไวรัสทางอินเทอร์เน็ต เมื่อไวรัสสามารถเข้าไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแล้ว มันจะติดตั้งรหัสบางอย่างเพื่อให้เครื่องนั้นๆ ถูกควบคุมด้วยคำสั่งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ห่างไกล Botnet สามารถประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์นับล้านเครื่อง ที่ผู้เป็นเจ้าของมิอาจล่วงรู้ได้ว่าเครื่องของตนเองนั้น กำลังถูกควบคุมอยู่ และใช้เครื่องที่ถูกควบคุมเหล่านี้ ส่งข้อความนับพันล้านออกไปทันทีทันใด รวมทั้งส่งข้อมูลที่เก็บอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถูกมันควบคุม เช่น ข้อมูลทางด้านการเงิน บัตรเครดิต และรหัสผ่าน กลับไปยังเครื่องแม่ที่อยู่ห่างไกล ที่ร้ายที่สุดก็คือเจ้าของ Botnet สามารถที่จะสั่งการให้เหล่าคอมพิวเตอร์ที่ถูกมันควบคุม ทำลายเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กรของรัฐและเอกชนได้ ข้อมูลบ่งว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วโลกติดไวรัสนี้แล้วถึง 10-25%

แม้ว่าไวรัสคอมพิวเตอร์จะกำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่คนส่วนหนึ่งยังคงชอบที่จะทำธุรกรรม และซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่ดี อย่างไรก็ดีก่อนที่พวกเขาจะทำธุรกรรมได้ก็จำเป็นที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบางอย่าง โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของรัฐบาลจนมีการ์ตูนล้อเลียนว่า บนอินเทอร์เน็ตไม่เพียงไม่มีใครไม่รู้ว่าเราเป็นหมา แต่ทุกคนยังรู้ด้วยว่าเราอายุเท่าไหร่ พันธุ์อะไร อยู่ที่ไหน และชอบอะไร การที่ผู้รับบริการต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเหล่านี้มีอำนาจมหาศาล แม้ว่าบางคนอาจไม่ยินยอมเปิดเผยตัวตน แต่ชื่อของพวกเขายังคงสามารถตรวจพบได้หากพวกเขาเปิดเผย เลขที่แสดงลักษณะเฉพาะตัวบางอย่าง คอมพิวเตอร์จึงกลายเป็นสิ่งที่มีอำนาจมหาศาล

ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญจาก MIT, Standford และ Carnegie Mellon รายงานว่าพวกเขาสามารถที่จะใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ติดตามการทำงานของสมองของผู้ซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตในขณะที่ประเมินสินค้า และราคาหน้าจอคอมพิวเตอร์ อีกทั้งยังสามารถที่จะคาดเดาได้ว่าเมื่อใดผู้ซื้อจะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าได้แล้ว นอกจากนี้นักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ยังสามารถใช้ข้อมูลที่เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนอง ของผู้ใช้บริการทางอินเทอร์เน็ตไปใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์ และสามารถที่จะจัดการกับพวกเขาได้ด้วยแล้ว นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอ่าน กดปุ่ม ซื้อของหรือกรอกแบบสอบถามเท่ากับเป็นการกรอกแบบฟอร์มเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ยิ่งมนุษย์ใช้อินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้นเท่าใด โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็จะยิ่งสามารถค้นพบ และใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมของพวกเขาได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

เมื่อคอมพิวเตอร์เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นอิสระจากที่ทำงาน พวกเขาจึงต้องจ่ายค่าความเป็นส่วนตัว เพื่อให้ได้มีโอกาสในการทำกิจกรรมที่ตนเองต้องการในเวลาที่พวกเขาต้องการ นายจ้างจึงสามารถควบคุมพนักงาน ทั้งในด้านเวลา กิจกรรมและความคิด ซึ่งเท่ากับว่าไม่เพียงคอมพิวเตอร์จะเพิ่มอำนาจให้กับบุคคลเท่านั้น มันยังเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรและรัฐด้วย คอมพิวเตอร์จึงมิใช่เทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการปลดเปลื้อง แต่มันเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการควบคุมและสร้างอิทธิพลต่อพฤติกรรมบังคับให้ผู้คนทำอะไรอย่างไรก็ได้ จริงอยู่มนุษย์อาจทราบดีว่ากำลังถูกติดตามหรือควบคุมอยู่ แต่พวกเขาก็ไม่ใส่ใจ ทั้งนี้เพราะพวกเขายังคงรู้สึกพึงพอใจกับความเป็นส่วนตัว หรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้อินเทอร์เน็ต พวกเขายินดีถูกควบคุมเพื่อแลกกับความสะดวกสบายที่ได้รับจากการใช้บริการอินเทอร์เน็ตก็เป็นได้

ความท้าทายสำหรับวงการคอมพิวเตอร์ในอนาคตก็คือการผสมผสานเทคโนโลยีนี้เข้ากับสมองของมนุษย์ แม้ว่าในปัจจุบันกูเกิลจะสามารถสร้างโปรแกรมการค้นหาข้อมูล ที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากแล้วก็ตาม แต่ลาร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน ผู้ก่อตั้งก็ยังมิได้พึงพอใจกับความสมบูรณ์ข องโปรแกรมการค้นหาข้อมูลของพวกเขา สิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่าก็คือ ต้องการให้ความรู้ทั้งมวลบนโลก ตรงไปยังสมองของมนุษย์ เขาทั้งสองต้องการสร้างโปรแกรมการค้นหาข้อมูล ที่เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกมนุษย์ ไมโครซอฟท์ก็เช่นกัน พวกเขาเชื่อว่าในเวลาอีกไม่ถึง 10 ปี มนุษย์จะสามารถบอกให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ โดยไม่จำเป็นต้องกดเครื่องอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะพวกเขากำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้เปลี่ยนผิวหนังของมนุษย์ ให้คล้ายกับเป็นท่อหุ้มสายไฟฟ้าชนิดหนึ่ง หรือเป็นตัวเชื่อมต่อวงจรซึ่งจะเชื่อมเครือข่ายเครื่องมือที่ผูกติดกับร่างกาย เครือข่ายนี้จะขยายออกได้กว้างขึ้นผ่านการสัมผัสกัน เช่น การจับมือ เมื่อร่างกายของคนสองคนสัมผัสกัน การเชื่อมกันของร่างกายจะทำให้เกิดวงจรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้สัญญาณต่างๆ สามารถผ่านต่อกันไปได้ หากเทคโนโลยีนี้สำเร็จ โลกอาจมีหนทางใหม่ในการมีปฏิสัมพันธ์ ระหว่างเครื่องกับมนุษย์ โดยอาจมีระบบตัวแทนทำงานให้กับผู้ใช้ได้ตามความปรารถนาทุกที่ทุกเวลา ระบบประสาทชนิดนี้จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการอย่างแท้จริง

ความฝันของบริษัทเหล่านี้อาจเป็นจริงในเวลาอันใกล้นี้แล้วเพราะในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ สามารถสอนเครื่องจักรให้รู้วิธีดูสิ่งต่างๆ ได้แล้ว ซึ่งเป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่างบริษัทกูเกิล กับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ซานดิเอโก องค์กรทั้งสองได้สร้างระบบที่สอนเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แปรผลภาพถ่าย ซึ่งจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถเขียนคำสั่งให้ตัวเองได้ในไม่ช้านี้ แต่หากมนุษย์ยังคงต้องการให้คอมพิวเตอร์ เฉลียวฉลาดยิ่งขึ้นไปอีก พวกเขาคงต้องสร้างโปรแกรม ที่สามารถทำงานได้เหมือนอย่างสมองมนุษย์ นั่นคือ โปรแกรมที่สามารถหาคำตอบให้โดยไม่ต้องฟังคำถาม สินค้านั้นอาจมีชื่อว่าความเฉลียวฉลาดเทียม หรือสมองเทียมที่ฉลาดกว่าสมองมนุษย์นั่นเอง เรย์ เคอร์สวีล คาดการณ์ไว้ในบทความที่ชื่อ Reinventing Humanity เมื่อปี 2549 ว่าความเฉลียวฉลาดเทียม (artificial intelligence) จะเกินหน้าความเฉลียวฉลาดทางด้านชีววิทยาหลังปี 2583 อันจะส่งผลให้ไม่มีความแตกต่างระหว่างชีววิทยาและเครื่องกล หรือไม่มีความแตกต่างระหว่างกายภาพและเรื่องเสมือนจริง จริงอยู่อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มหาศาล แต่มันก็อาจทำให้มนุษย์ไม่มีแรงจูงใจที่จะคิดสิ่งใดให้ลึกหรือหยุดคิดเสียก่อน ทั้งนี้เพราะมันง่ายที่จะใช้กูเกิล ทำงานแทนที่จะจดจำหรือคิดด้วยตนเอง ในไม่ช้ามนุษย์ก็อาจคิดเหมือนอย่างคอมพิวเตอร์ ความรู้สึกตัวของเราจะเบาบางลง เมื่อความคิดของเราถูกฝึกเหมือนอย่างการเชื่อมต่อ (link) ความเฉลียวฉลาดเทียมที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น ก็อาจกลายเป็นตัวมนุษย์ไปเสียเองก็เป็นได้

ผู้เขียนสรุปว่าไส้ตะเกียงเคยเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติในอดีต เพราะมันทำให้พวกเขาสามารถควบคุมไฟ และใช้ไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กระแสไฟฟ้าก็เป็นสิ่งประดิษฐ์อีกอย่างหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคต่อมา เพราะมันทำให้ธรรมเนียมปฏิบัติในอดีตสิ้นสุดลงจากการที่มันทำให้สมาชิกในครอบครัว สามารถมีอิสระที่จะใช้ชีวิตในห้องส่วนตัวได้มากขึ้น มันจึงทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวอ่อนแอลง เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงจากคนรุ่นหนึ่ง สู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เมื่อคนรุ่นเก่าเสียชีวิตลง พวกเขาได้นำเอาความรู้เกี่ยวกับความสูญเสีย อันเนื่องมาจากการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ในยุคนั้นติดตัวไปด้วย เหลือไว้เพียงความรู้สึกที่สิ่งดีงามของเทคโนโลยีนั้น นี่คือวิถีทางของความก้าวหน้า

ข้อคิดเห็น - หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกมากอีกทั้งยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับโลกในอนาคตของคอมพิวเตอร์ไว้มาก จึงเป็นหนังสือที่ผู้เรียน ผู้ที่ทำงาน ผู้กำหนดนโยบายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้บริหารรวมทั้งคนทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางด้านนี้ ควรอ่านเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น อันจะนำมาซึ่งกลยุทธ์ในการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ด้วย

หน้า 42

 



http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2008q ... st05p3.htm
:)
ellevoid
Verified User
โพสต์: 63
ผู้ติดตาม: 0

(แนะนำหนังสือ) BIG SWITCH

โพสต์ที่ 2

โพสต์

เคยอ่าน Does IT matter ของ Nicholas Carr เหมือนกันครับ
แต่อยากทราบว่า Big Switch เล่มนี้อ่านยากไหมครับ?
ใครพอมีข้อมูล ช่วยมาแชร์หน่อยครับ ขอบคุณครับ   :D
All that is necessary for the triumph of evil is that good men do nothing.
icque
Verified User
โพสต์: 470
ผู้ติดตาม: 0

(แนะนำหนังสือ) BIG SWITCH

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับ  :D
njTAO
Verified User
โพสต์: 274
ผู้ติดตาม: 0

(แนะนำหนังสือ) BIG SWITCH

โพสต์ที่ 4

โพสต์

จุใจดีจัง ขอบคุณครับ

ผมว่ากาลิเลโอเค้าเป็นคู่ปรับกับนิโคลา เทสลานะครับ อย่างเช่น
กาลิเลโอ ผลิตมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง
นิโคลา เทสลา ผลิตมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ (รู้สึกว่าเคยทำงานในบริษัทกาลิเลโอ) ซึ่งแพร่หลายกว่ากระแสตรง เพราะใช้ในเครื่องจักรใหญ่จำนวนมาก

กาลิเลโอ ส่งไฟฟ้าผ่านสายไฟ
เทสลา คิดค้นไฟฟ้าแบบไร้สาย

พอเทสลาม้วยไป แบบไร้สายเงียบไป (ไม่ทราบทำไม) ถ้าไฟฟ้าไม่ต้องใช้สายโลกก็จะเติบโตไปมากกว่านี้ ผมว่าคงก้าวกระโดดเชียวหล่ะ

รู้สึกว่าเร็วๆ นี้ MIT เค้าก็ทำได้แล้วแต่เป็นระดับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเช่นหลอดไฟ แต่ของเทสลา ถ้าผมจำไม่ผิด เป็นการส่งไฟฟ้าไปตามบ้าน (ไม่ต้องเดินสายไฟ) แต่ที่แน่ๆ บริษัทขายสายไฟฟ้าคงไม่ชอบแน่ๆ
โพสต์โพสต์