โค้ด: เลือกทั้งหมด
นักลงทุนที่เน้นปัจจัยพื้นฐานล้วนให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์กิจการทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ การวิเคราะห์เชิงปริมาณได้แก่ การประเมินมูลค่ากิจการ การวิเคราะห์งบการเงิน สถานะทางการเงิน อัตราส่วนทางการเงินซึ่งส่วนใหญ่ถูกแสดงเป็นตัวเลขที่ได้จากการคำนวณทั้งจากข้อเท็จจริงและจากการคาดการณ์ล่วงหน้า ส่วนการวิเคราะห์เชิงคุณภาพนั้น มักไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเลข เช่น รูปแบบธุรกิจหรือ “Business Model” การวิเคราะห์ SWOT ศักยภาพในการแข่งขัน ความสามารถของผู้บริหาร ซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมินหรือมุมมองในการวิเคราะห์ของนักลงทุนแต่ละคน
ในการลงทุนส่วนตัวของผมนั้น ผมมัก “คัดกรอง” ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เข้าเกณฑ์น่าสนใจลงทุนโดยให้ความสำคัญกับ Business Model เป็นลำดับแรกๆ ก่อนที่จะพิจารณารายละเอียดอื่นเพิ่มเติมทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ลองมาดูตัวอย่างกลุ่มธุรกิจว่ามี Business Model ข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
กลุ่มค้าปลีกมีรูปแบบธุรกิจแบบ “Cost Plus” หรือ กำหนดราคาขายจากราคาต้นทุนบวกกำไร ดังนั้นหากสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ธุรกิจจะต้องมีกำไร ไม่ขาดทุน และควรจะต้องมีอัตราส่วนในการทำกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกซึ่งมีการแข่งขันสูงมาก นักลงทุนจึงควรเลือกลงทุนกับผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำและมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงของธุรกิจค้าปลีกในแต่ละประเภท เพราะมีความได้เปรียบทั้งด้านขนาด อำนาจการต่อรอง ได้รับประโยชน์สูงสุดจาก Economies of Scale ทำให้มีความพร้อมด้านเงินลงทุนในการขยายสาขาให้เติบโตยิ่งขึ้นไปอีก
กลุ่มธุรกิจสัมปทาน มีรูปแบบธุรกิจ “กึ่งผูกขาด” จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการแข่งขัน มีคู่แข่งจำกัดและมีจำนวนน้อย กิจการส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณูปโภคเช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ทางด่วน รถไฟฟ้า ต้องใช้เงินลงทุนช่วงแรกสูงมาก มีระยะเวลาถึงจุดคุ้มทุนยาวนาน มักถูกควบคุมราคาและอาจไม่สามารถปรับราคาขึ้นโดยง่ายเพราะส่งผลกระทบวงกว้าง มีความเสี่ยงเรื่องหมดอายุสัมปทานและการต่ออายุ การเติบโตรายได้มักมาจากปริมาณการบริโภคที่สูงขึ้นและการปรับราคา จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการความแน่นอน ไม่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงมากนักและควรพิจารณาลงทุนเมื่อราคาหุ้นมี Margin of Safety มากพอ
กลุ่มธุรกิจมือถือ มีลักษณะคล้ายกับธุรกิจสัมปทาน แต่มีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่รวดเร็วกว่า กิจการมักเติบโตสูงจากปริมาณความต้องการในช่วงแรก แต่ยอดขายและกำไรจะเติบโตช้าลงอย่างมากเมื่อเข้าใกล้จุดอิ่มตัวจนกว่าจะมีแนะนำเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆ แก่ผู้บริโภคอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนโครงสร้างส่วนแบ่งทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลดี ผู้ประกอบทุกรายจึงต้องเร่งโอนย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาตให้เร็วที่สุดพร้อมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นมากจากข้อเสนอ “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” อีกด้วย
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มผู้รับเหมานั้นมีรูปแบบธุรกิจ “ผู้ชนะเสนอราคาต่ำสุด” แม้มีกลุ่มผู้ประกอบการน้อยรายเข้าร่วมประกวดราคา แต่ผู้ชนะต้องแบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงและการขาดแคลนแรงงาน ค่าปรับจากการส่งมอบงานล่าช้า ผลประกอบการจึงคาดการณ์ได้ยาก กลุ่มสร้างบ้านและคอนโดนั้น ผู้ประกอบการที่มีกลยุทธ์ “สร้างเสร็จก่อนขาย” จะมีข้อมูลต้นทุนจริงเพื่อกำหนดราคาขาย จึงคาดการณ์ผลประกอบการได้ง่ายกว่า ส่วนผู้ประกอบการคอนโดต้องบริหารจัดการทรัพยากรดีเยี่ยมเพราะการก่อสร้างคอนโดให้แล้วเสร็จเพื่อส่งมอบต้องใช้เวลายาวนานกว่าการสร้างบ้านเดี่ยวซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นเฟสๆ ได้ ส่วนกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า จะมีรูปแบบธุรกิจที่มี “รายได้แน่นอน” กว่าเพราะยังมีความต้องการเช่าเพื่อขยายกิจการและตอบสนองแนวโน้มการขยายตัวของเมือง ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้เช่ายังสามารถทำกำไรด้วยการนำสินทรัพย์เสนอขายในรูปกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ต่อไปได้อีกด้วย
กลุ่มการแพทย์ มีรูปแบบธุรกิจแบบ “Cost Plus ที่ไม่มีโอกาสต่อรองราคา” ผู้ป่วยมักต้องกลับมาใช้บริการซ้ำจากประวัติการตรวจรักษา โรงพยาบาลเอกชนยังมีข้อได้เปรียบจากการบริการที่สะดวกและรวดเร็วกว่าแม้ค่ารักษาพยาบาลจะสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐบาลที่ไม่เพียงพอ การควบรวมและการรวมกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังทำให้ภาวการณ์แข่งขันไม่รุนแรงนัก ส่งผลดีต่อผลประกอบการโดยรวม ราคาหุ้นกลุ่มนี้จึงมักซื้อขายที่ระดับสูงอยู่เสมอและเหมาะกับการลงทุนระยะยาวเป็นหลัก
นั่นคือตัวอย่างการวิเคราะห์เชิงคุณภาพอย่างคร่าวๆ ในฐานะ Value Investor นักลงทุนควรเพิ่มความสำคัญในการวิเคราะห์ Business Model ของกิจการและอุตสาหกรรมที่ตนสนใจอย่างละเอียด กิจการที่มี Business Model โดดเด่นและยังเป็นกิจการที่มีมูลค่าเพิ่ม (value added) สูงสุดในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มักความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนในระยะยาวมากกว่า ส่งผลดีต่อผลประกอบการและราคาหุ้นในอนาคต ส่วนกิจการที่มี Business Model ธรรมดาและยังมีข้อด้อย นอกจากผลประกอบการจะไม่โดดเด่นแล้ว หากการแข่งขันทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลต่อ “ความอยู่รอดของกิจการ” ในอนาคตได้เช่นกัน