ครั้งที่แล้ว ผมนำเอาตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นไม่มากในต้นเดือนมี.ค. มาเปรียบเทียบกับการติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 40,000-50,000 คนในเดือน ก.ค. แต่ดัชนีหุ้น S&P 500 กลับปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2,237 จุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค.มาเป็น 3,180 จุดเมื่อวันที่ 7 ก.ค.หรือเพิ่มขึ้น 29% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่ดีกว่าดัชนี SET ของไทยจากจุดต่ำสุดที่ 1,016 จุด (ณ วันที่ 19 มี.ค.) มาเป็น 1,385 จุด ณ วันที่ 7 ก.ค.หรือเพิ่มขึ้น 26.6%
สาเหตุหนึ่งที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจเป็นเพราะสถิติที่สะท้อนว่า แม้จำนวนผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่จำนวนผู้ที่เสียชีวิตจาก COVID-19 เป็นรายวันกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังปรากฏในตารางข้างล่าง ทั้งนี้ปัจจุบันสหรัฐมีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านคนและจากจำนวนนี้มีผู้ที่ป่วยและยังต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล 1.6 ล้านคน ซึ่งดูแล้วเป็นตัวเลขที่ยังสูงมาก แต่ก็เป็นไปได้ว่าระบบสาธารณสุของสหรัฐอาจยังรองรับได้
ในอีกด้านหนึ่งนักลงทุนก็คงคาดหวังว่าการเร่งค้นคว้าวัคหาซีนเพื่อป้องกัน COVID-19 ที่ปัจจุบันมีการทดลองอยู่ประมาณ 140 ตำรับนั้นน่าจะประสบผลสำเร็จได้ในที่สุด โดยเฉพาะเมื่อมีประมาณ 40 ตำรับที่กำลังเข้าสู่การทดลองกับมนุษย์แล้ว และทางบริษัทยังให้ความหวังด้วยว่าจะสามารถทำการทดลองกับมนุษย์ในขั้นที่ 3 (ขั้นสุดท้าย) ได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็มีความเป็นไปได้สูงว่าการผลิตวัคซีนออกมาอย่างทั่วถึงเพื่อป้องกันมนุษย์เป็นพันล้านคนก็อาจสามารถทำได้ภายในกลางปีหน้า
ประเด็นคือแม้ว่าจะมีผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง แต่ความรู้ประสบการณ์และแนวทางในการรักษา/บำบัดดูแลก็ดีขึ้นไปด้วย ดังนั้นอัตราผู้เสียชีวิตจึงค่อนข้างต่ำและมีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถพัฒนาวัคซีนที่จะใช้ป้องกัน COVID-19 ได้จริงภายในกลางปีหน้า
อย่างไรก็ดี ก็ยังมีความ “กลัว” อย่างมากว่าไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่จะกลายพันธ์ไปในลักษณะที่จะเป็นอันตรายกับมนุษย์มากขึ้นไปอีก ซึ่งการกลายพันธ์อย่างรวดเร็วนั้นเป็นธรรมชาติของไวรัสทุกชนิดและหลายคนอาจมองแต่ในแง่ร้ายว่าการกลายพันธ์จะเป็นไปในทางลบเสมอ แต่การกลายพันธ์ก็อาจเป็นไปในทางบวกได้หากกลับไปอ่านการให้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ที่รายงานใน CNBC เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2020 หัวข้อข่าว “WHO says coronavirus has not meaningfully mutated to a more lethal or contagious form” ซึ่งมีผู้ให้สัมภาษณ์ 2 คนคือ
1.Dr.Mareia Van Kerkhoveหัวหน้าฝ่ายโรคใหม่และการแพร่ของไวรัสจากสัตว์ไปสู่มนุษย์ (zoonosis) สรุปว่าการกลายพันธ์ของโคโรนาไวรัสสายพันธ์ใหม่ยังเป็นภาวะปกติ “normal changes” กล่าวคือไม่ได้ทำให้ติดต่อได้ง่ายขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังต้องมีมาตรการระมัดระวังและควบคุมที่รัดกุม เพราะก็ยังเป็นไวรัสที่เป็นภัยอันตรายกับมนุษย์
2.Dr.Mike Ryanผู้อำนวยการบริหารโครงการฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ไวรัสจะกลายพันธ์ไปในทิศทางที่เป็นอันตรายมากขึ้นหรือน้อยลงกับมนุษย์ก็ได้ แต่โดยทั่วไปนั้นกล่าวได้ว่าไวรัสจะกลายพันธ์เพื่ออยู่กับมนุษย์ (evolve to live with humans)หมายความว่าอาจกลายพันธ์และมนุษย์เจ็บป่วยน้อยลงก็ได้เพื่อให้สามารถแพร่เชื้อต่อไปอีก กล่าวคือการทำร้ายเจ้าภาพไม่เป็นประโยชน์กับไวรัสที่ต้องการมีชีวิตอยู่และแพร่พันธ์ต่อไป (It’s not in the virus’ interest to do too much damage to the host. It wants to survive)
ดังนั้น จึงจะเป็นไปได้เหมือนกันว่าการกลายพันธ์ของโคโรนาไวรัสจะทำอันตรายกับมนุษย์น้อยลง นักลงทุนจึงไม่ได้แสดงท่าทีหวั่นไหวมากนักเมื่อดูจากการปรับตัวของราคาหุ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการติดเชื้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก
นอกจากนั้นก็ยังมีมาตรการทางการเงินและการคลังที่ภาครัฐในสหรัฐและยุโรป ที่ทุ่มเทให้กับการเยียวยาและการสนับสนุนบริษัทต่างๆ เป็นจำนวนมากมายและอย่างทั่วถึง ซึ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทต่างๆ ลดลงอย่างมาก ในขณะที่มาตรการเชิงปริมาณของนโยบายการเงิน(คิวอี) ก็อุ้มราคาสินทรัพย์ ดังนั้นขอให้ท่านผู้อ่านนึกถึงงบดุลของบริษัทว่าในเมื่อข้างซ้าย (สินทรัพย์)ไม่ลดลงและภาระหนี้สิน(ด้านขวา)ก็ไม่เพิ่มขั้น ดังนั้นส่วนสุดท้ายของข้างขวาของงบดุลคือส่วนของผู้ถือหุ้นก็ย่อมจะมาลดลง (ราคาหุ้นไม่ตก) หรืออีกนัยหนึ่งคือหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะ insolvency หรือหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินแม้จะมีคนตกงานเป็นจำนวนมากและจีดีพีติดลบอย่างมากครับ
เศรษฐกิจแย่แล้วทำไมหุ้นจึงปรับตัวขึ้น? (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2