ความตกต่ำของ ตลาดหุ้น ที่เพิ่งเริ่มต้น
โดย เพสซิมิสต์
นาย Andy Xie นักเศรษฐศาสตร์ กลยุทธ์การลงทุนภูมิภาคเอเชียของ Morgan Stanley เป็นผู้ที่วิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจ/การลงทุนได้อย่างเฉียบขาด และแบบ "ฟันธง" จึงได้รับความนิยมจากนักลงทุนสถาบันและมีผู้ติดตามข้อเขียนของเขาอยู่มาก อย่างไรก็ดี เขามักจะมองภายในแง่ลบมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าเป็นการมองลบเกินไป บทวิเคราะห์ล่าสุดของเขา (วันที่ 20 มิ.ย.2006) มีความชัดเจนและให้มุมมองที่น่าสนใจที่จะนำไปขบคิดต่อ (เพราะครั้งนี้ นาย Xie อาจคาดการณ์ถูกต้องก็เป็นได้) ผมจึงขอนำมาสรุปให้อ่านกันในวันนี้ครับ
บทสรุป
1.ธนาคารกลางทั่วโลกได้พยายามปกป้องเศรษฐกิจจากสภาวะเงินฝืดตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา โดยการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวด้วยดี แต่ก็ได้สร้างปัญหาราคาสินทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างเรื้อรัง จนได้กลายมาเป็นฟองสบู่ อย่างไรก็ดี ยุคสภาพคล่องสูงได้หมดลงแล้ว และประเทศที่เคยมีปัญหาเงินฝืด (จีนและญี่ปุ่น) ก็เริ่มมีเงินเฟ้อ และกำลัง "ส่งออก" เงินเฟ้อดังกล่าวสู่เศรษฐกิจโลก
2.แรงเทขายหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีนี้จนถึงปัจจุบันนั้น เป็นเพียงการปรับตัวหลังจากที่ได้ทะยานอย่างร้อนแรงนับแต่พฤษภาคม 2005 ถึงเมษายน 2006 อันเป็นผลจากการย้ายการลงทุนจากตลาดพัฒนาแล้วมาเพิ่มการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในกรอบที่สภาพคล่องโดยรวมขยายตัวในอัตราที่ต่ำ ดังนั้นการลดลงของราคาหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์จึงจะยังเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต เพราะสภาพคล่องที่ลดลงต่อเนื่องและนักลงทุนจะกลัวความเสี่ยงมากขึ้น
3.เงินเฟ้อจะเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพราะสภาพคล่องส่วนเกิน (จากสมัย 1998-2004) ยังมีหลงเหลือในระบบอยู่มาก การที่ธนาคารกลางต่างๆ ต้องรณรงค์ต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อต่อไปอีก หมายความว่าสภาพคล่องจะต้องถูกปรับลดลงอย่างมาก และจะส่งผลให้ราคาของสินทรัพย์ทั่วโลกจะต้องปรับลดลงอย่างมากเช่นกัน
4.ประเทศที่ต้องพึ่งพาการไหลเข้าของเงินทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้น (เพื่อทำให้เกิดความมั่งคั่งและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ) จะต้องได้รับผลกระทบอย่างมากในเชิงลบ เพราะราคาหุ้นที่ปรับลดลง จะส่งผลให้ค่าเงินอ่อนลง ทำให้ดอกเบี้ยต้องปรับสูงขึ้น เป็นผลให้การบริโภคต้องถดถอยลง
5.การปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (soft landing) ของราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐและจีน เป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจโลกสามารถหลีกเลี่ยงสภาวะถดถอยในปี 2007 อย่างไรก็ดี การตกต่ำของราคาอสังหาริมทรัพย์ (hard landing) มีความเป็นไปได้สูง
ทรรศนะของนักลงทุน
นาย Xie ได้ไปพบปะกับนักลงทุนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และพบว่าทุกคนได้รับผลกระทบจากการปรับลดลงของราคาหุ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่คาดหวังว่าการปรับลดลงนั้นจะเป็นเพียงสภาวะชั่วคราว แต่ก็ยังไม่กล้าที่จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในขณะนี้ และหากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นก็จะขายหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงออกไปก่อน
นาย Xie มีความเห็นแย้งว่า การปรับลดของราคาหุ้นที่ผ่านมา เป็นเพียงฉากแรกของการปรับตัวและเมื่อสภาพคล่องของโลกหดตัวลงไปอีกในอนาคต ตลาดหุ้นก็จะเข้าสู่สภาวะซบเซาที่ต่อเนื่อง (bear market) เนื่องจากผู้บริหารกองทุนส่วนใหญ่ยังสนใจที่จะสอบถามว่าคนอื่นๆ ทำอะไร (ซื้อหรือขาย) มากกว่าการ "ฟันธง" เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้น
อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังมีความหวาดกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการขายคืนหน่วยลงทุน ทำให้ผู้บริหารกองทุนต่างๆ ต้องขายหุ้นออกมาอีก ทั้งนี้ นาย Xie ไม่เชื่อว่าจะมีข่าวดีเกี่ยวกับเงินเฟ้อในอีก 12 เดือนข้างหน้า ดังนั้น จึงเห็นว่าการปรับขึ้นของตลาดในระยะหลังนี้จะไม่ยั่งยืน
แรงขายเกิดเพราะการซื้อมากเกินไป ในช่วง พ.ย.2548-เม.ย.2549
ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ และราคาโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นอย่างมากระหว่าง พ.ย.2548 ถึง เม.ย.2549 แม้ว่าสภาพคล่องในตลาดโลกขยายตัวอย่างเฉื่อยชา ทั้งนี้วัดจากการขยายตัวของฐานเงิน ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเงินเฟ้อเพียง 1.1% ในช่วงปี 2547-2548 ซึ่งต่ำกว่าปี 2545-2546 ที่ขยายตัวถึง 8.1%
การปรับขึ้นของราคาโภคภัณฑ์และหุ้นในตลาดเกิดใหม่นั้น เป็นผลมาจากการลดการลงทุนในตลาดหุ้นหลัก และการลดความเสี่ยงโดยการลดการลงทุนในตลาดพันธบัตร ตัวอย่างเช่น ราคาหุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐไม่ได้ปรับขึ้นเลยในช่วง 18 เดือน กล่าวคือ สภาพคล่องถูกดึงออกจากตลาดหลักไปสู่ตลาดเกิดใหม่ และตลาดโภคภัณฑ์นั่นเอง และเป็นการปรับขึ้นของราคาทุนในสภาวะที่สภาพคล่องในเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ดังนั้น จึงเป็นการปรับตัวขึ้นที่ไม่ยั่งยืน
สภาพคล่องอาจหดตัวลง
ในช่วงตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกเผชิญกับสภาวะต่างๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด เช่น วิกฤตเศรษฐกิจของเอเชีย (ทำให้ต้องลดค่าเงิน ทำให้สินค้าจากเอเชียราคาถูกลงอย่างมากเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์) การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของจีนทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น (ราคาสินค้าจึงลดลงและปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น) และการจัดการกับหนี้เสียของธนาคารญี่ปุ่น ทำให้ต้องตัดหนี้สูญและลดราคาทรัพย์สิน เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกกลัวปัญหาเงินฝืด (เงินเฟ้อติดลบ) จึงมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากและต่อเนื่อง จนเกิดสภาพคล่องส่วนเกิน ทำให้การนำเงินมาเก็งกำไรทำได้ง่ายและมีกำไรมาก ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวขึ้น ซึ่งความมั่งคั่งที่ตามมาทำให้เศรษฐกิจโลกสามารถขยายตัวและเฟื่องฟูได้อย่างมาก
ราคาสินทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้น จนเป็นฟองสบู่ในตลาดแนสแดคที่แตกสลายลงใน 2542-2543 ได้รับอานิสงส์จากการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐลงมาเหลือ 1% ทำให้เกิดฟองสบู่ต่อเนื่องไปสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดเกิดใหม่และสินค้าโภคภัณฑ์ ฟองสบู่ดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหา ตราบใดที่เงินเฟ้อยังไม่ปรับสูงขึ้น และความต้องการเก็งกำไร (โดยไม่กลัวความเสี่ยง) ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้โลกเข้าสู่สภาวะเงินเฟ้อแล้ว เพราะค่าจ้างก็ถูกปรับขึ้นที่ประเทศจีน, ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็ปรับขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก (ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณเงินในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้) กล่าวโดยสรุปคือ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเคย "ส่งออก" เงินฝืดไปสู่เศรษฐกิจโลก กำลังส่งออกเงินเฟ้อไปสู่เศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้
สภาพคล่องส่วนเกิน (ที่เพิ่มขึ้นถึง 60% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา) ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อนั้น อาจเกิดขึ้นผ่านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น หรือผ่านค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นในจีนและสหรัฐก็ได้ ประเด็นคือ หากธนาคารกลางต่างๆ ไม่ยอมลดสภาพคล่องโดยเร็ว เงินเฟ้อจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง ทั้งนี้ สภาวะเงินเฟ้อนี้จะยังเกิดขึ้นอยู่ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างมาก เพราะเงินเฟ้อไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น "ผ่าน" ทางสหรัฐเพียงทางเดียว แต่อาจเกิดขึ้นผ่านราคาน้ำมันก็ได้ แม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ จะปรับลง แต่นาย Xie เชื่อว่าราคาน้ำมันจะยังไม่ลดลง ทั้งนี้ เพราะผู้ผลิตน้ำมันร่ำรวยมากแล้ว จึงจะกล้าลดกำลังการผลิตลง เพื่อรักษาให้ราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับสูงต่อไป
นอกจากนั้น เงินเฟ้อจะเกิดขึ้น "ผ่าน" ต้นทุนการผลิตที่เริ่มปรับสูงขึ้นในประเทศจีน และจีนก็ได้ลดการอุดหนุนการส่งออกลง เพื่อประโยชน์ของการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ จึงกล่าวได้ว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีน จะทำให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงในปี 2550 ดังนั้น นาย Xie จึงเชื่อว่าธนาคารกลางในประเทศต่างๆ จะปรับลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าไม่ได้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอย ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่มีนักลงทุนคนใดคาดการณ์เอาไว้สำหรับปี 2550
ตลาดหุ้นอาจซบเซาใน 1-2 ปีข้างหน้า
การปรับลดสภาพคล่อง (ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมาก ในช่วง 10 ปีก่อนหน้า) จะส่งผลกระทบอย่างมาก ทำให้ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทลดลงไปอีก 20% โดยเฉลี่ย ในความเห็นของนาย Xie และเมื่อราคาสินทรัพย์ลดลง เศรษฐกิจโลกก็จะขยายตัวอย่างฝืดเคืองไปด้วย รวมทั้งกำไรของบริษัทต่างๆ เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีของโลกก็จะต้องลดลงไปด้วย เพราะในอดีตนั้นกำไรของบริษัทต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และจากกำไรที่ได้รับมาจากการเก็งกำไรในตลาดทุนตลาดเงิน
นอกจากนั้น ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัว เพราะการบริโภคที่เป็นผลมาจากการไหลเข้าของเงินทุนเพื่อเก็งกำไรในตลาดหุ้น ก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก เมื่อเม็ดเงินดังกล่าวเริ่มหยุดไหลเข้า (และเริ่มไหลออก) ค่าเงินก็จะต้องอ่อนตัวลง เงินเฟ้อก็จะปรับตัวสูงขึ้น ดอกเบี้ยก็จะต้องปรับตัวขึ้นตามไป ทำให้การบริโภคเข้าสู่สภาวะชะลอตัวลง เป็นผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะตกต่ำ และค่าเงินอ่อนตัวลง จนเป็น "วังวน" ที่อาจนำไปสู่วิกฤตทางการเงินสำหรับประเทศดังกล่าวได้ แม้ประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด ก็จะพบว่าการเกินดุลของตนสลายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว
กล่าวโดยสรุปคือ หากนาย Xie คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจถูกต้อง ปี 2007 จะเป็นปีที่ยากลำบากยิ่งสำหรับเศรษฐกิจโลกครับ
ความตกต่ำของ ตลาดหุ้น ที่เพิ่งเริ่มต้น !!!!
-
- สมาชิกกิตติมศักดิ์
- โพสต์: 6447
- ผู้ติดตาม: 0
ความตกต่ำของ ตลาดหุ้น ที่เพิ่งเริ่มต้น !!!!
โพสต์ที่ 2
การลงทุนคืออาหารอร่อยที่สุดเมื่อเย็นดีแล้ว