การพัฒนาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยมีความคืบหน้าในสหรัฐที่น่าติดตามดังนี้
1.รัฐบาลสหรัฐ สั่งซื้อวัคซีน mRNA พัฒนาโดยบริษัท Pfizer และ BioNTech ล่วงหน้าคิดเป็นมูลค่า 1,950 ล้านเหรียญสหรัฐ วัคซีนดังกล่าวผ่านการทดลองกับมนุษย์ในขั้นแรก(คนอายุน้อยสุขภาพดีจำนวนน้อย) ไปแล้วและในขั้นที่ 2 ก็กำลังเสร็จสิ้นลง และได้เริ่มการทดลองขั้นสุดท้ายไปแล้ว โดยพบว่าวัคซีนตำรับดังกล่าวที่ใช้ RNA สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง antibodies มากกว่าคนที่ได้รับการรักษาจาก COVID-19 จนเป็นปกติแล้วถึง 1.8-2.8 เท่าตัว การมี anti-body แปลว่าระบบภูมิคุ้นกันขั้นที่ 2 ของร่างกายที่เรียกว่า acquired immune system นั้น “รู้จัก” ไวรัสตัวนี้และบอกกล่าวให้ทุกส่วนของระบบภูมิคุ้มกันร่วมกันปราบ แต่ที่สำคัญคือวัคซีน mRNA ของ Pfizer/BioNTech นั้นมีสรรพคุณในการกระตุ้น T-cell ของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย ทั้งนี้ T-cell นั้นเปรียบเทียบได้ว่าเป็นหน่วยรบพิเศษ (special operations) ของร่างกาย โดยแบ่งเป็น Helper T-cell ที่เป็นเสมือนฝ่ายสนับสนุน (ช่วยกระตุ้นให้ B-cell สร้าง antibodies) และ Killer T-cell ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการกำจัดเซลล์ที่ถูก “สิง” โดย COVID-19 นอกจากนั้น Killer-T-cell ยังระดม cytokines ให้ส่งสัญญาณไปยังระบบภูมิคุ้มกันอย่างทั่วถึงเพื่อให้ร่วมกันปราบไวรัสที่เล็ดรอดเข้ามาในร่างกาย ประเด็นสำคัญคืองานวิจัยพบว่า COVID-19 นั้นมีลักษณะที่แตกต่างจากไวรัสอื่นๆ ที่พบว่า antibody ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองเมื่อฟื้นตัวจากการป่วยไข้นั้นจะคงอยู่ได้ไม่นาน เช่นงานวิจัยของจีนพบว่าจากจำนวนคนที่มี antibody จาก COVID-19 37 คนพบว่าปริมาณ antibody ลดลงถึง 70% เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 2-3 เดือนและบางคนไม่เหลือภูมิคุ้มกันเลย แปลว่าวัคซีนที่มีประสิทธิผลนั้นจะต้องไม่เพียงแต่กระตุ้น anti-bodies แต่ควรจะต้องกระตุ้น T-cell อีกด้วย
2.เมื่อวันที่ 27 ก.ค. บริษัท Moderna ประกาศว่าได้เริ่มการทดลองวัคซีน mRNA กับมนุษย์ในระยะที่ 3 เช่นกัน โดยจะใช้อาสาสมัครประมาณ 30,000 คนในการทดลองขั้นสุดท้าย ทั้งนี้จะมีคนที่ได้วัคซีนจริงและบางคนได้วัคซีนเทียมและปล่อยให้คนกลุ่มดังกล่าวไปใช้ชีวิตเพื่อเผชิญกับความเสี่ยงที่จะติด COVID-19 โดย Moderna คาดหวังว่าคนที่ได้รับวัคซีนของตนจะต้องมีโอกาสติดเชื้อเป็น COVID-19น้อยกว่าคนที่ได้รับวัคซีนเทียมอย่างน้อย 50%
3.รัฐบาลสหรัฐได้สั่งซื้อวัคซีนของ Astra Zeneca ล่วงหน้าเช่นกัน โดยจ่ายเงิน 1,200 ล้านเหรียญเพื่อให้ได้วัคซีน 300 ล้านหลอด วัคซีนของ Astra Zeneca นั้นเป็นการทำการตัดแต่งพันธุกรรม (genetic engineer) ไวรัสประเภท adenovirus ที่ทำให้เป็นไข้หวัดธรรมดา ซึ่งแตกต่างจาก mRNA วัคซีนที่กล่าวถึงในข้อ 1 และข้อ 2 ข้างต้น ทั้งนี้เพราะพบว่าวัคซีนประเภทนี้สามารถกระตุ้นจำนวน antibody และ T-cell เพิ่มขึ้นอย่างมาก (strong antibody and T-cell response) ในการทดลองกับคนไข้ประมาณ 1,000 คน
4.บริษัท Johnson and Johnson ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐมูลค่า 456 ล้านเหรียญเพื่อพัฒนาวัคซีนประเภท adenovirus เช่นกัน ก็กำลังจะเริ่มการทดลองขั้นสุดท้ายใน 1-2 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังมีการเร่งพัฒนาวัคซีนในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษและจีนที่รุดหน้าไปมากแล้ว ทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะมีวัคซีนภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า แต่ยังมีอีก 2 คำถามคือวัคซีนดังกล่าวจะมีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด (ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ 60% 70% 90%?) และจะสามารถเร่งการให้เพียงพอได้มากน้อยเพียงใด เช่น ประมาณ 400-500 ล้านหลอดแรกคงจะต้องถูกนำไปใช้กับบุคคลที่มีความจำเป็นสูง (แพทย์และพยาบาล) ก่อนประชาชนโดยทั่วไป ทั้งนี้ที่สหรัฐ จีนและประเทศหลักอื่นๆ ก็ได้มีการเตรียมเร่งเพิ่มการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลอดแก้วเพื่อบรรจุวัคซีนและเข็มฉีดยา เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่สำคัญที่ควรคำนึงถึงอีกประเด็นหนึ่งคือข้อเท็จจริงว่า วัคซีนนั้นน่าจะมีประสิทธิผลน้อยกว่าสำหรับผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี) ในขณะที่ COVID-19 นั้นเป็นอันตรายมากที่สุดสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่านั้นเพราะผู้สูงอายุจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอเนื่องจากศูนย์การผลิต T-cell คือต่อม Thymus นั้นฝ่อตัวและหมดสภาพลงเมื่ออายุใกล้ 60 ปี ดังนั้นผู้สูงอายุจึงอาจต้องอาศัยวัคซีนในปริมาณที่สูงมากกว่าเพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันที่เท่าเทียมกับคนที่อายุน้อยกว่า
ผมเห็นว่าเราไม่ควรเพียงแต่คิดว่าจะต้องรอให้มีวัคซีนเพราะมีงานวิจัยจำนวนมากมีข้อสรุปตรงกันว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงขึ้น ซึ่งสามารถอ่านข้อสรุปดังกล่าวได้ในบทความ “Regular exercise has long-term benefits for immunity” ลงใน The Conversation เมื่อ 10 เม.ย. 2020 สรุปได้ว่า เมื่อออกกำลังกายก็พบว่าเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันประเภทต่างๆ ถูกกระตุ้นให้ไหลเวียนในเลือดทั่วร่างกายเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มการสอดส่องดูแลคุ้มกันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาในร่างกายและหลังจากออกกำลังกายเสร็จสิ้นแล้ว แม้ว่าเซลล์ภูมิคุ้มกันจะลดลงจากเลือดแต่ก็พบว่าเซลล์ดังกล่าวกลับมาเฝ้าระวังที่อวัยวะสำคัญๆ ของร่างกายซึ่งน่าจะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในอวัยวะดังกล่าวนั่นเอง
อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่พบว่าคนออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงมาก เช่น วิ่งมาราธอนจะมีโอกาสป่วยมากขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่า เป็นเพราะการออกกำลังอย่างหนักหน่วงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยลงหรือไม่ โดยนักวิชาการฝ่ายหนึ่งโต้ว่าอาจเป็นเพราะกิจกรรมดังกล่าวมักจะจัดขึ้นในพื้นที่จำกัดที่มีคนรวมตัวกันอย่างหนาแน่นจึงสามารถติดเชื้อจากผู้อื่นได้โดยง่าย และอาจมีความเครียดหรือนอนน้อยก่อนการเริ่มต้นของการแข่งขันการออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงดังกล่าวก็เป็นได้
แต่มีความเห็นตรงกันของนักวิชาการที่ได้มาจากงานวิจัยจำนวนมากว่า การออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง โดยไม่หนักหน่วงเกินไปคือเดินเร็วหรือวิ่งช้าๆ ครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมงนั้นจะทำให้สุขภาพดีขึ้นและระบบภูมิคุ้มกันก็จะแข็งแรงขึ้นอย่างแน่นอนครับ
ความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกัน COVID-19/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2