ขึ้นหัวเรื่องอย่างนี้ท่านผู้อ่านอาจจะเห็นว่าแปลกๆ แต่จากการวิจัยของคณะอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนบริหารธุรกิจเคลลอกก์ด้วย คือ ศาสตราจารย์แนนซี่ เควียน พบว่า ความมั่งคั่งของประเทศเพิ่มมากขึ้นจากสองปัจจัยหลัก คือ ทุนที่จับต้องได้ และทุนมนุษย์
ทุนที่จับต้องได้ คือ ทุนที่เป็นทรัพย์สิน เช่น โรงงาน เครื่องจักร แร่ธาตุ ทรัพยากร และเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ส่วนทุนมนุษย์ จะรวมถึงปัจจัยต่างๆรวมกัน เช่น ระดับการศึกษา และสุขภาพ ซึ่งทำให้ประชากรของประเทศใดประเทศหนึ่ง มีผลิตภาพมากกว่าประเทศอื่น
อย่างไรก็ตามเมื่อนักวิจัยพยายามนำทุนทั้งสองอย่างมารวมกัน ก็ไม่สามารถได้คำตอบว่า เหตุใดจึงมีช่องว่างระหว่างประเทศที่รวยกับประเทศที่จน จึงทำการศึกษาและพบว่า “การเรียนรู้จากการทำงาน” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “on-the-job learning” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ ประเทศที่มีประชากรที่สามารถเรียนรู้ทักษะในการทำงานได้เร็ว ร่ำรวยกว่าประเทศยากจน (ซึ่งประชากรเรียนรู้ทักษะในการทำงานได้ไม่เร็ว หรือไม่ดีเท่า)
ทีมนักวิจัยพบว่า การศึกษาไม่ใช่สาเหตุหลักของความไม่เท่าเทียม แต่พบว่า ผู้ปฏิบัติงานในประเทศที่จน ไม่เรียนรู้มากเท่าประเทศที่รวย แม้จะมีโอกาสเท่าๆกัน และเนื่องจากการเรียนรู้จากการทำงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ทักษะหลังสำเร็จการศึกษา และทักษะที่เกิดขึ้นหลังการสำเร็จการศึกษานี่เองที่ทำให้บุคคลสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง (และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ)
ทีมผู้วิจัยเชื่อว่า หากรัฐต้องการลดช่องว่างของความมั่งคั่ง รัฐควรจะศึกษาดูว่า อะไรคือสาเหตุที่คนในประเทศที่ยากจนกว่า เรียนรู้จากการทำงานได้น้อยกว่าคนในประเทศที่รวยกว่า และนำมาปรับปรุงการฝึกงาน สอนงาน เพื่อยกระดับฐานะของประเทศ
เท่าที่ดิฉันสังเกตจากการสัมผัสกับผู้คนในหลายๆประเทศ ดิฉันคิดว่า สาเหตุหลักเป็นเรื่องของวินัย ปนกับเรื่องของ การยอมรับในโชคชะตา คือคนในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่จะมีวินัยในการทำงานน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นผลทั้งจากเรื่องภูมิอากาศและชีวิตความเป็นอยู่ ประเทศที่มีความแตกต่างของฤดูกาลสูง ผู้คนต้องเตรียมการสำหรับฤดูที่ไม่มีผลผลิตและอาหารกิน ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงอยู่ในเขตอบอุ่นเป็นส่วนใหญ่ และประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าจะอยู่ในเขตร้อน เขตศูนย์สูตร ซึ่งภูมิอากาศดี มีพืชพรรณธัญญาหารทั้งปี เดินออกไปก็หาอาหารได้ เก็บผัก ตกปลา ก็ไม่ยากนัก ผู้คนโดยทั่วไปก็จะมีการวางแผนในชีวิตน้อยกว่า และมักจะมีวินัยในการทำงานน้อยกว่า
นอกจากนั้น คนในประเทศพัฒนามากกว่า(นักวิจัยใช้คำว่ารวยกว่า) ไม่ค่อยยอมรับในโชคชะตา จะเชื่อว่าคนเราสามารถสร้างเนื้อสร้างตัว และเอาชนะอุปสรรคต่างๆได้ หากมีความพยายาม ในขณะที่คนของประเทศพัฒนาน้อยกว่าส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องโชคชะตา และคิดว่าเป็นกรรมเก่าแต่เดิม จึงทำให้มีอุปสรรค ทำให้เขาไม่พยายามเอาชนะอุปสรรคและต่อสู้เพื่ออยากยกระดับฐานะของตนเองมากเท่าคนของประเทศที่รวยกว่า
ไม่เชื่อลองไปหาตัวอย่างมาพิสูจน์ก็ได้ค่ะ ผู้ประสบความสำเร็จในประเทศพัฒนาน้อยกว่า จะเป็นผู้ที่มีวินัยสูง มีความพยายามสูง ชอบการเรียนรู้ และไม่รอคอย ยอมรับชะตากรรมที่เป็นลบ แต่จะคิดและพยายามทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
สำหรับประเทศไทยเรา ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ยังไม่รวย เรายังมีปัญหาเรื่องจำนวนประชากรในวัยแรงงานลดลง และเรายังมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น
เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนาในหัวข้อ “ประเทศไทยจะรับมืออย่างไรกับแรงงานที่หายไป” ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา โดยเชิญวิทยากรจากหน่วยงานวิจัยของดิอิโคโนมิสต์ (EIC) กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สสส. เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลและอภิปรายด้วย
วิทยากรจาก EIC คาดว่าคนในวัยทำงานของประเทศไทยจะลดลงไป 6 ล้านคน เหลือเพียง 37 ล้านคนในช่วง 20 ปี คือปี ค.ศ. 2015 ถึง 2035 จึงเป็นประเด็นที่รัฐจะต้องพิจารณาว่า จะใช้มาตรการใดในการรับมือกับแรงงานที่ลดลง โดย มีทางเลือก 4 อย่างคือ การวางนโยบายเรื่องแรงงานอพยพ การดูแลสวัสดิการโดยเฉพาะการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ การเปลี่ยนแปลงผลิตภาพ เช่น การนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาช่วย และนโยบายเรื่องการศึกษาและการสร้างทักษะเพื่อรองรับลักษณะงานในอนาคต
จากการศึกษาของสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ซึ่งทำการสำรวจร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรอายุระหว่าง 19-49 ปี จำนวน 34.36 ล้านคน แต่งงานหรือมีคู่แล้ว 54% และเป็นโสด 39.09% โดยในกลุ่มที่แต่งงานแล้ว ครึ่งหนึ่งมีบุตร ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งไม่มีบุตร
ในกลุ่มนี้ มีคนที่ไม่ได้ทำงานประมาณ 7.6 ล้านคน โดย 20%เคยทำงานแต่หยุดทำเพราะต้องดูแลบุตร หรือดูแลพ่อแม่ ฯลฯ จึงทำให้แรงงานของไทยหายไปอีกส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ จากการสำรวจบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 119 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวม 41% ของมูลค่าตลาดรวม พบว่าบริษัทส่วนใหญ่วางแผนจะรับมือกับแรงงานที่จะลดลงไปด้วยการฝึกทักษะใหม่ ฝึกทักษะที่สูงขึ้น (reskill / upskill) ซึ่งวิทยากรกล่าวว่า ปัญหาคือการศึกษากับความต้องการของตลาดแรงงานไม่ตรงกัน และการฝึกทักษะใหม่ หรือฝึกทักษะที่สูงขึ้นนั้น ทำได้ไม่ง่าย
ทั้งนี้ ความรู้ด้านดิจิตัล หรือ Digital Literacy เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับแรงงานในอนาคต และการเรียน ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะ แต่จำเป็นต้องสอนในรู้จักวิธีการเรียนรู้
ตรงกับงานวิจัยข้างบนเลยค่ะ พนักงานที่สามารถเรียนรู้ในงานได้มากกว่า และดีกว่า จะสามารถยกระดับฐานะของตัวเอง และของประเทศได้มากกว่าค่ะ
ความมั่งคั่งขึ้นอยู่กับการเรียนรู้/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2