โค้ด: เลือกทั้งหมด
ผมมีเพื่อนสมัยที่เรียนในมหาวิทยาลัยหลายคนที่ในตอนนั้นเป็นลูกของครอบครัวคนรวยที่ทำธุรกิจ ในขณะนั้นผมและเพื่อนคนอื่น ๆ ต่างก็เห็นว่าพวกเขาก็คือคนที่โชคดีที่ “เกิดมารวย” มีเงินใช้จ่ายได้ฟุ่มเฟือย บางคนมีรถขับ บางคนได้รับการ “ยอมรับ” จาก “ผู้ใหญ่” และสังคมมากกว่าคนอื่น ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ พวกเขามักได้ “แฟนสวย” หรือเป็นแฟนที่ “ไฮโซ” เป็น “ดอกฟ้า” ที่คนในมหาวิทยาลัยต่างก็หมายปอง ผมไม่ได้อิจฉาอะไรกับพวกเขา เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเหมือนกับเพื่อนคนอื่น ๆ น่าจะพูดได้ว่าแทบจะไม่มีช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ จริง ๆ ก็น่าจะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะในสมัยก่อนนั้น กิจกรรมที่ทำร่วมกันก็มักจะวนเวียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ได้ใช้เงินทองอะไร ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นนอกรั้วมหาวิทยาลัยหรือความเป็นอยู่ที่บ้านเขาจะเป็นอย่างไรนั้น เราก็ไม่ได้รับรู้อยู่แล้ว แต่ความคิดลึก ๆ ของผมในตอนนั้นก็คือ เราจะไม่มีทางเป็นแบบพวกเขาหรือรวยเท่าได้ โอกาสที่จะร่ำรวยอย่างสุจริตของคนในสังคมในเวลานั้น ดูเหมือนว่าจะต้องพึ่งพิงอยู่กับการเป็นเจ้าของธุรกิจเป็นหลัก แต่การเป็นเจ้าของธุรกิจก็ต้องพึ่งพาเงินทุน คอนเน็คชั่น และประสบการณ์หรือฐานทางธุรกิจ ซึ่งสำหรับผมแล้ว เป็นไปไม่ได้!
แต่แล้วเศรษฐกิจของไทยก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เวลาผ่านไปกว่า 40 ปี ผมก็พบว่า เรื่องแรก เพื่อนหลายคนที่เป็นลูกเจ้าของธุรกิจที่ “ร่ำรวย” ในสมัยนั้น ตอนนี้บางคนก็อาจจะยังทำธุรกิจอยู่แต่เป็นธุรกิจ “ธรรมดา ๆ” ที่มีการแข่งขันสูงมากและไม่ได้ทำเงินอะไรนัก คิดแล้วแทบไม่ต่างจากการเป็นพนักงานระดับสูงในบริษัท เขาไม่ได้เป็น “คนรวยมาก” อีกต่อไปแล้ว เรื่องที่สองก็คือ หลายคนนั้น ขณะนี้ไม่ได้ทำธุรกิจหรือทำงานอยู่กับทางบ้านเนื่องจากตนเองไม่ใช่ “พี่ชายคนโต” ที่รับช่วงบริหารธุรกิจของ “กงสี” ต่อจากพ่อแม่ เขาทำงานเป็นพนักงานระดับสูงขององค์กรบริษัทขนาดใหญ่ มีเงินเดือนและรายได้ดีพอสมควรแก่อัตภาพแต่ไม่ใช่คนรวยอีกต่อไป เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ธุรกิจเดิมของครอบครัวหรือของพ่อแม่นั้นถดถอยหรือ “ดับ” ไปนานแล้ว ส่วนผู้นำ “กงสี” คนใหม่ที่มักจะเป็น “พี่ชายใหญ่” นั้น บางครอบครัวก็ “เจ๊ง” ไปแล้วเพราะธุรกิจนั้นกำลัง “ล้าสมัย” หรือหมดยุคไม่สามารถแข่งขันได้ในปัจจุบัน บางครอบครัวพี่ใหญ่ก็ไปเริ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือธุรกิจใหม่ที่เป็นของ “ส่วนตัว” ที่มักอาศัย “ฐานธุรกิจ” หรือเงินจากกงสีเดิม ในระหว่างนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในกงสีก็เสื่อมลงอย่างรุนแรงจนแทบไม่มองหน้ากัน
กรณีสุดท้ายก็คือเพื่อนที่เคยรวยมาก “ระดับชาติ” และธุรกิจของครอบครัวเป็นสินค้าที่ยังเติบโตหรือมีความต้องการอยู่แม้ว่าการเติบโตจะไม่มากแล้วในขณะนี้ ปัจจุบันพวกเขายังทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือสูงสุดของกลุ่มบริษัทที่ครอบครัวยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หลาย ๆ บริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ “กงสี” ของเขาก็ยังอยู่แต่กลายเป็น Holding Company ที่ถือหุ้นหลาย ๆ บริษัท อย่างไรก็ตามค่าที่มีพี่น้องจำนวนมากมาย รวมถึงเขยและสะใภ้และลูกหลานของพวกเขาอีกจำนวนเป็นทวีคูณ การแบ่งหุ้นก็จะกระจายมาก คิดแล้วแต่ละคนก็มีหุ้นไม่มากอย่างที่คิด เขาอาจจะยังรวยเป็นเศรษฐี แต่ก็ไม่ใช่มหาเศรษฐีอย่างในสมัยก่อนที่สังคมเห็น แต่นี่ก็คือ “กงสี” ส่วนน้อยมากที่ประสบความสำเร็จสูงและสามารถรักษาความมั่งคั่งและความสัมพันธ์ของครอบครัวไว้ได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าอนาคตก็คงไม่เข้าข้างพวกเขาเท่าไร เพราะนับวันดูเหมือนว่าธุรกิจจะด้อยลงเมื่อเทียบกับธุรกิจใหม่ ๆ ที่เติบโตเร็วกว่ามาก
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจกงสีตกต่ำลงมาต่อเนื่องนั้น ผมคิดว่าเป็นเพราะธุรกิจของกงสีมีโครงสร้างการถือหุ้นและการบริหารที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะในโลกยุคใหม่ที่มีการแข่งขันสูงขึ้นมากเช่นเดียวกับการที่จะต้องปรับตัวและอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจสูงกว่าเดิมมากซึ่งธุรกิจกงสีไม่มี ในประเด็นการถือหุ้นนั้น ดูเหมือนว่าผู้นำหรือหัวหน้ากงสีจะ “ผูกขาด” คือถือหุ้นทั้งหมด แต่จะ “แบ่ง” เงินที่ได้กำไรให้แก่สมาชิกตามความพอใจของตน ในกรณีที่หัวหน้าเป็นพ่อแม่ ประเด็นความไม่พอใจก็อาจจะไม่รุนแรงมากนัก แต่ในกรณีที่เป็นพี่ชายใหญ่หรือพี่น้องคนใดคนหนึ่ง ปัญหาก็จะมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมาชิกเริ่มมี “คนนอก” เช่นสะใภ้หรือเขยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นี่ทำให้แรงจูงใจในการทำงานอย่างทุ่มเทของสมาชิกกงสีลดน้อยลงและไม่สัมพันธ์กับรายได้ที่เขาจะได้รับ บางกงสีนั้นอาจจะมีการแบ่งการถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติเองนั้น เนื่องจากระบบบัญชีไม่มีมาตรฐานและการอนุมัติรายจ่ายต่าง ๆ นั้นมักจะอยู่ในมือของสมาชิกที่มีอำนาจซึ่งก็คือหัวหน้ากงสี การแบ่งผลประโยชน์ก็มักจะมีปัญหาอยู่ดี นั่นส่งผลให้ธุรกิจไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรเป็น และสุดท้าย ความมั่งคั่งของกงสีก็มักจะลดลงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายอาจจะต้องล้มหายตายจากไป
การแก้ปัญหาของกงสีนั้น ดูเหมือนว่าวิธีที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การเอาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารและการถือหุ้นของสมาชิกแต่ละคนได้มาก อย่างไรก็ตาม บริษัทที่จะสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหรือเจ้าของยินดีที่จะเข้าจดทะเบียนนั้นน่าจะเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจกงสีทั้งหมด ดังนั้น วิธีที่จะทำให้ธุรกิจของกงสีดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้พี่น้องมีความปรองดองกันและมีความสัมพันธ์ที่ดีนั้นน่าจะอยู่ที่การจัดการหรือปรับโครงสร้างของหัวหน้ากงสีโดยเฉพาะที่เป็นพ่อแม่ เนื่องจากลูกหลานจะยอมรับมากกว่าที่หัวหน้าจะเป็นพี่น้องกัน ประเด็นนี้มักจะไม่เกิดขึ้นง่าย เหตุผลก็เพราะว่าพ่อแม่นั้นมักจะไม่เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งก็แน่นอนเพราะเขายัง “คุมเงินทุกบาททุกสตางค์” ใครกล้า “หือ” ก็อาจจะ “ถูกตัดออกจากกองมรดก” ได้
ประสบการณ์ของผมกับเรื่องของกงสีนั้น ผมแทบจะกล้าบอกได้เลยว่าแทบทุกแห่งมีปัญหา ถ้าไม่ใช่เรื่องของธุรกิจที่แย่ลงหรือเจ๊งก็จะเป็นเรื่องของการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงผลประโยชน์ของสมาชิกหลังจากที่พ่อแม่เสียชีวิตหรือหมดบทบาทไปแล้ว ปัญหาสำคัญที่การปรับโครงสร้างของกงสีทำไม่ได้หรือทำไม่ได้ดีอยู่ที่ว่าพ่อแม่ที่เป็นหัวหน้ากงสีนั้นมักจะไม่ยอม “แบ่งสมบัติ” ก่อนที่ตนเองจะตายหรือหมดความสามารถหรือต้องการเกษียณ นี่ก็อาจจะเป็นเรื่องของสัญชาติญาณมนุษย์ที่อยากจะมีอำนาจอย่างน้อยก็กับลูกหลานของตน คนกลัวว่าถ้าให้ไปหมดแล้วลูกหลานจะไม่ฟังตนเองอีกต่อไปและอาจจะใช้เงินไปอย่างไม่ระมัดระวัง เฉพาะอย่างยิ่งคนเอเชียอย่างเราที่มักมองลูกว่ายังเป็น “เด็ก” ที่ต้องการเราคอยปกป้อง เป็น “นกในกรงทอง” ถ้าปล่อยให้เป็นอิสระก็อาจจะเอาตัวไม่รอด บางคนก็คิดว่าอยากที่จะให้ลูกหลานอยู่ด้วยกันช่วยเหลือดูแลกันต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าปล่อยให้เป็นอิสระก็จะมีบางคนเอาตัวไม่รอด ดู ๆ ไปแล้วก็อุปมาเหมือนกับการพยายาม “เลี้ยงนกในกงสี” ของพ่อแม่ แต่ประเด็นก็คือ วันหนึ่งกงสีก็อาจจะ “แตก” และเวลานั้น นกบางตัวที่ถูกเลี้ยงไว้ใน “กงสี” ก็เอาตัวไม่รอดอยู่ดี
ส่วนตัวผมเองคิดว่าการได้อยู่ในกงสีนั้นก็ยังเป็น “โชคดี” อยู่ดีเพราะเขามี “แต้มต่อ” ไม่น้อยในการที่จะเติบโตและประสบความสำเร็จในชีวิต อย่างไรก็ตาม ในสังคมปัจจุบันนั้น คนที่มีความสามารถและมีทัศนคติที่ถูกต้องก็สามารถประสบความสำเร็จและร่ำรวยได้เช่นเดียวกันและไม่น้อยไปกว่ากัน ประสบการณ์กว่า 40 ปี ที่ผ่านมาของผมเป็นเครื่องยืนยันได้ โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าผม “โชคดี” ที่ไม่ได้อยู่ใน “กงสี” และก็จะไม่มี “กงสี” ให้กับลูกหลาน การทะเลาะกันของลูกหลานนั้นผมคิดว่าไม่คุ้มค่า ดังนั้น ถ้าผมมีกงสี เช่นเดียวกับที่หลายคนมี ผมก็จะ “จัดการ” ทุกอย่างที่จะทำให้อนาคตของกิจการและลูกหลานไม่มีปัญหา และนั่นก็คือสิ่งที่ทุกคนต้องการไม่ใช่หรือ