เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ดิฉันได้รับเชิญเข้าไปพูดคุยในคลับเฮ้าส์ เรื่องเกี่ยวกับการออมเพื่อเกษียณ พอคุยไปๆ ก็พบว่า ผู้ปกครองในปัจจุบัน อยากได้แนวทางในการสอนลูกเรื่องการเงิน
ดิฉันเคยเขียนเรื่องนี้ไปสองสามครั้งเมื่อหลายปีก่อน แนวคิดส่วนใหญ่ยังใช้ได้ แต่จะขอนำมาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยด้วยค่ะ ท่านที่สนใจอ่าน สามารถอ่านจากหนังสือของดิฉันชื่อ “เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน” ของสำนักพิมพ์อมรินทร์ How To
หลักการในการสอนเยาวชนเรื่องเงินทอง คือ ต้องให้รู้ค่าของเงิน รู้จักใช้เงินเป็น รู้จักเก็บออม และรู้จักลงทุนเพื่อต่อยอดเงินงอมให้งอกเงย
การรู้ค่าของเงิน หมายถึงเด็กต้องรู้ว่า เงินไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่ายๆ ต้องทำงาน ต้องค้าขาย ต้องใช้แรงกาย แรงใจ ใช้สมองคิด จึงจะได้มาซึ่งเงิน เมื่อได้มายากแล้ว เวลาใช้ก็ต้องระมัดระวัง รู้จักใช้ให้เหมาะสมกับฐานะของตน ที่สำคัญ เยาวชนต้องเข้าใจว่า เงินของพ่อแม่ ก็เป็นเงินของพ่อแม่ ไม่สามารถถือวิสาสะ ทึกทักว่าเป็นเงินของตัวเองได้
ดิฉันแนะนำไปหลายครั้งหลายโอกาสแล้วว่า เด็กไม่ควรจะรู้ว่าพ่อแม่ของตัวเองมีเงินเท่าไร ถ้าหากท่านมีฐานะดี ก็เพียงแต่สอนเขาว่าเขาโชคดีกว่าคนอื่นๆอีกมากมายที่พ่อแม่ลำบาก และให้เขาใช้ชีวิตแบบธรรมดาๆ และถ้าหากพ่อแม่ลำบาก เด็กก็ยิ่งต้องรู้ว่าเขาต้องไม่ฟุ่มเฟือย
แต่ไม่ว่าพ่อแม่จะมีฐานะดีหรือไม่ พ่อแม่ควรให้ลูกต้องช่วยทำงาน และอาจมีรางวัลเล็กๆน้อยๆตอบแทน ทั้งที่เป็นสิ่งของและเงิน เพื่อให้เขาสามารถนำรายได้พิเศษไปซื้อหาสิ่งที่เขาอยากได้ การที่เขาอยากได้อะไร ก็จัดหาให้ทุกอย่างนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ เพราะจะทำให้เขาเสียโอกาสเรียนรู้ค่าของเงิน เรื่องการให้เยาวชนทำงานนั้น ชาวตะวันตกจะทำได้ค่อนข้างดีกว่าชาวตะวันออก
เยาวชนทุกคนควรต้องเรียนรู้ถึงความยากลำบากในการหาเงิน หรือทำของขึ้นมาใช้เอง เพื่อให้รู้จักค่าของเงินค่ะ
อย่างไรก็ดี ต้องอย่าทำให้เด็กรู้สึกว่า ต้องทำทุกอย่างเพื่อ “เงิน” เพราะบางอย่างเราก็ต้องทำเพราะเป็น “หน้าที่” เช่น การช่วยงานบ้าน ช่วยดูแลน้อง บางอย่างเราควรทำเพราะเรามี “น้ำใจ”เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน บางอย่างเราควรทำเพราะเราต้องการแบ่งปันความสุข หรือแบ่งเบาความทุกข์ของเขา
เมื่อมีรายได้มากกว่าที่ต้องการใช้ เราต้อง “ออม”
ในเรื่องการออม “ความตั้งใจมีพลังมากกว่าความพร้อม” หมายถึงถ้าตั้งใจทำแล้ว ส่วนใหญ่จะทำได้ ถ้ารอให้พร้อม รอให้มีเงินอีกหน่อยค่อยออม ส่วนใหญ่จะไม่ได้ออมค่ะ และถ้าเสริมด้วย “การมีวินัย” การออมนั้นก็จะยิ่งประสบผลสำเร็จมากขึ้น จริงๆแล้ว ไม่ว่าจะทำสิ่งใด หากมีวินัย เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้น เร็วขึ้น
อยากเน้นย้ำเรื่องเป้าหมาย เพราะทำอะไรก็ตาม หากไม่มีเป้าหมาย มักจะทำได้ไม่ดี คนไทยส่วนใหญ่ ไม่ค่อยตั้งเป้าหมายในการออมค่ะ แต่มักจะตั้งเป้าหมายในการบริโภคสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น เก็บเงินไว้ซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ เพราะมีราคาตั้งไว้ แต่เป้าหมายการออมที่เป็นนามธรรม เช่น ออมเพื่อเกษียณ ออมเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ มักจะทำไม่สำเร็จ
สาเหตุสำคัญก็คือ ไม่ได้ตีค่าเป้าหมายเหล่านั้นเป็นจำนวนเงิน เพราะฉะนั้น เวลาเราจะออม เราควรตั้งเป้าหมาย และตีมูลค่าเป้าหมายให้เป็นจำนวนเงิน จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายง่ายกว่า
ต้องการเก็บเงินไว้ดาวน์บ้าน 300,000 บาท ออม 12 เดือน ก็ต้องออมเดือนละ 25,000 บาท หากออมไม่ได้ถึงเดือนละ 25,000 บาท ก็ต้องออมนานขึ้น เช่น ออมเดือนละ 10,000 บาท ต้องใช้เวลา 30 เดือน ซึ่งพอถึงเวลานั้น ราคาบ้านก็อาจจะขยับเพิ่มขึ้น ดังนั้น แม้เราจะยังไม่มีเป้าหมายออมเพื่ออะไร เราก็สามารถเริ่มออมเพื่อการลงทุน เพื่อรอเอาไว้เมื่อเรามีเป้าหมาย จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น เช่นในกรณีนี้ หากมีเงินออมมาก่อนแล้ว 120,000 บาท ก็จะเหลือเงินที่จะต้องเก็บอีก 180,000 บาท ถ้าใช้เวลา 12 เดือน ก็เก็บอีกเดือนละ 15,000 บาทเป็นต้น
เงินที่จะออมเพื่อการเกษียณ สามารถคำนวณเงินที่ต้องการใช้ในแต่ละเดือนหลังเกษียณได้ และคูณด้วยจำนวนเดือนที่เราคาดว่าจะอยู่ เป็นเป้าหมายเงินออมเพื่อการเกษียณของเรา (คำนวณอย่างง่ายๆ ไม่คิดเงินเฟ้อ หรือผลตอบแทนจากการลงทุน) เช่น คาดว่าจะอยู่จนอายุ 90 ปี หากเกษียณอายุ 60 ปี ก็จะอยู่อีก 30 ปี หรือ 360 เดือน ใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท ก็ต้องมีเงิน 7.2 ล้านบาท หากอยากทราบตัวเลขที่คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย ขอให้ไปค้นดูบทความเก่าของดิฉันนะคะ
เยาวชนควรเรียนรู้ว่า สามารถเพิ่มค่าเงินออมได้โดยการนำไปลงทุน และทางเลือกในการลงทุนมีมากมาย แนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นลำดับแรก เพราะสะดวกสบาย ง่ายกว่าลงทุนเอง และสามารถเริ่มลงทุนได้ด้วยเงินออมเพียง 500 บาท โดยควรสอนให้เยาวชนได้เข้าใจถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวัง ไปพร้อมๆกับการใช้ความช่างสังเกต ช่างสงสัย และความไม่สมเหตุสมผล กรณีมีข่าวการหลอกลวงให้ลงทุนอะไรที่โฆษณาชวนเชื่อไว้ว่าได้ผลตอบแทนสูงๆและไม่เสี่ยง ให้ถือโอกาสอธิบายชี้แจง และให้ตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่า ไม่จริง เป็นไปไม่ได้
การสอนเยาวชนด้วยกรณีศึกษา หรือการทำเป็นตัวอย่าง เป็นการสอนที่ได้ผลดี เยาวชนจะจำได้แม่น
ที่สำคัญคือ สอนให้เยาวชนมี “ความเห็นอกเห็นใจ” ผู้อื่น รู้จัก “การให้” เพราะเด็กมักจะเป็นฝ่ายชินต่อการได้รับ แต่เด็กที่รับอย่างเดียว โตขึ้นมีแนวโน้มจะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่น่ารัก เพราะฉะนั้น ต้องเน้นเรื่องการแบ่งปันและการเสียสละ ไม่ว่าจะเป็นการสละเวลา สละกำลัง สละเงินบริจาคช่วยเหลือ สละของ สละโอกาส ฯลฯ เด็กที่รู้จักการเสียสละ จะไม่โลภค่ะ
การเงินพื้นฐาน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2