ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล
คอลัมน์   - ความทรงจำนอกมิติ
น.พ.ประสาน ต่างใจ
น.พ.ส.ไทยโพสต์ 21 มกราคม 2550  


ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าจิตพื้นฐานสากล (ground consciousness) หรือจิต (วิญญาณ) - ในทางฟิสิกส์จักรวาลวิทยาแห่งยุคใหม่ และในความหมายหนึ่งของพุทธศาสนาคือ พื้นฐานของจักรวาล - คือที่มาของรูปและนาม รูปก็คือสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงของธรรมชาติ   นั่นเป็นความเชื่อมั่นที่ได้มาจากความเห็นรวมๆ  ของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลจำนวนหนึ่ง เช่น  เออร์วิน  ชโรดิงเกอร์,  วูลฟ์กัง พอลี่, เซอร์อาร์เธอร์ เอ็ดดิงตัน, จอร์จ วอลด์  ฯลฯ  ที่ในแง่หนึ่งอาจรวมไอน์สไตน์  นีลส์ บอห์ร และเวอร์เนอร์ ไฮเซ็นเบิร์ก เอาไว้ด้วยก็ได้ - ธรรมชาติในที่นี้ คือธรรมชาติระดับหยาบหรือรูปหรือกายที่รวมพลังงาน สสารวัตถุ และชีวิตทั้งหลายทั้งปวงรวมทั้งมนุษย์และสังคมของมนุษย์  (the  great chain of being) ส่วนธรรมชาติระดับละเอียดนั้น - ในแง่หนึ่งอันเป็นที่มาของนามแห่งนามขันธ์ - ก็เป็นหนึ่งเดียวกันกับจิตจักรวาลที่เป็นสากลนั่นเอง   ผู้เขียนได้นำเอาความเชื่อมั่นนั่นมาเขียนหนังสือและบทความมาตั้งแต่เริ่มเขียน - ตราบปัจจุบัน ในช่วงแรกๆ ของการเขียน ผู้อ่านส่วนใหญ่ - อาจเป็นเพราะความเคยชินกับความเป็นสอง  (dualism)  และความรู้ที่เราเรียนมาด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ - ทำให้เข้าใจกันว่านั่นคือสัทธรรมความจริงทั้งหมดของโลกของจักรวาล - จึงมักไม่ค่อยเข้าใจในงานพูดงานเขียนของผู้เขียนเท่าไรนัก   ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้เขียนจึงไปเอาเรื่องของศาสนาเรื่องของจิตกับจิตวิญญาณ หรือนามธรรมที่พิสูจน์ไม่ได้มาปนกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่นักคิดนักวิทยาศาสตร์ในอดีตร่วม 400 ปีมาแล้ว  เป็นต้นว่าโคเปอร์นิคัส  ทอมัส  ฮอบส์ ฟรานซิส เบคอน เดส์การ์ด ฯลฯ ได้แยกเรื่องของรูปเรื่องของกายออกจากเรื่องของจิตโดยสิ้นเชิง   ความไม่เข้าใจในรากฐานของความเป็นสองและความยึดมั่นถือมั่นในวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (methodology) โบราณที่ได้ยอมรับกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นต้นว่า การทำซ้ำไม่ว่าด้วยใครที่ไหนและเมื่อไรย่อมให้ผลเช่นเดียวกัน (determinism) ที่ตรงกันข้ามกับความจริงใจใหม่ดังที่ทอมัส  คุห์น ให้ความคิดเห็นเอาไว้ และเป็นตรงกันข้ามกับวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ หรือแควนตัมฟิสิกส์ที่ให้ความจริงยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์เก่าที่เรายึดมั่นกับมันอย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ว่าโลกและธรรมชาติจะเปลี่ยนไปอย่างไร แม้ในวันนี้

ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ทำไมมนุษย์จึงเห็นและเชื่อว่า  พฤติกรรมการดำรงอยู่ของเราและรูปแบบของสังคมที่ตั้งบนวิทยาศาสตร์กายภาพเก่าว่าเป็นสัทธรรมความจริงแท้?  และทำให้โลกธรรมชาติต้องล่มสลายหายนะ - จนก่อภัยธรรมชาติที่รุนแรงนานัปการจนเสี่ยงต่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ - ก็เพราะว่าหลักการของวิทยาศาสตร์กายภาพตรงกับความรู้สึกของเราตรงกับความเป็นสองที่ให้อัตตาและกิเลสตัณหาแก่เรา  นั่นคือเนื้อหาสาระของบทความของวันนี้  ซึ่งผู้เขียนจะวิเคราะห์ถึงที่มาของวิวัฒนาการของรูปและนามของชีวิตและมนุษย์ กับความสัมพันธ์ของวิวัฒนาการของชีวิตจนเป็นมนุษย์ที่ผ่านมา  กับโลกและจักรวาลนั้นเป็นมาอย่างไร?  เผื่อว่าในอนาคต - หากมนุษย์จะประสบกับความสิ้นสุดสูญพันธุ์ลงไปจริง  จากอวิชชาและตัณหาของเราเองในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้ - เราจะได้รู้ว่าเราทั้งหมด อย่างน้อยร่วม 8,000 ล้านคนเวลานั้น ตายไปแล้วจะไปอยู่ที่ไหน? และวิวัฒนาการของนามรูปในอนาคตอันไกลออกไปข้างหน้าจะเป็นไปอย่างไร?  เพราะว่าการมองจากแง่ของประวัติศาสตร์ของโลกที่มี 4 มิติของเรา อดีตอาจชี้บ่งอนาคตได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

ด้วยความรู้ทางจิตวิทยาตะวันตกของมนุษย์โดยปัจเจกลักษณ์ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน  ผู้เขียนขอสรุปว่า  เราได้ผ่านวิวัฒนาการทางกายภาพเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วมาเมื่อโฮโม  ซาเปียนส์ปรากฏขึ้นมาในโลกเมื่อกว่า  150,000 ปีก่อน แต่วิวัฒนาการทางจิต - ที่ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นมานั้น วิวัฒนาการเพิ่งมีมาถึงครึ่งทาง - ถึงปัจจุบันเราเพิ่งมาถึงระดับอัตตาตัวตนและความคิดที่ตั้งบนตรรกะและเหตุผล  ดังนั้น  มนุษย์ในปัจจุบันอาจสรุปได้ว่าเป็นองค์ประกอบของกายกับจิต กายประกอบด้วยสสารกับพลังงาน  โดยมีหน้าที่เป็นรูปร่างโครงสร้างทางกาย กับการทำงานในด้านของการใช้แรงงาน ทางพุทธศาสนาเรียกว่ารูปคำเดียว ส่วนจิตนั้น หากพิจารณาจากการจำแนกของเคน วิลเบอร์ กับ ญ็อง เก็บเชอร์ ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนรู้ จิตมนุษย์อาจจำแนกได้เป็น 4 องค์ประกอบ ที่โดยธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นการจำแนกแบบแยกส่วน หรือแน่นิ่งอยู่กับที่หากไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงไปโดยการเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม  4 องค์ประกอบที่ว่าคือความรู้สึกรวมทั้งความต้องการทางเพศหรืออารมณ์  อัตตาตัวตนที่ให้ความเห็นแก่ตัว ความคิดและความจำ และสุดท้ายจิตสำนึกหรือจิตรู้ที่ให้เหตุผล  ซิกมันต์ ฟรอยด์ - ในช่วงแรกๆ ของอายุ - เรียกความรู้สึกและอารมณ์ (ฟรอยด์จะเน้นที่กามารมณ์เพียงประเด็นเดียว) ว่า  "อิด"  ซึ่งผู้เขียนคิดว่า เป็นสัญชาตญาณการสนองตอบของสัตว์โลกที่มีความรู้สึกนำหน้าทั่วๆ  ไป  ฟรอยด์จะเรียกจิตความมีตัวตนว่า "อีโก้" และเรียกความคิดและการวิเคราะห์ว่าเป็น "ซูเปอร์อีโก้" ที่ควบคุมอิดและอีโก้อีกทีทำให้คนเป็น 'มนุษย์' ต่อมาในช่วงหลัง ฟรอยด์ดูเหมือนจะเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ได้พูดถึงจิตไร้สำนึก (unconsciousness as consciousness) เพื่อแยกจากจิตก่อน (ใต้) สำนึก (pre - or  sub - consciousness) ของเด็กทารกที่มองทุกสิ่งทุกอย่างอย่างว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่รูปกาย  และแยกจากจิตสำนึก หรือจิตรู้ (consciousmind) ส่วนนิยามที่พุทธศาสนาเรียกว่านามที่เป็นกองขันธ์ ที่เราทุกคนที่อยู่ในพุทธศาสนาย่อมรู้กันดีอยู่แล้ว จึงไม่ต้องอธิบายต่อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 3

โพสต์

แต่ทว่าองค์ประกอบ  หรือระดับของจิตทั้งหมดนั้น ไม่ได้แสดงออกมาตั้งแต่เกิดหรือมีมาแต่แรกเริ่มของชีววิวัฒนาการของมนุษย์  เป็นต้นว่า  จิตของเด็กทารก หรือมนุษย์วานร (ออสตราโลพิเธซีน  หรือกระทั่งโฮโมอีเร็กตัส) ก็ใช่ว่าจะมีจิตทั้ง 4 ระดับมาตั้งแต่ต้น  หากจะเจริญเติบโตก้าวหน้าขึ้นมาตามลำดับ  ตามวัยหรือตามขั้นตอนของสังคม และวิวัฒนาการของโลกสิ่งแวดล้อมธรรมชาติในเวลานั้นๆ  อย่างเป็นลำดับและเป็นระบบ  จากระดับล่างสู่ระดับบนเสมอไป (upward  causation) และเมื่อระดับบนได้พัฒนาเรียบร้อยแล้ว ระดับบนก็จะหวนกลับมาควบคุมระดับล่าง โดยจะไม่มีการเจริญเติบโตพร้อมๆ กันหรือข้ามขั้นตอนเลย ฉะนั้นระดับบนจะตั้งอยู่บนและอาศัยระดับล่างเป็นพื้นฐานเสมอไป   แต่ก็ไม่ใช่ว่าระดับล่างจะเป็นสาเหตุของการเกิดของระดับบนทั้งหมด แต่จะเป็นเรื่องของการผ่านพ้นและรวมกัน (transcend and include) ดังที่เคน  วิลเบอร์ อธิบายปรากฏการณ์การโผล่ปรากฏ   (emergent)  ของสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมเอาไว้  การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางจิตได้พิสูจน์ให้เรารู้ว่า  การเจริญเติบโตตามขั้นตอนของทุกสรรพสิ่งเป็นไปเช่นนั้น  นั่นเป็นเรื่องที่นักประสาทวิทยาศาสตร์ที่คิดว่าจิตเป็นผลผลิตของสมอง (epiphenomenon) - ที่ทำงานเช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ - จะต้องนำไปพิจารณา

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น  เป็นวิวัฒนาการของจิตที่มนุษย์ (โดยรวม) มีอยู่ในขณะนี้ในรูปกายที่ได้วิวัฒนาการมาอย่างสมบูรณ์แล้วถึงหนึ่งแสนกว่าปี - สอดคล้องกับการมาถึงของยุคน้ำแข็งในทางภูมิศาสตร์ ที่ให้รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติแบบที่เราเห็นจนถึงวันนี้ - ดังนั้นเมื่อวันนี้ที่ว่านั้น สิ่งแวดล้อมของโลกกายภาพ หรือลักษณะทางภูมิศาสตร์ของโลกได้เปลี่ยนและกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากสภาวะล่มสลายหายนะจนระบบนิเวศแทบจะหมดสิ้นสูญสลายไป ด้วยฝีมือของมนุษย์กับเทคโนโลยีที่ได้รับมาจากจิตแห่งอัตตาและเหตุผลที่วิวัฒนาการมาได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ  กับวิวัฒนาการที่ยังเหลืออีกถึง 4 ระดับซึ่งจะเริ่มต้นที่ธรรมจิต (spirituality) ระดับแรกไปจนสิ้นสุดที่วิมุตติปรมัตหรือนิพพาน - มันจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ที่มนุษย์ในรูปกายอย่างที่เรามีอยู่ในขณะนื้   จะสิ้นสุดลงไปหรือมีวิวัฒนาการทางกายภาพขึ้นมาใหม่เพื่อที่จิตที่อยู่ภายในจะมีวิวัฒนาการของจิตวิญญาณไล่สูงขึ้นต่อไปได้

แต่หากเรามองจากอีกด้านหนึ่ง ด้วยรูปกายที่มีอยู่นี้ จิตของศาสดาอรหันต์หรืออวตารและเซนต์นะบีหลากหลายในศาสนาต่างๆ  ล้วนสามารถมีวิวัฒนาการทางจิตที่ผ่านพ้นอัตตาตัวตนสู่ระดับธรรมจิตขั้นสูงสุดได้  ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่มนุษย์ในปัจจุบันจะสามารถประสบกับวิวัฒนาการของจิตวิญญาณได้ทั้งหมด  หรือเป็นส่วนใหญ่ในช่วงใกล้ๆ นี้หรือในศตวรรษนี้เพื่อหนีภัยธรรมชาตินานัปการที่กำลังทวีความหนักหน่วงรุนแรงยิ่งๆ ขึ้นในวันพรุ่งนี้มะรืนนี้อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันและด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันก็ใช่ว่ามนุษยชาติจะสูญพันธุ์ไปทั้งหมดดังที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งคิดและเขียนเป็นหนังสือตามที่ผู้เขียนได้อ้างอิงในบทความต่างๆ ที่เพิ่งผ่านมา

ในความเข้าใจของผู้เขียน   จากประสบการณ์ตนและการแสวงหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ตลอดมา  และจากข้อมูลที่ได้จากญาณทัศนะของผู้ปลีกวิเวกผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาอย่างลึกล้ำยาวนาน  เช่น อริยสงฆ์ที่มีอยู่น้อยรูป  ผู้เขียนได้รับข้อมูลคล้ายๆ กันว่าในช่วงกึ่งพุทธศาสนา สังคมมนุษย์โลกจะมีแต่คนเห็นแก่ตัว  มีแต่กิเลสราคะความรุนแรงที่ซึมแทรกไปทั่วทุกแห่งหน ยักษ์มาร (ภัยพิบัตินานัปการ  เช่น ภัยธรรมชาติ  โรคระบาด  ฯลฯ) จะคร่าชีวิตมนุษย์ไปอย่างนับไม่ถ้วน อย่างไรก็ตามมนุษยชาติก็ยังไม่สิ้นสูญพันธุ์ไปทั้งหมด  จนถึงวาระใกล้โลกแตก (mass extinction)  เมื่อโลกประสบกับความร้อนอย่างมหันต์เปรียบได้กับไฟบรรลัยกัลป์ เมื่อนั้นเทวดากับ (รูป) พรหม (มนุษย์ต่างดาว) จะพากันมาปรากฏขึ้นและป่าวร้อง (ให้ข้อมูล) แก่ชาวโลกให้ปฏิบัติจิตปฏิบัติธรรมด้วยการทำสมาธิจนสามารถผ่านฌานในระดับแรกๆ และเมื่อถึงในวาระโลกแตกจริงๆ ชาวโลกที่ผ่านการปฏิบัติสมาธิและผ่านฌานในระดับต่างๆ ก็จะไปเกิดในภพภูมิ (มิติที่สูงกว่าโลก 4 มิติของเรา) อันเป็นโลกที่มีกายทิพย์หรือโลกที่มีแต่จิตโดยไม่มีกาย - จิตเดิมแท้เพียงเสวยปิติสุขเป็นอารมณ์ - เป็นเวลานานมากๆ  ก่อนที่จะจุติมาเป็นมนุษย์โลกในโลก (โดยผ่านชีววิวัฒนาการ)  อีกครั้ง และด้วยจิตวิญญาณที่ผ่านวิวัฒนาการมาเช่นนั้น จิตจะสามารถพัฒนาจิตวิญญาณต่อไปจนสูงสู่นิพพานกันทั้งหมด (คำพูดในวงเล็บเป็นของผู้เขียน).
phobenius
Verified User
โพสต์: 1976
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 4

โพสต์

อืม....
Jeng
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 14783
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ทำไมพรหม เป็นมนุษย์ต่างดาว หมอประสาน ต่างใจ ชอบเห็นจานบินไม่ใช่เหรอ

จริงๆแล้ว พรหม น่าจะเหาะเหินเดินอากาศได้ คิดเล่นๆ

คริๆ

เท่าที่อ่าน ไม่น่าเอามาปนกันให้วุ่นวาย แค่เดินตามแนวทางพุทธ เน้น ให้ทาน รักษาศิล และเจริญภาวนา

แล้วจิตก็จะ วิวัฒน์ ไปเองไม่ดีกว่าหรือ

พระพุทธเจ้าบอกทางสายเอก มีสายเดียวคือ สติปัฎฐาน 4

นั่นหมายถึง บทความของหมอปราสาน ต่างใจ นั้นกำลัง พยายามอธิบาย แบบวิทยาศาสตร์ บนความคิด ความเป็นไปได้ และจินตนาการ

ซึ่งอ่านแล้วก็หนุกดี แต่คิดไป ก็เท่านั้น เพราะ คิดในเรื่องที่เกินกำลังคนธรรมดา

ที่โดนทุกข์ปักอยู่ ด้วย โลภ โกรธ หลง
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 6

โพสต์

Jeng เขียน:ทำไมพรหม เป็นมนุษย์ต่างดาว หมอประสาน ต่างใจ ชอบเห็นจานบินไม่ใช่เหรอ

ท่านที่ชอบเห็นมนตด. น่าจะเป็นท่านเทพพนม เมืองแมน มั้งคับ

จริงๆแล้ว พรหม น่าจะเหาะเหินเดินอากาศได้ คิดเล่นๆ

คริๆ

เท่าที่อ่าน ไม่น่าเอามาปนกันให้วุ่นวาย แค่เดินตามแนวทางพุทธ เน้น ให้ทาน รักษาศิล และเจริญภาวนา

แล้วจิตก็จะ วิวัฒน์ ไปเองไม่ดีกว่าหรือ

พระพุทธเจ้าบอกทางสายเอก มีสายเดียวคือ สติปัฎฐาน 4

นั่นหมายถึง บทความของหมอปราสาน ต่างใจ นั้นกำลัง พยายามอธิบาย แบบวิทยาศาสตร์ บนความคิด ความเป็นไปได้ และจินตนาการ

ซึ่งอ่านแล้วก็หนุกดี แต่คิดไป ก็เท่านั้น เพราะ คิดในเรื่องที่เกินกำลังคนธรรมดา

ที่โดนทุกข์ปักอยู่ ด้วย โลภ โกรธ หลง

เข้าใจว่าท่านพยายามจะบอกว่าทุกศาสนาสำคัญมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน และสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะการค้นคว้าทางด้านแควนตัมฟิสิกส์ที่ในขณะนี้ยังเป็นเพียงกระแสรอง(มาแรง)ในวงการวิทยาศาสตร์โลกที่กำลังมุ่งมั่นอธิบายสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ทางวิทยาศาสตร์ในอดีตเรื่อยมาตราบจนทุกวันนี้ และโดยเฉพาะในส่วนที่เข้ากันได้กับหลักการสำคัญในพุทธศาสนา  บางที..นั่นยิ่งอาจทำให้กลุ่มกระแสหลักไม่อาจจะทำใจยอมรับได้แม้จะใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ค้นคว้าทดลอง อธิบายและสรุปจนนำไปสู่ทฤษฎีใหม่ๆ

การที่จะทำอย่างไรให้ทั้งฝรั่งและไทยหรือใครก็ตามเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้เหมือนกัน ร่วมกัน เห็นพ้องสอดคล้องกัน

จุดหมายปลายทางก็อาจจะอยู่ที่ การดำรงอยู่ของมนุษยชาติในอนาคตนั่นเอง
มีบทความประเภทนี้ที่คุณหมอเขียนไว้ มากมายจริงๆคับ..
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 7

โพสต์

เหนือกายคือจิต-กรรมร่วมของเผ่าพันธุ์

น.พ.ประสาน ต่างใจ
คอลัมน์   - ความทรงจำนอกมิติ
14 มกราคม 2550    


บทความในช่วงหลังๆ มานี้เป็นเรื่องของความล่มสลายหายนะอย่างยิ่งใหญ่อย่างสุดๆ ของโลกและสังคมมนุษย์ ที่ไม่ได้แตกต่างกันโดยหลักการ ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่อิรัก การก่อการร้าย โรคระบาดหรือเภทภัย

ที่เราเรียกรวมๆ ว่าภัยธรรมชาติ ซึ่งในท้ายที่สุดต่างล้วนเกิดจากมนุษย์กับกิเลสตัณหาและความคิดแยกส่วนจากความเป็นสอง (dualism) ที่มีที่มาจากอวิชชาความแตกแยกแตกต่างกันในทุกระดับของสังคม  -  รวมทั้งการมีระเบิดในใจกลางกรุงเทพฯ ไล่ลงมาถึงระดับครอบครัว - อีกที อย่างไรก็ตามมหาภัยที่แท้จริงของโลกที่จะทำให้ภัยทั้งหลายแหล่ รวมทั้งภัยสึนามิแผ่นดินไหวหรือแม้แต่สงครามนิวเคลียร์กลายเป็นเรื่องกระจอกนั้น  เรายังไม่ได้เห็นกันเพราะว่ามันยังมาไม่ถึง ทั้งหมดล้วนเกิดจากความล่มสลายของระบบนิเวศโลกทำให้โลกร้อน หรือเกิดสภาพเรือนกระจก   การเผาซากฟอสซิลคาร์บอนที่โลกอุตส่าห์ซ่อนไว้ลึกในใต้ดินแต่ก็ไม่พ้นมือมนุษย์  มหันตภัยที่อาจถึงขนาดที่เสี่ยงต่อการสูญสิ้นของเผ่าพันธุ์หรืออย่างน้อยคนส่วนใหญ่มากๆ จนส่วนที่เหลือมีเหลือเพียง "หยิบมือเดียว" ตามที่นักวิทยาศาสตร์ระดับนำของโลก จอห์น ลัฟล็อก เอามาเขียน  (John  Lovelock : The Revenge of Gaia, 2006) ที่สอดคล้องกับรายงานของคณะทำงานติดตามดินน้ำป่าอากาศขององค์การสหประชาชาติที่ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่างๆ ร่วมสามพันคน (IPCC) นั่น - ถึงจะเป็นเรื่องยิ่งที่ไม่ได้อยู่ไกลตัวอีกต่อไป แปลกแต่จริงคือความไม่รู้ไม่สนใจของชาวโลก ในที่นี้รวมทั้งคนไทยเราที่คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นประเด็นทางธรรมชาติที่มีมาแต่ไหนแต่ไร  เราจะวิตกกังวลกับเรื่องของธรรมชาติไปทำไม? แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิดและประมาทอย่างยิ่ง  เพราะมหาภัยในครั้งนี้ไม่ใช่ภัยที่เกิดจากธรรมชาติตามปกติเลยแม้แต่น้อย หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงนอกธรรมชาติโดยมีมนุษย์เป็นผู้กระทำ  และเป็นไปได้ที่มหันตภัยนานัปการในครั้งนี้จะล้มล้างอารยธรรมโลกไปทั้งหมดอย่างช้าที่สุด ก่อนสิ้นศตวรรษนี้และอย่างเร็วภายในหนึ่งทศวรรษ ดังที่สตีเฟน ไมเออร์ อดีตรัฐมนตรีของอังกฤษ  ประธานคณะทำงานดินฟ้าอากาศโลก (International climate taskforce) คาดการณ์ไว้ นั่น - เป็นการมองจากด้านโลกกายภาพแห่งชีวิตหรือ ไกย่า (Gaia) ของจอห์น ลัฟล็อก ที่กล่าวว่า   โลกแห่งชีวิตของเราจะประสบกับสภาพโลกร้อนที่อุณหภูมิของโลกและระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ที่อยู่คู่กัน) จะสูงกว่าระดับธรณีประตู (threshold) ที่สิ่งมีชีวิตจะดำรงอยู่ได้ในราวๆ สี่ทศวรรษข้างหน้านี้เท่านั้น นั่นคือ ประชาโลกที่เป็นเด็กอยู่ในวันนี้ หรือเป็นไปได้ที่แม้แต่คนหนุ่มคนสาวที่มีชีวิตอยู่ในวันนี้ จะมีโอกาสที่จะเผชิญหน้ากับมหันตภัยธรรมชาติซ้ำๆ ซากๆ ด้วยตัวเองเมื่อสถานการณ์ในเวลานั้นเป็นเหตุให้ประชากรโลกที่มีอยู่หลายพันล้านคนล้มหายตายจาก จากไปด้วยมหาภัยธรรมชาตินานัปการอย่างแทบหมดสิ้น ที่อาจจะหลงเหลือไว้ก็เพียงแค่ "หยิบมือเดียว" (handful) ดังที่ผู้เขียนเขียนเล่ามาในบทความคราวที่แล้ว

นั่นเป็นประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์มองโลกอนาคตจากด้านของวิทยาศาสตร์กายภาพอย่างตรงไปตรงมาที่น่ากลัวที่สุด ประเด็นต่อไปคือ ทำไมเราจึงไม่รู้ไม่กลัวกัน? พูดกันตามข้อเท็จจริง  บทความที่ผู้เขียนเขียนซ้ำๆ  และที่นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกเขียนหรือรายงานมานั้นก็เพราะต้องการให้ผู้อ่านนำไปคิดและเปลี่ยนแปลงตัวเองและหาทางยับยั้งสภาพโลกร้อนเท่าที่เราจะร่วมกันทำได้  ไม่ใช่ว่าเพื่อพูดซ้ำๆ  กับสิ่งที่เราทำอะไรไม่ได้ จริงๆ แล้วเราทำได้และอาจสามารถช่วยตัวเองและช่วยคนอื่นๆ ได้ไม่มากก็น้อย ทั้งหมดที่เขียนมาก็เพื่อให้เราหยุดคิดสิ่งที่ไม่เข้าเรื่องเข้าราวที่เราทำอยู่ทุกวันนี้  ไปสู่วิธีคิดใหม่และกระบวนทัศน์ใหม่ ไม่ใช่อะไรๆ ก็ขอให้เหมือนเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เช่นเรายังคิดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือการหาทางหาพลังงานทดแทนดังที่จอห์น ลัฟล็อก ประชดประชันไว้ในหนังสือของเขาที่อ้างไว้แล้วข้างบน เราต้องตระหนักและรู้ตัวว่า  เราต้องเปลี่ยนวิถีการดำรงอยู่ของเราจากกายสู่จิต กระบวนทัศน์ใหม่เป็นกระบวนทัศน์ทางจิต และผู้เขียนเชื่อมั่นว่านั่นคือหน้าที่ของเราที่ต้องรักษาเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เอาไว้ให้ได้ ไม่ว่ามนุษย์จะหลงเหลืออยู่เพียง "หยิบมือเดียว" หรือไม่กี่คน เราต้องตระหนักรู้ว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ใหญ่กว่า - มีความสำคัญยิ่งกว่า และอยู่ใกล้ตัวมนุษย์เราในโลกทุกคนยิ่งกว่าประเด็นของสงครามที่อิรักและที่อัฟกานิสถานหรือมากยิ่งกว่าความวิตกกังวลว่าเกาหลีเหนือและอิหร่านจะมีอาวุธปรมาณูพร้อมจรวดระยะไกลหลายร้อยลูกไว้ในครอบครอง หรือสำหรับเราที่อยู่ในประเทศไทย  ภัยธรรมชาติที่จะเกิดอย่างรุนแรงและถี่กระชั้นในทศวรรษข้างหน้านี่ ทั้งมีความน่าสะพรึงกลัวและใกล้ตัวยิ่งกว่า  หุ้นล่มค่าเงินบาทแข็งตัวหรือปัญหาของสามจังหวัดภาคใต้  หรือแม้แต่ปัญหาสึนามิเมื่อสองปีก่อนอย่างสุดจะนำมาเทียบกันได้
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 8

โพสต์

มองจากประเด็นทางกายภาพ ผู้เขียนคิดว่า เราไม่ควรจะไปฟื้นฝอยหาตะเข็บหรือหาผู้รับผิดชอบที่จะเป็นเหตุให้คนจำนวนหลายพันล้านคนต้องล้มหายตายจากจากภัยธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นหนักและรุนแรงกว่าอย่างแน่นอนในเร็วๆ  นี้  ความสูญเสียที่ว่านั้นคาดว่า  จะเริ่มตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษหน้าเป็นต้นไป ดังที่นักคิดนักเขียนว่าด้วยอนาคตหลายๆ คนได้คาดการณ์เอาไว้

ที่ผู้เขียนคิดว่าไม่ควรไปโทษใครในเรื่องที่สุดยิ่งใหญ่เช่นนี้  ก็เพราะว่าผู้เขียนไม่เชื่อว่าวิกฤติปัญหาที่เราประสบและกำลังจะประสบมากยิ่งกว่าทั้งหมดเป็นเรื่องทางด้านกายภาพแต่เพียงด้านเดียว  ผู้เขียนยังมองจากทางด้านจิตและศาสนาที่อยู่เหนือกายภาพควบคู่ไปด้วย - เรื่องของพิมพ์เขียว  (cosmic  blueprint)  หรือมหาปัญญาแห่งจักรวาล  (intelligent universe)  ฯลฯ - ตามที่นักวิทยาศาสตร์ระดับนำของโลกที่ผู้เขียนคิดว่าพวกเขาเชื่อในเรื่องของจิตสากลและได้เขียนเป็นหนังสือเอาไว้มากมาย ซึ่งก็ได้เขียนไปแล้วและอ้างอิงไปมากแล้วในบทความต่างๆ ของผู้เขียน

ผู้เขียนเชื่อว่า   เราทุกคนที่อยู่ในศาสนาพุทธ  เชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรมที่อธิบายว่า มนุษย์ทุกคนที่ยังไม่บรรลุวิมุตติเมื่อตายลงไป จะต้องเกิดใหม่ซึ่งควบคุมโดยกรรมหรือการกระทำที่มีคุณธรรมจริยธรรมความดีงามเป็นสิ่งกำหนด   แรงที่ขับเคลื่อนกรรมของแต่ละคนประกอบด้วยกิเลสตัณหากับอวิชชา  และเท่าที่ผู้เขียนรู้ ศาสนาพุทธไม่ได้ให้รายละเอียดในเรื่องของกรรมของเผ่าพันธุ์หรือกรรมร่วมของมนุษยชาติโดยรวม  (collective  karma)  เอาไว้ แต่จะพูดถึงกรรมที่เกิดจากการกระทำส่วนตัวของแต่ละคนเป็นปัจเจกมากกว่า โดยเน้นที่เจตนาหรือความตั้งใจที่จะก่อกรรมนั้นๆ  ซึ่งก็มีกรรมไม่ดีกับกรรมดี - อกุศลกรรมและกุศลกรรมของคนแต่ละคน - ทำนอง "กรรมใดใครทำใครก่อ ผู้นั้นก็รับกรรมไป" ที่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ส่วนในด้านของปรัชญาของอินเดีย เช่น ในคัมภีร์เวทันตะ มีการพูดถึงกรรมโดยรวม หรือกรรมร่วมของเผ่าพันธุ์เอาไว้   นั่นคือ  นอกจากการกระทำอันเป็นปัจเจกกรรมของมนุษย์เราแต่ละคน  (personal karma)  แล้ว คัมภีร์เวทันตะดังกล่าวยังได้พูดถึงกรรมโดยรวมเอาไว้ด้วย ความแตกต่างกันระหว่างกรรมทั้งสอง  อยู่ที่ที่มาของการกระทำ  กรรมที่เป็นของมนุษย์แต่ละคนเป็นปัจเจกนั้น เป็นการก่อการกระทำของเราแต่ละคนในอดีต  หรือในอดีตชาติ ในขณะที่กรรมโดยรวมรวมทั้งกรรมร่วมแห่งเผ่าพันธุ์จะเป็นการกระทำของผู้อื่นรวมๆ   กันที่ทำให้ทุกคน โดยปัจเจก พลอยรับผลของการกระทำนั้นๆ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้กระทำกรรมนั้นๆ

ส่วนในทางจิตวิทยาของโลกตะวันตก   ผู้ที่พูดถึงเรื่องของกรรมไว้บ้าง  ได้แก่ คาร์ล จุง ที่ตลอดเวลาของชีวิต  ยกเว้นในช่วงหลังๆ ก่อนตาย คาร์ล จุง จะเชื่อและพูดแต่เรื่องของกรรมร่วมของตระกูล (ancestor's archetype) ซึ่งเป็นส่วนของจิตไร้สำนึก (สนามต่อเนื่อง)  อันสากล  (universal unconscious continuum) พูดในแง่หนึ่ง คาร์ล จุง จะเชื่อและยอมรับแต่กรรมร่วม (collective karma) ที่เขาอธิบายว่า เป็นพันธุกรรมทางจิต ที่สืบทอดอยู่ในตระกูล (หรือเผ่าพันธุ์) ของมนุษย์เช่นเดียวกับการสืบทอดทางกรรมพันธุ์ของสีผิว สีของตา (ไอริส) และนิสัยสันดานบางประการโดยจุงจะตั้งข้อสงสัยในเรื่องของกรรมของแต่ละคนเป็นปัจเจกของพุทธศาสนา แต่ก่อนคาร์ล จุง จะเสียชีวิตไปไม่นานในปี 1961 จุงได้ฝันหลายๆ คืนติดต่อกันทำให้จุงกลับมายอมรับเรื่องของปัจเจกกรรมของแต่ละคนแต่ก็ไม่ได้ออกความเห็นใดๆ  ในเชิงวิเคราะห์เอาไว้

ที่ไม่ควรโทษใครเป็นเพราะว่า กิเลสตัณหาและอวิชชา - พื้นฐานของกรรมร่วมของเผ่าพันธุ์ - ที่มนุษย์เราต้องเรียนรู้  และผ่านพ้นความเป็นธรรมชาติ  (หยาบดิบ)  ของมนุษย์ (human  nature)  ที่เราคิดว่าเป็นอนุสัยสันดานที่เปลี่ยนไม่ได้  จริงๆ แล้วเปลี่ยนได้ จริงๆ แล้วระบบสังคมเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นผลพวงโดยตรงของระบบการศึกษา - ที่ตั้งบนฐานของวิทยาศาสตร์กายภาพที่มนุษย์ค้นพบและพัฒนาขึ้นมาเป็นเทคโนโลยีโดยเข้าใจผิดคิดว่าวิทยาศาสตร์กายภาพที่ไม่สมบูรณ์อย่างยิ่งนั้น  มีความสมบูรณ์และถูกต้องให้ความจริงแท้ที่สอดคล้องกับกิเลสตัณหาหรือธรรมชาติของมนุษย์  -  ที่เรามีเราใช้กันอยู่ต่างหากที่ผิดไปจากครรลองของธรรมชาติ ฉะนั้น ในช่วงสองร้อยปีมานี้ มนุษย์เราจึงได้เดินทางผิดบนเส้นทางที่ไม่มีความสมบูรณ์มาตลอดเวลา ที่น่าคิดก็คือ  การรับกรรมร่วมของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติทั้งหมดของโลกนั้นมีจุดเริ่มต้น - ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นคลื่นหรือกระแสความเป็นตะวันตก   หรืออารยธรรมความเป็น "สมัยใหม่" หรือกระแสโลกานุวัตร - ต่างล้วนเริ่มที่ประเทศที่พัฒนามากแล้วทั้งสิ้น ในขณะที่ความตายและความทุกข์ที่เกิดจากภัยธรรมชาติล้วนเป็นผลของชะตากรรมของคนในประเทศที่ยากจนด้อยพัฒนา - ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของโลกและเป็นเพียงผู้ตาม - ที่ต้องพลอยรับกรรมร่วมของเผ่าพันธุ์ตามไปด้วย เหมือนกับที่ได้อธิบายมาข้างบน

อย่างไรก็ดี  แม้ว่ามนุษย์ในโลกทุกคนไม่สามารถหนีกรรมร่วมได้  แต่ที่สำคัญกว่าที่ทำให้มนุษย์แต่ละคนแตกต่างกันก็เพราะว่ากรรมของอดีตแต่ละคนไม่เหมือนกัน   และกรรมของแต่ละคน ในส่วนที่สำคัญมาจากพฤติกรรมที่ชี้นำโดยเจตนาหรือจิตรู้หรือจิตสำนึก  ดังนั้นหากแต่นี้ต่อไป เราแต่ละคนเป็นปัจเจก  สามารถมีจิตสำนึกใหม่หรือมีจิตวิวัฒน์โดยทำแต่กรรมดี มีคุณธรรมจริยธรรม  มีความรักเมตตาเป็นสากลและรู้จักให้อภัย  พร้อมกับปฏิบัติจิตปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า แม้เราจะลบกรรมร่วมให้หมดไปไม่ได้ แต่นั่นคือหนทางเดียวที่เราจะสร้างเกราะคุ้มกันสามารถผ่อนหนักเป็นเบาในเรื่องของความทุกข์ทรมานทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างมีสติตลอดเวลา.
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 9

โพสต์

แนะนำผู้เขียนคับ..

รูปภาพ

รูปภาพ
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ศตวรรษสุดท้ายของเรา

คอลัมน์ จิตวิวัฒน์

โดย ประสาน ต่างใจ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

มติชน วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10549


ชื่อบทความนี้เอามาจากหนังสือที่เขียนขึ้นมาเมื่อสองปีก่อน โดย เซอร์ มาร์ติน รีส นายกราชสมาคมดาราศาสตร์แห่งอังกฤษคนปัจจุบัน (Sir Martin Reese: Our Final Century, 2004) และได้รับการตอบสนองจากนักวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตกแตกต่างกันไป ตั้งแต่เห็นด้วยทั้งหมดไปจนถึงไม่เห็นด้วยเลย เพราะเหมือนกับนวนิยายวิทยาศาสตร์มากกว่า แต่ เซอร์ มาร์ติน ไม่ได้เขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์และกล้าหาญพอที่จะบอกว่า เขาหมายความเช่นนั้นจริง

เซอร์ มาร์ติน กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า ไม่เพียงแต่อารยธรรมของมนุษย์เท่านั้นที่จะล่มสลายหายไปทั้งหมด แต่แม้เผ่าพันธุ์ของมนุษย์เองก็จะพลอยสูญพันธุ์ไปด้วย นักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงชื่นชมความกล้าหาญของ เซอร์ มาร์ติน รีส ที่กล้าเอาชื่อเสียงมาเป็นเดิมพัน เพื่อยืนยันความเห็นและความเป็นห่วงโลกธรรมชาติของเขาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

ผู้เขียนได้นำข้อมูลทั้งหมดนั้น รวมทั้งข้อมูลของ สตีเฟน บายเออร์ (Stephen Byers) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของอังกฤษ ประธานคณะทำงานดินน้ำป่าอากาศนานาชาติ (International Climatic Taskforce) ที่บอกว่า มนุษยชาติมีเวลาเหลืออีกเพียงทศวรรษเดียว และจากหนังสือของ เจมส์ เลิฟล็อค (James Lovelock) ที่จะกล่าวต่อไป พูดในที่ต่างๆ สามสี่รายการก่อนสิ้นปี 2006 ไม่กี่วัน และก่อนการวางระเบิดหลายจุดในใจกลางกรุงเทพฯ ปรากฏว่า ผู้ฟังแทบทั้งหมดนั่งนิ่งเงียบกริบไปตามๆ กัน

จริงๆ แล้วเรื่องความพินาศหายนะของระบบนิเวศโลก ซึ่งเป็นผลโดยตรงของการทำลายธรรมชาติของมนุษย์ด้วยระบบทุนนิยมเศรษฐกิจเสรีกับเทคโนโลยีล้างผลาญทรัพยากรของโลกนั้น มีนักวิทยาศาสตร์ได้เขียนเอาไว้มากมาย กระทั่ง ริชาร์ด ลีกคีย์ เขียนไว้เป็นหนังสือที่ชี้บ่งสภาพการณ์ที่เราอาจเรียกว่าสภาวะโลกแตกครั้งที่หก (Richard Leakey: The Sixth Extinction, 1996) ว่า "สภาพโลกแตก (mass extinction) ที่เกิดกับโลกแห่งชีวิตมาแล้วห้าครั้งนั้น เราไม่รู้ หรือพิสูจน์ไม่ได้หมดว่าเป็นเพราะอะไร แต่ครั้งต่อไปนี้เรารู้ว่าเกิดจากฝีมือของเราเอง"

การคาดการณ์อนาคตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของ เซอร์ มาร์ติน รีส นั่น - ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชื่อ บิล จอย ที่ผู้เขียนเอาชื่อบทความของเขาที่ลงใน ไวร์ (Wired) แม็กกาซีนมาตั้งเป็นชื่อหนังสือของผู้เขียนว่า ศตวรรษใหม่ที่โลกไม่ต้องการมนุษย์อีกแล้ว (Why the Future Doesn"t Need Us)

เมื่อช่วงต้นศตวรรษ บิล จอย (Bill Joy) เองได้คาดการณ์ไว้คล้ายๆ กับ เซอร์ มาร์ติน รีส หรือในอีกด้านหนึ่งที่เป็นด้านของจิตวิญญาณ ด้วยญาณทรรศนะหรือความรู้เร้นลับ (mysticism) ของสัตเปรม ทายาทของคุณแม่ (The Mother) กับ ศรีอรพินโท (Sri Aurobindo) ที่เชื่อว่ามนุษยชาติจะสูญพันธุ์ไปทั้งหมดและชีวิตที่จะวิวัฒนาการขึ้นใหม่แทนมนุษยชาติจะเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีจิตวิญญาณสูงส่งและทรงปัญญาอย่างยิ่ง โดยมีรูปร่างครึ่งแมงกะพรุนครึ่งปลาหมึก (Satprem: Evolution II, 1990)

แท้จริงแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า เซอร์ มาร์ติน รีส คงเชื่อรายงานของคณะทำงานติดตามการเปลี่ยนแปลงดินน้ำป่าอากาศโลก (IPCC) ของสหประชาชาติที่รายงาน (ครั้งที่สาม) เอาไว้เมื่อปี 2001 (ไอพีซีซีประกาศว่าจะรายงานครั้งต่อไปในปี 2007) แต่รายงานของไอพีซีซีนั้น เป็นทางการและเป็นวิชาการมากเกินไป จนคนทั่วไปหรือผู้อยู่ในอาชีพอื่นๆ หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ในสาขาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของดินน้ำป่าอากาศ มักไม่ค่อยติดตามอย่างใกล้ชิดหรือไม่สนใจ ความเป็นวิชาการที่ใช้วิธีวิทยา (methodology) ทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้มานานดึกดำบรรพ์ เช่น การทำซ้ำโดยใครที่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของกายและพลังงาน อันเป็นเรื่องภายนอกทั้งสิ้น ที่ ธอมัส คุห์น บอกว่าเปลี่ยนใหม่ได้แล้ว (Thomas Kuhn : Structure of Scientific Revolutions, 1962)

ความเป็นวิชาการที่เกินไปเช่นนั้นเองที่ทำให้คนทั่วไป โดยเฉพาะนักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์สายสังคมผู้นำประเทศมักไม่ได้รับข้อมูลอันสำคัญอย่างยิ่งนี้เท่าที่ควร ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ของโลกไม่สามารถทำอะไรที่เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการสรรค์สร้างอารยธรรม "สมัยใหม่" ซึ่งก่อความล่มสลายให้กับระบบนิเวศธรรมชาติ ความรับผิดชอบในผลพวงที่ประเทศของตนเหล่านั้นเองเป็นผู้แพร่กระจายอารยธรรมที่ทำลายโลกให้เป็นกระแสโลกาภิวัตน์อย่างไร้หนทางแก้ไขอยู่ในขณะนี้

เจมส์ เลิฟล็อค นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกอีกคนหนึ่งที่พูดเช่นเดียวกับ มาร์ติน รีส, เลิฟล็อคเป็นนักชีวเคมีผู้ตั้งทฤษฎีไกย่า (Gaia theory) หรือโลกที่เป็นประหนึ่งองค์กรชีวิต ที่ทุกวันนี้มีนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยให้การยอมรับ ในอดีตเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การนาซา ผู้คำนวณว่า พิจารณาจากการปราศจากสารเคมีที่เป็นของเสีย (ที่ต้องปล่อยออกมาของสิ่งมีชีวิต) สู่บรรยากาศ (ที่มีเพียงเล็กน้อยบนดาวอังคาร) แสดงอย่างชัดเจนว่าดาวอังคารไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่

ข้อมูลของ เจมส์ เลิฟล็อค ที่ว่า ดูจะขัดแย้งกับข้อมูลที่องค์การนาซาได้มาเมื่อไม่กี่วันมานี้ จากการสำรวจดาวอังคารโดยตรง ที่ชี้บ่งความเป็นไปได้ว่า มีสิ่งมีชีวิตและน้ำอยู่ภายใต้พื้นผิวของดาวนพเคราะห์คู่เแฝดของโลก นั่นไม่ได้แปลว่า เจมส์ เลิฟล็อค คำนวณผิด แต่เพราะ เจมส์ เลิฟล็อค ไม่มีข้อมูลที่ได้จากใต้ดินของดาวอังคารมากกว่า

เจมส์ เลิฟล็อค เป็นนักวิทยาศาสตร์อีกผู้หนึ่งที่เชื่อมั่นว่า เผ่าพันธุ์ต่างๆ ของโลกกำลังเดินทางมาถึงจุดพินาศหายนะแทบจะโดยสิ้นเชิงก่อนสิ้นศตวรรษนี้ หรือเมื่อไรที่อุณหภูมิโลกสูงกว่าอุณหภูมิในปี 1800 เกิน 5 องศาเซลเซียส และจากนั้นอุณหภูมิที่สูงเช่นนั้นหรือกว่านั้นจะอยู่กับโลกเราไปอีกนับเป็นแสนๆ ปี เจมส์ เลิฟล็อค บอกว่า สำหรับเขาเองและนักวิทยาศาสตร์หลากหลายที่ติดตามสภาพดินน้ำป่าอากาศของโลกอย่างใกล้ชิด ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการเปลี่ยนแปลงของดินน้ำป่าอากาศและอุณหภูมิโลกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะต้องเกิดขึ้นในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน "โลกจะร้อนเหมือนเป็น "นรก" ที่มีแต่ความตายอยู่ทุกหนแห่ง ตอนนั้นประชากรโลกที่มีจำนวนมากหลายๆ พันล้านคน จะมีเหลืออยู่เพียง "หยิบมือเดียว" (handful) เท่านั้น" ... "เป็นฝีมือของเราเองที่สร้างความฉิบหายไร้ระเบียบให้กับดาวเคราะห์ดวงนี้ และบ่อยครั้งด้วยความตั้งใจที่คิดว่าดีอย่างเสรีแต่ไร้การควบคุม แม้แต่ขณะนี้ ที่เสียงระฆังบ่งบอกถึงความตายที่ใกล้เข้ามาอย่างชัดแจ้ง แต่เรายังพูดกันถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และการแสวงหาพลังงานทดแทน ราวกับว่าสิ่งที่เรากำลังให้คืนกลับโลก (ที่สุดแสนจะจิ๊บจ๊อย) - ที่เราคิดว่าเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของเรา - ที่โลกแห่งชีวิต หรือไกย่า ควรจะยอมรับ

ว่าไปแล้วเราเหมือนกับเด็กเหลือขอของครอบครัวที่ไร้ความผิดชอบใดๆ นอกจากสร้างแต่ปัญหา หรือเอาแต่จะทำลายและทำร้ายผู้อื่น แล้วคิดว่าเพียงคำขอโทษเท่านั้นก็จบเรื่อง เจมส์ เลิฟล็อค คิดว่าแม้โลกเราจะชอบความหนาวเย็นมากกว่าชอบโลกที่ร้อน แต่ถึงตอนใกล้ๆ สิ้นศตวรรษที่ 21 นั้น คือเมื่ออุณหภูมิโลกอยู่ที่ 5 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น เขาเชื่อว่าเมื่อนั้นแทบจะทุกทวีป และแทบทุกมหาสมุทรจะกลายเป็นทะเลทรายหรือน้ำร้อนจัดจนสัตว์น้ำอยู่กันไม่ได้ ยกเว้นเพียงภูมิภาคบางส่วนที่อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือกับขั้วโลกใต้ที่จะเย็นพอเพราะมีน้ำแข็งเหลืออยู่บ้าง และเป็นภูมิภาคนี้เท่านั้นที่อาจมีเผ่าพันธุ์ของมนุษย์กระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ (James Lovelock : The Revenge of Gaia,2006)

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นการคาดการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นเชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างมาก (high probabilities) ไม่ว่าหลายคน - รวมทั้งศรีอรพินโทและสัตเปรมที่เป็นผู้ปฏิบัติจิตมาอย่างยาวนาน - จะเชื่อว่า ไม่เพียงแต่อารยธรรมสมัยใหม่เท่านั้นที่จะหายไปทั้งหมด แต่แม้แต่เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ชาติก็จะพลอยสูญพันธุ์หายไปทั้งหมดพร้อมกันไปด้วย หรือว่าเผ่าพันธุ์จะเหลือเพียง "หยิบมือเดียว" เช่นไม่กี่ล้านคนอย่างที่ เจมส์ เลิฟล็อค ทำนาย

ทั้งหมดนั้นมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนและยืนยันว่าต้องเป็นอย่างนั้นมากกว่าไม่เป็นประเด็นคือมันจะเป็นไปได้จริงหรือไม่? คำตอบที่แท้จริงเราคงไม่รู้ เพราะมันดูจะคาบเกี่ยวกันกับสองมุมมองที่ต่างกัน

ประเด็นแรก มองจากทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ข้อมูลทางโลกดูจะบ่งชี้ไปทางเส้นทางนั้น คือเป็นไปได้ว่าเผ่าพันธุ์ของมนุษย์อาจจะสิ้นสุดก่อนสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ หรือเหลือน้อยเต็มที ดังที่ เซอร์ มาร์ติน รีส และ เจมส์ เลิฟล็อค และนักวิทยาศาสตร์หลายคนคาดคะเน การสิ้นสุดสูญพันธุ์ของชีวิตย่อมมีผลตามมาของวิวัฒนาการใหม่ หรือการเหลือเชื้อพันธุ์ที่น้อยนิด ภายใต้สิ่งแวดล้อมใหม่ย่อมให้โอกาสกับการกลายพันธุ์ก็ได้ ส่วนประเด็นที่สอง หากมองในด้านของจิตวิญญาณที่อยู่ในรูปกายของสัตว์โลกทั้งหลาย จิตจะต้องมีวิวัฒนาการผ่านความเป็นอัตตาตัวตนสู่ความหลุดพ้นทั้งนั้น

ไม่ว่าจิตจะอยู่ในรูปกายอย่างหนี่งอย่างใด รูปกายจึงเป็นแต่ "ทางผ่าน" โดยมีอัตตาที่ให้ความเป็น "ตัวกูของกู" อันเป็นสาเหตุของทุกข์ รูปกายมนุษย์ -ในด้านหนึ่ง - จึงเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการวิวัฒนาการอันเป็นกฎธรรมชาติหรือหลักการของอิทัปปัจจยตาก็ได้ ดังนั้น หากมองจากด้านจิต การสูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์ของกายมนุษย์ จึงเป็นเสมือนโอกาสของการมีวิวัฒนาการใหม่ เพื่อให้โอกาสเช่นเดียวกันแก่จิต ทำให้จิตของสัตว์โลกในรูปกายใหม่ สามารถมีวิวัฒนาการทางจิตสู่ความ "หลุดพ้น" ก็ได้ มองจากมุมมองนี้ การสูญสิ้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ไม่มีความสำคัญใดๆ

มองจากประวัติศาสตร์ ผู้เขียนคิดว่า มนุษย์ไม่น่าจะสูญพันธุ์ไปทั้งหมด แต่อาจกลายพันธุ์เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปยาวนานนับแสนปีจากการที่มีโลกร้อนมากๆ อย่างที่ไอพีซีซีคาดการณ์ให้ไว้ ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยเลยว่าสุดท้ายแล้วประวัติศาสตร์ว่าด้วยวิวัฒนาการของโลกกายภาพก็ดี วิวัฒนาการของชีวิตที่มีมาถึงมนุษย์และสังคมของมนุษย์ก็ดี วิวัฒนาการของจิตและจิตวิญญาณที่ยังไม่แล้วเสร็จทั้งยังไกลจากแล้วเสร็จก็ดี ทั้งหมดจะจบลงง่ายดายเช่นนั้น

ผู้เขียนเชื่อว่าประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการทั้งหมดต้องมีความหมาย จริงๆ แล้ว หากเรามองจากด้านของศาสนาต่างๆ ไม่ว่าเป็นศาสนาที่มีพระเจ้าหรือศาสนาที่ไม่พูดถึงพระเจ้า เช่น ศาสนาพุทธ ก็ไม่มีศาสนาใดที่ไม่พูดถึงการสิ้นสุดของโลกและสัตว์โลกอย่างไม่เป็นทางการไว้ เพียงแต่ไม่ได้ระบุเวลา

หากมองจากลัทธิพระเวทย์ที่มีมาเป็นอันดับแรกสุดของศาสนาใหญ่ๆ ของโลก คัมภีร์อุปนิษัทเล่มแรกๆ จะพูดถึง "ลีลา" การละเล่นของพรหมมัน (Brahmam) พระเจ้าผู้สร้างกฎธรรมชาติว่าด้วยวิวัฒนาการของโลกและจักรวาล (เฉพาะจักรวาลนี้) ขึ้นมา ก็เพื่อให้มีมนุษย์มีจิตที่สามารถวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ จนสามารถสังเกตและรับรู้ว่าจักรวาลและโลกคือสิ่งใด? รู้ว่าจิตสามารถหลุดพ้นความเป็นตัวตน หรือ "โมกษะ" กลับไปรวมเป็นหนึ่งกับพรหมมันได้อย่างไร?

นั่นแปลได้ว่าโลกยังต้องรอคอยให้มนุษย์ส่วนใหญ่มีวิวัฒนาการของจิตเข้าสู่ระดับจิตวิญญาณเสียก่อน แม้ว่าโลกเราในปัจจุบันจะอยู่ในยุคสุดท้าย ที่เรียกว่า กลียุค ซึ่งจะต้องล่มสลายไปพร้อมๆ กับชีวิตอันหลากหลายจากความผันผวนของธาตุสามธาตุ รวมหรือแยกกัน คือ น้ำ ลม และไฟ ก็ตาม
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 11

โพสต์

จิตวิวัฒน์กับวิวัฒนาการทางจิตคอลัมน์   - ความทรงจำนอกมิติ
น.พ.ประสาน ต่างใจ
ไทยโพสต์ 28 มกราคม 2550    


มื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้รับเชิญจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ไปพูดเสวนากับนักศึกษาปริญญาเอกในโครงการของคณะฯ นักศึกษาที่ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการศึกษาและครูอาจารย์ของโรงเรียนในที่ต่างๆ โดยมีอาจารย์ของคณะฯ ผู้รับผิดชอบโครงการทั้งหมดร่วมเสวนาด้วย   ประเด็นหนึ่งที่ผู้ร่วมเสวนาหลายคนเหลือเกินตั้งคำถามก็คือ จิตวิวัฒน์คืออะไร? มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อย่างไร? รวมทั้งคำถามที่บางคนอยากจะรู้ เป็นต้นว่ากลุ่มจิตวิวัฒน์ประกอบด้วยใครบ้าง  และทำอะไรให้กับสังคมโดยรวมไปบ้างแล้ว?  คำถามคล้ายๆ กันยังมีมาจากผู้อ่านที่ต้องการความกระจ่างในเรื่องนี้ บทความวันนี้ จึงมีเป้าหมายที่จะตอบคำถามเหล่านั้นเพื่อท่านผู้อ่านท่านอื่นที่มีความสนใจ  และผู้เขียนขอชี้แจงเพิ่มเติมประเด็นอื่นๆ   ตามที่ผู้เขียนเข้าใจและคิดว่าสำคัญ  เผื่อว่าผู้อ่านที่เห็นด้วยกับเรื่องจิตวิวัฒน์และวิวัฒนาการของจิตวิญญาณมีส่วนที่สำคัญยิ่งในการแก้ไขปัญหาของสังคม จะได้นำไปขยายเครือข่ายใยเยื่อต่อๆ ไป

กลุ่มจิตวิวัฒน์ก่อตัวขึ้นเมื่อกลางปี  2546 โดยมีหลักการและเหตุผลกับวัตถุประสงค์กว้างๆ ว่า เนื่องจากขณะนี้สังคมกำลังประสบปัญหาที่ก่อวิกฤติในด้านต่างๆ มากมายที่เราทุกคนสามารถจะรู้สึกได้  กลุ่มจิตวิวัฒน์จึงเชื่อว่าการมองหรือการแก้ไขปัญหาและวิกฤติของสังคมโดยรวม - จากภายนอกที่เกิดจากหลักการแยกส่วนกับวัตถุบริโภคนิยมอีกทีแทบว่าเพียงอย่างเดียว - บนความเคยชินบนจิตรู้หรือจิตสำนึกเก่าๆ  ของเรา   จึงอาจไม่ถูกต้องและสอดคล้องกับกระบวนการธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียวกันหรือเป็นองค์รวม ดังนั้น มนุษย์จำต้องมีจิตสำนึกใหม่  (new consciousness) และมีกระบวนทัศน์ใหม่ทางสังคม (new paradigm) สร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณให้แข็งแกร่งพอที่จะเผชิญหน้ากับวิกฤติและปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมในปัจจุบัน  ที่นับวันจะมีมากและรุนแรงยิ่งๆ  ขึ้นในอนาคต  ดังนั้นทางกลุ่มจึงตั้งความหวังความมุ่งหมายว่า - หากประสบผลในทางบวกดังแนวโน้มของกระแสที่กำลังก่อเกิดบ้างแล้วในขณะนี้ - แนวคิดจิตวิวัฒน์ก็อาจขยายเครือข่ายสู่ชุมชนสถาบันทุกภาคส่วนในที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้เร็วขึ้น

กลุ่มจิตวิวัฒน์ประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มจำนวน 15 คน รวมพระสงฆ์ 2 รูป แพทย์ 5 คน และนักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาวิชาต่างๆ - บางคนเป็นราชบัณฑิต - อีก 8 คน ทั้งหมดเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักดีในด้านการทำงานเพื่อส่วนรวมในด้านหนึ่งด้านใด โดยมีหมอประเวศ วะสี เป็นผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญคนหนึ่งในการจัดตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ขึ้นมา นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประชุมที่ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่จะเข้าร่วมอยู่ในองค์ประชุมจำนวนสามสี่คน การประชุมที่จัดให้มีขึ้นเดือนละหนึ่งครั้งที่มูลนิธิสดศรี - สฤษดิวงศ์ โดยได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ประชุมตัดสินใจที่จะไม่ขยายสมาชิกเพิ่ม เฉพาะกาล เพราะหวังและต้องการสร้างกลุ่มนอกส่วนกลางเพิ่ม  และเพราะการประชุมจิตวิวัฒน์ถูกจัดขึ้นในรูปกึ่ง โบเมียนไดอะล็อก  (bohemian  dialogue) ที่ - โดยทั่วไป - จะมีการกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วม เพื่อให้ทุกคนที่ร่วมการประชุมอย่างเป็นกัลยาณมิตรต่อกันและกัน สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเป็นอิสระและอย่างเต็มที่

คำว่าจิตวิวัฒน์   หมายถึงวิวัฒนาการทางจิตหรือการไหลเลื่อนเคลื่อนที่ไปสู่ความเจริญทางจิต ส่วนคำว่าจิตโดยเฉพาะจิตวิญญาณนั้น กว้างขวางมากและนิยามที่เป็นเอกภาพจริงๆ เป็นไปได้ยาก  เพราะเป็นกระบวนการภายใน หรือเป็นเรื่องที่คนทั่วไปอาจพอจะรู้แต่นิยามให้คนอื่นยอมรับเหมือนๆ กันได้ยาก เพราะว่าเป็นประสบการณ์ภายในที่รับรู้ในจิตใจของแต่ละคน โดยทั่วไปจะรวมกระบวนการภายในทั้งหมด  (mind mentality consciousness psyche spirit ทั้งหมด - ไม่ว่าจะเป็น สติ ความรู้สึก การรับรู้ การรู้และความทรงจำ อารมณ์ ความคิด มโนทัศน์ ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงเรื่องของจิตไร้สำนึก (unconsciousness as consciousness) และจิตวิญญาณ  หรือธรรมจิตของผู้เขียน (spirituality or super-consciousness as cosciousness) คำว่าจิตจึงมีความแตกต่างกันไปขึ้นกับนักจิตวิทยาผู้ศึกษาวิจัยหรือผู้ปฏิบัติที่นำมาใช้นั้นๆ ว่า เป็นที่ยอมรับจากนักคิดนักเขียนนักศึกษาวิชาการรวมทั้งสาธารณชนคนทั่วไปมากหรือน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผู้เขียน เราอาจสามารถพูดรวมๆ กันไปว่าจิตเป็นกระบวนการภายในอันเป็นเรื่องของจิตใจทั้งหมด  ไม่ว่ากระบวนการนั้นเกี่ยวกับการทำงานของสมองหรือไม่อย่างไร?

การสนทนาการพูดคุยกันในกลุ่มที่เป็นกัลยาณมิตรในเรื่องของจิตที่อาจพูดได้ว่าเป็นสิ่งที่ลี้ลับที่สุดและยุ่งยากซับซ้อนที่สุดของบรรดาเรื่องทั้งหมดที่มนุษย์มีและศึกษากันในโลก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาความเป็นเอกภาพได้อย่างตลอดรอดฝั่ง แม้ว่าสมาชิกในกลุ่มจิตวิวัฒน์ทั้งหมดจะมีแนวคิดที่ตรงกันว่า  สังคมโลกซึ่งในที่นี้  สังคมไทย กำลังก้าวไปในทางเสื่อมมากขึ้นและมากขึ้นอย่างน่าวิตก  เราจึงต้องการการคิดใหม่ และวิธีคิดใหม่ๆ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ไปถึงจุดสุดท้าย สังคมเรากำลังต้องการจิตที่ใหญ่กว่าเก่า  ต้องการจิตสำนึกใหม่  กระทั่งในความเห็นของสมาชิกบางคน รวมทั้งผู้เขียน คิดตรงกันว่า สังคมไทยซึ่งก็เป็นหนึ่งหรือเป็นเช่นเดียวกันกับสังคมโลก - ที่นักจิตวิทยาระดับนำชาวตะวันตกส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งเชื่อ - กำลังต้องการวิวัฒนาการของจิตสู่ระดับที่สูงขึ้นไประดับใหม่ที่เป็นกระบวนทัศน์ทางจิตวิญญาณ

แนวคิดของนักคิดนักปรัชญาและนักจิตวิยาระดับนำของโลกแทบว่าจะทุกคนตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น พลาโต โพลตินัส ป็อบเปอร์ นีตส์เซ วิลเลียม เจมส์ มาสลอฟ เตยา เดอ ชาดัง ศรี อรพินโธ พิตทริม โซโรกิน เกบเซอร์ มาจนถึงนักคิดในปัจจุบันเช่น เคน วิลเบอร์  พอล  เรย์  ดเว็น  เอลยิ่น ฯลฯ (บางส่วนได้นำมาอ้างอิงไว้ที่ท้ายของบทความนี้) ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันอย่างค่อนข้างเป็นเอกภาพ - ทั้งด้านที่เป็นปัจเจกและทั้งด้านที่เป็นส่วนรวม - ว่าวิวัฒนาการของโลกธรรมชาตินั้น ผ่านตามไล่กันมาเป็นสามกระบวนการที่แม้เชื่อมโยงกันแต่จะโผล่ปรากฏออกมา  (ให้รับรู้)  แยกจากกันคือหนึ่งวิวิฒนาการของสสารวัตถุ สองวิวัฒนาการของชีวิตสู่มนุษย์และสังคมของมนุษย์ และสามวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณ  โลกเราได้มีวิวัฒนาการผ่านมาแล้วสองกระบวนการ   คือสองนัยแรก  และต่อไปนี้ จะเป็นกระบวนการวิวัฒนาการจากภายใน  สู่ระดับจิตวิญญาณ  (spirituality) และทุกครั้งที่กระบวนการวิวัฒนาการอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือช่วงปรับผ่านนั้น มันมีช่วงว่างของมหาวิกฤติ นั่นคือการแตกและการเรียงตัวใหม่ของทวีป (ที่มีเพียงหนึ่งทวีป เรียกว่าแผ่นดินทั้งหมด Pangaea เมื่อราวๆ 550-600  ล้านปีก่อนที่แทบว่าจะมาพร้อมกับมหาวิกฤติโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด - ที่อาจเรียกว่าเกิดอย่างฉับพลันทันทีในมาตรว่าด้วยความสัมพัทธภาพกับอายุของโลก - ที่เกิดขึ้นกับชีวิตในทะเล (ล้วนเป็นชีวิตเซลล์เดียว)  เมื่ออยู่ๆ  ออกซิเจนในชั้นบรรยากาศใกล้โลก (troposphere) ค่อยๆ เพิ่มจนมีระดับใกล้กับปัจจุบัน  (21%) สภาวการณ์แตกสลายตัวของทวีปแพนไกย่า และการเรียงตัวใหม่ และการที่ออกซิเจนมีเพิ่มขึ้นทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่า  "บิ๊กแบงทางชีวภาพ"  ขึ้นมาทำให้เกิดการเปลี่ยนยุคสมัยของชีวิตที่ซ่อนตัวมองไม่เห็น   (เพราะเป็นสัตว์เซลล์เดียว)  มาเป็นยุคสมัยของชีวิตที่มองเห็น  (phanerozoic  period)  การเริ่มต้นของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่มีเวทนาไล่ขึ้นมา จนเป็นมนุษย์และสัตว์โลกหรือชีวิตที่เรารู้จักในปัจจุบัน

และปัจจุบันก็คือ  ช่วงเวลาของรอยต่อระหว่างกระบวนการวิวัฒนาการทางชีวภาพสู่มนุษย์และสังคมของมนุษย์  มาเป็นกระบวนการวิวัฒนาการของจิต (จิตรู้หรือจิตสำนึกที่ต้องอาศัยสมองเป็นหลัก) มาเป็นจิตวิญญาณ (จิตเหนือสำนึกที่อาศัยสนามจิตสากลหรือสนามแควนตัมนอกสมองเป็นผู้บริหาร ดังที่เดวิด โบห์ม และเซอร์จอห์น เอ็คเคิลส์ เชื่อ)

และปัจจุบันก็คือช่วงเวลาสุดพิเศษ  ช่วงรอยต่อระหว่างกระบวนการวิวัฒนาการที่ว่ามานั้น เมื่อสุดพิเศษ  ดังนั้นย่อมจะต้องอาศัยการสนองตอบของเราอย่างสุดพิเศษเช่นเดียวกัน  คือ เราจะบังคับหรือพัฒนาจิตรู้หรือจิตสำนึกแบบเก่าๆ  เดิมๆ  ผ่านสมอง  สรรค์สร้างคุณธรรมจริยธรรมความรักความเมตตาอหิงสา  โดยไม่มีตัวตน ไม่มีอีโก้ ด้วยการคาดหวังว่ากระบวนการวิวัฒนาการกับกระบวนการพัฒนาจิตรู้ผ่านสมองเป็นเรื่องเดียวกันย่อมไม่พอหรืออาจเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าการมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นสิ่งที่ควรปรารถนา อย่างไรก็ดีเรื่องของศีล ก็เป็นคนละระดับกับเรื่องของวิปัสสนาสมาธิ และยิ่งเป็นเรื่องคนละระดับกับปัญญา - ในที่นี้คือปัญญาที่เป็นสากล หรือภาวนามยปัญญา  สภาวะของผู้ตื่น  ผู้รู้  ผู้เบิกบาน  สภาวะที่ให้การเปลี่ยนแปลง (transformation) ตัวเองอย่างแท้จริง

ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับความคิดของนักคิดนักจิตวิทยาหลายๆ คนว่า มีแต่การสะท้อน - การรู้ที่ได้มาจากการรับรู้จากภายนอกและความคิดความจำที่สมอง  -  สู่ภายในและให้การรู้นั้นๆ เป็นไปของมันเองที่ภายในโดยปราศจากการบังคับของสมอง  นั่นคือญาณหยั่งรู้  หรือญาณทัสสนะ (intuition)   ที่มาเองจากสนามแควนตัมหรือสนามซูเปอร์แควนตัม   (David  Bohm : Wholeness  and  the  Implicate  Order. 1980) ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนรู้ การได้มาก็ด้วยการวิปัสสนาสมาธิเท่านั้น     และสิ่งที่นำมาโดยวิปัสสนาก็จะต้องเป็นสัทธรรมความจริงแท้ เช่นความเป็นจริงของสังสารวัฏ อนิจจัง อนัตตา ความจริงของการเกิดของชีวิตและมนุษย์ก็คือความทุกข์ - ทุกขัง - ซึ่งในระดับบุคคลก็คือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และในระดับสังคมโดยรวมก็คือ ความเสื่อม ความแตกสลายหายนะไปไม่ว่าจะด้วยรูปแบบหนึ่งหรือรูปแบบใด

(Ken  Wilber : Sex Ecology spirituality, 1955; Duane Elgin &  Coleen  De Blue : Global Consciousness Change, 1956 Paul H ; Ray & Sherry Anderson : Cultural Creatives, 2000).
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 12

โพสต์

กาลจักรเก่ากับจักรวาลวิทยาใหม่

11 กุมภาพันธ์ 2550    

ผู้เขียนได้อ่านและวิเคราะห์ข้อมูล ที่ค่อนข้างไม่น่าเชื่อ แปลก และน่าสนใจสำหรับสาธารณชนทั่วไป โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งผู้เขียน - ในฐานะที่เรียนและทำงานในด้านวิทยาศาสตร์แห่งชีวิตในระดับของเซลล์มานาน - นั่นคือข้อมูลที่ให้ความสอดคล้องต้องกันอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ระหว่างคัมภีร์กาลจักร  (ผู้หมุนเวลา) ของวัชรญาณพุทธศาสนาของทิเบตกับจักรวาลวิทยาใหม่  ความสอดคล้องต้องกันระหว่างประสบการณ์ตรงจากภายในของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า - ตามคำบอกเล่าที่เชื่อกัน - เมื่อกว่า 2500 ปีก่อนกับความรู้ว่าด้วยจักรวาลวิทยาใหม่ที่เพิ่งได้มาใหม่ๆ เพียงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ซึ่ง - สำหรับผู้เขียน - ข้อมูลที่พูดได้ว่าตรงกันโดยหลักการ - ได้ก่อความสงสัยอัศจรรย์ใจว่า  ความจริงที่ได้มาจากทั้งสองเส้นทางในระยะเวลาที่ห่างกันหลายพันปี มันเกิดมาตรงกันในหลักการสำคัญๆ ได้อย่างไร? บทความวันนี้ จะพูดถึงข้อมูลที่ตรงกันที่ว่านั้น  เพื่อให้ผู้อ่านนำไปคิดพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการได้มาซึ่งความจริงแท้ที่เป็นหนึ่งเดียวกันที่มาจากภายในและจากความเป็นสัพพัญญูของพระพุทธองค์ - ที่ว่าไปแล้วก่อนตรัสรู้พระองค์ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง - กับความรู้ที่ได้มาจากภายนอก หรือวิทยาศาสตร์ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนมีความมั่นใจโดยปราศจากข้อสงสัยในสัทธรรมความจริงที่มีหนึ่งเดียวของพระพุทธองค์เอามาเขียนเล่าให้ผู้อ่านนำไปพิจารณาต่อ  เหมือนที่  วิลลิส  ฮาร์แมน  อดีตศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และอมิต โกสวามี นักฟิสิกส์แควนตัมแห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอน - ต่างกรรมต่างวาระ - เอามาเขียนที่ผู้เขียนนำมาเขียนและอ้างอิงให้ไว้แล้วในคอลัมน์นี้จึงไม่อ้างซ้ำอีก ส่วนข้อมูลอื่นๆ ผู้เขียนได้มาจากหนังสือห้าเล่มจะอ้างอิงไว้ที่ท้ายของบทความนี้

คัมภีร์กาลจักรนั้นอ้างว่า  หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วหนึ่งปี ในกลางเดือนสาม พระองค์ได้ไปปรากฏที่เขาคิชกูฏและพร้อมกันนั้นก็ได้ส่งกายทิพย์ของพระองค์ไปที่มหาเจดีย์ของเมืองอมราวัตถี  (มัทราส) ที่อินเดียตอนใต้เพื่อแสดงความสำคัญของโพธิวิมุตติด้วยระบบกาลจักราตันตระ  ซึ่งต่อมาได้บันทึกไว้เป็นภาษาสันสกฤต และแพร่ไปถึงทิเบตโดยภิกษุชูลีปะจากนาลันธะ กับบัณฑิตที่ชื่อ นารถภัตชาวอินเดีย (ผู้มีชื่อเรียกหากันในทิเบตว่านาโรปะ) เมื่อปี พ.ศ.1026 ต่อมาคัมภีร์ที่เป็นภาษาสันสกฤตเล่มนั้นก็ถูกนำมาแปลเป็นภาษาทิเบตโดยโสมณะภัตที่เป็นศิษย์ของนาโรปะ

คัมภีร์กาลจักรเล่าว่า  จักรวาลนั้นจริงๆ  แล้วเป็นอนันต์  (infinity) ไม่มีการเกิดการดับแต่จะให้ลูกหลานจากการพองๆ  ยุบๆ  เรื่อยไป  นั่นหมายถึงไม่มีเหตุที่ก่อผล ขณะที่จักรวาลที่มีโลกและสัตว์โลกอาศัยอยู่แห่งนี้  เป็นเพียงหนึ่งของจักรวาลที่มีนับจำนวนไม่มีที่สิ้นสุด ชีวิตและมนุษย์   รวมทั้งสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวง  ล้วนเกิดมาจากธาตุห้าธาตุ คือดิน น้ำ  ไฟ  ลม และอากาศธาตุ (อากาศธาตุถูกแยกเป็นสองธาตุในบาลีไตรปิฎกของเถรวาทเป็นที่ว่างหรือเรียกซ้ำว่าอากาศธาตุกับวิญญาณธาตุ)  โดยมีดิน น้ำ ไฟ ลมที่ล้วนวิวัฒนาการขึ้นมาจากอากาศธาตุ  (space  element)  เป็นความว่างเปล่า หรือสุญตาเป็นพื้นฐานที่มา  คัมภีร์กาลจักรบอกว่าอากาศธาตุนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นความว่างที่ไม่มีอะไรเลย  หากจะประกอบด้วย   "อนุภาคว่างเปล่า"  (empty particles or space particles) ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่ให้กำเนิดแก่สสารอนุภาคที่รวมตัวกันเป็นดิน  น้ำ ไฟ ลม โดยที่อนุภาคว่างเปล่าเองก็ประกอบด้วยอนุภาคที่มีความละเอียดอย่างยิ่ง - ละเอียดจนประหนึ่งเป็นความว่างเปล่า  - อีกที และเป็นอนุภาคว่างเปล่านี้เองที่ให้วิวัฒนาการ (ของลม ไฟ น้ำ ดิน) และวิวัฒนาการย้อนกลับ  (สลายด้วยการดูดซึมกลับสู่ความว่างเปล่าของดิน  น้ำ ไฟ ลม) ที่ประกอบเป็นรูปกายและพลังงานของจักรวาล (นี้) รวมทั้งชีวิตทั้งหลายทั้งปวง หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า  อากาศ  (space) และอนุภาคว่างเปล่า  (space particles) คือที่มาของกระบวนการทั้งหมดของจักรวาล คำว่าอนุภาคนั้น - ในระบบกาลจักร - ให้ความหมายที่ไม่ได้แปลว่าเป็นสสารเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงศักยภาพ (potentialities) ของความเป็นสสารหรือพลังงานด้วย

ฟิสิกส์จักรวาลวิทยาใหม่ให้ข้อมูลที่อาจชี้บ่งว่า  จักรวาลมีจำนวนเป็นอนันต์  (infinity or  multiverses) โดยงอก (budding) หรือให้ลูกหลานออกจากจักรวาลแม่ตลอดเวลา ที่ไร้สาเหตุ  (non-local) สสารและ/หรือพลังงานรวมชีวิตและมนุษย์วิวัฒนาการขึ้นมาจากอนุภาคเทียม  (virtual  particles) - ไร้มวลไร้พลังงานชั่วคราวที่ประกอบเป็นความว่างของที่ว่าง (และเวลา) - ที่มีศักยภาพให้อนุภาคจริงๆ ได้

ระบบกาลจักรบอกว่าการเกิดและการสลายของจักรวาลมีลักษณะเป็นวงจรหรือวัฏจักรที่ประกอบด้วยสี่ระดับหรือสี่ช่วงระยะคือ  หนึ่ง  การเกิดของจักรวาล สอง การตั้งอยู่และการเปลี่ยนแปลงไป สาม การสลายตัวของจักรวาล และสี่ ระดับหรือช่วงระยะแห่งความว่างเปล่าเมื่อดิน น้ำ  ไฟ  ลม สลายและถูกดูดซึมกลับสู่ความว่างและแล้วจักรวาลใหม่ก็จะเกิดขึ้นมาจากซากของจักรวาลเก่าที่ซ่อนเร้นอยู่ในอนุภาคว่างเปล่านั้น

จักรวาลวิทยาใหม่ชี้บ่งว่าจักรวาลเกิดจากการสั่นสะเทือน  (quantum fluccuation) ของพลังงานหลงเหลือจากการสลายตัวของจักรวาลเก่าสู่สภาพว่างทางแควนตัม  (quantum vacuum)  โดยเริ่มต้นด้วยอนุภาคเทียม  ที่จะกลายเป็นอนุภาคจริง (real particle) หรือสสารทีหลัง โดยนักฟิสิกส์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า กระบวนการที่เป็นวงจรของจักรวาลวิทยาใหม่  (ขึ้นอยู่กับการหากฎแห่งความเป็นเอกภาพที่ยิ่งใหญ่  grand unified theory or GUT ที่รวมกฎทั้งหมดทางฟิสิกส์ให้พบ)  จะประกอบด้วยสี่ช่วงระยะคือ  หนึ่ง ซิงกูลาริตี้เมื่อกฎและสมการทางคณิตศาสตร์ล่มสลายไปทั้งหมดและเกิดการระเบิดที่เรียกกันว่าบิ๊กแบง จากการสั่นสะเทือนของพลังงานหลงเหลือที่ซ่อนอยู่ในความว่างเปล่าทางแควนตัมที่ว่านั้น   สอง การดำรงอยู่ของจักรวาลที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา  สาม  การสลายตัวของจักรวาลบิ๊กครันช์หรือบิ๊กฟรีซ  (big crunch or big  freeze)  โดยการรวมตัวกันของหลุมดำที่อยู่ในใจกลางของกาแล็กซีหรือที่อี่นใด  และสี่ ความว่างเปล่าทางแควนตัม  เมื่อสสารและพลังงาน  (ซากของจักรวาลเก่า)  ถูกดูดซึมกลับสู่ความว่างนั้น
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

ที่มาของชีวิตและมนุษย์คือจิตจักรวาล

โพสต์ที่ 13

โพสต์

คัมภีร์กาลจักรยังบอกต่อไปด้วยว่า  แม้ว่าจักรวาลนี้เองก็มีความกว้างใหญ่ไพศาลอย่างยิ่ง โดยใช้คำว่าพันล้านเท่าของจำนวนโลก  หรือจำนวนของโลกที่คาดคิดไม่ได้ยกกำลังสอง (square  untold) ในมัชฌิมจักรวาล (กาแล็กซี) ของเราเองก็มีระบบดาวที่เกิดใหม่และระบบดาวที่ตายไปตลอดเวลา และระบบสุริยะของเราก็เกิดมาด้วยกระบวนการนั้น ดาวทั้งหมดรวมทั้งดาวเคราะห์หรือโลกล้วนมีลักษณะทรงกลมแขวนโคจรอยู่ในที่ว่างของอวกาศ (empty space) ฉะนั้น  จากคัมภีร์ที่มีในช่วงแรกๆ  ของพุทธศาสนาจึงไม่เพียงแต่กล่าวถึงระบบโลกที่มีมากมาย (multiple world systems) หรือมีมากยิ่งกว่าเม็ดทรายที่เรียงรายอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเท่านั้น  หากยังระบุว่าระบบดาวแต่ละระบบมีการเกิดใหม่และมีการดับสลายตลอดเวลา โดยผ่านวัฏจักร (a cycle of an aeon) สี่ช่วงระยะ หรือสี่ยุค (era)

ว่าไปแล้ว  โดยหลักการรวมทั้งบางครั้งแม้ในรายละเอียด จักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาโดยเฉพาะที่บันทึกไว้ในกาลจักราตันตระนั้น ไม่ได้มีความแตกต่างจากจักรวาลวิทยาที่ตั้งบนฟิสิกส์ใหม่หรือวิทยาศาสตร์ใหม่ในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ นั่นคือจักรวาลทั้งหลายทั้งปวงนั้น ไม่มีการเกิดและการดับอย่างสิ้นสูญไปจริง มีแต่การไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงไปไม่รู้จบ นักฟิสิกส์ยุคใหม่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ มักเชื่อในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างที่มิชิโอะ กากุ ที่อ้างอิงถึงข้างท้ายของบทความนี้ว่า จักรวาลมีความเป็นอนันต์ (multiverses) - เกิดใหม่และดับสลายไป - แบบไม่มีความจบสิ้น โดยมีจักรวาลของเราเฉพาะจักรวาลที่มนุษย์เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้เป็นหนึ่งในนั้น ยิ่งไปกว่านั้น มิชิโอะ กากุ ยังกล่าวต่อไปว่าพุทธศาสนาบอกว่าจักรวาลไม่มีเกิดไม่มีดับเป็นวัฏจักรของวิวัตตาและสังวิวัตตา - มีบิ๊กแบงที่ไม่มีการจบสิ้น - นั้น ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะพุทธศาสนาหมายถึงจักรวาลที่เป็นทั้งหมด  (multiverses)  จึงไม่มีความจบสิ้น  ส่วนศาสนาอื่น เช่น คริสต์ศาสนาที่บอกว่ามีการสร้างจักรวาลนั้น  ก็เป็นเรื่องถูกต้องอีกเหมือนกัน  เพราะเป็นการกล่าวถึงเฉพาะจักรวาลนี้ หรือจักรวาลของมนุษย์ที่มีการสร้างขึ้นหลังจากที่มีการระเบิดบิ๊กแบงเพียงครั้งเดียว

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากจักรวาลแห่งรูปกายและปรากฏการณ์ ที่ดูจะตรงกันระหว่างข้อมูลของกาลจักราตันตระกับข้อมูลจักรวาลวิทยาใหม่ในทางวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากหลักการและวิธีการของวิทยาศาสตร์ต้องจำกัดตัวเองโดยการพิสูจน์ในห้องทดลองและ/หรือสนับสนุนด้วยสูตรและสมการทางคณิตศาสตร์ผ่านประสาทสัมผัสภายนอกที่รับรู้ด้วยจิตรู้อีกที  ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงต้องทิ้งเรื่องของจิต  (consciousness)  หรืออย่างดี สามารถแตะได้เพียงบางส่วนบางตอน (ของ  mental pathway) ที่เล็กน้อยเท่านั้น ทำให้เรื่องของจิตส่วนใหญ่โดยเฉพาะเรื่องจิตวิญญาณจะดำรงอยู่นอกวิทยาศาสตร์ในขณะที่ศาสนา  รวมทั้งระบบกาลจักร  อธิบายเรื่องของจิตจากประสบการณ์ภายในของผู้ปฏิบัติศาสนาถึงระดับวิมุตติ  ประสบการณ์ที่สาธารณชนคนทั่วไปจะต้องเลือกว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อฉะนั้นเอง  เรื่องของจิตทั้งกระบิ  สติ เวทนา สัญญา - รวมทั้งจิตรู้  ที่ประกอบเป็นความคิด  มโนทัศน์ทั้งหลายทั้งปวงที่ส่วนหนึ่งวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาหรืออธิบายดังที่กล่าวมาข้างบน - และเรื่องของจิตไร้สำนึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึก หรือเป็นเรื่องจิตเหนือสำนึกที่เป็นธรรมจิต จึงเป็นประสบการณ์ที่ได้จากเส้นทางภายใน หรือศาสนา

พุทธศาสนาและกาลจักราตันตระล้วนพูดถึงความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกำเนิดของจักรวาล (นี้) กระทั่งวิวัฒนาการของโลกแห่งสสารและโลกแห่งชีวิต - สัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวงรวมทั้งมนุษย์ - กับวิวัฒนาการของจิต หรืออีกนัยหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาบอกว่า กำเนิดของจักรวาล  (นี้)  มีขึ้นมาได้ก็เพื่อให้สัตว์โลกและมนุษย์สามารถวิวัฒนาการตามขึ้นมาได้ และวิวัฒนาการทางกายภาพมีขึ้นมาก็เพื่อให้จิตเข้าไปอาศัยอยู่และเรียนรู้โลก เรียนรู้ตัวเองและความสัมพันธ์ระหว่างกัน  และรวมทั้งการเรียนรู้จักรวาลหรือสัทธรรมความจริงได้  ซึ่งตรงกับจักรวาลวิทยาใหม่ที่อธิบายว่าจักรวาลนี้มีขึ้นมาก็เพื่อมนุษย์สามารถมีขึ้นมาได้  และสุดท้ายก็สามารถเรียนรู้ตัวเองรู้จักรวาลได้  (cosmological anthropic principle) เพราะฉะนั้นเอง  จักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาจึงพูดถึงกฎหรือกลไกที่บริหารและควบคุมวิวัฒนาการของจักรวาลโลกและภพภูมิต่างๆ  รวมทั้งสัตว์โลกรวมทั้งมนุษย์และสังคมของมนุษย์ว่า มีอยู่ด้วยกันสองกฎหรือสองกลไก ซึ่งจะมีปฏิสัมพันธ์กันและกัน นั่นคือ กฎแห่งกรรม กับกฎแห่งการเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน หรือ อิทัปจยตา ในขณะที่จักรวาลวิทยาที่เป็นวิทยาศาสตร์ จะรู้จักและเน้นเฉพาะประเด็นหลังประเด็นเดียว (self - organizing principle).

(Dalai  Lama : The Universe in a Single Atom, 2006; Jeffrey Hopkins : Kalchakra  Tantra,  1989;  Francisco  Valera,ed.The  New   Physics and Cosmology, 2003;  Michio  Kaku : Parallel Worlds, 2005; Brian Greene : The Fabric of Cosmos, 2004)
โพสต์โพสต์