บทเรียนจากกรุงปร้าก/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

บทเรียนจากกรุงปร้าก/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

โลกในมุมมองของ Value Investor      4 พฤษภาคม 56
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
บทเรียนจากกรุงปร้าก

	ช่วงสงกรานต์ผมได้ไปท่องเที่ยวสาธารณรัฐเชคโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงปร้ากที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ  และเช่นเคย  นอกจากความบันเทิงหย่อนใจแล้ว  ผมก็มักจะ “วิเคราะห์”  ถึงประวัติศาสตร์  ความเป็นไป  สถานะปัจจุบัน  และคิดไปถึงอนาคตว่าประเทศหรือดินแดนที่ผมกำลังเดินอยู่นั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป      แต่มันคงไม่มีความหมายมากนักหากผมจะไม่โยงมาว่าข้อมูลที่ผมได้จากการศึกษาเมืองปร้ากนั้นมันมีความหมายอะไรกับเมืองไทย  ลองมาดูกัน
	ข้อแรกที่ผมเห็นก็คือ  กรุงปร้ากนั้นดูเหมือนจะยังเป็นเมือง  “โบราณ”  เพราะอาคารบ้านเรือนและร้านค้าต่าง ๆ  นั้นส่วนใหญ่มากเป็นตึกเก่าที่อาจจะสร้างมาแล้วหลายร้อยปี  หรือบางแห่งอาจจะเป็นพันปี  ตึกเหล่านี้มีความสวยงามเต็มไปด้วยศิลปะแต่ที่สำคัญยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน  และก็แน่นอนว่าทุกอย่างภายในอาคารนั้นมีการปรับปรุงและใส่เครื่องมือและอุปกรณ์ของโลกสมัยใหม่ที่ทำให้มันทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการอยู่อาศัยและทำงานในโลกสมัยใหม่  ข้อนี้ถ้าจะพูดไปก็มีความละม้ายคล้ายกับเมืองหลวงของหลายประเทศในยุโรปที่มีการอนุรักษ์อาคารและของเก่า ๆ  ไว้   ซึ่งผลพลอยได้ที่สำคัญก็คือ  ทำให้เมืองสวยและน่าท่องเที่ยว  ความแตกต่างของกรุงปร้ากเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ  ในยุโรปก็คือ  ปร้ากนั้นแทบไม่มีตึกสูงเลย  และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็ไม่แออัด นี่ทำให้ปร้ากนั้นเป็นเมือง “สบาย ๆ”  ที่ดูผ่อนคลาย   เมืองอาจจะไม่มีอะไรที่  “ยิ่งใหญ่” ระดับโลก  แต่มันก็มีทุกอย่างครบ  ไล่ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ของโบฮีเมียนไปจนถึงการแสดงละครเวทีและโอเปร่าชั้นนำไปถึงพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่มากมายและสถานที่ช็อปปิงของที่ระลึกที่สวยงามน่าสนใจ  และนี่ทำให้การท่องเที่ยวน่าจะเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของเชค
	สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งอย่างหนึ่งเมื่อเดินตามสถานที่ท่องเที่ยวของปร้ากก็คือ  ร้านนวดแบบไทยซึ่งเสนอการนวดทุกประเภทเช่น  นวดแผนโบราณ  นวดน้ำมันหรือนวดฝ่าเท้า  โดยพนักงานที่ผมดูแล้วก็น่าจะเป็นคนไทยที่เดินทางไปจากเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่  ราคาค่านวดนั้นถ้าใช้มาตรฐานของฝรั่งแล้วก็ถือว่าไม่แพง  ราคาเริ่มต้นอาจจะ 300-400 บาทไทย ไม่ต่างจากเมืองไทยมากนัก  เพียงแต่เวลาอาจจะสั้นกว่า  สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งนั้นไม่ใช่ว่าเจอร้านนวดไทย  แต่ผมทึ่งเพราะมันมีค่อนข้างมากและเห็นทั่วไปหมด  ผมคิดว่าร้านนวดนั้นน่าจะเป็นเป็นธุรกิจที่ดีมากในเมืองท่องเที่ยวในแถบประเทศยุโรปที่มีอากาศหนาวเย็นที่คนเดินเที่ยวกันมากและจะรู้สึกเมื่อยอยากพักนวด  การที่มีร้านนวดแบบไทยที่นักท่องเที่ยว  “ทั่วโลก”  เห็นและคุ้นเคยนั้น  ผมคิดว่าเป็น  “ทรัพย์สิน” ที่ประเทศไทยควรใช้ให้เป็นประโยชน์  ผมมองไปว่าธุรกิจการนวดนั้นเราน่าจะทำให้มันเป็น  “ธุรกิจใหญ่”  ที่ไทยสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศและสามารถส่งออกได้ทั่วโลกตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ    ผมเองยัง “ฝัน”ว่าน่าจะมีบริษัทที่มุ่งมั่นทำร้านนวดไทยให้เติบโตและสามารถนำเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ผมจะซื้อหุ้นลงทุนได้ด้วย
	ข้อสังเกตเรื่องที่สองที่ทำให้ผมรู้สึกทึ่งก็คือ  ผมได้มีโอกาสใช้บริการคนขับรถของสถานทูตไทยในกรุงปร้าก  เขาเป็นคนหนุ่มอายุน่าจะซัก 30 เศษ ๆ ที่หน้าตาดีและการศึกษาก็น่าจะดีด้วย  ผมไม่รู้ว่ารายได้เขาเป็นอย่างไร  แต่ก็คงเดือนละหลายหมื่นบาทตามอัตราค่าแรงของคนขับรถในประเทศที่ “เจริญแล้ว” อย่างเชค  ผมทึ่งเพราะเขาสามารถพูดได้หลายภาษาซึ่งแน่นอนรวมถึงภาษาอังกฤษที่พูดได้คล่องแคล่ว  สามารถอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  ที่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวหรืองานอื่น ๆ  ที่ “นาย” จะใช้  เช่น  จองตั๋วดูคอนเสิร์ต  แนะนำและพาไปแหล่งท่องเที่ยวหรือร้านอาหารที่น่าสนใจได้  ว่าที่จริงเขาคงทำได้อีกหลาย ๆ อย่างรวมถึงการ “รับแขก”  การแต่งตัวของเขานั้นดูดีเท่า ๆ  กับหรือดีกว่าเราที่เป็นแขกซะอีก   เมื่อได้คุยกันเขาบอกว่าเขาชอบเมืองไทยมากและมาพักผ่อนที่ประเทศไทยทุกปี ปีละครั้งโดยการเก็บเงินจากรายได้พิเศษเช่นค่าโอทีจากการขับรถ เป็นต้น   และนี่คือสิ่งที่ผม “ทึ่ง” ที่ว่าพนักงานขับรถของสถานทูตไทยในเชคนั้น  สามารถเที่ยวเมืองไทยได้ทุกปี  แต่พนักงานขับรถสถานทูตเชคในไทยนั้น  ผมเชื่อว่าไม่สามารถไปเที่ยวเชคได้  อย่าว่าแต่ทุกปีเลย
	ประเด็นก็คือ  ถ้าเราเชื่อว่างานอย่างเดียวกันน่าจะมีคุณค่าเท่ากันหรือใกล้เคียงกันไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน  พนักงานขับรถไทยก็น่าจะสามารถไปเที่ยวต่างประเทศไกล ๆ ได้ซักปีละครั้งตามพนักงานขับรถเชค  แต่นี่ไม่ใช่  ดังนั้น  อาจจะแปลว่า  คนขับรถเชคมีหรือได้รับคุณค่าสูงเกินไป  หรือถ้าจะพูดแบบนักลงทุนก็เรียกว่า  Over Valued  หรือไม่ก็คนขับรถไทยได้รับคุณค่าหรือเงินรายได้น้อยเกินไป  หรือถ้าพูดแบบหุ้นก็คือ  Under Valued  แต่ก็อาจจะมีคนเถียงว่า  “คุณภาพ”  ของคนขับรถเชคนั้นสูงกว่าคนขับรถไทยมากเนื่องจากเหตุผลข้างต้นที่บอกว่าคนขับรถเชคนั้นสามารถทำอะไรต่าง ๆ ได้เหนือกว่าคนขับรถไทยมาก  ดังนั้น  “ราคา” ของคนขับรถเชคนั้นสมเหตุผลแล้วเช่นเดียวกับคนขับรถไทยที่ทำงานอย่างอื่นไม่ค่อยได้นอกจากขับรถ
	ในความรู้สึกของผมที่ต้องวิ่งหาคนขับรถที่บ้านในเมืองไทยอยู่เรื่อย ๆ  เพราะคนขับรถมักจะไม่อยู่นานเพราะเขาอยากไปขับแทกซี่หรือหางานอื่นทำ  แต่ในเวลาเดียวกัน  คนขับรถที่เชคนั้น  เมื่อได้งานแล้วก็มักจะต้อง  “เกาะไว้ให้แน่น” เพราะงานแบบนี้อาจจะหายากโดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำลงเรื่อย ๆ   ผมคิดว่า  มองโดยเปรียบเทียบแล้ว  คนขับรถเชคน่าจะ Over Value กว่าคนขับรถไทย  และถ้าเป็นหุ้น  เราก็คงต้อง  Switch หรือขายหุ้นคนขับรถเชคและมาซื้อหุ้นคนขับรถไทย  เพราะในที่สุดแล้ว  ทุกอย่างก็ต้องวิ่งไปสู่  “พื้นฐาน” ความหมายก็คือ  ในอนาคต  คนขับรถเชคก็อาจจะมาเที่ยวเมืองไทยได้น้อยลง  อาจจะ 2 ปีครั้ง  ในขณะที่คนขับรถไทยอาจจะไปเที่ยวเชคได้ 3 ปีต่อครั้ง
	ที่ผมยกเรื่องคนขับรถมาพูดนั้น  เพื่อที่จะนำไปสู่ภาพใหญ่ที่ว่า  ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไร  มันก็น่าจะมีความสัมพันธ์คล้าย ๆ  กันนั่นคือคนเชคก็อาจจะบริโภคได้น้อยลงเมื่อเทียบกับคนไทย  ถ้ามองจากตัวเลขก็คือ  เศรษฐกิจเชคจะโตช้ากว่าเศรษฐกิจไทยไปเรื่อย ๆ  ในระยะเวลาหนึ่ง  หรือไม่ก็ค่าเงินของเชคอาจจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเงินบาททำให้คนเชคมาเที่ยวเมืองไทยได้น้อยลงในขณะที่คนไทยไปเที่ยวเชคได้มากขึ้น  และสุดท้ายก็คือ  ประเทศไทยก็อาจจะกลายเป็น  “ประเทศพัฒนาแล้ว”  ใกล้เคียงกับเชคโดยที่รายได้หลักของไทยอาจจะมาจากอุตสาหกรรมที่หลากหลายรวมถึงการท่องเที่ยวและมีชื่อเสียงในด้านของการเป็นประเทศที่ให้บริการ  “นวด”  ที่โดดเด่นคล้าย ๆ กับอิตาลีที่มีเรื่องของแฟชั่นหรือฝรั่งเศสที่มีไวน์เป็นสินค้าที่โดดเด่น ในขณะที่เชคเองก็ยังคงโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบางอย่างเช่นเรื่องของ  นาโนเทคโนโลยีหรือการแพทย์บางด้าน เป็นต้น
	สุดท้ายที่ผมไม่ใคร่ได้เห็นในกรุงปร้ากก็คือ  เรื่องของข่าวและความเคลื่อนไหวของธุรกิจและตลาดหุ้น  ตามร้านหนังสือซึ่งผมมักจะต้องแวะเยี่ยมเยือนทุกเมืองที่ไปนั้น  หนังสือเกี่ยวกับธุรกิจและหุ้นดูเหมือนจะมีน้อย  ซึ่งนี่แตกต่างจากกรุงเทพที่เรามีหนังสือหุ้นออกใหม่หรือแม้แต่เก่าที่ได้รับความนิยมสูง  หรือแม้แต่ประเทศในเอเซียอย่างสิงคโปร์หรือมาเลเซียที่ผมไปก็มักจะพบว่าชั้นที่เกี่ยวกับธุรกิจและหุ้นจะมีหนังสือดังอยู่พอสมควร  และนี่ทำให้ผมสรุปว่า  เมืองไทยเรานั้น  ยังเป็นประเทศที่กำลังเติบโตคึกคักและยังน่าจะโตต่อไปพอสมควรและนี่ก็เอื้ออำนวยต่อการลงทุนโดยเฉพาะของชาว VI ทั้งหลาย
[/size]
Cheevitmai
Verified User
โพสต์: 30
ผู้ติดตาม: 0

Re: บทเรียนจากกรุงปร้าก/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์
wirachai
Verified User
โพสต์: 8
ผู้ติดตาม: 0

Re: บทเรียนจากกรุงปร้าก/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณที่แบ่งปันประสบการณ์และมุมมอองครับอาจารย์
ลูกหิน
Verified User
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 0

Re: บทเรียนจากกรุงปร้าก/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ
ddoo7
Verified User
โพสต์: 292
ผู้ติดตาม: 0

Re: บทเรียนจากกรุงปร้าก/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ขอบคุณครับ
อาจารย์ คงมีตอนต่อไปใช่มั้ยครับ
เรื่องเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ หรือการฟื้นตัวในยุโรป
คนขับรถที่เชคลงทุนรึเปล่าครับ
baggio
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 380
ผู้ติดตาม: 0

Re: บทเรียนจากกรุงปร้าก/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

อ่านแล้วรู้สึกทึ่งว่าอาจารย์ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างแท้จริง อาจารย์ทั้งสังเกต ซักถามพูดคุย วิเคราะห์เชื่อมโยงทุกอย่างมาเป็นเรื่องของการลงทุนได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล และวิเคราะห์ได้อย่างลึกซึ้งมากครับ เป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักลงทุนรุ่นหลังได้เรียนรู้จริง ๆ

ขอบคุณครับอาจารย์ _/|\_
l3akerian
Verified User
โพสต์: 9
ผู้ติดตาม: 0

Re: บทเรียนจากกรุงปร้าก/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 7

โพสต์

หนังสือหุ้น ของอาจารย์เองก็ถือเป็นหนังสือในตำนานการลงทุนไทยได้เลยนะครับ

ปล. เจ้าของ Health Land นี่ใครครับ เปิดเผยตัวมาเดี๋ยวนี้นะ

ขำ ๆ นะครับ
โพสต์โพสต์