โค้ด: เลือกทั้งหมด
ความสำเร็จในการลงทุนแม้กระทั่งความสำเร็จในชีวิต โดยมากมักจะเริ่มจากการคิดตั้งคำถามที่ถูกต้อง บัฟเฟตต์บอกว่า คำถามที่ถูกต้องเท่านั้นที่สำคัญไปกว่าคำตอบที่ถูกต้อง เพราะในตลาดหุ้นหรือในชีวิตจริง คำตอบไม่เคยมีคำตอบเดียว และคำตอบที่ถูกต้องในวันนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะถูกต้องต่อไปในอนาคต เหมือนกับเราถามว่าอาชีพอะไรที่ทำเงินที่สุดในเวลานี้ หรือหุ้นตัวไหนแข็งแกร่งที่สุดในตลาด คำตอบจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ในแต่ละยุคแต่ละสมัย หรืออย่างการประเมินมูลค่า ถ้าให้คนที่ประเมินมูลค่าที่เก่งที่สุดมาประเมินโดยอิสระจากกัน จะได้คำตอบไม่ตรงกันแม้แต่คนเดียว
เท่าที่ผมสังเกตในตลาดหุ้นไทย นักลงทุนส่วนมากมีสองปัญหาใหญ่ ๆ คือ เสพติดเพียงแต่“คำตอบ” จากกูรู ว่ากูรูมองอย่างไร เราควรจะทำอย่างไรในตลาดหุ้น เราควรซื้อ ถือ หรือขายหุ้นตัวไหน ถ้าหุ้นลงเราควรจะทำอย่างไรดังนั้นนักลงทุนลักษณะนี้คือเป็นเพียงแต่ผู้ฟังหรือผู้รับสารหากเป็นนักอ่านหนังสือตัวยง ก็เป็นผู้อ่านที่อ่านทุกอย่างแต่ไม่รู้ว่าจะจับต้นชนปลายอย่างไร หรือจะนำไปประยุกต์ได้อย่างไร นี่คือปัญหาของการขาดการคิด หรือการฝึกตั้งคำถาม ปัญหาที่สองคือแม้จะตั้งคำถาม ก็มักจะตั้ง“คำถาม”ที่ผิดเช่นถามว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงเพราะอะไรคำถามที่ผิด จะไม่มีวันนำมาซึ่งคำตอบที่ถูกต้องได้ซึ่งเหตุผลเหล่านี้เองนำมาด้วยความล้มเหลวในการลงทุนของนักลงทุนจำนวนมาก
โดยปกติในการลงทุน ถ้ากิจการนั้นมีความซับซ้อนน้อย หาคำตอบและทำความเข้าใจได้ไม่ยาก การลงทุนนี้จะได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าโดยธรรมชาติ การลงทุนที่มีคุณภาพและสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว จะต้องหาคำตอบได้ไม่ครบ แต่สามารถหาคำตอบสำคัญ ๆ ได้ซึ่งความไม่แน่นอนของบางคำตอบนั้น ถูกชดเชยด้วยส่วนต่างความปลอดภัยและจะส่งผลลัพท์เพียงแค่สองอย่างคือ ถ้าผิดแบบคาดไม่ถึงก็แค่ขาดทุนบ้าง แต่ถ้าถูก จะต้องกำไรมหาศาล หรือการลงทุนนั้น อาจจะผิดบ้างในช่วงแรก แต่ในระยะยาวโอกาสถูกจะสูงมาก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ดีกว่าในการหาคำตอบที่หายากคือ การหาไอเดียหรือมุมมองดี ๆ หรือการ“ตั้งคำถาม” ที่ถูกต้องความหมายคือคำตอบของคำถามนี้อาจจะไม่ได้หายาก แต่สิ่งที่หายากกว่าคือการหาคำถามที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น การประเมินมูลค่ากิจการที่แม่นยำทางทฤษฏีอาจจะไม่จำเป็นเท่ามุมมองที่เราใช้ค้นหาคุณค่าที่แท้จริงของกิจการ หรือการประเมินกำไรที่จะเกิดขึ้นอย่างแม่นยำ อาจจะไม่สำคัญเท่าคำถามที่จะถามว่า กำไรนั้นยั่งยืนแค่ไหน คำถามที่ดีจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมให้กับนักลงทุนเสมอ ๆ
หลักคิดเบื้องต้นในการตั้งคำถาม ทฤษฏีหรือหลักคิดมีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ หรืออาจจะก่อนหน้านั้น ปราชญ์อย่างโสกราตีส พลาโต ทำให้เป็นยุคนั้นการตั้งคำถามเป็นไปอย่างแพร่หลาย เริ่มต้นจากความคิดที่ว่า “ข้ารู้ว่า แท้จริงแล้ว ข้าไม่รู้อะไรเลย”พื้นฐานนี้เองสร้างความรุ่งเรืองมาในยุโรปในอีกพันกว่าปีต่อมาโดยความรู้เบื้องต้นมาจากการถามเพื่อหาความรู้ เช่น ถามว่าใคร อะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน เท่าไร ซึ่งเป็นคำถามเชิงข้อมูล โดยมากนักลงทุนจะติดกับดักส่วนนี้มาก ไม่ว่าจะเป็นศึกษาความรู้การลงทุน หรือศึกษาหุ้นรายตัว โดยศิลปะในการตั้งคำถามในระดับที่สูงขึ้นคือการทำความเข้าใจองค์ความรู้ดังกล่าว ว่าสิ่งนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร และเพราะอะไร เข้าใจกลไกและหัดตั้งคำถามถึงที่มาที่ไป และนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริงได้ ซึ่งจะนำมาซึ่งคำถามที่ถูกต้อง
อีกประเด็นหนึ่งคือ เราจะจับเอาสิ่งไหนมาตั้งคำถาม เพื่อเชื่อมโยงกันให้เข้าถึงคำตอบ สิ่งนี้คือศิลปะในการลงทุน และเป็นจินตนาการขั้นสุดยอด จินตนาการเหนือกว่าความรู้มากมายในจุดนี้ สิ่งที่ยากคือเราจะแปลงสิ่งที่เราเห็นอยู่รอบตัวมากมาย มาเป็นคำถาม เพื่อจะนำมาซึ่งการค้นหาไอเดียในการลงทุนที่มีคุณค่ามหาศาลผมลองยกตัวอย่างคำถามเพื่อเป็นการให้เห็นภาพ ว่าการปรับมุมมองการตั้งคำถามนั้นไม่ยากอย่างที่คิด
1.แทนที่จะถามว่าหุ้นอะไรดี อย่างไร แต่ถามว่าเราจะหาหุ้นใหม่ ๆ ได้อย่างไร ไอเดียหุ้นอยู่ที่ไหน
2.แทนที่จะถามว่าหุ้นนี้กำไรปีหน้าหรือไตรมาสหน้าเป็นอย่างไร แต่ถามว่าหุ้นตัวนั้น10 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
3.แทนที่จะถามว่าเหตุผลที่จะซื้อหุ้นคืออะไร ก็ไปถามว่าเหตุผลที่จะไม่ซื้อหุ้นตัวนี้คืออะไร นี่คือการถามด้วยมุมมองตรงกันข้ามเพื่อลดอคติในการลงทุน
การเริ่มต้นง่ายที่สุดคือพยายามลดคำถามที่เริ่มต้นด้วยคำว่า“อะไร”เป็นการตั้งคำถามว่า “ทำไม”มากยิ่งขึ้นหัดสงสัยในหลาย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต สังเกตความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ซึ่งจะนำพาความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต แค่นี้แล้วการลงทุนท่านจะดีขึ้นมาอย่างแน่นอนครับ