วางแผนการเงินหลังเกษียณ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

วางแผนการเงินหลังเกษียณ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

แต่เดิมหลายคนคิดว่า การวางแผนการเงินหลังการเกษียณ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะทุกอย่างมันสายเกินไป การวางแผนการเงินต้องทำก่อนเกษียณ ยิ่งมีเวลาออมและลงทุนมาก ก็ยิ่งมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้มาก

แต่เมื่อเวลาผ่านไป อายุคนยืนขึ้น และ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน น้อยลงเรื่อยๆ การวางแผนการเงินหลังเกษียณ จึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเหตุผลหลักคือไม่ต้องการเกิดเหตุการณ์ที่ “เงินหมด” ก่อนจากโลกนี้ไป

การวางแผนการเงินหลังเกษียณ ควรมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ ประการแรก ทำอย่างไร จะให้เงินมีเพียงพอใช้ จนกว่าเราจะจากโลกนี้ไป ประการที่สอง ชีวิตความเป็นอยู่หลังเกษียณ ต้องอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และ ประการที่สาม หากมีเงินเหลือ ควรต้องส่งต่อยังรุ่นต่อไป หรือใช้ประโยชน์ในลักษณะสาธารณกุศลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำอย่างไรจะมีเงินเพียงพอสำหรับใช้ จนกว่าจะจากโลกนี้ไป เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะแต่เดิม อายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 60 กว่าปี เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาโดยเฉลี่ยที่จะใช้เงินออมหลังเกษียณจะไม่ยาวมากนัก อยู่ที่ 5 ถึง 15 ปี แต่ในปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของคนไทยยาวขึ้น ต่อไปจะเป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะเห็นคนอายุ 90 กว่าปี ยังออกมาใช้ชีวิตข้างนอก ดังนั้นเมื่อเกษียณจากงานประจำแล้ว ควรทำดังนี้ค่ะ

รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะมีมาให้ท่านได้นำไปใช้จ่าย (แหล่งที่มาของเงิน) ซึ่งมีทั้งเงินออมเงินลงทุนที่มีอยู่เดิม เงินที่จะมีการจ่ายเป็นจำนวนรวม ให้ท่านนำไปจัดการเอง เช่น บำเหน็จ เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน หรือ ที่จ่ายออกมาเป็นงวดๆ อาจจะเป็นรายเดือน หรือ รายปี เช่น บำนาญ หรือเงินคืนจากกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือที่ท่านสามารถเลือกได้ว่าจะเอาออกมาทีเดียวเป็นก้อนใหญ่ หรือทยอยออก หรือให้บริหารต่อ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น ทั้งนี้ควรมีรายละเอียดของเงินต่างๆด้วยว่าการบริหารแบบเดิมคาดว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าใด ลักษณะความเสี่ยงเป็นอย่างไร มีสภาพคล่องมากน้อยเพียงใด

ประมาณการกระแสเงินสดที่ท่านต้องใช้ในการดำรงชีวิตตามระดับความเป็นอยู่ที่ท่านต้องการ (แหล่งใช้ไปของเงิน) ทั้งนี้ ต้องประมาณอายุขัยของตัวท่านเองด้วยนะคะ ซึ่งปกติ เวลาเราวางแผนการออมเพื่อการเกษียณอายุงาน เราจะต้องประมาณการอายุขัยของเราอยู่แล้ว โดยดูจากอายุของบรรพบุรุษและบรรพสตรีของเรา บวกด้วย 10 ปี คราวนี้มาทบทวนค่ะ เผื่อว่า ตอนเราเริ่มเก็บออม เราอาจจะคาดการณ์อายุขัยของตัวเองผิดพลาดไป

สำหรับระดับความเป็นอยู่นั้น ควรคำนึงถึงการลดขนาดด้วยนะคะ เช่น ขนาดและลักษณะของบ้านที่พักอาศัย อาจจะเปลี่ยนจากบ้านสองชั้นเป็นบ้านชั้นเดียว เพราะนอกจากจะสะดวก ไม่ต้องเสี่ยงต่อการขึ้นลงแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้การดูแลง่ายขึ้น ไม่เป็นภาระมากนัก สำหรับยานพาหนะก็เช่นกันค่ะ อาจเปลี่ยนเป็นรถยนต์คันเล็กลง หรือหันไปใช้บริการรถสาธารณะ หรือรถจักรยาน มากขึ้น (หากอยู่ในชนบท) ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสะดวกและปลอดภัยเป็นหลักค่ะ

ทบทวนและปรับพอร์ตการลงทุนของท่านใหม่ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ท่านจะรับความเสี่ยงได้น้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากท่านอาจจะไม่มีรายได้ประจำอีกต่อไปแล้ว และยังต้องพยายามคงเงินต้นเอาไว้ให้นานที่สุด ซึ่งโดยปกติ การลงทุนเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณนี้ เราต้องใช้เงินต้นไปด้วยนะคะ เพราะฉะนั้นจำนวนเงินรวมก็จะค่อยลดลงไปเรื่อยๆตามวัยของเราที่เพิ่มขึ้นค่ะ

พอร์ตการลงทุนที่อนุรักษนิยมเกินไปในช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำนี้ ก็อาจทำให้เงินของท่านลดจำนวนลงเร็ว ดังนั้น ต้องดูจังหวะที่เหมาะสมในการเพิ่มสัดส่วนของหุ้นทุนในพอร์ตให้มีสัดส่วนสูงกว่าการจัดพอร์ตของผู้เกษียณแล้วในยามอัตราดอกเบี้ยสูงปกติซึ่งมีการแนะนำไว้ตามทฤษฎีด้วยค่ะ ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่สามารถเพิ่มสัดส่วนได้ อย่างไรก็ดี เมื่ออายุมากขึ้น สัดส่วนการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงต้องลดลงด้วย

หากจัดแล้ว วางแผนแล้ว พิจารณาว่าเงินเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณอาจจะไม่พอ ท่านมีทางเลือกสองอย่างคือ หางานพิเศษทำเพื่อหารายได้เพิ่มเติม หรือ ปรับลดระดับการใช้ชีวิตลงมา เพื่อให้ใช้เงินได้นานขึ้น

สำรวจสุขภาพของตนเอง และพยายามดูแลสุขภาพให้ดี เพราะจากข้อมูลที่ ดร.พญ. Francesca Rinaldo จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดทำการวิจัยในสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ ใช้เงินค่ารักษาพยาบาลไปมากกว่า 25% ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดที่ใช้ในชีวิตในปีสุดท้ายของชีวิต นอกจากนั้น ดิฉันคำนวณค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหลังอายุ 65 ปี จะคิดเป็นสัดส่วน 41% ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตลอดชีวิต (ข้อมูลค่ารักษาพยาบาลจาก US Department of Health & Human Services MEPS Data)

แม้ว่าในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในโลก โดยจากข้อมูลของ WHO ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของไทยโดยเฉลี่ย ในปี 2560 คิดเป็น 2.22% ของค่าใช้จ่ายรวมของครัวเรือน เทียบกับ 4.36% สำหรับครัวเรือนญี่ปุ่น (ข้อมูลล่าสุดของปี 2558) ซึ่งมีผู้สูงวัยในสัดส่วนสูงกว่า แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาลของไทยสูงติดอันดับต้นๆของเอเชีย คือเพิ่มขึ้น 10.3% ต่อปี (ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อของค่าใช้จ่ายอื่นๆมาก) ตามหลังเพียงจีนกับเกาหลีใต้เท่านั้น จึงคาดว่าอีกไม่กี่ปี ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของครัวเรือนไทยจะมีสัดส่วนต่อค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 4%ของค่าใช้จ่ายครัวเรือนแน่นอนค่ะ

อยากแนะนำให้พิจารณาทำประกันภัยสุขภาพ เพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงินกรณีเจ็บป่วย ทั้งนี้การทำประกันภัยสุขภาพนี้ จำนวนเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย จะขึ้นอยู่กับอายุ ยิ่งอายุมาก เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายก็จะสูงขึ้น ทั้งนี้มีให้เลือกหลายแบบ หลายบริษัท ท่านควรพิจารณาทำแบบที่เหมาะสมกับท่านค่ะ

ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการวางแผนการเงินและแผนชีวิตหลังเกษียณค่ะ
โพสต์โพสต์