วัคซีนความหวังของคนไทย/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

วัคซีนความหวังของคนไทย/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

มีแฟนคอลัมน์ถามถึงความคืบหน้าของโครงการวัคซีนเพื่อคนไทย โดยเฉพาะวัคซีนของใบยาไฟโตฟาร์มที่ดิฉันเขียนถึงตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา จึงขอถือโอกาสที่เรากำลังกังวลเกี่ยวกับการระบาดระลอกสาม และเรื่องเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ไปเป็นสายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิล และสายพันธุ์อัฟริกา รวมถึงมีนักวิชาการคาดการณ์ว่า หากมีการระบาดในประเทศไทยในกลุ่มคนจำนวนมาก ก็อาจจะเกิดกลายพันธุ์เป็น “สายพันธุ์ไทย”ขึ้นอีก

การกลายพันธุ์ หรือเรียกว่า Variant กลายเป็นเรื่องที่น่ากลัว และเป็นที่วิตกกังวลของคนทั่วโลก เพราะวัคซีนซึ่งเป็นปราการป้องกันที่คนส่วนใหญ่ฝากความหวังเอาไว้นั้น อาจจะไม่สามารถคุ้มกันผู้ได้รับการฉีด จากสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้

นักวิจัยทางการแพทย์บอกว่า การกลายพันธุ์เกิดขึ้นเมื่อประเทศนั้นๆ มีการติดไปถึงจุดสูงสุดค่ะ หลังจากเกิดสายพันธุ์อิจาลีแล้ว ก็เกิดสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย สายพันธุ์นิวยอร์คซิตี้ สายพันธุ์บริซิล สายพันธุ์อัฟริกาใต้ และตอนนี้เกิดสายพันธุ์อินเดียขึ้นมาใหม่

การอัพเดทวัคซีน หรือทำสูตรใหม่ให้คุ้มกันเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ไป จึงเป็นหัวใจของการป้องกันโรคนี้ เพื่อให้เราสามารถกลับไปใช้ชีวิต(เกือบ)ปกติ แต่ไม่เหมือนเดิมได้

อย่างไรก็ดี การอัพเดทวัคซีนให้รับมือกับสายพันธุ์ใหม่ๆนั้น ต้องใช้เวลา

ดิฉันสอบถามไปยังทีมใยบาไฟโตฟาร์ม ซึ่งวิจัยการผลิตวัคซีนจากโปรตีนพืช ได้รับทราบว่า นักวิจัยกำลังทำงานแข่งกับเวลา เพื่อจะผลิตวัคซีนชุดแรกในเดือนมิถุนายน สำหรับใช้ทำการทดสอบในมนุษย์ในเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน นี้

และคาดว่า วัคซีนของใบยา จะมาเติมเต็มในส่วนที่จะรับมือกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 นี้ได้ค่ะ

เพราะในขณะที่ทำการทดสอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 เจนเนอเรชั่นแรกนั้น ทีมอาจารย์นักวิจัย ก็ข้ามช็อตไปทำการวิจัยเพื่อจะให้ได้วัคซีนเจนเนอเรชั่น 2 ที่จะใช้สร้างภูมิคุ้มกันเชื้อโควิดที่กลายพันธุ์ โดยปัจจุบันได้ต้นแบบวัคซีนเจน 2 มาจำนวน 4 ชนิดแล้ว และจากนี้ไปจนถึงเดือนกันยายน 2564 จะทดสอบในสัตว์ทดลอง หลังจากนั้น ในช่วงเดือน กันยายน ถึง ตุลาคม จะผลิตเพื่อทำการทดสอบในมนุษย์ คาดว่าจะทดสอบในมนุษย์ ในช่วงเดือน ธันวาคมปีนี้ ถึงเดือน เมษายนปีหน้า โดยคาดว่าสามารถจะขึ้นทะเบียนวัคซีนเจน 2 กับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในเดือนพฤษภาคม 2565 ค่ะ

ถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่งเลยทีเดียว!

เมื่อเรามีเทคโนโลยีที่จะผลิตวัคซีนเองได้ เราก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้ในเวลาสั้นกว่าการสั่งซื้อจากผู้ผลิตอื่น โดยนักวิจัยบอกว่า แม้วัคซีนของใบยาจะออกมาทีหลัง แต่ก็จะสามารถใช้ป้องกันสายพันธุ์อื่นได้ค่ะ คนที่ฉีดไปแล้วและต้องการเพิ่มภูมิคุ้มกัน ที่เรียกว่า “บูส” (boost) ก็สามารถฉีดบูสได้ค่ะ ถือว่าเป็นการฉีดกระตุ้นภูมิ หรือ booster shot โดยนักวิจัยของใบยากำลังพยายามหาวัคซีนตัวที่จะสามารถป้องกันสายพันธุ์อื่นๆได้ดีที่สุด เพื่อให้คนไทย และเพื่อนบ้านใกล้เคียงสามารถใช้ประโยชน์จากวัคซีนให้ได้มากที่สุด

ซึ่งในตอนนี้สายพันธุ์ที่กำลังจะทดสอบในหนูและลิง ในเดือนพฤษภาคมนี้ คือสายพันธุ์อัฟริกาใต้ (South Africa) สายพันธุ์อินเดีย (India) สายพันธุ์อังกฤษ (UK) และสายพันธุ์บราซิล (Brazil) ซึ่งล้วนเป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกเป็นห่วง เพราะติดง่ายขึ้น ที่น่ากลัวคือส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ แต่ว่าเมื่อเริ่มแสดงแล้ว อาการหนักเกิดอย่างรวดเร็วค่ะ

ทั้งนี้ค่ายที่ผลิตวัคซีนออกมาใช้งานแล้วในปัจจุบัน ทั้ง โมเดอร์นา (Moderna) และ ไฟเซอร์ (Pfizer-BioNTech) ก็พยายามอัพเดทวัคซีนให้ป้องกันสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ไปนี้ โดยถ้วนหน้า โดยหวังให้เป็นวัคซีน booster shot เข็มที่สอง (กรณีวัคซีนเดิมใช้เข็มเดียว) หรือ สาม(กรณีวัคซีนเดิมใช้สองเข็ม) เช่นกัน

สำหรับวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีโปรตีนของสหรัฐ ภายใต้การวิจัยของ Novavax นั้น ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นทดลองในคนเฟสที่ 3 คาดว่าจะได้รับอนุมัติจาก FDA ในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยบริษัทแจ้งว่า จะครอบคลุมไปทดลองในอาสาสมัครเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย เพราะเป็นกลุ่มที่ปัจจุบันยังมีวัคซีนที่เหมาะสมน้อยมาก

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ เดวิด ทอปแฮม (David Topham) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันแห่งมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ มลรัฐนิวยอร์ค คาดการณ์ไว้ว่า โลกเรายังต้องใช้เวลาจัดการกับไวรัสโควิด-19 นี้ไปอีก 2-3 ปี ค่ะ

อดทนหน่อยนะคะ

โครงการวัคซีนของใบยายังเปิดขอรับบริจาคเพื่อนำเงินไปสร้างสถานที่ผลิตและใช้เป็นทุนในการทดสอบในคนอยู่ถึงสิ้นปีนี้ค่ะ สำหรับท่านที่ประสงค์จะบริจาคเพื่อโครงการวัคซีนของคนไทย สามารถบริจาคได้ที่ www.cuenterprise.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02 114 7500 โดยมี 3 ช่องทางดังนี้

1. บริจาคโดยตรงผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขา จามจุรีสแควร์ เลขที่ 162-6-01946-0 ชื่อบัญชี “มูลนิธิ ซียูเอ็นเทอร์ไพร์ส”
2. สแกนคิวอาร์โค้ดผ่านโมบายแบงกิ้ง ธนาคารใดก็ได้
3. บริจาคผ่านธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา เพียงแสดงบัตรประชาชน และเก็บสำเนาใบชำระเงินบริจาคเป็นหลักฐาน

ขอเรียนว่า โครงการนี้ตั้งใจจะระดมเงินให้ได้ 500 ล้านบาท และเมื่อมีรายได้และมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอแล้ว ก็จะนำมาใช้คืนมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพร์ส เพื่อให้มูลนิธิ นำไปสนับสนุนโครงการนวัตกรรมดีๆอื่นๆต่อไป เงินบริจาคของท่านก็จะสามารถทำประโยชน์ได้ยั่งยืนค่ะ

นอกจากวัคซีนโควิด-19 แล้ว สิ่งที่ใบยากำลังจะสร้าง จะเป็นรากฐานของการวิจัยและผลิตวัคซีนอื่นๆ และยาอื่นๆได้ ท่านจะเกิดความภูมิใจว่า “ฉันได้มีส่วนร่วมในส่งเสริมการปักหมุดประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในศูนย์สุขภาพของโลก” ด้วย

แต่เดิมมีข้อจำกัดให้บริจาคได้ท่านละ 500 บาท และให้สิทธิ์ในการจองซื้อวัคซีนได้ 1 สิทธิ์ แต่ปัจจุบันปลดล็อคจำนวนเงินไปแล้วค่ะ ท่านจะบริจาคเกินกว่านี้ก็ได้ หรือบริษัทห้างร้านจะบริจาคและให้พนักงานใช้สิทธิ์ในการจองซื้อวัคซีนก็ได้ค่ะ หลายบริษัทได้ทำไปแล้ว ถือเป็นสวัสดิการพนักงานอย่างหนึ่ง ให้แน่ใจว่า พนักงานจะมีวัคซีนฉีดเพื่อรับมือกับสายพันธุ์ที่กลายไป
โพสต์โพสต์