อยู่อย่างไรยามสูงวัย (2)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

อยู่อย่างไรยามสูงวัย (2)/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สวัสดีค่ะ สัปดาห์นี้จะขอเขียนถึงกลุ่มผู้สูงวัยที่อยู่กันเองโดยไม่ได้อยู่กับลูกหลาน ซึ่งจากรายงาน World Population Ageing 2017 ขององค์การสหประชาชาติ ในพบว่าผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียวเพิ่มสัดส่วนจาก 9% ในปี 1990 เป็น 12% ในปี 2010 และที่อยู่กันเองลำพังตายาย เพิ่มสัดส่วนจาก 15% ในปี 1990 เป็น 25% ในปี 2010

รวมเป็นว่า ผู้สูงวัยที่อยู่กันเอง ไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรืออยู่กับคู่สมรส มีสัดส่วนเพิ่มจาก 24% เป็น 37% ของผู้สูงวัยทั้งหมด หรือที่ดิฉันคำนวณคร่าวๆจากประชากรของโลก 6,849 ล้านคนในปี 2010 และประมาณ 9% เป็นผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็จะคิดเป็นจำนวนผู้สูงวัยที่อยู่กันเองหรืออยู่คนเดียว ประมาณ 228 ล้านคน

หากมองจากแนวโน้ม สัดส่วนของผู้สูงวัยที่อยู่กันเองในปี 2017 น่าจะเพิ่มเป็นอย่างน้อย 40% ของผู้สูงวัย 962.3 ล้านคน คิดคร่าวๆก็จะมีจำนวนถึง 384.9 ล้านคน

ที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัยที่อยู่กันเองแบ่งเป็นสองกลุ่มค่ะ ผู้สูงวัยที่ยังช่วยตัวเองได้ ในประเทศกลุ่มยุโรป หรือในทวีปอเมริกาเหนือ นิยมอยู่ในชุมชนที่เรียกกันว่า Senior Living ซึ่งจะกำหนดอายุของผู้เข้าอยู่ไว้ เช่น 55 ปีขึ้นไป หรือบางแห่งกำหนด 62 ปีขึ้นไป (ดิฉันสันนิษฐานว่า ประเทศที่อายุเกษียณ 60 ปี ก็จะรับคนที่อายุ 55 ปีขึ้นไป และประเทศที่กำหนดอายุเกษียณที่ 65 ปี ก็จะรับผู้อาศัยในโครงการที่อายุ 62 ปีขึ้นไป เพื่อเผื่อถึงผู้เกษียณอายุงานก่อนกำหนด ที่เรียกว่า early retirement หรือเผื่อถึงคู่สมรสที่อาจจะเยาว์วัยกว่า)

ในโครงการจะมีผู้ดูแลทำความสะอาด ตัดหญ้าให้ถ้ามีสนามหญ้า มีสนามกีฬา ร้านอาหาร ร้านขายของ ร้านเสริมสวย คลินิกแพทย์ ฯลฯ เป็นชุมชนที่คัดเลือกผู้อยู่อาศัยในวัยใกล้เคียงกัน และมีการจัดกิจกรรมร่วมกันเป็นระยะๆ

โครงการเหล่านี้เป็นที่นิยมมากในประเทศพัฒนาแล้ว เรื่องจากมีสัดส่วนของผู้ที่อาศัยอยู่กันเองสูงมาก คือ ในยุโรป มีสัดส่วน 76% และในทวีปอเมริกาเหนือ มีสัดส่วน 71% ของผู้สูงวัย ที่อาศัยอยู่กันเองในปี 2010 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 37% ที่กล่าวไปข้างต้น และดิฉันเชื่อว่าในปัจจุบันสัดส่วนอาจจะสูงกว่านี้

ในส่วนของทวีปเอเชีย แม้ว่าจะมีสัดส่วนของผู้สูงวัยที่อยู่กันเองเพียง 27% ในปี 2010 แต่ก็เพิ่มขึ้นมามากจากสัดส่วนเพียง 18%ในปี 1990

ที่อยู่อาศัยกลุ่มที่สอง เรียกว่า Assisted Living คือการพำนักอยู่โดยมีผู้ช่วยเหลือ เช่น เนอร์สซิ่งโฮม หรือ long-term care ต่างๆ โดยกลุ่มนี้ต้องการการดูแลใกล้ชิดจากผู้ช่วย หรือจากพยาบาล กลุ่มนี้จะมีกิจกรรมส่วนรวมไม่มาก เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดูแลเรื่องส่วนตัวและกิจวัตรต่างๆ ส่วนใหญ่จะไม่ได้กำหนดอายุผู้เข้าพัก เนื่องจากจะดูตามความจำเป็นทางสุขภาพ

ที่อยู่อาศัยในกลุ่ม Senior Living สำหรับประเทศไทยเรา เริ่มมาจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สำหรับบ้านที่ไม่สามารถดูแลผู้สูงวัยได้ เพราะคนในบ้านต้องออกไปทำงาน ทำมาหากิน และไม่อยากปล่อยให้ผู้สูงวัยอยู่กันเอง จึงมีภาพลักษณ์ที่เป็นลบหน่อยๆในช่วงแรก เสมือนลูกหลานทอดทิ้ง แต่ต่อมาภายหลัง มีชาวต่างชาติต้องการจะมาใช้ชีวิตหลังเกษียณในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำกว่า และไม่มีอากาศในฤดูหนาวที่โหดร้าย จึงเกิดที่พักอาศัยที่สบาย และผู้เข้าพักไม่ได้เป็นบุคคลที่ถูกทอดทิ้ง แต่เป็นบุคคลที่สมัครใจจะอยู่เอง เพราะต้องการมีอิสระ และต้องการทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับคนในวัยใกล้เคียงกัน ภายหลังจึงเริ่มมีการนำแนวคิดนี้มาใช้กับคนไทยเพิ่มขึ้น โดยมีทั้งโครงการสำหรับคนทั่วๆไป และโครงการระดับบนราคาสูง

คาดการณ์ว่าความต้องการที่อยู่อาศัยในลักษณะ Senior Living จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะต่อไป จากสาเหตุที่ประชากรแก่ช้าลง สุขภาพดีขึ้น อายุยืนขึ้น และไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไปพึ่งตัวเองมากขึ้น พึ่งลูกหลานน้อยลง

อย่างไรก็ดี ผู้บริหารโครงการต้องมีการคัดเลือกผู้เข้าพักอาศัย และการบริหารจัดการที่อยู่อาศัยในลักษณะนี้ ถ้าจะทำให้โครงการคึกคักน่าอยู่ มีชีวิตชีวา ผู้อยู่อาศัยต้องพักในลักษณะของการ “ผลัดกันอยู่” หรือ เป็นการลงทุนในสิทธิการเช่า หรือที่เรียกกันว่า “เซ้ง”นั่นเอง คือระหว่างที่พักอยู่ก็เป็นเจ้าของเต็มที่ อยากจะจัดตกแต่งบ้านอย่างไรสไตล์ไหน ก็ย่อมทำได้ ตราบที่ไม่รบกวนคนอื่น หรือไม่ขัดกับกฎเกณฑ์ของโครงการ แต่เมื่อเบื่อ หรือเมื่อต้องการความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นในลักษณะ Assisted Living ก็จะย้ายออกไป ส่วนมูลค่าของที่อยู่อาศัย หากยังมีคงเหลือ ก็สามารถโอนสิทธิ์ต่อให้กับผู้อื่นที่ต้องการจะเข้ามาพักต่อไป เจ้าของเดิมก็จะได้เงินไปเช่าที่ใหม่ซึ่งเหมาะสมกับความต้องการของตนมากกว่า

ส่วน Assisted Living นั้น ส่วนใหญ่เป็นกึ่งๆสถานพยาบาล จึงจ่ายค่าอยู่ในลักษณะของค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือรายปีให้กับเจ้าของสถานที่ สำหรับบริการอื่นที่ใช้ เช่น บริการทางการแพทย์ ผู้อาศัยจะแยกจ่ายต่างหาก

อีกวิธีหนึ่งที่ผู้สูงวัยในประเทศพัฒนาแล้วที่มีฐานะดีชอบกันมาก คือการล่องเรือสำราญค่ะ เปลี่ยนสถานที่และเปลี่ยนเพื่อนร่วมเดินทางไปเรื่อยๆ บนเรือมีทีมแพทย์และพยาบาลพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ข้อดีคือ ได้พบปะกับเพื่อนต่างวัยด้วย ไม่ต้องจำกัดเพื่อนบ้านอยู่เพียงผู้คนในกลุ่มสูงวัยด้วยกัน ค่าใช้จ่ายรวมอาหารทุกมื้อ และเครื่องดื่มที่ไม่มีอัลโกฮอล วันละประมาณ 400-800 เหรียญสหรัฐต่อคน มีคนเคยเล่าว่า พบคุณยายท่านหนึ่ง ล่องเรือสำราญไปทั่วโลกแล้ว ล่องจนจำไม่ได้ว่าที่ไหนเป็นที่ไหน ทราบอย่างเดียวว่า ถึงเวลาทานอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น ก็ไปทาน หากเรือจอเทียบท่าแล้วมีการจัดรถบัสรับไปเที่ยว หากสนใจก็ไปด้วย ไม่สนใจก็นั่งดื่มชา หรือว่ายน้ำอยู่บนเรือ รับประกันไม่เหงาแน่นอนค่ะ การล่องเรือนี้ จัดอยู่ในประเภท Senior Living ที่มีบริการทางการแพทย์และการท่องเที่ยวแถมให้ค่ะ
โพสต์โพสต์