สหรัฐอเมริกามีจำนวนประชากรต่ำกว่า 5% ของประชากรโลก แต่เป็นผู้กำหนดโครงสร้างทางเศรษฐกิจและมีสกุลเงินตราที่ทั่วโลกให้ความเชื่อมั่น บทบาทและอิทธิพลของอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากทุกประเทศบอบช้ำเสียหายและต้องการฟื้นฟู อเมริกาซึ่งมีความพร้อมจึงกลายเป็นผู้จัดการระบบสำคัญทั้งหลายโดยปริยาย
ถึงวันนี้ ทำเนียบขาวประกาศถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก(WHO) ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงประมาณวันละ 65,000 คน มีผู้เสียชีวิตรวมยอดแล้วเกินกว่า 134,000 คน การควบคุมสถานการณ์เรื่องนี้ยังบกพร่องมากและขาดการประสานงานระหว่างผู้บริหารประเทศทุกระดับ
ประชาชนรับสัญญาณผิด จึงแบ่งเป็นหลายความคิด บ้างก็ต้องการเปิดเศรษฐกิจและสถานศึกษาให้เร็วขึ้นเพื่อหวังให้วิถีชีวิตแบบเดิมกลับมาคืน ส่วนผู้ติดตามดัชนีของการระบาดและความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ก็ต้องป้องกันตัวเองไว้ก่อน ร้านค้าบางแห่งหรือบางชุมชน ต้องขึ้นป้ายว่าหากไม่ใส่หน้ากากเข้าร้านไม่ได้ แต่การปฏิบัติยังเป็นเพียงประปราย
ปัญหาที่ประดังเข้ามาพร้อมกันในอเมริกา เริ่มจากโรคระบาดที่กระทบกระเทือนเศรษฐกิจ และการเหยียดผิว นับว่าเป็นสามศึกที่แทบจะสู้ไม่ไหวอยู่แล้ว ศึกที่สี่เริ่มมีเค้าอันตรายคือ ความมั่นคงโดยเฉพาะระหว่างประเทศ ความเครียดที่เกิดขึ้นจากหลายสิ่งพร้อมกันภายในประเทศ อาจก่อให้เกิดนโยบายสร้างศึกนอกบ้านเพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ เห็นได้จากกรณีตัวอย่างของฮ่องกง และการเพิ่มกิจกรรมของทหารในทะเลจีนใต้
ถึงวันนี้ ดัชนีหุ้นในสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวขึ้นมาอีก เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ดาวโจนส์ขึ้นกว่า 29,500 และหลังจากหุ้นตกกว่า 30% ในเดือนมีนาคม ปัจจุบันกลับฟื้นตัวขึ้นมาอีก วันที่ 9 กรกฎาคม ดัชนีดาวโจนส์เท่ากับ 25,342 (หากควบคุมโรคระบาดไม่ได้โอกาสที่ตลาดหุ้นจะลดมูลค่า 30 ถึง 40% อีกครั้งเป็นไปได้มาก)
เมื่อตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เราคิดว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวขึ้นมาด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางบริษัทและบางอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุน ซึ่งคาดเดาว่าผลตอบแทนของการลงทุนในอนาคตจะคุ้มค่ามาก ทั้งที่ในปัจจุบันตัวเลขของการประกอบธุรกิจ ยังไม่สอดคล้องกับมูลค่าของหุ้น นักลงทุนให้มูลค่าบริษัท Tesla ที่ 258,000 ล้านเหรียญ (เทียบกับ GM ที่ 34,000 ล้าน Ford ที่ 23,000 ล้าน และ Boeing ที่ 98,000 ล้านเหรียญ) ส่วนบริษัทที่ยังไม่ได้ผลิตรถยนต์ออกมาขายเลย แต่มีแนวโน้มว่าจะเป็นคู่แข่งของ Tesla ได้คือบริษัท Nikola นั้น นักลงทุนให้ราคาแล้วถึง 20,000 ล้านเหรียญ
ขณะเดียวกันในสภาพความเป็นจริงระดับรากหญ้าแล้ว ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังทำงานที่บ้าน ส่วนที่ทำงานยังมีคนเข้าไปน้อยมาก ยังไม่มั่นใจเรื่องสุขอนามัยในการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน ถึงแม้ประชาชนส่วนใหญ่จะพออยู่ได้เพราะเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยเฉลี่ยประมาณ 600 เหรียญต่อสัปดาห์ แต่การใช้จ่ายเริ่มลดลงเพราะห่วงอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การต้องลดราคาสินค้า เศรษฐกิจขนาดย่อยและขนาดกลางเริ่มปิดตัวถาวร บรรยากาศจึงดูเหมือนเงินเฟ้อในตลาดหุ้น แต่กลับกลายเป็นเงินฝืดในระดับครอบครัว
สถานศึกษาโดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนลดลง และต้องมีการเสนอลดค่าเล่าเรียนเพื่อแข่งขันกัน มหาวิทยาลัยในอเมริกาทั้งหมดประมาณ 5,300 แห่ง ได้รับผลกระทบซึ่งประเมินว่า อย่างน้อย 365 สถาบันอาจจะต้องปิดตัวภายในระยะเวลาอีกไม่นาน
การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของอเมริกาครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ชั่วคราว แต่เป็นการปรับโครงสร้างใหญ่และจะมีผลกระทบระยะยาว จะกระทบกับทุกคนทุกอาชีพยิ่งกว่าวิกฤตของเศรษฐกิจเมื่อปี ค.ศ. 2008 ซึ่งครั้งนั้นส่วนใหญ่กระทบกับการลงทุน การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์
การผลิต ขนส่ง บริการ ซื้อขายระหว่างประเทศคู่ค้าต่างๆถูกปรับเปลี่ยนมาก แนวโน้มที่เห็นชัดเจนคือ แหล่งผลิตสำคัญในจีนได้เริ่มถูกโยกย้ายมาที่ประเทศที่ถือว่าปลอดภัยกว่า เช่น เม็กซิโก เป็นต้น การพยายามดึงการผลิตกลับมาที่อเมริกายังไม่ได้ผล
อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลพลอยได้ และเป็นความหวังในการช่วยปรับเปลี่ยนทิศทางและเพิ่มประสิทธิภาพของอเมริกาและทั่วโลกที่เห็นได้ชัดก็คือ เทคโนโลยีโทรคมนาคม ซึ่งมีการพัฒนามาก แต่ไม่ได้ใช้ในทางปฏิบัติเต็มที่ สถานการณ์ปัจจุบันเปิดโอกาสให้ทุกคนจำเป็นต้องรู้จักใช้เพื่อความอยู่รอด และคาดว่าจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ผู้นำฝ่ายรัฐสภาและผู้บริหารของอเมริกากำลังพิจารณาเพิ่มเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบอีก เพราะไม่มีทางเลือก การหยุด หรือ ชะลอการประกอบอาชีพ หรือการศึกษา เริ่มส่งผลให้เกิดการขาดความชำนาญและความกระตือรือร้น รายได้ลดลงแต่หนี้ยังคงที่ รวมทั้งหนี้จากการศึกษาซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากของเยาวชนอเมริกันทุกวันนี้
ตราบใดที่ยังไม่มีมหาอำนาจหรือระบบใดที่เข้ามาทดแทน ประชาคมโลกยังคงต้องหวังให้อเมริกาฝันฝ่าอุปสรรคใหญ่ครั้งนี้ไปได้ ถึงแม้พฤติกรรมของผู้นำทางการเมืองไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติโดยส่วนใหญ่ แต่ชาวอเมริกันคือผลรวมแห่งอารยธรรมและวัฒนธรรมของทุกมุมโลก ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่จะเป็นแหล่งรวมลูกหลานจากทั่วโลกซึ่งมาศึกษาหรือตั้งรกรากอยู่ในอเมริกา นำความหลากหลายมาแบ่งปันวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงหาทางแก้ปัญหาโดยวิธีเปิดเผยและโปร่งใส และที่สำคัญคือมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำคัญของโลก
การเลือกตั้งเป็นการใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย วันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ สหรัฐอเมริกาจะมีโอกาสเลือกผู้นำใหม่ ฝากท่านผู้อ่านกรุณาเชิญชวนญาติมิตรที่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงให้ออกมาใช้สิทธิ์โดยถ้วนหน้าครับ
ฝนตกไม่ทั่วฟ้า อเมริกาเปราะบาง/กฤษฎา บุญเรือง
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2