ไทยจะหลีกเลี่ยงจากการเป็นชาติที่ล้มเหลวได้อย่างไร/วิวรรณ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

ไทยจะหลีกเลี่ยงจากการเป็นชาติที่ล้มเหลวได้อย่างไร/วิวรรณ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

   ประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงจากการเป็นชาติที่ล้มเหลวได้อย่างไร        วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ 
	หัวเรื่องในสัปดาห์นี้เป็นคำถามที่ผู้คนที่เป็นห่วงเป็นใยบ้านเมืองถามกันและกันตลอดเวลา ไม่มีใครให้คำตอบได้ ทุกคนรู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนอย่างไร และใครจะเป็นผู้เปลี่ยน 
	ดิฉันได้พบหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งให้คำตอบเรื่องนี้ได้กระจ่างกว่าคำตอบอื่นๆ หนังสือเล่มนั้นชื่อ “โลกเปลี่ยน ไทยปรับ” และมีโปรยหัวว่า “หลุดพ้นจากกับดัก พ้นจากชาติที่ล้มเหลว” เขียนโดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
	หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ต้องอ่านสำหรับผู้รักชาติและอยากหาทางออกให้กับประเทศไทย เพราะไม่อยากให้ลูกหลานต้องอยู่ในสังคมที่มองไปไม่เห็นอนาคต จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนา 359 หน้า รูปประกอบสี่สี ราคา 330 บาท
	ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ไม่เพียงแต่เขียนในสิ่งที่วิเคราะห์และมีข้อเสนอแนะ แต่ดร.สุวิทย์ได้พาผู้อ่านย้อนไปมองประวัติศาสตร์เพื่อวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นสาเหตุของการที่เราต้องตกอยู่ในสภาวะที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้ สภาวะที่เราอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ รู้ตัวว่าอ่อนแอลงไป แต่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร
	ดร.สุวิทย์ได้ค้นคว้า และรวบรวมการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญในหลายๆด้านทั้งทางมานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์มาไว้ในที่เดียว เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาและการก่อตัวของปัญหา โดยวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะการทรุดตัวลงของทั้งระบบ ไล่ตั้งแต่คุณภาพของคน คุณภาพของนักการเมืองค่านิยมและคุณค่าของผู้คนในสังคม ความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคม คุณภาพชีวิต ไปจนถึงคุณภาพการศึกษา”
   เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาวะดังกล่าวเราต้องทำการยกเครื่องทั้งระบบ โดยการปรับรากวัฒนธรรมไทยให้สอดรับกับพลวัตโลก สร้างสังคมที่เป็นธรรมมีความยุติธรรม ธรรมาภิบาล และความเท่าเทียม มีการปลูกจิตสำนึกที่พอเพียง มีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแบบผสมผสานพร้อมกับปลูกฝังจิตวิญญาณประชาธิปไตยเพื่อหลุดพ้นจากอิทธิพล “อำมาตยาธิปไตย”กับ “ธนาธิปไตย”ที่ไม่พึงปรารถนา ยกเครื่องภาครัฐ ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและเตรียมคนไทยให้พร้อมเพื่อตอบโจทย์การเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่
   สังคมไทยเรามีการปรับเปลี่ยนหลายครั้งตั้งแต่เปลี่ยนจากรัฐโบราณมาเป็นรัฐสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 5 และเมื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 7 คณะราษฎร์เลือกที่จะทำให้ “รัฐควบคุมสังคม” ทำให้ประชาชนพึ่งพิงรัฐมากกว่าเดิม ซึ่งทำให้สังคมอ่อนแอ และเมื่อเกิดความขัดแย้ง เรามักจะลงเอยด้วยการทำปฏิวัติรัฐประหาร ทำให้การใช้กำลังเพื่อยุติความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องที่ไม่ผิดปกติในสังคมไทย
   แต่เดิม ธุรกิจทุนนิยมในไทยต้องเผชิญกับข้อจำกัดและอุปสรรคที่มาจากภาครัฐมากมาย และมาพบทางออกในช่วงหลังด้วยการเข้า“กุมอำนาจรัฐ” ผ่านกลไกการเลือกตั้ง โดยสร้างความชอบธรรมให้กับรูปแบบประชาธิปไตยของตนโดยใช้ประชาชนเป็นฐานความเป็นธรรมให้กับประชาธิปไตย(ในทางรูปแบบ) ผ่านการออกเสียงเลือกตั้ง
   ผลกระทบจากการรุกเข้ามาของกระแสทุนนิยมโลกทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่และเพิ่มขยายคนกลุ่มใหม่ในสังคม คือกลุ่มทุนใหญ่ที่เชื่อมกับเศรษฐกิจโลก และคนจนกับคนชายขอบ เกิดความไม่สมดุลย์และความเหลื่อมล้ำระหว่างเศรษฐกิจและสังคมในเมืองและในชนบท ระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม และระหว่างผู้ได้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ
   ปัจจุบันไทยอยู่ในทศวรรษแห่งความมืดมน คือไม่สามารถก้าวพ้นทั้งการเมืองที่มีปัญหาและไร้เสถียรภาพ ไปสู่การเป็นประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพ ทั้งยังไม่สามารถก้าวพ้นสภาวะเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง อ่อนไหว ไปสู่เศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพได้
   ภาวะเสี่ยงของไทยประกอบด้วย ความขัดแย้งที่รุนแรง วิกฤติที่ซ้ำซากขีดความสามารถที่ชะงักงัน และรัฐที่ไม่น่าเชื่อถือ
   ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มมีอคติ มีผู้ผลักดันให้เลือกข้าง และมีสื่อที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้เกิดสังคมที่ไม่ไว้วางใจกัน ประกอบกับการมีรากฐานที่ไม่มั่นคง มีความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรัง มีคุณธรรมจริยธรรมที่เสื่อมทราม มีทุนสังคมที่อ่อนด้อย มีทุนมนุษย์ที่อ่อนแอ มีทุนธรรมชาติที่เสื่อมโทรม และมีรัฐที่ไม่น่าเชื่อถือ ทำให้ประเทศไทยเกิดความอ่อนไหวง่ายต่อวิกฤติ ขีดความสามารถชะงักงัน
   ดร.สุวิทย์เสนอทางออกไว้ว่า การมี “ความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลง” และการสร้าง “ความสามารถในการปรับเปลี่ยน” จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้น “รัฐที่กำลังล้มเหลว” ไปสู่ “รัฐที่ล้ำหน้า” ได้
   เราต้องสร้างพลเมืองที่ตื่นตัวมีความคิดอุดมการณ์เพื่อชาติเพื่อส่วนรวม เปิดใจกว้าง มีความกระตือรีอร้น มีความรู้สึกหวงแหน อยากทำสิ่งดีๆให้กับประเทศรวมถึงเป็นพลเมืองที่ดีของโลก
ดร.สุวิทย์แนะนำถึง การกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ที่จะรับมือกับความผันผวนและภัยคุมคามของโลก การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน  ภาครัฐและภาคประชาชน  และภาคเอกชนกับภาคประชาชน
   สังคมต้อง Clear, Fair, Care, Share หมายถึงมีธรรมาภิบาลที่ดี มีความยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย ใส่ใจในผู้ด้อยโอกาส พยายามลดความเหลื่อมล้ำ และมีระบบคุณค่าและจิตสำนึกร่วมของคนในชาติ
   การทำรัฐให้น่าเชื่อถือ ดร.สุวิทย์ได้ยกตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ซึ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยู มองว่าต้องมีคนที่มีความสามารถพิเศษที่มีคุณธรรมและจริยธรรมในการขับเคลื่อนรัฐบาล ภาครัฐและสถาบันสำคัญๆ เพราะหากปราศจากคนเหล่านี้ประเทศจะค่อยๆถดถอยลงประเทศจะค่อยๆถดถอยลง
   อดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี ของสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวไว้ว่า ผู้บริหารที่ดี ต้องถามตัวเองว่ามีคุณสมบัติ 4 ข้อ คือ มีความซื่อสัตย์น่าเชื่อถือ มีความกล้าหาญ มีวิจารณญาณ และมีความทุ่มเท หรือไม่	
   ดร.สุวิทย์เสนอถึงการซ่อมวัฒนธรรมเดิมและสร้างวัฒนธรรมใหม่ โดยการลดทอนระบบอุปถัมภ์ ระบบศักดินา อภิสิทธิ์ชน อำนาจนิยม ลดการยึดรูปแบบเนื้อหา ลดความฉาบฉวย และการแสดงออกที่เกินงาม
   รักษาความมีน้ำใจ อัธยาศัยไมตรี ความเกรงใจ และความสนุกสนาน
   ปลูกฝังคุณค่าปัจเจกนิทัศน์ คุณค่าจิตสาธารณะ คุณค่าการวิจารณ์ตนเอง และคุณค่าที่เน้นการปฏิบัติอย่างมีเป้าหมาย
   สร้างสังคมที่เป็นธรรม สังคมแห่งความเท่าเทียม ทั้งความเท่าเทียมในการใช้อำนาจ เท่าเทียมในโอกาส และเท่าเทียมในการกระจาย
   ปักหลักประชาธิปไตย สร้างพลเมืองที่ตื่นตัว มีความรับผิดชอบ ไว้วางใจและเชื่อมั่นในกติกา เปลี่ยนการบริหารจัดการภาครัฐให้เน้นผลงาน และให้ทีผลตอบแทนที่สูงกว่าหรือเทียบเท่าภาคเอกชน เน้นความยืดหยุ่นในการบริหารงาน ข้าราชการทำงานแบบกลยุทธ์มากขึ้น เน้นการสนับสนุนส่งเสริมและสร้างภาคประชาชนให้เข้มแข็งมากขึ้น 
   ท้ายที่สุด ดร.สุวิทย์ เสนอเปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นแบบเศรษฐกิจสร้างมูลค่า เชื่อมโยงเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรม ปรับการศึกษาให้สอดรับ
   สิ่งที่สำคัญคือ คนไทยต้องเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองที่จะเป็นผู้ปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นค่ะ
[/size]
ภาพประจำตัวสมาชิก
Nevercry.boy
Verified User
โพสต์: 4626
ผู้ติดตาม: 0

Re: ไทยจะหลีกเลี่ยงจากการเป็นชาติที่ล้มเหลวได้อย่างไร/วิวรรณ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

1. ผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องลด EGO ไม่มองว่า ผู้ใหญ่นำสั่งแล้วเด็กต้องตามแต่ต้องแจกแจงด้วยเหตุผล ทำความเข้าใจ
2. ส่งเสริมโอกาส ไม่ใช่ส่งเสริมเงินทอง เด็กรวยเด็กจนควรต้องได้เรียนเท่าเทียมในหลักสูตรการศึกษาที่มีการออกแบบมาให้แข่งขันกับโลกได้ ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบ แต่เรียนเพื่อแข่งขันในสิ่งตนรัก
3. พัฒนาแบรนด์ เกาหลีมีซัมซุง เป้าหมายซัมซุงมีอย่างเดียวคือน๊อคโซนี่ให้ได้เค้าทำได้ เป้าคือน๊อคแอปเปิ้ลให้ได้ เค้าทำได้ ใครเป็นที่หนึ่งเค้าจะไปน๊อคคนนั้น
4. กล้าเผชิญหน้ากับความล้มเหลว ล้มเหลวไม่ใช่อุปสรรคแต่เป็นครู องค์กรและสังคมไม่ควรกลัวการล้มเหลวแต่ควรกลัวการไม่ได้เรียนรู้ เมื่อสังคมเรียนรู้และได้ประสบการณ์จะเป็นสิ่งที่ดีที่ล้มแล้วลุกขึ้นมาได้อย่างเข้มแข็ง ญี่ปุ่น เยอรมัน เกาหลี จีน ผ่านเรื่องนี้มาแล้วทั้งนั้น
CARPENTER
Verified User
โพสต์: 423
ผู้ติดตาม: 0

Re: ไทยจะหลีกเลี่ยงจากการเป็นชาติที่ล้มเหลวได้อย่างไร/วิวรรณ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

อดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี ของสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวไว้ว่า ผู้บริหารที่ดี ต้องถามตัวเองว่ามีคุณสมบัติ 4 ข้อ คือ มีความซื่อสัตย์น่าเชื่อถือ มีความกล้าหาญ มีวิจารณญาณ และมีความทุ่มเท หรือไม่

ระบบการเมืองของประเทศไทย ไม่ได้เลือกคนแบบนี้มาบริหารประเทศ
ข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำระดับสูงของประเทศไทย
ไม่เห็นมีใครมีคุณสมบัติ 4ข้อนี้เลย
คิดดีๆแล้ว แม้แต่ ข้อ 1 ก็ยังไม่มี
โพสต์โพสต์