ปรับเซลล์ให้หนุ่มสาว /ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ
pookii
Verified User
โพสต์: 1414
ผู้ติดตาม: 0

Re: ปรับเซลล์ให้หนุ่มสาว /ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 91

โพสต์

AstraZeneca vaccine: How common are blood clots

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/652370

คนไทยจะต้องพึ่งพาวัคซีนของ AstraZeneca-Oxford เป็นหลักในการป้องกันการเป็นโรค COVID-19

แต่มีข่าวออกมามากมายเกี่ยวกับความเสี่ยงที่การฉีดวัคซีนดังกล่าว อาจมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงถึงเสียชีวิต คือเกิดลิ่มเลือด (blood clot) ซึ่งผมพบบทวิเคราะห์ที่ค่อนข้างละเอียดของ CNN เมื่อวันที่ 8 เมษายน ผมจึงขอนำเอาบทวิเคราะห์ดังกล่าวมาสรุปให้อ่านกันในตอนนี้ครับ

หลังจากการพบหลักฐานว่า การฉีดวัคซีนของ AstraZeneca (AZ) อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงคือลิ่มเลือดอุดตันที่สมองและที่ท้องได้ในประเทศยุโรปในเดือนมีนาคม หน่วยงานที่รับผิดชอบของยุโรปคือ European Medicines Agency (EMA) และของอังกฤษคือ UK MHRA จึงได้นำเอาข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาและได้ประกาศผลการพิจารณาและข้อสรุปออกมาให้สาธารณชนทราบเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

ในกรณีของ EMA นั้นยอมรับว่า
“there is a possible causal association” กล่าวคือเป็นไปได้ที่จะมีความเชื่อมโยงกันระหว่างการฉีดวัคซีน AZ การเกิดลิ่มเลือด
แต่ EMA ก็ยืนยันไม่เปลี่ยนแปลงคำแนะนำให้สามารถฉีดวัคซีน AZ ได้ต่อไป เพราะประโยชน์ที่พึงได้รับนั้นมีมากกว่าอันตรายที่ อาจเกิดขึ้นซึ่งที่มีความเสี่ยงที่ต่ำมาก


อย่างไรก็ดีหลายประเทศในยุโรปเพิ่มข้อกำหนดของตนเองโดยแนะนำให้ฉีดวัคซีน AZ สำหรับผู้สูงอายุเป็นหลัก (อายุ 50-60 ปีหรือมากกว่า)
ในส่วนของยุโรปนั้นมีรายงานว่ามีผู้ที่ฉีดวัคซีน AZ แล้วเกิดลิ่มเลือดขึ้นทั้งหมด (ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2021) 86 ราย เป็นลิ่มเลือดที่สมอง 62 ราย (เรียกว่า cerebral venous sinus thrombosis หรือ (CVST)) และลิ่มเลือดที่ท้อง (เรียกว่า splanchnic vein thrombosis) 24 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 18 ราย ทั้งนี้จากการฉีดวัคซีน AZ รวมทั้งสิ้น 25 ล้านเข็มทำให้ EMA สามารถสรุปได้ว่าความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดที่เป็นภัยอันตรายต่อชีวิตนั้นมีอยู่ค่อนข้างต่ำมากคือประมาณ 1 ใน 100,000 ราย

อย่างไรก็ดีในส่วนของข้อมูลของยุโรปนั้นไม่ได้แบ่งแยกในรายละเอียดออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น เพศชายหรือเพศหญิงและไม่ได้แบ่งตามอายุ สาเหตุเพราะมีตัวอย่างกรณีการป่วยน้อยรายจึงคงไม่มีความมั่นใจว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนได้ในเชิงสถิติ อย่างไรก็ดี EMA มีข้อสังเกตว่าผู้ป่วย “ส่วนใหญ่” นั้นเป็นผู้หญิงอายุน้อยกว่า 60 ปี

สำหรับประเทศอังกฤษนั้นก็ยอมรับว่า “ความเชื่อมโยง” (link) กันระหว่างการฉีดวัคซีน AZ กับการเกิดลิ่มเลือด โดยพบการเกิดลิ่มเลือดที่รุนแรง (serious blood clot) ทั้งสิ้น 79 ราย (ตัวเลขถึงวันที่ 31 มีนาคม) และมีผู้เสียชีวิต 19 รายเป็นผู้หญิง 51 คน ผู้ชาย 28 คน แต่ทั้งนี้ก็ได้ฉีดวัคซีน AZ ให้กับผู้หญิงในจำนวนที่สูงกว่าผู้ชายด้วย โดยฉีดไปแล้ว 20 ล้านเข็ม


ที่น่าสนใจคืองานวิจัยของมหาวิทยาลัย Cambridge ที่ถูกนำมาใช้อ้างอิงในการแถลงข่าวด้วยดังข้อสรุปปรากฏในตารางข้างต้นนี้ ซึ่งพยายามประเมิน “ผลดี-ผลเสีย” ของการฉีดวัคซีน AZ โดยในคอลัมน์แรกนั้นคือการประเมินว่าการฉีดวัคซีน AZ จะให้ประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงอาการป่วยหนักจนต้องนำตัวเข้ารักษาในห้อง ICU ต่อ 100,000 กรณีที่เกิดการเป็นโรค COVID-19 ซึ่งจะเห็นได้ว่าสำหรับคนที่อายุ 20-29 นั้น มีโอกาสป่วยหนักต้องเข้าไปรักษาตัวในห้อง ICU เพียง 0.8 คนต่อ 100,000 คน (ในช่วงเวลา 16 สัปดาห์)

แต่ในขณะเดียวกัน คนอายุน้อยดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการลิ่มเลือดเท่ากับ 1.1 คนต่อ 100,00 คน เป็นผลให้ UKMHRA แนะนำว่าสำหรับคนกลุ่มดังกล่าวนั้นควรเลือกฉีดวัคซีนประเภทอื่นที่ไม่ใช่ AZ จะดีกว่า แต่สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่านั้นก็ยืนยันว่ายังควรรับการฉีดวัคซีน AZ เพราะประโยชน์ที่พึงจะได้รับนั้นสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอย่างมาก เช่นในกรณีของผู้ที่มีอายุ 60-69 ปีนั้น มีเพียง 0.2 คนต่อ 100,000 คน (หรือ 2 คนต่อ 1 ล้านคน) ที่จะเกิดลิ่มเลือดแต่จะช่วยให้ 14.1 คนไม่ป่วยหนักจนต้องเข้าไปรักษาตัวในห้อง ICU

นอกจากนั้นก็ยังได้มีการประเมินอีกว่าการฉีดวัคซีน AZ ที่ต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็มนั้นเมื่อฉีดเข็มแรกไปแล้วจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้สูงถึง 73% (และสูงถึง 90% เมื่อฉีดเข็มที่ 2) ทั้งนี้มีข้อสรุปด้วยว่าเมื่อฉีดวัคซีน AZ แล้ว ความเสี่ยงที่จะป่วยหนักจนต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลจะลดลงไปมากกกว่า 80%

ประเด็นสุดท้ายคือการเกิดลิ่มเลือดนั้นเป็นเรื่องของพันธุกรรมหรือไม่เพียงใด ซึ่งได้มีการประเมินว่าที่ยุโรปนั้นน่าจะมีคนที่มียีนที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือด (คือยีน Factor V Leiden) ประมาณ 3% ถึง 15% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในขณะที่ US CDC ประเมินว่ามีประชาชนสหรัฐประมาณ 5% ถึง 8% ที่มียีนที่ทำให้มีความเสี่ยงดังกล่าว

การจะเกิดหรือไม่เกิดลิ่มเลือดนั้นให้สังเกตอาการที่ผิดปกติที่ยืดเยื้อเกินกว่า 1 สัปดาห์ เช่น การหายใจไม่ค่อยออก (shortness of breath) อาการเจ็บหน้าอก การบวมของขา อาการปวดท้องเรื้องรัง การปวดหัวอย่างหนัก การมองเห็นที่พร่ามัวและเม็ดเลือดใต้ผิวหนัง (blood spots under the skin) ทั้งนี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของเยอรมนีชี้แจงว่าอาการลิ่มเลือดนั้นสามารถรักษาได้โดยไม่ยาก โดยโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดใหญ่จะสามารถทำการรักษาได้เพราะมีอาการเหมือนกับการแพ้ยาละลายลิ่มเลือดคือ Heparin ซึ่งมีใช้มาตั้งแต่ปี 1916 (105 ปี) มาแล้วครับ.
pookii
Verified User
โพสต์: 1414
ผู้ติดตาม: 0

Re: ปรับเซลล์ให้หนุ่มสาว /ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 92

โพสต์

ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกัน COVID-19

แม้ว่าจะมีความพยายามซื้อวัคซีนชนิดต่างๆ มาให้คนไทยใช้ในการป้องกัน COVID-19 แต่วัคซีนหลักสำหรับคนไทยก็คงจะต้องเป็นวัคซีน AstraZeneca-Oxford

เหตุที่สำหรับคนไทยก็คงจะต้องเป็นวัคซีน AstraZeneca-Oxford เพราะได้มีการสั่งซื้อล่วงหน้ามากกว่า 60 ล้านโดส ดังนั้น หลายคนคงจะได้เห็นตารางข้างล่างที่สำนักข่าว BBC ได้รวบรวมการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดต่างๆ ๆไปแล้ว ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าวัคซีนหลักที่จะเป็นทางเลือกให้กับคนไทยนั้นจะมีประสิทธิภาพประมาณ 62-90% ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพต่ำกว่าประเภทอื่นๆ เช่น วัคซีน Moderna หรือ Pfizer บ้าง แต่ราคาถูกกว่ามากและเก็บรักษาได้ง่ายดายกว่า ทั้งนี้สำหรับวัคซีนของ Pfizer นั้น รัฐบาลไทยประกาศว่าจะนำเข้ามาให้ฉีดสำหรับเด็ก (อายุ 12ปีขึ้นไป)

รูปภาพ

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/652450


ล่าสุดนั้นมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร The Lanect เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2021 เปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer-BioNTech กับ AstraZeneca-Oxford โดยอาศัยข้อมูลการฉีดวัควีนดังกล่าวให้กับชาวสก๊อตแลนด์ 1.33 ล้านคนในช่วง 8 ธันวาคม 2020 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2021 (ฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วมากแม้จะเป็นฤดูหนาวของสก๊อตแลนด์) โดยประเมินผลออกมาว่า

โดสแรกของวัคซีน Pfizer ลดการป่วยเข้าโรงพยาบาลจาก COVID-19 ได้เท่ากับ 91% โดยติดตามตัวเลขผู้ป่วย 28-34 วันหลังการฉีดวัคซีน
สำหรับวัคซีน AstraZeneca นั้นประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยเข้าโรงพยาบาลเท่ากับ 88%


ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนหลายประเภทและฉีดได้อย่างทั่วถึงอย่างรวดเร็วมาก (ปัจจุบันฉีดให้ประชาชนครบเกือบทุกคนแล้ว) ซึ่งมีข้อมูลจากการฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับบุคลากรด้านการแพทย์ที่ Sheba Medical Center เกือบ 10,000 คนว่าการฉีดโดสแรกช่วยป้องกันการติดเชื้อ covid-19 ได้สูงถึง 85%

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2021 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าวัคซีน Pfizer และ Moderna ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็น COVID-19 ได้ 80% สองสัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนเข็มแรกและเมื่อฉีดเข็มที่ 2 แล้วความเสี่ยงที่จะเป็น COVID-19 ก็จะลดลงไปอีกเป็น 90% สองสัปดาห์หลังจากการฉีด ทั้งนี้โดยอาศัยข้อมูลจากการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของสหรัฐ 4,000 คน ซึ่งมีผลใกล้เคียงกับงานวิจัยก่อนหน้าเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสอง

สำหรับวัคซีนอีกประเภทหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังนำมาใช้คือ Sinovac นั้นเป็นวัคซีนหลักที่ได้ถูกนำไปใช้ที่ประเทศบราซิลและชิลี โดยในกรณีของชิลีนั้นได้มีรายงานข่าวจาก South China Morning Post เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2021 (“Chile COVID-19 vaccination drive adds to Sinovac efficacy data”) โดยมีข้อสรุปว่าวัคซีน Sinovac นั้นให้ความคุ้มครองจาก COVID-19 สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าวประมาณ 56.5% สองสัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนดังกล่าวครบ 2 โดส ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ใกล้เคียงกับที่พบในประเทศบราซิลที่วัคซีน Sinovac ให้การคุ้มครองจาก COVID-19 ประมาณ 50%

กรณีของชิลีนั้นน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่เป็นประโยชน์เพราะได้มีการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับประชากรไปแล้วถึง 7.2 ล้านคน โดย 4.3 ล้านคนได้รับการฉีดโดสที่สองไปแล้ว ทั้งนี้จากประชากรที่ประเทศชิลีทั้งหมดเกือบ 19 ล้านคน แต่ปรากฏว่าการระบาดของ COVID-19 ในประเทศชิลีก็ยังมีความรุนแรงอยู่มาก กล่าวคือเมื่อวันที่ 8เมษายน 2021 นั้น ก็มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 8,195 คนและมีผู้เสียชีวิต 183 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 23,979 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากสำหรับประเทศที่มีประชากรไม่ถึง 1/3 ของประชากรของประเทศไทย

แต่ที่ผมมีข้อสังเกตคือประเทศชิลีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 8,000 คนติดต่อกันมานานหลายวันแล้ว แต่ระยะหลังนี้จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันยังไม่สูงมาก (เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ที่ติดเชื้อ) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีน กล่าวคือแม้ว่าวัคซีนอาจจะไม่ได้ช่วยป้องกันการเป็น COVID-19 แต่วัคซีนช่วยให้อาการป่วยจาก COVID-19 ไม่รุนแรงและรอดชีวิตได้มากกว่ากรณีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย

อย่างไรก็ดีงานวิจัยของ University of Chile สรุปว่าการฉีดวัคซีน Sinovac โดสแรกนั้นให้ความคุ้มครองจากการติด COVID-19 เพียง 3% เท่านั้น ทั้งนี้ความคุ้มครองจะเพิ่มขึ้นเป็น 27.7% สองสัปดาห์หลังจากการได้รับการฉีดโดสที่สองและความคุ้มครองจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 56.5% ในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา

งานวิจัยเกี่ยวกับ Sinovac ที่ประเทศบราซิลโดยอาศัยการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 22,000 คนในช่วงมากราคม-กุมภาพันธ์ 2021 พบว่าวัคซีนดังกล่าวให้ผลในการคุ้มครองจากการติด COVID-19 ประมาณ 50.7% สองสัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 และความคุ้มครองเพิ่มขึ้นเป็น 51.8% สามสัปดาห์หลังการฉีดโดสที่ 2

แต่มีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือที่บราซิลนั้นมีการระบาดอย่างหนักของ COVID-19 สายพันธุ์บราซิล (สายพันธุ์ P1) ซึ่งพบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 64% ของ COVID-19 ที่พบทั้งหมด ทั้งนี้ COVID-19 สายพันธุ์บราซิลนั้นน่าจะทำให้วัคซีนอื่นๆ เช่น Pfizer Moderna และ AstraZeneca มีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 จากสายพันธุ์ดังกล่าวครับ