ผมมีความเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนซึ่งในช่วงเกือบ 45 ปีที่ผ่านมา เป็นความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ร่วมกันกำลังจะพลิกผันเป็นการทำสงครามเย็นระหว่างกัน เพราะทั้งสหรัฐและจีนต่างมองฝ่ายตรงข้ามว่ากำลังคุกคามความอยู่รอดของตน (existential threat) เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีข้อมูลและลักฐานที่ชัดเจน ซึ่งผมจะขอนำเสนอในบทความต่อไปอีก 3 ตอน
ในตอนแรกนี้ผมขอนำเสนอข้อสรุปที่สำคัญๆ คือ
1.ปัจจุบันเสียงส่วนใหญ่ยังมองกรอบของปัญหาว่าเป็นเรื่องของการทำสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ประเด็นคือหากเป็นเรื่องของการค้าก็จะต้องมีข้อสรุปและหาทางประนีประนอมกันได้อย่างแน่นนอน เพราะการค้าและการลงทุนระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นย่อมจะต้องทำให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน (win-win) เนื่องจากเป็นการทำธุระกรรมแบบสมัครใจ (voluntary) แต่เมื่อภาครัฐเข้ามาแทรกแซง (เช่นการปรับขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้า) ก็ย่อมจะทำให้เกิดความเสียหายและมีการร้องเรียนให้หาทางสงบศึก ซึ่งนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ก็จะก่อกระแสให้มีความหวังว่าผู้นำของจีนและสหรัฐจะต้องสงบศึกได้ในที่สุด เพราะต่างฝ่ายต่างได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการกีดกันการค้าและการลงทุน
2.แต่หากผู้นำและชนชั้นของทั้ง 2 ประเทศมาองว่า อีกฝ่ายหนึ่งกำลังคุกคามความอยู่รอดของตน กรอบของการมองปัญหาจะต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนกับกรณีที่สหรัฐปรับเปลี่ยนท่าทีและนโยบายต่อสหภาพโซเวียตประมาณ 4-5 ปีหลังจากการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้คงจะจำกันได้ว่าสหรัฐกับสหภาพโซเวียตนั้นเป็นพันธมิตรร่วมกันในการต่อสู้และล้มล้างกองทัพของฮิตเลอร์ แต่ภายในเวลาไม่กี่ปีหลังจากชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐประเมินสถานการณ์ใหม่และสรุปว่าสหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามสหรัฐ ทำให้เกิดการทำสงครามเย็นระหว่างกันยามนานถึง 40 ปี ผมเชื่อว่าผู้นำและชนชั้นนำของสหรัฐ (แปลว่าไม่ใช่ประธานาธิบดีทรัมป์คนเดียว)ใกล้ที่จะตัดสินใจแล้วว่า จีนเป็นภัยคุกคามสหรัฐและโลกที่สหรัฐได้สร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
3.แต่จีนในปี 2020 จะไม่เหมือนสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1950 เพราะสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียตนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างใดกับเศรษฐกิจของประเทศฝ่ายตะวันตก เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของทั้ง 2 ค่ายนั้นแยกตัวกันอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้น แต่ในกรณีของจีนกับสหรัฐนั้น เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศมีความผูกพันกันอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง จีนกับสหรัฐทำการค้าร่วมกันปีละกว่า 7 แสนล้านเหรียญ โดยการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐมูลค่า 558,000 ล้านเหรียญนั้นคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 4% ของจีดีพีของจีนในปี 2018 สหรัฐนั้นส่งออกไปจีนเพียง 179,000 ล้านเหรียญ แต่จีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ของสหรัฐ (มูลค่า 20,000 ล้านเหรียญ) ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐไปจีนนั้นเพิ่มขึ้น 700% ในช่วง 2000-2017 จีนซื้อ 52% ของการส่งออกถั่วเหลืองของสหรัฐทั้งหมด นอกจากนั้นจีนก็ยังเตรียมที่จะลงทุนพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มลรัฐอลาสก้า มูลค่า 43,000 ล้านเหรียญ ผมคิดว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายไม่สามารถเชื่อได้ว่าสหรัฐกับจีนจะเลิกคบกันทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นหลายๆ คนจึงจะยังมีความหวังว่าผู้นำของทั้ง 2 ประเทศจะสามารถปรับความสัมพันธ์และหาเงื่อนไข เพื่อนำไปสู่การประนีประนอมที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศทั้ง 2 สามารถดำเนินต่อไปได้ในที่สุด
4.ดังที่ทราบกันดีว่าโลกกาภิวัฒน์ (globalization) ที่พัฒนามานานหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น ทำให้โลกมีห่วงโซ่การผลิต (global supply chain) เพียงอันเดียวและจีนเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นโรงงานประกอบชิ้นส่วน (global factory) ที่สำคัญและกำลังพัฒนาตัวเองไปสู่การเพิ่มมูลค่าและความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีแขนงต่างๆ อย่างเร่งรีบ (ตัวอย่างเช่น Made in China 2025) นอกจากนั้นเศรษฐกิจจีนก็ยังมีขนาดใหญ่เป็นรองเพียงสหรัฐเท่านั้น กล่าวคือจีดีพีสหรัฐประมาณ 21 ล้านล้านเหรียญ ในขณะที่จีดีพีจีนประมาณ 15 ล้านล้านเหรียญ รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 45% ของจีดีพีโลก ดังนั้นการทำสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นจะต้องทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาพถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนั้นประเทศต่างๆ ก็ยังจะต้อง “เลือกข้าง” อีกด้วยว่าจะเลือกเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของจีนที่เรียกว่าทุนนิยมแบบบงการโดยรัฐ (state-led capitalism) หรือจะยึดโยงกับระบบทุนนิยมเสรีของสหรัฐ (free-market capitalism)
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านจะมีความเห็นแย้งข้อสรุปดังกล่าว เพราะฟังดูแล้วจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสหรัฐ จีนและเศรษฐกิจโลก ดังนั้นจึงดูจะไร้ด้วยสาเหตุและเหตุผลที่หนักแน่น ซึ่งผมจะขอนำข้อมูลและเหตุผลมาเสนอในตอนต่อไปครับ
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2