เมื่อ 2-3 วันก่อนนั้นมีข่าวเล็ก ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะเป็น “Fake News” หรือ “ข่าวปลอม” หรือเปล่าว่า นักบินที่กำลังขับเครื่องบินอยู่บนท้องฟ้าคนหนึ่งได้พบ “UFO” รูปร่างคล้ายจานบินอยู่บนท้องฟ้า และภาพที่บันทึกไว้ได้นั้น ทางนาซาหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าเป็นวัตถุที่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอะไรหรือก็คือ เป็น UFO จริง ๆ ผมเองไม่ได้ตื่นเต้นอะไรและคิดว่าคนทั่วไปก็คงไม่ได้สนใจ เพราะเรื่องแบบนี้มีมานานอย่างน้อยก็หลายสิบปีแล้ว
แต่ในยามที่กำลัง “ติด” อยู่ที่บ้านไม่ได้ไปไหนมานานเป็นเดือนเนื่องจากการระบาดของโควิด19 นี่ทำให้ผม “จินตนาการ” ไปว่า ถ้ามีมนุษย์ต่างดาวที่ขับยานอวกาศวนเวียนมองดูความเป็นไปของโลกมาตลอดเวลาเป็นหลายสิบหรือร้อยปี ในช่วงนี้พวกเขาคงประหลาดใจมากที่อยู่ ๆ ถนนทั่วโลกที่เต็มไปด้วยรถยนต์ก็ว่างลงจนแทบร้าง ผู้คนที่เดินกันตามถนนเพื่อไปทำงานหรือท่องเที่ยวหายไปเกือบหมด สถานบันเทิงยอดนิยมอย่างดิสนีย์แลนด์ปิดหมด เช่นเดียวกับร้านเหล้าหรือบาร์ตอนกลางคืนก็เงียบเชียบ ส่วนใหญ่ก็ปิดร้าง การแข่งขันกีฬาหรือการแสดงคอนเสิร์ตที่คนมาชุมนุมกันมากมายก็หยุดลงอย่างสิ้นเชิง ว่าที่จริง ไม่ใช่แค่เอเลียนหรือมนุษย์ต่างดาวที่งงว่าเกิดอะไรขึ้น สัตว์จำนวนมากที่ถูกมนุษย์ขับไล่ออกไปให้อยู่แต่ในป่าเป็นร้อย ๆ ปีมาแล้วก็คงประหลาดใจเช่นเดียวกัน บางแห่งพวกมันถึงกับเข้ามาดูในเมืองว่าเกิดอะไรขึ้น สัตว์น้ำขนาดใหญ่ในทะเลเช่นปลาโลมาก็เข้ามาว่ายเล่นอยู่ริมฝั่งโดยไม่กลัวว่าจะถูกทำร้าย เพราะมันไม่มีคน
ผมคิดว่าในประวัติศาสตร์สังคมของมนุษย์นั้น เราน่าจะไม่เคยประสบกับสภาพการณ์แบบนี้มาก่อนนั่นก็คือ การทำกิจกรรมของมนุษย์นั้น น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่กำเนิดมนุษย์ขึ้นในโลก พวกเราเติบโตขึ้นมาตลอดในแง่ของจำนวนและการทำกิจกรรมเพื่อความอยู่รอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์ ในบางช่วงเวลาเราก็ประสบปัญหาเหมือนกัน เช่น การเกิดสงครามโลกและโรคระบาดครั้งใหญ่อย่างไข้หวัดเสปน แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นกว้างขวางทั่วโลกแบบนี้ และคนก็ไม่ได้ลดการทำกิจกรรมลงมากมายขนาดนี้ แต่การระบาดของโคโรนาไวรัสในครั้งนี้ได้ทำให้คนทั่วโลกลดกิจกรรมลงมาอย่างมากและทันที ถ้ามองจากฟ้าได้ทั่วโลกผมคิดว่าตอนนี้คงคล้าย ๆ กับสภาพของโลกย้อนหลังไปอย่างน้อยซัก 50 ปีหรือมากกว่านั้น เกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์? เมื่อไรมนุษย์จะเคลื่อนไหวและเดินทางเหมือนเดิม?
ถ้าเรามอง “ภาพใหญ่” จริง ๆ ของวิกฤติโควิด19 คล้าย ๆ กับการสังเกตของเอเลียนจากฟากฟ้า ผมอยากจะอธิบายอย่างคร่าว ๆ แบบนี้ว่า มนุษย์เกือบทุกคนในโลกในยุคปัจจุบันนั้น ต่างก็อยู่ในโลกสมัยใหม่ที่ทุกวันจะต้องออกจากบ้านและเดินทางไปทำงานด้วยรถยนต์ทั้งที่เป็นของส่วนตัวและรถสาธารณะ โดยกิจกรรมหรือสิ่งที่ไปทำนั้น ประมาณซัก 80% เป็นการทำเพื่อ “ความอยู่รอด” หรือเพิ่มโอกาสอยู่รอดในอนาคต เช่น การผลิตอาหาร ยารักษาโลก การก่อสร้างที่อยู่อาศัย การสร้างโรงงานหรือสำนักงาน และงานบริการต่าง ๆ เช่นการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับมนุษย์ที่สัตว์อื่นไม่ทำ และอีก 20% นั้นเป็นกิจกรรมเพื่อการบันเทิงและท่องเที่ยว โดยที่งานบันเทิงนั้นก็รวมถึงการไปชมคอนเสิร์ต การชมการแข่งขันกีฬา การไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ส่วนการท่องเที่ยวนั้น ในปัจจุบันนอกจากการเดินทางด้วยรถยนต์แล้วยังรวมไปถึงการท่องเที่ยวต่างประเทศที่อาศัยเครื่องบินเป็นหลักด้วย
โควิด19 นั้นทำให้มนุษย์ต้องทำ “Social Distancing” หรือไม่ให้คนมาอยู่ใกล้กันน้อยกว่า 2-3 เมตร ไม่ให้คนมาชุมนุมกันมาก ๆ ไม่ให้คนต่างถิ่นไปมาหาสู่กัน เพราะจะทำให้โรคติดต่อกันได้ง่ายและไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ สิ่งที่ทำกันในตอนนี้ก็คือ พยายามหยุดการเดินทางและหยุดการชุมนุมกัน ในช่วงที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลก “Lock Down” หรือ “ปิดเมือง” เพื่อลดการระบาดของโรค นี่ทำให้คนลดการเดินทางออกจากบ้านลงมาก อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ไป กิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวและบันเทิงที่มนุษย์ต้องออกเดินทางจากบ้าน 20% นั้นหายไปหมด ซึ่งมนุษย์ก็ชดเชยบางส่วนด้วยการรับความบันเทิงที่บ้านผ่านสื่ออย่าง Netflix และสื่อสังคมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
การออกจากบ้านเพื่อไปทำงานอีก 80% นั้น จริง ๆ แล้ว 40% หรือครึ่งหนึ่งเป็นการทำงานเพื่อผลิตและให้บริการที่ไม่จำเป็นต่อการอยู่รอดโดยตรงและไม่รีบด่วน ซึ่งมนุษย์ก็ชะลอไปและไม่ทำจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งทำให้เหลือกิจกรรมที่จำเป็นต้องออกจากบ้านไปทำเพียง 40% แต่ 40% นี้ก็ยังมากเกินไป ไม่สามารถยับยั้งการระบาดของโลกได้ดีพอ ดังนั้น สิ่งที่มนุษย์ทำก็คือ การนำงานที่แต่เดิมต้องไปทำในที่ทำงานมาทำที่บ้านผ่านเทคโนโลยีดิจิตอล และเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้าผ่านระบบ E-Commerce มากขึ้น วิธีนี้สามารถ ลดการเดินทางออกจากบ้านได้อีก 10% เหลือสิ่งที่ต้องทำนอกบ้านเพียง 30% ดังนั้น โดยสรุปแล้ว มนุษยชาติก็สามารถลดการเดินทางออกจากบ้านได้ประมาณ 70% เพื่อที่จะลดและหยุดยั้งการระบาดของไวรัสโคโรน่าจนกว่าจะหายาหรือวัคซีนป้องกันมันได้ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นอีก 1- 2 ปี นับจากนี้
ความเสียหายของเศรษฐกิจจากกระบวนการต่าง ๆ ที่กล่าวถึงนั้นรุนแรงมาก ถ้ามนุษย์ลดการเดินทางออกจากบ้าน 70% เหลือการทำงานเพียง 30% และทำงานที่บ้านบวกกับการเพิ่มประสิทธิภาพงานอีก 20% ก็แปลว่า GDP ลดลง 50% เป็นเวลา 2 เดือนของการล็อกดาวน์ ก็เท่ากับว่าปี 2563 นี้ GDP จะหายไป 1 เดือนเต็มหรือ GDP ลดลงไป 8.3% ก็จะกลายเป็นปีที่โลกถดถอยมากที่สุดปีหนึ่งทีเดียว เราคงต้องดูกันต่อไป ประเด็นก็คือ เมื่อไรประเทศต่าง ๆ จะคลายล็อกเศรษฐกิจและคลายมากน้อยแค่ไหน เช่นเดียวกัน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวเร็วมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ภาคเศรษฐกิจไหนจะถูกกระทบและภาคไหนจะได้ประโยชน์หรือฟื้นตัวเร็ว
อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเดินทางและบันเทิงนอกบ้านนั้น ชัดเจนว่าจะถูกกระทบหนักที่สุดเพราะแทบจะถูกปิดไปเลยในช่วงปิดเมือง อุตสาหกรรมที่สนับสนุนและเกี่ยวข้องกับการเดินทางโดยตรงอย่างธุรกิจน้ำมันเองนั้นก็ถูกกระทบแรงที่สุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนขนาดว่าราคาน้ำมันบางช่วงติดลบซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ไม่ต้องพูดถึงธุรกิจการบิน สนามบิน และโรงแรมที่แทบจะถูกปิดและการฟื้นตัวก็จะใช้เวลายาวนานกว่าธุรกิจอื่น
บริษัทที่มีฐานะการเงินอ่อนแอน่าจะต้องอาศัยการช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อที่จะอยู่รอด ธุรกิจสินค้าฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นมากนักหรือสามารถเลื่อนการซื้อออกไปได้เพราะเป็นสินค้าคงทนก็ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่าคนจะต้องประหยัดและรักษาเงินสดเอาไว้ในยามที่รายได้หดหายหรือลดลงไปมาก ก็จะได้รับผลกระทบรองลงมาแต่ก็ยังเป็นปีที่ยากลำบากมาก ส่วนสินค้าจำเป็นที่จะต้องใช้หรือบริโภคในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอาหารนั้น น่าจะถูกผลกระทบไม่มากนัก เหตุผลก็เพราะว่าถึงอย่างไร รัฐบาลเกือบทุกประเทศรวมถึงไทยก็ต้องช่วยเหลือจ่ายเงินค่าครองชีพส่วนนี้ให้อยู่ได้ในช่วงที่ปิดเมืองและคนไม่มีรายได้
ในทุกวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในอดีตนั้น แทบจะไม่มีบริษัทที่ได้ประโยชน์เลย แต่ครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษที่บริษัทที่อยู่ในเทคโนโลยีดิจิตอลและบริษัทไฮเท็คทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่งที่ให้บริการที่ทำให้คนสามารถทำงานที่บ้านได้สะดวก คนที่ให้บริการการค้าขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต และคนที่ขายความบันเทิงถึงบ้านผ่านสื่อทั้งหลาย กลับได้ประโยชน์เนื่องจากคนต้องใช้สินค้าและบริการของพวกเขามากขึ้นในช่วง Lock Down ซึ่งนั่นทำให้บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นน้าสดาคไม่ตกลงมาเลย หลายบริษัททำ “All time high” ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
คำถามสุดท้ายก็คือ เมื่อไรเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเท่ากับก่อนเกิดวิกฤตโควิด19? นี่คือสิ่งที่ไม่มีใครตอบได้ชัดเจนขึ้นอยู่กับพัฒนาการของการระบาดของโรค ซึ่งหลายคนบอกว่าวันที่โลกค้นพบวัคซีนและสามารถผลิตได้มากพอน่าจะเป็นวันที่ทุกอย่างน่าจะกลับมาได้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ผมขอเสริมว่าเศรษฐกิจอาจจะกลับมาโตเท่าเดิมแต่สินค้าและบริการที่คนใช้อาจจะเปลี่ยนไป เพราะสินค้าบางอย่างที่คนได้ใช้ในช่วงวิกฤติเขาก็อาจจะใช้ต่อไปอีกในปริมาณที่มีนัยสำคัญหลังวิกฤติ ซึ่งทำให้สินค้าเดิมที่คนเคยใช้นั้น ถูกใช้น้อยลง ตัวอย่างเช่น การซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตจะมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่การซื้อจากหน้าร้านอาจจะน้อยลงหลังวิกฤติ หรืออย่างการทำงานที่บ้านที่คนจำนวนหนึ่งจะทำงานที่บ้านต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบไปยังสินค้าดั้งเดิมหลายอย่างรวมไปถึงการใช้น้ำมันและพื้นที่สำนักงาน เป็นต้น
โควิท19 : การปรับตัวครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2
โควิท19 : การปรับตัวครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 1
- IndyVI
- Verified User
- โพสต์: 3530
- ผู้ติดตาม: 0
Re: โควิท19 : การปรับตัวครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โพสต์ที่ 2
รายการ รู้ใช้ เข้าใจเงิน 4-5-63
โดย จิตติมา ทวาเรศ
- พูดคุยกับ กับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
https://www.facebook.com/Thinkingradio/ ... 761157361/
โดย จิตติมา ทวาเรศ
- พูดคุยกับ กับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
https://www.facebook.com/Thinkingradio/ ... 761157361/
Investment success doesn’t come from “buying good things,” but rather from “buying things well.
# Howard Mark #
# Howard Mark #