ข่าวใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นที่รุนแรงและเฉียบพลันมากกว่า COVID-19 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการที่ราคาน้ำมันลดลงไป 20-30%
ทำให้ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันลดลงไป 30-40% ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ทั้งนี้เพราะรัสเซียปฏิเสธข้อเสนอของกลุ่มโอเปกที่นำโดยซาอุดิอาระเบียให้รัสเซียร่วมมือในการสนับสนุนราคาน้ำมันของโอเปก โดยการยอมลดการผลิตลงประมาณ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่กลุ่มโอเปกจะยอมลดการผลิตลงไปวันละ 1 ล้านบาร์เรล
แต่เมื่อตกลงกันไม่ได้และดูเหมือนว่าจะเกิดการผิดใจกันขึ้นอีกด้วย จึงทำให้รัฐมนตรีพลังงานรัสเซียประกาศว่าต่อไปนี้จะไม่มีการควบคุม(ลด)ปริมาณการผลิตอีกต่อไป ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียก็ตอบโต้ในทันทีโดยการประกาศลดราคาขายน้ำมันให้กับลูกค้าในเอเชีย ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงไป 30% ในวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา และแม้ว่าราคาจะปรับตัวกลับขึ้นไปบ้างแล้ว แต่ความตื่นตระหนกก็คงมีอยู่อย่างต่อเนื่องเพราะนอกจากจะไม่สามารถตกลงลดการผลิตลงไปอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้ว โอเปกและรัสเซียก็ยังไม่สามารถต่ออายุสัญญาเดิมที่ลดการผลิตลงไป 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ข้อตกลงลดการผลิตดังกล่าวจะหมดอายุในปลายเดือนมี.ค.นี้ แปลว่าหากไม่มีการควบคุมเพื่อลดการผลิตเลยก็เป็นไปได้ว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากที่เดิมตลาดคาดหวังว่าจะมีการลดการผลิตลงไป 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันมากถึง 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงที่เศรษฐกิจโลก (โดยเฉพาะยุโรปตะวันออกกลางและทวีปอเมริกา) กำลังเผชิญกับการระบาดที่เร่งตัวเพิ่มขึ้นของโรค COVID-19 ทำให้ประเมินได้ว่าอุปสงค์ (ความต้องการ) น้ำมันของโลกกำลังจะหดตัวลงอย่างมากเพราะการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการเดินทางจะต้องถูกจำกัดให้ลดลงอย่างมากเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 และเศรษฐกิจจีนก็ยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยที่กำลังส่งผลกระทบต่อตลาดทุนอย่างหนักหน่วง
คำถามคือทำไมรัสเซียและซาอุดิอาระเบียจึงไม่สามารถพูดคุยกันให้รู้เรื่อง เพราะในอดีตหลายปีที่ผ่านมาก็ยังสามารถร่วมมือกันได้ในที่สุดโดยช่วยกันลดการผลิตน้ำมัน ทำให้สามารถผลักดันราคาน้ำมันให้อยู่ที่ระดับ 50-60 เหรียญต่อบาร์เรลซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้งรัสเซียและโอเปกมาโดยตลอด ทั้งนี้นักวิเคราะห์ให้ความเห็นในมิติต่างๆ เช่น รัสเซียไม่พอใจที่ถูกซาอุดิอาระเบียบังคับและความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างรัฐมนตรีพลังงานของรัสเซียกับรัฐมนตรีพลังงานของซาอุดิอาระเบียก็ปิดฉากลงไปเมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ของซาอุดิอาระเบียเมื่อปีที่แล้ว แต่ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญกว่าคือการที่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเห็นโอกาสที่จะลงโทษบริษัทน้ำมันของสหรัฐและคงคาดหวังว่าบริษัทน้ำมันของสหรัฐโดยเฉพาะผู้ผลิตรายย่อยที่สกัดน้ำมันและก๊าซจากซอกหิน(Shale oil and gas) จะล้มละลายตายจากไปเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะรัสเซียมองว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐที่พึ่งพา Shale oil and gas เป็นหลักนั้น ทำให้สหรัฐเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำเข้าพลังงานมาเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลกและส่งผลทางภูมิศาสตร์การเมือง ทำให้สหรัฐไม่กลัวการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันและจึงกล้าคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันของรัสเซียคือบริษัท Rosneft ที่ไปให้ความช่วยเหลือประเทศเวเนซุเอลา พันธมิตรของรัสเซียซึ่งก็ถูกสหรัฐคว่ำบาตรพร้อมกันไปด้วย กล่าวคือหากรัสเซียสามารถทำลายอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐได้ ก็จะเป็นการบั่นทอนอำนาจต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐพร้อมกันไปด้วย
แต่การทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงนี้ย่อมเป็นผลเสียอย่างมากสำหรับรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะต้องมีการรอมชอมและหันกลับมาร่วมมือกันในที่สุด แต่ก็ไม่ทราบว่าฝ่ายใดจะยอม “เสียหน้า” กลับมาริเริ่มการเจรจาก่อน ทั้งนี้เพราะทั้งรัสเซียและซาอุดิอาระเบียก็มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งพอที่จะอดทนกับราคาน้ำมันที่ตกต่ำไปได้อีกนานหลายเดือน (หรืออาจจะเป็นปี) โดยอาจสรุปจุดอ่อน-จุดแข็งของซาอุดิอาระเบียและรัสเซียได้ดังนี้
ซาอุดิอาระเบีย: เป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตน้ำมัน (รวมค่าขุดเจาะน้ำมันขึ้นมา ค่าใช้จ่ายในการบริหารและการขนส่ง ตลอดจนการลงทุนเพื่อทดแทนน้ำมันที่ผลิตออกมา) ที่ประมาณ 9 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำเกือบที่สุดในโลก ทั้งนี้ ซาอุดิอาระเบียก็ยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเล็กน้อย แต่ในอีกด้านหนึ่งทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงจากที่เคยสูงกว่า 700,000 ล้านเหรียญในปี 2015 เหลือ ต่ำกว่า 500,000 ล้านเหรียญ ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องดันให้ราคาน้ำมันอยู่ที่ 80 เหรียญต่อบาร์เรลจึงจะไม่ขาดดุลงบประมาณ โดยราคาน้ำมันที่ประมาณ 50 เหรียญต่อบาร์เรลจะทำให้ขาดดุลงบประมาฯมากถึง 6.5% ของจีดีพีในปี 2020 นอกจากนั้น รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้โฆษณาให้ประชาชนซื้อหุ้นของบริษัทน้ำมันของรัฐคือ Aramocoโดยประชาชนประมาณ 20% ได้จองซื้อหุ้นของบริษัทดังกล่าวที่ราคาจองเท่ากับ 32 ริเอล แต่ปัจจุบันราคาหุ้นต่ำกว่าราคาจองแล้ว
รัสเซีย: สถานะทางเศรษฐกิจของรัสเซียนั้นดีกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วมากเพราะได้พยายามสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศจากจุดต่ำสุดที่ 350,000 ล้านเหรียญในปี 2015 มาเป็น 560,000 ล้านเหรียญ ณ วันนี้และที่สำคัญคืออัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นคือ เมื่อราคาน้ำมันลดลงและค่าเงินรูเบิลลดลงไปด้วยก็จะช่วยลดผลกระทบ ต่างจากซาอุดิอาระเบียที่ผูกขาดค่าเงินของตนเอาไว้กับดอลลาร์สหรัฐ แต่รัสเซียเองก็ประสบปัญหาการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงอย่างมากจาก 7% ของจีดีพีในปี 2016 เหลือไม่ถึง 2% ของจีดีพีในปี 2018 แต่อาจมองได้ว่ารัสเซียมีจุดอ่อนน้อยกว่าซาอุดิอาระเบียและประธานาธิบดีปูตินน่าจะมีประสบการณ์ในการบริหารประเทศในสภาวะคับขันมากกว่า ดังนั้น นักวิเคราะห์บางคนจึงเชื่อว่าซาอุดิอาระเบียจะต้องเป็นฝ่ายเปลี่ยนท่าทีในที่สุด
เรื่องของราคาน้ำมัน/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2