ระดับหนี้ครัวเรือนของไทย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 80% ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่เริ่มจะสูงเกินไป
ข้อมูลจาก CEIC แสดงว่า ณ สิ้นปี 2562 ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงที่สุดคือ สวิสเซอร์แลนด์ คือมีหนี้ครัวเรือน 130.6%ของจีดีพี รองลงมาคือ เดนมาร์ก 129% เนเธอร์แลนด์ 127.8% ออสเตรเลีย 125% นอร์เวย์ 110% แคนาดา 102% เกาหลีใต้ 97.9% สวีเดน 91.3 สหราชอาณาจักร 90.4% มาเลเซีย 82.7% ฮ่องกง 80.8% และไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือน 79.9% ของจีดีพี ส่วน สหรัฐอเมริกานั้น หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เท่ากับ 75.6%
ในปีนี้ จีดีพี ของประเทศต่างๆก็จะลดลงไปโดยถ้วนหน้า และหนี้ครัวเรือนก็จะเพิ่มเพราะมีผู้ตกงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นสัดส่วนของหนี้ต่อจีดีพี จะต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอนในทุกประเทศ
มีตัวเลขหนึ่งที่ดิฉันสนใจคือ สัดส่วนของหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือน (Household Debt to Income Ratio) ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ ปี 2562 ประเทศไทยมี จำนวนครัวเรือน 21,870,960 ครัวเรือน มีรายเฉลี่ยได้ครัวเรือนละ 26,371 บาท ต่อเดือน หรือปีละ 316,452 บาท และจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2563 มีสินเชื่อในระบบที่ปล่อยให้กับครัวเรือนจำนวน 13,479,196 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 616,306 บาท ดังนั้น สัดส่วนของหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนของไทยจึงเท่ากับ 195% โดยประมาณ
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เพราะยังไม่ได้รวมหนี้นอกระบบ นอกจากนี้เมื่อปี 2552 ที่ดิฉันเขียนเรื่องการจัดการหนี้ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของเราอยู่ที่ 53.7%ของรายได้ค่ะ อาจเป็นเพราะว่าในขณะนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่มีการรวบรวมตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือน จึงทำให้ต้องทำประมาณการจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งตัวเลขอาจจะคลาดเคลื่อน
แต่ในตอนนี้ไทยไต่ขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆของโลกแล้ว โดยมีสถิติของบางประเทศที่น่าสนใจ จาก ข้อมูลของ OECD คือ เดนมาร์ก มีสัดส่วนของหนี้ 235% ของรายได้ นอร์เวย์ 202% เนเธอร์แลนด์ 199% แคนาดา 172% เกาหลีใต้ 184% นิวซีแลนด์ 163% สวีเดน 162% จีน 99.9% ประเทศกลุ่มยูโร 93.75%
เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศที่อสังหาริมทรัพย์มีราคาสูง สัดส่วนของหนี้ต่อรายได้จะสูงด้วย คาดว่าเกิดจากหนี้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักค่ะ เมื่อราคาบ้านแพง ก็ต้องกู้เงินจำนวนสูงขึ้น
สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น สำนักงานสถิติของสหรัฐ สำรวจพบว่ามัธยฐานของรายได้ครัวเรือนของสหรัฐในปี 2561 (ข้อมูลล่าสุด) เท่ากับ 61,937 เหรียญ หรือประมาณ 1,951,015 บาท ส่วนหนี้ครัวเรือนของสหรัฐ (ข้อมูลจาก Statista) เท่ากับ 14.266 ล้านล้านเหรียญ จำนวนครัวเรือนเท่ากับ 128.58 ล้าน ดิฉันคำนวณออกมาเท่ากับหนี้ต่อครัวเรือน 110,950 เหรียญ หรือประมาณ 3,494,925 บาท เท่ากับว่า ครัวเรือนอเมริกันมีสัดส่วนหนี้ 179% ของรายได้
ทางธนาคารกลาง หรือ Federal Reserve เก็บข้อมูลเป็นเขต (county) เลยค่ะ พบว่า ณ สิ้นปี 2562 รัฐที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่ำที่สุด คือ รัฐดาโกต้าเหนือ ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ระหว่าง 39% ถึง 109% ส่วนรัฐที่มีสัดส่วนของหนี้ต่อรายได้สูงที่สุด มีสองรัฐคือ รัฐแมรีแลนด์ และรัฐฮาวาย ครัวเรือนในสองรัฐนี้ มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ 189 ถึง 213% รองลงมาคือ ไอดาโฮ และโคโลราโด มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ 175 ถึง 189%
เมื่อวิเคราะห์เช่นนี้ หนี้ครัวเรือนของไทยจึงไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลเท่าไรนัก เพราะราคาที่อยู่อาศัยของไทยไม่ได้สูงเกินไป ปัญหาจึงอยู่ที่สองสาเหตุคือ รายได้ต่ำเกินไป และมีหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายเกินตัวมากเกินไป
อย่างไรก็ดี เนื่องจากครัวเรือนไทยมีการทำธุรกิจด้วย เงินกู้ส่วนหนึ่งจึงเป็นการกู้เพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และมีการกู้เพื่อนำไปลงทุนในหุ้นของบริษัทครอบครัวด้วย การจะเหมารวมเอาว่าเป็นการกู้เพื่อใช้จ่ายจึงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว หากในอนาคตสามารถแยกข้อมูลหนี้ที่ใช้ในการทำธุรกิจในนามบุคคลออกจากหนี้ครัวเรือนได้ น่าจะทำให้ข้อมูลมีความแม่นยำมากขึ้นค่ะ
โดยปกติ นักวางแผนการเงินที่รับดูแลแก้ไขเรื่องหนี้บุคคลจะมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากในหลักสูตรการอบรมส่วนใหญ่จะเป็นการเน้นวางแผนเพื่อความมั่นคงในชีวิต จึงมีทั้งวางแผนการใช้จ่าย เมื่อใช้จ่ายได้สมเหตุผลก็มีเงินออม และวางแผนการออม เมื่อมีเงินออมแล้วก็ต้องต่อยอดเงินออมให้งอกเงยขึ้น ถือเป็นการวางแผนความมั่งคั่ง และควรรู้จักวิธีปกป้องความมั่งคั่งเพื่อความยั่งยืน
แต่ทว่า คนกลุ่มที่มีหนี้สูงจนความมั่งคั่งสุทธิติดลบ ไม่สามารถวางแผนการเงินเพื่อความมั่งคั่งได้ เนื่องจากมีภาระหนี้สินอยู่ จึงต้องไปแก้ไขปัญหาหนี้เสียก่อน จึงจะไปเริ่มวางแผนการเงินเพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงของชีวิตได้ ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาและความพยายามในการบรรลุเป้าหมายทางการเงินมากกว่าคนที่ไม่มีภาระหนี้
เมื่อเร็วๆนี้ ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับนักวางแผนการเงินที่ไปทำงานแก้ไขหนี้ให้กับประชาชน พบว่า การแก้ไขหนี้ให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ความร่วมมือจากเจ้าตัว ซึ่งถึงแม้จะได้รับความร่วมมือแล้ว ก็มีเพียงประมาณ 30% ของคนที่มีหนี้ ที่ประสบความสำเร็จ สามารถบรรลุแผนการเคลียร์หนี้สินและมีชีวิตที่เป็นปกติต่อไปได้
ดิฉันเป็นหนึ่งในคนที่ไม่ชอบเสียดอกเบี้ย ดังนั้นเมื่อมีหนี้ มีภาระดอกเบี้ย ดิฉันจะพยายามจ่ายคืนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ได้เงินพิเศษมาก็พยายามเอาไปจ่ายคืนหนี้ ทำให้หนี้หมดได้เร็ว และหากมีความจำเป็นจะต้องกู้ยืมใหม่ เราก็สามารถกู้ใหม่ได้ เป็นการสร้างเครดิตให้ตัวเองด้วยค่ะ หากเรากู้ยืมแล้วไม่ใช้คืน คราวหลังเราก็ไม่สามารถจะกู้ได้อีก เสียประวัติเราด้วย
กฎอย่างย่อของการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สินที่ไม่สมเหตุสมผลและป้องกันการเป็นหนี้ถาวรคือ 1. กินอยู่อย่างสมฐานะ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว 2. เก็บออมไว้สำหรับลงทุนเพื่ออนาคต 3. ก่อหนี้เฉพาะการซื้อของชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน หรือ รถ 4. ไม่ก่อหนี้ถ้าไม่จำเป็น 5. ถ้าเป็นไปได้ให้กู้ในระบบ เพราะดอกเบี้ยต่ำกว่า 6. รีบใช้คืนหนี้ให้หมดโดยเร็ว 7. ห้ามกู้จากที่หนึ่งไปผ่อนหนี้อีกที่หนึ่ง วนไปเรื่อยๆ หากจะจ่าย ต้องจ่ายคืนหนี้เดิมให้หมด แล้วย้ายหนี้ไปที่ใหม่ซึ่งเสียดอกเบี้ยต่ำกว่า
ดังนั้นในเรื่องหนี้ ต้องจัดการเหมือน โควิด-19 ค่ะ คือ กันไว้ดีกว่าแก้ การทำให้คนรู้จักกินอยู่อย่างพอเพียง ไม่ใช้จ่ายเกินตัว เก็บออมไว้สำหรับลงทุนเพื่ออนาคต ย่อมดีกว่าให้เขาไปก่อหนี้ มีปัญหา แล้วต้องมาแก้ไขค่ะ การเน้นความรู้ทางการเงินและสามารถนำไปใช้ได้ หรือ Financial Literacy ตั้งแต่ยังเยาว์วัย จึงเป็นวิธีการฉีดวัคซีนที่ดีที่สุดค่ะ
กันไว้ดีกว่าแก้/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2