เป็นรวมบทความจาก BrandAge ก.ย.50
มีทั้ง บ.ที่อยู่ใน set และอาจจะเข้าในอนาคต
Food & Restaurant - One Brand is not Enough
อาหารเที่ยงมื้อนี้ จะเลือก โออิชิ แกรนด์ หรือ โออิชิ เอ็กซ์เพรส หรือชาบูชิ บายโออิชิ
อาหารเย็นมื้อนี้ จะเลือก เอ็มเค โกลด์ หรือ เอ็มเค หรือเปลี่ยนเป็น เอส แอนด์ พี หรือพาติโอ
ร้านอาหารทั้ง 7 แบรนด์ดังกล่าวนี้ เชื่อว่าเมื่อเอ่ยชื่อขึ้นมา นอกจากจะรู้ถึงประเภทอาหารเป็นลำดับแรกแล้ว สิ่งที่ตามมาอย่างต่อเนื่องคือ จะมองเห็นภาพกลุ่มเป้าหมายของผู้บริโภคอย่างเด่นชัด
ทั้งนี้ น่าจะกล่าวได้เช่นกันว่า การเจาะกลุ่มเป้าหมายของผู้บริโภค (Segmentation) นับเป็นปัจจัยสำคัญข้อแรกสำหรับร้านอาหารที่จะต้องมีมากกว่าหนึ่งแบรนด์
คุณสรณ์ จงศรีจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Dentsu Young & Rubicam จำกัด หรือ Y&R กล่าว ถึงปัจจัยนี้ว่า
เพียง Segmentation เดียวก็ถูกซอยย่อย และยังต้องมีเรื่องแนวคิดของอาหาร แนวคิด Location ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การขยายธุรกิจร้านอาหารให้เติบใหญ่แล้วมีเพียงแบรนด์เดียวไม่พอ...
ผศ.ดร.ชวนะ มหิทธิชาติกุล-ภวกานันท์ อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาการสร้างแบรนด์และสื่อสารการตลาดภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง กล่าวว่า
อาหารคือปัจจัยสี่ การมีมากกว่า 1 แบรนด์เพราะเขาต้องการให้แบรนด์นั้นกระชุ่มกระชวย เป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายด้วย...
นั่นคือมุมมองแบบ Outsight In
ส่วนมุมมอง Insight Out เช่น ผู้บริหารเอ็มเคฟันธงว่า แบรนด์เอ็มเคแบรนด์คงไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของทุกกลุ่ม
ผู้บริหารโออิชิ เห็นว่า ในอนาคตจะต้องมีแบรนด์ใหม่ๆสไตล์ญี่ปุ่นออกมาเรื่อยๆ เพราะความต้องการกินรวบตลาดทุกเซ็กเม้นต์ ในขณะที่เหตุผลอีกข้อหนึ่งคือ ธุรกิจนี้มีการแข่งขันรุนแรง ส่งผลให้ การมีวงจรชีวิต (Life Cycle) ของธุรกิจนี้สั้นลง นับเป็นปัจจัยสำคัญข้อสองสำหรับร้านอาหารที่จะต้องมีมากกว่า 1 แบรนด์
ส่วนปัจจัยสำคัญในข้อสาม ข้อสี่ ข้อห้า และข้อหก เป็นเรื่องของ
การหาสถานที่ (Location) ที่จะต้องกระจายขยายสาขา หรือร้านค้า หรือคีออส เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค
การขยายแบรนด์ไปทั่วประเทศ (Nationwide)
การขยายแบรนด์ไปยังต่างประเทศ (Go Global)
การบริหารจัดการต้นทุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Supply Chain Management)
ทั้งหมด นับเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับร้านอาหารที่จะต้องมีมากกว่าหนึ่งแบรนด์
ต่อเมื่อต้องมีแบรนด์มากกว่าหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่กล่าวถึงเบื้องต้นแล้ว ดังนั้น การบริหารจัดการในองค์รวมจะต้องมีการนำนวัตกรรม (Innovation) เข้ามาใช้
ผศ.ดร.ชวนะ แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า
นวัตกรรมในร้านอาหารสำคัญมาก เพราะไม่ได้หมายถึงสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความแตกต่าง ซึ่งสถานที่พักตากอากาศแห่งหนึ่ง ได้เปิดครัวให้ลูกค้าเข้าไปทำอาหารตามที่ใจต้องการ จะมีอุปกรณ์ อาหารสด และเครื่องปรุงไว้ให้บริการ กลุ่มเป้าหมายมีความสุขที่จะได้ลิ้มรสฝีมือตนเองนอกบ้าน
ในขณะที่ Innovation ของประเทศญี่ปุ่นด้านอาหารพัฒนาไปถึงเรื่องสุขภาพอย่างแท้จริง ที่โอซากามีร้านหนึ่ง จะเขียนเมนูให้เห็นว่า อาหารที่เขาขายประเภทใดเป็นอาหารไขมันสูง หรือสามารถทำให้เกิดความดัน หรือเบาหวาน กล่าวกันว่า ความต้องการของเจ้าของร้านแห่งนี้ ต้องการให้ลูกค้าตนเองห่วงใยสุขภาพ ถ้าจะกินตามใจปากคุณ จะได้ไม่เกินกี่แคลอรี และจัดมาให้ ซึ่งลูกค้าชอบมาก วัยรุ่นก็มี กลายเป็น Value Creation ที่ร้านมอบให้ลูกค้า...
ส่วน Fast Innovation สำหรับแบรนด์ร้านอาหาร ในมุมมองของผศ.ดร.ชวนะจะต้อง
1. อาหารต้องไม่ยึดติดรูปแบบเดิม เป็น Fusion ได้ไหม ทำไมผัดไทต้องเส้นจันทน์ ใช้เส้นสปาเก็ตตี้ เส้นอื่นๆใส่เข้าไปได้ไหม
2. ความปลอดภัยในการปรุงอาหาร และองค์ประกอบในร้าน จะต้องไม่ทำลาย Brand Work
3. Advertising Theme ต้องนำมาใช้ คือไม่ต้องถึงกับลงทุนโฆษณา แต่ต้องเปลี่ยนสีสันในร้าน เปลี่ยนบรรยากาศในร้าน อย่ายึดติด
4.ออกแบบพฤติกรรมลูกค้า ธุรกิจของคุณ หรืออาหารของคุณไปเกี่ยวข้องกับใครให้ดึงสิ่งเหล่านี้มา
5.มีบริการสำหรับลูกค้ามาเป็นครอบครัว โดยต้องใช้เก้าอี้ที่มีสีสัน
ทั้งหมดนี้ต้องทำให้มี Life เพราะอาหารเป็น Life เพราะฉะนั้นต้องให้ลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการมี Lifely, Friendly ,Sincerely, Safety และเป็น Second Home ซึ่งความหมายสุดท้ายนั้น เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมคนยุคนี้ที่ไม่ทำกับข้าวที่บ้าน เพราะฉะนั้นเขาจะมีที่ทานอาหารประจำไม่กี่แห่ง
คุณสรณ์ ให้ความเห็นต่อเนื่องในเรื่องนี้เช่นกัน
นวัตกรรมไม่เพียงจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของธุรกิจเท่านั้น แต่สิ่งนี้จะต้องเป็นประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มลูกค้า และจะเป็นข้อแตกต่าง
ภาพของเอ็มเคเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนในเรื่องนี้ นวัตกรรมและความแตกต่างของเขาได้ห่อหุ้ม
แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ PDA สั่งอาหาร คอนโดของอาหารทำให้ไม่กินพื้นที่โต๊ะ เตาไฟฟ้าซึ่งเซฟตี้ ทานอาหารเสร็จบิลรายการอาหารจะบอกแคลอรี แม้กระทั่งความรู้จากที่รองจาน การมีนวัตกรรมเหล่านี้ให้ประโยชน์กับผู้บริโภค นี่เป็นสิ่งสำคัญ หากสังเกตจะพบว่าเอ็มเคทำนวัตกรรมทุกอย่างในแบรนด์นี้...
กล่าวกันว่าในอนาคต หากการพัฒนาการใช้งานเทคโนโลยีการระบุเอกลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุ หรืออาร์เอฟไอดี (Radio Frequency Identification) มีความสะดวกในการใช้มากขึ้น และราคาสมเหตุสมผล ลูกค้าของเอ็มเคที่ถือบัตรสมาชิกของร้าน(มีบาร์โค้ดที่เกี่ยวโยงกับอาร์เอฟไอดี) เดินผ่านประตูเข้าร้าน ซึ่งมีอาร์เอฟไอดีติดอยู่
ทันทีที่เดินเข้าไป เครื่องจะอ่านข้อมูลส่งเข้าเซิร์ฟเวอร์ของร้าน และเครื่องอาจจะเอ่ยต้อนรับชื่อลูกค้า จากนั้นข้อมูลลูกค้าจะโชว์อยู่หน้าจอเครื่องพีดีเอที่พนักงานถืออยู่ เพื่อช่วยให้พนักงานมีข้อมูลการสั่งอาหารของลูกค้าครั้งที่ผ่านมา ฯลฯ
เมื่องานภายในและภายนอกร้าน ได้มีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ เพื่อสร้างความแตกต่าง ส่วนหนึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายรับรู้ว่า แบรนด์นั้นๆมีตำแหน่งทางธุรกิจ (Positioning) อย่างไร
เจ้าของธุรกิจจะต้องบอกได้ว่า จะไปหาเด็กจะวางตำแหน่งอย่างไร เพราะเด็กเองก็มีหลายประเภท แบบโนเนะ ร้านจะเป็นสีชมพูมีแมวคิตตี้ แต่ถ้าเป็นร้านที่เป็นเด็กเฮี้ยวหน่อย ชื่อร้านและการตกแต่งในร้านก็จะแรงมากๆ หรือถ้าเป็นเด็กแนว เด็กเซอร์ๆ ก็ต้องเป็นอีกแนวหนึ่ง ดังนั้นต้องมีร้านที่ไปหาเด็ก เมนูก็ต้องเป็นเมนูที่เด็กชอบ การตกแต่ง การตั้งชื่อ โลเกชั่น จะต้องมุ่งไปหากลุ่มเดียวกันทั้งหมด
ภายใต้ Segmentation และ Targeting ก็จะมี Positioning ให้เราวางอีก นี่คือมิติที่มากขึ้น เพียงกลุ่มเด็กกลุ่มเดียวก็มีหลายมิติ เพราะฉะนั้นจะต้องมีความหลากหลายของตัวแบรนด์ให้เกิดขึ้น...
สิ่งที่คุณสรณ์สะท้อนมุมมองออกมานั้น ในส่วนตำแหน่งทางธุรกิจไม่เพียงจะบอกถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งคนอายุ 30 ปีขึ้นไปคงไม่สะดวกที่จะใช้บริการเอ็มเค เทรนดี้ แต่จะเลือกใช้เอ็มเค เมื่อไปกันเป็นครอบครัว หรือเลี้ยงอาหารพันธมิตรทางธุรกิจ ก็จะเลือกใช้เอ็มเค โกลด์
ขณะเดียวกัน วัยรุ่นที่อยากเปลี่ยนรสชาติจากอาหารไทย ก็จะเลือกไม่เข้าเอส แอนด์ พี แต่ไปใช้บริการของแบรนด์วานิลลา ซึ่งตรงกับความต้องการของพวกเขามากกว่า หรือถ้าต้องการอาหารสไตล์ญี่ปุ่น ก็จะเลือกที่โออิชิ ฟูจิ อาหารจีนแนวใหม่ก็จะใช้บริการฮองมีนเลย คุณสรณ์เพิ่มเติมอีกว่า
ตลอดระยะเวลาในช่วงไม่ถึง15 ปีดีนัก ผู้บริโภคต่างก็ได้เห็นพัฒนาการปรับตัวธุรกิจร้านอาหารประเภทต่างๆ และสร้างแบรนด์อีกหลากหลายอย่างต่อเนื่อง โดยมีรูปแบบคล้ายคลึงกันมากคือ การเกี่ยวอยู่กับแบรนด์หลักอย่างเหนียวแน่น ซึ่งสามารถสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบว่า นี่คืออีกหนึ่งแบรนด์หนึ่งภายใต้ปีกของแบรนด์ใด
วันนี้จึงมองเห็น เอ็มเค โกลด์ หรือ เอ็มเค เทรนดี้, ยาโยอิ บาย เอ็มเค, โออิชิราเมง, โออิชิซูชิบาร์, คาเฟ่ เนโร บาย แบล็คแคนยอน
พร้อมกันนี้ หากพลิกหน้าต่อไปของเมนูอาหารเล่มนี้ ก็จะเห็นประเภทและชนิดของอาหารอีกหลากหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น เดอะพิซซ่า คอมปานี ,โคคา, แบล็คแคนยอน , ฟูจิ , ฮะจิบัง , เซน , บาร์ บีคิว พลาซ่า+จุ่มแซบ ฮัท, สีฟ้า, ไดโดมอน, เกรย์ฮาวน์ คาเฟ่
เมนูอาหารเล่มหนาเล่มนี้ จึงไม่สามารถจะมีแบรนด์เดียวได้อีกต่อไป