หุ้นเทคโนโลยีแพงเกินไปแล้วหรือยัง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

หุ้นเทคโนโลยีแพงเกินไปแล้วหรือยัง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

มาถึงตอนนี้ทุกคนคงต้องยอมรับว่า โควิด-19 ได้เร่งให้เกิดการปรับแบบเปลี่ยนรูป (transform) ทางด้านเทคโนโลยี กับธุรกิจต่างๆอย่างคาดไม่ถึง และผู้ลงทุนก็เทใจไปให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีกันอย่างล้นหลาม ส่งผลให้ ณ เดือนกันยายน 2563 หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.2% ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐโดยทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 5.84% จากต้นปี (ข้อมูลจาก Morning Star) ทั้งนี้ Morning Star ยังเปรียบเทียบให้เห็นว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ได้ปรับตัวขึ้นไปสูงกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น (Price to Fair Value Ratio) ถึง 1.24 เท่า ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 15 ปี แม้กระนั้น ผู้ลงทุนยังให้มูลค่ากับหุ้นเทคโนโลยีอยู่

นอกจากนี้ กลุ่มที่เชื่อว่าหุ้นเทคโนโลยียังจะไปต่อได้ ยังให้เหตุผลว่าตลาดยังมีช่องให้เติบโตอีกมหาศาล ธุรกิจหลายๆประเภท ยังไม่ได้นำเทคโนโลยีใหม่ เข้าไปใช้เป็นแกนหลักเท่าที่ควรก็ยังมีอีกมาก Julius Baer ได้นำเสนอข้อมูลจาก Alpine Macro นำราคาของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยใช้ดัชนีแนสแดค 100 (NASDAQ 100) เป็นตัวแทน ไปเปรียบเทียบกับดัชนีแนสแดคช่วงดอทคอมบูมในปี ค.ศ. 1997-2000 จะเห็นว่ายังมีช่องให้เติบโตอีก 120% ก่อนถึงจุดสูงสุดเท่ากับในรอบดอทคอมบูม

บริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Co. ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคชาวอเมริกัน อายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,052 คน ในช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่า 51% ของชาวอเมริกันที่สำรวจ มีการซื้อของออนไลน์ โดยเป็นผู้ที่เคยซื้อออนไลน์อยู่แล้ว 33% และเป็นผู้ใช้รายใหม่ 17% ทั้งนี้ธุรกิจที่ผู้บริโภคเข้าไปใช้บริการออนไลน์มากที่สุดคือ ธนาคาร โดยมีการใช้บริการออนไลน์ถึง 73% โดยเป็นผู้ใช้บริการเดิม 51% และเป็นผู้ใช้บริการครั้งแรก 21% ถัดไปเป็นการซื้อของกินของใช้ (Grocery) มีการใช้ช่องทางซื้อออนไลน์ 61% โดยเป็นผู้เคยใช้อยู่แล้ว 30% และอีกเกินครึ่งคือ 31% เป็นผู้ใช้ใหม่ สำหรับเสื้อผ้านั้น มีการใช้วิธีซื้อออนไลน์ 45% โดย 31% เคยซื้ออยู่แล้ว และ 13% ซื้ออนไลน์เป็นครั้งแรก และบริการที่ใช้ออนไลน์น้อยที่สุดในบรรดาที่มีการสำรวจคือ ซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยว โดยมีการใช้บริการออนไลน์ 37% โดยเป็นผู้ใช้บริการครั้งแรก 6%

ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ (ประมาณ 86%) พอใจกับการใช้บริการออนไลน์ และ 75% แจ้งว่าจะใช้บริการออนไลน์ต่อไป หลังจากโรคระบาดโควิด-19 สิ้นสุดลงด้วย

ในช่วงเกิดโรคระบาดนี้ พบว่า การซื้อของโดยรวมลดลง แต่การซื้อของจากร้านค้าปกติ ลดลงมากกว่าการซื้อของออนไลน์ โดยคนที่ซื้อลดลงสูงสุด ซื้อลดลงไปถึง 56% และที่ซื้อเพิ่ม ซื้อเพิ่มเพียง 2% ในขณะที่ผู้ที่ซื้อออนไลน์ มีความหลากหลาย คือตั้งแต่ซื้อลดลง 22% ไปจนถึงซื้อเพิ่มขึ้น 20%

แม้การขายให้กับธุรกิจด้วยกัน (B2B) ก็เช่นกันค่ะ จากการสำรวจพบว่า ลูกค้าองค์กรมีความรู้สึกว่า ในอนาคตอันใกล้ การขายโดยมีเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาช่วยในการสื่อสารติดต่อกัน จะเพิ่มความสำคัญขึ้น จนมากกว่าการขายแบบเดิมถึงสองเท่า

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจพบว่า กิจการต่างๆในสหรัฐอเมริกามากกว่า 60% ให้พนักงานทำงานจากที่บ้านตั้งแต่ทำทุกคน ไปจนถึงทำเป็นส่วนใหญ่ มีบางคนเท่านั้นที่ต้องเข้าไปที่ทำงานในบางครั้ง

ข้อมูลนี้บอกเราว่า การขายออนไลน์จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากเราเป็นผู้ทำธุรกิจ และไม่มีช่องทางขายออนไลน์เลย เราจะเสียเปรียบมากๆค่ะ นอกจากนี้ ในบางธุรกิจ การปรับปรุงให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงให้บริษัทสามารถเสนอข้อมูลให้กับลูกค้าทางออนไลน์ ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาคธุรกิจต้องคำนึงถึง

แม้เทคโนโลยีจะมีความสำคัญ แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็เห็นว่า ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องให้ราคาหุ้นของบริษัทสูงถึงเพียงนี้ ปัจจุบัน หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีประชุมแบบคอนเฟอร์เรนซ์ชื่อ ซูม (Zoom Video Communications Inc.) มีมูลค่าตลาดถึง 145,962 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 4.6 ล้านล้านบาท สูงกว่า IBM ซึ่งมีมูลค่าตลาด 102,470 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 3.23 ล้านล้านบาท

Zoom ก่อตั้งขึ้นใน เดือนเมษายน ปี 2554 โดย อีริค หยวน (Eric Yuan) ซึ่งเดิมเคยทำงานอยู่ Cisco Webex เดิมชื่อ Saasbee เปลี่ยนชื่อเป็น Zoom ตั้งแต่ปี 2555 ได้เงินทุนสนับสนุนจากเวนเจอร์แคปิตอลต่างๆเรื่อยมา รวมถึงเงินลงทุนจากบริษัทใหญ่บางแห่งด้วย ออกระบบการประชุมแบบคอนเฟอร์เรนซ์ เวอร์ชั่นแรกในเดือนกันยายน 2555 มาเริ่มดูดีเมื่อมีลูกค้ารายแรก คือมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในเดือนมกราคม ปี 2556

บริษัทซูม เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดแนสแดค ใช้อักษรย่อว่า ZM เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 ตอนเข้าซื้อขายวันแรกราคาหุ้นขึ้นไปถึง 72% ทำให้บริษัทมีมูลค่าตลาด 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงตอนนี้ (22 ตุลาคม 2563) ขึ้นไป 9 เท่าตัว ณ ราคาหุ้นที่ 513.19 เหรียญ คิดเป็น 637.78 เท่าของกำไรต่อหุ้นที่ผ่านมา (Historical P/E) แต่หากคิดกำไรที่คาดไว้ของผลการดำเนินงานปี 2563 ทั้งปี ค่าพีอีจะลดลงเหลือ 208.78 เท่า (ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก)

ปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน 2,500 คน ส่วนหนึ่งเป็นพนักงานเขียนโปรแกรมอยู่ในประเทศจีนค่ะ

แม้การเติบโตจะสูง แต่ราคานี้ดิฉันก็คิดว่าแพงค่ะ ในขณะที่หุ้นไอบีเอ็ม (IBM) มี Historical P/E 9.49 เท่า ปีนี้คาดว่ากำไรจะลดลง ค่าพีอี คิดจากกำไรที่คาดว่าจะทำได้ของปี 2563 คือ 12.15 เท่าเท่านั้น

สรุปแล้ว จะเหมารวมว่าหุ้นเทคโนโลยีทุกหุ้นมีราคาแพงไม่ได้ ขึ้นอยู่กับบริษัทและการให้มูลค่าของผู้ลงทุนค่ะ หลายบริษัทมีธุรกิจที่ยังไปได้อีกไกล และยังมีความต้องการใช้สินค้าและบริษัทอีกมาก หุ้นของหลายบริษัทปรับขึ้นไปสูงมากเพราะผู้ลงทุนยอมให้ราคาของการเติบโตไว้สูง ต้องเลือกลงทุนค่ะ

ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

พบกันใหม่อีกสองสัปดาห์ หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งดิฉันคาดว่าจะทราบผลอย่างเป็นทางการภายในไม่เกินหนึ่งสัปดาห์หลังจากการเลือกตั้ง เนื่องจากต้องมีการนับคะแนนผู้ลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ด้วยมือแบบบ้านเราค่ะ ได้ข่าวว่าเขาไม่ค่อยชำนาญ
โพสต์โพสต์