ความผันผวนกับการลงทุนเป็นของคู่กัน
หากท่านเป็นผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนมาเกิน 6 เดือน ท่านจะรับทราบถึงความผันผวนได้ดี โดยไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆอีก เพราะปีนี้ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่มีความผันผวนมากเป็นพิเศษ
ความผันผวน หรือ Volatility ในแวดวงการลงทุน หมายถึง ความเสี่ยง (Risk) เสี่ยงที่การลงทุนจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ความเสี่ยงนี้ หากเป็นด้านบวก เราก็จะดีใจ เพราะได้กำไรมากกว่าที่คาดไว้ แต่หากเป็นด้านลบ เราก็จะขาดทุน หรือกำไรน้อยกว่าที่คาดไว้ ซึ่งก็ทำให้เสียใจ
เวลาดิฉันเขียนถึงค่าความผันผวน หรือความเสี่ยง ดิฉันมักจะใช้ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ Standard Deviation (SD) ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุดในการวัดความผันผวน หรือวัดความเสี่ยง เพราะตัวเลขเป็นเปอร์เซ็นต์ เข้าใจง่าย แต่ค่าของ Standard Deviation คำนวณจากข้อมูลราคาในอดีตที่ผ่านมา ว่ามีความผันผวนมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งในภาวะปกติทั่วไป จะสามารถนำมาใช้มองแนวโน้มในอนาคตอันใกล้ได้ค่อนข้างดี
แต่มีดัชนีวัดค่าความผันผวน หรือค่าความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้การมองอนาคต ดัชนีนั้น ชื่อว่า VIX ซึ่งคำนวณโดย Chicago Board Options Exchange (CBOE) เป็นดัชนีที่เป็น real time คือเคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยมีช่วงคำนวณตลอดเวลาสองช่วงคือ 3.00 น. ถึง 9.15 น. และช่วง 9.30 น. ถึง 16.15 น. เวลาชิคาโก ซึ่งเป็นเวลาภาคกลาง คือช้ากว่านิวยอร์ค 1 ชั่วโมง
ดัชนีนี้คำนวณจากสัญญาซื้อขายดัชนีล่วงหน้า หรือออปชั่นของดัชนี S&P 500 (SPX) ที่ใกล้ครบกำหนด สามารถใช้วัดการคาดหมายความผันผวนของตลาด (หรืออีกนัยหนึ่งคือของราคาหลักทรัพย์ในตลาด) โดยวัดจากมุมมองซึ่งสะท้อนในราคาซื้อขายสัญญาดัชนีล่วงหน้าของผู้ลงทุนในช่วง 30 วันข้างหน้า หากผู้ลงทุนคิดว่า ข้างหน้า “น่ากลัว” ดัชนีก็จะปรับตัวขึ้น หากผู้ลงทุนสบายใจ ดัชนีก็จะอยู่นิ่งๆ
VIX ถือเป็น ตัวชี้วัดนำ (Leading Indicator)ระยะสั้น เพราะฉะนั้น จะทำให้เราพอจะสามารถคาดได้ว่าดัชนี S&P 500 ในช่วงเดือนถัดไปจะขึ้นหรือลง และเนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐ มักจะเป็นตลาดที่ชี้นำตลาดหุ้นอื่นๆ เราอาจจะคาดเดาได้ว่าตลาดหุ้นอื่นๆจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด แต่เนื่องจากตลาดหุ้นทุกตลาดไม่ได้เคลื่อนไหวไปด้วยกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เราจึงอาจจะใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) ของดัชนี S&P 500 กับตลาดหุ้น หรือสินทรัพย์ลงทุนอื่นๆเพื่อดูแนวโน้ม
ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของ S&P 500 กับสินทรัพย์อื่นๆ ในช่วงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ชี้ว่า S&P 500 มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นไทย 74% แต่มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นโลกวัดโดย MSCI World ถึง 99% และมีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นเกิดใหม่ วัดโดยดัชนี MSCI Emerging Market 95% ในขณะที่มีความสัมพันธ์กับทองคำเพียง 44%
ดังนั้น อาจจะอนุมานได้ว่า คืนไหนดัชนี S&P 500 ตก วันรุ่งขึ้นตลาดหุ้นทั่วโลกก็จะตกตาม คืนไหนดัชนี S&P 500 ขึ้น ตลาดหุ้นทั้วโลกก็มักจะขึ้นตาม แต่ตกมากตกน้อย หรือขึ้นมากขึ้นน้อย ขึ้นอยู่กับประเทศค่ะ
วิธีการอ่านดัชนี VIX ทั่วไปคือ หากดัชนีมากกว่า 30 ถือว่าผันผวน หากดัชนีน้อยกว่า 20 ถือว่าเสถียร ผู้ลงทุนไม่ตกใจ
มาดูของจริงกันนะคะ ณ วันที่ 10 กันยายน 2563 ดัชนี VIX มีค่าที่ 29.71 ซึ่งถือว่าใกล้เขตแดนตกใจ โดยเฉพาะหลังจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในช่วงที่พวกเราหยุดชดเชยวันสงกรานต์กันปลายสัปดาห์ก่อนถึงต้นสัปดาห์ที่แล้ว
วิกฤติโควิด-19 ทำให้ดัชนีวัดความผันผวนเพิ่มขึ้นสูง โดยในช่วงที่ความผันผวนขึ้นสูงที่สุด คือวันที่ 16 มีนาคม 2563 ดัชนี VIX ขึ้นไปถึง 82.69 ถือว่าเป็นดัชนีปิดที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (All time high) แต่หากคิดระหว่างวัน ช่วงที่ดัชนีเคยขึ้นไปสูงที่สุด คิอช่วงเกิดวิกฤติซับไพร์ม หรือบ้านเราเรียก วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2551 ดัชนี VIX ขึ้นไปสูงถึง 89.53 แต่ปิดที่ 79.13 ต่ำกว่า ช่วงวิกฤติโควิด 19 ค่ะ
ส่วนดัชนี VIX ที่ทำสถิติต่ำที่สุดคือ 9.19 ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ปีที่ดิฉันเคยตั้งข้อสังเกตว่า ความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆต่ำผิดปกติ เพราะนักลงทุนสบายใจ
ดัชนี VIX เริ่มเปิดตัวในปี 2536 หรือ ค.ศ. 1993 โดยคำนวณจากราคาออปชั่นซื้อ (Call Option) ที่ครบกำหนดอายุใกล้ที่สุด คือ 23 วัน และ 37 วัน ซึ่งจะบอกความคาดหวังของผู้ลงทุนในระยะหนึ่งเดือนข้างหน้า และในปี 2546 หรือ ค.ศ. 2003 ทาง CBOE ร่วมมือกับ โกลด์แมนแซคส์ ปรับการคำนวณใหม่ และใช้มาจนถึงปัจจุบัน ผู้สนใจสามารถหาติดตามได้ค่ะจากเว็ปไซต์ของ CBOE (อ่านว่าซีโบ ซึ่งเป็นชื่อเล่นของตลาดนี้)
ดิฉันเรียนหนังสืออยู่ในเมืองใกล้ๆชิคาโก ตอนตลาดนี้เริ่มดำเนินการไปได้ 10 ปี เคยถามว่าทำไมไม่ใช้ชื่อว่า Chicago Board of Options Exchange ได้รับคำตอบว่า เขานำคำว่า of ออกไป เพราะอาจมีคนท้วงว่าถ้ามี of ต้องย่อเป็น CBOOE เลยทำให้ชื่อของที่นี่เขียนผิดไวยากรณ์ จริงเท็จเพียงใดไม่อาจทราบได้
นอกจากนี้ ในปี 2547 ซีโบ ก็ออกสินค้าใหม่ คือ สัญญา VIX-Based Futures และในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ก็ออก VIX Options เป็นการใช้ประโยชน์จากความผันผวน และเป็นสินทรัพย์ลงทุนกลุ่มใหม่ เพราะ ดัชนี VIX จะอยู่นิ่งๆ เวลาตลาดเป็นขาขึ้น แต่จะขึ้นแรง เวลาตลาดเป็นขาลงค่ะ
ผู้ลงทุนใน VIX-Based Futures และ VIX Options คือนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ และเทรดเดอร์ โดยถือเป็นกระจายการลงทุนของพอร์ต เพื่อลดความเสี่ยงค่ะ ถือเป็นการ “ลงทุนในความผันผวน เพื่อลดความผันผวน” ค่ะ
หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก Investopedia
ความผันผวน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2
ความผันผวน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
โพสต์ที่ 1
คุณไม่มีสิทธิ์ดูไฟล์ที่แนบมาในกระทู้