โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 22 ก.พ. 57
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ก้าวกระโดดของตลาดหุ้นไทย
ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่สิ้นปี 2543 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ ตลาดหุ้นไทยมีการพัฒนามาอย่าง “ก้าวกระโดด” ในเกือบทุกด้าน
เริ่มตั้งแต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ปิดที่ประมาณ 269 จุดตอนสิ้นปี 2543 ได้ปรับขึ้นมาเป็นประมาณ 1300 จุดเมื่อสิ้นปี 2556 หรือเติบโตขึ้นเกือบ 4 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยปีละประมาณ 13% และถ้ารวมปันผลอีกปีละประมาณ 3% ก็จะเห็นว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วง 13 ปีที่ผ่านมานั้นให้ผลตอบแทนถึง 16% ต่อปีแบบทบต้น ถ้าเราลงทุนระยะยาวต่อเนื่องมาตลอดโดยถือกองทุนรวมอิงดัชนีตลาด เงิน 1 บาทจะกลายเป็นเงินเกือบ 7 บาท ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีและหาได้ยากมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงแรกตั้งแต่เปิดตลาดในช่วงต้นปี 2518 จนถึงสิ้นปี 2543 ที่ดัชนีปรับขึ้นน้อยมาก กล่าวคือ ในช่วงเวลา 26 ปี ดัชนีตลาดปรับขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละประมาณ 3.9% แบบทบต้น ดังนั้นต้องถือว่าในช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมานั้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด” และนี่ก็ตรงกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดของประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2540
การฟื้นตัวหรือการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์นั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น เพราะหลังจากภาวะวิกฤติและทุกอย่างเริ่มฟื้นตัวในปี 2544 สิ่งต่าง ๆ ในตลาดหุ้นก็เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทุก ๆ อย่างกำลังดีขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด” ในความรู้สึกของผม
นักลงทุนที่เข้ามาหลังจากปี 2543 นั้น ผมคิดว่ามี Profile หรือมีคุณสมบัติหรือมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากนักลงทุนที่ “เล่นหุ้น” อยู่ในตลาดก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะพวกเขากลายเป็น “นักลงทุน” ที่เน้นการเลือกซื้อหุ้นที่มี “พื้นฐาน” การดำเนินงานที่ดี หุ้นที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนหรือมีกำไรต่ำ มีผลประกอบการไม่แน่นอน หุ้นมีการ “ปั่น” โดยนักลงทุน “ขาใหญ่” ที่เคยเป็นหุ้น “ยอดนิยม” นั้น หมดความนิยมลงไปอย่างสิ้นเชิง นักลงทุนหน้าใหม่นั้น ไม่ใช่ “นักเก็งกำไร” ที่เข้ามาในตลาดหุ้นเพื่อที่จะ “เสี่ยงโชค” อีกต่อไป พวกเขาคือคนที่มีเงินเหลือเก็บที่ต้องการสร้างผลตอบแทนให้แก่เงินที่พวกเขาอาจจะต้องเก็บไว้เพื่อการเกษียน พวกเขาคิดว่าการฝากเงินในสถาบันการเงินที่ “ปลอดภัย” นั้น “ไม่คุ้มค่า” เพราะดอกเบี้ยแต่ละปีที่ได้รับนั้นต่ำมาก ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่เคยสูงกว่า 10% ต่อปีก่อนวิกฤติลดลงมาเรื่อย ๆ เหลือ 6% ในปี 2542 4% ในปี 2543 3.5% ในปี 2544 และหลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำกว่า 3% มาเกือบทุกปีในช่วงเวลา 13 ปี
นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย “รุ่นใหม่” นั้น จำนวนมากเป็นคนหนุ่มสาวที่ กินเงินเดือนในบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ พวกเขาเป็นคนที่มีการศึกษาสูงและมีความคิดที่ดูเหมือนว่าจะแตกต่างกับคนรุ่นก่อน พวกเขาเป็นคน “Gen- X” ที่มีความคิด “เสรี” กล้ารับความคิดใหม่ ๆ ในทุกด้านของสังคม และสำหรับเรื่องของเงินทองแล้ว พวกเขาไม่เดินตามคนรุ่นก่อนที่มักคิดแต่ว่าหนทางแห่งความมั่งคั่งที่ดีและมีคุณธรรมนั้นจะต้อง “ท่วมไปด้วยหยาดเหงื่อ” พวกเขาเชื่อว่าหนทางแห่งความมั่งคั่งนั้นมีมากมายและมันมักจะมาจากความคิดสร้างสรรค์และ—การลงทุน และพวกเขาก็ค้นพบว่าตลาดหุ้นนั้น คือแหล่งการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงและเหมาะกับพวกเขาที่สุด ตลาดหุ้นไม่ใช่แหล่ง “อบายมุข” สำหรับนักเก็งกำไรหรือนักพนันในสายตาของพวกเขาและสังคมอีกต่อไป นักลงทุนรุ่นใหม่เลิกพูดว่าตนเอง “เล่นหุ้น” แต่เป็น “นักลงทุน” คนที่ทุ่มเทและศึกษาการลงทุนเลือกแนวทางการลงทุนใหม่ที่กำลังเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทยที่เรียกว่า Value Investment ที่เพิ่งถูกนำมาเผยแพร่ในตลาดหุ้นไทยหลังวิกฤติตลาดหุ้นเป็นปรัชญาการลงทุนใหม่ “VI” กลายเป็นสัญลักษณ์ของความโดดเด่นของการลงทุน คุณภาพของนักลงทุนส่วนบุคคลในตลาดหุ้นไทยนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งปริมาณและคุณภาพ
บริษัทจดทะเบียนก่อนปี 2544 นั้น ที่มีขนาดใหญ่ดูเหมือนว่าจะมีแต่หุ้นธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก หุ้นกลุ่มใหญ่ที่มีอยู่ก็มักจะเป็นบริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะของโภคภัณฑ์ เช่น บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่น ๆ ที่มีรายได้และกำไรที่ไม่แน่นอน เรียกว่าเป็นกิจการที่มี “คุณภาพต่ำ” และเหมาะสำหรับ “เก็งกำไร” เท่านั้น แต่หลังจากการเข้าตลาดของหุ้น ปตท. ในปี 2546 ก็ดูเหมือนว่าคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป หุ้นจดทะเบียนขนาดใหญ่ของไทยเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น เรามีกลุ่มพลังงานที่ใหญ่โตเช่นเดียวกับกลุ่มธนาคาร เรามีหุ้นที่อิงกับการบริโภคที่ไม่ใช่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ เรามีหุ้นในกลุ่มสื่อสารที่เติบโตขึ้นมาก เช่นเดียวกับหุ้นในกลุ่มค้าปลีกและอื่น ๆ ที่มีรายได้และกำไรเติบโตอย่างมั่นคง หุ้นขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับในตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันถึง 7 อุตสาหกรรม
ไม่เพียงแต่ขนาดและคุณภาพของกิจการเท่านั้นที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างโดดเด่น Corporate Governance หรือบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนของไทยก็มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่าง “ผิดหูผิดตา” ความโปร่งใสของผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่นั้นดีขึ้นมาก บริษัทขนาดกลางและแม้แต่บริษัทขนาดเล็กก็มีเรื่อง “ฉาวโฉ่” น้อยลง กรณีของการ “ปั่นหุ้น” ของผู้บริหารก็ลดลงไปมาก ว่าที่จริง CG ของตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ได้รับการยกย่องว่าดีระดับต้น ๆ ของเอเซียโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอย่างจีนที่ยังมีปัญหามากจนนักลงทุนต่างชาติต่างก็ยังไม่สบายใจนักในการลงทุนในหุ้นจีนโดยเฉพาะในบริษัทที่เจ้าของยังเป็นเอกชน ดังนั้น พูดโดยรวมแล้วก็ต้องบอกว่า คุณภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น เติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” ในช่วง 13 ปีหลัง
เรื่องสุดท้ายที่สำคัญก็คือ การหาข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลสำหรับนักลงทุน นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการพัฒนาไปมากหลังวิกฤติเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่เวบไซ้ต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่มีการจัดเรียงเป็นระเบียบที่ทำให้สามารถดูและวิเคราะห์ได้อย่างสะดวกย้อนหลังไป 4-5 ปี รวมถึงข้อมูลรายละเอียดอื่น ๆ ที่นักลงทุนสามารถหาเพิ่มเติมได้ทั้งจากเวบของตลาดและเวบของ กลต. ทำให้ตลาดหุ้นไทยนั้น เป็นตลาดที่นักวิเคราะห์ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาศึกษาบริษัทและหุ้นจดทะเบียนได้อย่างสะดวกโดยเฉพาะใน “ข้อมูลพื้นฐาน” ที่จำเป็นในการลงทุน นอกจากนั้น ตลาดหุ้นไทยยังได้สร้างโปรแกรมประจำที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมาพบกับนักลงทุนที่เรียกว่า Opportunity Day ซึ่งทำให้นักลงทุนส่วนบุคคลทั่วไปสามารถรับรู้ข้อมูลในรายละเอียดของบริษัท เข้าใจกลยุทธ์การดำเนินงานและรู้จักกับผู้บริหารซึ่งเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อการลงทุนในแบบที่ถูกต้อง เท่าที่รู้ ยังไม่เห็นมีตลาดหุ้นที่ไหนในเอเชียที่จะเป็นเพื่อนกับนักลงทุนส่วนบุคคลขนาดนี้
การให้ข้อมูลความรู้ในบริษัทจดทะเบียนและความรู้ทั่ว ๆ ไปของตลาดทุนในบ้านเรายังขยายไปถึงสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางทีวีที่เรามีช่องที่เน้นการลงทุนในตลาดหุ้นโดยตรงอย่างช่อง Money Channel ของตลาดหลักทรัพย์ และยังมีทีวีช่องอื่น ๆ ที่เน้นการลงทุนค่อนข้างมากอย่างกรุงเทพธุรกิจทีวี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วก็เกิดขึ้นหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงประมาณ 13 ปีที่ผ่านมา และผมคิดว่านี่เป็นการเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” ของเรื่องข้อมูลข่าวสารในการลงทุนของตลาดหุ้นไทย
ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมานั้น ตลาดหุ้นไทยได้พัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในหลาย ๆ ด้านที่จำเป็นต่อการลงทุนของนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อย มันทำให้นักลงทุนค่อนข้างที่จะสบายใจในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเปรียบเทียบกับตลาดอื่น ๆ อีกหลายตลาดที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจพอ ๆ กัน และนี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมยังยึดกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยแม้ว่าราคาหุ้นอาจจะแพงกว่าหุ้นในประเทศอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบในขณะนี้