โค้ด: เลือกทั้งหมด
ในครั้งนี้ผมขอเขียนถึงแนวคิดของนาย Richard Fisher ประธานธนาคารกลางสหรัฐสาขา Dallas ซึ่งเป็น “เหยี่ยว” คนหนึ่งที่เป็นผู้ที่มีสิทธิออกเสียงในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐในปี 2014 ซึ่งผมมองว่าการประเมินแนวคิดของกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐนั้นมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยเฉพาะในสภาวะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐมีความแตกแยกทางความคิดอย่างมาก
แนวคิดของนาย Fisher นั้นผมเรียบเรียงมาจากคำกล่าวสุนทรพจน์ของนาย Fisher เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2013 ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1.ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีความแตกแยกทางความคิดของนักการเมืองอย่างรุนแรง ทำให้นโยบายการคลังอยู่ในสภาพชะงักงันไม่สามารถมีบทบาทในการช่วยกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐจากวิกฤติเมื่อปี 2008-2009 ได้ ดังนั้น ภาระจึงต้องตกกับนโยบายการเงินที่มีมาตรการเข้มข้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กล่าวคือได้มีการปรับลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ซึ่งเป็นดอกเบี้ยต่ำสุดในช่วง 237 ปี ของประเทศสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยการพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรประเภทต่างๆ ที่เรียกกันว่าคิวอี (หรือ quantitative easing) ซึ่งได้ดำเนินมาตรการคิวอีมาเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ทำให้งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 9 แสนล้านดอลลาร์ก่อนวิกฤติในปี 2008 มาเป็น 3.5 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 11,300 ดอลลาร์ต่อประชาชนทุกคนในประเทศสหรัฐอเมริกา
2.วัตถุประสงค์ของการทำคิวอี คือ การพิมพ์เงินให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มและกดดอกเบี้ยลงให้ต่ำอย่างต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ทำให้ธุรกิจในสหรัฐสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจและเมื่อธุรกิจแข็งแรงกลับสู่สภาวะปกติก็จะจ้างงาน ทำให้คนอเมริกันหลายล้านคนมีงานทำตามปกติได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือธุรกิจฟื้นตัวได้ดี กำไรเพิ่มขึ้นจนทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 153% จากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม 2009 แต่การจ้างงานกลับฟื้นตัวเพียง 76% และเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวอย่างเชื่องช้า (จีดีพีขยายตัวเพียง 1-2%) จากการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีตที่จะฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติภายในเวลาเพียง 1-2 ปีทั้งในเชิงของจีดีพีและอัตราการว่างงาน
3.ในขณะเดียวกันมาตรการคิวอีมีผลกระทบในเชิงลบต่อผู้ออมทั้งประเทศ ซึ่งต้องได้รับผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ที่ต่ำอย่างผิดปกติมานานหลายปี เช่นผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาดอกเบี้ยเป็นรายได้ เคยได้รับผลตอบแทน 7.5-8.0% แต่ในปัจจุบันผลตอบแทนต่ำกว่านี้มาก
4.การทำมาตรการคิวอีนั้นทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เงินดังกล่าวอยู่ในบัญชีของธนาคารพาณิชย์ซึ่งฝากเอาไว้กับธนาคารกลางสหรัฐ เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่นำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ใด ซึ่งนาย Fisher เห็นว่าเป็นเม็ดเงินที่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดเงินเฟ้อได้หากธนาคารกลางสหรัฐไม่สามารถบริหารจัดการมิให้เงินจำนวนดังกล่าวไหลกลับเข้าไปสู่ระบบ เพราะจะทำให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อได้ในอนาคต
5.นอกจากนั้นการพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรเป็นจำนวนมากทำให้ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ทั้งพันธบัตรและหุ้น) และเกิดความเข้าใจในหมู่นักลงทุนว่าธนาคารกลางสหรัฐมีพฤติกรรมที่จะพยุงราคาสินทรัพย์ (Fed “put”) ซึ่งนาย Fisher มองว่าเป็นการบิดเบือนการจัดการทรัพยากรอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการบิดเบือนการจัดสรรเงิน หมายความว่าราคาหุ้นและพันธบัตรปรับขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้นักลงทุนกล้าเสี่ยงและลงทุนอย่างประมาท
6.นาย Fisher ขยายความเกี่ยวกับเงื่อนไขการลดทอนคิวอี (QE tapering) ว่าการลดทอนคิวอีน่าจะเริ่มทำได้ในเร็ววันนี้ (โดยนักลงทุนมองว่าจะเริ่มต้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเงินในวันที่ 18-19 กันยายน) ทั้งนี้บนพื้นฐานของข้อมูลทางเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวและการพยากรณ์เศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวประมาณ 3.0-3.5% ในครึ่งหลังของปีนี้ แต่การลดทอนคิวอีนั้นมิได้ตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่าอัตราการว่างงานจะต้องปรับลดลงมาเหลือ 6.5% หรือเงินเฟ้อจะต้องปรับขึ้นไปสูงกว่า 2.5% เพราะเงื่อนไขดังกล่าวเป็นเงื่อนไขในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมิใช่การลดทอนคิวอี ทั้งนี้นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐน่าจะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปลายปีหน้าหรือหลังจากนั้น
7.นาย Fisher เปรียบเปรยว่ามาตรการคิวอีที่ขยายงบดุลของธนาคารกลางให้สูงถึง 3.5 ล้านล้านดอลลาร์นั้นเสมือนกับการสร้างปมปัญหาที่แก้ได้ยากยิ่งเหมือนกัน Gordian Knot ซึ่งจะขยายตัวอย่างรวดเร็วคือขนาดของงบดุลจะเพิ่มขึ้นไปแตะที่ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 17-18 กันยายน (ใครที่อยากทราบว่า Gordian Knot คืออะไรขอให้ลอง google เอาเองนะครับ) นอกจากปัญหาในเชิงของขนาดของงบดุลแล้วนาย Fisher อธิบายว่าเดิมทีธนาคารกลางสหรัฐถือพันธบัตรระยะสั้นซึ่งมีสภาพคล่องสูง (instantly tradable short-term treasury paper) แต่ปัจจุบันนี้ธนาคารกลางไม่ได้ถือพันธบัตรดังกล่าวเลย ตรงกันข้ามมีแต่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวและพันธบัตรที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (mortgage-backed securities หรือ MBS) โดยปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐถือพันธบัตรดังกล่าวเป็นจำนวนสูงถึง 20% ของพันธบัตรดังกล่าวทั้งหมด นอกจากนั้นปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐเป็นผู้ซื้อพันธบัตรรายใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐ ในสัดส่วน 25% ของพันธบัตรรัฐบาลที่ออกใหม่ทั้งหมด กล่าวคือนาย Fisher วิงวอนให้หยุดการซื้อพันธบัตรในโอกาสแรกเพื่อมิให้ธนาคารกลางสร้างปัญหาเพิ่มให้กับตัวเองต่อไปอีก
จะเห็นได้ว่าเหตุผลที่ฝ่าย “เหยี่ยว” คัดค้านการใช้คิวอี คือ ความเป็นห่วงว่าธนาคารกลางสหรัฐจะสร้างปัญหาให้ตัวเองจนไม่สามารถแก้ไขได้ในอนาคตและในขณะเดียวกันก็เป็นการบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน ส่งเสริมความเสี่ยงและความประมาทในการตัดสินใจลงทุน ในขณะที่ผู้ออมถูกลงโทษด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำติดดินครับ
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 12/8/56